ศูนย์ราชการแพร่ 540 ล้าน บริษัทผู้รับเหมาจีนล่าช้า โยงชื่อเดียวกับตึก สตง.ถล่ม

เรื่อง: กองบรรณาธิการ

เหตุการณ์ อาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) พังถล่มจากแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ไม่เพียงสะท้อนปัญหาความเปราะบางของโครงสร้าง หากยังปลุกกระแสความกังวลต่อมาตรฐานความปลอดภัยในโครงการก่อสร้างของรัฐอีกหลายแห่ง 

ภาพ: สวท.แพร่

หนึ่งในโครงการที่ถูกตั้งคำถามอย่างหนัก คือ โครงการก่อสร้างศูนย์ราชการจังหวัดแพร่ มูลค่า 540 ล้านบาท ที่ดำเนินการโดย กิจการร่วมค้า AKC ซึ่งมี บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ถือหุ้นหลัก และมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ 493 ซอยพุทธบูชา แยก 11 เขตทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร ที่ตั้งเดียวกันกับกิจการที่รับเหมาโครงการ สตง.

โครงการใหญ่ ความคืบหน้าเล็ก

โครงการศูนย์ราชการจังหวัดแพร่ ตั้งอยู่ที่ ตำบลน้ำชำ อำเภอเมืองแพร่ บนพื้นที่กว่า 86 ไร่ ประกอบด้วยอาคารหลัก 4 หลัง ได้แก่ 1.อาคารศูนย์ราชการ 4 ชั้น 2.อาคารหอประชุมความจุ 1,000 คน 3.อาคารโรงอาหาร และ 4.อาคารสโมสรและร้านค้า 

เริ่มสัญญาก่อสร้างเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564 กำหนดแล้วเสร็จภายในวันที่ 15 มีนาคม 2567 รวมระยะเวลาก่อสร้าง 1,080 วัน แต่มีการขอขยายสัญญาออกไปจนถึง 14 มิถุนายน 2568 เพิ่มระยะเวลาก่อสร้างเป็น 1,537 วัน 

งบประมาณที่ได้รับการจัดสรรรวม 657 ล้านบาท ราคากลาง 643 ล้านบาท แต่กิจการร่วมค้า AKC ชนะประมูลในราคาเพียง 540 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลางถึง 143 ล้านบาท

ข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2568 ระบุว่า โครงการดำเนินงานมาแล้ว 1,378 วัน แต่มีความคืบหน้าเพียง 20% ล่าช้ากว่าแผนถึง 60% ขณะนี้อยู่ในช่วง “ค่าปรับร้อยละ 0” และหากไม่สามารถส่งมอบงานได้ตามกำหนด บริษัทจะต้องถูกปรับเป็นเงิน วันละ 539,955 บาท

เปิดโครงสร้างทุน – บริษัทจีนถือหุ้นใหญ่

กิจการร่วมค้า AKC มี บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ถือหุ้นหลัก เป็นบริษัทย่อยของ China Railway No.10 Engineering Group Co., Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ China Railway Group Limited (CRG)
CRG เป็นรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ของจีน ภายใต้การกำกับของรัฐบาลกลางจีน (SASAC) 

ข้อมูลจาก กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2561 ทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท มีผู้ถือหุ้นไทย 3 ราย ถือรวมกัน 51 ล้านบาท และผู้ถือหุ้นสัญชาติจีน 1 ราย คือ ชวนหลิง จาง ถือ 49 ล้านบาท และมีผลงานรับเหมาก่อสร้างหลายโครงการ เช่น โครงการก่อสร้างอาคาร สตง. โครงการศูนย์ราชการจังหวัดแพร่ และโครงการฝังสายไฟฟ้าใต้ดินในกรุงเทพฯ 

จังหวัดเร่ง หวังโครงการเสร็จตามแผน หลังส่อถูกปรับวันละ 5 แสน

เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2568 สมชัย เลิศประสิทธิพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เป็นประธานการประชุมติดตามความคืบหน้าโครงการดังกล่าว ที่ประชุมได้รับรายงานว่า หากบริษัทผู้รับจ้างยังดำเนินงานไม่แล้วเสร็จตามแผน บริษัทฯ จะต้องถูกปรับวันละกว่า 5 แสนบาท 

ภาพ: สวท.แพร่

สมชัยระบุว่า จังหวัดไม่ได้เพิกเฉยต่อปัญหา มีการติดตามและเร่งรัดมาอย่างต่อเนื่อง แต่ความล่าช้าเกิดจากการปรับแก้แบบก่อสร้าง การสื่อสารกับบริษัทผู้รับจ้าง และปัญหาการเปลี่ยนแปลงแผนงาน หากยกเลิกสัญญาในขณะนี้ จะต้องเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องทางกฎหมาย ซึ่งอาจใช้เวลานานนับ 10 ปี จังหวัดแพร่จึงเลือกแนวทาง เจรจาเร่งรัด โดยมอบหมายให้ ชัยสิทธิ์ ชัยสัมฤทธิผล รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เรียกบริษัทผู้รับจ้างเข้าหารือ พร้อมขอให้เพิ่มกำลังคนและเร่งดำเนินงานให้เป็นไปตามสัญญา

ภาพ: สวท.แพร่

ภายหลังเหตุการณ์ตึก สตง. ถล่ม เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2568 สิทธิภัทร ปาละนันทน์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดแพร่ ออกมายืนยันว่า วัสดุที่ใช้ก่อสร้างโครงการศูนย์ราชการแพร่ เช่น คอนกรีตและเหล็กเสริม ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานแล้ว และสั่งตรวจสอบความปลอดภัยของ ทาวเวอร์เครน 2 ตัว ในพื้นที่ก่อสร้าง

ความกังวลหลังแผ่นดินไหวยังไม่คลาย

ภายหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 สิทธิภัทร ปาละนันทน์สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดแพร่ ได้มีการจัดทีมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบความปลอดภัยของอาคารในพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบ ตามข้อสั่งการของกรมโยธาธิการและผังเมือง โดยมีวัตถุประสงค์ในการ ป้องกันความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นจากการวิบัติของอาคารที่ได้รับความเสียหาย โดยทีมเจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบอาคารและโบราณสถานสำคัญทั้งหมด 8 แห่ง ได้แก่

1.โรงพยาบาลแพร่ อาคารผู้ป่วยนอก 8 ชั้น
2.ศาลากลางจังหวัดแพร่ อาคาร 2 ชั้น และ 5 ชั้น
3.โรงเรียนแพร่ปัญญานุกูล อาคารเรียน 4 และหอนอน 7 ดารารัตน์
4.วัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร ตรวจสอบพระพุทธมิ่งขวัญเมือง และอาคารวิหารหลวง
5.วัดเมธังกราวาส ตรวจสอบโครงสร้างโบสถ์
6.โรงเรียนพิริยาลัยจังหวัดแพร่ อาคาร 2, 4, 5, 7 และ 9
7.วิทยาลัยอาชีวศึกษาแพร่ อาคารเรียนและอาคารประกอบ
8.วัดพระธาตุช่อแฮ ตรวจสอบพระอุโบสถและองค์พระธาตุ

นอกจากนี้เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2568 สิทธิภัทร แถลงยืนยันว่า วัสดุที่ใช้ในโครงการศูนย์ราชการแพร่ เช่น คอนกรีตและเหล็กเสริม ผ่านการตรวจสอบตามมาตรฐาน พร้อมสั่งให้ตรวจสอบความปลอดภัยของ ทาวเวอร์เครน 2 ตัว ที่ใช้ในพื้นที่ก่อสร้าง

ภาพ: สวท.แพร่

อย่างไรก็ตาม กระแสความกังวลจากประชาชนยังคงมีต่อเนื่อง หลายฝ่ายตั้งคำถามว่า เหตุใดโครงการรัฐสำคัญเช่นนี้จึงมอบหมายให้กับบริษัทที่มีประวัติเกี่ยวข้องกับเหตุอาคารถล่ม ขณะเดียวกันยังมีข้อสังเกตถึงระบบจัดซื้อจัดจ้างของรัฐที่เปิดช่องให้บริษัทเสนอราคาต่ำผิดปกติ โดยไม่ตรวจสอบความเสี่ยงเชิงโครงสร้างและประสิทธิภาพในการบริหารโครงการ

กรณีโครงการศูนย์ราชการจังหวัดแพร่ สะท้อนปัญหาที่ไม่ได้จำกัดแค่ “ความล่าช้า” แต่โยงไปถึง ความปลอดภัยและความโปร่งใสของโครงการก่อสร้างภาครัฐ ภายใต้งบประมาณมหาศาลจากภาษีประชาชน หลายฝ่ายเรียกร้องให้มีการ เปิดเผยสัญญาและเอกสารรายละเอียดโครงการ และทบทวนกระบวนการคัดเลือกผู้รับเหมาอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับโครงการสำคัญในอนาคต

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

slot deposit pulsa slot mahjong