เลียบ ลัด เลาะ เจาะอดีต “แม่น้ำสาย-แม่น้ำรวก” : ประวัติศาสตร์การปักปันเส้นเขตแดนไทย-เมียนมา

เรื่อง: นวลคำ ขะยอมแดง สุภาพชนคนเมือง


(ภาพ: กาลครั้งหนึ่งเชียงราย)

“แม่สาย” เมืองชายแดนที่ตั้งอยู่ทางด้านเหนือสุดของประเทศไทย เป็นจุดหมายในการเดินทางมาท่องเที่ยวของใครหลายคน เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์เดินทางข้ามแดน มาเลือกซื้อสินค้าราคาถูก ทั้งในพื้นที่ตลาดการค้าชายแดนดอยเวลาและสายลมจอย ที่ตั้งอยู่ในฝั่งประเทศไทย ในทางเดียวกัน เมื่อผ่านพ้นพิธีการศุลกากร เดินเท้าก้าวข้ามลำน้ำแม่สายไปไม่ถึงสองร้อยเมตร เราก็สามารถเข้าสู่พื้นที่ตลาดการค้าท่าล้อ ที่ตั้งอยู่ในฝั่งท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมาได้ โดยอนาคตมีทีท่าจะขยายอาณาเขตปริมณฑลทางการค้า ไปสู่พื้นที่ล้อมรอบได้อย่างมากมาย

มากกว่าร้อยละ 80 ผู้คนที่เคยมีประสบการณ์เดินทางไปเที่ยวจุดข้ามแดนไทย-เมียนมา ราว 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา คงจะเคยได้ถ่ายภาพเป็นที่ระลึก ร่วมกับป้าย “เหนือสุดยอดในสยาม” อันถือได้ว่าเป็นแลนด์มาร์ค (Landmark) สำคัญในการถ่ายรูป หากจะกล่าวให้ทันสมัยเฉกเช่นปัจจุบัน ก็คงเรียกได้ว่า นั่นเป็น “จุดเช็คอิน” พื้นที่ดังกล่าวนั้นได้ถูกจัดสรรและกันพื้นที่โดยรั้วกั้นแยก ออกจากเส้นเดินผ่านหลัก ซึ่งหากตั้งใจที่จะไปถ่ายรูปยังจุดที่ว่านั้น อาจจะต้องเดินอ้อมกลับไป จึงทำให้ป้าย “เหนือสุดยอดในสยาม” อันตั้งอยู่ ณ จุดสำคัญนี้ ได้รับความนิยมน้อยกว่าแต่ก่อน


(ป้ายเหนือสุดยอดในสยาม อันเดิม เครดิตภาพ: tripsabay)
(ป้ายเหนือสุดยอดในสยาม อันใหม่)

แม้ว่าผู้คนส่วนใหญ่ทั้งที่เคยถ่ายรูปกับป้ายดังกล่าว หรือรับรู้การตั้งอยู่ของป้ายนี้ อาจไม่เคยล่วงรู้เลยด้วยซ้ำไป ว่าจุดเหนือสุดของประเทศไทยตามระบบพิกัดทางภูมิศาสตร์ที่ถูกต้องนั้น มิได้ตั้งอยู่บริเวณสะพานข้ามแม่น้ำแม่สายแห่งที่ 1 ดังที่เห็นในปัจจุบัน 

หากแต่เป็นจุดที่แม่น้ำแม่สายไหลไปบรรจบกับแม่น้ำรวกซึ่งตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ของหมู่บ้านป่าแดงหลวง ตำบลเกาะช้าง อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย โดยแม่น้ำรวกนั้น เป็นแม่น้ำที่มีขนาดใหญ่กว่าแม่น้ำไหลมาจากทางด้านทิศเหนือ มีต้นกำเนิดจากดอยผาเลงทางทิศใต้ของเมืองเชียงตุง โดยไหลผ่านหมู่บ้านแม่ฮวกหรือแม่รวก ซึ่งเป็นชุมชนคนเมืองพลัดถิ่น ก่อนที่จะไหลลงมาเป็นเส้นแบ่งพรมแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศเมียนมา และแม่น้ำสายไหลมาจากด้านทิศตะวันตก ซึ่งมีต้นกำเนิดจากทางด้านทิศตะวันตกของดอยตุง โดยมีการไหลย้อนขึ้นทิศเหนือและหักเลี้ยวมาทางทิศตะวันออก ตรงบริเวณหัวฝายถ้ำผาจม

ผู้เขียนไล่เรียงให้เห็นถึงสภาะภูมิศาสตร์ทางกายภาพของ “สองฝั่งลำน้ำแม่สาย” จากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ยุคใกล้ในร้อยปีที่ผ่านมา ยังระบุเกี่ยวพื้นที่ชุมชนหมู่บ้านเล็ก ๆ ซึ่งเป็นถิ่นฐานการอพยพของผู้คนจากถิ่นที่อื่น ๆ เข้ามาอยู่อาศัยทั้งคนยอง จังหวัดลำพูน ที่อพยพย้อนกลับมาอยู่ในพื้นที่แอ่งเชียงแสนหลวง ทั้งในพื้นที่ชุมชนแม่จัน ชุมชนบ้านด้าย ชุมชนป่าสักหลวง ตลอดจนรอบ ๆ ขอบเขตของเชียงแสนเวียงเก่า 

หลังปี พ.ศ. 2436 ผลของสนธิสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศสได้กำหนดว่าสยามจะต้องไม่ก่อสร้างด่านหรือค่ายต่าง ๆ ภายในระยะ 25 กิโลเมตร บนฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ทำให้รัฐบาลสยามย้ายที่ทำการปกครองจากในเมืองเชียงแสนมายังบ้านแม่คี (แม่ขิ) แขวงเชียงแสน ปัจจุบันคืออำเภอแม่จัน และการกำหนดเส้นเขตแดนโดยใช้ร่องน้ำลึกแม่น้ำโขง ซึ่งได้ก่อความยุ่งยากในการเดินทางค้าขาย เพราะต้องผ่านเขตแดนของหลายรัฐ อีกทั้งอำนาจของรัฐบาลที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ จึงส่งผลให้การค้าในเส้นทางน้ำ และเมืองเชียงแสนในช่วงนั้นซบเซาลง ในขณะที่การค้าขายเส้นทางบกในเขตบ้านแม่คี (อำเภอแม่จันในปัจจุบัน) ที่เชื่อมไปยังชายแดนด้านทิศเหนือติดต่อกับรัฐฉานและเชียงตุงคือ แม่สายได้มีการขยายตัวเติบโตเป็นชุมชนขึ้นมาแทนที่

แม่สายในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของ “แอ่งเจียงแสนหลวง” ราวพุทธทศวรรษที่ 2460 หรือในพื้นที่ใกล้เคียงกันในแอ่งเจียงแสนก่อนหน้านั้น ประมาณ 50-80 ปี   ในอนาคตที่ดูเหมือนว่าไม่ได้มีความสำคัญใด ๆ มากนัก จนกระทั่งคลี่คลายและขยายตัวเติบโตขึ้นมาเป็นเมืองชายแดนแห่งการค้า ซึ่งมีพัฒนาการก่อตัวขึ้น พร้อมกับการกำเนิดขึ้นของรัฐสมัยใหม่ และการกำหนดเส้นปักปันเขตแดน (Boundary Line) ระหว่างรัฐบาลบริติชอินเดียแห่งอังกฤษ ได้ทำการยึดครองดินแดนพม่ามาจนถึงราวกลางศตวรรษที่ 19 โดยช่วงเวลาดังกล่าว เป็นยุคสมัยของการแผ่ขยายอำนาจและอิทธิพลของจักรวรรดิอังกฤษเข้ามาสู่พื้นที่ทางตอนเหนือของเมียนมาและรัฐฉาน อันเป็นพื้นที่ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับตอนเหนือของ “เพชรยอดมงกุฏแห่งสยาม”หรือว่าล้านนา 

โดยผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นภายหลังการเข้ายึดครองดินแดนอาณานิคมพม่าของจักรวรรดิอังกฤษนั้น ได้เริ่มมีการกำหนดอาณาเขตดินแดนขึ้นมาเป็นลายลักษณ์อักษรที่แน่ชัด พร้อมกับอาศัยกลไก ยุทธวิธีทางการเมืองหลากหลายรูปแบบ เพื่อการยึดครองให้ได้มามากกว่าดินแดนที่มีอยู่เป็นจริง ล้วนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในยุคสมัยดังกล่าว และเห็นได้ว่าการเจรจาเรื่องเขตแดนอังกฤษ ซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจที่มีอิทธิพลมากในยุคสมัยนั้น ได้ใช้อำนาจและวิเทโศบาย ในทางการเมืองบีบบังคับรัฐสยามให้ยอมรับในข้อตกลงต่าง ๆ ที่อังกฤษเห็นชอบ  รวมทั้งได้มีการตกลงเพื่อปักปันเขตแดนร่วมกับรัฐบาลสยามเพื่อความสะดวกในการปกครองเมียนมา ซึ่งเป็นอาณานิคม 

อีกทั้งเจ้าอาณานิคมอังกฤษเอง มักจะมีข้อตกลงที่มักจะเอาเปรียบรัฐบาลสยามในหลายข้อด้วยกัน ในขณะเดียวกัน กระบวนการต่อรองระหว่างรัฐบาลอาณานิคมอังกฤษและรัฐบาลสยามในฐานะเจ้าอาณานิคมภายในดำเนินไปโดยที่สุด แล้วรัฐบาลสยามเองไม่สามารถขัดขืนอังกฤษได้ 

ในปี พ.ศ.2408 ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ของไทย  รัฐบาลอาณานิคมอังกฤษได้ส่งข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำอินเดีย มาติดต่อกับรัฐบาลไทย เพื่อขอดำเนินการปักปันเขตแดน ซึ่งการกำหนดแนวพรมแดนดังกล่าวในระยะเริ่มแรกนั้น ไม่มีหนังสือสัญญาแต่อย่างใด หากแต่เป็นการกำหนดเขตแดนลงบนแผนที่ตามที่ได้สำรวจและปักปันร่วมกัน กล่าวคือเป็น แผนที่ปักปันเขตแดนชื่อ “Burma – Siam Boundary Demarcation Survey” โดยฝ่ายอังกฤษเป็นผู้เขียนและพิมพ์แผนที่ขึ้น  

จากนั้นจึงได้ส่งไปให้ผู้แทนของทั้งรัฐบาลอาณานิคมอังกฤษและรัฐบาลสยาม เป็นฝ่ายทำการตรวจสอบ  โดยเมื่อเห็นว่ามีความถูกต้องแล้ว ก็ได้มีการลงนามกันบนแผนที่และได้มีการจัดทำอนุสัญญาเพื่อรับรองการลงนามดังกล่าวขึ้นที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2411 โดยในอนุสัญญาฉบับนี้กำหนดแนวพรมแดนจากจุดบรรจบกันระหว่างแม่น้ำเมยกับแม่น้ำสาละวินลงมาทางใต้สู่ทะเลอันดามันที่ปากแม่น้ำปากจั่น เมื่อรัฐบาลไทยตรวจสอบแผนที่เขตแดน ที่อังกฤษจัดทำขึ้นมาแล้วเห็นว่าถูกต้อง จึงได้ให้สัตยาบันที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ.2411 โดยถือได้ว่าเป็นอนุสัญญาเขตแดนระหว่างไทยกับพม่าซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษฉบับแรก

ต่อมา รัฐบาลสยามได้มีการส่งข้าหลวงและพนักงาน ทำแผนที่ไปทำการปักปันเขตแดนร่วมกับข้าหลวงเขตแดนฝ่ายอังกฤษ ในวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ.2436  โดยได้ทำการปักปันเขตแดนต่อจากแนวพรมแดนที่ทำไว้กับอังกฤษในปี พ.ศ.2411  ตามปฏิญญาร่วมกันระหว่างไทยกับพม่าของอังกฤษ ลงวันที่ 17 ตุลาคม  พ.ศ.2437 ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 ของไทย 

โดยในครั้งนั้นไม่ได้ทำสนธิสัญญาเขตแดนเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ใช้วิธีการสำรวจภูมิประเทศและปักปันเขตแดนร่วมกันลงบนแผนที่และให้ทั้งฝ่ายสองฝ่ายยึดถือแทนสนธิสัญญาเดิมในฉบับก่อนหน้า สำหรับผู้ลงนามในสนธิสัญญาปักปันเขตแดนในครั้งที่สองนี้ ฝ่ายรัฐบาลสยาม ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศของรัฐบาลไทย   

ในขณะนั้นส่วนผู้ลงนามฝ่ายอังกฤษ คือ Sir James George Scott  อุปทูตและผู้ว่าราชการแทนกงสุลใหญ่อังกฤษประจำสยาม เพื่อให้เกิดผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย จึงมีการประทับตราประจำรัชกาลที่ 5 และตราข้าหลวงใหญ่แห่งอินเดียไว้บนแผนที่  โดยสนธิสัญญาปักปันเขตแดนดังกล่าว เป็นผลทำให้แม่น้ำสายและแม่น้ำรวก กลายเป็นเส้นกั้นเขตแดนระหว่างไทยกับพม่าตามกฎหมาย ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา  อย่างไรก็ตามเมื่อพม่าได้รับเอกราชก็ได้ใช้การเป็นผู้สืบสิทธิในสนธิสัญญาต่างๆที่อังกฤษทำไว้กับไทย รวมไปถึงสนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาคเกี่ยวกับเขตแดนด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้แม่น้ำสายซึ่งมีความยาวประมาณ 15 กิโลเมตรนั้น ไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ในเชิงการคมนาคม แต่เป็นแหล่งน้ำสำหรับใช้ในการทำเกษตรกรรม โดยราษฎรไทยได้จัดทำฝายกั้นน้ำในแม่น้ำสาย เพื่อทดน้ำเข้าไปทำการเพาะปลูกตลอดปี แต่เนื่องจากกระบวนการไหลของแม่น้ำแม่สาย จะไหลผ่านที่ราบดินตะกอนที่มีดินร่วนซุย จึงง่ายต่อการกัดเซาะของน้ำ ไหลผ่านที่ราบดินตะกอน จึงเป็นเหตุให้แม่น้ำสายเปลี่ยนทางเดินตามธรรมชาติอยู่ตลอดเวลา โดยเป็นการเปลี่ยนแปลงทีละเล็กทีละน้อย ถึงกระนั้นก็ตามได้เกิดมีการเปลี่ยนทางเดินน้ำอย่างฉับพลัน ครั้งใหญ่อยู่ 2 ครั้ง ได้แก่

ครั้งที่1 ในปี พ.ศ.2472 แม่น้ำสายได้เปลี่ยนทางเดินเข้ามาในเขตสยาม โดยกระแสน้ำได้ไหลท่วมบ้านเรือนราษฎรพังไป 22 หลัง และได้มีการกัดเซาะตลิ่งฝั่งพม่าจนมีลักษณะเป็นเกาะหรือผู้คนในพื้นที่เรียกว่า “เกาะทราย”  

รัฐบาลทั้งสองฝ่ายจึงได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นชุดหนึ่งเพื่อแก้ปัญหา ฝ่ายสยามประกอบด้วย พระยาราชเดชดำรง เจ้าเมืองเชียงรายในขณะนั้นและพระศรีบัญชา รักษาการแทนอธิบดีกรมพิธีการ กระทรวงการต่างประเทศ ส่วนผู้แทนฝ่ายอังกฤษคือ Mr. S.J Mitchell ผู้ช่วยผู้กำกับรัฐเชียงตุง โดยได้ร่วมกันสำรวจพื้นที่และจัดทำแผนที่ขึ้น พร้อมกับมีการจัดประชุมร่วมกันที่จังหวัดเชียงราย ในวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ.2474 และได้มีการแลกเปลี่ยนบันทึกข้อตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรและรัฐบาลแห่งอินเดียกับรัฐบาลสยามเป็นความตกลงว่าด้วยเขตแดนระหว่างพม่า(เชียงตุง)กับสยาม ซึ่งมีเนื้อหาสรุปได้ดังนี้ 

“…..แม่น้ำสายได้เปลี่ยนทางเดิน เนื่องจากเกิดอุทกภัยในปีพ.ศ.2472กระแสน้ำได้ทำให้บ้านเรือนราษฎรพังทลายไปถึง 22 หลัง และเกิดร่องน้ำใหม่ขึ้นเข้ามาทางสยาม คณะกรรมการได้พิจารณาแล้วว่าการได้เสียพื้นที่บริเวณนี้มีเพียงส่วนน้อย ไม่น่าจะนำมาเป็นปัญหา แต่เนื่องจากขนาดของแม่น้ำใหญ่เกินไปจึงขอใช้ “ร่องน้ำลึก” ของแม่น้ำสายเป็นเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับพม่าของอังกฤษ แทนการใช้ “กลางลำน้ำ” และฝ่ายอังกฤษยังเน้นว่าในกรณีที่แม่น้ำสายเปลี่ยนทางเดินอีกในอนาคต รัฐบาลทั้งสองก็พร้อมที่จะถือเอา”ร่องน้ำลึก” ของแม่น้ำสายเป็นแนวเขตแดนเสมอไปโดยไม่คำนึงถึงการสูญเสียอาณาเขตใดๆซึ่งอาจเกิดขึ้นจากการนั้น…..”

จากบันทึกความตกลงฉบับนี้ รัฐบาลทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนสัตยาบันกัน โดยฝ่ายไทยมีหนังสือ ลงพระนามโดยพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นเทววงศวโรทัย  เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ ลงวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ.2474 และฝ่ายอังกฤษตอบรับโดย Mr. J.F. Johns อุปทูตอังกฤษประจำกรุงสยาม ลงวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ.2475 ซึ่งเป็นการยอมรับตามบันทึกที่ผู้แทนทั้ง 2 ฝ่ายได้ตกลงกันไว้ เมื่อวันที่12 พฤษภาคม พ.ศ.2474 ที่จังหวัดเชียงราย

ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2482 แม่น้ำสายได้เปลี่ยนทางเดินอีกครั้ง ทั้งนี้รัฐบาลของทั้งสองฝ่าย จึงได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นไปตรวจสอบ ซึ่งผู้แทนฝ่ายไทยประกอบด้วยหลวงสิทธิสยามการ พระอนุรักษ์ภูเบศ พระพนมและพระยาประกิตกลศาสตร์ ส่วนฝ่ายอังกฤษประกอบด้วยนายพี.ซี. โฟการ์ตและนายวี.จี.โรแบร์ต 

โดยได้จัดการประชุมที่จังหวัดเชียงรายในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2482 และได้มีการแลกเปลี่ยนบันทึกความเข้าใจระหว่างกัน สรุปสาระสำคัญได้คือ ตามที่รัฐบาลทั้งสองได้แลกเปลี่ยนสัตยาบันกันเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ.2474 และ 14 มีนาคม พ.ศ.2475 ได้ตกลงเป็นหลักการไว้แล้วว่า “ต่อไปภายหน้าถ้าแม่น้ำสายเปลี่ยนทางเดินอีกรัฐบาลทั้งสองฝ่ายพร้อมที่จะถือเอาร่องน้ำลึกของแม่น้ำสายเป็นแนวเขตแดนเสมอไป โดยไม่คำนึงถึงการได้เสียดินแดนใดๆอันจะพึงมีขึ้นโดยการเปลี่ยนแปลงเช่นว่านั้น”

ดังนั้น  การเปลี่ยนทางเดินน้ำใหม่ของแม่น้ำสายในครั้งนี้ ให้ยึดถือร่องน้ำลึกใหม่ของแม่น้ำสายเป็นแนวพรมแดนระหว่างไทยกับพม่าของอังกฤษ และให้เป็นที่เข้าใจกันว่าหลักการ “ร่องน้ำลึก” นี้ จะคงใช้ต่อไปในกรณีที่แม่น้ำสายเปลี่ยนทางเดินอีกในอนาคต ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงทางเดินน้ำของแม่น้ำสายในครั้งใหม่นี้ ยังคงให้ยึดถือร่องน้ำลึกของแม่น้ำสาย ที่เปลี่ยนทางเดินใหม่เป็นแนวพรมแดนระหว่างไทยกับพม่าของอังกฤษ ซึ่งรัฐบาลของทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนสัตยาบันกันเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2483 

สำหรับหนังสือฝ่ายไทยลงนามโดยพันเอกหลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และฝ่ายอังกฤษลงนามโดย นายเจ ครอสบี อัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ต่อมาเมื่อพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษแล้ว ได้เกิดมีปัญหาความขัดแย้งเรื่องเขตแดนบริเวณ แม่น้ำสายกับไทยอีกครั้ง เนื่องมาจากในปี พ.ศ. 2500 อำเภอแม่สายได้สร้างฝายปิดกั้นแม่น้ำขึ้นเพื่อทดน้ำเข้าคลองส่งน้ำ ขึ้น 3 แห่งได้แก่ ฝายเหมืองแดง 

บริเวณจุดแรกที่แม่น้ำแม่สายไหลผ่านเข้ามาเป็นเส้นแบ่งพรมแดน เรียกบริเวณนี้ว่า “หัวฝาย”  โดยสร้างเพื่อใช้ประโยชน์ทั้งในพื้นที่การเกษตรในพื้นที่ตำบลแม่สายเพื่อการอุปโภคบริโภคโดยตรง) ฝายเวียงหอม อยู่บริเวณบ้านเหมืองแดง ใกล้สะพานข้ามแม่น้ำ

สายแห่งที่สองโดยทดน้ำเข้าคลองชลประทานและพื้นที่ทำการเกษตรสายเวียงหอม รวมทั้งตำบลแม่สายและตำบลเกาะช้าง และฝายเหมืองงาม ที่อยู่บริเวณบ้านเวียงหอม ทดน้ำเข้าคลองชลประทานและพื้นที่ทำการเกษตรสายป่าซางงาม รวมทั้งพื้นที่ทำการเกษตรกรรมในตำบลเกาะช้าง เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ 

สำหรับเหตุผลที่ต้องสร้างฝายขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวเนื่องจากมีชุมชนอาศัยอยู่มากขึ้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องนำน้ำมาใช้ทั้งด้านการอุปโภค บริโภค และเพื่อประโยชน์ต่อการเกษตรกรรม โดยฝายที่สร้างขึ้นนั้นมีลักษณะเป็นฝายไม้ไผ่ชั่วคราวเนื่องจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นอำเภอท่าขี้เหล็กของพม่าไม่ยอมให้สร้างแบบถาวร

ต่อมาในปีพ.ศ.2510   แม่น้ำแม่สายเริ่มเปลี่ยนทางเดินเข้าไปในเขตพม่าอีกครั้งตรงบริเวณเหนือฝายเหมืองงามไปจนถึงสบสาย จุดร่วมตรงบริเวณที่แม่น้ำสายไหลลงแม่น้ำรวก โดยแม่น้ำแม่สาย เส้นเดิมมีแนวโน้มที่จะแห้งไป เป็นผลให้ไทยได้พื้นที่เพิ่มขึ้นมาประมาณ 1,200 ไร่  ซึ่งเดิมทีรัฐบาลไทยกับรัฐบาลพม่าของอังกฤษได้เคยมีการทำการแลกเปลี่ยนสัตยาบันกันในปีพ.ศ. 2483 ในสาระสำคัญที่ว่า                   

“หากลำน้ำแม่สายเกิดการเปลี่ยนทางเดินใหม่ ให้ใช้ร่องน้ำลึกนั้นให้เป็นแนวพรมแดนโดยไม่คำนึงถึงการสูญเสียดินแดนที่จะเกิดขึ้นกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด”

หากแต่ฝ่ายพม่ากลับไม่ยอมรับร่องน้ำลึกของแม่น้ำสายที่เปลี่ยนแปลงใหม่เป็นแนวพรมแดน โดยอ้างว่าการเปลี่ยนแปลงเขตแดนครั้งนี้ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ตามที่ทั้งสองฝ่ายได้ให้สัตยาบันกันไว้ในปีพ.ศ.2483 แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการกระทำของราษฎรไทยที่ได้สร้างฝายกั้นน้ำในบริเวณแม่น้ำสาย

ดังนั้นในช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน พ.ศ.2510 พม่าจึงได้สร้างทำนบดินปิดกั้นบริเวณแม่น้ำสายเส้นใหม่ เพื่อเบนน้ำให้กลับไปทางแม่น้ำสายเส้นเดิม แต่ราษฎรไทยได้รวมกลุ่มกันสร้างคันดินป้องกันไม่ให้น้ำไหลมาบริเวณแม่น้ำสายเส้นเดิม เนื่องจากได้ทำการเพาะปลูกพืชผลในพื้นที่ดังกล่าวอยู่ จึงเกรงว่าน้ำจะไหลบ่า มาท่วมพื้นที่เพาะปลูกที่ทำไว้ ทหารพม่ากลุ่มหนึ่งจึงตอบโต้การกระทำของราษฎรไทยด้วยการยิงปืนขู่ และเข้ามารื้อถอนคันดินดังกล่าว ตลอดจนได้นำดินมาถมแม่น้ำสายเส้นใหม่โดยเจตนาจะปิดกั้นแม่น้ำสายเส้นใหม่เสีย        

อย่างไรก็ตาม น้ำก็ไม่เบนเข้าทางแม่น้ำสายเส้นเดิม แต่กลับกัดเซาะไปทางแม่น้ำสายเส้นใหม่อีก เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายจึงเสนอรายงานต่อกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงมหาดไทยได้เสนอเรื่องนี้ไปยังคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-พม่า (ฝ่ายไทย) เพื่อให้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบพื้นที่ดังกล่าว และได้พบว่าแม่น้ำสายเส้นเดิมได้ตื้นเขินจนหมดสภาพการเป็นแม่น้ำแล้ว เมื่อเกิดปัญหาเขตแดนดังกล่าวขึ้นรัฐบาลของทั้งสองฝ่ายจึงเห็นพ้องกันที่จะจัดการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-พม่า เพื่อร่วมกันหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยได้จัดให้มีการประชุมที่ประเทศไทย เมื่อวันที่ 7-14 พฤษภาคม พ.ศ.2511 ซึ่งผลการประชุมสรุปว่าทั้งสองฝ่ายยังหาข้อสรุปในการแก้ปัญหาเขตแดนบริเวณแม่น้ำสายร่วมกันไม่ได้ ประกอบกับพม่ามีปัญหาภายในประเทศในช่วงเวลานั้น จึงทำให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวต้องหยุดชะงักไป

ลักษณะธรรมชาติบริเวณแม่น้ำสาย แต่เดิมเต็มไปด้วยป่าสักที่มีค่า แต่ในปัจจุบันได้ถูกทำลายลงหมดแล้ว ซึ่งแม่น้ำสายและแม่น้ำรวกเป็นแม่น้ำที่มีลักษณะเชื่อมต่อกันเป็นเส้นเขตแดนระหว่างไทย-พม่า ที่มีความยาวรวมกัน เป็นระยะทางประมาณ 59 กิโลเมตร   ทั้งนี้ราวปี พ.ศ.2482 นั้น แม่น้ำรวกได้มีการเปลี่ยนทางเดินน้ำเช่นเดียวกันกับที่บริเวณแม่น้ำสาย 

ทั้งนี้เนื่องจากแม่น้ำรวกมีความคดโค้งมากและไหลผ่านที่ราบดินตะกอนทำให้แม่น้ำรวกมีการเปลี่ยนทางเดินน้ำอยู่เสมอ โดยช่วงเวลาที่แม่น้ำรวกเปลี่ยนทางเดินจนเกิดปัญหาระหว่างประเทศคือ ในปี พ.ศ. 2482 นั้นแม่น้ำรวกได้เปลี่ยนทางเดินบริเวณใกล้เคียงกับสบมะ แม่น้ำมะไหลลงแม่น้ำรวก เกิดเป็นเกาะขนาดใหญ่กินพื้นที่ประมาณ 5 ตารางกิโลเมตร ประมาณ 3,125 ไร่ เรียกว่า” เกาะช้าง” หรือ “กอช้าง”  

ดังนั้นรัฐบาลไทยและพม่าจึงได้ส่งผู้แทนมาทำการสำรวจร่วม โดยผู้แทนของแต่ละฝ่ายต่างทำรายงานถึงรัฐบาลของตน แต่ไม่ได้มีการทำหนังสือตกลงกันเช่นเดียวกันกับกรณีแม่น้ำสาย และเมื่อรัฐบาลของทั้งสองฝ่ายพิจารณาเห็นชอบแล้วก็ได้มีการแลกเปลี่ยนสัตยาบันกันเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2483 ซึ่งสรุปได้ว่า  “แนวพรมแดนระหว่างไทยกับพม่าของอังกฤษตามแม่น้ำรวกนับตั้งแต่นี้ต่อไปจะใช้ ร่องน้ำลึก เป็นแนวพรมแดน แต่ถ้ามีการเปลี่ยนทางเดินของแม่น้ำ การโอนดินแดนจะต้องได้รับคำยืนยันจากรัฐบาลทั้งสองฝ่ายก่อน โดยอังกฤษได้โอนอธิปไตยของพื้นที่ เกาะช้าง ให้มาอยู่ในอธิปไตยของไทยตามที่ได้ลงนามให้สัตยาบันกันไว้

สรุปได้ว่ารัฐบาลทั้งสองฝ่ายได้ตกลงใช้ร่องน้ำลึกของแม่น้ำสายและแม่น้ำรวกเป็นเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับพม่า โดยไม่คำนึงถึงการได้เสียดินแดนอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนทางเดินของแม่น้ำในอนาคต อย่างไรก็ดีแม่น้ำรวกได้มีการเปลี่ยนทางเดินน้ำอีกหลายจุดในช่วงปีพ.ศ.2497-2521  โดยบริเวณที่เป็นปัญหานั้นอยู่ตรงบ้านศรีชัยภูมิ ตำบลเกาะช้าง อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ซึ่งอยู่ทางใต้ของพื้นที่เกาะช้างที่พม่าเคยยกให้ไทยมาก่อนหน้านี้ ทั้งนี้แม่น้ำรวกมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนทางเดินเข้ามาในเขตแดนอันจะทำให้ไทยเสียพื้นที่ไปประมาณ 250 ไร่ 10 

สาเหตุที่แม่น้ำรวกเปลี่ยนทางเดินนั้นเนื่องมาจากราษฎรไทยขุดคลองส่งน้ำเหมืองงามเพื่อชักน้ำจากแม่น้ำสายเข้ามาใช้ประโยชน์ในการเพาะปลูกโดยได้ขุดให้ปลายน้ำไหลลงแม่น้ำรวกสายที่2 แต่เนื่องจากพื้นที่ทางฝั่งพม่าสูงกว่าฝั่งไทย ดังนั้นเมื่อถึงฤดูแล้งน้ำจึงไม่ไหลลงแม่น้ำรวกสายที่2 แต่กลับเปลี่ยนทางเดินไหลเข้ามาในเขตไทยกลายเป็นแม่น้ำรวกสายที่ 3 ตรงบริเวณที่ไทยได้ขุดให้น้ำจากคลองส่งน้ำเหมืองงามไหลออกแม่น้ำรวกสายที่ 2 ทำให้พื้นที่บริเวณนี้เกิดเป็นเกาะขึ้นสำหรับการแก้ไขปัญหาในระยะสั้นนั้น

ทางจังหวัดเชียงรายได้ดำเนินการก่อสร้างเขื่อนชั่วคราวปิดกั้นแม่น้ำรวกสายที่3 เพื่อบังคับให้น้ำไหลกลับไปตามแม่น้ำรวกสายที่ 2 ตามเดิม แต่ด้วยเหตุที่บริเวณฝั่งพม่าตรงจุดที่แม่น้ำรวกเปลี่ยนทางเดินนั้นไม่มีบ้านเรือนของราษฎรตั้งอยู่เลย ทำให้ไม่เกิดมีปัญหาข้อพิพาทระหว่างประเทศดังเช่นกรณีของแม่น้ำสาย

ต่อมาในปีพ.ศ.2524 พม่าได้รื้อฟื้นให้มีการแก้ปัญหาเขตแดนบริเวณแม่น้ำสายขึ้นอีกครั้งทั้งนี้ได้มีการพิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้นบริเวณแม่น้ำรวกร่วมด้วย เนื่องจากแม่น้ำทั้งสองสายมีลักษณะเชื่อมต่อกันและยังเป็นแม่น้ำที่เป็นแนวเขตแดนไทย-พม่า ด้านจังหวัดเชียงราย โดยได้เสนอให้ไทยตั้งคณะกรรมการร่วมไทย-พม่าเกี่ยวกับเขตแดนบริเวณแม่น้ำสายและแม่น้ำรวกพิจารณาปัญหาเขตแดนไทย-พม่าขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเขตแดนบริเวณนี้ให้เสร็จสิ้น ซึ่งฝ่ายไทยกับพม่าได้จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการร่วมไทย-พม่าขึ้นทั้งหมด 3 ครั้ง จนในที่สุดทั้งสองฝ่ายสามารถเจรจายุติปัญหาเขตแดนบริเวณแม่น้ำสาย-แม่น้ำรวกได้ในปีพ.ศ.2530 ถือได้ว่าเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญในความสัมพันธ์ไทย-พม่า ในช่วงทศวรรษของกาเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้าของรัฐไทยในช่วงเวลาถัดมา

ข้อเขียนที่นำเสนอมาขั้นตอนว่า พัฒนาการของเส้นเขตแดน เป็นสิ่งที่ก่อรูปขึ้นมาในฐานะเทคโนโลยีทางภูมิกายา (GeoBody) ของสมัยใหม่เรื่องเล่าที่เกี่ยวข้องกับเส้นเขตแดนโดยเฉพาะในลักษณะที่เป็นเส้นเขตแดนธรรมชาติอย่างแม่น้ำยังชี้ให้เห็นถึงการขับเคี่ยว แย่งชิง ตลอดจนการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของผู้คนที่อยู่ทั้งสองฟากฝั่งเส้นเขตแดนนั้นซึ่งเกิดขึ้นอยู่เรื่อยมาจนกว่าเส้นเขตแดนระหว่างรัฐจะถูกปักปันและจัดสรรพื้นที่ได้อย่างมีสัดส่วนและลงตัว ยิ่งไปกว่านั้นชุมชนที่อยู่ระหว่างสองฟากฝั่งของเส้นเขตแดนซึ่งได้มีพัฒนาการที่เรียนผ่านจากชุมชนเล็กๆมาสู่ชุมชนเมืองชายแดนนั้นผู้คนทั้งสองเมืองชายแดนย่อมมีปฏิสัมพันธ์เชิงพื้นที่ระหว่างการและกัน จึงทำให้เรื่องเล่าและประวัติศาสตร์ของเมืองชายแดนจึงเป็นสิ่งที่มีปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับพัฒนาการของเส้นเขตแดนระหว่างรัฐนั่นเอง


อ้างอิง

  • กิตยา เกษเจริญ (2545). ความขัดแย้งระหว่างไทย-พม่า : ศึกษาการแก้ไขปัญหาเขตแดนบริเวณแม่น้ำสาย แม่น้ำรวกและแม่น้ำเมย. สาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  • สุภี วิมะลิน (2530). การกำหนดแนวพรมแดนคงที่ระหว่างไทย-พม่า บริเวณแม่น้ำสายและแม่น้ำรวก. วิทยาลัยการทัพบก. สถาบันวิชาการทหารบกชั้นสูง
  • สุรจิตร สิทธิประณีต (2537). สหภาพพม่ากับความมั่นคงแห่งชาติของไทย
  • พยนต์ ทิมเจริญ. วิทยาลัยการทัพบก. สถาบันวิชาการทหารบกชั้นสูง. 
  • บันทึกประชุมผู้แทนส่วนราชการในการพิจารณาปัญหาแม่น้ำรวกเปลี่ยนทางเดินประชุมครั้งที่1และครั้งที่2.
  • มร. ดอร์เมอร์ ทูล พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย (2474, 27 สิงหาคม).  การแลกเปลี่ยนหนังสือระหว่างรัฐบาลของพระบาทสมเด็จในสหราชอาณาจักร และรัฐบาลแห่งอินเดียกับรัฐบาลแห่งสยาม ซึ่งประกอบเป็นความตกลงว่าด้วยเขตแดนระหว่างพม่า (เชียงตุง). 

ชนชั้นกลางระดับล่างที่ค่อนมาทางปีกซีกซ้ายในทางเศรษฐกิจการเมือง ร่ำเรียนมาทางด้านการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ชื่นชอบประเด็นทางสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และการเมืองร่วมสมัย เป็นคนให้ความสนใจประเด็นล้านนาคดีทั้งในมิติประวัติศาสตร์ สังคมวัฒนธรรมและวรรณกรรมล้านนา (อยู่บ้างเล็กน้อย) แม้ตัวเองไม่ใช่คนดีย์แต่ยังคงมีการครุ่นคิดและสงสัยว่า ตัวเองนั้นเป็นนักกิจกรรม (Activist) และเป็นผู้นิยมมาร์กซ (Marxist) อยู่หรือเปล่า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง