การต่อสู้ทางประวัติศาสตร์ล้านนากับอำนาจส่วนกลาง ประวัติศาสตร์ไม่แฟนตาซี


เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา คณะก่อการล้านนาใหม่ จัดกิจกรรมเสวนาวาระรัฐธรรมนูญ-การกระจายอำนาจ “แห่ไม้ก้ำประชาธิปไตย ปักหมุดกระจายอำนาจ” ขึ้น ณ โรงแรมไอบิสสไตล์ จังหวัดเชียงใหม่ โดยในช่วงหนึ่งของกิจกรรม ได้มีการร่วมถกเสวนาหัวข้อ “การต่อสู้ทางประวัติศาสตร์ล้านนากับอำนาจส่วนกลาง” โดย เพนกวิน-พริษฐ์ ชีวารักษ์ และภิญญพันธุ์ พจนะลาวัลย์ อาจารย์สาขาวิชาสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง

การต่อสู้ทางประวัติศาสตร์ล้านนนากับอำนาจส่วนกลาง

เพนกวิน-พริษฐ์ ชีวารักษ์ เริ่มการเสวนาด้วยการแสดงความคิดเห็นต่อคำถามที่ว่าทำไมผู้มีอำนาจถึงได้ไม่ชอบคำว่า “กระจายอำนาจ” นัก ซึ่ง พริษฐ์ มองเรื่องนี้แยกออกเป็น 2 แง่มุม ว่าเป็นเรื่องของอดีต และปัจจุบัน

พริษฐ์ ยกข้อมูลจาก “ประวัติศาสตร์ไทยโดยสังเขป” ของ David K.Wyatt ซึ่งชี้ให้เห็นว่ารัฐไทยตั้งต้นมาจากการรวมศูนย์อำนาจ โดยในอดีต อาณาจักรต่างๆ ก็มีแนวโน้มที่จะนำอำนาจเข้าสู่เมืองหลวงอยู่ตลอด และมีทีท่าที่จะรวมศูนย์มาขึ้นเรื่อยๆ แปรผันกับการพัฒนาเมืองหลวง กลายเป็นแนวคิดที่อยู่คู่กับผู้มีอำนาจที่ต้องการความมั่นคงทางอำนาจ

แต่สิ่งหนึ่งที่ถูกหลงลืมไปในแนวคิดดังกล่าว พริษฐ์ มองว่าในระหว่างที่เมืองหลวงกำลังโตขึ้น เจ้าเมืองในหัวเมืองต่างๆ ก็มีอำนาจในพื้นที่ของตัวเองเช่นกัน ซึ่ง พริษฐ์ ชี้ว่าการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นก็มีอยู่ในประวัติศาสตร์ไทยเช่นเดียวกัน

“การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมีอยู่ในประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ไม่ได้มีเฉพาะด้านที่รวมศูนย์อำนาจอย่างเดียว ผมคิดว่ามันสามารถเอามาเป็นแง่คิด ว่าถ้าสมัยก่อนเขาอยู่กันได้ สมัยนี้ผมก็คิดว่าไม่น่ามีปัญหาถ้าเราจะคืนอำนาจให้กับเมืองอีกครั้ง” พริษฐ์กล่าว

ประการถัดมา “ประวัติศาสตร์จินตนาการ” โดย พริษฐ์ ชี้ว่าประวัติศาสตร์แบบไทยๆ คือประวัติศาสตร์ที่มีสมมติฐานอยู่ก่อน โดยมีสมมติฐานเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ที่ว่าประเทศไทยนั้นเป็นประเทศที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน กลายเป็นปัจจัยที่ถูกใช้ในการอธิบายประวัติศาสตร์ไทย และความเชื่อมโยงระหว่างประวัติศาสตร์ไทยในอดีตและปัจจุบัน

“เมื่อประวัติศาสตร์ไทยถูกทำให้กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เมื่อเรานำเสนอเรื่องราวที่มันดูขัดกับหลักการนี้ มีตัวละครที่อาจจะไปขัดแนวเรื่องที่เราเรียนกันมา มันอาจจะไปกระตุ้นต่อมบางอย่างในประวัติศาสตร์แนวขวารวมศูนย์จนอาจจะรับไม่ได้” พริษฐ์กล่าว

สิ่งที่รัฐทำให้คนกลัวการกระจายอำนาจ

ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัลย์ ขยายความสิ่งที่ตนเรียกว่า “ประวัติศาสตร์แฟนตาซี” โดยชี้ว่าประวัติศาสตร์ดังกล่าวเป็นประเด็นถกเถียงที่ปราศจากความเป็นเหตุเป็นผล ถูกนำด้วยอารมณ์ความรู้สึก โดยเฉพาะสิ่งที่เป็นนามธรรมอย่างความเป็น “ชาติ” จนนำไปสู่การเผชิญหน้าและความรุนแรง ภิญญพันธุ์ อธิบายกรอบความคิดดังกล่าว “3 บาดแผล” 

แผลเก่าแรก – ร.ศ.112 ประวัติศาสตร์การเสียดินแดนที่กลายเป็นเมล็ดพันธุ์ปลูกฝังความหวาดกลัวชาติตะวันตก ปลูกฝังความคิดว่าประเทศไทยไม่สามารถสู้กับชาติตะวันตกได้ ภิญญพันธุ์ ชี้ว่านี้คือของบาดแผลนี้ อีกทั้งเรื่องราวการเสียดินแดนครั้งนี้ยังเป็นสิ่งที่บดบังเรื่องราวต่างๆ ในช่วงเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นขบถ ร.ศ. 121 ที่ไม่พอใจการเข้ามาควบคุมของรัฐในช่วงปีพ.ศ.2445 หรือคำถามที่ว่าจริงๆ แล้ว ใครกันแน่ที่เป็นผู้เสียดินแดนไป ภิญญพันธุ์ มองว่าผู้ที่เสียดินแดนในเรื่องราวนี้ จริงๆ แล้วคือเจ้าประเทศราช ที่เมืองถูกแบ่งให้ชาติตะวันตก

แผลเก่าที่สอง – แผลจากสงครามเย็น โดยมีจุดที่น่ากลัวที่สุดสำหรับชนชั้นกลางและชนชั้นนำตามมุมมองของ ภิญญพันธุ์ คือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เขมรแดง ซึ่งการถูกยึดครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์และอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ไม่ใช่ความกลัวเพียงอย่างเดียว แต่มีความรุนแรงที่เกิดขึ้นจริงร่วมด้วย ภิญญพันธุ์ เชื่อว่าฝ่ายขวาในปัจจุบันหรือคอมมิวนิสต์ในสมัยนั้น จนถึงในปัจจุบันก็ยังคงใช้ชีวิตอยู่ในห้วงสงครามเย็นอยู่

แผลเก่าที่สาม – สงครามเย็นเทียม เป็นแผลที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ. 2549 ที่ฝ่ายขวาพยายามดึงอุดมการณ์ทางราชาชาตินิยมเข้ามา พยายามโจมตีพรรคไทยรักไทย ภิญญพันธุ์ มองว่าแผลนี้เป็นผลรวมของแผลเก่าทั้งสองแผล และสร้างความหวาดกลัวว่าจะสูญเสียความเป็นไทยแบบเดิมๆ ไป

“ประวัติศาสตร์แฟนตาซีเกิดขึ้นมาจาก Plot เรื่องเหล่านี้ ขณะเดียวกันก็มากับสื่อมวลชนฝ่ายขวาที่ปั่นข่าวข้อมูล เพื่อเล่าประวัติศาสตร์แบบที่เขาจินตนาการสร้างความกลัวที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ ความรู้สึกนึกคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองแบบที่เราเห็น” ภิญญพันธุ์กล่าว

พริษฐ์ มองว่าประวัติศาสตร์ไม่จำเป็นต้องเป็นเส้นตรง และสามารถสร้างออกมาได้หลายแบบ ซึ่งการมองประวัติศาสตร์ไทยเป็นเส้นตรง ก็จะทำให้เห็นประวัติศาสตร์ในรูปแบบที่เป็นการรวมศูนย์ได้แบบเดียวเท่านั้น 

“ถ้าเรามองใหม่ว่าประวัติศาสตร์มีหลายแขนง หลายเส้นเรื่อง ล้านนาก็เส้นเรื่องหนึ่ง ล้านช้างก็เส้นเรื่องหนึ่ง มากระจุกกันกลายเป็นรัฐไทยในยุคสมัยใหม่ เราอาจจะได้เห็นชาติที่มีความหลากหลาย และทุกคนสามารถเป็นตัวเองได้” พริษฐ์กล่าว

พริษฐ์ ชี้ว่าประวัติศาสตร์จินตนาการที่ถูกใช้เป็นหลักในปัจจุบัน พยายามจะปลูกฝังภาพความเข้าใจว่าคนไทยมีบรรพบุรุษร่วมกันมาโดยตลอด แต่ในช่วง 40-50 ปีที่ผ่านมา มีกระแสการฟื้นฟูศิลปะล้านนาเกิดขึ้น ทำให้รัฐไทยไม่สามารถปฎิเสธการมีอยู่ของล้านนาหรือท้องถิ่นได้อีก กลายเป็นความพยายามของรัฐไทยที่ต้องการสร้างความเชื่อมโยงล้านนาหรือท้องถิ่นเข้ากับส่วนกลาง 

“พอกระแสท้องถิ่นหรือประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมันขยายตัว จนไม่สามารถปฎิเสธการมีตัวตนอยู่ได้ สิ่งที่รัฐไทยทำคือการสร้างหมุดตรึง เพื่อชี้ให้เห็นว่าท้องถิ่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของรัฐที่ใหญ่กว่า ผ่านอนุสาวรีย์พระนเรศวร” พริษฐ์กล่าว

ชื่อเรียกกลไกที่รัฐใช้ในการออกแบบประวัติศาสตร์ท้องถิ่น


ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัลย์ อาจารย์สาขาวิชาสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง

ภิญญพันธุ์ ยกแนวคิดความเป็นจักรวรรดินิยม และอาณานิคมภายในมาอธิบายกลไกที่รัฐไทยใช้ขีดเขียนประวัติศาสตร์แฟนตาซี โดยอาณานิคมภายใน คือการปกครองโดยกรุงเทพฯ เพื่อผลประโยชน์ของคนโดยเฉพาะเจ้านายในกรุงเทพฯ คนในล้านนาหรือล้านช้าง เป็นเพียงคนที่อยู่ในสถานะรอง หรือ “Subject” เท่านั้น และเมื่อแนวคิดดังกล่าวกลายเป็นข้อถกเถียงทางสังคมศาสตร์ ก็มีข้อโต้แย้งว่าเป็นเพียงแค่การผนวกกลืน ไม่ใช่ระบบอาณานิคม 

พริษฐ์ ยกความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอังกฤษ และเวลส์ เป็นตัวอย่างความเป็นอาณานิคมภายใน หรือ Internal Colonism โดยเวลส์เป็นภาคตะวันตกของอังกฤษถูกยึดครองมานาน 600 ปี คนเวลส์จะถูกอังกฤษเลือกปฏิบัติ เช่น เวลามีงบประมาณจะต้องเอาไปพัฒนาพื้นที่เวลส์มักจะไม่ค่อยได้ หรือต้องติดต่อราชการเป็นภาษาอังกฤษเท่านั้น ถ้าเป็นภาษาเวลส์จะไม่ถูกพูดคุยด้วย

นักวิชาการมักกล่าวว่าประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 ไม่ได้มีการแบ่งแยกความเป็น Subject หรือ Citizen โดยคำพูดหนึ่งที่ถูกยกขึ้นมากล่าวโดย พริษฐ์ คือ “ไม่ว่าจะคนไทยหรือคนล้านนาก็สามารถขึ้นรถไฟได้เหมือนกัน” ซึ่งเป็นคำพูดที่สะท้อนแนวคิดอันตื้นเขิน ในมุมมองของพริษฐ์

“วิธีการหนึ่งที่ใช้มองว่าคุณเป็นพลเมืองเท่ากันหรือไม่ คือคุณอยู่ใต้กฏหมายฉบับเดียวกันหรือไม่ ?” พริษฐ์ กล่าวก่อนจะยกเหตุการณ์การตั้งมณฑลพายัพ ที่มีการบังคับใช้กฎหมายบางตัวก่อนที่อื่นๆ ทำให้เกิดการแบ่งแยกหรือเลือกปฎิติขึ้น

ถัดมา พริษฐ์ ชี้ว่าแนวคิดอาณานิคมภายใน ไม่ได้มีแค่รูปแบบที่เกิดขึ้นในประเทศอังกฤษ ที่แบ่งแยกความเป็น Subject และ Citizen เท่านั้น ในยังมีการล่าอาณานิคมแบบประเทศรัสเซียด้วย โดยใช้วิธีล่าอาณานิคมในประเทศเล็กๆ รอบ ๆ รัสเซีย ต่างจากอังกฤษที่ใช้วิธีการแบ่งชนชั้นพลเมืองและปกครองจากระยะไกล แต่บุกเข้าไปยึดพื้นที่และควบรวมพลเมืองจากแคว้นต่างๆ เข้ามาไว้ในจักรวรรดิรัสเซีย เพราะเชื่อว่าความเป็นเมืองใกล้กัน ความแตกต่างน่าจะไม่มากพอจนทำให้ไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้

โดยวิธีการที่รัสเซียกำหนดชนชั้นของรัสเซียนั้นแตกต่างกับอังกฤษโดยสิ้นเชิง ที่เปิดให้ประชากรจากทุกประเทศอาณานิคมสามารถเข้าเป็นข้าราชการของรัสเซียได้ทั้งสิ้น ด้วยเงื่อนไขที่ว่าห้ามพูดภาษาถิ่นของตัวเอง พริษฐ์ ยกจุดนี้ขึ้นเปรียบเทียบกับสถานการณ์ในประเทศไทย ที่ห้ามคนล้านนา หรือที่ถูกนับว่าเป็นคนลาวในสมัยนั้น ขึ้นเป็นชนชั้นปกครอง ก่อนจะเปลี่ยนลาวเป็นไทย ยอมให้คนล้านนาเป็นชนชั้นปกครองในไทยได้เพื่อป้องกันการก่อตั้งกบฏแบ่งแยกดินแดน

กลไกในโรงเรียนที่ใช้ควบคุมประชากรในแต่ละภูมิภาค

“ชนชั้นนำสยามสร้างโรงเรียนที่อย่างที่เรารู้จักกันเมื่อประมาณหนึ่งร้อยปีก่อน ความตั้งใจที่จะสร้างโรงเรียนเพื่อที่จะมาอยู่ในหน่วยงานของรัฐ ในช่วงแรก ผลิตพวกงานเสมียนเพื่อที่จะมาข้าราชการชั้นล่างในสยามต้องพูดไทย สะกดไทยได้ ต้องเขียนไทยเป็น เจ้าทั้งหลายต้องสื่อสารได้ตามมาตรฐานภาษาไทยหมด” ภิญญพันธุ์กล่าว

นี่เป็นความพยายามของระบบการศึกษาของรัฐไทยในอดีต ที่ต้องการผลิตประชากรแบบนี้ออกมา มากจนตำแหน่งไม่พอรองรับ ซึ่งชนชั้นนำมองว่าความพยายามของรัฐไทยนั้นทำให้คนหนีจากอาชีพของตนเอง จนต้องเปลี่ยนมาเป็นพอสอนให้มีความรู้ติดตัว ภิญญพันธุ์ ชี้ว่าระบบการศึกษาไทยตอนแรก ไม่ได้ต้องการจะสร้างคนที่มีความรู้เพื่อที่จะไปพัฒนาประเทศแบบที่เราพูดกันทุกวันนี้ ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากความตั้งใจที่ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาศักยภาพของพลเมือง

“มันเป็นการให้การศึกษากับ Subject ไม่ใช่การให้ความรู้กับ Citizen เพื่อเอาไปใช้สร้างบ้านสร้างเมือง” ภิญญพันธุ์กล่าว

ด้าน พริษฐ์ ยกคำแนะนำของสมเด็จเจ้าฟ้าวชิราวุธ ที่ไปถวายคำแนะนำให้รัชกาลที่ 5 ให้เปลี่ยนจากตอนแรกที่ใช้ระบบแบบอังกฤษ แบ่งแยกคนไทยเป็นพลเมืองชั้นหนึ่ง คนลาวหรือล้านนาเป็นพลเมืองชั้นสอง ทำให้เกิดจลาจลในเมืองเชียงใหม่ มาเป็นการเปลี่ยนลาวเป็นไทย ด้วยความเชื่อที่ว่าจะทำให้คนล้านนาหรือคนลาว มีความคิดและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับรัฐไทย กลายเป็นของการตั้งโรงเรียน เพื่อให้ทุกคนสามารถพูดภาษาไทยได้


เพนกวิน-พริษฐ์ ชีวารักษ์

ในช่วงแรกชาวบ้านไม่กล้าส่งลูกเข้าโรงเรียนไทยเพราะกลัวอ่านอักษรธรรมไม่ออก ตัวเมืองไม่ออก พระไตรปิฎกถูกเขียนเป็นภาษาล้านนา มีความกลัวลูกตกนรก กลัวลูกไม่รู้จักอักษรธรรม หลักจากใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษา นายอำเภอได้จับคนที่ไม่ส่งลูกเข้าเรียนอย่างจริงจัง จับไปขังไว้ที่ว่าการอำเภอ จนกว่าจะยอมส่งลูกหลานเข้าโรงเรียน

นอกจากนั้น พริษฐ์ ยังกล่าวถึงข้อยกเว้นในพระราชบัญญัติการเกณฑ์ทหาร ซึ่งจะมีข้อยกเว้นให้พระภิกษุที่รู้ธรรม โดยคำว่า “รู้ธรรม” หมายถึงอ่านพระที่ไตรปิฎกในภาษาไทยออกเท่านั้น ภาษาล้านนาไม่นับ ซึ่งเคยเป็นเหตุการณ์ที่มีเจ้าหน้าที่มาจับเณรกำลังเรียนไป ทำให้ชาวบ้านประท้วงที่ต้องเรียนตัวอักษรไทย

ภิญญพันธุ์ เสริมส่วนนี้ไว้ว่าแต่เดิมวัดจะมีโบสถ์ ไว้สังฆกรรม วัดๆ หนึ่งจะมีโบสถ์ แล้วก็มีวัดหลายรอบ มาอยู่ในกลุ่มอุโบสถเดียวกัน เป็นเครือข่ายเดียวกัน สยามพยายามให้ทุกวันมีโบสถ์ หนึ่งวัด หนึ่งอุโบสถ เป็นการแบ่งแยกแล้วปกครอง มาพร้อมการปกครองสงฆ์  โดยมีพระราชบัญญัติสงฆ์ มีเจ้าคณะจังหวัด มาพร้อมระบบราชการพระในยุคนั้น ก่อนหน้านั้นพระ ไม่ได้อยู่ในกลไกแบบนี้ในบ้านเมือง

สุดท้าย พริษฐ์ กล่าวต่อถึงครูบาศรีวิชัย ว่าเคยถูกดำเนินคดีฐานขัดขวางการศึกษาไทย โดยมีเงื่อนไขการปล่อยตัวคือการสนับสนุนการก่อตั้งโรงเรียนไทย นอกจากนั้นยังมีประท้วงของครูบาศรีวิชัยในการคัดค้านอำนาจสงฆ์ ผ่านการออกใบสุทธิรับรองความเป็นพระของตัวเอง จนทำให้พระสงฆ์หลายพันรูปส่งใบสุทธิคืนแก่ส่วนกลาง พากันหันไปใช้ใบสุทธิของครูบาศรีวิชัย พริษฐ์ ชี้ว่าทำให้นี่เป็นอักษรธรรมล้านนาด้วย ไม่ใช่แค่เรื่องภาษาเท่านั้น

“อักขรธัมม์ล้านนา คือการขัดขืนอำนาจของรัฐสยาม แต่ต่อมาอักษรไทยล้านนาค่อยๆ หายไป มีการฟื้นฟูอีกครั้งในช่วงทักษิณ อย่างป้ายเชียงใหม่เริ่มมีตัวเมืองมากขึ้น” พริษฐ์ กล่าว

ติดตามไลฟ์สดการเสวนาย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/100083242571578/videos/786659136276926

พื้นที่สื่อสาร สังคมประชาธิปไตย ชีวิตใหม่ที่ดีกว่า

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง