ข่าวลือที่แพร่สะพัดไปตั้งแต่ช่วงสายวันหนึ่งของปี 2545 ในเขตเมืองลำปางว่า หัวหน้าแก๊ง ๆ หนึ่งประกาศจะเอาชีวิตคนในวันเกิด ได้สร้างปฏิกิริยาของผู้คนไปต่าง ๆ นานา คนที่เชื่อก็กลัวกันขี้หดตดหาย ที่ฟังหูไว้หูก็รีบกลับบ้านแต่หัววัน เพราะเกรงว่าจะเกิดเหตุร้ายขึ้นกับตัวเอง ผู้เขียนขณะนั้นทำงานที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งหนึ่งใจกลางเมือง รับรู้ถึงประสบการณ์ของผู้คนรอบตัวได้ แน่นอนว่า วันนั้นก็ต้องรีบกลับบ้านเหมือนกัน
เหตุการณ์วันนั้นเสมือนเป็นจุดสุดยอดของความหวาดกลัวของผู้คนต่อแก๊งวัยรุ่นที่สร้างความเดือดร้อนมาก่อนหน้านั้น อีกหลายปีผ่านมา มีคนตั้งกระทู้ในพันทิปชื่อว่า “ใครยังจำเหตุการณ์แก๊งค์วัยรุ่นอาละวาดฆ่าคนในเมืองลำปาง ช่วงปี 2545-2546 ได้บ้างครับ”[2] เมื่อปี 2558
แล้วมีใครรู้บ้างว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ๆ นั้นคืออะไร?
มิตรสหายท่านหนึ่งได้ให้ข้อมูลมาว่า สมัยนั้นยังเรียนอยู่ระดับมัธยมศึกษาในเขตตัวเมือง มีเพื่อนคนนึงที่อยู่ในแก๊งดังกล่าว ซึ่งแก๊งดังกล่าวชื่อ “แก๊งเทวดาเหยียบโลก” ซึ่งนำมาจากละครเรื่องหนึ่งในปี 2544 เรื่อง เทวดาเดินดิน ที่อำพล ลำพูน (รับบทแทน) และพงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง (รับบทพล) นำแสดง และเพื่อนคนนั้นก็ไม่ได้เป็นคนเลวร้ายอะไร แถมยังช่วยงานพวกกู้ภัยอะไรอีกด้วย
เมื่อไปค้นดูจากมิวสิควิดีโอเพลงประกอบละครชื่อเพลงว่า “เทวดา” จะเจอฟุตเตจบทสนทนาระหว่างพ่อของแทน ซึ่งแทนตัดพ้ออย่างน้อยใจกับพ่อว่า “ผมมันทำผิดทุกอย่าง ผมเรียนหนังสือก็ไม่เก่ง ผมหางานทำก็หาไม่ได้ ผมแต่งตัวก็ไม่ถูกใจพ่อ ผมทำอะไรพ่อก็ไม่ว่าดีทุกอย่าง” [3] ในมุมของวัยรุ่นที่กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ บทบาทของตัวละครอาจทำให้พวกเขารู้สึกว่านี่คือ คนที่มีจุดร่วมเดียวกับเขา การตั้งชื่อแก๊งที่คล้ายกันจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไร
หากนับจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ขณะนั้นสิ่งหนึ่งที่บันทึกเหตุการณ์ไว้อย่างละเอียดที่สุดคงไม่พ้นจากหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ผู้เขียนได้รับข้อมูลอันทรงคุณค่าจากคุณวริษฐา ภักดี แห่งหนังสือพิมพ์ ลานนาโพสต์ ลานนาโพสต์ ฉบับวันที่ 30 สิงหาคม – 5 กันยายน 2545 ได้มีข่าว “แก๊งนรก” ยึดครองหน้าแรกถึง 2 ส่วน
พาดหัวบนพื้นแดงเขียนว่า “แก๊งนรกครองเมือง คืนเดียวอาระวาด ยิง-ทุบ-ก่อกวน” และพาดหัวบนพื้นฟ้าเขียนว่า “ตำรวจผวาแก๊งนรกทีมย้ายป้อมจร.หนี” ในเนื้อหาจะแสดงถึงเหตุร้ายแรงที่เกิดขึ้นโดยวัยรุ่น ทั้งที่ใช้อาวุธมีดและปืนยิ่งกันในร้านอาหารชานเมือง, การทุบทำลายรถยนต์ชาวบ้าน (กรณีนี้เพื่อนผู้เขียนเองที่จอดรถยนต์ไว้หน้าบ้านก็ถูกทุบกระจกด้วย) ที่น่าตกใจคือ ป้อมตำรวจสี่แยกสนามบินก็ถูกทุบมาแล้ว 2 ครั้งจนต้องย้ายหนีไปอยู่หน้าธนาคารออมสินกลางเมืองแทน เนื้อข่าวแสดงให้เห็นว่า แม้แต่ตำรวจก็ยังไม่สามารถป้องกันทรัพย์สินตัวเองได้
ที่น่าสนใจคือ เนื้อข่าวมีการระบุแก๊งวัยรุ่น 4 กลุ่มคือ แก๊งเทวดา, แก๊งซามูไร, แก๊งนรกทีม และกลุ่มวัยรุ่นอื่น ๆ ที่รวมตัวกัน ยังมีข้อสังเกตว่า แก๊งเหล่านี้น่าจะมีผู้ใหญ่หนุนหลัง เพราะเหมือนจะรู้ว่าตำรวจจะออกกวาดล้างเมื่อไหร่ แหล่งข่าวยังให้ข้อมูลว่า กลุ่มเซียนพนันบอลได้จ้างกลุ่มวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งให้คอยติดตามทวงหนี้พวกที่ติดพนันฟุตบอลและลูกหนี้ที่กู้ยืมรายวัน หากทวงไม่ได้ก็จะรุมชกต่อยหรือไม่ก็ทำลายข้าวของจนเสียหาย
ประเด็นนี้จึงน่าสนใจยิ่งว่า นี่ไม่ใช่แค่เรื่องการก่อกวนเมืองอย่างเดียว หรือด้วยความคึกคะนองของวัยรุ่นอีกต่อไปแล้ว แต่มันมีการจัดตั้งและสร้างสถานการณ์บางประการไปด้วย อีกประการที่ข่าวไม่ได้เขียน แต่อาจเป็นไปได้ว่าจะมีกรณีที่เป็นสายของตำรวจที่ช่วยทำงานที่ตำรวจเลี้ยงไว้ใช้งาน
สังคมไทยเคยเผชิญกับ “เด็กนรก” หรือกลุ่มเยาวชนอันธพาลต่างกรรมต่างวาระกันมาอย่างยาวนาน แต่ทั้งสื่อมวลชนและผู้คนทำราวกับว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาเลย ในอีกด้านก็มักจะหวนไปสู่วันวานอันแสนหวานที่ตนรู้สึกว่าเป็นอดีตอันบริสุทธิ์ไม่เคยแปดเปื้อนจากความนอกลู่นอกรอยของคนยุคสมัยพวกเขาเลย
ความเข้าใจของพวกเขาจึงคลาดเคลื่อน อย่างน้อยลักษณะเช่นนี้ก็เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จากความพังพินาศทางเศรษฐกิจ และความล้มเหลวทางการเมือง ความรุนแรงจากอาชญากรรมหลังสงคราม นำมาซึ่งจอมโจรที่ถูกนำไปดัดแปลงเป็นนิยายโรแมนติกอย่างเสือดำ เสือใบ[4]
ที่เริ่มตกเป็นข่าวก็คือ กลุ่มวัยรุ่นอันธพาลที่ก่อเหตุตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 2490 ต้องเข้าใจว่า ข่าวอาชญากรรม และคดีมโนสาเร่กลายเป็นสินค้าที่ผู้คนนิยมบริโภค รากฐานของไทยรัฐ เดลินิวส์ก็เติบโตมาในช่วงนี้ ที่เป็นเรื่องร้ายแรงก็กรณีการปาระเบิดขวดใส่รถเมล์จนนักเรียนหญิงโดนลูกหลงจนเสียชีวิต[5] ข่าวเยาวชนอันธพาล ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ ยังมีข่าวปรากฏในต่างจังหวัด อย่างเช่น แก๊งอินทรีย์ขาว, แก๊งช้างม่อย, แก๊งกลุ่มศาลเจ้าที่ว่ากันว่ารวมกลุ่มกันในเขตเมืองเชียงใหม่[6] ข่าวอาชญากรวัยเยาว์ที่เร้าอารมณ์เหล่านี้นำมาสู่ความชอบธรรมในการใช้อำนาจและความรุนแรงปราบปรามโดยเฉพาะในยุคคาบเกี่ยวของตำรวจอัศวินและเผด็จการทหาร สฤษดิ์ใช้มาตรฐานการจับวัยรุ่นเข้าเรือนจำเพื่อหวังจะดัดสันดาน คดีอาชญากรรรมที่สูงลิ่ว พร้อมกับแนวคิดการพัฒนาประเทศ ทำให้เด็กและเยาวชนทำให้พวกเขาได้กลายเป็นความคาดหวังเพื่อที่จะเป็นกลไกและพลเมืองที่พัฒนาชาติ ภายใต้อุดมการณ์ราชาชาตินิยม[7]
แต่หากนำปรากฏการณ์ดังกล่าวมาวางลงบนเส้นเรื่องของสังคมไทย เราจะเห็นอะไร ปี 2545 ถือว่าเป็นช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งที่ส่งผลต่อคนในกรุงเทพฯ และตลาดแรงงานในกรุงเทพฯ คนจำนวนหนึ่งที่เคยมีรายได้ในเมืองหลวงต้องจำใจกลับบ้าน โดยเฉพาะช่วงที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แทบจะหยุดชะงัก GDP ในงานก่อสร้างปีที่พีคที่สุดคือ ปี 2539 จำนวน 341,518 ล้านบาท ลดเหลือเพียง 150,333 ล้านบาท ในปี 2543 เช่นเดียวกับธุรกิจด้านธนาคารประกันภัยและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ลดจาก 346,263 ล้านบาท ในปี 2539 เหลือ 157,306 ล้านบาท ในปี 2543[8] สองภาคเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่เป็นเครื่องจักรสำคัญช่วงเศรษฐกิจฟองสบู่ล้มครืนลงไป ได้ส่งผลต่อการจ้างงานคนเหล่านี้ไปด้วย
การขาดแคลนรายได้ และสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปจากช่วงเศรษฐกิจที่รุ่งเรืองนำมาสู่ ปัญหาสังคมต่าง ๆ เช่น ยาเสพติดที่ระบาดกันไปทั่วจนทำให้ปี 2546 รัฐบาลได้ประกาศสงครามยาเสพติดตลอด 3 เดือน[9] การพนันฟุตบอลที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางนอกจากข่าวที่กล่าวถึงเรื่องกลุ่มพนันบอลสนับสนุนแก๊งเยาวชนให้ก่อกวนแล้ว ภาพยนตร์เรื่อง Goal club เกมล้มโต๊ะ (2544) ก็เป็นการสะท้อนภาพของปัญหาการพนันฟุตบอลในสังคมไทยยุคนั้นได้ดี หรือ
หากจำกันได้ปี 2544 ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ได้เริ่มออกกฎหมายจัดระเบียบสังคมกำหนดเวลาปิดเปิดสถานบันเทิงอย่างเข้มงวดด้วย[10] สะท้อนถึงปัญหาทางสังคมในมุมมองของรัฐ การกินเหล้าเที่ยวกลางคืนแบบตลอดคืนโดยไม่จำกัดอายุผู้ใช้บริการจึงไม่มีอีกต่อไปแล้ว นั่นหมายถึง เยาวชนที่อายุไม่ถึง 20 ปี ก็หมดสิทธิ์เที่ยวไปด้วย ทำให้พื้นที่สาธารณะของพวกเขาหายไปดื้อ ๆ การดันให้พื้นที่พบปะของผู้คนจำนวนมากหายไป มันเป็นเพียงความพยายาม แต่ความจริง คนมันก็ไม่ได้หายไปไหน สุดท้ายคนมันก็ออกจากบ้านมาอยู่ดี
ปรากฏการณ์แก๊งวัยรุ่นไม่ได้เกิดขึ้นที่ลำปาง ข้ามดอยขุนตาลไปยังลุ่มน้ำปิง ที่เชียงใหม่ก็มีแก๊งวัยรุ่นเช่นกัน ที่ตามเก็บข่าวได้ก็คือ เคยมีคดี “ซามูไรผมแดง” ที่เชียงใหม่ที่ตกเป็นข่าวในระดับประเทศทั้งในโทรทัศน์ วิทยุและหนังสือพิมพ์ พวกเขาถูกโจมตีและเกลียดชังผ่านสื่อดังกล่าว ไม่แน่ใจนักว่าเป็นที่รู้จักกันในนาม “แก๊งซามูไร” หรือไม่ แต่พวกเขาเรียกตัวเองว่า “กลุ่มหน้าดารา” หรือ “NDR” จากข่าวอื้อฉาวครั้งนั้น ทำให้พวกเขาถูกเข้าใจผิดว่าคดีอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นเป็นฝีมือของพวกเขาทั้งหมด บางคนถูกอุ้มหาย บางคนถูกยิงเสียชีวิตหน้าบ้าน เรียกได้ว่า พวกเขาพัวพันอยู่กับความรุนแรงทั้งทางกายภาพ และการถูกเกลียดชัง
จากปากคำของพวกเขาที่เล่าว่า ได้รับความเมตตาการดูแลจากลัดดาวัลย์ ชัยนิลพันธ์ ที่สนใจปัญหาของพวกเขา ได้ชักชวนให้มาอยู่ที่สำนักงานแห่งหนึ่ง อาคารแห่งนี้ใช้เป็นพื้นที่ให้เยาวชนได้มีกิจกรรมทางกีฬา พบปะพูดคุยปรึกษากันยามมีปัญหา มีกิจกรรมกลุ่ม สิ่งเหล่านี้ได้รับสนับสนุนงบประมาณจาก ปปส.และสกว. เพื่อที่จะส่งเสริมพฤติกรรมทางบวกของพวกเขา แต่กิจกรรมบางอย่างก็ถูกเพ่งเล็งจากตำรวจเพราะเกรงจะก่อเหตุร้าย แต่แล้วในเดือนตุลาคม 2544 สำนักงานของพวกเขาก็ถูกสั่งปิดเพราะถูกกล่าวหาว่าเป็นแหล่งมั่วสุม อย่างไรก็ตาม NDR ก็เป็นกลุ่มหลวม ๆ ที่มีสมาชิกที่มาลงชื่อกว่าหนึ่งพันหกร้อยคน ทั้งที่มีสมาชิกเข้ามาทำกิจกรรมราวเดือนละ 500-600 คนเท่านั้น จึงไม่แปลกที่บางคนก่อเหตุแล้วอ้างชื่อ NDR นี่คือ ความกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของเยาวชนเหล่านี้ในยุคนั้น[11] ชื่อของ “กลุ่มเศษเดน” ที่พวกเขานิยามว่า มองตัวเองเป็นพวกเศษเดน ไม่มีใครต้องการ เป็นภาพสะท้อนได้อย่างดีถึงตัวตนของพวกเขา[12] ซึ่งกลุ่มนี้มีผู้นิยามว่าอยู่ภายใต้กลุ่ม NDR ด้วย
เรื่องเล่าของแก๊งวัยรุ่นยังมีแถบพิษณุโลกอีกด้วย ผู้ประสบการณ์ตรงท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่าช่วงปี 2544-2549 ขณะที่ยังบวชเป็นพระเคยมีแก๊งมาล้อมตอนบิณฑบาตเพราะคิดว่าคู่อริหนีมาบวชก็มี แก๊งดัง ๆ ก็มีชื่ออย่างพวก “เด็กเรซ” มิตรสหายแถบพิษณุโลกอีกท่านก็เล่าเพิ่มเติมว่า จะมีการจับกลุ่มแก๊งซิ่งกันจากอำเภอรอบนอกอย่างพรหมพิราม บางระกำ วัดโบสถ์ที่รู้จักกันผ่านเครือข่ายโรงเรียนและวิทยาลัยเทคนิคที่เข้ามาในตัวเมืองตามช่วงเวลาที่มีเทศกาลสำคัญอย่างลอยกระทง
จะเห็นว่าสิ่งหนึ่งที่มีร่วมกันของพวกเขาคือ พาหนะอย่างมอเตอร์ไซค์ที่สามารถใช้เดินทางไปไหนมาไหนอย่างรวดเร็วและเป็นอิสระ การจัดระเบียบสังคม จำกัดเวลาของสถานบันเทิงในยามราตรีอย่างรวบรัดตัดตอน ก็ยิ่งทำให้ท้องถนนกลายเป็นแหล่งบันเทิงของพวกเขา ไม่ใช่ในพื้นที่ปิดอีกต่อไป ในยุคที่ไม่มีกล้องวงจรปิด พวกเขาเอาจเป็นทั้งผู้กระทำที่หายไปอย่างไร้ร่องรอย และสามารถถูกเข้าใจผิดและเหมารวมได้อย่างง่ายดาย
เด็กวัยรุ่นที่ซิ่งไปกับมอเตอร์ไซค์ยังเคยถูกศึกษาผ่านผลงานของปนัดดา ชำนาญสุข ผู้ลงพื้นที่ศึกษามาตั้งแต่ปี 2546 ที่กลายมาเป็นหนังสือชื่อ เร่ง รัก รุนแรง โลกชายของของนักบิด[13] เมื่อปี 2551 ซึ่งได้พยายามทำความเข้าใจพวกเขาในฐานะมนุษย์ผู้ได้รับผลกระทบจากสังคมที่เปลี่ยนไป มอเตอร์ไซค์กับพวกเขามีความสัมพันธ์ต่อกันอย่างชีวิตสองชีวิต การสร้าวความเดือดร้อนเป็นกลยุทธ์การสร้างพื้นที่ทางสังคมเพื่อหลุดจากความเป็นชายขอบที่สังคมตีตราพวกเขา สิ่งเหล่านี้ถูกมองในฐานะวัฒนธรรมย่อยเพื่อเสริมอำนาจให้กับพวกเขา
เรื่องของพวกเยาวชนเหล่านี้จึงเป็นผลพวงหนึ่งของสังคมที่อยู่ในช่วงที่สังคมกำลังผิดปกติอะไรสักอย่าง หากจะให้โทษกมลสันดานของเด็กเหล่านี้ก็คงได้ไม่เต็มปากนัก มีคำอธิบายของอรรถจักร์ สัตยานุรักษ์เคยให้ไว้กับเหล่า “เด็กแซ้บ” (zapper มักเรียกกันแถวเชียงใหม่) หรือ “เด็กแว้น” ว่า คือกลุ่มเด็กที่ขยับชั้นตัวเองไม่ได้ ขึ้นไปเรียนปริญญาตรีก็ไม่ได้ ลงไปทำนาหรืออยู่ในภาคการเกษตรแบบพ่อแม่ก็ไม่ได้แล้ว ซึ่งเราไม่อาจอธิบายได้อย่างหยาบ ๆ เพียงว่า เด็กพวกนี้พ่อแม่ไม่สั่งสอน เนื่องจากพ่อแม่ไม่มีเวลา พวกนี้รับวัฒนธรรมตะวันตก คบเพื่อนเลว เอาอย่างกัน[14] เยาวชนที่หาตำแหน่งแห่งที่ให้ตัวเองไม่ได้ยังพบในเขตเมืองทั่วไปด้วย ตัวละครอย่างยาด เด็กบ้านในภาพยนตร์ 4Kings II (2566) ก็เป็นตัวแทนได้อย่างดี
ปัญหาเด็กเลว วัยรุ่นอันธพาล และอาชญากรฟันน้ำนม ได้กลับมาเป็นที่จับตามองของสังคมอีกครั้งในคดีฆาตกรรมป้ากบ เช่นเดียวกับทุกครั้งที่สังคมไม่เคยปราณีกับพวกเขา ทั้งยังมองอย่างเหมารวม โคว้ทคำพูดของซีรี่ย์เกาหลีอย่าง Juvenile Justice (2022) ที่เน้นเฉพาะการมองเด็กและเยาวชนในแง่ร้ายกลับมาอีกครั้ง พร้อมกับข้อเสนอการแก้ไขกฎหมายให้ลดอายุเยาวชนให้ได้รับโทษเท่ากับผู้ใหญ่ ทั้งที่ในช่วงรัฐธรรมนูญ 2540 สังคมไทยเริ่มเปิดกว้างและมีกฎหมายที่ก้าวหน้าที่พยายามเข้าใจเยาวชนมากขึ้น เช่น พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ที่ครบรอบ 20 ปีไปเมื่อปีที่แล้ว
ประเด็นของเด็กและเยาวชนในอนาคตจะเป็นอย่างไร ในยุคที่ประชากรลดลงเรื่อย ๆ คนเลือกที่จะมีลูกน้อยลงทุกที อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนเช่นนี้.
อ้างอิง
[1] บทความนี้ได้รับความช่วยเหลือจากมิตรสหายหลายท่าน ไม่ว่าจะเป็นคุณวริษฐา ภักดีที่ค้นหนังสือพิมพ์เก่ามาแบ่งปัน มิตรสหายใน Facebook ที่ช่วยแชร์ประสบการณ์ตรงทั้งหลาย ต้องขอขอบคุณมา ณ ที่นี้
[2] สมาชิกหมายเลข 1791088 (นามแฝง). “ใครยังจำเหตุการณ์แก๊งค์วัยรุ่นอาละวาดฆ่าคนในเมืองลำปาง ช่วงปี 2545-2546 ได้บ้างครับ”. พันทิป. สืบค้นเมื่อ 23 มกราคม 2567 จาก https://pantip.com/topic/34409796 (6 พฤศจิกายน 2558)
[3] VARIETY VDO. “อู๋ ธรรพ์ณธร – เทวดา – เพลงประกอบละคร เทวดาเดินดิน 2544”. สืบค้นเมื่อ 23 มกราคม 2567 จาก https://www.youtube.com/watch?v=MvaJ4mcWbpU (11 สิงหาคม 2565)
[4] Chalong Soontravanich, “Small Arms, Romance, and Crime and Violence in Post WW II Thai Society”, Southeast Asian Studies, 43: 1, June 2005
[5] สิทธิเดช จันทรศิริ และคณะ. กรุข่าวดังในรอบ 20 ปี (กรุงเทพฯ : การเวก, 2521), หน้า 86-89
[6] เชียงใหม่นิวส์. “แก๊ง…ในเชียงใหม่ จากอดีตถึงปัจจุบัน”. สืบค้นเมื่อ 24 มกราคม 2567 จาก https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/1133182 (1 ตุลาคม 2562)
[7] ทักษ์ เฉลิมเตียรณ พ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ (พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2548), หน้า 229-230 และวัชนี คำน้ำปาด, เด็ก กับ ความคาดหวังของรัฐบาล วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2547
[8] กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, สถิติแรงงาน 2544 (กรุงเทพฯ : กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม, 2545), ตารางที 1.2
[9] BBC NEWS ไทย. “ทศวรรษ “สงครามยาเสพติด” จากทักษิณ ถึงดูแตร์เต”. สืบค้นเมื่อ 24 มกราคม 2567 จาก https://www.bbc.com/thai/thailand-39335964 (21 มีนาคม 2560)
[10] อิทธพร คณะเจริญ, งานค้นคว้าอิสระ กรณีศึกษา : ศาสตราจารย์ ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ เอกสารหลักสูตรผู้นำการเมือยุคใหม่ รุ่นที่ 2 สถาบันพระปกเกล้า, 2548, หน้า 14-16
[11] ประชาไท. “ปากคำแก๊งหน้าดารา : อันธพาลกวนเมือง หรือ?”. สืบค้นเมื่อ 24 มกราคม 2567 จาก https://prachatai.com/journal/2005/02/2575 (3 กุมภาพันธ์ 2548)
[12] ประชาไท. “รายงานพิเศษ-ค้นตัวตน :ชีวิตเด็กแก๊งเชียงใหม่”. สืบค้นเมื่อ 24 มกราคม 2567 จาก https://prachatai.com/journal/2005/02/2574 (3 กุมภาพันธ์ 2548)
[13] ปนัดดา ชำนาญสุข, เร่ง รัก รุนแรง โลกชายของของนักบิด (กรุงเทพฯ : ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) และมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.), 2551)
[14] The Active. “คนจนเมืองที่เปลี่ยนไป ในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง | อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์”. สืบค้นเมื่อ 24 มกราคม 2567 จาก https://theactive.net/read/poverty-series-attachak-interview/ (19 เมษายน 2564) และ ประชาไท. “เขียนถึงสังคม: อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์”. สืบค้นเมื่อ 24 มกราคม 2567 จาก https://prachatai.com/journal/2015/11/62529 (19 พฤศจิกายน 2558)