วันที่ 1 กันยายน 2565
บทความโดย เปีย วรรณา
ณ สวนสาธารณะหนองบวกหาด อ. เมือง จ.เชียงใหม่
ประติมากรรมศิลปินล้านนาผู้ยิ่งใหญ่ จรัล มโนเพ็ชร นับเป็นประติมากรรมสามัญชนชิ้นแรกในประวัติศาสตร์ไทย ที่สร้างสำเร็จจากการร่วมมือ ร่วมใจ ระดมทุนจากภาคประชาชนอย่างแท้จริง เพราะไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐเลย
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ชาวเชียงใหม่ ” ที่ขับเคลื่อนงานส่งเสริมวัฒนธรรมล้านนาคนสำคัญคนหนึ่งของประเทศ” ได้ริเริ่มโครงการจรัลรำลึก (ค.จ.ร.) โดยชักชวนคนที่รักและคิดถึง จรัล มโนเพ็ชร มาร่วมพูดคุย เสวนา จนได้แนวทางที่จะร่วมกันระดมทุนจำนวนราว 500,000 บาท เพื่อสร้างประติมากรรมของจรัล มโนเพ็ชร ซึ่งจากไปเมื่อ 3 กันยายน พ.ศ. 2544 และครบรอบ 20 ปี ในวันที่ 3 กันยายน 2564
แนวคิดการสร้างประติมากรรม เพื่อเป็นอนุสรณ์สถาน และยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินล้านนาผู้มีผลงานดีเด่นแห่งศตวรรษ ได้รับความร่วมมืออย่างล้นหลามจากประชาชนทั้งในท้องถิ่น ระดับประเทศ และต่างประเทศจำนวนมาก ร่วมสนับสนุนเงินทุนในการสร้างอนุสรณ์สถานแด่ศิลปินล้านนาผู้ล่วงลับ จนได้รับทุนทรัพย์ตามเป้าหมายในเวลาอันรวดเร็ว
โดยมีคุณอันยา โพธิวัฒน์ คู่ชีวิตของจรัล มโนเพ็ชร เป็นที่ปรึกษาโครงการ ตั้งแต่เริ่มต้นถึงปัจจุบัน
ต้นปี พ.ศ. 2564 เมื่อได้ทุนทรัพย์ตามจำนวนที่ต้องการ ค.จ.ร. ได้เริ่มสร้างประติมากรรมจรัล มโนเพ็ชร ขนาดเท่าตัวจริง นั่งยิ้มละไม ดีดกีตาร์ บนเก้าอี้ไม้ตัวยาว มีซึงพิงอยู่ด้านข้าง โดยมี รศ.ดร.สุกรี เกสรเกศรา เป็นประธานฝ่ายออกแบบประติมากรรม อาจารย์ภูธิป บุญตันบุตร เป็นประติมากร และอาจารย์อัษฎายุธ อยู่เย็น เป็นผู้ช่วยประติมากร จนสำเร็จตามเวลาที่กำหนด และเปิดตัวรูปแบบประติมากรรมดังกล่าวต่อสาธารณะชน เมื่อ 3 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา
“ประติมากรรมจรัลมโนเพ็ชรเป็นงานประณีตศิลป์ที่ถูกสร้างสรรค์ให้มีขนาดเท่าตัวจริง เป็นศิลปินสามัญชน ไม่สูงใหญ่ ไม่ชูกีตาร์หรือซึงให้ดูอลังการ ไม่อวดตัว ไม่มีแท่นยกสูงจากพื้น หากแต่เรียบง่ายในลักษณะนั่งเล่นกีตาร์บนม้านั่งที่วางกับพื้น แสดงตัวตนของสามัญชนคนติดดินดั่งที่ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ของชาวเหนือผู้นี้เป็น” อย่างแท้จริง
นอกจากนี้ วันที่ 3 กันยายน 2564 ยังเป็นวันที่ทางวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ ประกาศยกย่องให้จรัล มโนเพ็ชร ได้รับรางวัล ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อการส่งเสริมมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม สาขาวรรณกรรมพื้นบ้านและภาษาล้านนา
“เขาประสบความสำเร็จในฐานะศิลปินนักร้องเป็นอย่างมาก ได้รับรางวัลต่าง ๆ รวมถึงได้รับการยกย่องให้เป็นราชันโฟล์กซองคำเมืองของประเทศไทย ด้วยบทเพลงจำนวนมากที่ถูกขับร้องด้วยคำเมืองหรือภาษาเหนือ ทั้งบอกเล่าสภาพสังคม วิถีชีวิตของคนท้องถิ่น วัฒนธรรมของภาคเหนือ ซึ่งมีทั้งเนื้อหากินใจและพูดแทนใจสามัญชน นอกจากบทบาทการเป็นนักร้องนักแสดงแล้ว จรัลยังเป็นหนึ่งคนสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนส่งเสริมวัฒนธรรม ศิลปะ ศิลปินล้านนา ให้คนทั่วไปได้รู้จักในวงกว้าง และมีความฝันจัดสร้าง ‘ มูลนิธิส่งเสริมศิลปินล้านนา ’ เพื่อช่วยความเคลื่อนไหวด้านวัฒนธรรมล้านนาอีกด้วย”
1 มกราคม พ.ศ. 2565 เป็นวันติดตั้งประติมากรรมจรัล มโนเพ็ชร ณ “ข่วงอ้ายจรัล” สวนสาธารณะหนองบวกหาด จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเกิดของจรัล มโนเพ็ชร ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2494
3 กันยายน พ.ศ. 2565 ทางคณะกรรมการจรัลรำลึก จะติดตั้งป้ายชื่อประติมากรรม ในวันซึ่งเป็นวาระครบรอบ 21 ปีการเสียชีวิตของจรัล มโนเพ็ชร และจะประกาศปิดตัวคณะกรรมการจรัลรำลึก เนื่องจากบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการยกย่อง เชิดชูเกียรติ โดยการสร้างประติมากรรมของศิลปินล้านนาผู้นี้ให้ปรากฎต่อสาธารณะชนแล้ว
รายชื่อคณะกรรมการจรัลรำลึก (ค.จ.ร.)
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สงกรานต์ สมจันทร์
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วสันต์ จอมภักดี
คุณพุทธชาติ หงสกุล
อาจารย์แสวง มาลาแซม
อาจารย์เปีย วรรณา
ดร.ณัฐกรณ์ วิทิตานนท์
อาจารย์ภูธิป บุญตันบุตร
รองศาสตราจารย์ ดร.วสันต์ ปัญญาแก้ว
คุณอารยา ฟ้ารุ่งสาง
รองศาสตราจารย์ ดร.สุกรี เกษรเกศรา
คุณเครือวัลย์ ไชยอำมาตย์
…………………………………………………
ติดตาม “ด้วยฮักจากล้านนา” ความเรียงบอกเล่าเรื่องราวปกิณกะจากแผ่นดินล้านนา โดย เปีย วรรณา ได้ทาง Lanner เป็นประจำทุกเดือน
Lanner เปิดพื้นที่สำหรับงานสื่อสารทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นบทความ งานวิชาการ ความเรียง เรื่องสั้น บทกวี สารคดี photo essay ที่บอกเล่าเรื่องราวทางสังคมต่างๆ ในพื้นที่ภาคเหนือและเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง โดยสามารถส่งมาได้ที่ lanner.editor@gmail.com ร่วมสร้างพื้นที่สื่อสาร สังคมประชาธิปไตย ชีวิตใหม่ที่ดีกว่าไปด้วยกัน
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...