มีจิตมีใจจะใฝ่ฝัน ฉากชีวิตผู้ลี้ภัยเมียนมาในแม่สอด แม้ในเงามืด ยังมองเห็นเสรีภาพ

เรื่อง: จตุพร สุสวดโม้

ภาพ: ปรัชญา ไชยแก้ว

หลังการรัฐประหารในเมียนมาเมื่อปี 2564 (ค.ศ.2021) เมียนมาต่างเผชิญความไม่สงบและการกดปราบจากรัฐบาลทหาร ประชาชนจำนวนมากลุกขึ้นมาต่อต้านผ่านกลุ่มขบวนการอารยะขัดขืน Civil Disobedience Movement หรือ (CDM) โดยเฉพาะข้าราชการที่ปฏิเสธการทำงานให้กับรัฐบาลที่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง แม้จะเต็มไปด้วยความเสี่ยงนานัปการ แต่หลายคนเลือกจะยืนหยัด แม้จะแลกด้วยอิสรภาพ หรือแม้แต่ชีวิต

“แอน” อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เข้าร่วม CDM และถูกออกหมายจับ เธอตัดสินใจลี้ภัยมายังอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก แม้ชีวิตต่างแดนจะเต็มไปด้วยความยากลำบาก แต่เธอยังคงมุ่งมั่นสอนเด็กข้ามชาติที่ขาดโอกาสทางการศึกษา เพราะสำหรับแอนแล้ว เธอเชื่อเสมอว่า ความรู้คืออาวุธสำคัญที่จะสร้างเส้นทางในอนาคต ไม่เพียงอนาคตในเส้นทางของเธอ แต่รวมถึงเด็ก ๆ ที่ต้องพลัดถิ่นจากความขัดแย้งและไฟสงครามในบ้านเกิด

ฉากชีวิตของแอนไม่ใช่กรณีเดียว คนหนุ่มสาวเมียนมาหลายคนต้องหนีออกจากประเทศเพื่อหลีกเลี่ยงการเกณฑ์ทหารและการถูกกดขี่ “มอยิน” และ “เกซา” คือตัวอย่างของผู้ลี้ภัยที่ต้องดิ้นรนในไทยโดยไม่มีสถานะทางกฎหมาย แม้อนาคตของพวกเขาจะเต็มไปด้วยข้อจำกัดมากมาย แต่ความหวังไม่เคยจางหาย ทั้งสองยังคงฝันถึงวันที่จะได้กลับไปสร้างเมียนมาที่เป็นประชาธิปไตยอีกครั้ง

เมื่ออาจารย์มหาลัยต้องกลายเป็นแรงงานข้ามชาติ

ภายใต้เงาของความหวาดกลัว หลังจากการรัฐประหารที่ทำให้ประชาชนจำนวนมากลุกขึ้นต่อต้านรัฐบาลทหาร ขบวนการอารยะขัดขืน หรือ CDM (Civil Disobedience Movement) ก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็วและขยายตัวไปทั่วประเทศ โดยมีประชาชนจากทุกสาขาอาชีพเข้าร่วม หนึ่งในผู้ที่เข้าร่วมคือ “แอน” (นามสมมติ) หญิงวัย 42 ปี อดีตอาจารย์ภาคประวัติศาสตร์มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในเมืองปยี   ในภูมิภาคพะโคหรือหงสาวดี ของประเทศเมียนมา

“ฉันเข้าร่วม CDM ตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 หลังจากที่กองทัพยึดอำนาจ ฉันตัดสินใจไม่ไปสอนหนังสือเพราะไม่อยากอยู่ภายใต้รัฐบาลเผด็จการ” 

เธอกล่าวพร้อมกับแววตาแน่วแน่ การตัดสินใจครั้งนั้นไม่เพียงแต่ส่งผลต่อชีวิตของเธอเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการสละอาชีพที่เธอรักและรายได้ทั้งหมดของเธอไปด้วย

CDM เกิดขึ้นจากการที่ประชาชนปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือกับรัฐบาลทหาร โดยเฉพาะบุคลากรในภาครัฐ อาทิ ครู อาจารย์ แพทย์ และข้าราชการจำนวนมากที่ตัดสินใจหยุดงานเพื่อแสดงจุดยืนต่อต้านเผด็จการทหาร อย่างไรก็ตาม การกระทำนี้มาพร้อมกับผลกระทบที่ร้ายแรง รัฐบาลทหารออกคำสั่งไล่ออกและตัดเงินเดือนผู้ที่เข้าร่วม CDM พร้อมทั้งออกหมายจับและคุกคามชีวิตของพวกเขา

“ฉันต้องเปลี่ยนที่อยู่ตลอดเวลา เพราะรัฐบาลทหารจับกุมผู้ที่เข้าร่วม CDM ถ้าถูกจับ อาจต้องติดคุกหรือแย่กว่านั้น ฉันไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากหนีออกจากเมียนมา”

สถานการณ์ของอาจารย์มหาวิทยาลัยในเมียนมาเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง หลายคนต้องหลบซ่อน หลายคนถูกจับกุม และบางคนต้องหนีออกนอกประเทศเช่นเดียวกับแอน

ในเมื่อปฏิเสธการทำงานภายใต้รัฐบาลทหาร รายได้ของเธอก็ถูกตัดขาดทันที พร้อมกันกับมหาวิทยาลัยหลายแห่งปิดตัวลงจากทั้งการระบาดของโควิด-19 และสถานการณ์ทางการเมือง ทำให้เธอไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องออกจากบ้านเกิด แอนใช้เวลาร่วม 2 ปี ซ่อนตัวอยู่ตามเมืองต่างๆ ในเมียนมา ก่อนจะตัดสินใจเดินทางข้ามชายแดนมายังแม่สอด จังหวัดตาก ประเทศไทย ในเดือนกันยายน 2566

การเป็นแรงงานข้ามชาตินั้นไม่ง่าย แอนเริ่มต้นชีวิตใหม่ในฐานะคนงานเก็บข้าวโพด ซึ่งเป็นงานที่หนักและให้ค่าจ้างเพียงเล็กน้อย

“วันหนึ่งได้เงินประมาณ 300 บาท มันไม่พอ แต่ก็ต้องทำ เพราะไม่มีทางเลือก” เธอ กล่าว

ชีวิตในฐานะแรงงานข้ามชาติเต็มไปด้วยอุปสรรค ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกฎหมายการทำงานที่เข้มงวด การเข้าถึงบริการทางการแพทย์ และความยากลำบากในการหาที่พักพิง แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่อยู่ในสภาพที่ไม่มีเอกสารทางกฎหมาย ทำให้พวกเขาต้องทำงานภายใต้เงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรม และเสี่ยงต่อการถูกจับกุม

วันหนึ่ง หลังจากเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานเก็บข้าวโพด แอนพบกับโพสต์บนโซเชียลมีเดียของศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กข้ามชาติในแม่สอดที่กำลังมองหาครูอาสาสมัครมาให้ความรู้เด็กๆ เธอจึงตัดสินใจติดต่อไปทันที

“ฉันเป็นครูมาตลอดชีวิต ฉันรักการสอน ฉันอยากกลับไปทำสิ่งที่ฉันรักอีกครั้ง”

ปัจจุบันแอนสอนที่ศูนย์การเรียนรู้แห่งหนึ่งในแม่สอดโดยสอนหลักสูตร General Educational Development GED หรือ เป็นการสอบเทียบวุฒิม.ปลาย (ม.6) ในระบบอเมริกัน ใช้ยื่นเข้าศึกษาต่อระดับป.ตรีในมหาลัยฯ ชั้นนำทั้งในไทยและต่างประเทศ ให้กับเด็กๆ เมียนมาที่ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาไทยได้ เด็กเหล่านี้จำนวนมากมาจากครอบครัวผู้ลี้ภัยและแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีโอกาสได้รับการศึกษาในโรงเรียนปกติ

“เด็กเหล่านี้หลายคนหนีสงครามมาเหมือนฉัน พวกเขาไม่มีโอกาสเรียนหนังสือ ฉันแค่อยากทำให้พวกเขามีอนาคตที่ดีกว่า” แอนกล่าวด้วยแววตาที่เต็มไปด้วยความหวัง

การกลับมาสอนอีกครั้งไม่เพียงแต่ช่วยให้เธอได้กลับไปทำในสิ่งที่รัก แต่ยังเป็นแสงสว่างให้กับเด็กๆ ที่อยู่ในสถานการณ์เดียวกับเธออีกด้วย

แม้ว่าจะกลับมาสอนหนังสือได้อีกครั้ง แต่ชีวิตของเธอในฐานะผู้ลี้ภัยยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน เธอไม่มีสถานะทางกฎหมายในประเทศไทย และไม่สามารถหางานที่มั่นคงได้ การขอรับสถานะผู้ลี้ภัยจากองค์กรระหว่างประเทศเป็นทางเลือกหนึ่ง แต่ก็เป็นกระบวนการที่ใช้เวลานานและไม่แน่นอน

“ฉันคิดถึงบ้าน คิดถึงมหาวิทยาลัย คิดถึงนักศึกษา แต่ฉันไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะได้กลับไป”

ปัจจุบัน มีผู้ลี้ภัยและแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมากว่า 3 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย หลายคนเป็นแรงงานไร้เอกสารที่ต้องทำงานในภาคเกษตรกรรมหรือโรงงานโดยไม่มีหลักประกันด้านสิทธิแรงงาน อีกส่วนหนึ่งเป็นนักกิจกรรม นักข่าว และอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ต้องหลบหนีออกนอกประเทศเนื่องจากการต่อต้านรัฐบาลทหาร

องค์กรพัฒนาเอกชนหลายแห่งในประเทศไทยพยายามช่วยเหลือผู้ลี้ภัยเหล่านี้ โดยให้การสนับสนุนด้านการศึกษา สุขภาพ และความเป็นอยู่ อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดทางกฎหมายและนโยบายการควบคุมแรงงานข้ามชาติ ทำให้ผู้ลี้ภัยหลายคนยังคงอยู่ในสถานะที่เปราะบาง

อนาคตของเมียนมา และของแอน ยังคงแขวนอยู่บนเส้นด้าย แต่สิ่งหนึ่งที่เธอมั่นใจคือ

“ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ฉันก็จะเป็นครูเสมอ”

ชะตากรรมที่ไม่อาจยอมรับ อนาคตใหม่ของนักกีฬาอีสปอร์ต

ความเป็นจริงของผู้คนที่ต้องหนีจากบ้านเกิดเมืองนอน ไม่ใช่เพราะต้องการ แต่เพราะพวกเขาไม่มีทางเลือก “มอยิน” (นามสมมติ) ชายหนุ่มที่เคยมีชีวิตปกติในนครย่างกุ้ง แต่สุดท้ายกลับต้องตัดสินใจออกเดินทางเสี่ยงภัยเพื่อหนีจากชะตากรรมที่เขาไม่อาจยอมรับได้

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาประเทศเมียนมาเผชิญกับสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่มั่นคงอย่างต่อเนื่อง หลังการรัฐประหารที่เกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2564 ซึ่งนำไปสู่การยึดอำนาจโดยกองทัพเมียนมา จากนั้น ประเทศตกอยู่ภายใต้การปกครองของทหาร ทำให้สภาพเศรษฐกิจและสังคมย่ำแย่ลง รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดและการจำกัดสิทธิของพลเมือง ส่งผลให้กองทัพเข้าควบคุมประเทศอย่างเต็มรูปแบบ

เมื่อวันเดือนกุมพาพันธ์ 2567  รัฐบาลเมียนมาได้ออกประกาศที่ 27/2024  ให้กฎหมายการเกณฑ์ทหาร (People’s Military Service Law) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2567 เพื่อปกป้องและรักษาความมั่นคงของชาติ ทำให้ชายหนุ่มจำนวนมากถูกบังคับให้เข้าร่วมการเกณฑ์ทหารโดยไม่สมัครใจ หนึ่งในนั้นคือ มอยิน ชายหนุ่มวัย 27 ปีจากย่างกุ้ง ซึ่งตัดสินใจหลบหนีออกจากบ้านเกิดเพื่อแสวงหาอิสรภาพในประเทศไทย

“ผมรู้ว่าถ้ายังอยู่ที่นั่นต่อไป ผมต้องถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารแน่นอน มันไม่ใช่ชีวิตที่ผมต้องการ ผมไม่อยากจับอาวุธไปสู้รบกับประชาชนของตัวเอง” เขากล่าวด้วยน้ำเสียงจริงจัง

เขาและเพื่อนอีกสองคนเริ่มต้นการเดินทางจากย่างกุ้ง เมืองหลวงของเมียนมา ผ่านเส้นทางลับที่เชื่อมต่อกับพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา การเดินทางเต็มไปด้วยอุปสรรคและความหวาดกลัว เพราะต้องผ่านจุดตรวจของกองทัพที่เข้มงวด

“พวกเราต้องเดินทางผ่านพะอัน รัฐกะเหรี่ยง พยายามไม่ให้ใครสังเกตเห็น เรามาถึงฝั่งไทยโดยข้ามสะพานมาและได้รับความช่วยเหลือจากคนที่เคยลี้ภัยมาก่อน”

หลังจากมาถึงแม่สอด เขาต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ เขาต้องหางานทำเพื่อหล่อเลี้ยงชีพ และยังต้องหาทางทำให้การอยู่ในประเทศไทยถูกต้องตามกฎหมาย หนึ่งในพวกเขาเปิดเผยว่าได้สมัครทำบัตรชมพู ซึ่งเป็นเอกสารที่ช่วยให้แรงงานข้ามชาติสามารถพำนักและทำงานในไทยได้อย่างถูกต้อง แต่ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงถึง 7,500 บาท

หนุ่มวัย 27 ปีรายนี้มีพื้นฐานเป็นนักกีฬาอีสปอร์ต และก่อนหน้านี้เขาเคยเป็นผู้ร่วมก่อตั้งทีมแข่งเกมออนไลน์

“ตอนที่อยู่ที่นั่น ผมเล่นเกม Mobile Legends และ PUBG เป็นอาชีพ รายได้ของผมขึ้นอยู่กับการแข่งขันและสปอนเซอร์”

ก่อนจะตัดสินใจหนี เขาใช้ชีวิตในย่างกุ้งอย่างหวาดระแวง “ตอนนั้นผมยังเรียนอยู่ปีสอง แต่สถานการณ์บ้านเมืองทำให้ผมไม่สามารถเรียนต่อได้ ทหารสามารถบุกมาตรวจค้นและเกณฑ์ตัวเราไปเมื่อไรก็ได้”

กฎหมายใหม่ของเมียนมากำหนดให้ชายอายุ 18-35 ปีต้องเข้ารับราชการทหารเป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปี หากฝ่าฝืนอาจถูกจำคุกหรือลงโทษหนัก ด้วยเหตุนี้เขาจึงเลือกเส้นทางที่อันตรายแต่เต็มไปด้วยความหวังมากกว่า

แม้จะหนีมาได้ แต่ชีวิตในไทยก็ไม่ง่ายสำหรับเขาและเพื่อนๆ พวกเขาต้องใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังเพราะความกลัวว่าจะถูกจับกุมในฐานะผู้ลี้ภัย

“ผมไม่กล้าออกไปไหนไกล เพราะกลัวตำรวจจะจับ ถ้าไม่มีเอกสารก็อยู่ได้ยาก”

ด้วยอาชีพที่สามารถทำงานผ่านออนไลน์ได้ เขายังมีความหวังที่จะสร้างอนาคตใหม่ในไทย

“ผมยังทำงานด้านเกมต่อไปได้ และหวังว่าจะสามารถอยู่ที่นี่ได้อย่างปลอดภัย”

เสรีภาพราคาแพงกว่าใบปริญญา รอยย่ำที่นำไปของนักศึกษาผู้ลี้ภัย

ชีวิตที่ต้องหลบหนีผลจากทางเลือกที่ต้องการเสรีภาพ ทางเลือกที่ชายหนุ่มอีกคนในเมียนมาเคยเผชิญเช่นกัน ในวันที่อนาคตควรจะสดใส ชีวิตของเขากลับต้องพลิกผันเพราะเหตุการณ์ทางการเมืองที่รุนแรงและการริดสอนเสรีภาพจากรัฐทหารถึงประชาชน “เกซา” (นามสมมติ) นักศึกษาปีที่ 6 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง ที่กำลังจะสำเร็จการศึกษา ที่ต้องเผชิญกับการตัดสินใจครั้งใหญ่เพื่อต่อต้านเผด็จการทหารในการเข้าร่วมขบวนการ CDM ซึ่งหมายถึงการปฏิเสธที่จะร่วมมือกับรัฐบาลทหาร การตัดสินใจครั้งนั้นทำให้เกซาสูญเสียโอกาสจบการศึกษา และเปลี่ยนเส้นทางชีวิตไปโดยสิ้นเชิง

“ถ้าผมไม่ได้เข้าร่วม CDM ผมคงเรียนจบไปแล้ว”

เขากล่าวอย่างเรียบง่ายแต่แฝงไปด้วยความเจ็บปวด หลังการรัฐประหารในเมียนมา นักศึกษาหลายพันคนทั่วประเทศตัดสินใจเข้าร่วมขบวนการ CDM เพื่อประท้วงระบอบทหารซึ่งเขาเป็นหนึ่งในนั้น ทั้งที่รู้ดีว่าการตัดสินใจนี้หมายถึงอนาคตที่ไม่แน่นอน

“มันไม่ใช่แค่เรื่องการเรียน แต่เป็นเรื่องของเสรีภาพและความถูกต้อง”

แม้เขาจะเลือกยืนหยัดแต่ผลที่ตามมาคือมหาวิทยาลัยปฏิเสธที่จะให้เขากลับไปเรียน เว้นแต่จะยอมลงนามในเอกสารยอมรับผิดและแสดงความจงรักภักดีต่อรัฐบาลทหารซึ่งเป็นสิ่งที่เขาไม่อาจทำได้ เขาจึงหนีออกจากเมืองแค่ได้มีชีวิตรอด และได้ทำงานที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิศวกรรมที่เขารัก โชคดีที่มีบริษัทแห่งหนึ่งในเมียนมาที่เปิดรับเขาและช่วยปกปิดข้อมูลส่วนตัวของเขาไม่ให้รัฐบาลทหารได้รับรู้ว่าเขาอยู่ที่ไหน เพราะบริษัทรู้ว่าเขาเป็น CDM แม้เขาจะไม่มีปริญญารับรองก็ตาม ซึ่งในเมียนมามีบริษัทในลักษณะนี้หลายแห่ง เพราะไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารโดยทหาร รวมไปถึงเข้าใจเงื่อนไขของการออกมาเคลื่อนไหว

แต่ชีวิตของเกซาต้องผลิกผันอีกครั้ง เมื่อกองทัพได้ประกาศการเกณฑ์ทหารและมีความเข้มงวดมากขึ้น สำหรับเขาหากอยู่ในเมียนมา เขามีโอกาสถูกบังคับให้เป็นทหาร ซึ่งหมายถึงต้องร่วมมือกับระบอบที่เขาไม่อาจยอมรับ ทางเลือกเดียวคือการหลบหนีหรือไม่ก็ต้องจ่ายเงินก้อนโตให้รัฐบาลเพื่อซื้ออิสรภาพซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถทำได้

“คนรวยรอด คนจนถูกส่งไปเป็นทหาร” เขากล่าวสะท้อนถึงความเป็นจริงที่โหดร้าย

มีรายงานว่า การจ่ายเงินเพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นทหารในเมียนมานั้นอาจสูงถึง 150,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่สูงเกินกว่าที่ประชาชนทั่วไปจะสามารถหาได้ สิ่งนี้ทำให้คนจนต้องเผชิญกับชะตากรรมที่โหดร้ายขณะที่คนรวยสามารถซื้อเสรีภาพของตนเองได้

เกซาเลือกเส้นทางเสรีภาพของตนเองด้วยการลี้ภัยมายังประเทศไทย แต่ชีวิตก็ไม่ง่ายดาย

“เราไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานบางอย่าง บางครั้งเราต้องทำงานที่ได้เงินน้อยกว่าความสามารถของเรา”

นอกจากความยากลำบากทางเศรษฐกิจแล้ว เขายังต้องเผชิญกับความกลัวตลอดเวลา เนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐอาจเข้ามาตรวจสอบและกดดันให้ผู้ลี้ภัยต้องเดินทางกลับประเทศเมียนมา ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาและเพื่อน CDM หลายคนไม่อาจทำได้ แม้ว่าชีวิตของเขาจะเต็มไปด้วยอุปสรรค แต่เขายังคงมีความหวัง เขาพยายามเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับงานด้านวิศวกรรมผ่านคอร์สออนไลน์ และมองหาโอกาสที่จะได้ทำงานในต่างประเทศที่เปิดกว้างมากขึ้นสำหรับผู้ลี้ภัยจากเมียนมา

“ผมยังคงเชื่อว่าในอนาคต ผมจะสามารถทำงานที่ผมรักได้ และอาจจะได้กลับไปสร้างเมียนมาให้ดีขึ้นในสักวันหนึ่ง” เขากล่าวด้วยความมุ่งมั่น

สำหรับเซกา การเข้าร่วม CDM อาจหมายถึงการสูญเสียโอกาสในระยะสั้น แต่ในระยะยาว มันคือการเลือกเส้นทางที่เขาเชื่อว่าถูกต้อง แม้จะต้องแลกด้วยความไม่แน่นอนและการเสียสละมากมายก็ตามสำหรับเขา การเลือกเข้าร่วม CDM ไม่ใช่เพราะความโง่เขลา หรือการไม่รู้จักอดทน แต่เป็นเพราะความศรัทธาในเสรีภาพ และความยุติธรรมที่เขาเชื่อว่าเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนควรได้รับ

“ผมอาจไม่ได้ปริญญาเหมือนคนอื่น แต่ผมเลือกเสรีภาพ และผมจะหาทางของตัวเองต่อไป” เขากล่าวด้วยรอยยิ้มที่เต็มไปด้วยความหวัง แม้ว่าเส้นทางข้างหน้าจะเต็มไปด้วยอุปสรรคก็ตาม

“ผมยังอยากเป็นวิศวกร ผมยังอยากทำงานด้านนี้”เกซากล่าว

ติดกับดักไร้ตัวตน ใต้เงาของกฎหมายและชีวิตรอด

อดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) ที่มาภาพ Migrant Working Group (MWG)

“อดิศร เกิดมงคล” ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) กล่าวถึงความยากลำบากของผู้ลี้ภัยในแม่สอดว่า หลักๆ แล้วปัญหาหลักของพวกเขาคือเรื่องสถานะที่ยังไม่ได้รับการกำหนดสถานะทางกฎหมายที่ชัดเจน ทำให้พวกเขามีความเสี่ยงต่อการถูกผลักดันออกจากพื้นที่หรือไม่ได้รับการคุ้มครองที่เหมาะสม นอกจากนี้ยังมีปัญหาในเรื่องของการทำงาน เพราะการไม่มีสถานะที่ถูกต้องทำให้ไม่สามารถหางานที่มั่นคงได้ หรือหากได้ก็ต้องทำงานในลักษณะที่เสี่ยงต่อการถูกจับกุมหรือต้องจ่ายเงินให้กับผู้ที่ทำหน้าที่เป็นคนกลางในการให้โอกาสในการทำงาน ซึ่งส่งผลต่อความปลอดภัยทั้งด้านการเงินและชีวิตของพวกเขา

“อีกหนึ่งปัญหาคือเรื่องที่อยู่อาศัย เนื่องจากผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่ไม่สามารถหาที่พักอาศัยที่มั่นคงได้ ต้องย้ายไปมาอยู่ตลอดเวลา หรือบางคนก็ต้องจ่ายเงินให้กับเจ้าของที่ดินหรือสถานที่ต่างๆ เพื่อให้สามารถอาศัยอยู่ได้อย่างหลบๆ ซ่อนๆ ซึ่งทำให้เสี่ยงต่อการถูกไล่ออกจากที่พักและอาจทำให้ขาดการเข้าถึงบริการพื้นฐาน เช่น น้ำ, ไฟฟ้า หรือแม้กระทั่งการรักษาพยาบาล”

การขาดสิทธิในการเข้าถึงบริการสุขภาพยังเป็นปัญหาใหญ่อีกด้วยเนื่องจากเมื่อผู้ลี้ภัยไม่มีสถานะที่ชัดเจน พวกเขาจึงไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่จำเป็นได้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ พวกเขาต้องเผชิญกับภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่สูงขึ้น หรือบางครั้งต้องพึ่งพาการช่วยเหลือจากองค์กรต่างๆ ซึ่งไม่ได้ครอบคลุมทั้งหมด หากประเทศไทยสามารถจัดการกับปัญหานี้ได้ เช่น การกำหนดสถานะและสิทธิ์ของผู้ลี้ภัยอย่างชัดเจน รวมทั้งการมีระบบที่สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้อย่างทั่วถึง การจัดการเหล่านี้จะสามารถลดภาระที่เกิดขึ้นทั้งในระดับบุคคลและในระดับประเทศ

“ข้อเสนอคือการพัฒนาระบบการคัดกรองและการกำหนดสถานะของกลุ่มผู้ลี้ภัย เพื่อให้สามารถเข้าถึงสิทธิ์ต่างๆ ที่พวกเขาควรได้รับ เช่น สิทธิในการทำงาน สิทธิในการรักษาพยาบาล รวมถึงการเข้าใช้บริการสาธารณะต่างๆ การมีระบบที่สามารถทำให้ผู้ลี้ภัยเข้าถึงสิทธิ์เหล่านี้ได้จะช่วยให้พวกเขามีชีวิตที่มั่นคงและไม่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากการถูกคุกคามหรือการดำเนินการผิดกฎหมายจากเจ้าหน้าที่ ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ในประเทศต้นทางของผู้ลี้ภัยยังคงมีปัญหาที่ส่งผลให้ผู้คนยังต้องหนีภัยมาที่ประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งการเตรียมการรับมือและให้การช่วยเหลือจะต้องเป็นเรื่องที่สำคัญ หากสถานการณ์ยังคงยืดเยื้อ จะทำให้มีผู้ลี้ภัยเพิ่มมากขึ้น ทำให้ภาระที่ประเทศไทยต้องรับผิดชอบเพิ่มขึ้นตามไปด้วย” อดิศรกล่าว

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

slot deposit pulsa slot mahjong