เมื่อจารีตแบบเดิมไปไม่ได้กับการเมือง ผู้คนจึงข้ามแดน: สะท้อนย้อนคิดประเด็นปัญหาเรื่อง “ลื้อข้ามแดน”

เรียบเรียง: ณัฏฐวรรธน์ คล้ายสมมุติ

เนื้อหาจากการบรรยายพิเศษระดับปริญญาตรี คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เรื่องสะท้อนย้อนคิด “ประเด็นปัญหา” ในการศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนา ในหัวข้อ “ลื้อข้ามแดน” บรรยายโดย รศ.ดร.วสันต์ ปัญญาแก้ว อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2567

ใครคือชาวลื้อ? 

วสันต์ ตั้งประเด็นการบรรยายครั้งนี้ด้วยคำถามที่ว่า “ล้านนาคืออะไร” หากตอบในความหมายแคบ ล้านนาคือพื้นที่ที่อยู่ใน 8 จังหวัดทางภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ส่วนในความหมายกว้าง ล้านนามีลักษณะเป็นอาณาจักร หากย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ล้านนาในแบบของตำนาน บางช่วงเวลามันขยายไปยังพื้นที่บางพื้นที่อาจครอบคลุมไปยังยูนนาน

“คำถามต่อมาคือล้านนาเป็นอะไรได้มากกว่านั้นอีกหรือเปล่า นอกจากเป็นชื่อเรียกดินแดน มันจะเป็นอารยะธรรม (civilization) ได้ไหม การมีอารยะธรรมตั้งแต่จารีต ความหมายของล้านนาจึงน่าสนใจหรือมีอะไรต่อปัจจุบันนี้ ล้านนาจึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจและน่าค้นหามากกว่าพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ”

หากถามต่อไปว่า “ชาวลื้อคือใคร” ในทางมานุษยวิทยา คือกลุ่มที่พูดภาษาตระกูลไต/ไท (Tai speaking people) เป็นกลุ่มที่สถาปนาอำนาจขึ้นมาในลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน และตั้งศูนย์อำนาจของตนเอง มีอาณาจักรอย่างน้อยสองอาณาจักรที่สำคัญคือ ล้านนาและสิบสองปันนา ชื่อเรียกทั้งสองนี้ ในตำนานหลายตำนานของเชียงใหม่ เป็นชื่อเรียกที่ตั้งขึ้นมาใหม่ เดิมที “โยน ลื้อ เขิน เงี้ยว” เป็นชื่อเรียกของคนตั้งบ้านอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ หรือยึดโยงต่อสถานที่เหล่านั้น ซึ่งเรียกรวม ๆ ว่า “เมืองไต” ดังนั้น กลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลไทดินแดนลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน มีความใกล้ชิดกันอย่างมาก หากตอบไม่ซับซ้อนมาก ชาวลื้อคือกลุ่มคนไต/ไทส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในเมืองสิบสองปันนาเป็นส่วนใหญ่ ก็มีความสัมพันธ์กับคนในภาคเหนือของไทยในสมัยก่อน ทั้งเชียงรุ่ง เชียงราย และเชียงใหม่มาโดยตลอด  ผ่านความสัมพันธ์เชิงเครือญาติ ในมุมมองทางมานุษยวิทยา ล้านนาจึงมีอาณาบริเวณที่กว้างขวางมากกว่าแปดจังหวัดภาคเหนือ หากศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนาอย่างน้อยก็ต้องครอบคลุมถึงดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำโขงตอนบนด้วย

อารยะธรรมของล้านนา เห็นได้จากความเจริญรุ่งเรืองทางพุทธศาสนา ซึ่งรับพุทธศาสนาแบบเถรวาทมาจากศรีลังกา โดยมีสองสำนักที่สำคัญ คือสำนักวัดป่าแดง (วัดป่าแดงมหาวิหาร) กับวัดสวนดอก (วัดบุพผาราม) ในยุครัฐจารีต การแข่งขันอำนาจทางการเมืองทำให้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางของความรู้และศูนย์กลางทางพุทธศาสนา กอปรกับการก่อตัวของอำนาจทางการเมืองในสมัยพระเจ้าติโลกราช ทำให้ล้านนามีอารยะธรรมขึ้นมา เช่น ภาษาเขียน (อักษรธรรม) ตำนานศาสนา พระไตรปิฎก สิ่งเหล่านี้ออกไปพร้อมกับอำนาจทางการเมืองที่ขยายตัว ผู้คนในแถบลุ่มน้ำโขงตอนบนจึงมีความใกล้เคียงกันอย่างน้อยที่สุดคือภาษาเขียนที่มีร่วมกัน

พุทธศาสนาในดินแดนแถบนี้มีจารีตมีอะไรของมัน แม้พุทธศาสนาในล้านนาจะมีความขัดกับพุทธศาสนาในภาคกลางของไทยอย่างไร แต่พุทธศาสนาในล้านนาอาจจะมีแบบหนึ่งก็คือการปรากฏ “ครูบา” หรือการสร้างครูบาขึ้นมา

การข้ามแดนของชาวไทลื้อ

การข้ามแดนของชาวลื้อหากไม่นับกลุ่มที่ถูกกวาดต้อนมาในสมัยพระเจ้ากาวิละช่วงจารีต (พ.ศ.2285-2358) แดนมาจากสิบสองปันนา แดนในที่นี้คือเขตแดนรัฐชาติ ช่วงอาณานิคม คนลื้อแบ่งออกเป็นสามประเทศ คือ ลื้อ (สิบสองปันนา) ในลาว ลื้อ (สิบสองปันนา) ในรัฐฉาน ประเทศพม่า ลื้อ (สิบสองปันนา) ในยูนนาน ประเทศจีน

การข้ามแดนในช่วงแรกเกิดจากสงครามในประเทศจีนที่ต่อสู้กันระหว่างรัฐบาลคณะชาติ และพรรคคอมมิวนิสต์ (ทศวรรษที่ 1940-1950)  สิบสองปันนาเป็นพื้นที่สุดท้ายที่มีการสู้รบกัน ในช่วงนี้มีการลี้ภัยของคนลื้อกลุ่มแรกจากสิบสองปันนา ส่วนใหญ่เป็นผู้ปกครอง จากเชียงรุ่ง กลุ่มนี้ส่วนใหญ่ตั้งรกรากอยู่ที่เมืองแม่สาย และสร้างเมืองแม่สายขึ้นมา

ช่วงที่สอง การข้ามแดนเกิดจากการปฏิวัติชาวนาและวัฒนธรรม เนื่องจากไปด้วยกันไม่ได้กับระบบจารีต ช่วงทศวรรษที่ 1950 ส่วนใหญ่ย้ายเข้ามาอยู่ในลาว เมืองยอง เชียงตุง แม่สาย ท่าขี้เหล็ก ในทศวรรษที่ 1970 (ช่วง พ.ศ. 2530) ลาวเกิดสงครามกลางเมือง เกิดปรากฏการณ์ลาวแตก การเปลี่ยนรัฐบาลเป็นพรรคคอมมิวนิสต์ ชาวลื้อในลาวอยู่ไม่ได้ ก็ต้องข้ามมาเป็นผู้อพยพเข้ามาตามค่ายผู้อพยพตั้งแต่เชียงของถึงหนองคาย คนจำนวนไม่น้อยเป็นคนลื้อ ได้อพยพไปสู่ลื้อใน อเมริกา แคนนาดา ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย อพยพในฐานะ “ลาวเรฟูจี”

ช่วงทศวรรษที่ 1980 (ช่วง พ.ศ. 2540) ลื้อข้ามแดน หลังการปฏิวัติวัฒนธรรมของประเทศจีน ความวุ่นวายที่เกิดขึ้น จึงมีการอพยพอีกระรอก ส่วนคนกลุ่มใหญ่ที่อพยพมาในช่วงนี้คือ “พระสงฆ์” พระถูกจับศึกจากการเป็นพระสงฆ์ หากไม่ยอมศึกก็ต้องอพยพเข้ามา พระสองรูปที่สำคัญและไม่ยอมศึก ได้กลายเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวบ้านในแม่สาย ท่าขี้เหล็ก คือ “ครูบาดวงแสง” วัดพระธาตุดอยเวา กับ “ครูบาแสงหล้า” ฝั่งท่าขี้เหล็ก วัดพระธาตุสายเมือง

หลังการปฏิวัติวัฒนธรรม ค่ายสังคมนิยมเริ่มตั้งตัวได้ และได้เริ่มรับคนต่างชาติมีนโยบายการกระตุ้นทางเศรษฐกิจ เมืองสิบสองปันนาจึงตอบสนองการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างหนึ่งคือการท่องเที่ยวเชิงชาติพันธุ์ เนื่องจากในยูนนานมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์เป็นจำนวนมาก (เฉลี่ยมีกลุ่มชาติพันธ์ุในเขตยูนนานประมาณ 30 กลุ่ม) 

ในช่วงนี้เองข้อห้ามทางศาสนามีน้อยลง จึงเกิดขบวนการรื้อฟื้นพุทธศาสนาในสิบสองปันนา ลื้อข้ามแดนอีกกลุ่มหนึ่ง ส่วนใหญ่เป็นพระสงฆ์ ที่ถูกส่งข้ามมาศึกษาทางศาสนา เนื่องจากพุทธศาสนาหายไปเกือบ 10 ปี ดังนั้นจึงต้องมาเรียนรู้พื้นที่ที่มีวัฒนธรรมเดียวกัน พระจำนวนไม่น้อยถูกส่งมาเรียนหนังสือที่ ท่าขี้เหล็ก เชียงใหม่ ลำพูน เป็นส่วนใหญ่

ช่วงหลังสงครามเย็น (ช่วงทศวรรษที่ 2490 ถึงปลายทศวรรษที่ 2510) นโยบายของรัฐบาลไทยคือ “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” มีการลงทุนด้านเศรษฐกิจ ลื้อข้ามแดนอีกช่วงหนึ่งคือ การข้ามมาจากเมืองยองในรัฐฉาน ประเทศพม่า เกิดปรากฏการณ์คนหนุ่มสาวที่เข้ามาในภาคเหนือของประเทศไทย ข้ามมาในฐานะแรงงานข้ามชาติ แต่พวกเขากลายเป็นไทยได้ง่ายมาก เนื่องจากภาษานั้นคล้ายกับภาคเหนือของประเทศไทย เขาอพยพมาในฐานะผู้ลี้ภัยทางการเมือง และกลายเป็นไทยได้ง่ายกว่าชาวไทใหญ่ เนื่องจากมีภาษาใกล้เคียงกัน 

การสร้างความเป็นท้องถิ่น ความเป็นถิ่นฐานขึ้นมาในฐานนะเมืองชายแดน แม่สายท่าขี้เหล็ก ครูบาแสงหล้าเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ ให้ความสำคัญกับการพัฒนา แล้วส่งเงินกลับไปในสิบสองปันนา มีการช่วยเหลือชาวลื้อพลัดถิ่น ทั้งการบริจาค การส่งเงิน การติดต่อ นำมาสู่การทำให้ท่าขี้เหล็กกลายเป็นบ้านเมืองของคนไทลื้อ

ภาพจากเนื้อหาการบรรยาย

ชุมชนลื้อในอเมริกา ด้วยความเป็นคนพลัดถิ่น[1] (Diaspora) ที่ถูกส่งไปตั้งรกรากใหม่ในอเมริกา หากตั้งตัวได้ด้วยความเป็นคนพลัดถิ่น ก็ยังโหยหาบ้านเก่าเมืองเดิมอยู่ เริ่มมีการติดต่อบ้านเมืองเดิม เข้าประเทศจีนเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยากจึงกลับมาหาครูบาที่แม่สาย ท่าขี้เหล็ก วัดพระธาตุสายเมือง จึงเป็นในนามของการท่องเที่ยว นอกจากจะเดินทางมาท่องเที่ยวแล้ว ก็มีการสร้างวัดในอเมริกา ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ลื้อข้ามแดนชุดสุดท้าย

การมรณภาพของครูบาแสงหล้า แม้จะเป็นตัวแทนวัฒนธรรมของไทลื้อ แต่ก็ไม่ได้จำกัดในทางการเมือง นายพลของพม่า ให้ความเครพนับถือครูบา รัฐบาลพม่าจึงถือเป็นงานระดับชาติ เป็นการนำความเป็นพม่าเข้ามาในชีวิตทางวัฒนธรรม การสร้างปราสาท ที่ท่าขี้เหล็ก แต่ก็เกิดปัญหาเกี่ยวกับงานศพ จึงไม่สามาถพูดอะไรแบบตรง ๆ ได้ แต่แสดงตัวตนผ่านชีวิตทางวัฒนธรรม

ลื้อข้ามแดนในฐานนะของการอพยพหนีภัย จึงเห็นการปรับตัวให้เข้ากับเศรษฐกิจ การเมือง งานศพครูบาแสงหล้าจึงไม่สามารถสร้างชีวิตทางวัฒนธรรมของตนเองได้ ความเป็นลื้อท่าขี้เหล็กจึงไม่สามารถพูดอะไรออกมาโดยตรง จึงต้องแสดงผ่านประเพณีวัฒนธรรมแม้จะไม่เหมือนกับจารีตเดิมก็ตาม 


[1] การอพยพโยกย้าย (Diaspora) หมายถึง การอพยพโยกย้ายออกจากถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเอง มักจะมาเป็นกลุ่มก้อน เงื่อนไขในการอพยพโยกย้ายก็คือ สงคราม เงื่อนไขทางการเศรษฐกิจ การเมือง ที่บังคับให้คนกลุ่มต่าง ๆ อพยพโยกย้าย สิ่งหนึ่งที่ตามมากับกลุ่มคนที่อพยพโยกย้ายคือ ชีวิตทางวัฒนธรรมจึงมีการรื้อฟื้นและปรับเปลี่ยนไปตามเงื่อนไขที่แตกต่างกันออกไป

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง