ประชาธิปไตยในที่ทำงาน: คุยกับ เพจ “พูด” ออฟฟิศที่ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน

เรื่อง: พงศกร ปัญจคุณาภรณ์/ Prachatai

หมายเหตุ : รายงานชิ้นนี้อยู่ภายใต้โครงการ Journalism that Builds Bridges เผยแพร่ครั้งแรกทางเว็บไซต์ journalismbridges.com เมื่อวันที่ 20 ก.พ.2566 และประชาไทดำเนินการประแก้ข้อมูลบางส่วนเมื่อเวลา 13.57 น วันที่ 9 มี.ค.2566

สัมภาษณ์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งเพจ ‘พูด’ ว่าด้วยอนาคนของพูด กับแนวคิด ‘ประชาธิปไตยในที่ทำงาน’ ที่เขาชี้ประเด็นสำคัญคือสิทธิ์ในการออกแบบค่าตอบแทนของคนในทีม ปัญหาอำนาจ ที่ขัดขวาง ศักยภาพ ประสิทธิภาพ ความรู้ รวมทั้งการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ อนาคตของพูด

จุดเริ่มต้นมาจากคำถามง่ายๆ

“ถ้าเราได้ประชาธิปไตยในทางการเมือง แต่ต้องกลับไปทำงานในบริษัทที่เป็นเผด็จการมันจะมีประโยชน์อะไร”

เป็นคำถามที่สะกิดใจ ฉัตรชัย พุ่มพวง หรือแชมป์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งเพจพูด ให้มาสนใจและผลักดันประเด็นประชาธิปไตยในที่ทำงาน

ผู้ก่อตั้งเพจพูดเล่าในตอนแรกถ้าพูดเรื่องประชาธิปไตยในที่ทำงาน หรือประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจก็จะโดนทัวร์ลงเยอะมาก เช่น เวลามีประเด็นไรเดอร์ประท้วง คนงานสไตรค์ ต่างๆ ก็จะเห็นคอมเม้นต์ทำนองว่า ก็ลาออกสิ ก็ไปเปิดบริษัทเองสิ เยอะมาก แต่ในปัจจุบันมีความรู้สึกว่าจำนวนมันเริ่มลดลง เริ่มมีคนโต้แย้งชุดความคิดพวกนั้นกลับไปมากขึ้น เช่นความเห็นอย่าง

ฉัตรชัย พุ่มพวง หรือแชมป์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งเพจ ‘พูด’

“ตอนที่ขึ้นราคาสินค้าพวกคุณถามพวกเราปะ ทำไมขึ้นค่าแรงพวกเราต้องถามคุณ  เราจะอยู่ไม่ได้แล้ว”

“ผู้ประกอบการที่มันอยู่ได้ด้วยการกดขี่คนอื่น ให้เขามีชีวิตแบบไม่ใช่ผู้ไม่ใช่คน คุณต้องถามตัวเองว่ากิจการคุณควรอยู่หรือเปล่า”

“คุณไม่ได้ประสบความสำเร็จ คุณประสบความสำเร็จเพราะคุณกดขี่คนอื่น”

ก่อนหน้านี้คำว่าประชาธิปไตยในความรับรู้ของสังคมไทยในวงกว้างดูจะมีความหมายเฉพาะแค่เป็นระบอบการปกครองที่มีการเลือกตั้งทุกๆ 4 ปี เลือก ส.ส. เข้าไปเป็นตัวแทนออกกฎหมายและเลือกนายกรัฐมนตรีเท่านั้น แต่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาก็มีคนพยายามจะพูดและนำเสนอถึงไอเดียเกี่ยวกับประชาธิปไตยที่มีความหมายกว้างไปกว่านั้นก็คือ “ประชาธิปไตยในที่ทำงาน” อยู่ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือเพจพูดที่ออกตัวอย่างชัดเจนว่าสนับสนุนประชาธิปไตย และให้ความสำคัญในเรื่องการต่อสู้ของขบวนการแรงงานเป็นอย่างมาก โดยพวกเขาได้นำเสนอประเด็นนี้มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ก่อตั้งเพจจนถึงปัจจุบัน เราจะคุยกับ ฉัตรชัย หนึ่งในผู้ก่อตั้งเพจพูดถึงที่มาที่ไปว่าทำไมถึงนำเสนอเรื่อง “ประชาธิปไตยในที่ทำงาน”

แชมป์เริ่มต้นว่ารู้จักคำนี้จากการที่ ภาณุ นาครทรรพ หรือภาณุ (หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งเพจพูด) เอาไอเดียเรื่องนี้มาขาย หลังจากเริ่มต้นทำเพจพูดมาก่อนหน้านั้นระยะหนึ่ง โดยเป็นไอเดียจากการต่อสู้ในสเปนในช่วง ค.ศ. 1936 ถึง 1939 แล้วก็จาก Richard wolff ที่พูดเรื่อง democracy at workplace ว่าทำไมเราไม่เอาประชาธิปไตยไปใช้ในที่ทำงาน ทั้งๆที่เป็นสถานที่ที่เราใช้ชีวิตอยู่ 70-80 เปอร์เซ็นต์เลยด้วยซ้ำ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ตนเคยทำงานประจำในบริษัททั่วไปมาก่อน 3 แห่ง ที่มีลักษณะโครงสร้างบริษัท Top Down การสั่งงานแบบบนลงล่าง ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาและข้อขัดแย้งต่างๆ ในการทำงาน ทำให้เริ่มคิดในประเด็นประชาธิปไตยในที่ทำงานมากขึ้น จากแต่เดิมที่ตัวแชมป์เองก็มีความคิดทางการเมืองไปในแนวทางสนับสนุนประชาธิปไตยอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการต่อต้านโซตัสในมหาวิทยาลัย หรือการชุมนุมทางการเมืองของคนเสื้อแดง แต่ในทางเศรษฐกิจหรือการทำงานไม่ได้สนใจมากนัก เพียงแค่คิดว่าเรียนจบมาก็ต้องหางานทำเลี้ยงชีพเหมือนคนทั่วๆ ไปเท่านั้น

แล้วพอภาณุเอาไอเดียเรื่องนี้มาขาย แชมป์ก็เลยตัดสินใจลองทำดู และจากประสบการณ์การทำงานประจำ 3 ที่ก่อนหน้านี้ก็ทำให้ตนเองรู้ว่าถ้ามียอดไลก์หรือติดตามมากพอคุณสามารถขายวีดิโอได้ตัวละเป็นแสน ซึ่งต้นมองเห็นลู่ทางตรงนี้อยู่ โดยในช่วงแรกก็วางแผนกันว่าจะขอทุนจากภาครัฐเพื่อให้เพจสามารถอยู่ได้ภายในระยะ1 ปีถึง 2 ปีที่จะทำให้เพจมันโตจนอยู่ตัว

เริ่มต้นทำเพจพร้อมตกผลึกเรื่องเผด็จการในที่ทำงาน

ช่วงเริ่มต้นหลังจากแชมป์ต่อสู้ให้ได้เงินชดเชยจากบริษัทข้ามชาติในช่วงโควิดเนื่องจากโดนเลิกจ้างกระทันหัน ก็ประจวบเหมาะกับตอนที่ทุกคนมาฟอร์มทีมเริ่มทำเพจพูดพอดี ซึ่งก็เป็นช่วงเดียวกับที่ตกผลึกกับประเด็นประชาธิปไตยในที่ทำงานที่ภาณุเอามาขายไว้ได้มากยิ่งขึ้น เพราะได้รับผลกระทบจากความเป็นเผด็จการในที่ทำงานโดยตรง

โดยเขาแบ่งเป็น 3 ประเด็นเรื่องเผด็จการในที่ทำงาน

1. สิทธิ์ในการออกแบบค่าตอบแทนของคนในทีม “การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจว่าคนที่ทำงานจะมีรายได้เท่าไหร่” “มึงบังคับให้กูทำงาน แล้วมึงไม่จ่ายโอทีกูด้วยซ้ำ เราไม่มีสิทธิ์สู้เลยในนั้น”

ในการทำงานที่แรกแชมป์ได้เงินเดือน 20,000 ต่อการตัดต่อวีดีโอ 2 ตัวบ้าง 3 ตัวบ้างต่อเดือน แต่มูลค่าของผลงานเหล่านั้นถูกเอาไปขายในราคาเป็นแสน ก็เลยเกิดคำถามว่าทำไมคนทำงานที่ทำกลับได้รับค่าตอบแทนเพียงแค่นี้ ไม่สามารถกำหนดอะไรได้เลยทั้งๆ ที่เป็นคนทำ ทำไมมีเพียงคนส่วนน้อยเท่านั้นที่สามารถกำหนดได้ ซึ่งก็ไม่ได้ต่างอะไรกับการเมืองที่เป็นเผด็จการเลยที่คนส่วนน้อยมีอำนาจกำหนดสิ่งต่างๆแทนคนส่วนใหญ่

2. อำนาจ vs ศักยภาพ ประสิทธิภาพ ความรู้ “คือพอความรู้มันไม่มีความหมาย อำนาจมันมีความหมายอย่างเดียวในที่ทำงาน บางทีมันขัดขวางการทำงานให้ดีด้วยซ้ำ อันนี้คือที่เราค้นพบนะ แล้วมันจริงทุกอย่างมาพิสูจน์ ในพูดหมดเลย”

แชมป์ยกตัวอย่างการยิงแอดใน Facebook ในการทำงานว่าตัวเองมีความรู้ในด้านนี้ รู้ว่าควรทำยังไงแบบไหน แต่พอไปบอกหัวหน้าว่าควรจะทำแบบนี้ดีกว่าจะมีประสิทธิภาพกว่า หัวหน้าก็ปัดตกไม่ฟังเลยจนสรุปสุดท้ายออกมาก็คือทำตามที่หัวหน้าบอกแล้วไม่มีประสิทธิภาพ งานออกมาเละ ซึ่งทำให้ตนตระหนักว่าในโครงสร้างบริษัทที่เป็นเผด็จการ ความรู้ต่างๆ เมื่อมาเจออำนาจแล้วก็ทำอะไรไม่ได้เลย ซึ่งส่งผลโดยตรงกับประสิทธิภาพในการทำงาน

3. การโดนเลิกจ้าง “เราไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเลย ทั้งๆที่มันส่งผลกระทบต่อชีวิตอย่างมหันต์ การถูกเลิกจ้าง ทำไมคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดถึงไม่มีส่วนร่วมตัดสินใจ”

ในช่วงโควิดบริษัทที่เขาทำงานก็มีการปรับโครงสร้างองค์กรแล้วก็มีการเลิกจ้างเกิดขึ้น ซึ่งในจุดนี้ทำให้คิดว่าทำไมคนที่ได้รับผลกระทบเยอะที่สุดก็คือตัวผู้ถูกเลิกจ้างเอง กลับไม่มีสิทธิ์ในการตัดสินใจอะไรเลยในเรื่องนี้

ใช้โมเดลสหกรณ์ (Worker Cooperative) เป็นรูปธรรมของประชาธิปไตยในที่ทำงาน

เพจพูดใช้การบริหารองค์กรแบบสหกรณ์หรือ Worker Cooperative ที่คนทำงานทุกคนเป็นเจ้าของบริษัทด้วยตัวเองมีสิทธิ์อำนาจตัดสินใจเท่ากัน เงินเดือนเท่ากัน (แต่ไม่จำเป็นว่าทุกองค์กรที่ใช้โมเดลนี้จะต้องให้เงินเดือนพนักงานเท่ากัน) ซึ่งมันก็สะท้อนกับเรื่องประชาธิปไตยในที่ทำงานที่ทุกคนยึดถืออยู่แล้ว ซึ่งคุณแชมป์ก็บอกว่าที่เลือกใช้โมเดลนี้ไม่ใช่เพราะว่ามองว่ามันเป็นแค่โมเดลธุรกิจแบบหนึ่งโดยตัดขาดจากบริบททางการเมืองเลย แต่เลือกใช้เพราะยึดถือเรื่องประชาธิปไตยในที่ทำงานอยู่ก่อนแล้ว

“คีย์สำคัญคือสิทธิ์ในการมีส่วนร่วม ในการตัดสินใจทุกเรื่อง พื้นฐานของสิทธิ์คืออำนาจที่เท่ากัน  คือเราเป็นทั้งคนทำงาน เป็นทั้งหุ้นส่วน และเป็นเจ้าของในคนเดียวกัน ทั้ง 5 คน”

แตกต่างจากโมเดลบริษัทแบบปกติที่มีลักษณะ Top Down ลงมา พนักงานไม่สามารถมีส่วนร่วมในการตัดสินใจอะไรได้เลยไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรับลูกค้า หรือลักษณะการทำงานต่างๆ

“เราไม่มีสิทธิ์มองอนาคตหรือออกแบบอะไรร่วมกันเลย”

ภาพจากเว็บไซต์สถาบัน Democracy at work

สถาบัน Democracy at work ให้นิยามความหมายของ “worker cooperative” ไว้ว่าเป็นธุรกิจที่ขับเคลื่อนโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของคนทำงานและชุมชนเป็นวัตถุประสงค์ มีลักษณะสำคัญก็คือ คนทำงานเป็นเจ้าของธุรกิจร่วมกันและมีส่วนร่วมในความสำเร็จทางการเงินของบริษัท และมีการเลือกตั้งบอร์ดบริหารเป็นของตัวเองทั้งหมด

แชมป์อธิบายรูปธรรมของการบริหารองค์กรแบบสหกรณ์ก็คือการตัดสินใจโหวตไม่เอาโบนัสในปีนี้เพื่อเอาส่วนนี้ไปเป็นเงินเดือน 3 เดือนแรกของปีหน้าแทน โดยทุกคนในบริษัทมีหนึ่งเสียงในการตัดสินใจเท่ากันหมด รวมทั้งเรื่องการรับลูกค้าด้วยที่ทุกคนจะมาคุยกันแล้วหาความเหมาะสมในเรื่องนี้ให้เข้ากับสไตล์ของบริษัท คือถ้าเป็นโมเดลบริษัททั่วไปควรตัดสินใจในเรื่องพวกนี้ก็คือคนที่อยู่ข้างบนทั้งหมดพนักงานไม่มีส่วนตัดสินใจเลย

หรืออย่างเรื่องเงินเดือน แชมป์เปรียบเทียบว่าตนเองและคนอื่นในทีมมีรายได้เยอะขึ้น คนทำแอนิเมชันในบริษัทเราเป็นเจ้าของบริษัทด้วย ซึ่งถ้าหากไปทำกับบริษัทอื่นคุณก็ได้เงินเดือน 18,000 หรือ 20,000 บาทในปริมาณการทำงานที่ไม่ห่างกันมาก ทุกคนมีสิทธิ์และอำนาจในการกำหนดและตัดสินใจเรื่องนี้ได้ หรือถ้าเปรียบเทียบกับที่อื่น เขาอาจจะให้เงินเดือนคุณได้มากกว่า แต่ความแฟร์ในการจัดสรรผลประโยชน์ร่วมกัน คนที่มีอำนาจตัดสินใจก็คือคนข้างบนอยู่ดี แล้วก็จะเป็นเขาที่ได้ส่วนแบ่งไปเยอะที่สุด

“อันนี้คือความต่าง ก็คือกำไรหรือมูลค่าที่มันเกิดขึ้นจากทีม มันไม่ถูกกระจุกตัวอยู่ที่คน 1% แต่คนส่วนใหญ่ในทีมนั้นได้ มากกว่าที่มันเป็นในธรรมชาติของตลาดปกติ อันนี้คือความต่างที่มีนัยยะสำคัญมากๆ เลยเพราะเราได้เท่ากัน”

แชมป์ยังเล่าต่อไปว่าเคยลองคิดคำนวณเล่นๆ ว่าถ้าสมมุติเพจพูดเป็นบริษัทแบบทั่วไปแล้วมี 1 คนเป็นเจ้าของ ต่อให้ทุกคนได้เงินเดือน 50,000 เลย แต่อีกคนก็จะได้แสนกว่า หรือถ้าทุกคนเงินเดือน 20,000  คนคนนั้นก็จะได้ไป 4-5 แสนเลย คือมูลค่าที่เกิดขึ้นทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นเท่าไหร่ถ้าเป็นโมเดลปกติมันจะไปกระจุกอยู่ที่คนคนเดียวหรือคนกลุ่มเดียว แต่ที่เพจพูดเราจัดสรรผลประโยชน์ร่วมกันอย่างยุติธรรม ซึ่งประชาธิปไตยในที่ทำงานมันไม่จำเป็นว่าทุกคนจะต้องได้เท่ากัน แต่จะไม่มีใครคนใดคนหนึ่งได้มากเป็นกอบเป็นกำกว่าคนส่วนใหญ่หลายเท่าตัวอย่างที่เป็นอยู่ตอนนี้ 

งานวิจัยจากสถาบัน Democracy at work ที่ศึกษา 83 บริษัท ที่บริหารงานด้วยโมเดลนี้ ระบุว่าค่าแรงเฉลี่ยของธุรกิจประเภทของ Co-op ในสหรัฐอเมริกาเริ่มต้นที่ 19.67 เหรียญต่อชั่วโมงซึ่งมากกว่าค่าแรงขั้นต่ำ ในหลายรัฐ 7 ดอลลาร์ และความต่างของค่าแรงที่สูงที่สุดกับต่ำที่สุดในบริษัทอยู่ที่ 2 ต่อ 1 เท่านั้นซึ่งต่างจากค่าเฉลี่ยของบริษัททั่วไปที่ความต่างขอเงินเดือน CEO กับลูกจ้างอยู่ที่ 300 ต่อ 1

นอกจากเรื่องเงินเดือนแล้วอีกเรื่องที่แสดงให้เห็นถึงประชาธิปไตยในที่ทำงานก็คือในทุกกระบวนการหรือขั้นตอนการทำงาน ไม่ว่าจะการเขียนบท พากย์เสียง วีดิโอหรือภาพหน้าปกหรือหัวข้อที่จะทำคอนเทนต์ทุกคนจะเข้ามามีส่วนร่วมและก็มีอำนาจตัดสินใจเท่ากัน ไม่มีใครมีอำนาจเยอะกว่าใคร คือจะใช้วิธีคุยกัน อภิปรายโน้มน้าวกันก่อนเหมือนในสภาเลย แล้วถ้ายังหาทางออกไม่ได้ก็ใช้วิธีการโหวตตัดสินสุดท้าย โดยแชมป์บอกว่าเรื่องที่เถียงกันบ่อยจนหาข้อสรุปไม่ได้แล้วต้องโหวตก็คือชื่อคลิปกับภาพหน้าปกวีดิโอ

ซึ่งตนคิดว่าด้วยโครงสร้างองค์กรที่ทุกคนเท่ากันทำให้ในการทำงานต่างๆ ทำให้สามารถปลดปล่อยศักยภาพของตัวเองได้เต็มที่ไม่ต้องกังวลว่าคนข้างบนเขาจะไม่โอเคหรือเขาจะไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เราทำเพราะทุกคนมีสิทธิ์และอำนาจเท่าเทียมกัน ซึ่งก็ส่งผลถึงประสิทธิภาพในการทำงานด้วย

“ถ้าเราเป็นบริษัทปกติ เราก็คงจะผลิตให้ได้มากที่สุด โดยไม่แคร์เรื่องอื่น ทำยังไงก็ได้ให้มีลูกค้าเยอะที่สุด คัดกรองน้อยที่สุด กำไรมากที่สุด ผลิตให้ได้เยอะที่สุด”

ซึ่งจุดนี้เป็นอีกเรื่องที่ต่างกันก็คือถ้าบริษัททั่วไปแนวคิดหลักก็คือทำยังไงก็ได้ให้กำไรเยอะที่สุด ลูกค้าเยอะที่สุด เช่น ถ้าวีดิโอตัวนึงมีราคา 100,000 บาท บริษัททั่วไปก็จะมุ่งเน้นให้สามารถผลิตวีดิโอให้ได้เยอะที่สุดเพื่อทำกำไร อาจจะต้องการ 8 หรือ 10 วิดีโอ(พูดทำ 4 วีดิโอต่อเดือน) โดยแชมป์บอกว่าเคยไปขอคำปรึกษาจากเจ้าของเพจเพจหนึ่งที่มีแนวคิดแบบนี้ เขาก็ให้คำแนะนำมาว่าให้เพิ่มจำนวนคอนเทนต์มากขึ้นอีก แต่สุดท้ายเพจพูดก็ไม่ได้ทำตาม

“อันนี้คือจุดที่เรียกว่าเป็นจุดได้เปรียบ ว่ามันทำให้เราไม่เป็นแบบนั้น เพราะว่าเราเห็นแล้วว่าเรามี capacity ที่จะทำให้งานมันมีคุณภาพในแบบที่เราพอใจกันในทีม มันคือ 4 วีดิโอต่อเดือน”

ก็เลยทำให้เพจพูดเป็นเพจที่ไม่ได้มีคอนเทนต์เยอะ  โดยทั่วไปตกอาทิตย์ละ 1 คลิปวีดิโอเท่านั้น ซึ่งทางเพจก็เคยเทียบยอดการเข้าถึงของคอนเทนต์ว่าเพียงแค่ 1คอนเทนต์ของพูดก็มียอดเท่ากับเพจอื่นๆ 4-5 คอนเทนต์รวมกันซึ่งตนคิดว่านี่คือผลลัพธ์ของแนวคิดที่ต่างกันเพราะไม่ได้มุ่งเอาแต่กำไรจึงทำให้ตัวงานออกมามีคุณภาพมีความพิเศษ

ส่วนถ้าพูดถึงบรรยากาศของประชาธิปไตยในที่ทำงานของเพจพูดเอง แชมป์บอกว่าตัวเขากับภาณุก็อินเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่ก็พยายามเรียนรู้ไปด้วยกันกับทุกๆ คนในบริษัทเรื่อยๆ ผ่านการทำงาน เพราะทุกคนก็ไม่ได้มีประสบการณ์ในการทำองค์กรในโมเดลแบบนี้มาก่อน ซึ่งด้วยบรรยากาศแบบนี้ก็ทำให้แต่ละคนได้ทดลองทำอะไรใหม่ๆทำให้สามารถเรียนรู้และหาวิธีที่จะทำให้งานออกมาดีที่สุดในแต่ละหน้าที่ได้ไม่ว่าจะเป็นการยิงแอด ตัดต่อ หรือเขียนบท ทุกคนก็ได้ลองทำอะไรใหม่ๆ

ในตอนเริ่มต้นเพจพูดปล่อยคลิปแรกเกี่ยวกับศิลปะของโมเนต์ก็มียอดวิวสูงถึง 7-8 หมื่นวิว เลยพูดคุยกันในทีมว่าจะลองทำกันสักปีหนึ่งไหมเพราะว่าถ้ายอดไลก์มันมากพอมากพอคลิปหนึ่งก็ทำรายได้ได้เป็นแสนเลย แม้สุดท้ายทุนที่ขอไปจะไม่ได้ แต่ตัวเพจก็ได้รับผลตอบรับที่ดีประมาณหนึ่งเลย

ก่อนที่ต่อมาทางเพจจะเชื่อมโยงประเด็นประชาธิปไตยในที่ทำงานกับเนื้อหาที่แสดงออกผ่านเพจพูดเป็นครั้งแรกคือในคลิปที่ มีชื่อว่า สังคมที่ไม่จำเป็นต้องใช้เงินในสเปน ที่พูดถึงเรื่องประชาธิปไตยในที่ทำงานและการต่อสู้ของขบวนการแรงงานในสเปนแบบตรงไปตรงมา ซึ่งแชมป์บอกว่าอาจจะนับจุดนี้เป็นหมุดหมายของเพจเลยก็ว่าได้ ซึ่งก่อนที่จะมาถึงตอนปล่อยคลิปนี้ในทีมก็มีการพูดคุยถกเถียงเรื่องหลักการประชาธิปไตยในที่ทำงานและเนื้อหามาโดยตลอดอยู่แล้ว แค่มาแสดงออกผ่านเนื้อหาเป็นครั้งแรก

อนาคตของพูด

สำหรับก้าวต่อไปของเพจพูดแชมป์พูดถึงว่า ในมิติของตัวองค์กรเอง จะพยายามบริหารจัดการให้ธุรกิจมันไปรอดแล้วยังได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าแบบนี้อยู่ หรืออาจจะถึงขนาดที่ว่าทุกคนสามารถเกษียณได้เลย เพราะคิดว่าตอนนี้ทุกคนก็คงจะกลัวที่จะกลับไปทำงานในบริษัทแบบเดิมที่มีความเผด็จการอยู่ และอย่างที่บอกว่าในตอนนี้ทุกคนไม่ได้มีประสบการณ์ในการทำองค์กรแบบนี้ ในอนาคตก็อาจจะเอาองค์ความรู้ที่ได้จากการลองผิดลองถูกที่ผ่านมามาออกแบบองค์กรหรือทำองค์กรให้มันมีกฎเกณฑ์อะไรที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

แล้วก็คิดเรื่องหาลูกค้าในเชิงรุกมากขึ้น อย่าง NGO ก็อาจจะเพิ่มสัดส่วนขึ้นมาเพราะคิดว่าเขาชอบที่จะทำงานกับเรา แล้วก็ดูตามความเหมาะสมให้เหมาะกับสไตล์ขององค์กรเรา เนื่องจากแบรนด์หรือองค์กรเรามีความชัดเจนมาในแนวทางนี้สิ่งที่สำคัญก็คือความน่าเชื่อถือขององค์กร ความน่าเชื่อถือหมดไปแล้วก็จะส่งผลเสียต่อองค์กรอย่างมาก

ส่วนในเรื่องของอุดมการณ์ต่อไปก็จะกลับมาทำเนื้อหาเรื่องการเมืองมากขึ้น หลังจากที่ช่วงแรกทำเยอะแล้วก็ค่อยๆลดลงมาเป็นเรื่องความรู้ทั่วไปแทน เช่น เรื่องขบวนการแรงงาน เรื่องภาษี เรื่องการต่อสู้ทางการเมืองต่างๆ ที่มีเนื้อหาสนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตยหรือขบวนการแรงงานในไทยมากขึ้น เพื่อสร้างอำนาจต่อรองของขบวนการต่อสู้ภาคประชาชน

ความแตกต่างของความรับรู้เรื่องประชาธิปไตยในที่ทำงาน ณ ปัจจุบัน

“ตอนที่ขึ้นราคาสินค้าพวกคุณถามพวกเราปะ ทำไมขึ้นค่าแรงพวกเราต้องถามคุณ เราจะอยู่ไม่ได้แล้ว”

“ผู้ประกอบการที่มันอยู่ได้ด้วยการกดขี่คนอื่น ให้เขามีชีวิตแบบไม่ใช่ผู้ไม่ใช่คน คุณต้องถามตัวเองว่ากิจการคุณควรอยู่หรือเปล่า”

“คุณไม่ได้ประสบความสำเร็จ คุณประสบความสำเร็จเพราะคุณกดขี่คนอื่น”

ความเห็นเหล่านี้เป็นความเห็นที่แชมป์ประทับใจว่าสังคมมีความรับรู้เรื่องประชาธิปไตยในที่ทำงานมากขึ้น หลังจากที่ในตอนแรกถ้าพูดเรื่องประชาธิปไตยในที่ทำงาน หรือประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจก็จะโดนทัวร์ลงเยอะมาก เช่น เวลามีประเด็นไรเดอร์ประท้วง หรือการสไตรค์ของแรงงานต่างๆก็จะเห็นคอมเม้นต์ทำนองว่า ก็ลาออกสิ ก็ไปเปิดบริษัทเองสิ เยอะมาก ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการเรียกร้องสิทธิแรงงาน แต่ในปัจจุบันมีความรู้สึกว่าจำนวนมันเริ่มลดลง เริ่มมีคนโต้แย้งชุดความคิดพวกนั้นกลับไปมากขึ้น ซึ่งตนคงจะไม่เคลมเครดิตทั้งหมด แต่คิดว่าเพจพูดก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้แน่นอน

“แต่มันก็เป็นนิมิตหมายที่ดีที่เห็นสหภาพ CUT(สหภาพแรงงานสร้างสรรค์) เกิดขึ้น เห็นสหภาพแรงงานบาริสต้า เห็นข่าวการสไตรค์ของแรงงาน เห็นการทำข่าวแรงงานสกู๊ปแรงงาน อะไรต่างๆ มากขึ้น”

แต่แชมป์ก็ยังคิดว่าถ้าจะให้ประชาธิปไตยในที่ทำงานลงหลักปักฐานในสังคมจริงๆมันยังต้องใช้เวลาอีกนานมากอาจจะ 10 หรือ 20 ปีหรืออาจจะเป็นกินระยะเวลาชั่วชีวิตตนเลยก็ได้ที่จะเห็นการนัดหยุดงานทั่วไป หรือ General strike ของแรงงาน คนทำงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่จะพยายามทำต่อไปให้สำเร็จ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง