เรียนรู้วิถีแม่ญิง…ฮิมน้ำของ วิถีชีวิตแม่ญิงท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงในแม่น้ำโขง?

เรื่องและภาพ:บุริมนาถ คุณานุภาพกุล, พิมม์วิภา เงาสำรวย, ศิริพร รวดเร็ว

งานชิ้นนี้เป็นผลงานของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 สำนักวิชานวัตกรรมสังคม สาขาการพัฒนาระหว่างประเทศ จากโครงการห้องปฏิบัติการทางสังคม (Social Lab) ปีที่ 2 : ชายแดนศึกษากับการเรียนรู้บนฐานชุมชนสู่การสร้างสังคมสร้างสรรค์ ศูนย์วิจัยนวัตกรรมสังคมเชิงพื้นที่ (Ab-SIRC) สำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

พามาดูวิถีชีวิตแม่ญิงริมน้ำโขงเมื่อต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในช่วงหลาย 10 ปีที่ผ่านมา

แม่น้ำโขงเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนในบ้านห้วยลึกมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะแม่ญิง หรือ “แม่ญิงริมโขง”  ที่พึ่งพาสายน้ำในทุกมิติของการดำรงชีวิต  สมาชิกของชุมชนริมน้ำที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการดูแลรักษาแม่น้ำโขงและใช้ประโยชน์อย่างสมดุล หากมองแบบคนทำงานในเมืองแล้ว วิถีชีวิตในแต่ละวันของเธอนั้นเกี่ยวข้องกับแม่น้ำโขงจนแทบจะเรียกได้ว่าเป็น “ออฟฟิศ” ได้เลย 

สายน้ำเปลี่ยน แม่ญิงริมน้ำปรับ

การ “ยกยอ” ภูมิปัญญาท้องถิ่น สำหรับแม่ญิงริมโขงแล้วพวกเธอจะหาปลาด้วยเครื่องมือที่ต่างไปจากพรานปลาผู้ชาย  เพราะแม่ญิงริมโขงบ้านห้วยลึกจะหาปลาบริเวณริมชายฝั่งช่วง 2-5 ทุ่ม เพราเป็นช่วงเวลาที่น้ำนิ่งและทำให้จับปลาได้เยอะที่สุด ด้วยน้ำหนักของยอจะขึ้นอยู่กับขนาดของยอและต้องอาศัยทั้งความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์และเทคนิคในการยก 

การปลูกผักริมแม่น้ำโขง เช่น ผักสลัด ผักชีไทย ผักชีลาว ผักบุ้ง ผักกาดเขียวน้อย ซึ่งเป็นผักที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ หากเกิดความเสียหายจะไม่ส่งผลต่อต้นทุนที่ชาวบ้านจ่ายไปมากนัก และการทำอาหารพื้นบ้านที่เหล่าแม่หญิงมีการพัฒนาเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์จากปลาแม่น้ำโขง มีทั้งหมด 2 อย่าง ดังนี้

  1. ไส้อั่ว  ที่มีลักษณะพิเศษที่แตกต่างไปจากไส้อั่วตามท้องตลาดทั่วไปในภาคเหนือ คล้ายกับ ไส้กรอกอีสานและต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในการยัดไส้ 
  1. ปลาบ้วง ผลิตภัณฑ์จากปลาแม่น้ำโขง ถือเป็นการถนอมอาหารวิธีหนึ่งที่มีลักษณะและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะประจำบ้านห้วยลึกอีกด้วยเป็นสินค้าประจำชุมชนและจัดจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยว

จากสายน้ำที่เคยอุดมสมบูรณ์และเต็มไปด้วยสัตว์น้ำ วันนี้กลับเงียบเหงา

แม่ญิงต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำโขง ที่ได้คุกคามวิถีชีวิตดั้งเดิมของผู้คน ณ บ้านห้วยลึก ส่งผลต่อระบบนิเวศของแม่น้ำโขงและทำให้แม่น้ำแห้งขอด รวมถึงการลดลงอย่างต่อเนื่องของจำนวนพันธุ์ปลา ซึ่งการเดินทางของปลาในการวางไข่นั้นจำเป็นต้องอาศัยสายน้ำในการขยายพันธุ์ในแม่น้ำโขง

วิถีชีวิตเรียบง่ายแปรเปลี่ยนไปเมื่อการพัฒนาเข้ามาแทนที่

“พอมีการพัฒนาในแม่น้ำโขงตอนบน แม่ก็จับปลาได้น้อยลง ทำให้รายได้แม่ลดลงไปด้วย” 

แม้ว่าเรื่องราวผลกระทบจากการพัฒนาในแม่น้ำโขงต่อชุมชนริมแม่น้ำจะถูกนำเสนออย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ทว่าการพัฒนาในแม่น้ำโขงก็ยังคงดำเนินไปเสมือนว่าเรื่องราวของผลกระทบเหล่านั้นไม่เคยถูกพูดถึง ทำให้มีความพยายามแก้ปัญหาโดยการนำหินมาวางในบริเวณตลิ่งริมแม่น้ำโขงของบ้านห้วยลึก เพื่อป้องกันการกัดเซาะ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับเป็นการกีดกันแม่ญิงจากการใช้ประโยชน์พื้นที่ริมตลิ่งเพื่อการปลูกผัก เพราะริมตลิ่งถูกแทนที่ไปด้วยก้อนหิน “พอพวกเขาเอาหินมาทิ้ง แม่ก็ปลูกอะไรไม่ได้ พื้นที่ปลูกก็ลดลง จนต้องเปลี่ยนพื้นที่เพาะปลูก แม่ก็ต้องทิ้งที่ดินตรงนี้ไป เพราะไม่สามารถทำอะไรได้เลย” 

สุดท้ายแล้วแม่ญิง ณ บ้านห้วยลึก เปรียบเสมือนตัวแทนของผู้หญิงไทยที่เข้มแข็งและต่อสู้กับปัญหา แม้จะต้องเผชิญหน้ากับอุปสรรคมากมาย แต่พวกเธอก็ไม่เคยย่อท้อและพยายามหาทางออกเพื่อความอยู่รอดของตนเองและครอบครัว ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาในแม่น้ำโขงที่ต้องเผชิญกับชะตากรรมเดียวกัน ทว่า อนาคตของแม่ญิงและชาวบ้านห้วยลึกนั้นยังคงไม่แน่นอน การพัฒนาในแม่น้ำโขงที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกหลายแห่ง จะคอยเป็นตัวกำหนดชะตาชีวิตของพวกเขาว่าจะต้องล้มลุกคลุกคลานหรือจะยืนหยัดต่อสู้เพื่อรักษาวิถีชีวิตอันล้ำค่านี้ไว้

สามารถอ่าน เรียนรู้วิถีแม่ญิง…ฮิมน้ำของ วิถีชีวิตแม่ญิงท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงในแม่น้ำโขง?

ฉบับเต็มได้ที่ https://sites.google.com/view/sociallab2-womeninmekongriver/%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%81?authuser=0

ข่าวที่เกี่ยวข้อง