บ้านแหงแห่ช้างเผือก ท่ามกลางเอลนีโญที่แผดเผาศรัทธาลำน้ำไม่ได้

เรื่อง: ปุณญาพร รักเจริญ

“ถึงคนรุ่นใหม่จะรู้ว่าฝนตกเป็นไปตามฤดูกาล รู้ว่ามีปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งจริง ๆ แล้วพวกเราก็รู้แต่ไม่อยากละเลยตรงนี้ทิ้งไปเพราะเป็นความเชื่อดั้งเดิมอยู่ก่อนแล้ว คือเขาทำกันมาตั้งแต่รุ่นพ่ออุ้ยแม่อุ้ย แต่พอมันช่วงที่ไม่ได้จัดชาวบ้านก็เกิดความกังวล เขาก็กลัวว่าจะเกิดความแห้งแล้ง จึงพยายามทำสืบทอดกันมาคือเขามารวมกันด้วยความเชื่อความศรัทธา มันเป็นเหมือนศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้าน เพราะทำแล้วก็อุ่นใจเพื่อภาคการเกษตรจะมีน้ำท่าจะอุดมสมบูรณ์”

คำพูดของกิตติรัฐ กองนาค ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 บ้านแหงเหนือ ได้พูดถึงความสำคัญของประเพณีแห่ช้างเผือก ประเพณีโบราณที่ชาวภาคเหนือในหลายจังหวัดให้การปฏิบัติสืบทอดกันมาอย่างยาวนานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการมีส่วนร่วมของของชาวบ้านในการตระหนักถึงความสำคัญในการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติภายในชุมชน  เช่นเดียวกับที่ ตำบลบ้านแหง อำเภองาว จังหวัดลำปาง เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา   ชาวบ้านได้มีการร่วมกันประกอบพิธีกรรมแห่ช้างเผือกซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงก่อนวันเข้าพรรษาของทุกปีโดยมีความเชื่อว่าการแห่ช้างเผือกเป็นการแสดงความเคารพต่อบรรพบุรุษและธรรมชาติผ่านการการยึดโยงเข้ากับนิทานชาดกเรื่องมหาเวสสันดรชาดก ในตอนสำคัญที่พระเวสสันดรให้ช้างเป็นปัจจัยแก่บ้านเมืองที่แห้งแล้ง ไม่มีฝน ชาวบ้านจะพากันทูลขอช้างไปไว้ที่เมืองเพราะเชื่อว่าช้างอยู่ที่ใดที่นั่นจะอุดมสมบูรณ์

ในวันจัดเตรียมงานชาวบ้านบ้านแหงเหนือจะมารวมตัวกันเตรียมงานล่วงหน้า 1 วัน ในอดีตพื้นที่ตรงนี้คือป่าต้นน้ำ ซึ่งในปัจจุบันได้มีการสร้างศาลาช้างเผือกไว้เป็นสถานที่รองรับของทั้งสองหมู่บ้าน   โดยการเตรียมงานชาวบ้านจะใช้ประโยชน์จากไม้ไผ่สานทำเป็นโครงช้างและชะลอมเพื่อใช้ใส่อาหารถวายพระสงฆ์ที่ทำพิธีในช่วงเช้าของวันงานและเมื่อทำช้างเผือกจำลองเสร็จเรียบร้อยชาวบ้านจะนำช้างเข้าไปซ่อนไว้ในป่า ก่อนที่ช่วงเช้าของอีกวันซึ่งคือวันประกอบพิธีจริงโดยจะเริ่มต้นด้วยการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เช่น พิธีเลี้ยงพระ, สวดอาราธนาศีล, พิธีสวดสืบชะตาหมู่บ้าน, สวดเบิกและมีการจัดเตรียมเครื่องบูชาต่าง ๆ เช่น อาหาร น้ำ ขนม จำนวน 100 ขัน จัดใส่กระทงใบตอง โดยระหว่างนี้จะมีการเริ่มแต่งตัวทำให้ “ขึด” ซึ่งเป็นความเชื่อว่าหากผู้ชายแต่งตัวเป็นผู้หญิงจะทำให้เป็นความอัปมงคลจะส่งผลทำให้ฝนตกลงมา แต่นัยที่แฝงไว้กับพิธีกรรมนี้คือภาพของบรรยากาศของเหล่าชาวบ้านที่สนุกสนานครื้นเครงความตลกขบขันที่ช่วยคลายเครียดได้จากการทำงาน ซึ่งพิธีกรรมที่มีความสำคัญเช่นเดียวกันคือพิธี “ขอช้าง” ที่ได้ยึดโยงเข้ากับนิทานชาดกเรื่องมหาเวสสันดรชาดกถึงตัวละครที่สำคัญของเรื่องทั้งกัณหา, ชาลี, ชูชก ให้พาช้างที่ซ่อนในป่าลึกออกมาบริเวณลานหน้าศาลาช้างเผือกเพื่อประกอบพิธีบวงสรวงนำโดยร่างทรงมาร่วมกันฟ้อนรำดาบรอบตัวช้างเพื่อทำนายว่าฝนปีนี้จะเป็นอย่างไร

เมื่อเสร็จสิ้นพิธีขบวนแห่จะเริ่มเคลื่อนตัวเข้าสู่หมู่บ้านเป็นระยะทางกว่า 5 กิโลเมตร และหยุดที่บริเวณหน้าโรงเรียนบ้านแหงเหนือเพื่อให้ชาวบ้านคนอื่น ๆ ออกมาร่วมกันสรงน้ำช้างก่อนจะไปสิ้นสุดที่สบเมืองซึ่งเป็นจุดที่แม่น้ำแม่แหงและแม่น้ำแม่เมืองของทั้ง 2 หมู่บ้านไหลบรรจบมารวมกันสู่แม่น้ำยมและมีการทำพิธีสงฆ์เป็นครั้งสุดท้ายก่อนจะนำช้างเผือกลงปล่อยสู่แม่น้ำจึงเป็นอันเสร็จสิ้นพิธี

สมหมาย หาญเตชะ ชาวบ้านจากบ้านแหงเหนือ กล่าวว่า  “ ช่วงโควิดระบาด เราก็ไม่ได้ทำพิธีกันแต่ก็มาบอกเจ้าป่าเจ้าเขาว่าทำไมถึงทำพิธีไม่ได้พอหลังโควิดเราก็กลับมาทำกันอย่างเดิม เลยอยากให้สืบสานกันต่อไป เพราะกลัวว่ารุ่นหลัง ๆ เขาจะทำต่อไปไหมแต่เราก็พยายามฝึกกันเรื่อย ๆ เพราะเราทำเพื่อความสบายใจของชาวไร่ชาวนา”

สมหมาย หาญเตชะ

จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งปรากฏการณ์เอลนีโญรวมถึงการระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นที่ผ่านมานั้นได้ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรโดยตรงชาวบ้านขาดแคลนน้ำใช้ในภาคการเกษตรและทำให้มีช่วงเวลาที่ไม่สามารถทำพิธีกรรมได้จึงเกิดความกังวลใจของชาวบ้านในการทำเกษตร ดังนั้นแล้วความเชื่อความศรัทธาของชาวบ้านที่เชื่อมโยงกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศนี้ในปัจจุบันได้ละลายรวมเป็นส่วนหนึ่งกับวิถีชีวิตของชาวบ้านที่ทำให้พวกเขาเกิดความสบายใจและยึดมั่นในอาชีพเกษตรกรรมและให้คนรุ่นหลังได้ตระหนักถึงคุณค่าของการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน

พัลลภ หารุคำจาและคณะ ได้ศึกษาการแห่ช้างเผือกในพื้นที่ชุมชนลุ้มน้ำลี้จังหวัดลำพูน ในหัวข้องานวิจัย “การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเชิงพุทธบูรณาการ:กรณีศึกษาการฟื้นฟูประเพณีแห่ช้างเผือกในพื้นที่ลุ่มน้าลี้จังหวัดลำพูน ใน วารสารวิทยาลัยสงฆ์นครลำปาง ปีที่ 7 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2561)

ที่ชี้ให้เห็นว่าพระพุทธศาสนามีหลักธรรมคำสอนที่จะเป็นแนวทางปฏิบัติในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีกทั้งยังมีอิทธิพลต่อการจัดการทรัพยากรน้ำ สามารถแบ่งได้ดังนี้วิธีหรือมาตรการอนุรักษ์โดยตรง (Direct   Conservation   Measures) เพื่อถนอมรักษาและใช้ทรัพยากรอย่างชาญฉลาดที่สุดและวิธีการหรือมาตรการการอนุรักษ์ทางสังคม (Social  Measures)

กระบวนการฟื้นฟูรูปแบบและสาระประเพณีการแห่ช้างเผือก ประเพณีการแห่ช้างเผือกพบว่า ประเพณีการแห่ช้างเผือก เป็นสัญลักษณ์แทนพระยาปัจจัยนาเคนทร์ ช้างคู่บารมีของพระเวสสันดร ประเพณีดังกล่าวเชื่อว่าน่าจะเกิดขึ้นในช่วงที่ครูบาศรีวิชัยมีชีวิตอยู่ โดยเริ่มแรกนั้นการแห่ช้างเผือกไม่ได้เป็นการแห่เพื่อขอฟ้าฝน แต่การแห่เพื่อขอฟ้าขอฝนนั้นเกิดจากกลุ่มครูบาที่เป็นลูกศิษย์ของครูบาในช่วงหลังโดยผู้เฒ่าผู้แก่ต่าง ๆ ในชุมชนลุ้มน้ำลี้ จังหวัดลำพูน กล่าวว่า พบเห็นในช่วง 30 กว่าปีที่ผ่านมา หรือประมาณก่อนปี พ.ศ. 2520 ไม่กี่ปี

พื้นที่ตำบลบ้านเเหงแห่งนี้ได้ประกอบด้วย 1,469 หลังคาเรือน ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม  ชาวบ้านจึงนิยมปลูกกระเทียมและปลูกข้าวรวมถึงปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และได้กลายมาเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่สร้างรายได้รวมถึงเป็นผลิตภัณฑ์ประจำชุมชนไม่ว่าจะเป็นการทำกระเทียมดองด้วยกระบวนการธรรมชาติ อีกทั้งเอกลักษณ์งานจักสานไม้ไผ่จากผู้สูงอายุภายในชุมชน 

แต่ในปี 2551 หรือ 14 ปีก่อน บริษัทเขียวเหลือง จำกัด ได้เข้ามาขอทำประโยชน์ในพื้นที่ตำบลบ้านแหง อำเภองาว จังหวัดลำปาง ในที่ดินซึ่งมีสายแร่ลิกไนท์ (Lignite) พาดผ่าน โดยอ้างว่าจะขอเข้ามาส่งเสริมอาชีพเกษตรแบบผสมผสาน (วนเกษตร) ดังนั้นกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงขอให้เจ้าหน้าที่สำรวจพื้นที่บริเวณที่บริษัทฯ ขอเข้าทำโครงการวนเกษตร ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติแม่งาวฝั่งซ้าย ม.1 บ้านแหงเหนือ ต.บ้านแหง อ.งาว จ.ลำปาง จำนวน 3 แปลง รวม 1,140 ไร่ แปลงที่ 1 จำนวน 580 ไร่ แปลงที่ 2 จำนวน 185 ไร่ และแปลงที่ 3 จำนวน 375 ไร่ ระยะดำเนินโครงการ ระหว่าง พ.ศ. 2551 – 2558 

วันที่ 30 พฤษภาคม 2553 มีการปิดประกาศหนังสือไต่สวนรังวัดแผนที่ขอบเขตการทำเหมือง ซึ่งเป็นหนังสือทางราชการที่แจ้งให้ผู้มีส่วนได้เสียรับทราบถึงขอบเขตเหมืองแร่ หากใครได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองในบริเวณดังกล่าวจะต้องยื่นหนังสือคัดค้านภายใน 20 วัน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ชาวบ้านรับรู้อย่างเป็นทางการว่าจะมีเหมืองแร่ในพื้นที่ จึงออกมาต่อต้านและคัดค้านเนื่องจากทับที่ดินทำกิน และเป็นการรวมกลุ่มกันครั้งแรก ภายหลังจากการคัดค้านในครั้งนั้น ชาวบ้านก็ออกมาคัดค้านกันอีกหลายครั้ง และมีการทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมทำให้ชุมชนรวมกลุ่มกันจนเป็น “กลุ่มรักษ์บ้านแหง” ขึ้นอย่างเป็นทางการ นี่คือการประกาศนามของการต่อสู้เพื่อปกปักรักษาผืนแผ่นดินบ้านแหงไม่ให้ผู้ใดมาครอบครอง

การต่อสู้ของ กลุ่มรักษ์บ้านแหง ยาวนานกว่า 14 ปี  ตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบันมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในการเข้ามาของโครงการสร้างเหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์ ซึ่งปัจจุบัน กลุ่มรักษ์บ้านแหง ได้รับชัยชนะได้มีการยกเลิกเพิกถอนคำขอประทานบัตรแล้วและเหตุการณ์ความขัดแย้งภายในชุมชนที่เกิดขึ้นเป็นเวลานานได้สิ้นสุดลง

แววรินทร์ บัวเงิน หนึ่งในผู้ประสานงานของกลุ่มรักษ์บ้านแหง กล่าวว่าการจัดพิธีกรรมแห่ช้างเผือกนั้นเป็นสื่อกลางของชาวบ้าน เพราะเมื่อกาลเวลาผ่านไปกิจกรรมประจำ หมู่บ้านนี้ได้กลายเป็นตัวเชื่อมความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันที่ชาวบ้านทั้งสองหมู่บ้านได้กลับมารวมตัวกันอีกครั้ง

“เราทำเพื่อเน้นย้ำถึงความสามัคคีให้ทุกคนต้องไปเข้าไปร่วมเพื่ออนุรักษ์และสืบทอดภูมิปัญญาประเพณีโบราณอันดีงามนี้สืบต่อไป” แววริทร์ กล่าว

อ้างอิง

เด็กฝึกงานจากสาขาการพัฒนาระหว่างประเทศ ที่มาเรียนในจังหวัดที่ค่าฝุ่นสูงเกินเกณฑ์ทุกปี และขอทายว่าถึงแม้จะเรียนจบแล้วค่าฝุ่นก็ไม่น่าลดลง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง