เมื่อวานนี้ 7 ธันวาคม 2565 ผลการลงมติไม่รับหลักการ ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. … หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น เนื่องจากมีเสียงไม่เกินกึ่งหนึ่งและ ส.ว.เห็นชอบไม่ถึง 1 ใน 3 นี่ถือเป็นการสกัดขาคนที่อยากให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการบริหารจัดการโดยไม่ต้องรออำนาจผูกขาดจากส่วนกลาง แถมคณะก้าวหน้าเองก็พยายามผลักดันแคมเปญนี้มาอย่างต่อเนื่อง ในความน่าเสียดายนี้เองก็ยังพอมีหวังบ้าง เพราะ พรรคก้าวไกลเองก็จะสานต่อเรื่องนี้ และพร้อมผลักดันต่อ
แต่…ประเด็นสำคัญที่เราจะมาพูดถึงกันในวันนี้ไม่ใช่เรื่องปลดล็อกท้องถิ่นเป็นหลัก แต่สิ่งที่เราสนใจคือ วิวาทะระหว่าง ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า และศรีนวล บุญลือ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคภูมิใจไทย เขต 8 จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
กรณีที่ ศรีนวล บุญลือ ได้อภิปรายแสดงความไม่เห็นด้วย เรื่องการปลดล็อกท้องถิ่น เนื่องจากเห็นว่า ราชการส่วนภูมิภาคเปรียบเหมือนพี่ โดยมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ส่วนท้องถิ่นเปรียบเหมือนน้อง จากการที่ตนทำงานในท้องถิ่นตั้งแต่เป็นอสม. ประธานแม่บ้าน และสมาชิกอบต. และเป็นที่ปรึกษานายก อบจ. ส.จ. กระทั่งเป็น ส.ส. เห็นมาตลอดว่าการทำงานในท้องถิ่นนั้น ทั้ง 2 องค์กร ไม่เคยทะเลาะกัน แต่เหมือนพี่น้องที่ช่วยกันทำงานมาตลอด
ด้าน ปิยบุตร แสงกนกกุล ก็ตอบโต้กลับว่าการเสนอร่างปลดล็อกท้องถิ่นเป็นสิ่งที่ดีที่เคยเสนอต่อสภา เว้นแต่เคยทำผิดพลาดทางการเมืองครั้งหนึ่งในชีวิตให้กับสภา และย้ำว่าคนอกตัญญูไม่รู้คุณคนระวังจะไม่ได้เป็น ส.ส.อีกเลย
ก่อนที่ในวันที่ 7 ธันวาคม ศรีนวล บุญลือ เตรียมแจ้งความเอาผิดกับ ปิยบุตร แสงกนกกุล ในข้อหาหมิ่นประมาท พร้อมกับย้อนว่าใครกันแน่ที่เนรคุณ โดยบอกกับสื่อมวลชนว่าตนเป็นคนจงรักภักดีสถาบัน หนทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน เปรียบเหมือนหิ่งห้อยที่มีแสงพร้อมทำงานให้ประชาชน
พอเห็นวิวาทะเดือด ๆ แบบนี้แล้วก็ยิ่งทำให้เราสนใจว่าตลอดช่วงที่ผ่านมานั้นเส้นทางการเมืองของ ศรีนวล บุญลือ นั้นมายังไง เผื่อว่าจะทำให้เราเข้าใจวิวาทะในครั้งนี้กันมากยิ่งขึ้น
น.ส.ศรีนวล บุญลือ เกิดเมื่อวันที่ 22 เดือน มิถุนายน 2506 เป็นชาวอ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ เคยผ่านการทำงานด้านการเมืองส่วนท้องถิ่นมาก่อนระหว่างพ.ศ. 2542 – 2544 ต่อมาในวันที่ 26 พฤษภาคม 2562 ได้ชนะการเลือกตั้งซ่อมที่เชียงใหม่ด้วยคะแนนมากเป็นอันดับหนึ่งคือ 75,891 คะแนนและได้เป็น สส.เขต 8 สังกัดพรรคอนาคตใหม่ จ.เชียงใหม่โดยปริยาย ด้วยคำพูดอ่อนน้อมถ่อมตน และลงท้ายทุกประโยคด้วยคำว่า “เจ้า” ก็ทำให้ประชาชนต่างจดจำศรีนวลได้เป็นอย่างดี
เส้นทาง ”อนาคตใหม่”
จากบทสัมภาษณ์ เปิดใจ ‘แม่ศรีนวล’ ส.ส. เขต ผู้กวาดคะแนนเสียงมากที่สุดในประเทศ เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2562 ใน Matichon TV ผู้สื่อข่าวได้ถามว่าทำไมถึงเลือกที่จะมาเป็น ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ ศรีนวลได้ให้คำตอบว่า
“ชื่อบ่งบอกว่าอนาคตใหม่ แต่ทุกคนในประเทศไทยก็อยากเปลี่ยนอนาคตใหม่ให้ประเทศชาติ” พร้อมกับย้ำว่าตนนั้นมั่นใจในตัวของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่มาก ๆ
“ได้อ่านแผ่นพับศึกษานโยบาย และไปดูรากฐานที่ชลบุรี ธุรกิจของเขาที่ชลบุรี พอเราได้เข้าไปดูก็รู้สึก คนนี้จะเป็นผู้นำได้ เขาไม่หยิ่ง เขาทักทาย มาหาพี่น้องบนดอยก็ไม่เคยนอนโรงแรม ให้ไปนอนโรงแรม 5 ดาวเขาก็ไม่เอา เขามานอนกับชาวบ้าน ไปที่อมก๋อย มานอนกับชาวบ้านได้เสื่อผืนหมอนใบ เรื่องนี้เป็นเอกลักษณ์ของเขา อยากเห็นเขาเป็นนายก อยากเห็นเขามาพัฒนา ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหน อยากลองของใหม่ เพราะเขาพึ่งอายุ 40 กว่า คนที่เป็นอยู่ก็เป็นมานานแล้ว เศรษฐกิจก็ไม่ดีขึ้น อยากให้เศรษฐกิจมันดีขึ้น อยากให้เปลี่ยนคนใหม่”
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวยังถามต่อว่าหากไม่มีแกนนำ พรรคอนาคตใหม่จะล่ม-ไม่ล่ม ศรีนวลก็ตอบว่า
“ไม่ล่ม เราก็ยืนยันโดยนโยบายเดิม และจะช่วยเหลือชาวบ้านอย่างที่เคยพูดกับชาวบ้านไว้ คิดว่าไม่ล่ม เพราะทุกคนยังรักสามัคคีกัน อย่างเราไปนั่งในสภา เราจะคุยกันว่าเราใช้ภาษีค่าตอบแทนประชาชน เราจะต้องยึดมั่นและนั่งในสภาให้ชาวบ้านได้เห็นว่า นี่แหละพรรคอนาคตใหม่”
อ้างอิง https://www.youtube.com/watch?v=18x_xi-MDic
สวนมติพรรคถึง 2 ครั้ง เชื่อมั่นนี่คือประชาธิปไตย
แม้ว่าก่อนหน้านี้ ศรีนวลจะออกมาพูดถึงพรรคอนาคตใหม่ในมุมอ่อนหวานละมุนละไม แต่ในสภานั้นก็อาจไม่เป็นดั่งที่พูดเนื่องจากมีการสวนมติของพรรคอนาคตใหม่ถึง 2 ครั้งด้วยกัน
สวนมติพรรคครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2562 มีวาระประชุมสภาฯ เรื่อง การพิจารณาร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ.2562
โดยศรีนวลได้โหวตสวนมติพรรคด้วยการงดออกเสียง ทั้ง ๆ ที่มติพรรค คือ ไม่เห็นชอบ โดยศรีนวลให้เหตุผลว่า ได้มีการพูดคุยกับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ก่อนแล้ว ซึ่งทางธนาธรไม่ได้ห้ามที่จะให้งดออกเสียง ซึ่งเธอมองว่าความเป็นประชาธิปไตย ทุกคนต้องสามารถทำงานร่วมกันทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน ยืนยันว่าตนทำงานเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างไม่มีอะไรแอบแฝง และการงดออกเสียงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด
สวนมติพรรคครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ฝ่ายค้านได้ทำการเสนอขอนําญัตติ เรื่อง “ขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งกมธ.วิสามัญศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ขึ้นมาพิจารณา ต่อ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ.2562 รอบนี้พบชื่อศรีนวล ที่โหวตสวนมติพรรคอีกครั้ง จนนำมาสู่มติเอกฉันท์
จากนั้นวันที่ 17 ธ.ค. 2562 ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค ทำหน้าที่ประธาน และเป็นผู้ขานรายชื่อ 4 ส.ส. ตามลำดับเพื่อขอมติขับพ้นพรรค ผลปรากฏว่าที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ให้ขับ 1. น.ส.กวินนาถ ตาคีย์ ส.ส.ชลบุรี, 2. นายจารึก ศรีอ่อน ส.ส.จันทบุรี, 3.พ.ต.ท.ฐนภัทร กิตติวงศา ส.ส. จันทบุรี และ 4.น.ส.ศรีนวล บุญลือ ส.ส.เชียงใหม่ ออกจากพรรค นี่เป็นทางแยกสุดท้ายที่ทำให้ศรีนวลต้องเดินออกจากพรรคอนาคตใหม่ไปในที่สุด
โดยศรีนวลกล่าวว่า ตนนั้นไม่รู้สึกตกใจกับมติดังกล่าว เพราะที่ผ่านมารู้สึกอึดอัดกับการทำงานภายในพรรค เมื่อพรรคมีมติดังกล่าวก็รู้สึกขอบคุณพรรคอนาคตใหม่ที่ให้อิสรภาพ
“เมื่อวานไปหาหลายหมู่บ้าน หลายตำบล หลายอำเภอ เขาบอกว่าในเมื่อเลือก ส.ส.ไปเป็นตัวแทนแล้ว
ถ้า ส.ส.ตัดสินใจยังไง ชาวบ้านก็น้อมรับในการตัดสินใจ คิดว่า ส.ส.คงเลือกสิ่งดีๆ ให้กับประชาชน”
ภูมิใจศรี ภูมิใจไทย
18 ธันวาคม 2562 ในการเข้าประชุมสภานั้นมีการย้ายฝั่งที่นั่งจากพรรคอนาคตใหม่ ไปที่ฝั่งของพรรคภูมิใจไทย เป็นการย้ายพรรคอย่างเป็นทางการสู่ร่มของพรรคร่วมรัฐบาล
“สิ่งที่ประทับใจที่สุดคือกระทรวงสาธารณสุข ท่านรัฐมนตรี อนุทิน ชาญวรกุล ทำงานได้สุดยอดและดีเยี่ยม ฟอกไตฟรีทุกกรณี รักษาโรคมะเร็งฟรี สามสิบบาทรักษาได้ทุกที่แล้วก็ได้ส่งเสริม อสม ให้รู้ปัญหาและหน้าที่ของตน”
ทั้งนี้ศรีนวลยังกล่าวชื่นชนรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา อีกด้วยว่า “รัฐบาลชุดปัจจุบันท่านทำความดีที่สุดแล้ว แต่แค่ขาดประชาสัมพันธ์ ไม่ว่าทีวีโทรทัศน์ สื่อโซเซี่ยล ไม่ได้ประชาสัมพันธ์กับประชาชนว่าท่านทำความดีอะไรบ้าง ท่านจะต้องออกมาประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนได้รับทราบ ”
พร้อมประกาศอย่างภาคภูมิใจอีกว่า “พวกเราภูมิใจไทย เราใส่ใจและดูแลประชาชนทุกคน เราเดินหน้าทำงานพร้อมทุกคน จะเห็นด้วยกับงบประมาณประจำปี 2566 ประชาชนเดือดร้อนที่ใด เราภูมิใจไทยเข้าใจ เข้าถึง พูดแล้วทำตลอดและจะทำตลอดไป”
เมื่อพรรคอนาคตใหม่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคไปในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 และตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค 10 ปี ห้ามลงสมัครรับเลือกตั้ง ห้ามเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง และห้ามจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมือง แถมธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ยังบอกอีกว่า “ไปสีไหนก็ได้ แต่อย่าไปศรีนวล” ศรีนวลเองก็มีความคิดเห็นต่อประเด็นนี้โดยบอกว่า “ศรีนวล รู้สึกเห็นใจ เอ็นดูอนาคตใหม่และเพื่อนๆ แต่บางคนในพรรคถือว่ารับกรรมที่ตนเองก่อไว้”
ศรีนวล ในสภา
บทบาทในสภาของศรีนวล บุญลือ ที่ผ่านมา คือการพูดสนับสนุนพรรคภูมิใจไทยออกนอกหน้าอย่างต่อเนื่อง เช่นการชื่นชมรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งคือนายอนุทิน ชาญวีรกุล และรัฐบาลชุดปัจจุบัน อีกกรณีหนึ่งคือการเป็นคนสร้างสีสันในสภาเช่นการกดโหวตผิด การพูดแทรก หรือแม้แต่ที่ศรีนวลโดนเรียกชื่อผิดเป็นลำดวน โดยรองประธานสภา ศุภชัย ในกรณีล่าสุดคือเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ก็โดนประธานชวน หลีกภัย ตักเตือน เนื่องจากพูดขัดระหว่างการอภิปรายของประธานรัฐสภา เพราะหัวเสียจากการอ้างว่าถูกปิยบุตร แสงกนกกุล กล่าวหาว่าเนรคุณ ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565
นี่ถือเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางทางการเมืองของ ส.ส. คนดีศรีเจียงใหม่ ที่สร้างสีสันและเป็นส่วนหนึ่งในการนำประเทศให้เดินหน้าต่อไปในแบบที่น่าภาคภูมิใจเจ้า
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...