สรุปเสวนา Lecture performance “วันที่ยังไม่มีชื่อเรียก”

ภาพ: สิรศิลป์ ปังประเสริฐกุล

เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2566 เวลา 19.00 น. ได้มีการจัด Lecture performance ในหัวข้อ “วันที่ยังไม่มีชื่อเรียก” เวลา 19.00 น. ณ สวนอัญญา เฮือนครูองุ่น มาลิก หอประวัติศาสตร์ประชาชนภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ โดย ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักคิด นักเขียน และศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ ร่วมกับนักแสดงกลุ่มลานยิ้มการละคร เพื่อตั้งคำถามถึงกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยจากประวัติศาสตร์กระบวนการยุติธรรม

ภาพ: สิรศิลป์ ปังประเสริฐกุล

นิธิได้เสนอว่า เวลาที่เราพูดถึงอำนาจตุลาการ เราจะคิดว่าเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจอธิปไตย ในแต่ละประเทศก็มีการแบ่งสัดส่วนที่แตกต่างกัน แต่ประเด็นสำคัญคือ ความคิดนี้เพิ่งจะเข้ามาในไทยได้ไม่นานในสังคมไทย คนฝรั่งก็เพิ่งจะรู้จักเมื่อไม่กี่ร้อยปีมานี้เอง นิธิเสนออีกว่า มันมีพื้นฐานของการแยกอำนาจที่เด็ดขาดบางอย่างในวัฒนธรรมฝรั่ง โดยยกตัวอย่างจากกรณีของเจ้าของที่ดินและไพร่ติดที่ดินในยุคกลาง ไพร่จะได้รับความเมตตาและสิทธิจากเจ้าของที่ดินต่อเมื่อส่งส่วยและแรงงานแก่เจ้าของ ในบางครั้งก็มีการส่งลูกสาวที่จะแต่งงานแก่นายด้วย ซึ่งทำไปเพราะมันเป็นประเพณีหรือหน้าที่ของคนทำงานบนที่ดิน แต่เจ้าของที่ดินก็ไม่สามารถไล่ไพร่ออกไปจากที่ได้ หากยังมีการปฏิบัติตามหน้าที่อย่างครบถ้วน แม้จะเป็นที่ของเขาก็ตาม

สิ่งนี้เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า มีการแยกอำนาจออกเป็น 2 ส่วน คือ ผู้ที่เป็นเจ้าของที่และผู้ที่ใช้ที่ดิน ซึ่งตราบที่เขาทำสิ่งที่เป็นพันธะของเขาได้ครบทั้งหมด อำนาจอีกส่วนก็จะถูกจำกัดไว้ว่าไม่สามารถไล่เขาออกได้ ซึ่งความคิดแบบนี้ไม่ปรากฎในสังคมไทย อีกหนึ่งตัวอย่างคือ งานศึกษาวิจัยของ Benedict Anderson โดยเป็นงานเกี่ยวกับอำนาจเกี่ยวกับสังคมในชวาสมัยโบราณ ในสังคมชวาสมัยโบราณนั้นผมคิดว่าก็ไม่แตกต่างจากสังคมไทย อำนาจนั้นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่มีความคิดที่อำนาจแต่ละฝ่ายจะคานกัน เมื่อไหร่ที่อำนาจถูกแบ่งก็แสดงว่าคุณไม่มีอำนาจ เพราะฉะนั้นอำนาจในสังคมชวามีลักษณะเป็นเอกภาพเสมอที่ไม่สามารถที่จะแยกออกจากกันได้และยังเป็นอำนาจที่ไม่มีข้อจำกัดใด ๆ เมื่อไหร่ที่อำนาจมีข้อจำกัด แสดงว่าอำนาจนั้นไม่มีอยู่ 

นิธิเสนอว่าเวลาที่พูดถึงศาลหรือฝ่ายบริหาร ทั้งหมดนี้มันจะคานอำนาจกันเอง ซึ่งเป็นความคิดที่ใหม่และไม่อยู่ในความคิดของคนไทย คนส่วนมากคิดว่าอำนาจนั้นต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นกระบวนการยุติธรรม การพิพากษา ไปตั้งแต่ระดับตำรวจ ทั้งหมดนี้ทำไปโดยคิดว่าอำนาจนั้นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยไม่แบ่งแยก หากจะบอกว่าผมสามารถมีสิทธิการชุมนุมโดยสงบ เพราะรัฐธรรมนูญได้รองรับไว้ แต่ก็แสดงว่าอำนาจไม่มีอยู่จริง เพราะอำนาจได้บอกว่าห้ามมีการชุมนุม หากไม่พอใจให้เขียนจดหมายร้องเรียนมา เพื่อจะมีการแก้ไขในอนาคต การที่คุณออกมาชุมนุมในท้องถนนนั้นแสดงให้เห็นว่าอำนาจของรัฐไม่มีอยู่จริง จึงจำเป็นต้องจำกัดการชุมนุม เพื่อจะทำให้เกิดบทเรียนว่าอำนาจไม่สามารถแยกออกจากกันได้        

หากย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ของศาลในแบบปัจจุบันที่ไม่ใช่ศาลแบบโบราณ ซึ่งศาลในแบบโบราณก็เห็นได้ชัดเลยว่ามีการแบ่งหน้าที่ศาลกันอย่างชัดเจนและบริหารกันอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่การที่มีการแยกฝ่ายตุลาการและบริหารนั้นมาจากการที่ฝรั่งได้บังคับให้เราแยกออกมา ซึ่งเป็นการแยกเพื่อเอาใจ แต่ในความเป็นจริงนั้นฝ่ายบริหารที่ไม่สามารถคุมตุลาการได้ ไม่สามารถที่จะแสดงถึงการมีอำนาจของฝ่ายบริหารได้ แต่นิธิได้ตั้งข้อสังเกตถึงช่วงการปฏิรูปการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 5 ว่าฝ่ายบริหารมีการแทรกแซงการตัดสินคดีทางการเมืองหรือไม่ จากกรณีพิพาทระหว่างป่าไม้ในทางเหนือ มันมีสัญญาณชัดเจนจากกรุงเทพว่าไม่จำเป็นต้องว่าตามกฎหมาย เพราะอาจเป็นเหตุให้ฝรั่งใช้ในการรุกราน ซึ่งในมุมมองหนึ่งอาจจะเป็นการปกป้องประเทศหรืออะไรก็ตาม แต่นี่คือการแทรกแซงของฝ่ายบริหาร

นิธิได้ตั้งคำถามว่า กระบวนการตุลาการเป็นอิสระหรือไม่ ซึ่งตอบเลยว่า ไม่เคยเป็น ช่วงหลังปี 2475 ก็ไม่เคยเป็น เพราะในช่วงหลังปี 2475 ที่คณะราษฎรได้ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง พบว่าอำนาจน้อยมาก เห็นได้จากเรื่องของกองทัพคณะราษฎร พบว่าแม่ทัพทั้งหมดเป็นเจ้าหรือเจ้าพระยาชุดเก่าทั้งสิ้น นั่นเป็นเหตุผลที่ค่อย ๆ ออกกฎหมายที่ทำให้รัฐมนตรีกลาโหมไม่ค่อยมีอำนาจ เพราะกลัวว่าจากกฎหมายเดิมที่รัฐมนตรีกลาโหมที่เป็นเชื้อสายของพระเจ้าแผ่นดินหรือเชื้อพระวงศ์นั้นมีอำนาจอย่างเต็มเปี่ยม แต่หากรัฐมนตรีกลาโหมไม่มีอำนาจคุมกองทัพก็ไม่มีประโยชน์อะไร ก็กลายเป็นเพียงหัวหน้าเสมียน แต่ทั้งหมดนี้มาจากความตั้งใจของคณะราษฎร เพราะหากไม่ให้รัฐมนตรีเป็นแค่หัวหน้าเสมียน จึงได้ลดอำนาจของตำแหน่งนี้มาจนถึงทุกวันนี้ นี่เป็นเพียงวิธีเดียวที่จะปลดขุนนางเก่าและนำคนที่เป็นพันเอกทั้งหลายของคณะราษฎรขึ้นไปเป็นผู้บัญชาการกองทัพทั้งหลาย ด้วยเหตุนั้นประวัติศาสตร์ช่วงหลังปี 2475 ต้องมีการสร้างมิตรให้มาก เพราะอำนาจที่น้อยและมิตรที่น่าสร้างได้ง่ายที่สุดคือ กลุ่มตุลาการ 

ยิ่งในช่วงหลังรัฐประหารปี 2490 พบว่าฝ่ายเจ้าได้กลับเข้ามามีส่วนในอำนาจมากขึ้น คราวนี้มันแทบจะทำอะไรไม่ได้เลย ความสำคัญของคณะราษฎรคือ การที่พยายามที่จะเผยแพร่อุดมการณ์ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่มีการศึกษา เพราะส่วนใหญ่สมาชิกของสมาคมคณะราษฎรในระยะแรกนั้นคือ ข้าราชการในจังหวัดนั้น ๆ ซึ่งจะต้องจับคนเหล่านี้ให้ได้ก่อน เพื่อเป็นการขยายตัวอุดมการณ์ประชาธิปไตยออกไป แต่พอช่วงหลังรัฐประหารปี 2490 มีจุดที่น่าสังเกตมากคือ มีการยึดอำนาจรัฐ แต่ไม่มีคนต่อต้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะราษฎรและข้าราชการไม่มีใครต่อต้านเลย เห็นได้ชัดคือ ความแข็งแกร่งด้านกลไกนั้นไม่เพียงพอ ฉะนั้นศาลจึงเป็นส่วนหนึ่งของรัฐสืบมาแม้แต่ในช่วงหลังปี 2475 เมื่อเป็นส่วนหนึ่งของรัฐก็แปลว่าขึ้นภายใต้ฝ่ายบริหาร ทำให้เราได้เห็นการตัดสินคดีที่ตั้งข้อคำถามใหญ่ ๆ ได้มากมายตั้งแต่กรณีสวรรคต กรณีปี 2490 ก็ตัดสินออกมาเป็นคำที่น่าสงสัยตลอดเวลา จนในที่สุดเมื่อปี 2497 ที่มีการออกคำพิพากษาว่า คณะรัฐประหารได้ยึดรัฏฐาธิปัตย์ไปแล้ว ฉะนั้นการรัฐประหารจึงไม่ผิดรัฐธรรมนูญ เห็นได้ว่าใครที่มีอำนาจรัฐขึ้นมา อำนาจรัฐของเขาจะมีหน้าที่ในการกำกับและควบคุมทุกฝ่าย ไม่มีฝ่ายไหนที่แยกออกไป 

นิธิตั้งข้อสังเกตถึงการสอนเรื่องลักษณะพิจารณาในสถาบันด้านกฎหมายของประเทศไทยว่ามีให้ความรู้ด้านนี้แค่ไหน แต่ก็ยังพบว่ามีการทำผิดหลักพิจารณาความตามลายลักษณ์อักษรแบบชัดเจน ซึ่งกฎหมายพิจารณาความนั้นไม่เหมือนกับการตัดสินว่าอะไรที่ถูกอะไรที่ผิด แต่เป็นกฎหมายที่เป็นหัวใจสำคัญในการควบคุมอำนาจตุลาการและหากผู้พิพากษาถูกวินิจฉัยว่าพิจารณาคดีไม่ถูกต้อง จะต้องถูกไล่ออกและไม่เหมาะกับอาชีพนี้อีกต่อไป เพราะเป็นการไม่ยอมรับการควบคุมของตัวกฎหมายที่ไม่ทำให้ตำแหน่งผู้พิพากษามีอำนาจมากเกินไป

ภาพ: สิรศิลป์ ปังประเสริฐกุล

หากพูดถึงฝ่ายบริหารของไทยแสดงว่าเรากำลังพูดถึงอำนาจที่ไม่มีขอบเขตจำกัดที่ไม่ยอมรับการถ่วงดุล โดยเฉพาะขีดจำกัดของกฎหมาย เมื่อไหร่ก็ตามที่มีการตั้งรัฐบาลด้วยการรัฐประหาร กฎหมายจะเป็นสิ่งที่ไม่มีความหมายอีกต่อไป เพราะนี่เป็นการทำผิดกฎหมายอย่างชัดเจน ดังนั้นเมื่อกฎหมายนั้นไร้ความหมาย จึงมีคำพิพากษากระบวนการพิจารณาความคดีในศาลที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องปกติมาก ๆ แต่กฎหมายของฝรั่งนั้นมีความพิเศษอย่างหนึ่งคือ เป็นกฎหมายที่ตั้งอยู่บนสมมุติฐานของปัจเจกบุคคลที่คุณต้องรับผิดชอบการกระทำของคุณแต่ผู้เดียว ทำให้เห็นข้อสังเกตที่ว่ากฎหมายที่ผรั่งบังคับให้เราใช้มาเป็นเวลานานนั้นจริง ๆ แล้วก็ยังไม่ได้ถูกบังคับใช้อย่างจริงจังในประเทศไทย ซึ่งโดยรูปแบบก็ไม่ได้แตกต่างจากตัวกฎหมายสมัยพ่อขุนรามคำแหงเลย ดังนั้นกฎหมายที่ไม่ชัดเจนนี้ไม่สามารถถือว่าเป็นกฎหมายได้ เพราะเราไม่รู้ว่าจะปฏิบัติตัวอย่างไรที่ไม่ผิด ทำให้ต้องว่าตามที่ผู้พิพากษาเป็นผู้กำหนดการตีความตัวกฎหมาย เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ควรจะพูดถึงในประวัติศาสตร์กระบวนการยุติธรรมในประเทศไทย

ระบบเผด็จการแบบไทย

ในกรณีของระบบเผด็จการแบบไทยนั้นนิธิเสนอว่า เผด็จการแบบไทยนั้นศูนย์กลางไม่ได้อยู่ที่ตัวบุคคล แต่เป็นระบบทั้งระบบที่แบ่งผลประโยชน์กันและกันในกลุ่มชนชั้นนำ ซึ่งแตกต่างจากเผด็จการของตะวันตกที่ตัวบุคคลนั้นมีอำนาจแต่เพียงผู้เดียว แต่เผด็จการแบบไทยนั้นไม่ได้เป็นเผด็จการบุคคล เพราะในประเทศไทยแทบจะหาเผด็จการที่เป็นเป็นบุคคลไม่ได้และเป็นเผด็จการที่ไม่มีอุดมการณ์ที่สามารถจะครอบงำระบบทั้งระบบได้ นอกจากนี้ยังมีการสร้างลำดับขั้นหรือ hierarchy ขึ้นมา เพื่อแบ่งอำนาจตัวบุคคลออกเป็นลำดับขั้นในระบบ ซึ่งจัดตามลำดับความใกล้ชิดกับรัฐ

ประเด็นต่อมาที่เป็นลักษณะเผด็จการแบบไทยคือ อำนาจในระบบมีการเคลื่อนย้ายได้ ผู้ที่มีอำนาจน้อยสามารถเคลื่อนย้ายไปมีอำนาจมากได้ ทำให้เห็นข้อสังเกตที่ว่าระบบ hierarchy นั้นไม่มีความตายตัวและสามารถเคลื่อนย้ายได้ ทั้งหมดเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงวิธีการที่จะเข้าไปใกล้ชิดกับรัฐมากขึ้นคือ การสร้างความพึงพอใจแก่ผู้มีอำนาจเหนือกว่า ผมคิดว่าจุดนี้แสดงให้เห็นถึงระบบเผด็จการที่เปิดให้มีการทำเกินเหตุที่แสดงให้เห็นถึงความไม่โปร่งใส การทำเกินเหตุนี้ก็เพื่อความปลอดภัยในตัวเองเช่นกัน ฉะนั้นระบบเผด็จการนี้ทำให้ชนชั้นบนได้แบ่งผลประโยชน์กัน แต่ทำให้ชนชั้นล่างนั้นเดือดร้อนเป็นอย่างมาก ดังนั้นการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ง่ายเลยที่จะสำเร็จ

ภาพ: สิรศิลป์ ปังประเสริฐกุล

ประเทศไทยต่อจากนี้

ผมคิดว่าประเทศไทยจะมีความเปลี่ยนแปลงแน่นอน สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมาก็แสดงให้เห็นว่าเราอยู่กันอย่างนี้ไม่ได้ ผมก็เข้าใจว่าฝ่ายอำนาจก็รู้ว่าเราไม่สามารถพยุงสิ่งเหล่านี้ได้ไม่นาน ถึงทำได้ก็จำเป็นที่จะต้องใช้วิธีที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ คำถามก็คือเราจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงโดยวิธีที่เสียเลือดเสียเนื้อน้อยกว่าเดิมได้หรือไม่

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง