ข้ามโขง แลจีน กินเบียร์ลาว ใต้ร่มรอยเท้าและก้าวย่างของทุนจีนข้ามชาติ

เรื่อง: นวลคำ ขะยอมแดง สุภาพชนคนเมือง

“ความเมามาย” เป็นอารมณ์ความรู้สึกในห้วงขณะหนึ่งของวิถีชีวิตผองผู้คนทั่วไปที่มักปรากฏควบคู่อยู่ในกระแสธารแห่งการดื่ม ชิม ลิ้ม รส เครื่องดองของเมาอย่าง “เมรัย” ซึ่งมีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสมผสานข้อเขียนนี้ มุ่งนำพาจินตนาการของผู้อ่านโดยให้ตัวตัวอักษรทำหน้าที่เป็นพาหนะ เพื่อนำพาท่านเดินทางข้ามฝั่งแม่น้ำโขงเพื่อไปยล เยี่ยม เยือน ยัง “ตลาดดอนซาว” ณ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวอันตั้งอยู่ตรงข้ามกับบ้านสบรวก ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย หรือ ที่รู้จักกันในชื่อที่เรียกว่า “สามเหลี่ยมทองคำ” นั่นเอง

ขณะที่ผู้เขียนพำนักและพักหยุดช่วงวัยหยุดสุดสัปดาห์ด้วยการใช้ชีวิตลัดเลียบเลาะเสาะหาคาเฟ่เก๋ๆ ชิวๆ ริมแม่น้ำโขง ยามนั้นท้องถนนเส้นแม่สาย-สามเหลี่ยมทองคำ-เชียงแสนอยู่ในท่ามกลางดงแดดที่แผดเผาร้อนเอ่าระอุ ในยามบ่ายคล้อยที่ไม่ค่อยแก่มากนัก สภาพอากาศที่เป็นเฉกเช่นนี้ใจหนึ่งก็นึกเปรี้ยวปากอยากลองลิ้มชิมเมรัย จากประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง วาร์ปหนึ่งที่แว้ปเข้ามาในห้วงความคิดของผู้เขียนในตอนนั้น คือ “เกาะดอนซาว” หรือ “ตลาดดอนซาว”ซึ่งเป็นสถานที่ที่ผู้เขียนได้ลองคิดคะนึงถึงและปรารถนาที่อยากจะนั่งเรือข้ามไปสำรวจสถานที่ดังกล่าว ด้วยเหตุผล คือ การข้ามแดนข้ามรัฐที่ง่ายดายเพื่อไปสู่สถานที่ดังกล่าวนี้ไม่ต้องมีการทำพาสปอร์ตขอผ่านแดนชั่วคราวแต่อย่างใด หากแต่ใครปรารถนาจะข้ามไปยังพื้นที่ของคิงโรมันกาสิโนและตลาดจีนก็ยังต้องทำเอกสารข้ามแดน ซึ่งผู้เขียนตั้งใจที่จะข้ามไปเดินตลาดดอนซาวที่เดียวจึงจอดรถข้างๆ พระเจ้าล้านตื้อองค์ใหญ่และเดิมจ้ำอ้าวไปยังท่าเรือดาวกระจายและเดินอยู่ติดกับตรวจคนเข้าเมืองด้านขวามือเพื่อติดต่อเรือหางยาวข้ามฝั่งเลย ผู้เขียนรับเสื้อชูชีพจากจุดจ่ายเงินที่สนนราคาเพียง 80 บาท จากนั้นจึงค่อยๆ เดินตามทางลงตลิ่งมารอที่ท่าเรือด้านล่างโดยไม่ต้องยื่นเอกสารใดๆ กับเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง สักครู่ก็มีเรือหางยาวตะกุยตะกายคลื่นน้ำมาจอดเทียบยังท่ารับเราลงเรือไปด้วยใจหวิวๆ หวันๆ เพราะทั้งสีและปริมาณของน้ำในแม่น้ำโขงวันนี้ค่อนข้างที่น่ากลัวสำหรับผู้เขียนมากเหลือเกิน

(ภาพ: JinnyTent)

ผู้เขียนเลือกที่จะนั่งหลังพี่คนขับเรือเพื่อความอุ่นใจที่ไม่แน่ว่าจะปลอดภัยเท่าใดมากนัก เสียงติดเครื่องยนต์ที่ตามดมมาด้วยเรือเริ่มแล่นออกจากท่าอย่างช้าๆ ผู้เขียนเริ่มหลับตาลงเพราะกลัวทั้งน้ำ เรือและความเร็ว แต่พอเมื่อมารู้ตัวอีกทีเมื่อลมเย็นๆ ตีมาที่ตรงหน้าซึ่งพบว่าเรือแล่นเร็วขึ้น เห็นองค์พระเจ้าเก้าตื้อบนฝั่งซึ่งถูกจัดวางภูมิทัศน์ไว้ให้มองเห็นจากกลางแม่น้ำโขงว่าท่านประทับอยู่บนเรือแก้วกุศลธรรม จากนั้นสักครู่ พี่คนขับเรือก็พาผู้เขียนนั่งเรือวนรอบเกาะกลางแม่น้ำโขงอันเป็นจุดเชื่อมต่อกันระหว่างชายแดนไทย พม่า ลาวที่เรียกขานกันว่า “สามเหลี่ยมทองคำ” ที่มิอาจแน่ใจได้ว่าในอนาคตกาลนั้น ยังจะเรียกชื่อนี้ได้อยู่หรือไม่เพราะเป็นพื้นที่ที่รัฐบาลจีนและนักธุรกิจชาวชีนได้เข้ามาสัมปทานพื้นที่กว้างกว่า 7,500 ไร่ ในผืนแผ่นดินฝั่ง สปป.ลาว  เป็นระยะเวลาเนิ่นนานกว่า 99 ปี ทำให้ตรงพื้นที่ตรงด่านตรวจคนเข้าเมืองนั้น พอหันซ้ายขวามีแต่ชาวจีนวัยทำงานที่หน้าตี๋ สูงยาว ขาวหมวยเต็มไปหมด จากที่พูดคุยกับพี่เจ้าหน้าที่ได้ความว่า คนจีนที่ทำงานในเขตสัมปทานพิเศษ สปป.ลาวพอวีซ่าหมดอายุก็จะข้ามฝั่งมาไทย ทำเอกสารแล้วกลับเข้าไปใหม่อยู่ทำงานต่อได้อีกหนึ่งเดือนก็เลยมีคนจีนเดินไปเดินมาอยู่ในละแวกนี้เต็มไปหมด เป็นสหประชาชาติ (ไทย-พม่า-ลาว-จีน-ฯลฯ) ขนาดย่อมเลยทีเดียว ไม่นานนัก สักพัก สักครู่ เรือก็เทียบท่าตรงตลาดดอนซาว อันเป็นพื้นที่จัดจำหน่ายสินค้าปลอดภาษีและสินค้าพื้นเมืองของชาวลาวท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่ที่ถูกสัมปทานด้วยพลังทางธุรกิจของชาติมหาอำนาจที่มีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพราะนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ก็เป็นคนจีน คนขายของก็มีทั้งคนลาวหรือคนเวียดนาม ยิ่งไปกว่านั้นคนขายของบางส่วนกลับเป็นชาวจีนจากแผ่นดินใหญ่ที่พอผู้เขียนเดินผ่านร้านไหน เถ้าแก่จีนรุ่นใหม่ผู้มีหัวใจการค้าก็ชักชวนซื้อของเป็นภาษาจีนมากกว่าคำว่า “สบายดี” ในภาษาลาว ทั้งๆ ที่ผู้เขียนตั้งใจข้ามมาเที่ยวสปป.ลาว ประเทศเพื่อนบ้าน แต่กลับเหมือนมาเที่ยวเมืองจีน

เกริ่นหัวไว้เสียจน ยืด ยาว เยิ่นและเวิ้นเว้อ จนลืมถึงความตั้งอกตั้งในและจุดมุ่งหมายในการข้ามแดนที่ยัง “มณฑลเหล่าโว” (lǎo wō) แล้ว นั่นคือ การตามหา “เบียร์ลาว” เพื่อลิ้มและชิมรสเมรัยที่ผู้เขียนคุ้นเคย เพราะการดื่มเบียร์สำหรับผู้เขียนแล้ว มีความหมายในฐานะการใช้เวลาพักผ่อน การดื่มในวันสุดสัปดาห์หรือเทศกาล สำหรับผู้เขียนยังเป็นการใช้เวลาเพื่อทบทวนและตรึกตรองต่อชีวิตของตนเองที่เกี่ยวข้องกับโลกทางสังคมที่มีอยู่ในหลากหลายมิติและแง่มุมชีวิตที่มีรสชาติ

ผู้เขียนรับรู้ต่อ “เบียร์ลาว” ที่นอกจากจะเป็นเมรัยที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสมให้ลองลิ้มชิมรสชาติแล้วก็ยังเป็นในฐานะสัญลักษณ์สำคัญของชาติลาวที่มีการแพร่ขยายให้เป็นที่รู้จักกับนักดื่มจากทั่วสารทิศเมื่อมาเยือนประเทศต้องถามหาและเลือกซื้อกลับไปยังบ้านตนเพื่อเป็นของฝาก ขณะที่รัฐบาลลาวเปิดประเทศรับการลงทุนจากต่างชาติ ทำให้กลุ่มผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มุ่งเป้าหมายขยายฐานผลิตในประเทศ ด้วยเหตุนี้ ทั้งบาร์เหล้าและร้านอาหารในตลาดดอนซาว ตลอดจนพื้นที่คิงโรมันกาสิโนและตลาดจีนมักมีเบียร์ลาวไว้ขายให้กับนักท่องเที่ยวและผู้มาเยือน ซึ่งผู้เขียนได้เดินสำรวจพื้นที่ตลาดดอนซาวและได้มีการพูดคุยกับผู้ประกอบการในพื้นที่ของตลาดดังกล่าว ทำให้พบว่ารูปแบบการประชาสัมพันธ์และยุทธศาสตร์ทางการตลาดของเบียร์ลาวนั้น มีปรากฏอยู่ตามสื่อร่วมสมัยในประเทศแบบต่างๆ โดยเฉพาะโทรทัศน์ (ช่องลาวสตาร์) หรือสื่อในพื้นที่สาธารณะโดยเฉพาะป้ายโฆษณา ผ้ารองปูโต๊ะตามร้านอาหารหรือแผงขายผักในตลาด นับว่าเป็นจุดเด่นเพื่อการนำเสนอขายเบียร์ลาวกันอย่างกว้างขวางทั้งแบบขวดเล็ก ขวดใหญ่ (ในราคาขวดละ 10 พันกีบ หรือ 40 บาท) ตลอดจนในรูปแบบของกระป๋องซึ่งวางจำหน่ายอยู่ตามร้านค้าหรือร้านอาหารแล้ว แผ่นป้ายไวนิลป้ายโฆษณาที่มีอยู่แทบทุกมุม แม้กระทั่งการเป็นสปอนเซอร์สนับสนุนอะไรต่อมิอะไรอีกมากมายในประเทศลาวไม่ว่าจะเป็นป้ายร้านค้า โชว์ห่วย ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร โรงแรม ภัตตาคารแผงขายน้าข้างทางรวมถึงการคัดเลือกเอาสาวงามวัยรุ่นมาลงปฏิทินเบียร์ลาวทุกปีซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับกลยุทธการโฆษณาเบียร์หลายๆ  ยี่ห้อในประเทศไทย รวมไปถึงโปรดักชั่นด้านการโฆษณาที่มีคุณภาพการถ่ายทำมากกว่าโฆษณาทั่วไปของธุรกิจในประเทศลาว ซึ่งอาจพออนุมานได้ว่า ได้รับความช่วยเหลือด้านการตลาดและโฆษณาจากกลุ่มเบียร์รายใหญ่ของไทย  ในทุกวิดีโอโฆษณาของเบียร์ลาวที่แพร่ภาพทางโทรทัศน์ รวมถึงป้ายโฆษณา จึงผูกติดกับสัญลักษณ์ทางวัตถุและวัฒนธรรมความเป็นลาวอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นพระธาตุหลวง อนุสาวรีย์วีรกษัตริย์ ประตูชัย แม่น้ำโขง น้ำตกคอนพะเพ็ง แก่งหลี่ผี และเขื่อนต่างๆ และเข้าไปมีส่วนร่วมสนับสนุนในงานประเพณี เช่น งานแข่งเรือยาวประเพณี งานบุญประจำปี รวมถึงมีบทบาทสำคัญในการให้ทุนสนับสนุนการจัดแข่งกีฬาไม่ว่าจะเป็นบานเตะ (ฟุตบอล) การตีดอกปีกไก่ (แบดมินตัน) หรือเทนนิส เป็นต้น

อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสังคมลาวร่วมสมัยจึงมักเป็นสิ่งที่มีการผสมผสานได้อย่างลงตัวในพื้นที่ของงานบุญหรือพิธีกรรมที่สะท้อนถึงความเป็นลาวผ่านเบียร์ลาวที่ได้เข้าไปมีบทบาทในวัฒนธรรมการดื่มเพื่อเฉลิมฉลองทั้งในพื้นที่ของศาสนสถานและสถานที่ราชการได้อย่างเต็มเหนี่ยวโดยปราศจากเงื่อนไขและข้อจำกัดของหน่วยงานหรือองค์กรทางศีลธรรมที่คอยกำกับควบคุมวัฒนธรรมความเมามายที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมการดื่มด่ำร่ำเมรัยของผู้คนเฉกเช่นประเทศเพื่อนบ้านที่มักมีหน่วยงานด้านการรณรงค์งดดื่ม อย่าง สสส. ทว่าการดื่มกินของคนลาวในวัยคึกคะนอง ก็อาจจำต้องมีภาระผูกพันไว้กับกฎหมายที่เข้มงวดเมื่อหากมีเหตุเกิดการเมาและอาละวาด   การดื่มเบียร์จึงเป็นวัฒนธรรมประชานิยมที่เพิ่งสร้างของชาวลาวที่มีวิถีชีวิตเปลี่ยนผ่านจากสังคมชาวบ้านเข้าสู่สังคมชาวเมืองที่ก่อตัวขึ้นมาพร้อมกับความเป็นลาวใหม่ภาพของเบียร์ลาวได้กลายเป็นภาพเสนอหลักสำคัญให้กับบรรดานักเดินทางที่ไปเยือนประเทศลาวในหลายๆ ท้องถิ่น กล่าวคือ  ไปเมืองลาวต้องไปกินเบียร์ลาว

สถานะของเบียร์ลาวจึงไม่ต่างจากแบรนด์แอมบาสเดอร์ของประเทศลาวที่จะทำให้ผู้คนนึกถึงการมาท่องเที่ยวในเมืองลาววัฒนธรรมและชุมชนลาวแบบดั่งเดิมได้ถูกจัดการออกแบบให้กลายเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมเพื่อต้อนรับการมาเยือนของนักท่องเที่ยว นอกเหนือไปจากแร่ธาตุ ทรัพยากรทางธรรมชาติสำคัญในประเทศลาวเองที่เป็นตัวพยุงเศรษฐกิจชองประเทศลาวให้ยืนอยู่ได้ การดำเนินนโยบายทางด้านการค้าวัฒนธรรมตามรอยประเทศใหญ่ๆ ทั้ง อิตาลี เกาหลีใต้ หรือแม้กระทั่งไทย ก็เป็นอีกก้าวย่างที่คอยทำหน้าที่ผลักเม็ดเงินการลงทุนให้เข้ามาสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศลาว  โดยเฉพาะการลงทุนร่วมกับจีน ในฐานะประเทศที่ทรงอิทธิพลในการที่มีบทบาทเข้ามาลงทุนในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานให้กับประเทศลาวเองซึ่งการเปิดพื้นที่ตลาดให้เกิดการแข่งขันเรื่องอุตสาหกรรมเบียร์ในประเทศลาวในอนาคตนั้น ก็อาจจะมีแนวโน้มการแข่งขันที่สูงขึ้นซึ่งมีทั้งการงัดเอาลักษณ์แห่งชาติลาว เข้ามาเป็นจุดขาย จุดประชาสัมพันธ์หรือแม้กระทั่งการผลักให้เบียร์ลาวกลายเป็นเครื่องดื่มประจำชาติลาวเองก็ตาม แต่ในท้ายที่สุดแล้วคุณภาพชีวิตของประชาชนลาวก็ยังไม่สามารถดีขึ้นได้หากอัตราค่าจ้างแรงยังต่ำอยู่ และแม้ว่าสินค้าหลายประเภทจะมีราคาต่ำลงแต่ก็เป็นการกระตุ้นให้คนต้องใช้เงินเพิ่มขึ้นและทำให้เป็นหนี้กันมากขึ้นอีก

ความเมามายเพียงกรุ้มกริ่มจึงทำให้ผู้เขียนจรดนิ้วลงแป้นพิมพ์โน๊ตบุ๊คเพื่อบอกเล่าเรื่องของ “เบียร์ลาว” กลางตลาดดอนซาวในผืนแผ่นดินลาวไว้ได้เพียงเท่านี้ เสียดายที่กลิ่นเบียร์ลาวขวดที่ผู้เขียนกระดกดื่มนั้น มันเจือด้วยรสชาติอันเข้มข้นด้วยรสชาติเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่และทุนจีนข้ามชาติอยู่หนักพอควร


คอลัมน์ เลาะเล่าข่าวชายแดน
 โดย นวลคำ ขะยอมแดง สุภาพชนคนเมือง ที่จะพาลัดเลาะค้นหาชีวิต วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของผู้คนตลอดฟากฝั่งชายแดนที่การเปลี่ยนแปลงกำลังคืบคลานเข้ามาอย่างแยบยล

ชนชั้นกลางระดับล่างที่ค่อนมาทางปีกซีกซ้ายในทางเศรษฐกิจการเมือง ร่ำเรียนมาทางด้านการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ชื่นชอบประเด็นทางสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และการเมืองร่วมสมัย เป็นคนให้ความสนใจประเด็นล้านนาคดีทั้งในมิติประวัติศาสตร์ สังคมวัฒนธรรมและวรรณกรรมล้านนา (อยู่บ้างเล็กน้อย) แม้ตัวเองไม่ใช่คนดีย์แต่ยังคงมีการครุ่นคิดและสงสัยว่า ตัวเองนั้นเป็นนักกิจกรรม (Activist) และเป็นผู้นิยมมาร์กซ (Marxist) อยู่หรือเปล่า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง