มาทำให้เรื่องสิทธิมนุษยชน เป็นเรื่องของทุกคนกันเถอะ! 63 ปี ‘แอมเนสตี้’ สู่วันที่เราเคารพกัน

28 พฤษภาคม 2567 Amnesty Thailand จัดกิจกรรม Amnesty Regional Meet Up: 63 ปีแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล “Being Ourselves Is Too Dangerous” ณ Book Re:public จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่เวลา 17.30 – 20.00 น.

ก่อนเริ่มวงเสวนา ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ และ สินีนาฏ เมืองหนู ผู้จัดการฝ่ายสมาชิกระดมทุน  แอมเนสตี้  อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมกันกล่าวเปิดงานและกล่าวอวยพรเนื่องในวันครบรอบ 63 ปี ของแอมเนสตี้ มีการเปิดคลิปวิดีโอที่พูดถึงอันตรายเกินกว่าจะเป็นตัวเองซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญ Protect the Protest พร้อมกันนี้ ปิยนุชยังกล่าวยึดมั่นว่าแอมเนสตี้ยังคงทำงานรณรงค์ขับเคลื่อนและสนับสนุนประเด็นสิทธิมนุษยชน ภายใต้หลักปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนทั้ง 30 ข้อ และจะยึดมั่นในหลักการของสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกต่อไป

วงเสวนา ‘อันตรายเกินกว่าจะเป็นตัวเอง’ ความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศรูปแบบอื่น ๆ ผ่านการใช้เทคโนโลยี (TfGVB) โดยผู้ร่วมเสวนา ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยระดับภูมิภาคประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และมนูญ วงษ์มะเซาะห์ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิงข้ามเพศ ดำเนินรายการโดย กรรณิกา เพชรแก้ว ผู้สื่อข่าวอิสระ

ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยระดับภูมิภาคประจำแอมเนสตี้ ประเทศไทย ได้กล่าวถึงที่มาของรายงานฉบับนี้ โดยมีอยู่ด้วยกัน 2 ประเด็น ประเด็นแรกคือ การมีบทบาทที่มากขึ้นของผู้หญิงและกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTI) ในการเป็นผู้นำด้านกิจกรรมและผู้นำเคลื่อนไหวทางการเมืองนับตั้งแต่เหตุการณ์การชุมชนุมในไทยเมื่อปี 2563 เป็นต้นมา แต่พวกเขากลับรับรู้ถึงภัยอันตรายที่จะเกิดขึ้นในการออกมาเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขาพึงกระทำได้ 

ประเด็นที่สอง เครื่องมือสื่อสารในโลกออนไลน์ไม่ว่าจะเป็น โทรศัพท์มือถือ หรือ แพลตฟอร์มทางโซเชียลมีเดียต่างๆ ได้กลายมาเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญของนักปกป้องสิทธิมนุยษชนทุกกลุ่ม เพื่อใช้ในการเคลื่อนไหวทางสังคมและรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชน แต่อย่างไรก็ตามกันเครื่องมือเหล่านี้กลับทำให้พวกเขาจำนวนมากต้องเผชิญหน้ากับความรุนแรงและภัยคุกคามต่าง ๆ ประกอบกับเหตุผลทางเพศภาพที่เป็นตัวแบ่งทำให้เกิดผลกระทบที่ไม่ได้สัดส่วนระหว่าง ผู้ชาย กับ ผู้หญิงหรือกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ นำไปสู่ปัญหาความรุนแรงในโลกดิจิทัลและกลายเป็นอุปสรรคของนักปกป้องสิทธิทางการเมืองต่อการแสดงออกทางสิทธิมนุษยชน

ความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศผ่านการใช้เทคโนโลยี

ปัญหาและความท้าทายที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนผู้หญิงและกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศต้องเผชิญ แบ่งออกเป็นสองประเภท ประเภทแรก การสอดส่องติดตามแบบพุ่งเป้าโดยใช้เครื่องมือทางดิจิทัล (Targeted Digital Surveillance) ผ่านการใช้เครื่องมือ เพกาซัส สปายแวร์  โดยเราจะเห็นได้จากกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อปลายปี 2565 ในช่วงก่อนการชุมนุมประท้วงของนักกิจกรรมหญิงหลายคนที่ถูกกล่าวถึงในรายงานฉบับนี้ ว่าได้รับผลกระทบจากการถูกสอดแนมและถูกเจาะข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงข้อมูลในโทรศัพท์มือถือเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวทางสิทธิมนุษยชน ซึ่งอาจมีผลให้พวกเขาสามารถถูกดำเนินคดีได้  รวมถึงการถูกแฮกบัญชีโซเชียลมีเดีย ที่ได้รับการแจ้งเตือนว่าบัญชีของพวกเขากำลังถูกเพ่งเล็งในการถูกโจมตี โดย ผู้จู่โจมที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ หรือ ผู้จู่โจมที่มีความเชี่ยวชาญ

ประเภทที่สอง คือการคุกคามในโลกออนไลน์ มีสาเหตุมาจากผู้คุกคามในโลกออนไลน์ที่กระทำผ่านบัญชีลับ โดยใช้ถ้อยคำที่เหยียดเพศและเต็มไปด้วยความเกลียดชังรวมถึงการนำข้อมูลส่วนตัวในเรื่องเพศมาเปิดเผยต่อสาธารณะ แต่พวกเขายังไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ ไม่ได้รับการเยียวยา และไม่มีการค้นหาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ ดังนั้นอาชญากรรมเหล่านี้จึงถือเป็นการละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนที่ซับซ้อน 

ชนาธิป ชี้ให้เห็นถึงหลักฐานเชิงเทคนิคที่ระบุว่ารัฐไทยมีส่วนร่วมและเป็นผู้อยู่เบื้องหลังในการใช้สปายแวร์ในการพุ่งเป้าสอดแนมและละเมิดสิทธิมนุษยชนของนักกิจกรรมมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งกลุ่มบริษัท NSO มีนโยบายชัดเจนในการไม่ขายหรือส่งออกผลิตภัณฑ์ให้หน่วยงานรัฐ รวมไปถึงเอกสารงบประมาณของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสติด (ปปส.) ที่ชี้ให้เห็นถึงการซื้อซอฟต์แวร์ที่มีลักษณะที่คล้ายเพกาซัส สปายแวร์ ซึ่งรัฐบาลไทยและบริษัท NSO Group ได้ปฏิเสธต่อการมีส่วนร่วมในการเป็นส่วนหนึ่งการของพุ่งเป้าสอดแนมแสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวในด้านสิทธิมนุษยชนตามหลักสากล

เมื่อเหล่านักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เป็นผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศต้องพบเจอเรื่องเลวร้ายเหล่านี้ จึงได้ส่งผลให้พวกเขารู้สึกว่าไม่คุ้มค่าที่จะออกมารณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชนจึงเริ่มหยุดออกมาเคลื่อนไหวและแยกตัวเองออกจากกิจกรรมทางการเมือง สะท้อนให้เห็นถึงพื้นที่ของพลเมืองในการใช้สิทธิเรื่องการชุมนุมประท้วงและสิทธิในการแสดงออกในไทยที่เริ่มลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด 

ปิดท้ายด้วยข้อเสนอว่า ภาครัฐไม่ควรเพิกเฉยต่อความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ และประเด็นปัญหาการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนและถูกคุกคามผ่านการสอดแนมในทุกรูปแบบ ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องได้รับการแก้ไขผ่านการให้การศึกษาเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศเพื่อสร้างความตระหนักรู้ด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศและสิทธิผู้หญิง โดยเฉพาะในพื้นที่3จังหวัดชายแดนภาคใต้ แก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับหลักสากลเพื่อตรวจสอบและดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิดที่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้  สุดท้ายคือต้องการให้รัฐเยียวยาให้แก่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนทุกคนรวมทั้งผู้ถูกละเมิดสิทธิในโลกออนไลน์ด้วยเช่นกัน 

ด้าน มนูญ วงษ์มะเซาะห์ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน เล่าถึงกรณีตัวอย่างของตนในการเผชิญหน้ากับความรุนแรงผ่านอคติทางเพศมาตีตราและกดขี่ข่มเหงต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศที่นับถือศาสนาอิสลาม  ครั้งแรกของการแสดงออกทางสิทธิมนุษยชนเราได้รับผลกระทบจากการถูกคุกคามและถูกโจมตีในโลกออนไลน์แต่ไม่สามารถดำเนินคดีหรือเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมใดๆได้ ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสภาพจิตใจเป็นอย่างมาก มันเจ็บปวดและบั่นทอนเราจนไม่สามารถปฏิเสธได้ อีกทั้งครอบครัวที่เคร่งเรื่องศาสนา  และกดดันให้หยุดในการออกมาแสดงออกทางสิทธิ ครั้งหนึ่งเคยคิดที่จะถอย แต่ก็ได้ฉุกคิดจากคำพูดของรุ่นพี่ว่า ตัวตนของชาวมุสลิมผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศก็ควรได้รับการยอมรับเหมือนกัน เนื่องจากปัญหาเหล่านี้ถูกซุกอยู่ใต้พรมมานานแล้วจึงทำให้พื้นที่ปลอดภัยสำหรับชาว LGBTQIAN+ที่นับถือศาสนาอิสลามหายไป 

“เราถูกตั้งคำถามว่า ‘เมื่อความรุนแรงเหล่านี้เกิดขึ้น แล้วทำไมไม่ออกจากศาสนาไปเลย จะอยู่ไปทำไม?’ แต่หากคิดในมุมกลับกันในเมื่อเรามีสิทธิที่จะเชื่อและศรัทธาไม่ว่าเราจะนับถือศาสนาใดก็ตาม แล้วทำไมผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามจะปฏิบัติตนต่อเราเฉกเช่นพี่น้องมนุษย์มุสลิมคนอื่นไม่ได้”

“รัฐห่วงความมั่นคงแห่งรัฐสำคัญมากกว่าความมั่นคงทางจิตใจของเรา” การทำงานของรัฐที่ละเมิดความเป็นมนุษย์และเพิกเฉยต่อความเจ็บปวดของเหยื่อชาวมุสลิมที่ถูกคุกคามเพียงเพราะเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิของตนเอง อีกหนึ่งความท้าทายที่ผู้มีความหลากหลายทางเผยที่นับถือศาสนาอิสลามต้องเผชิญคือ มุมมองของคนในครอบครัวที่มองว่าความหลากหลายทางเพศเป็นบาปและเป็นโรคที่สามารถรักษาได้โดยการบำบัดทางเพศวิถี ซึ่งในปัจจุบันเริ่มรุนแรงมากขึ้นกับเยาวชนอายุต่ำกว่า18ปี ในพื้นที่3จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีความหลากหลายทางเพศ รูปแบบการบำบัดนั้นเป็นการทรมานและเป็นการคุกคามรูปแบบหนึ่งเช่น การกรอกเลือด การบุกรุกบ้าน

“ถ้าอยากอยู่ให้ปลอดภัย ก็ไม่ต้องบอกใครว่าเราเป็นอะไร”

จะดีกว่ามั้ยถ้าไม่มีใครรู้อัตลักษณ์ทางเพศของเรา มันเลยทำให้เรากลัวและรู้สึกไม่ปลอดภัยจึงเกลียดความเป็นตัวเองไปในระยะหนึ่ง การกระทำเหล่านี้เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามหลักสากลอย่างเห็นแน่ชัด อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีเครื่องมือหรือกลไกในการตรวจสอบ เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านกฎหมาย คือพระราชบัญญัติ (พรบ.) ความเท่าเทียมทางเพศ ปี 2558 มาตรา 17 ที่รัฐไม่อนุญาตให้เข้าไปตรวจสอบสถาบันการศึกษาเหล่านี้และอ้างเหตุผลทางความมั่นคงทางศาสนา

มนูญ กล่าวทิ้งท้ายว่า ส่วนตัวยังมีความหวังว่าปัญหาความรุนแรงผ่านการใช้อคติทางเพศทั้งหมดเหล่านี้จะถูกแก้ปัญหาอย่างจริงจังผ่านกลไกอำนาจรัฐและกรอบกฎหมายที่ควรคำนึงถึงความปลอดภัยและให้การปกป้องและคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกัน ต้องไม่เลือกปฏิบัติเพียงเพราะความแตกต่างในการเลือกนับถือศาสนา โดยมีข้อเสนอว่ารัฐไม่ควรหาผลประโยชน์กับความเป็นเพศของพวกเรา เสรีภาพบนโลกออนไลน์ต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัย และไม่ควรใช้หลักศาสนามาเป็นเครื่องมือในการลิดรอนสิทธิมนุษยชนของผู้อื่น และหยุดสร้างวาทกรรมว่าความเท่าเทียมทางเพศเป็นบาปแต่ควรมองว่าเป็นคุณภาพชีวิตที่เราควรได้รับ สุดท้ายได้ฝากถึงพี่น้องมุสลิมให้ยึดหลักคำสอนที่มองว่าเราทุกคนเป็นมนุษย์ และทุกคนมีบททดทสอบเป็นของตนเอง เราต้องไม่ตัดสินกันและไม่ลดทอนศักดิ์ศรีคุณค่าความเป็นมนุษย์ เพราะว่าคุณไม่ใช่พระเจ้าที่จะมาตัดสินเราได้

สามารถอ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่

https://www.amnesty.or.th/files/6117/1575/6782/BeingOurselves_TH_Web.pdf

ช่วงท้ายของกิจกรรม มีการศิลปะแสดงสดในชื่อ “VOICE”  ไม่มีใครหูหนวก มากไปกว่าคนที่ไม่รู้จักฟัง ไม่มีใครตาบอด มากไปกว่าคนที่ไม่รู้จักมอง โดยกลุ่มนักการละครเชียงใหม่

ในช่วงสุดท้ายของกิจกรรมได้เปิดเวทีให้สมาชิกและผู้ที่เกี่ยวข้องได้กล่าวอวยพรในวาระ 63 ปี แอมเนสตี้ โดย แจ็กเกอลีน ยิว, ชำนาญ จันทร์เรือง, พิภพ อุดมอิทธิพงศ์, ศิริศักดิ์ ไชยเทศ, ทักษิณ บำรุงไทย ได้กล่าวอวยพรพร้อมทั้งขอบคุณแอมเนสตี้ ประเทศไทย และเหล่าสมาชิกแอมเนสตี้ทั่วโลกทุกคนที่ร่วมกันสร้างความเชื่อมั่นในการทำให้เรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของพวกเราทุกคน พร้อมทั้งยืดหยัดต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก เน้นย้ำว่าการให้กำลังใจร่วมต่อสู้เคียงข้างกันเพื่อมอบพลังสนับสนุนแก่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนทุกคนคือสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้เสมอ  

เด็กฝึกงานจากสาขาการพัฒนาระหว่างประเทศ ที่มาเรียนในจังหวัดที่ค่าฝุ่นสูงเกินเกณฑ์ทุกปี และขอทายว่าถึงแม้จะเรียนจบแล้วค่าฝุ่นก็ไม่น่าลดลง

กองบรรณาธิการ Lanner เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีความฝันบ้า ๆ ว่าอยากเป็นชาวประมง สอดส่องชีวิตผู้คนด้วยเลนส์ 576 ล้านพิกเซล และกลั่นกรองออกมาเป็นงานเขียน พบเจอได้ตามกิจกรรมทางการเมือง ที่ ลานท่าแพ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง