2 กรกฎาคม 2566 หลังจากที่มีการแถลงการณ์การถอนตัวของพรรคเพื่อไทยออกจาก 8 พรรค สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์และหัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ให้ความเห็นผ่านเพจ ศูนย์วิจัยฯ มหาวิทยาลัยหน้าบางแห่งหนึ่ง ต่อพรรคก้าวไกลทั้งหมด 5 ข้อ โดยมีเนื้อหาดังนี้
สิ่งที่พรรคก้าวไกลควรจะทำ
1. แม้ MOU ของแปดพรรคยุติลง แต่ต้องไม่ลืมว่าพรรคก้าวไกลก็ยังคงเป็นพรรคที่มีเสียงข้างมากอันดับหนึ่งมากกว่าทุกพรรค จึงยังคงมีความชอบธรรมในการเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี
2. ในการประชุมที่จะเกิดขึ้นครั้งใหม่ สมาชิกพรรคก้าวไกลต้องลุกขึ้นท้วงประธานรัฐสภาถึงการวินิจฉัยในครั้งก่อนว่าเป็นความผิดพลาด (อ้างอิงความเห็น 115 คณาจารย์นิติศาสตร์, บวรศักดิ์ อุวรรณโณ และอื่น ๆ) หากประธานยังคงดื้อดึงความเห็นดังกล่าว การกระทำนี้ก็จะกลายเป็นหลักฐานยืนยันถึงความผิดในการปฏิบัติหน้าที่ในอนาคตข้างหน้า
3. เมื่อการเสนอชื่อบุคคลดำรงตำแหน่งนายรัฐมนตรีไม่อาจนำเอาข้อบังคับมาใช้ สมาชิกของพรรคก้าวไกลก็ต้องเสนอชื่อพิธา อีกครั้งหนึ่ง แม้หากพรรคการเมืองอื่น ๆ จะเสนอชื่อด้วยก็ตาม ดังที่พรรคเพื่อไทยก็ประกาศอย่างชัดเจน ก็จะต้องให้มีการแข่งขันและทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่าบัดนี้พรรคเพื่อไทยได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มคนที่เป็นปฏิปักษ์ประชาธิปไตย
4. หากยังถูกปิดกั้นไม่ให้เสนอชื่อพิธา พรรคก้าวไกลก็ควรต้องมีมติไม่เห็นชอบกับรายชื่อที่พรรคเพื่อไทยเสนอมา เมื่อการลงคะแนนในครั้งนี้ไม่ได้เป็นไปตาม MOU ที่ได้เคยตกลงเอาไว้ จึงย่อมเป็นสิ่งที่พรรคก้าวไกลมีความชอบธรรมอย่างเต็มที่ในการลงคะแนนไม่เห็นชอบ
5. ท้ายที่สุดแล้ว พรรคก้าวไกลอาจพ่ายแพ้ในการลงคะแนนในรอบที่จะเกิดขึ้น แต่การทำให้พรรคการเมืองที่ตระบัดสัตย์มีต้นทุนที่แพงที่สุดคือแนวทางที่พรรคก้าวไกลควรจะทำ ไม่ใช่ต้นทุนเฉพาะในวันนี้แต่รวมถึงในอนาคตข้างหน้าอีกด้วย
ด้วยความเชื่อมั่น
สมชาย ปรีชาศิลปกุล
2 สิงหาคม 2566
โดยพรรคเพื่อไทยได้ออกแถลงการณ์ เริ่มต้นใหม่ ร่วมผ่าทางตัน หาทางออกให้ประเทศ มีเนื้อหาดังนี้
เนื่องจากการจัดตั้งรัฐบาลในครั้งนี้ พรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย ได้จับมือร่วมกับ พรรคการเมือง อีก 6 พรรค รวมเสียงได้ 312 เสียง เพื่อจัดตั้งรัฐบาลโดยมีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำ และเสนอคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี
ทั้ง 8 พรรคมีข้อสรุปภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยมีความเห็นอย่างชัดเจนจากพรรคเพื่อไทย ยึดมั่นในการมีสถาบันพระมหากษัตริย์ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งประเทศและไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
วันที่ 13 กรกฎาคม 2566 แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล ไม่สามารถรวบรวมเสียงสนับสนุนจากรัฐสภาได้ โดยมีเพียง 324 เสียงจากที่ต้องการถึง 376 เสียง ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้สนับสนุนพรรคก้าวไกลอย่างเต็มความสามารถทั้งการอภิปราย และยกมือสนับสนุน 141 เสียง แต่เนื่องจากปรากฏเงื่อนไขของพรรคการเมืองอื่นๆ และสมาชิกวุฒิสภา ไม่ยอมรับนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล โดยพรรคก้าวไกลรับทราบท่าทีเหล่านี้ แต่ยืนยันไม่ปรับเปลี่ยนนโยบาย จึงเป็นการแน่ชัดว่า แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล จะไม่สามารถผ่านการลงมติเห็นชอบจากรัฐสภาให้ดำรงตำแหน่งได้
ดังนั้นที่ประชุม 8 พรรคร่วม จึงมีมติส่งมอบภารกิจแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลให้พรรคเพื่อไทย โดยเห็นชอบแนวทางให้พรรคเพื่อไทย หาเสียงสนับสนุนทั้งจากพรรคการเมืองนอกกลุ่มพรรคร่วมเดิม และสมาชิกวุฒิสภาได้
เมื่อได้รับมอบหมายภารกิจ พรรคเพื่อไทยจึงเดินหน้าเพื่อหาเสียงสนับสนุนเพิ่มเติมทั้งจาก สว. และ สส. โดยการเชิญหลายพรรคการเมืองเข้าหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ณ ที่ทำการพรรคเพื่อไทย และส่งตัวแทนรับฟังความคิดเห็นสมาชิกวุฒิสภาทั้งเป็นกลุ่มและรายบุคคล พบว่านโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ยังคงเป็นเงื่อนไขหลัก ขณะที่บางพรรคและบางคนแสดงเจตนาอย่างชัดแจ้งที่จะไม่สนับสนุนการร่วมรัฐบาลของพรรคก้าวไกลในทุกกรณี
ในสถานการณ์เช่นนี้ พรรคเพื่อไทย ได้ปรึกษาหารือกับพรรคก้าวไกลขอถอนตัวจากการร่วมมือกันและ เดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลพรรคร่วมใหม่ เสนอชื่อ “นายเศรษฐา ทวีสิน” แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยและนายเศรษฐา ทวีสิน ขอยืนยันชัดเจนว่า เราจะไม่สนับสนุนการแก้ไขมาตรา 112 และการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะไม่มีพรรคก้าวไกลอยู่ในพรรคร่วม พรรคเพื่อไทยจะใช้ความพยายามรวบรวมเสียง ให้เพียงพอต่อการจัดตั้งรัฐบาลอย่างเหมาะสม และพรรคก้าวไกลจะทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านและยืนยันจะทำงานการเมืองในมิติใหม่ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและพี่น้องประชาชน ในภารกิจที่สำคัญ ดังนี้
1. เราจะผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันอันเป็นต้นเหตุของความยากลำบากในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ และก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ต่างๆ ของประเทศ โดยกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ โดยเริ่มจากมติ ครม.ในการประชุมครั้งแรก ให้มีการทำประชามติ และจัดตั้ง สสร. ให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริงในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ รัฐบาลจะคืนอำนาจให้ประชาชนได้เลือกตั้งใหม่ภายใต้กรอบกติกาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
2. นโยบายที่พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมได้นำเสนอต่อพี่น้องประชาชน ซึ่งมีความคิดเห็นสอดคล้องกัน อาทิ กฎหมายสมรสเท่าเทียม กฎหมายสุราก้าวหน้า การปฏิรูประบบราชการ ตำรวจ กองทัพ และกระบวนการยุติธรรม เปลี่ยนการเกณฑ์ทหารแบบบังคับเป็นระบบสมัครใจ ฯลฯ ผลักดันการกระจายอำนาจทั้งในแง่ภารกิจและงบประมาณ ยกเลิกการผูกขาดและส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมในทุกอุตสาหกรรม เป็นต้น ในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาลพรรคเพื่อไทยพร้อมที่จะผลักดันร่วมกับพรรคร่วมเพื่อให้นโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนดำเนินการได้ประสบความสำเร็จ
พรรคเพื่อไทย ขอแสดงความจริงใจต่อเพื่อนมิตรทุกพรรคการเมือง และสมาชิกวุฒิสภา รวมทั้งพี่น้องประชาชนว่า นี่คือแนวทางที่จะรักษาสถาบันสำคัญของชาติให้เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนทั้งประเทศ และช่วยผลักดันความต้องการของประชาชน ภายใต้ข้อจำกัดและเส้นทางที่ยากลำบากนี้ไว้ได้ เพื่อให้ภารกิจนำพาประเทศพ้นวิกฤต สร้างสรรค์ประชาธิปไตย แก้ไขความขัดแย้ง คืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ ปลดพันธนาการจากกลไกที่ไม่ปกติให้คืนสู่ความปกติ และใช้ประสบการณ์ และความสามารถของบุคลากรของพรรคเพื่อไทยเร่งแก้วิกฤตเศรษฐกิจและปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชนโดยเร็ว ภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ซึ่งเป็นกติกาสูงสุดจากอำนาจประชาชน
จึงเรียนมาเพื่อทราบโดยทั่วไป
พรรคเพื่อไทย
2 สิงหาคม 2566
หลังจากที่มีการออกแถลงการณ์ เริ่มต้นใหม่ ร่วมผ่าทางตัน หาทางออกให้ประเทศ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยได้ให้ความเห็นต่อกรณีการออกจาก 8 พรรคร่วมไว้ว่า
“ไม่ใช่เป็นการบอกเลิก แต่เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นจริงๆ ที่ต้องแยกจากพรรคก้าวไกลในการจัดตั้งรัฐบาล”
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...