31 มกราคม 2566
เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2565 เวลา 16.00 น. ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ พร้อมด้วยมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ มูลนิธิธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ลงพื้นที่ชุมชนปกาเกอะญอบ้านสบลาน หมู่ 6 ต.สะเมิงใต้ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ เพื่อศึกษาระบบการเกษตรแบบไร่หมุนเวียน และรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะของภาคประชาชนเกี่ยวกับมาตรการจัดการไฟป่าและ PM 2.5 ของภาครัฐที่ยังไม่สอดคล้องกับวิถีการจัดการเชื้อเพลิงของชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ
มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ รายงานว่า อธิบดีกรมควบคุมมลพิษลงพื้นที่ชม ‘ไร่หมุนเวียน’ ของชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ จ.เชียงใหม่ รับฟังปัญหามาตรการจัดการไฟป่า-PM 2.5 ภาคเหนือ ชาวบ้านยืนยันวิถีใช้ ‘ไฟจำเป็น’ เพื่อปากท้อง อธิบดีย้ำ มาตรการควรจำแนกไฟ รับไปพิจารณาดำเนินการ
ตาแยะ ยอดฉัตรมิ่งบุญ ชาวปกาเกอะญอบ้านสบลาน กล่าวว่า ชุมชนบ้านสบลานอยู่ในพื้นที่ป่าที่ถูกรัฐประกาศทับ ปัจจุบันเป็นป่าสงวนแห่งชาติเตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติออบขาน ซึ่งแต่เดิมก็มีข้อพิพาทกับหน่วยงานในพื้นที่เรื่องสิทธิในที่ทำกินอยู่แล้ว และย้ำว่า การทำไร่หมุนเวียนเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้ชุมชน เพราะชาวบ้านไม่ได้มีรายได้ จำเป็นต้องปลูกข้าวในระบบไร่หมุนเวียนเพื่อเลี้ยงครอบครัว อย่างไรก็ตามระบบไร่หมุนเวียนถูกหน่วยงานรัฐและสังคมมองว่าเป็นไร่เลื่อนลอยที่ทำลายป่า และความจำเป็นในการใช้ไฟหลังการแผ้วถางพื้นที่ก็ถูกมองเป็นต้นเหตุของไฟป่าและ PM 2.5 แม้ชุมชนจะมีการควบคุมไฟอย่างดี โดยเฉพาะในช่วงมาตรการห้ามเผาเด็ดขาดตามประกาศ จ.เชียงใหม่ ที่แสดงถึงความไม่เข้าใจวิถีที่หลากหลาย และมุ่งใช้อำนาจในการควบคุมมากกว่าการมีส่วนร่วม
“เราต้องทำไร่หมุนเวียนซึ่งต้องมีการเผาตามวิถีชีวิต ถ้าไม่ให้เราเผาไร่ ปีหน้าเราจะไม่มีข้าวกินแล้ว เราใช้ไฟแค่ครั้งเดียวตลอดทั้งปี แต่ติดที่เป็นช่วงเวลาประกาศห้ามเผา ทำให้ติดข้อจำกัดหลายอย่าง ไร่หมุนเวียนนั้นเราไม่ได้เผาทั้งหมด เราเผาเฉพาะแปลงที่ถางในปีนี้ ซึ่งมีอยู่แค่ 12 แปลง ไร่ที่พักฟื้นไว้รอบๆ ก็ช่วยดูดซับคาร์บอนได้ และมีพิกัดชัดเจน ไม่ได้บุกรุกป่าใหม่ และที่ผ่านมาเราก็ช่วยดูแลป่ามาตลอด ทำแนวกันไฟกัน 2 เดือน ความยาว 116 กิโลเมตร เชื่อมกับ อ.แม่วาง ด้วย” ตาแยะกล่าว
นันทวัฒน์ เที่ยงตรงสกุล ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 ต.สะเมิงใต้ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ย้ำว่า ที่ผ่านมาชุมชนทำทุกวิถีทางเพื่อให้ยังสามารถใช้ไฟในไร่หมุนเวียนได้ แม้ต้องมีการปรับเปลี่ยนวิถีจนไม่สอดคล้องกับภูมิปัญญาดั้งเดิม เช่น การจัดทำแผนการจัดการเชื้อเพลิงในไร่หมุนเวียนเสนอต่อนายอำเภอ การใช้แอพลิเคชันของหน่วยงานเพื่อขออนุญาตในการเผา การปรับเวลาการใช้ไฟเพื่อไม่ให้ปรากฏจุดความร้อน (Hotspot) แต่ที่ผ่านมาไม่มีหลักประกันว่าชุมชนจะสามารถใช้ไฟได้อย่างปลอดภัยจากการจับกุมและคุกคามของเจ้าหน้าที่หน่วยต่างๆ โดยเฉพาะกรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
“เราทำหนังสือ ทำข้อมูล ล่ารายชื่อจากชุมชนเสนอจัดทำแผนการใช้ไฟไปที่อำเภอ พยายามบอกว่าขอให้ยืดหยุ่นตามวิถีของกลุ่มชาติพันธุ์ได้ไหม นายอำเภอก็บอกว่าไม่ได้ กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย ต้องบังคับใช้ในแนวทางเดียวกัน ล่าสุดเรายังพบว่ามีหน่วยงานส่งเฮลิคอปเตอร์ไร้คนขับมาลาดตระเวนในพื้นที่อีก ชุมชนก็เกิดความกังวล ถ้ากดดันและบีบให้เราจัดการเชื้อเพลิงไม่ได้ขนาดนี้ หลังจากนี้ชาวบ้านคงต้องไปทำงานรับจ้างในเมืองกันหมด เพราะปลูกข้าวกินเองไม่ได้แล้ว” ผู้ใหญ่บ้านย้ำ
ประยงค์ ดอกลำใย ผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ เห็นว่า มาตรการห้ามเผาของจังหวัดมีปัญหาคือไม่เปิดโอกาสให้มีการจัดการเชื้อเพลิง รวมทั้งเงื่อนระยะเวลาของมาตรการห้ามเผาที่ไม่สอดคล้องกับวงจรการผลิตของชุมชนปกาเกอะญอที่ยังทำระบบไร่หมุนเวียน ซึ่งเป็นระบบเกษตรที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นเกษตรกรรมยั่งยืน ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติโดยกระทรวงวัฒนธรรม รวมถึงมีมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 ส.ค. 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงรองรับอยู่ โดยกำหนดแนวนโยบายให้มีการยอมรับและฟื้นฟูระบบไร่หมุนเวียน ดังนั้นมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องทบทวนและปรับปรุงให้สอดคล้อง และไม่สร้างผลกระทบต่อระบบการผลิตในรูปแบบไร่หมุนเวียน
ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า ตนได้เข้าใจระบบการเกษตรแบบไร่หมุนเวียนมากขึ้นในการศึกษาดูงานครั้งนี้ และเห็นข้อจำกัดของมาตรการจากส่วนกลางที่ยังมีช่องว่างระหว่างชุมชนกับหน่วยงานรัฐ โดยย้ำว่าหลังจากนี้จะรับไปพิจารณาดำเนินการให้มีการจำแนกการใช้ไฟอย่างจริงจัง เพราะมีไฟที่ชุมชนจำเป็นต้องใช้ตามวิถี นอกจากนั้นยังเห็นว่ามาตรการหรือนโยบายด้านการจัดการไฟป่าและ PM 2.5 ไม่ควรใช้มาตรการเดียวกับกับทุกพื้นที่เพราะมีบริบทที่แตกต่าง และไม่ควรมีแค่การจัดการไฟในรูปแบบของป่าสงวนและแห่งชาติและป่าอนุรักษ์เท่านั้น แต่ควรมีระบบการเกษตรแบบไร่หมุนเวียนอยู่ด้วย
ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้ประกาศมาตรการห้ามเผาเด็ดขาด กำหนดระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 30 เม.ย. 2566 โดยจังหวัดเชียงใหม่มีเนื้อที่ประมาณ 13 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ป่าประมาณ 9 ล้านไร่ ซึ่งจังหวัดได้ประกาศพื้นที่บริหารจัดการพิเศษ 8 พื้นที่ ครอบคลุมถึง อ.สะเมิง ด้วย นอกจากนั้นยังกำหนดเป้าหมายในการดำเนินการจัดการไฟป่าและ PM 2.5 โดยจุดความร้อน (Hotspot) ร่องรอยการเผาไหม้ (Burn Scar Area) จำนวนวันที่มีค่า PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน และจำนวนผู้ป่วยเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ต้องลดลง 20 เปอร์เซ็นต์ของค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...