หลังสิ้นสุดการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ปี 2568 เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา มาถึงตอนนี้นายก อบจ. หลายจังหวัด เริ่มเดินหน้าประกาศนโยบายพัฒนาจังหวัดกันอย่างคึกคัก หลังการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา โดยได้กำหนดให้ นายก อบจ. ต้องแถลงนโยบายต่อ ส.อบจ. ภายใน 2 เมษายน 2568 เพื่อกำหนดเป้าหมายการทำงานในระยะเวลา 4 ปีหลังจากนี้
Lanner จึงได้ทำการรวบรวมการแถลงนโยบายของ นายก อบจ. ทั้ง 17 จังหวัดภาคเหนือ (โดยรวมไปถึงหลายจังหวัดที่เลือกตั้งไปก่อนหน้านั้นแล้วด้วย) ที่มุ่งหน้ากำหนดอนาคตของจังหวัด ผ่านนโยบายที่สะท้อนเป้าหมายและแนวคิดของผู้นำท้องถิ่น มาดูกันว่าจะมีนโยบายไหนที่ถูกสานต่อ หรือมีเรื่องไหนที่ถูกลืมไป
เชียงใหม่
พิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ แถลงนโยบายการบริหารราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ต่อสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2568 โดยมีเป้าหมายหลักคือ “กล้าคิด ทําเป็น เห็นผลงาน” แบ่งเป็นนโยบายหลัก 9 ด้านดังนี้
1.นโยบายด้านสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ การมีส่วนร่วมของประชาชนและการบริหารราชการ ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ส่งเสริมกิจกรรมรักชาติ ศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ สนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารราชการและพัฒนาพื้นที่ภายใต้กฎหมาย ส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ พร้อมให้ความรู้เรื่องประชาธิปไตยและการเคารพสิทธิผู้อื่น ป้องกันการทุจริตในองค์กรบริหารส่วนจังหวัดด้วยความโปร่งใสและใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า สนับสนุนกิจกรรมทางศาสนาเพื่อเสริมสร้างคุณธรรมและจริยธรรม และใช้หลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ
2.นโยบายด้านการเดินทางและการคมนาคมขนส่ง จัดระบบขนส่งมวลชนพลังงานสะอาด (Low Carbon) ให้ครอบคลุมทั่วจังหวัด ลดค่าใช้จ่ายประชาชน และส่งเสริมคุณภาพอากาศ พร้อมทั้งปรับปรุงถนนและเส้นทางคมนาคมให้เชื่อมต่อกันอย่างมีมาตรฐาน เพื่อความสะดวกและปลอดภัยของประชาชนและนักท่องเที่ยว
3.นโยบายด้านสุขภาพและอนามัยของประชาชน จัดตั้งโรงพยาบาลองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านสาธารณสุข และจัดตั้งศูนย์ฟอกเลือดเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายและเพิ่มช่องทางการรักษา รวมถึงพัฒนาบริการด้านสาธารณสุข ทั้งแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก ให้ทันสมัยและเข้าถึงได้ง่ายนอกจากนี้ยัง ส่งเสริมเวชศาสตร์ป้องกัน (Preventive Medicine) วัคซีนใกล้บ้าน และการดูแลสุขภาพผู้สูงวัย รวมทั้งพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน (EMS) ให้มีประสิทธิภาพ พร้อมยานพาหนะช่วยเหลือ เช่น รถพยาบาล เรือ และเฮลิคอปเตอร์
4.นโยบายด้านการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยเปิดโอกาสให้เด็กยากจนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพสนับสนุนการเรียนรู้ 4 ภาษา (ไทย อังกฤษ จีน คอมพิวเตอร์) เพื่อเสริมทักษะเด็กและเยาวชนจัดทำแหล่งเรียนรู้ออนไลน์ให้ประชาชนเข้าถึงได้ที่บ้าน พร้อมทั้งสนับสนุนการศึกษาแบบ STEM (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม คณิตศาสตร์) ให้เหมาะกับศตวรรษที่ 21 เพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้ผ่านความร่วมมือของภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม
5.นโยบายด้านการเกษตรและอาหารปลอดภัย ส่งเสริมให้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและแหล่งผลิตอาหารปลอดภัยระดับโลก สนับสนุนเกษตรอินทรีย์ ลดการใช้สารเคมี เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร พัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรให้เพียงพอและยั่งยืน รวมถึงสนับสนุนการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดและพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูป
6.นโยบายด้านเศรษฐกิจ ส่งเสริมสินค้า OTOP และวิสาหกิจชุมชน (SMEs) ให้เติบโตและมีมูลค่าเพิ่ม สนับสนุนการสร้างอาชีพให้ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ส่งเสริมสินค้าชุมชนผ่าน E-Marketplace ทั้งในและต่างประเทศ สนับสนุนอุตสาหกรรมแฟชั่นและการออกแบบที่มีเอกลักษณ์ของเชียงใหม่
7.นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้านการท่องเที่ยว กีฬา ดนตรี วัฒนธรรม จัดกิจกรรมส่งเสริมเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว เช่น เทศกาลดอกไม้ เชียงใหม่เมืองดอกไม้งาม พัฒนาเชียงใหม่ให้เป็นเมืองท่องเที่ยวและกีฬา สร้างพื้นที่สาธารณะเพื่อออกกำลังกายและพักผ่อน อนุรักษ์วัฒนธรรมเชียงใหม่และสร้างรายได้ให้ชุมชน สนับสนุนเชียงใหม่เมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน ผ่านเครือข่าย UNESCO ผลักดันให้เชียงใหม่เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยว ส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวและมาตรฐานบริการ
8.นโยบายด้านทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม แก้ปัญหาไฟป่าและหมอกควัน (PM2.5) ผ่านการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มสวนสาธารณะและพื้นที่สีเขียวให้เป็น “ปอดของคนเชียงใหม่” พร้อมสนับสนุนการบริหารจัดการภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และจัดการขยะชุมชนและขยะอันตรายอย่างมีส่วนร่วม
9.นโยบายด้านการบริหารและการพัฒนาทรัพยากรบุคคล บริหารบุคลากรอย่างโปร่งใส เป็นธรรม และใช้หลักคุณธรรม พัฒนาศักยภาพบุคลากรให้เป็นมืออาชีพและพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมทักษะด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน รักษาวินัยข้าราชการ พนักงาน และลูกจ้าง เพื่อให้ปฏิบัติงานอย่างถูกต้อง ส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรมให้บุคลากรยึดมั่นในมาตรฐานจริยธรรมขององค์กร
ที่มา: องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่
เชียงราย
อทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย แถลงนโยบาย 7 เรือธงพัฒนาจังหวัดเชียงราย ภายใต้แนวคิด ‘เชียงรายเมืองสุขภาพดี วิถีน่ายล ประชาชนมีความสุขอย่างยั่งยืน’ ในการประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย สมัยวิสามัญ สมัยที่ 1 ประจำปี 2568 เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2568 โดยมีรายละเอียดดังนี้
1.นโยบายกระจายเครื่องจักรกลและบุคลากรสู่ชุมชน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนในการจัดการปัญหาด้านเกษตร น้ำ และการท่องเที่ยว โดย จัดตั้งศูนย์บริการเครื่องจักรกลในแต่ละตำบล, จัดอบรมการใช้งานและบำรุงรักษาเครื่องจักร และพัฒนาบุคลากรท้องถิ่นให้สามารถดูแลและซ่อมแซมเครื่องจักรได้
2.นโยบายอยู่ที่ไหนก็เรียนได้ เรียนที่ไหนก็สำเร็จได้ สำเร็จได้ก็เลี้ยงชีพได้เพื่อเพิ่มการเข้าถึงการศึกษาและพัฒนาทักษะเพื่อสร้างอาชีพ โดยจัดหลักสูตรออนไลน์และอบรมออนไซต์, จัดมหกรรมกีฬาทุกเดือนเพื่อพัฒนาเยาวชนและมอบทุนการศึกษาและเงินช่วยเหลือแก่เยาวชนที่ขาดโอกาส
3.นโยบายนักขายออนไลน์ กระจายสินค้า เพื่อพัฒนานักขายออนไลน์ในทุกตำบล และขยายตลาดสินค้าเชียงรายทั้งในและต่างประเทศ โดยจัดอบรมทักษะการขายออนไลน์ให้กับเยาวชนและประชาชน, สร้างเครือข่ายนักขายออนไลน์ระดับตำบล และจัดกิจกรรมแสดงสินค้าออนไลน์เพื่อขยายโอกาสทางการตลาด
4.นโยบายศูนย์บริหารจัดการสาธารณภัยแบบเบ็ดเสร็จ (PDOSS) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการภัยพิบัติ และลดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน โดยติดตั้งระบบเตือนภัยที่เชื่อมโยงกับเทคโนโลยี เช่น มิเตอร์วัดระดับน้ำ, พัฒนาฐานข้อมูลสาธารณภัยให้ประชาชนเข้าถึงง่าย และจัดอบรมการจัดการและฟื้นฟูหลังภัยพิบัติให้กับชุมชน
5.นโยบายเที่ยวได้ทุกสไตล์ เที่ยวเชียงรายได้ทั้งปีมีดีทุกอำเภอ เพื่อเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวและกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจ โดยจัดมหกรรมการท่องเที่ยวในอำเภอต่าง ๆ พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ศิลปะ และวัฒนธรรม และจัดแคมเปญส่งเสริมการท่องเที่ยวผ่านช่องทางออนไลน์และออฟไลน์
6.นโยบายอยู่ที่ไหน ก็ใกล้หมอ (โฮงยาใกล้บ้าน Plus) เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพ ลดภาระค่าใช้จ่าย และเพิ่มความสะดวกในการรักษา โดยจัดโครงการพบแพทย์ออนไลน์ในพื้นที่ห่างไกล, จัดหาเครื่องตรวจสุขภาพดิจิทัลระยะไกล และอบรมบุคลากรทางการแพทย์ให้เชี่ยวชาญมากขึ้น
7.นโยบายศูนย์เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (TCDC) สร้างเชียงรายแบรนด์ สู่ตลาดโลก เพื่อส่งเสริมนวัตกรรมท้องถิ่นสู่ตลาดโลก และสนับสนุนผู้ประกอบการในท้องถิ่น โดยจัดงานแสดงนวัตกรรมและสินค้าเชียงราย, พัฒนา TCDC ให้เป็นพื้นที่เรียนรู้และแลกเปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์ และสนับสนุนการสร้างเครือข่ายนักธุรกิจและผู้ประกอบการ
ทั้งนี้ นโยบายการพัฒนาทั้ง 7 ข้อ ดังกล่าว มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาและสร้างโอกาสให้คนเชียงรายได้รับการพัฒนาอย่างเท่าเทียมทั่วถึงในทุกมิติ ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านสังคมและเศรษฐกิจ ด้านการศึกษาและสาธารณสุข ด้านศิลปวัฒนธรรม การท่องเที่ยว ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตทุกระดับ สนับสนุนสังคมให้เป็นสุขทั้งคนรุ่นเก่า เยาวชนคนรุ่นใหม่ ตอบสนองความต้องการของประชาชน และอยู่ในพื้นฐานข้อมูลตามความจริงของจังหวัดเชียงราย ตลอดจนการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมใหม่ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองการปกครอง สถานการณ์ของประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลาเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
ที่มา: องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย
ลำปาง
ตวงรัตน์ โล่ห์สุนทร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง แถลงนโยบายการบริหารราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด ในการประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง สมัยสามัญ สมัยที่ 1 ประจำปี 2568 เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2568 มีเป้าหมายสําคัญ คือ การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชนชาวลําปาง อย่างทั่วถึง และเท่าเทียม มีสาธารณูปโภค สาธารณูปการที่รองรับความต้องการ พื้นฐานได้อย่างเพียงพอและมีคุณภาพ โดยกำหนดนโยบายในงานบริหารงานทั้งหมด 8 ด้าน ประกอบด้วย
1.นโยบายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี พัฒนาระบบบริการสาธารณะให้ได้มาตรฐาน รองรับการดำรงชีวิต การประกอบอาชีพ และความปลอดภัย พร้อมส่งเสริมเศรษฐกิจของลำปาง ปรับปรุงแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภค และพัฒนาระบบน้ำประปาสะอาดทั่วถึงทุกตำบล แก้ไขปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งด้วยการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ และใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการวางแผน ปรับปรุงเส้นทางคมนาคมให้สะดวกและปลอดภัยรองรับการเดินทางทั้งในเมืองและพื้นที่เกษตร
2.นโยบายด้านเกษตร อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว ส่งเสริมพืชเศรษฐกิจใหม่ที่มีมูลค่าสูงเพื่อลดการพึ่งพาพืชเชิงเดี่ยวและเพิ่มรายได้เกษตรกร สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเกษตรผ่านศูนย์เรียนรู้ Smart Farm และศูนย์แปรรูปผลผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่าและความยั่งยืน ยกระดับอุตสาหกรรมเซรามิกให้เป็นศูนย์กลางเซรามิกชั้นสูง ด้วยนวัตกรรมและการออกแบบที่ทันสมัย พัฒนาอุตสาหกรรมท้องถิ่น เช่น ไม้แปรรูป ผ้าย้อมครั่ง และแฟชั่น เพื่อเพิ่มการจ้างงานและมูลค่าทางเศรษฐกิจ สนับสนุนธุรกิจท้องถิ่นและ SMEs ผ่านภูมิปัญญาท้องถิ่น และส่งเสริมตลาดชุมชน เช่น “กาดนั่งก้อมโมเดล” สร้างนักขายออนไลน์ผ่านโครงการ “1 ชุมชน 1 Influencer” ส่งเสริมการท่องเที่ยวสร้างสรรค์ เช่น อุทยานธรณีลำปาง (LAMPANG GEO PARK) และ LAMPANG GATEWAY ให้เป็นจุดแวะพักครบวงจร พร้อมเสริมสร้างเอกลักษณ์ลำปางผ่านแนวคิด “Lampang Proud” เพื่อผลักดัน Lampang Soft Power และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ.
3.นโยบายพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิต ส่งเสริมสวัสดิการประชาชนผ่านกองทุนสวัสดิการชุมชนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความมั่นคง ดูแลผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส โดยสนับสนุนสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม พัฒนาศักยภาพประชาชนทุกวัยให้มีองค์ความรู้ที่ช่วยพึ่งพาตนเองได้ ฝึกอบรมอาชีพนักบริบาลรองรับสังคมสูงวัย และสร้างรายได้ใหม่ให้ชุมชน สร้างเครือข่ายแก้ไขปัญหาสังคม เช่น ปัญหายาเสพติดและอาชญากรรม ผ่านความร่วมมือของท้องถิ่นและศาสนสถาน
4.นโยบายด้านสาธารณสุข ส่งเสริมสุขภาวะประชาชน ทั้งสุขภาพกายและจิต ตามแนวทาง Preventive Medicine ยกระดับโรงพยาบาลตำบล (รพ.สต.) ให้เป็นศูนย์ส่งเสริมสุขภาวะครบวงจรสนับสนุนพาหนะรับส่งผู้ป่วยและผู้สูงอายุ เพื่อเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้สะดวกขึ้นพัฒนาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร ให้ลำปางเป็นศูนย์กลางการแพทย์ทางเลือกเสริมศักยภาพ อสม. ให้มีความรู้และอุปกรณ์ที่พร้อมดูแลชุมชนจัดตั้งห้องปลอดฝุ่นในโรงเรียน เพื่อปกป้องสุขภาพเด็กจากมลพิษทางอากาศ
5.นโยบายด้านการศึกษา กีฬา และวัฒนธรรม พัฒนาโรงเรียนให้ทันสมัยทั้งด้านครู หลักสูตร และอุปกรณ์การเรียน ยกระดับอุทยานการเรียนรู้ Lampang TK PARK เป็นศูนย์กลางการศึกษาตลอดชีวิต ส่งเสริมพัฒนาสุขภาวะเด็กและเยาวชน เช่น ทักษะ EF และสุขภาพจิตที่ดี สนับสนุนทักษะดิจิทัลเพื่อเตรียมเยาวชนสำหรับอาชีพในอนาคต ส่งเสริมสภาเด็กและเยาวชน เปิดโอกาสให้แสดงความสามารถ จัดแข่งขันกีฬาและอบรมทักษะกีฬาเพื่อพัฒนาเยาวชนและส่งเสริมสุขภาพ พร้อมอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นและถ่ายทอดภูมิปัญญาสู่คนรุ่นใหม่
6.นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานหมุนเวียน จัดการป่าชุมชนอย่างยั่งยืน สร้างรายได้และแก้ปัญหาหมอกควันไฟป่า ส่งเสริมพลังงานสะอาด ผลักดันนิคมอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน และบริหารจัดการขยะครบวงจร ส่งเสริมหลัก 3R (Reduce, Reuse, Recycle) ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ใช้วัสดุเหลือใช้ทางเกษตรเป็นพลังงานชีวมวล ลดการเผาและบรรเทาฝุ่นพิษ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อบรรเทาภาวะโลกร้อน
7.นโยบายการบริหารจัดการองค์กร พัฒนาองค์กรด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ ให้บริการประชาชนรวดเร็วและโปร่งใสดำเนินงานตามหลักธรรมาภิบาล เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่ถูกต้องตามกฎหมายบริหารงบประมาณอย่างสมดุล ให้สอดคล้องกับโครงสร้างพื้นฐาน เศรษฐกิจ และสังคมปรับปรุงระบบภาษีและค่าธรรมเนียม ลดต้นทุนการจัดการ เพิ่มประโยชน์จากทรัพย์สินของจังหวัดพัฒนาบุคลากรให้มีประสิทธิภาพ ผ่านการฝึกอบรม พร้อมจัดสวัสดิการที่เหมาะสม
8.นโยบายด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน และความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน จัดตั้ง “Lampang Policy Labs” เพื่อให้ประชาชน ภาคเอกชน และหน่วยงานร่วมกำหนดนโยบายพัฒนาจังหวัดลำปาง ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นและออกแบบนโยบายที่ตอบโจทย์บูรณาการแผนพัฒนา เชื่อมโยงทรัพยากรของภาครัฐและท้องถิ่น ลดความซ้ำซ้อนและเพิ่มประสิทธิภาพ สนับสนุนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และต่างประเทศผ่านโครงการ “บ้านพี่เมืองน้อง” เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว การลงทุน และเศรษฐกิจ
ที่มา: https://www.lp-pao.go.th
ลำพูน
วีระเดช ภู่พิสิฐ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน เปิดแถลงนโยบายต่อที่ประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2568 มีเป้าหมายหลักคือ “เป็นจริง ทำได้” พร้อมเดินหน้าทำงานทันที โดยได้กำหนดนโยบายในการบริหารราชการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน ไว้ 8 ด้าน ดังนี้
1.นโยบายด้านการศึกษา ส่งเสริมการศึกษาทุกระดับในลำพูนอย่างเท่าเทียม พัฒนาสถานศึกษาให้มีสภาพแวดล้อมและสื่อการเรียนที่เหมาะสม สนับสนุนทุนการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ส่งเสริมการศึกษาทวิภาคีและการฝึกงานร่วมกับสถานประกอบการ เปิดโอกาสให้ประชาชนเรียนรู้ตลอดชีวิตแม้อยู่ในพื้นที่ห่างไกล พัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้ได้มาตรฐาน ดูแลเด็กปฐมวัยทุกวัน สนับสนุนการทำนุบำรุงศาสนา อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ผ่านความร่วมมือของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
2.นโยบายด้านความโปร่งใส ปรับปรุงเว็บไซต์ อบจ.ลำพูน ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลและบริการได้สะดวก พัฒนาระบบร้องเรียนออนไลน์เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ ปรับปรุงกระบวนการให้บริการผ่านระบบออนไลน์ ลดภาระประชาชน สนับสนุนองค์กรสภาพลเมืองลำพูน เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาและตรวจสอบการทำงานของ อบจ. ผลักดันการจัดทำฐานข้อมูลดิจิทัล เพื่อสนับสนุนการวางแผนพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ
3.นโยบายด้านสาธารณสุข พัฒนาคุณภาพบริการสถานีอนามัยในลำพูน เสริมบุคลากรและอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้เพียงพอ ขยายบริการทันตกรรม กายภาพบำบัด แพทย์แผนไทย ฟอกไตเทียม และสุขภาพจิตให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ พัฒนาระบบ Telemedicine เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพได้ทั่วถึง สนับสนุนนักโภชนาการดูแลภาวะโภชนาการของทุกช่วงวัย เสริมบทบาท อสม. และเครือข่ายสุขภาพในชุมชน ส่งเสริมการดูแลสุขภาพกลุ่มเปราะบางให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม
4.นโยบายด้านการเกษตร ส่งเสริมเกษตรลำพูนด้วยเทคโนโลยี Smart Farm เพิ่มผลผลิต พัฒนาตราสินค้า และรับรองมาตรฐาน GI ขยายช่องทางการตลาด พัฒนาแหล่งน้ำและบริหารจัดการน้ำอย่างครบวงจร สนับสนุนเครื่องจักรสมัยใหม่ เช่น โดรนเกษตร และเครื่องอัดเมล็ดพันธุ์ พร้อมฝึกอบรมเกษตรกร ส่งเสริมเกษตรกรรุ่นใหม่ใช้เทคโนโลยีและขายสินค้าออนไลน์ สนับสนุนตลาดเกษตรชุมชน เทศกาลสินค้าเกษตร และความร่วมมือกับโมเดิร์นเทรด จัดกลไกตรวจสอบสารตกค้าง และควบคุมคุณภาพสินค้านำเข้าเพื่อปกป้องเกษตรกรและผู้บริโภค
5.นโยบายด้านการท่องเที่ยวเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ ส่งเสริมเทศกาลและกิจกรรมศิลปวัฒนธรรม ทั้งแบบอนุรักษ์และร่วมสมัย เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว สนับสนุนตลาดชุมชน ถนนคนเดิน และการท่องเที่ยวเชิงเกษตร โดยให้ชุมชนออกแบบประสบการณ์และบริการ สร้างเครือข่ายโฮมสเตย์ มัคคุเทศก์ชุมชน และกิจกรรมเชิงอนุรักษ์ พัฒนาการประชาสัมพันธ์ผ่านการตลาดดิจิทัล และความร่วมมือกับผู้ผลิตเนื้อหาดิจิทัล ส่งเสริมตลาดแรงงานด้านการท่องเที่ยว พร้อมสนับสนุนการจ้างงานผู้สูงอายุและผู้พิการที่ต้องการทำงาน
6.นโยบายด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และขนส่งสาธารณะ สนับสนุนระบบขนส่งสาธารณะในลำพูนให้สะดวก ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รองรับทุกกลุ่มประชากร ส่งเสริมเทคโนโลยีเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลการเดินทางและพัฒนาแอปพลิเคชันช่วยวางแผนเส้นทาง กระตุ้นการใช้ขนส่งสาธารณะแทนพาหนะส่วนตัว โดยพัฒนาจุดเชื่อมต่อการเดินทางเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่ ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน สะพาน ไฟส่องสว่าง และระบบน้ำสะอาด พร้อมผลักดันความร่วมมือขององค์กรปกครองท้องถิ่นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน
7.นโยบายด้านพัฒนาการกีฬา ปรับปรุงสนามกีฬาให้ได้มาตรฐานและขยายเวลาเปิดบริการช่วงกลางคืน เพื่อส่งเสริมสุขภาพและลดปัญหายาเสพติด สร้างสนามกีฬามาตรฐานในทุกอำเภอให้ประชาชนเข้าถึงได้ สนับสนุนการแข่งขันกีฬาในระดับโรงเรียน ชุมชน อำเภอ และจังหวัด เพื่อพัฒนาทักษะเยาวชนและเสริมสร้างความสามัคคี ส่งเสริมกีฬาพื้นบ้านและวัฒนธรรมท้องถิ่น พร้อมผลักดันเยาวชนที่มีศักยภาพสู่วงการกีฬาอาชีพ หรืออาชีพที่เกี่ยวข้อง เช่น วิทยาศาสตร์การกีฬา และนักโภชนาการกีฬา
8.นโยบายด้านการลดผลกระทบจากภัยพิบัติ ติดตั้งจุดตรวจวัดคุณภาพอากาศและระบบแจ้งเตือนประชาชนเมื่อมีภาวะอันตราย พร้อมผลักดันมาตรการป้องกันมลพิษทางอากาศ ป้องกันน้ำท่วมด้วยการบำรุงรักษาคูคลองและระบบระบายน้ำ สนับสนุนเครื่องมือป้องกันน้ำท่วมและแผนเผชิญเหตุ พัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้าและแผนที่จุดเสี่ยงภัยพิบัติในจังหวัดลำพูน เพื่อรับมือภัยพิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนเครือข่ายอาสาสมัครในการป้องกัน บรรเทา และฟื้นฟูภัยพิบัติ พร้อมพัฒนาเครื่องมือและศักยภาพในการทำงาน
ที่มา: องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน
พะเยา
ธวัช สุทธวงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา แถลงนโยบายการบริหารราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2567 โดยได้กำหนดนโยบายไว้ 6 ด้าน ดังนี้
1.นโยบายด้านสาธารณสุข พัฒนาสถานบริการสาธารณสุขพื้นฐานโดยเสริมอุปกรณ์และบุคลากรทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลและสถานีอนามัย เพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพด้วยระบบนัดหมายออนไลน์ ลดเวลาในการรอคอย ส่งเสริมสุขภาพชุมชนผ่านการให้ความรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ พัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ด้วยการอบรมและศึกษาต่อเนื่อง สนับสนุนการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมทุกกลุ่มประชากร โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุ พร้อมส่งเสริมสุขภาพจิตและการดูแลผู้สูงอายุ รวมถึงการใช้สมุนไพรและแพทย์แผนไทย
2.นโยบายด้านการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นและการสร้างงาน ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์และเกษตรยั่งยืนเพื่อเพิ่มมูลค่าและรายได้ สนับสนุนการฝึกอบรมอาชีพใหม่ๆ และการใช้เทคโนโลยีเกษตร พัฒนาท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและธรรมชาติ รวมทั้งส่งเสริมการเข้าถึงตลาดผ่านการจัดงานแสดงสินค้า นอกจากนี้ยังสนับสนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์และงานฝีมือท้องถิ่นเพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาด
3.นโยบายด้านสังคม การศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและสร้างกลุ่มอาสาสมัครในชุมชน พัฒนาสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุ ผู้พิการ และกลุ่มเปราะบาง ส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียนให้ทุกวัยเข้าถึงการศึกษาและเรียนรู้ตลอดชีวิต รักษามรดกทางวัฒนธรรมและสนับสนุนโครงการอนุรักษ์ ฟื้นฟูมรดกท้องถิ่น สนับสนุนกิจกรรมเสริมทักษะเยาวชน เช่น กีฬา ทักษะชีวิต และการเรียนรู้การเป็นผู้นำ รวมถึงส่งเสริมศิลปินท้องถิ่นและจัดกิจกรรมศิลปะและวัฒนธรรมเพื่อสร้างสรรค์และเพิ่มความหลากหลาย
4.นโยบายด้านโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค และสาธารณูปการ ส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การบำรุงรักษาทางน้ำและทางบก รวมถึงการจัดหาแหล่งน้ำสำหรับการเกษตรและการอุปโภคบริโภค พัฒนาระบบไฟฟ้าแสงสว่างและพลังงานทดแทน ปรับปรุงเส้นทางคมนาคมเพื่อเพิ่มความสะดวกและลดอุบัติเหตุ ติดตั้งไฟฟ้าสาธารณะเพื่อความปลอดภัย พัฒนาระบบจัดการน้ำเสียและน้ำท่วมในพื้นที่เสี่ยงเพื่อลดผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือทางการเกษตรเพื่อเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิต
5.นโยบายด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในจังหวัดพะเยา ส่งเสริมการปลูกป่าและฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมในจังหวัดพะเยา เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าไม้และรักษาความสมดุลของระบบนิเวศ ป้องกันและอนุรักษ์แหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ พัฒนาระบบการจัดการขยะ โดยส่งเสริมการแยกขยะและการรีไซเคิล ลดปริมาณขยะที่ฝังกลบ ส่งเสริมการใช้พลังงานชีวมวลจากของเสียทางการเกษตรและปศุสัตว์เป็นพลังงานทดแทน สนับสนุนเกษตรอินทรีย์ พร้อมให้คำปรึกษาและการฝึกอบรมแก่เกษตรกร พัฒนาระบบการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน โดยใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการน้ำ สนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชนและอาสาสมัครในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
6.นโยบายด้านการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาล ส่งเสริมการตรวจสอบธรรมาภิบาลในการทำงานขององค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา เพื่อป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว สร้างความน่าเชื่อถือและความศรัทธาของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนเพื่อพึ่งพาตนเองทางสังคมตามระบอบประชาธิปไตย ส่งเสริมการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมทางการเมือง รวมถึงให้ภาคเอกชนและประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการภาครัฐ ส่งเสริมการบริหารเชิงรุกให้บริการที่ดีแก่ประชาชน พัฒนาประสิทธิภาพการบริหารงานภาครัฐ และส่งเสริมการพัฒนางานบริการ พัฒนาศักยภาพบุคลากรและระบบข้อมูลภายในองค์กร พร้อมทั้งรณรงค์ให้บุคลากรยึดมั่นในมาตรฐานจริยธรรมและโปร่งใส พร้อมรับการตรวจสอบจากหน่วยงานภายนอก
ที่มา: https://www.py-pao.go.th
แม่ฮ่องสอน
อัครเดช วันไชยธนวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแม่ฮ่องสอน แถลงนโยบายต่อสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดแม่ฮ่องสอน พร้อมทั้งแสดงวิสัยทัศน์ว่า แม่ฮ่องสอนก้าวหน้า การศึกษาสร้างคน เศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็ง พัฒนา “ดิน น้ำ ป่า คน” อย่างยั่งยืนและมีคุณภาพ ในประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดแม่ฮ่องสอน สมัยสามัญ สมัยที่ 1 ครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ. 2568 เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2568 โดยกำหนดนโยบาย 5 ด้าน ดังนี้
1.นโยบายด้านโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาโครงข่ายถนนเชื่อมโยงจังหวัดใกล้เคียง โดยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอสนับสนุนงบประมาณให้ถนนได้มาตรฐาน ส่งเสริมคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวของแม่ฮ่องสอน บูรณะและรับโอนสายทางที่เชื่อมต่อกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด พร้อมให้บริการเครื่องจักรกลปรับปรุงถนน พัฒนาแหล่งน้ำ และที่ดินการเกษตร แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำด้วยการขุดเจาะน้ำบาดาล รองรับการใช้น้ำเพื่อเกษตรและอุปโภคบริโภคในฤดูแล้ง
2.นโยบายด้านคุณภาพชีวิต พัฒนาเกษตรมูลค่าสูง ส่งเสริมการแปรรูปสินค้าเกษตร สร้างแบรนด์ และเชื่อมโยงตลาดเพื่อเพิ่มรายได้ให้ประชาชน ยกระดับการศึกษาของโรงเรียนในสังกัด อบจ. พร้อมส่งเสริมเทคโนโลยีการศึกษาและกิจกรรมพัฒนาเยาวชน สนับสนุนการมีส่วนร่วมของคนพิการและผู้ด้อยโอกาส รวมถึงประชาสัมพันธ์สินค้าคนพิการ ส่งเสริมสถาบันครอบครัว ถ่ายทอดภูมิปัญญาผู้สูงอายุ และพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุทั้งด้านร่างกายและจิตใจ
3.นโยบายด้านการสาธารณสุข ยกระดับการดูแลสุขภาพในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในสังกัด อบจ.แม่ฮ่องสอน โดยสร้างเครือข่ายบริการสุขภาพให้ครอบคลุมและทั่วถึง ส่งเสริมการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) เพื่อเพิ่มศักยภาพในการดูแลประชาชน สนับสนุนการเข้าถึงบริการฟื้นฟูสมรรถภาพและอุปกรณ์การฟื้นฟูผ่านศูนย์ยืมคืนอุปกรณ์ฯ ระดับอำเภอ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ป่วยที่มีภาวะพึ่งพิง ลดภาระครอบครัวผู้ป่วย
4.นโยบายด้านการท่องเที่ยว ส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้ ‘แม่ฮ่องสอนเที่ยวได้ทั้งปี’ และส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดแม่ช่องสอน โดยพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวห่างไกล ให้เป็นแลนด์มาร์คใหม่ของการท่องเที่ยวจังหวัดแม่ฮ่องสอน
5.นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการอนุรักษ์และพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างมีส่วนร่วมจากชุมชน สนับสนุนภาคส่วนต่างๆ ในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และการกำจัดขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล โดยการประสานความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน
ที่มา: องค์การบริหารส่วนจังหวัดแม่ฮ่องสอน
แพร่
อนุวัธ วงศ์วรรณ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ กล่าวแถลงการบริหารราชการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ ต่อสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ เมื่อวันศุกร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2568 ภายใต้วิสัยทัศน์ พัฒนาคุณภาพชีวิต ด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สืบสาน ภูมิปัญญา เมืองอัจฉริยะสู่สากล โดยมีนโยบายทั้งหมด 9 ด้าน ดังนี้
1.นโยบายด้านการสาธารณสุขชุมชนและสังคมผู้สูงวัย พัฒนาระบบการดูแลสุขภาพในชุมชนและพื้นที่ห่างไกลเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยให้ความสำคัญในการให้บริการสุขภาพเบื้องต้น และพัฒนาทักษะบุคลากรทางการแพทย์ให้ทันสมัย พัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน พร้อมทั้งจัดตั้งสถานีสุขภาพหมู่บ้านช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพได้สะดวกยิ่งขึ้น
2.นโยบายด้านการศึกษาและกีฬา ส่งเสริมการศึกษาในทุกระดับช่วยสร้างโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้และพัฒนาต่อเนื่อง โดยสนับสนุนการศึกษาเพื่อพัฒนาสู่ความเป็นเลิศ เช่น การจัดมหกรรมทางวิชาการและการแข่งขันศิลปหัตถกรรมนักเรียนในระดับพื้นฐาน พร้อมทั้งส่งเสริมการกีฬาทุกประเภทและปรับภูมิทัศน์สนามกีฬาในจังหวัดแพร่ให้มีมาตรฐานและอุปกรณ์ที่เพียงพอสำหรับประชาชนทุกช่วงวัย นอกจากนี้ยังสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของสภาเด็กและเยาวชน และกลุ่มสตรีแม่บ้าน เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในทุกด้าน
3.นโยบายด้านการจัดการน้ำเพื่อการเกษตร อุปโภคและบริโภค ส่งเสริมการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร เช่น อ่างเก็บน้ำ ลำคลอง และหนองบึง โดยการซ่อมแซมและสร้างเหมืองฝาย ขุดลอกคูคลอง และขุดเจาะบ่อบาดาลในพื้นที่ห่างไกล เพื่อใช้ในการเกษตร การก่อสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ในพื้นที่ที่เหมาะสมจะช่วยยกระดับน้ำใต้ดินและเก็บน้ำเพื่อใช้ในการประปาหมู่บ้านและการเกษตร นอกจากนี้ยังส่งเสริมการใช้เครื่องสูบน้ำพลังแสงอาทิตย์เพื่อลดค่าใช้จ่ายของเกษตรกร พร้อมทั้งจัดให้มีศูนย์บริการน้ำดื่มสะอาดในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และยกระดับศูนย์บริหารจัดการน้ำเพื่อเตรียมรับการเปลี่ยนแปลงสภาวะต่างๆ
4.นโยบายด้านการคมนาคมและความปลอดภัย ผลักดันการสร้างระบบโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงระหว่างรถไฟรางคู่และถนนสายหลักสี่ช่องทาง รวมทั้งการขยายลานวิ่งสนามบินให้รองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ได้ นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุง ซ่อมแซม และบำรุงรักษาถนนและสะพานที่รับผิดชอบ โดยติดตั้งระบบไฟฟ้าสาธารณะและเพิ่มสัญญาณจราจรในจุดเสี่ยงเพื่อเพิ่มความปลอดภัย ลดอุบัติเหตุ และอำนวยความสะดวกในการสัญจร พร้อมทั้งปรับปรุงถนนหินคลุกในพื้นที่การเกษตรช่วยลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งผลผลิต การประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในการเพิ่มจุดติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) เพื่อป้องกันและติดตามการกระทำผิด และส่งเสริมการฝึกอบรมให้ความรู้เพื่อป้องกันและช่วยเหลือชีวิต เช่น การฝึกอบรมหน่วยกู้ภัย ตำรวจบ้าน และจิตอาสา
5.นโยบายด้านศาสนา ศิลปวัฒธรรม ประเพณี และการท่องเที่ยว ส่งเสริมการพัฒนาป่านันทนาการเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ รวมถึงการทำให้จังหวัดแพร่เป็น ‘เมืองแห่งตุง’ ผ่านการอบรมการทำตุงชนิดต่างๆ เพื่ออนุรักษ์ศิลปะล้านนา นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมกิจกรรมทางศาสนาเพื่อปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชน รวมทั้งพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ และการปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวที่มีอยู่ให้สวยงามและสะดวกสบาย พร้อมรองรับนักท่องเที่ยว
6.นโยบายด้านการอนุรักษ์ พื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการจัดการป่าชุมชนให้เป็นแหล่งอาหารและท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้อย่างยั่งยืน พร้อมแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง (PM 2.5) ด้วยการสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ในลำห้วยเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ป่า นอกจากนี้ยังสนับสนุนการกำจัดขยะชุมชนและขยะติดเชื้อจากโรงพยาบาลด้วยเตาเผาขยะปลอดมลพิษ และการจัดทำศูนย์พักพิงสัตว์ที่ถูกทอดทิ้ง ศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาพื้นที่แห้งแล้ง และจัดทำผังน้ำเพื่อผันน้ำไปยังพื้นที่แก้มลิงและลำน้ำที่ขาดแคลนน้ำ รวมทั้งผันน้ำในฤดูน้ำหลากเพื่อป้องกันน้ำท่วม และสนับสนุนการติดตั้งโทรมาตรเพื่อจัดการน้ำหลากและภัยแล้งให้แม่นยำ
7.นโยบายด้านเศรษฐกิจและการตลาด จัดตั้ง ‘ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบจังหวัดแพร่ (TCDC)’ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ เช่น ไม้สัก, สุราพื้นบ้าน, ผ้าทอ และผ้าหม้อห้อม พร้อมส่งเสริมการตลาดทั้งในประเทศและตลาดโลก นอกจากนี้ยังสนับสนุนการรวบรวมข้อมูลผลิตภัณฑ์การเกษตร การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า และอบรมการตลาดออนไลน์ให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการ พร้อมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน (OTOP) และวิสาหกิจชุมชน (SME) ให้มีคุณภาพตรงตามตลาด พร้อมพัฒนาบรรจุภัณฑ์และช่องทางจำหน่าย ส่งเสริม ‘พื้นที่สร้างสรรค์’ บนถนนเจริญเมืองและขยายไปยังทุกอำเภอ พร้อมสนับสนุนการจัดงานเทศกาลและพัฒนานักออกแบบรุ่นใหม่ในจังหวัดแพร่
8.นโยบายด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและระบบสารสนเทศ ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในจังหวัดแพร่ในหลายด้าน เช่น การเกษตร, การศึกษา, สาธารณสุข, ความปลอดภัย โดยสนับสนุนการนำผลงานวิจัยด้านเทคโนโลยีการเกษตรในจังหวัดแพร่ นอกจากนี้ยังสนับสนุนการปลูกป่าและปลูกต้นไม้เพื่อขายคาร์บอนเครดิตเป็นรายได้ระยะยาว พร้อมทั้งส่งเสริมความร่วมมือกับท้องถิ่นและหน่วยงานต่างๆ ในการพัฒนาให้จังหวัดแพร่เป็น ‘เมืองอัจฉริยะ’ (Smart City) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและการบริการที่สะดวก รวดเร็ว และทันสมัยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล
9.นโยบายด้านคุณธรรมจริยธรรมและความโปร่งใส การบริหารงบประมาณและงานบุคคลจะดำเนินการตามหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) โดยเน้นความรวดเร็ว ความถูกต้อง โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ พร้อมเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเสนอแนะ การวางแผน การดำเนินงาน และการติดตามผล ผ่านช่องทางประชุมประชาคม นอกจากนี้ยังส่งเสริมการพัฒนาความรู้และทักษะของบุคลากรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการประชาชน
ที่มา: https://www.phraepao.go.th
น่าน
นพรัตน์ ถาวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดน่าน แถลงนโยบายการบริหารราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดน่าน ในการประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดน่าน สมัยสามัญ สมัยแรก ครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ.2568 ได้กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า ‘น่านหนึ่งเดียว’ นำไปสู่มิติ 5 เป้าหมาย คือ น่านน่าอยู่ น่านน่ากิน น่านน่าเที่ยว น่านน่าเรียน และน่านน่าธรรม โดยมีนโยบายทั้งหมด 8 ด้าน ดังนี้
1.นโยบายด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การตั้งศูนย์เครื่องจักรกลของ อบจ. ในพื้นที่โซนเหนือ กลาง และใต้ เพื่อพัฒนาและแก้ปัญหาความต้องการของประชาชน สนับสนุนส่วนราชการและ อปท. ในการปฏิบัติงานอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังพัฒนาระบบขนส่งมวลชนเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมด้วยบริการที่เป็นธรรมและเหมาะสมกับค่าครองชีพ ส่งเสริมการสงเคราะห์ผู้ด้อยโอกาส และอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนโดยไม่หวังผลกำไร รวมทั้งการก่อสร้างและปรับปรุงถนนในความรับผิดชอบของ อบจ. ให้ได้มาตรฐาน และร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการแก้ปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง โดยพัฒนาการบริหารจัดการน้ำและโครงสร้างพื้นฐานให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน
2.นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจ จะตั้งตลาดกลางสินค้า 4 ภาคเป็นศูนย์แสดงและจำหน่ายสินค้า พร้อมจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและสร้างโอกาสการผลิต สร้างงานและอาชีพให้ประชาชน ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน ยกระดับสินค้า OTOP ให้มีมาตรฐานและตอบสนองความต้องการผู้บริโภค พร้อมสนับสนุนจังหวัดน่านสมัครเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านศิลปะและหัตถกรรมของยูเนสโก เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์และการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน
3.นโยบายการพัฒนาการท่องเที่ยว จะส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเดิมและแหล่งท่องเที่ยวใหม่ จัดกิจกรรมการท่องเที่ยว พัฒนาสนับสนุน บุคลากร หน่วยงานด้านการท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว ซึ่งจะส่งผลต่อการสร้างรายได้ให้ประชาชน ตั้งหน่วยงานรับผิดชอบการท่องเที่ยว จัดทำโครงการ กิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว การดูแล การให้บริการ และอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว
4.นโยบายการพัฒนาการศึกษา จะพัฒนาการศึกษาทุกระดับโดยใช้เทคโนโลยีทันสมัย สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต ส่งเสริมสถาบันศาสนาในการสร้างคนดีมีคุณธรรม จัดกิจกรรมบำรุงรักษาศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่นเพื่อยกระดับเป็นวัฒนธรรมสร้างสรรค์ (Creative Culture) และสนับสนุนการพัฒนาแหล่งโบราณสถานและศิลปวัตถุเพื่ออนุรักษ์และส่งเสริม Soft Power ของจังหวัด.
5.นโยบายด้านการสาธารณสุขและการพัฒนาคุณภาพชีวิต เพิ่มศักยภาพโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษานวมินทราชินี (สอน.) ในการรักษาพยาบาล ป้องกันโรค และส่งเสริมสุขภาพ สนับสนุนระบบแพทย์ทางไกล (telemedicine) ให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพได้ง่ายขึ้น ลดเวลาและค่าใช้จ่าย สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพ อสม. และกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพ พัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบาง สนับสนุนโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งเตาเผาขยะไร้มลพิษ และพัฒนาสนามกีฬาให้ได้มาตรฐาน รองรับการออกกำลังกาย การแข่งขัน และพักผ่อน พร้อมส่งเสริมการป้องกันแก้ปัญหายาเสพติดและการพัฒนาน้ำสะอาด
6.นโยบายด้านการพัฒนาการเกษตร ส่งเสริมอาชีพ ส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ การปลูกพืชและไม้ผลเศรษฐกิจ ส่งเสริมการพัฒนาเกษตรปลอดภัย การแปรรูปผลผลิต การเพิ่มคุณภาพ และเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร พัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ก่อสร้างและปรับปรุงเส้นทางสู่พื้นที่เกษตร ส่งเสริมและสนับสนุนการฝึกอบรมอาชีพ พัฒนากลุ่มอาชีพเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ผลผลิตมีคุณภาพ และมาตรฐาน ส่งเสริมตลาดสินค้าเกษตรระดับชุมชน ระดับจังหวัด และระดับภูมิภาค
7.นโยบายด้านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการคุ้มครองดูแล บำรุงรักษา ป่าไม้ ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชน ภาคประชาชน ท้องถิ่น และส่วนราชการในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู บริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมสนับสนุนการรับมือภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด ส่งเสริมการแปรรูปขยะพลาสติกเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง ต่อยอดจากการคัดแยกขยะนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ศึกษาการจัดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียรวม และที่กำจัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลรวม
8.นโยบายด้านพัฒนาการเมือง การบริหารจัดการองค์กรและการจัดการบ้านเมืองที่ดี ส่งเสริมประชาธิปไตย ความเสมอภาค สิทธิเสรีภาพของประชาชน และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาท้องถิ่น พัฒนาศักยภาพบุคลากร เป็นคนดี คนเก่ง มีคุณธรรม จริยธรรม มีความมุ่งมั่น มีความสามารถสูงและเป็นมืออาชีพ สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ พัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศและเทคโนโลยี เพื่อนำมาใช้ปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของ อบจ. ปรับปรุงโครงสร้างการบริหารราชการของ อบจ.ให้ทำงานคล่องตัวมากขึ้น นำหลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี( good governance) มาใช้ในการบริหารงานของ อบจ.
ที่มา: https://nan.prd.go.th
อุตรดิตถ์
ชัยศิริ ศุภรักษ์จินดา นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุตรดิตถ์ แถลงนโยบายต่อที่ประชุมสภาองค์กรการบริหารส่วนจังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2568 โดยกำหนดวิสัยทัศน์ในการพัฒนาคือ “องค์กรเพื่อพัฒนาท้องถิ่น มุ่งสู่เมืองแห่งคุณภาพชีวิตที่ดี วิถีเศรษฐกิจพอเพียง” มีนโยบายการบริหารองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุตรดิตถ์ 9 ด้าน ดังนี้
1. นโยบายด้านการเมือง การปกครอง และการบริหารจัดการ ส่งเสริมกิจกรรมเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และระบอบประชาธิปไตย โดยบริหารจัดการ อบจ.อุตรดิตถ์ตามหลักธรรมาภิบาล เพื่อประโยชน์ประชาชน สนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาท้องถิ่นและการจัดทำแผนพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมใช้เทคโนโลยีทันสมัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริการประชาชน
2.นโยบายด้านโครงสร้างพื้นฐาน ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาเส้นทางขนส่งพืชผลทางการเกษตร การจัดการแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภค รวมถึงการพัฒนาและปรับปรุงระบบคมนาคมให้สะดวกและปลอดภัย โดยการติดตั้งระบบไฟฟ้าส่องสว่างเพื่อเพิ่มความปลอดภัย การพัฒนาแหล่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วม รวมถึงการขุดลอกหนอง คลอง บึง การจัดทำระบบธนาคารน้ำใต้ดิน และการเจาะบ่อบาดาล เพื่อสนับสนุนการเกษตรและการใช้ประโยชน์จากน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ
3.นโยบายด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ ส่งเสริมการพัฒนาอาชีพของประชาชนในกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มอาชีพ วิสาหกิจชุมชน OTOP และกลุ่มสตรี โดยเน้นการพัฒนาทักษะการผลิต การตลาด และการใช้เทคโนโลยีใหม่ รวมทั้งสนับสนุนเกษตรกรรมอินทรีย์และเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์เกษตร โดยใช้เทคโนโลยี Smart Agriculture หรือ Smart Farm เพื่อสร้างผลผลิตที่ยั่งยืน พัฒนาเครือข่ายกลุ่มอาชีพตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง และพัฒนาสินค้า OTOP เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและความยั่งยืนในเศรษฐกิจชุมชน
4.นโยบายด้านการพัฒนาการศึกษา พัฒนาการจัดการศึกษาของโรงเรียนในสังกัดให้สอดคล้องกับแผนการศึกษาและมาตรฐานการศึกษาของชาติ โดยมุ่งเน้นการเรียนการสอนที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง และการบริหารที่ให้ความสำคัญกับสถานศึกษา ส่งเสริมการเรียนภาษาต่างประเทศและการพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาให้มีมาตรฐานสากล พร้อมสนับสนุนการศึกษาในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัยให้มีคุณภาพ สร้างโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมสำหรับประชาชนทุกช่วงวัย และสนับสนุนการพัฒนาครู นักเรียน วัสดุอุปกรณ์ และเทคโนโลยีให้ได้มาตรฐานสากล
5.นโยบายด้านการพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิต ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส โดยร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ แก้ไขปัญหาสังคม เช่น ยาเสพติดและความยากจน พัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีทักษะและศักยภาพในการแสดงความคิดเห็น พร้อมสนับสนุนสภาเด็กและเยาวชนในการพัฒนาท้องถิ่น และส่งเสริมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในพื้นที่
6.นโยบายด้านพัฒนาสาธารณสุข ส่งเสริมการพัฒนาสาธารณสุขมูลฐานให้ประชาชนมีสุขภาพดีตามมาตรฐานสากล โดยพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินและบริการสุขภาพ เช่น การส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และบำบัดรักษา พร้อมพัฒนาให้บริการสุขภาพมีประสิทธิภาพ โดยการจัดบริการรถเอกซเรย์ รถตรวจตา และรถทันตกรรมเคลื่อนที่ รวมถึงการจัดการสุขาภิบาลและขยะอันตราย เพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมบำรุงรักษาสถานพยาบาลและใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาระบบบริการให้มีประสิทธิภาพและครอบคลุม
7.นโยบายด้านส่งเสริมการท่องเที่ยวและกีฬา ส่งเสริมการพัฒนาฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวและสวนสาธารณะโดยการปรับปรุงภูมิทัศน์ให้มีมาตรฐาน พร้อมสนับสนุนกิจกรรมการท่องเที่ยวที่หลากหลายทั้งในด้านการอนุรักษ์และสร้างจิตสำนึกในการดูแลแหล่งท่องเที่ยว รวมถึงประชาสัมพันธ์จังหวัดอุตรดิตถ์เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวตลอดทั้งปี ใช้เทคโนโลยีและสื่อออนไลน์ในการพัฒนาการท่องเที่ยวให้หลากหลาย และสนับสนุนการพัฒนาสนามกีฬาและการกีฬาในท้องถิ่นให้รองรับการแข่งขันทุกระดับ รวมทั้งการพัฒนาเยาวชนให้มีโอกาสออกกำลังกายและใช้เวลาว่างอย่างมีประโยชน์
8.นโยบายด้านศาสนาวัฒนธรรม ประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่น ส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมทำนุบำรุงศาสนา เสริมสร้างคุณธรรมและจริยธรรมในการดำเนินชีวิต พร้อมอนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นที่หลากหลาย เพื่อรักษาจารีต ขนบธรรมเนียม และภูมิปัญญาท้องถิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดอุตรดิตถ์
9.นโยบายด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมและสนับสนุนการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีส่วนร่วมจากประชาชน รัฐ และเอกชน รวมถึงการเพิ่มพื้นที่ป่า การปลูกป่า และลดฝุ่นละอองจากการเผาไหม้ สนับสนุนการจัดการขยะมูลฝอย มลพิษ และระบบบำบัดน้ำเสียอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนและสภาพภูมิอากาศแปรปรวน เพื่อรับมือกับปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง อีกทั้งส่งเสริมการแก้ไขฝุ่น PM2.5 และสร้างจิตสำนึกการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้กับประชาชนและเยาวชนในจังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อพัฒนาอย่างยั่งยืน
ที่มา: https://uttaradit.prd.go.th
ตาก
อัจฉรา ทวีเกื้อกูลกิจ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตาก แถลงนโยบายการบริหารราชการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดตาก สมัยสามัญ สมัยที่ 1 ครั้งที่ 1 ประจำปี 2568 โดยมีเป้าหมายหลัก คือ ‘จังหวัดตาก จะต้องดีกว่าเดิม พี่น้องประชาชนต้องมาก่อนสิ่งอื่นได’ โดยกำหนดนโยบายการพัฒนาใน ด้านต่างๆ ตามแนวทาง ดังนี้
1.นโยบายด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน มุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน เน้นการรับฟังความคิดเห็นและประสานงานกับทุกภาคส่วน จัดหาเครื่องจักรและอุปกรณ์สำหรับบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานและบรรเทาสาธารณภัย ดูแลซ่อมแซมถนน สะพาน ระบบระบายน้ำ และแหล่งน้ำให้พร้อมใช้งาน สนับสนุนไฟฟ้าส่องสว่างและพลังงานทางเลือก ตลอดจนให้คำปรึกษาด้านโครงสร้างพื้นฐานแก่หน่วยงานท้องถิ่นเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในจังหวัดตาก
2.นโยบายด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสาธารณสุข มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนให้มีสุขภาพแข็งแรง และความเป็นอยู่ที่ดี โดยร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมระบบแพทย์ฉุกเฉิน (EMS) ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ป้องกันโรคระบาดด้วยนวัตกรรมทางการแพทย์ สนับสนุนการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส เด็ก สตรี ผู้พิการ และผู้สูงอายุ รวมถึงบริหารกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด พัฒนางานโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และยกระดับสถานีขนส่งให้ได้มาตรฐาน ปลอดภัย และสะดวกต่อการใช้บริการ
3.นโยบายด้านการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ การศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม มุ่งส่งเสริมการศึกษาในทุกระบบและทุกช่วงวัย โดยบูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง พัฒนาทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 รวมถึงสนับสนุน Soft Power ให้เด็กและเยาวชนมีทักษะอาชีพที่มั่นคง ส่งเสริมการอนุรักษ์วัฒนธรรม ประเพณี ศิลปะพื้นบ้าน และภูมิปัญญาท้องถิ่น พร้อมทั้งสนับสนุนกิจกรรมทางศาสนา เพื่อพัฒนาจิตใจและเสริมสร้างอัตลักษณ์ท้องถิ่น สนับสนุนการดูแลโบราณสถาน และส่งเสริมการวิจัยด้านศิลปวัฒนธรรม เพื่อการเรียนรู้และสืบทอดไปยังคนรุ่นหลัง
4.นโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยวและกีฬา มุ่งพัฒนาและฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวเดิม รวมถึงสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่เป็นเอกลักษณ์ ส่งเสริมกิจกรรมและประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวให้เป็นที่รู้จักระดับสากล พร้อมกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้ประชาชนตลอดปี และด้านกีฬา จะสนับสนุนการพัฒนากีฬาในทุกระดับ ยกระดับสนามกีฬาให้ได้มาตรฐาน ส่งเสริมให้เยาวชนและประชาชนเล่นกีฬาเพื่อสุขภาพ และสร้างความสามัคคีในสังคม
5.นโยบายด้านหรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มุ่งอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเน้นการร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน เพื่อการรักษาทรัพยากรให้ยั่งยืน รวมถึงการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น การจัดการขยะมูลฝอยและมลพิษต่างๆ ด้วยวิธีที่ถูกต้อง พร้อมทั้งการเฝ้าระวังและควบคุมมลพิษทางน้ำ อากาศ และเสียง อย่างเป็นระบบ เพื่อสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมในอนาคต
6.นโยบายด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจและอาชีพ มุ่งเน้นการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาอาชีพ โดยการจัดตั้งกลุ่มอาชีพที่ตอบสนองความต้องการของตลาด เช่น การเกษตรอินทรีย์และเกษตรทางเลือก รวมถึงการสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ที่ช่วยสร้างรายได้ เช่น โครงการตลาดสินค้าเกษตรและตลาดนัดสินค้าชุมชน นอกจากนี้ยังจะส่งเสริมช่องทางการประชาสัมพันธ์สินค้า OTOP ของจังหวัดตาก เพื่อขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ ผ่านจุดจำหน่ายและสื่ออิเล็กทรอนิกส์
7.นโยบายด้านการบริหารการจัดการบ้านเมืองที่ดีและการมีส่วนร่วม พัฒนาองค์การบริหารส่วนจังหวัดตาก ตามหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) โดยมุ่งเน้นการปฏิบัติตามหลักสำคัญ 5 ประการ ได้แก่ หลักนิติธรรม หลักคุณธรรม หลักความโปร่งใส หลักการมีส่วนร่วม และหลักความรับผิดชอบ
ที่มา: https://www.takpao.go.th
สุโขทัย
มนู พุกประเสริฐ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุโขทัย แถลงนโยบายการบริหารราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุโขทัย ในการประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุโขทัย เมื่อวันที่ 29 เดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 โดยกำหนดเป้าหมายหลัก “สานต่อนโยบายหลักและผลงานที่ผ่านมา…เพื่อพัฒนาสุโขทัยบ้านเรา” ผ่านนโยบาย 5 ด้าน ดังนี้
1.นโยบายด้านการเมือง (Policy on Politics) เทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตย พร้อมเสริมสร้างความเข้าใจในสิทธิและหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันพัฒนาท้องถิ่นและส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน เยาวชน และองค์กรต่างๆ ตามหลักการประชาธิปไตย
2.นโยบายด้านการพัฒนาสังคม (Policy on Social) ส่งเสริมการสังคมสงเคราะห์ผู้ป่วยยากไร้ให้เข้าถึงการรักษาพยาบาล และพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และกลุ่มเปราะบางให้มีความสุขและสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี โดยร่วมมือกับหน่วยบริการทางการแพทย์และระบบประกันสุขภาพ เพื่อให้การบริการสุขภาพทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ สนับสนุนการกีฬาและนันทนาการ รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการศึกษาและการเข้าถึงเทคโนโลยีทันสมัย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและเสริมสร้างโอกาสให้กับเยาวชน พร้อมสนับสนุนการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่น ตลอดจนการพัฒนาระบบคมนาคมและไฟฟ้าเพื่อเพิ่มความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตประชาชน
3.นโยบายด้านเศรษฐกิจ (Policy on Economics) ส่งเสริมอาชีพให้ประชาชนและเกษตรกรตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยเพิ่มพูนความรู้ด้านเทคนิคและวิชาการในการประกอบอาชีพ พัฒนาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม พร้อมส่งเสริมน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคบริโภคให้ทุกครัวเรือนเข้าถึง ปรับปรุงเส้นทางคมนาคมและภูมิทัศน์เส้นทางท่องเที่ยวสำคัญ พร้อมพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและการอนุรักษ์วัฒนธรรม สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการพัฒนาและส่งเสริมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ พัฒนาทักษะ Soft Power ให้เยาวชนเพิ่มโอกาสสร้างอาชีพและเสริมรายได้ สู่ความมั่นคงของครอบครัวและชุมชนสุโขทัย
4.นโยบายด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (Policy on Natural Resources and Environmental) ส่งเสริมการสร้างความรู้และเครือข่ายท้องถิ่นเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน สนับสนุนการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ ร่วมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของประชาชน ส่งเสริมการปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในเยาวชน พร้อมสร้างและบำรุงสวนสาธารณะและสวนสุขภาพเพื่อเป็นพื้นที่พักผ่อนและท่องเที่ยว
5.นโยบายด้านการบริหารจัดการ (Policy on Administrative) บริหารงานด้วยการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ไขปัญหา โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนตามหลักธรรมาภิบาล ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพและสวัสดิการของบุคลากร พร้อมเสริมขวัญกำลังใจเพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพ ใช้เทคโนโลยีดิจิตอลในการบริหารจัดการเพื่อลดขั้นตอนและบริการประชาชนได้รวดเร็วยิ่งขึ้น สนับสนุนการพัฒนาบุคลากรและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ในการพัฒนาท้องถิ่นให้มีประสิทธิภาพ และเกิดเครือข่ายความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างยั่งยืน
ที่มา: https://www.sukhothaipao.go.th
พิษณุโลก
มนต์ชัย วิวัฒน์ธนาพย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก แถลงนโยบายการบริหารงานต่อสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ในการประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก สมัยสามัญ สมัย 2 ครั้งที่ 2 ประจำปี 2567 เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2567 มีเป้าหมายหลักคือ “เข้าใจ ใสโจ ห่วงโย รับใช้พิดโลก” โดยมีนโยบายทั้งหมด 5 ด้าน ดังต่อไปนี้
1.นโยบาย “เมืองผู้สูงอายุ มีรอยยิ้ม มีความสุข” ส่งเสริมและสนับสนุนการซ่อมแซมบ้านผู้สูงอายุและผู้พิการให้ปลอดภัยตามมาตรฐาน อบรมหลักสูตร Caregiver ให้ประชาชนที่สนใจดูแลผู้สูงอายุ และนำเทคโนโลยีมาช่วยฟื้นฟูผู้ป่วยติดเตียง สนับสนุนกิจกรรมออกกำลังกายและจัดหาอุปกรณ์กีฬาที่เหมาะกับทุกช่วงวัย ส่งเสริมสุขภาพและนันทนาการ พร้อมพัฒนานักกีฬาให้ได้มาตรฐานสากล สนับสนุนอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้พิการ และสงเคราะห์ผู้ด้อยโอกาสให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมถึงช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยยากไร้
2.นโยบาย “หมอใกล้ตัว” พัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) สู่ Smart รพ.สต. ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย อำนวยความสะดวกผ่านระบบ Telemedicine ให้ประชาชนพบแพทย์ออนไลน์ ลดภาระการเดินทาง พร้อมบริการจัดส่งยาถึงบ้านสำหรับผู้ป่วยเรื้อรัง เสริมเครือข่ายแพทย์ฉุกเฉิน และพัฒนาอาสาสมัครทางการแพทย์ให้พร้อมรับมือเหตุฉุกเฉิน สนับสนุนศูนย์กลางสุขภาพครบวงจร (Medical Hub) ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด โรคติดต่อ และส่งเสริมสุขภาพอย่างยั่งยืน
3.นโยบาย “เที่ยวพิษณุโลกสนุกไม่แพ้เมืองหลัก” ส่งเสริมและสนับสนุน City Branding เพื่อขับเคลื่อน Soft Power ของพิษณุโลกให้เป็นที่รู้จัก พัฒนาและฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยว สวนสาธารณะ และโบราณสถานให้ได้มาตรฐาน พร้อมอนุรักษ์แหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม สนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ วัฒนธรรม และศาสนา โดยใช้เทคโนโลยีและสื่อออนไลน์ประชาสัมพันธ์ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ตลอดจนสืบสานวัฒนธรรมอันดีงามของจังหวัดให้คงอยู่ต่อไป
4.นโยบาย “เด็กพิษณุโลกฝันให้ไกล ไปให้ถึง” ส่งเสริมทุนการศึกษา พัฒนาศักยภาพเยาวชน และสนับสนุนการศึกษาทุกช่วงวัยให้เท่าเทียมและทันสมัย สนับสนุนกิจกรรมศาสนาและคุณธรรม พัฒนาโรงเรียนและสนามกีฬา พร้อมผลักดันนักกีฬาสู่ระดับสากล ส่งเสริมการออกกำลังกายและกิจกรรมสร้างสรรค์
5.นโยบาย “พิษณุโลกพึ่งได้” ก่อสร้าง ปรับปรุง และดูแลเส้นทางคมนาคม สาธารณูปโภค และพื้นที่สาธารณะให้ได้มาตรฐาน สะอาด และปลอดภัย แก้ปัญหาน้ำแล้ง-น้ำท่วมด้วยโครงการจัดการน้ำ ส่งเสริมความปลอดภัยด้วยกล้อง CCTV และระบบอินเทอร์เน็ตสาธารณะ พัฒนาแอปพลิเคชันรับเรื่องร้องเรียนเพื่อแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว สนับสนุนการป้องกันภัย อบรมอาชีพ และพัฒนาทักษะแรงงาน พร้อมส่งเสริมหัตถศิลป์ให้เป็นที่รู้จัก บูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วนเพื่อพัฒนาท้องถิ่นให้ยั่งยืน
ที่มา: https://www.ppao.go.th
พิจิตร
จังหวัดพิจิตรยังไม่มีแถลงนโยบายเป็นสาธารณะ แต่หากลองสำรวจนโยบายหาเสียงก่อนการเลือกตั้งของ กฤษฎ์ เพ็ญสุภา นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิจิตร ก็จะพบว่าได้กำหนดนโยบายที่ใช้หาเสียงไว้ 5 นโยบายหลัก ดังนี้
1.พิจิตรเมืองเจริญ หนึ่งตำบลหนึ่งล้านสนับสนุนงบพัฒนาท้องถิ่น เพื่อให้แต่ละตำบลสามารถพัฒนาได้ตามความต้องการของประชาชนเอง
2.พิจิตรเมืองอุดมสมบูรณ์ คาราวานเครื่องจักรแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งอย่างเป็นระบบ ช่วยเหลือเกษตรกรให้ทำมาหากินได้โดยไม่ต้องรอความช่วยเหลือที่ล่าช้า
3.พิจิตรเมืองสุขภาพ บริการสาธารณสุขถึงบ้านยกระดับ รพ.สต. ให้เข้าถึงทุกชุมชน ไม่ต้องเดินทางไกลไม่ต้องรอคิวนาน ให้สุขภาพของพี่น้องประชาชนมาก่อนเสมอ
4.พิจิตรเมืองกีฬา เพิ่มสนามกีฬา-สวนสาธารณะ ผลักดันนักกีฬาสู่ระดับประเทศสนับสนุนกิจกรรมกีฬาให้เด็กและเยาวชน สร้างอนาคตและสุขภาพที่ดีไปพร้อมกัน
5.พิจิตรเมืองท่องเที่ยว พลิกโฉมบึงสีไฟให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับประเทศยกระดับเศรษฐกิจชุมชน สร้างรายได้ให้พี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน
ที่มา: https://www.facebook.com/KritPensupha.official
ทั้งนี้ หากมีการแถลงนโยบายเพิ่มเติม Lanner จะมาอัพเดทความคืบหน้าอีกครั้ง
กำแพงเพชร
สุนทร รัตนากร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกำแพงเพชร แถลงนโยบายต่อสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดกำแพงเพชร เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2567 ชูนโนยบายพัฒนาจังหวัดกำแพงเพชร 7 ด้าน ดังนี้
1.นโยบายด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมถนนเชื่อมโยงระหว่างตำบลและอำเภอให้ได้มาตรฐาน พร้อมติดตั้งเครื่องหมายจราจรและสัญญาณไฟ เพื่อความสะดวกในการสัญจรและขนส่งสินค้า ทั้งอุปโภค บริโภค และการเกษตร ติดตั้งระบบไฟฟ้าสาธารณะและแสงสว่างในเขตชุมชนหนาแน่นและจุดเสี่ยง เพื่อลดอุบัติเหตุและเพิ่มความปลอดภัย รวมทั้งพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตร เช่น การขุดลอกแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อการเกษตร
2.นโยบายด้านส่งเสริมคุณภาพชีวิต ดำเนินการแก้ไขปัญหาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยส่งเสริมการสาธารณสุข การป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ รวมถึงพัฒนาคุณภาพการให้บริการสาธารณสุขและเครือข่ายอนามัยในท้องถิ่น เช่น อสม. และหน่วยกู้ภัย เพื่อเสริมสร้างความรู้ในการป้องกันโรคและดูแลสุขภาพประชาชน พร้อมทั้งจัดหาอุปกรณ์ทันสมัยเพื่อพัฒนาความสามารถของบุคลากรในการช่วยเหลือและป้องกันสาธารณภัย นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคมสงเคราะห์ให้แก่เด็ก สตรี คนชรา และผู้ด้อยโอกาส เพื่อให้ทุกคนสามารถมีชีวิตที่ดีในสังคมได้อย่างมีความสุข
3.นโยบายด้านการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม และกีฬา ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของหน่วยงานและสถาบันการศึกษาให้ทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ โดยมุ่งเน้นการศึกษาระดับมัธยมศึกษาในโรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดกำแพงเพชร ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานให้เรียนฟรี พร้อมส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรม เน้นให้ผู้เรียนพัฒนาความรู้ตามอัจฉริยภาพในด้านต่างๆ เช่น ดนตรี กีฬา วิชาการ และเทคโนโลยี สนับสนุนการแข่งขันกีฬาและกิจกรรมที่บูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัด พร้อมทั้งส่งเสริมการอนุรักษ์และฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อสืบทอดให้ลูกหลานรักษาคุณค่าของวัฒนธรรมทั้งในกลุ่มไทยพื้นเมืองและชาติพันธุ์
4.นโยบายด้านการจัดระเบียบชุมชน สังคม และเสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัยส่งเสริมการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัย โดยร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อการป้องกันและบรรเทาความเดือดร้อน จากภัยธรรมชาติ นอกจากนี้ยังสนับสนุนการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความปรองดองและสมานฉันท์ในสังคม ลดความขัดแย้งผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม และบูรณาการการทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานต่างๆ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่
5.นโยบายด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการสร้างจิตสำนึกอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยสนับสนุนการปลูกป่าและฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ตลอดจนรักษาแหล่งต้นน้ำลำธารให้สมบูรณ์ โดยบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน นอกจากนี้ยังส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนจากธรรมชาติ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม พร้อมทั้งจัดกิจกรรมรณรงค์ให้เกษตรกรหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพแทนสารเคมี เพื่อบำรุงดินและลดต้นทุนการผลิตในระยะยาว
6.นโยบายด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ส่งเสริมและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวขององค์การบริหารส่วนจังหวัดกำแพงเพชร เช่น บ่อน้ำพุร้อนพระร่วงและศูนย์วิทยาศาสตร์ (เกาะเสือ) มุ่งเน้นการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งอาคารและสถานที่ให้พร้อมบริการนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น พร้อมส่งเสริมการจัดกิจกรรมและโครงการในแหล่งท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้ให้กับกลุ่มอาชีพต่างๆ เช่น สินค้า OTOP และผลิตภัณฑ์จากการเกษตร โดยมีตลาดรองรับการจำหน่ายสินค้า ควบคู่กับการกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัด นอกจากนี้ ยังสนับสนุนการสร้างเครือข่ายการท่องเที่ยวร่วมกับภาครัฐ เอกชน และชุมชน เพื่อเชื่อมโยงการท่องเที่ยวที่ครบวงจร ตั้งแต่สถานที่ท่องเที่ยว ไปจนถึงบริการที่พัก ร้านอาหาร และการจัดแสดงสินค้า
7.นโยบายด้านการบริหารจัดการ บริหารงานโดยยึดหลักธรรมาภิบาล เน้นความโปร่งใสและการกระจายอำนาจให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและบริหารงบประมาณร่วมกัน เพื่อพัฒนาท้องถิ่น ประสานงานกับหน่วยงานและองค์กรต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน และติดตามการใช้จ่ายงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมเสริมคุณธรรมให้ข้าราชการ และเผยแพร่ข้อมูลให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึง
ที่มา: องค์การบริหารส่วนจังหวัดกำแพงเพชร
เพชรบูรณ์
อัครเดช ทองใจสด นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบูรณ์ แถลงนโยบายต่อสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2568 โดยมุ่งหวังให้เพชรบูรณ์ก้าวสู่อนาคตที่ดีกว่าเดิม ผ่านการพัฒนาที่ครอบคลุมทุกด้าน และตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง ครอบคลุม 7 ด้านหลัก ดังนี้
1.นโยบายด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ภายใต้นโยบาย ‘ไกลแค่ไหนเราก็ไปถึง’ โดยปรับปรุงและขยายเครือข่ายคมนาคม ถนน ไฟฟ้า และน้ำประปาให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ส่งเสริมความปลอดภัยทางถนน ติดตั้งไฟส่องสว่าง และปรับปรุงสภาพแวดล้อมในพื้นที่สาธารณะสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเติบโตของเมือง
2.นโยบายพัฒนาการศึกษาและศาสนาวัฒนธรรมประเพณี มุ่งเน้นการยกระดับการศึกษาให้ทันสมัย และสอดคล้องกับมาตรฐานการศึกษาแห่งชาติ โดยสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการใช้เทคโนโลยีในการศึกษา พร้อมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและธรรมชาติ เพื่อเสริมสร้างเอกลักษณ์ของจังหวัดและเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน นอกจากนี้ยังสนับสนุนการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะ วัฒนธรรม และศาสนา รวมถึงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน
3.นโยบายด้านการพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิต แก่ผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส เด็กและเยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ภายใต้นโยบายดูแลใส่ใจคุณภาพชีวิตให้ได้รับสวัสดิการที่เหมาะสม ยกระดับการให้บริการทางการแพทย์และพัฒนาสุขภาพประชาชนให้ทั่วถึง สนับสนุนการพัฒนาสวัสดิการ
4.นโยบายด้านการพัฒนาสาธารณสุข ภายใต้นโยบาย ก้าวไปพร้อมกันเพื่อชุมชนสุขภาพดี พัฒนาศักยภาพการจัดการระบบสุขภาพแบบปฐมภูมิ พัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัย รถ x-ray เคลื่อนที่แบบภาพดิจทัลพร้อมยูนิตทันตกรรม พัฒนาระบบ SMART OPD สถานีอนามัยไฮเทค สนับสนุนเครื่องมือทางการแพทย์แก่โรงพยาบาลอำเภอ และ รพ.สต.
5.นโยบายด้านการพัฒนาส่งเสริมเศรษฐกิจและการเกษตร พัฒนาเกษตรกรรมสมัยใหม่และเพิ่มช่องทางการตลาดสินค้าเกษตร สนับสนุนตลาดกลางการค้าสินค้าเกษตร เพื่อให้เกษตรกรสามารถจำหน่ายผลผลิตได้โดยตรง สนับสนุนผลิตภัณฑ์ OTOP และการค้าชุมชน เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่น ส่งเสริมการท่องเที่ยว พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ
6.นโยบายด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฟื้นฟูป่าไม้และแหล่งน้ำ ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน บริหารจัดการขยะและมลพิษ ลดปัญหาขยะล้นเมือง และสนับสนุนการรีไซเคิล
7.พัฒนาการเมืองและการบริหารตามหลักธรรมาภิบาล ส่งเสริมประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารท้องถิ่น บริหารงานของ อบจ. ด้วยหลักธรรมาภิบาล ซื่อสัตย์ โปร่งใส และตรวจสอบได้ พัฒนาระบบบริหารราชการให้มีประสิทธิภาพ และเน้นการให้บริการประชาชนที่สะดวกรวดเร็ว
ที่มา: องค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบูรณ์
นครสวรรค์
พลตำรวจเอกสมศักดิ์ จันทะพิงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ แถลงนโยบายของต่อสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 โดยมีกรอบการทำงาน คือ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดนครสวรรค์ให้ดีขึ้น ทั้งหมด 5 ด้าน ดังนี้
1.นโยบายด้านสังคมการศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม ส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาเพิ่มโอกาสการเรียนรู้ส่งเสริมสนับสนุนประเพณีท้องถิ่นและการป้องกันบรรเทาสาธารณภัย
2.นโยบายด้านเศรษฐกิจ ให้พึ่งพาตนเองได้ ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
3.นโยบายด้านสาธารณสุข ส่งเสริมสุขภาพที่ดีแก่ประชาชน พัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ เป็นหน่วยบริการที่มีประสิทธิภาพ การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่เด็ก สตรี คนชรา ผู้ด้อยโอกาสทางสังคม
4.นโยบายด้านโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาระบบคมนาคมขนส่งระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้มีมาตรฐาน ยกระดับความปลอดภัยทางถนน พัฒนาแหล่งน้ำเพื่ออุปโภค บริโภค และพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อเกษตรกรรมให้ทั่วถึง
5.นโยบายด้านการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี พัฒนาบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ มีคุณธรรมจริยธรรม และส่งเสริมสนับสนุน การทำงานตามหลักธรรมาภิบาล สุจริตโปร่งใส ตรวจสอบได้
ที่มา: องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์
อุทัยธานี
จังหวัดอุทัยธานียังไม่มีแถลงนโยบายเป็นสาธารณะ แต่หากสืบค้นในเว็บไซต์ อบจ.อุทัยธานี ก็จะพบยุทธศาสตร์องค์การบริหารส่วนจังหวัด ทั้งนี้ เผด็จ นุ้ยปรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุทัยธานี มีวิสัยทัศน์ในการบริหารจังหวัดว่า “ชาวอุทัยธานี สุขภาพดี สังคมดี สิ่งแวดล้อมดี” เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2567 โดยกำหนด 6 ยุทธศาสตร์ ดังนี้
1.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน มีเป้าหมายหลักในการพัฒนาถนนและสะพานให้ได้มาตรฐานและปลอดภัย เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการขั้นพื้นฐานอย่างทั่วถึง อีกทั้งมุ่งมั่นในการบริหารจัดการแหล่งน้ำให้เพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภค โดยมีการส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการแหล่งน้ำอย่างยั่งยืน
2.การบริหารและพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และเกษตรกรรม การพัฒนาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยเน้นการทำเกษตรที่ปลอดภัยและไม่ทำลายธรรมชาติ เพื่อให้ผลผลิตมีคุณภาพ รวมทั้งฟื้นฟูป่าไม้เพื่อรักษาความอุดมสมบูรณ์ และพัฒนาแหล่งน้ำที่มีคุณภาพสำหรับการอุปโภคบริโภค ทำให้ประชาชนเข้าถึงน้ำสะอาดได้ง่ายขึ้น
3.การพัฒนาเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวสู่ความยั่งยืน พัฒนาและส่งเสริมอาชีพให้ประชาชน โดยปรับปรุงและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว รวมถึงประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวจังหวัด พร้อมทั้งปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนดูแล รักษาแหล่งท่องเที่ยว และอนุรักษ์ วัฒนธรรม ประเพณีอันดีงาม เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศสู่ความยั่งยืน
4.การพัฒนาคนและสังคมที่มีคุณภาพ เพื่อให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน โดยส่งเสริมและพัฒนาการศึกษา การกีฬา นันทนาการ เพื่อสร้างสังคมที่มีความเข้มแข็ง
5.การพัฒนาการเมืองและการบริหาร เพื่อให้ อบจ.อุทัยธานี เป็นหน่วยงานหลักในการบริการสาธารณะ เป็นที่ยอมรับของประชาชน โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานและการบริการ
6.การพัฒนาด้านสาธารณสุข พัฒนางานสาธารณสุขมูลฐาน มุ่งเน้นการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ โดยการพัฒนาระบบบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ ส่งเสริมการใช้แพทย์แผนไทยและการแพทย์แผนไทยประยุกต์ เพื่อเสริมสร้างสุขภาพที่ดี ฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ และพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินรวมถึงการส่งต่อผู้ป่วยให้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังเน้นการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อเพื่อสุขภาพที่ยั่งยืน
ที่มา: https://www.uthaipao.go.th
ทั้งนี้ หากมีการแถลงนโยบายเพิ่มเติม Lanner จะมาอัพเดทความคืบหน้าอีกครั้ง
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...