De Lampang: คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า : รีวิวมุมมองความคิดจากคนที่อื่นสู่การเป็น “คนลำปาง”

เรื่อง: พินิจ ทองคำ

เป็นเรื่องธรรมดาของชีวิตมนุษย์ที่ต้องมีการโยกย้ายแหล่งถิ่นฐานที่อยู่อาศัยเมื่ออดีตมนุษย์ต้องการหาพื้นที่มีความพร้อมด้วยปัจจัยการดำรงชีวิต สภาพดินฟ้าอากาศแหล่งน้ำ แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปสาธารณูปโภคพื้นฐานมีการพัฒนามากยิ่งขึ้น ปัจจัยการดำรงชีวิตถูกกำหนดให้เข้าถึงได้ การไปมาหาสู่ การสร้างเครือข่าย กลายเป็นเรื่องง่ายเพื่อตอบสนองความต้องการของยุคสมัย ยุคที่เชื่อมต่อกันด้วยระบบอินเทอร์เน็ต ความห่างไกลถูกย่นระยะให้ใกล้กันมากขึ้นผ่านอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่รองรับกับการสื่อสาร ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด ย่อมสามารถที่จะติดต่อสื่อสารกันได้ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเกื้อหนุนให้เกิดการย้ายเข้าย้ายออกของประชากรเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะจังหวัดเมืองรองอย่าง “ลำปาง”

จังหวัดที่มีโครงสร้างเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น เมืองอุตสาหกรรม เมืองที่มีสถาบันอุดมศึกษาขนาดใหญ่ เมืองท่องเที่ยวชื่อดังระดับโลก ต่างดึงดูดเอาคนจากเมืองรองมาตั้งถิ่นฐานหรืออพยพย้ายถิ่น ด้วยความสะดวกสบายต่อการทำงาน การเข้าถึงสิทธิสวัสดิการที่มีความหลากหลาย การเข้าถึงความต้องการของการบริโภค ถือเป็นปัจจัยประกอบสร้างครอบครัวที่มีตัวเลือกมากขึ้น ข้อมูลสถิติประชากร โดยสำนักงานสถิติจังหวัดลำปาง รายงานข้อมูลว่าประชากรจังหวัดลำปาง ลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง รายงานจำนวนประชากรปี 2555 ระบุว่ามีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 756,811 คน เมื่อเปรียบเทียบกับรายงานจำนวนประชากร ปี 2559 มีจำนวนประชากรประมาณ 748,850 คน  แต่ข้อมูลที่น่าสนใจจากสถิติประชากรลำปาง สำนักงานจังหวัดลำปาง รายงานจำนวนประชากรว่าปี 2565 จังหวัดลำปาง มีประชากรทั้งสิ้น 718,790 คน ประชากรมากที่สุดที่อำเภอเมืองลำปาง, อำเภอเกาะคา และอำเภอเถิน ตามลำดับ

หากพิจารณาเปรียบเทียบให้เห็นภาพ ระยะเวลาจากปี 2555 ถึงปี 2565 ประชากรมีจำนวนลดลงกว่า 38,021 คน นับเป็นตัวเลขที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก เมื่อเจาะลึกรายละเอียดถึงช่วงอายุปรากฎว่า ประชาชนที่มีอายุ 60 – 70 ปีขึ้นไปมีมากถึง 195,435 คน, ประชาชนที่มีอายุ 15 – 29 ปี มีจำนวน 121,723 คน, ประชาชนที่มีอายุ 30 – 49 ปี มีจำนวน 196,729 คน,  ประชาชนอายุ 50 – 59 ปี มีจำนวน 125,088 คน ขณะที่ประชาชนที่มีอายุ 0 – 14 ปี มีจำนวน 79,815 คน ถือเป็นตัวเลขที่สะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของประชากรจังหวัดลำปางอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลปี 2544 ประชาชนที่มีอายุ 60 – 70 ปีขึ้นไปมีมากถึง 101,575 คน, ประชาชนที่มีอายุ 15 – 29 ปี มีจำนวน 169,953 คน, ประชาชนที่มีอายุ 30 – 49 ปี มีจำนวน 284,664 คน,  ประชาชนอายุ 50 – 59 ปี มีจำนวน 77,101 คน ขณะที่ประชาชนที่มีอายุ 0 – 14 ปี มีจำนวน 148,236 คน 

เมื่อประกอบกับข้อมูลการสำรวจการย้ายถิ่นฐานของประชากร พ.ศ. 2565 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ปี 2565 มีผู้ย้ายถิ่นฐานจากทั่วประเทศกว่า 809,000 คน ปัจจัยการย้านถิ่นฐานประกอบด้วย การเปลี่ยนงาน หางาน การย้ายตามพื้นที่การทำงาน มีจำนวนกว่า 281,000 คน ย้ายตามบุคคลในครอบครัวหรือการทำกิจการของครอบครัว ประมาณ 167,000 คน และการย้ายที่อยู่เพื่อการศึกษาหรือย้ายที่อยู่อาศัย ขาดคนดูแลหรืออื่น ๆ อีกกว่า 360,000 คน ส่วนรูปแบบของการย้ายถิ่นเป็นการย้ายถิ่นในภาคเดียวกันมีมากกว่าผู้ย้ายถิ่นระหว่างภาค สำหรับพื้นที่ภาคเหนือมีผู้ย้ายถิ่นเข้ามากกว่าผู้ย้ายถิ่นออก 

‘De Lampang’ ขอพาไปสำรวจมุมมองความคิดเห็นของประชาชนจากที่เคยอยู่ในพื้นที่อื่น สู่การย้ายถิ่นมาเป็น “คนลำปาง” อย่างถาวร คนแรก คือ ภาคภูมิ พิสุทธิวงศ์ แพทย์แผนจีนที่เปิดคลีนิคอยู่บริเวณถนนแยกป่าขาม จากคนจังหวัดปทุมธานีสู่การเป็นคนลำปาง มาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี มองเห็นโอกาสของลำปางในการผลักดันการทำงานด้านวิชาชีพแพทย์แผนจีนที่ยังคงมีจำนวนน้อยมากในจังหวัดลำปาง ส่งผลให้เขากลายเป็นคนลำปางอย่างสมบูรณ์

ภาคภูมิ พิสุทธิวงศ์

“มาอยู่ลำปาง เมื่อ 10 กว่าปีก่อน จากการรู้จักแพทย์ที่โรงพยาบาลค่ายสุรศักดิ์มนตรี มีการเปิดรับแพทย์ทางเลือกให้มาประจำที่โรงพยาบาล จากนั้นจึงได้สมัคร และได้มาอยู่ที่ลำปาง ผ่านไปประมาณ 10 เดือน ก็มองเห็นโอกาสจากการที่จังหวัดลำปาง ขาดแคลนแพทย์แผนจีน จึงได้เปิดคลีนิคแพทย์จีนเป็นที่แรกของจังหวัดลำปาง ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นคนลำปางอย่างเต็มตัว”

“ลำปางเป็นเมืองน่าอยู่ ขนาดของเมืองไม่ใหญ่ไม่เล็กจนเกินไป มีห้างสรรพสินค้า สถานศึกษา มีสาธารณูปโภคที่ครบครัน ทั้งยังมีทรัพยากรธรรมชาติที่งดงาม วัฒนธรรมท้องถิ่นที่ยังจับต้องได้ จากการเติบโตที่ปทุมธานีและกรุงเทพฯ พบเจอแต่ความวุ่นวายโกลาหล แม้ว่าความเจริญทุกอย่างจะไปกระจุกตัวแต่กรุงเทพฯ หรือปริมณฑล แต่ลำปางถือเป็นเมืองที่พัฒนาต่อได้ ไม่ใช่เมืองที่ตายไปแล้ว”

ขณะที่เราชวนเพื่อนของเราที่ไม่ประสงค์ให้ชื่อสกุลต่อการสัมภาษณ์ จากการที่ต้องย้ายจากจังหวัดสุพรรณบุรีมาศึกษาต่อที่จังหวัดลำปาง จนถึงช่วงวัยทำงานที่เลือกมาเป็นผู้ผลักดันประเด็นสังคมในจังหวัดลำปาง จนปัจจุบันเขากลายเป็นคนลำปางอย่างสมบูรณ์แล้ว กล่าวว่า

“เกิดและเติบโตที่สุพรรณบุรี ย้ายมาอยู่ลำปางมาตั้งแต่ปี 2561 ในฐานะของนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในลำปาง ต่อมาเมื่อเรียนจบได้ร่วมทำงานผลักดันประเด็นทางสังคม ส่วนตัวยังคงจดจำบรรยากาศของการมาเรียนในช่วงแรกได้เป็นอย่างดี สัมผัสได้ว่าจังหวัดลำปางถือเป็นเมืองเงียบสงบแห่งหน่ึ่ง ช่วงกลางคืนเมื่อขับรถออกไปในตัวเมืองลำปางหรืออำเภอห้างฉัตรอันเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัย มักจะพบเจอกับความเงียบสงบ แต่สัมผัสได้ว่าเมืองแห่งนี้มีเสน่ห์มากในเรื่องวัฒนธรรม ประเพณี ธรรมชาติ และสถาปัตยกรรมต่าง ๆ ”

ตราสัญลักษณ์ของราชวงศ์อังกฤษ (ลายอาร์ม) มณฑปวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม จังหวัดลำปาง

“จากการใช้ชีวิตที่ลำปาง เข้าสู่ปีที่ 7 รู้สึกว่าจังหวัดลำปางเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ความสัมพันธ์กับคนลำปาง ทำให้สัมผัสได้ถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ในมิติของการทำงานหรือนโยบายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ให้ความสำคัญต่อผู้สูงอายุมากขึ้น จากการที่จังหวัดลำปางมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากที่สุดในประเทศ หรือมิติทางเศรษฐกิจที่สัมผัสได้ว่า มีการเกิดขึ้นของร้านใหม่ ๆ ในพื้นที่ จนถึงการปิดตัวของร้านค้าที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง”

เมื่อถามต่อว่า การพัฒนาลำปาง ผ่านมุมมองคนลำปางที่เคยอาศัยที่จังหวัดอื่นมาก่อน ควรเป็นไปอย่างไรเพื่อให้เมืองนี้ คนในไม่ไหลออก? ภาคภูมิก็ได้กล่าวไว้ว่า

“จังหวัดลำปางมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี ประกอบกับการเป็นศูนย์กลางทางภูมิศาสตร์ ขาดแต่เรื่องของดึงดูดนักท่องเที่ยวหรือนักลงทุน ตลอดจนขาดการจัดงานอีเว้นท์ใหญ่ ๆ ที่เป็นการประชาสัมพันธ์ความเป็นลำปางให้ทุกคนได้รับรู้ เป็นความน่าเสียดายที่ลำปางมีทรัพยากรที่ครบครันมาก ๆ แต่ไม่สามารถใช้ให้เกิดประโยชน์ได้เท่าที่ควร”

“ลำปาง สามารถผลักดันเป็นเมืองอุตสาหกรรมได้ แต่ศักยภาพย่อมน้อยกว่าจังหวัดข้างเคียงเป็นแน่ เราเหมาะเป็นจังหวัดด้านโลจิสติกส์ของการขนส่งสินค้าหรือการเป็นศูนย์กลางในเรื่องของการดูแลสุขภาพหรือการบริการด้านสาธารณสุขสอดคล้องกับการที่เรามีสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ เราอาจจะต้องเสนอตัวเป็นจังหวัดที่รองรับกับการจัดการในด้านนี้ไปเลย เพราะทุุกวันนี้ ลำปางรองรับเคสคนไข้ส่งต่อจากจังหวัดอื่นหรือการวางแผนยุทธศาสตร์นำร่องการแพทย์ทางลือก การอภิบาลผู้สูงอายุ ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่หลายแห่งในจังหวัดลำปาง หากเกิดขึ้นจริงย่อมมีการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น”

“ลำปางมีจำนวนประชากรลดลง อัตรการเกิดน้อย อัตราการตายชะลอลง จำนวนคนย้ายออกกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จำนวนประชากรบางปีลดลงเกือบหนึ่งหมื่นคน การไม่มีงานทำหรือมีการจ้างงานแต่ค่าแรงไม่เป็นธรรม กำลังส่งคนลำปางไปอยู่เมืองใหญ่หรือไปต่างประเทศ ย่อมเป็นปัญหาต่อจังหวัดลำปางหากไม่แก้ไขด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การจัดงานประชาสัมพันธ์จังหวัดลำปางขนาดใหญ่ ยกระดับประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นดึงดูดการท่องเที่ยว หรือการพัฒนาที่เกิดจากการใช้ประโยชน์จากสิ่งที่ลำปางมีอยู่ให้มีคุณค่าเพิ่มขึ้น ลำปางคงจะแย่มากขึ้น”

ในขณะที่เพื่อนผู้ไม่ประสงค์ออกนามก็ได้อธิบายเพิ่มเติมไว้อย่างน่าชวนคิดต่อโดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ “ค่าแรง” ที่ส่งผลกับ “คุณภาพชีวิต” 

“การพัฒนาเรื่องการจ้างงาน ให้ความสำคัญต่อการจ้างงานให้มากขึ้น เท่าที่อยู่ลำปางมา คนวัยทำงานหรือวัยเรียนที่ใกล้จบ เขาออกไปตามหาอนาคตของการทำงานที่กรุงเทพ  ชลบุรี ระยอง หรือลำพูน เพื่อให้ได้รับการจ้างงานที่มีค่าตอบแทนสูงกว่า ใช้ในการดำรงชีวิตหรือส่งเงินกลับมาให้ครอบครัว แม้ว่าลำปางมีแหล่งผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ เช่น เหมืองไฟฟ้าแม่เมาะ แต่กลับไม่สามารถรองรับกับการจ้างงานที่ควรจะเกิดขึ้นได้ หรือธุรกิจอื่น ๆ ที่ไม่ได้รองรับกับการจ้างงาน ปัจจุบันลำปางมีการปรับค่าแรงขึ้นเป็น 340 บาท ขึ้นมาประมาณ 8 บาทจากเดิม เมื่อเทียบกับค่าครองชีพ ย่อมไม่สามารถที่จะดำเนินชีวิตให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้”

“ตอนนี้คนลำปางย้ายออกมากขึ้น เป็นวิกฤตของลำปาง ที่จะส่งผลให้เสน่ห์ของความเป็นลำปางถูกลดทอนลงไป หากค่าแรงเป็นธรรม ได้สัดส่วนกับการดำรงชีวิต จะทำให้สถานภาพความเป็นอยู่ดีขึ้น ไม่ต้องดิ้นรนไปอยู่ที่อื่น เพื่อเข้าถึงยกระดับสถานภาพทางเศรษฐกิจให้กับตนเองหรือครอบครัว ตนถือเป็นความโชคดีที่มีงานทำที่ลำปาง แต่คนลำปางอีกหลายคนต้องห่างไกลออกจากบ้าน สู่การหางานที่ดีให้แก่ตัวเอง”

โดยคำถามทิ้งท้ายของการสัมภาษณ์นี้ คือการสื่อสารกับคนในที่ออกไป ที่มาจากใจของคนที่ย้ายเข้ามาอยู่

 เพื่อนผู้ไม่ประสงค์ออกนามกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “เชื่อว่าลำปางจะต้องกลับมาเป็นที่พักพิงให้คนลำปาง ได้กลับมาอยู่บ้าน ด้วยคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อยากให้คนลำปางช่วยกันสร้างการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาจังหวัดลำปาง ให้เป็นเมืองสำหรับทุกคนให้ได้”

“เชื่อว่าทุกคนที่ออกไป กำลังเรียนรู้และตั้งตัวให้ได้ สู่การกลับลำปางในอนาคต หากกลับมาแล้วอยากให้มาร่วมพัฒนาจังหวัดลำปางไปด้วยกัน สร้างความเจริญให้เกิดขึ้น จังหวัดเรามีทรัพยากรมากพอที่จะแข่งขันกับจังหวัดอุตสาหกรรมอื่น ๆ ทั้งยังดึงดูดนักท่องเที่ยว นักลงทุน ให้มาร่วมพัฒนาจังหวัดแห่งนี้ เราทุกคนมีความหวัง ไม่ว่าใครย่อมอยากกลับบ้านมาอยู่ในจังหวัดที่เป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตกันทั้งนั้น” ภาคภูมิกล่าว

ท้ายที่สุดสภาวะคนในอยากออกคนนอกอยากเข้า คงเป็นความจริงอยู่ไม่น้อย ความพร้อมของสาธารณูปโภคไม่ใช่เป็นปัจจัยหนึ่งของการดำรงชีวิตต่อไป คนรุ่นใหม่จังหวัดลำปางเลือกออกไปหาโอกาสที่ดีกว่าในจังหวัดที่มีศักยภาพสูง มีโอกาสทางเศรษฐกิจ รายได้ค่าแรงที่สามารถตั้งตัวและหล่อเลี้ยงชีวิตครอบครัวได้ โอกาสการเจริญเติบโตในหน้าที่การงาน สถานศึกษาคุณภาพสูง หรือ คนนอกที่มีความมั่งคั่งหรือเกิดโอกาสครั้งใหม่ในจังหวัดลำปาง เมื่อมาอยู่ลำปาง พบว่า มีความสะดวก ครบครัน ไม่เร่งรีบจนเกินไป หลงใหลไปกับเสน่ห์ของเมืองที่พร้อมไปด้วยทรัพยากรที่หลากหลาย เมื่อเชื่อมจุดร่วมกันของคนในและคนนอก สิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด คือ การเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นต้องเกิดในพื้นที่โดยเร็ว สร้างโอกาสพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ทุกคน มีกลไกเศรษฐกิจที่รองรับกับการเจริญเติบโตของเมือง หน่วยงานภาครัฐที่มียุทธศาสตร์ชัดเจนจับต้องได้ไม่เพ้อฝัน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่พร้อมเดินหน้าพัฒนาไปตามความต้องการของประชาชน รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพของประชาชนให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

สำหรับคอลัมน์ De Lampang เดินทางมาถึงบทความสุดท้าย หลังจากที่ร่วมสื่อสารและส่งเสียงทุกเดือนใน Lanner มาร่วมปี เราในฐานะคนนอกที่กลายเป็นคนใน (คนลำปาง) รู้สึกว่าจังหวัดลำปางเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต  เรามีความสุขทุกครั้งที่เมื่อเดินทางไปต่างจังหวัดแล้วกลับสู่จังหวัดลำปาง เราเชื่อมั่นว่าเมืองแห่งนี้มีศักยภาพมากพอในการพัฒนาด้านต่าง ๆ ยิ่งเราตั้งคำถามกับลำปางมากเท่าใด เรายิ่งต้องการค้นคว้าเรื่องราวของลำปางมากขึ้นเท่านั้น จนกลายมาเป็นบทความของ De Lampang ที่ได้เผยแพร่ออกไป ส่วนใหญ่เน้นหนักไปในเรื่องของการพัฒนาเมือง เพื่อให้ผู้มีอำนาจทั้งหลายมองเห็นว่าจังหวัดนี้มีศักภาพที่สูงมากในหลายด้าน สามารถรองรับกับการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ของรัฐในหลายหน่วยงาน เมื่อครั้งอดีตจังหวัดนี้ถือเป็นจังหวัดที่มีความสำคัญแล้วถูกลดทอนความสำคัญมาเรื่อย ๆ จนกลายมาเป็นจังหวัดทางผ่าน ยิ่งมีการตัดถนนเลี่ยงเมือง โอกาสของลำปางในการเผยแพร่ความเป็นลำปางให้คนภายนอกสัมผัสนั้นลดน้อยลง โอกาสในการพัฒนาเมืองย่อมน้อยลงตามมา ทั้งที่ลำปางมี “ของดี” อีกมากมาย หวังว่าท้ายที่สุด บทความทั้งหลายเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนลำปางบ้างไม่มากก็น้อย อาจจะไม่ได้พบกันบ่อย ๆ แต่ขอยืนยันว่าถ้ามีโอกาสและเวลาที่เหมาะสม De Lampang จะกลับมา ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

อ้างอิง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง