อาสาสมัครสร้างสุข-Youth Phitsanulok ถกประเด็นสุขภาพจิต พบเยาวชนป่วยซึมเศร้าเพิ่มขึ้น ชี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง


เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ อาสาสมัครสร้างสุข และกลุ่ม Youth Phitsanulok Forum ได้จัดวงพูดคุยประเด็นสุขภาพจิตกับเยาวชน อันกล่าวถึงภาวะทางสุขภาพจิตที่ส่งผลกระทบต่อเยาวชนในจังหวัดพิษณุโลก โดยเฉพาะโรคซึมเศร้า เนื่องจากจังหวัดพิษณุโลกมีสถิติเยาวชนเข้ารับการรักษาโรคซึมเศร้าเป็นจำนวนเพิ่มมากขึ้น (อ้างอิงข้อมูลจากสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก) ทั้งนี้ วงพูดคุยได้จัดเตรียมประเด็นให้ผู้เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยน 5 ประเด็นดังนี้ 

1. สถานการณ์โรคจิตเวชในจังหวัดพิษณุโลก

2. ปัจจัยการบริโภคที่นำไปสู่โรคจิตเวช 

3. สิทธิเด็กและเยาวชน สิทธิหลักประกันสุขภาพในการเข้ารับบริการจิตเวช 

4. โครงการอาสาสมัครนักฮีลใจ 

5. ถ้าป่วย ไม่ไหว ไปไหน ยังไงดี โดยภายในวงพูดคุยมีผู้เข้าร่วมที่เป็นทั้ง นักเรียน นักศึกษา พระสงฆ์ นักจิตวิทยา และบุคคลที่ทำงานเกี่ยวกับเยาวชนมาร่วมแลกเปลี่ยนในครั้งนี้

กิจกรรมแรกเป็นการเปิดพื้นที่ให้ผู้เข้าร่วมทุกคนแลกเปลี่ยนเรื่องที่ตนเองรู้สึกสบายใจ เช่น เล่นเกมส์ ธรรมชาติ อยู่คนเดียว เป็นต้น และเรื่องที่ทำให้รู้สึกไม่สบายใจ เช่น การถูกจ้องมอง สถานที่ที่ไม่คุ้นเคย หรือเรื่องอนาคต ซึ่งการแลกเปลี่ยนในกิจกรรมนี้แสดงให้เห็นว่า บางทีความไม่สบายใจก็อาจจะเป็นความสบายใจ หรือบางทีความสบายใจก็อาจกลายเป็นความไม่สบายใจได้ตามบริบทที่แตกต่างกันออกไป กิจกรรมถัดมาผู้เข้าร่วมถ่ายรูปมุมที่ชอบเพื่อนำมาแลกเปลี่ยนกับคนอื่น ๆ เช่น รูปดอกไม้ รูปหน้าร้านคาเฟ่ สไตล์มินิมอล และต้นไม้ เป็นต้น ซึ่งรูปที่แต่ละคนถ่ายต่างสื่อความหมาย ความคิด และตัวตนของผู้ถ่ายได้เป็นอย่างดี ต่อมา วงพูดคุยได้มีการแลกเปลี่ยนปัจจัยที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตในปัจจุบัน อาทิ การกล่าวถึงการหลั่งสารที่ผิดปกติของสมองว่าเป็นส่วนสำคัญในการเกิดโรคซึมเศร้า การให้กำลังใจแต่กลับตอกย้ำผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า การกล่าวถึงโรคซึมเศร้าบนภาวะที่เปลี่ยนไปตามบริบทช่วงเวลาหนึ่ง ที่มีเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน เป็นต้น หากสรุปความคิดเห็นของทุกคนในวงจะเห็นปัจจัยที่สามารถเรียงจากเล็กไปใหญ่ได้ดังนี้ สารในสมอง ภาษา สังคมครอบครัว สังคมโรงเรียน เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ที่ส่งผลกระทบต่อผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า และทำให้สังคมไทยที่รวมถึงจังหวัดพิษณุโลกมีตัวเลขผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าสูงขึ้นนั่นเอง


​นอกจากนี้ วงพูดคุยยังได้กล่าวถึงเรื่องสิทธิ์ในการเข้ารักษาที่ไม่ทั่วถึง เนื่องจากจำนวนผู้รับการรักษาโรคซึมเศร้าที่รับรู้มีเพียงรายชื่อที่อยู่ในทะเบียนโรงพยาบาล โดยยังไม่รวมจำนวนผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้านอกเหนือจากการรับบริการจากโรงพยาบาล จึงนำมาสู่กิจกรรมที่ทุกคนสวมบทบาทเป็นทีมอาสาเพื่อร่วมกันคิดโครงการที่จะช่วยเหลือเยาวชนที่เป็นโรคซึมเศร้า โดยได้มีการแบ่งกลุ่มเพื่อรวบรวมความคิดของแต่ละกลุ่มมาร่วมกัน ดังนี้

1. สร้างพื้นที่ปลอดภัยที่ทุกคนสามารเรียนรู้ตัวเองรวมถึงเรียนรู้กันและกัน 

2. ส่งเสริมการทำกิจกรรมร่วมกัน อาทิ ศิลปะบำบัด ดนตรีบำบัด non-productive เป็นต้น 

3. จัดอบรมให้กับผู้ปกครองเพื่อเรียนรู้การเลี้ยงดูและทำความเข้าใจบุตรหลาน 

4. ผลักดันให้เกิดการรับรู้ที่ดีเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อผู้ที่รับการรักษาทางสุขภาพจิต ซึ่งข้อเสนอของแต่ละกลุ่มจะถูกนำไปต่อยอดในกลุ่มเคลือข่ายผู้จัดกิจกรรมต่อไป

​อย่างไรก็ตาม วงพูดคุยประเด็นสุขภาพจิตกับเยาวชนไม่เพียงแต่สร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปพร้อมกันเพียงเท่านั้น แต่สิ่งที่ผู้เข้าร่วมได้เสนอในวงพูดคุยยังถูกนำไปต่อยอดสู่กิจกรรมเพื่อเสริมสร้างสุขภาพจิตที่ดีให้กับเยาวชน รวมถึงผู้คนภายในจังหวัดพิษณุโลก ทั้งนี้ กลุ่มอาสาสมัครสร้างสุข และกลุ่ม Youth Phitsanulok Forum


​“ปัญหาด้านสุขภาพจิต เป็นปัญหาที่ควรให้ความสำคัญมาก ๆ เพราะหากสภาพจิตใจไม่ดี ก็ส่งผลให้ร่างกายไม่ดี และอาจส่งผลถึงคนรอบข้างได้ ส่วนตัวเคยเห็นอาสากู้ภัยมาตอนเกิดอุบัติเหตุ และอยากเห็นสังคมมีอาสากู้ใจ เมื่อใจรู้สึกไม่โอเค อย่างน้อยมีคนรับฟังก็ยังดี ทางชมรมฯ จะเป็นพื้นที่กลางในการสรรหา นักจิตวิทยาอาสา และผู้มีความรู้ความสามารถ มาร่วมขับเคลื่อนประเด็นนี้ไปด้วยกัน ปีนี้ จึงเริ่มทำโปรเจค “อาสาสมัครนักฮีลใจ” โดยใช้คอนเซ็ปต์ “พื้นที่ปลอดภัย ฮีลใจไปด้วยกัน” เพื่อสร้างแกนนำเด็ก เยาวชน และบุคคลทั่วไปที่สนใจปัญหาสุขภาพจิตทั่วประเทศ โดยเริ่มดำเนินการปีนี้เป็นปีแรก มีผู้สมัครมาแล้วกว่า 200 คน เพราะหวังว่าโปรเจคนี้จะสามารถลดปัญหาสุขภาพจิตได้ไม่น้อย” 

นายปิยพงษ์ ชมสวนมั่งมี ประธานชมรมอาสาสมัครสร้างสุข กล่าว


“ปัญหาสุขภาพจิต ไม่ใช่เรื่องไกลตัว และไม่ใช่ปัญหาที่ปัจเจกบุคคล แท้จริงแล้ว เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ ส่วนตัวเคยคุยกับหมอจิตเวชท่านหนึ่ง ผมถามท่านว่าถ้าเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ เพิ่มขนาดหน่วยรับบริการ เพิ่มขนาดโรงพยาบาลจิตเวช หรือวิจัยยารักษา มันพอจะช่วยได้หรือไม่ ท่านตอบว่า “ช่วยไม่ได้” ช่วยไม่ได้ในที่นี้หมายถึงช่วยลดจำนวนผู้ป่วยที่มากขึ้นทุกวันไม่ได้ เราจึงมองว่าเริ่มจากการป้องกันตนเองไม่ให้เสี่ยงป่วยจิตเวช คงช่วยได้ดีกว่า เราจึงจัดวงคุยนี้ขึ้น เพื่อหาแนวทางให้เด็กและเยาวชนได้มีเครื่องมือในการจัดการตนเอง มีองค์ความรู้บ้างในการป้องกันโรคจิตเวช และขอขอบคุณ เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน สสส. ที่เห็นความสำคัญในเรื่องนี้และให้การสนับสนุน เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า พยากรณ์ขององค์การอนามัยโลก 2572 ที่โรคซึมเศร้าจะเป็นสาเหตุของการฆ่าตัวตายอันดับ 2 ในกลุ่มคนอายุ 15-29 ปี จะไม่เป็นจริงในประเทศไทย” 

นายสิทธิพงษ์ พุ่มจันทร์ ผู้ประสานงานเครือข่าย Youth Phitsanulok Forum กล่าว

พื้นที่สื่อสาร สังคมประชาธิปไตย ชีวิตใหม่ที่ดีกว่า

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง