ชวนคิด ชวน(ไม่)ฟิน ชวนจินตนาการ เศรษฐกิจการเมืองว่าด้วยเรื่อง “วิมานหนาม” กับความรักที่กิน(ไม่)ได้

เรื่อง: นวลคำ ขะยอมแดง สุภาพชนคนเมือง

ทันทีที่ตัวอย่างภาพยนตร์ “วิมานหนาม” หรือ The Paradise Of Thorns ถูกเผยแพร่ไปในสื่อออนไลน์ช่องทางต่างๆ มีคำบรรยายเป็นประโยคสั้นๆ ในคลิปวีดิโอตัวอย่างภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ได้มีการระบุว่าบทภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวสร้างสรรค์ขึ้นโดยมีแรงบันดาลใจจาก ความไม่เท่าเทียมแน่นอนว่าหลายคนที่เห็นตัวอย่างหรือมีโอกาสได้ดูภาพยนตร์เรื่องนี้แล้วก็พอที่จะอนุมานได้ว่าการเล่าเรื่องราวและการดำเนินไปของวิมานหนาม ตั้งแต่ต้นจนจบคงเต็มไปด้วยการนำเสนอประเด็นที่เกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมในหลายมิติแทรกสอดตลอดทุกอณูของเรื่องราวที่คงจะมีผลทำให้ผู้ชมหลายท่านจะวิเคราะห์ ตีความ มองเห็นสัญญะบางอย่างที่พยายามจะ “บ่งชี้” ถึงความไม่เท่าเทียมที่มีอยู่ทั้งในฉาก ภาพ เสียงและบทสนทนา ขณะที่ประเด็นความไม่เท่าเทียมซึ่งมีฐานะเป็นกระแส ซึ่งผู้คนในสังคมไทยต่างก็ได้มีความตระหนักและให้ความสำคัญที่แผ่ขยายเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะในช่วงเวลาเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาอย่างประเด็นด้านกฎหมายและสิทธิทางสังคมอันพึงได้รับการปฏิบัติอย่างความเท่าเทียมทางเพศหรือ “สมรสเท่าเทียม” ถูกโหมกระแสจากภาพยนตร์ตัวอย่างให้เข้าใจเสมือนหนึ่งว่าเป็นแกนกลางสำคัญของการดำเนินเรื่องราวทั้งหมด แม้แต่ตัวผู้เขียนเองก็มีความเชื่อก่อนหน้านี้หลังได้ชมตัวอย่างก็คิดไปว่า ฉันคงต้องสัมผัสถึงประเด็นนี้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นอย่างแน่นอนมันก็คงมีอยู่บ้างแหละ แต่ผลลัพธ์ในความรู้สึกของผู้เขียนเองกลับไม่ได้มองเห็นว่าเป็นเช่นนั้นทั้งหมดทั้งมวลเสมอไป

รักโรแมนซ์ที่มีชีวิตเป็นเดิมพันหรือมีอุปสรรคเป็นขวากหนาม (ทุเรียน) ที่ “เรา” (คู่รักชายกับชาย) ต้องฟันฝ่า มันคงเป็นเพียงสูตรสำเร็จที่ธรรมด๊าธรรมดามากเกินไปหรือ ความรักที่มีมากมายยิ่งกว่าต้นทุเรียนทุกต้นใบทุเรียนทุกใบ ก็คงแลดูฟรุ้งฟริ้งกระดิ่งแมวล้นเกินที่จะมาเป็นบทภาพยนตร์ยุคนี้ที่พอฟังดูแล้วมันแลดูทื่อ ๆ บื้อ ๆ เสียไปด้วยซ้ำ ทว่าผู้เขียนจึงอยากที่จะขบคิด ใคร่ครวญเพื่อย้อนกลับมาตั้งคำถามต่อประเด็นสมรมเท่าเทียม ที่เอาเข้าจริงแล้วมันเป็นเครื่องปรุงให้การดำเนินไปเรื่องราวของตัวละครมีสีสันและรสชาติจริงแท้แค่ไหน? ข้อเขียนนี้จึงอาจมีการสปอยล์เรื่องราวเพื่อ “เล่าใหม่” แบบที่ผู้เขียนคิดและจินตนาการแบบไปให้ไกลกว่าเนื้อหาในภาพยนตร์ที่ถูกกำหนดภายใต้กรอบเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัด 

เอาเข้าจริงผู้เขียนมีมุมมองและความเห็นที่ว่า “วิมานหนาม” นั้น ก็เป็นภาพยนตร์ที่ใช้ประเด็นความขัดแย้งเป็นแก่นแกนในการดำเนินไปของเรื่องราวทั้งหมดทั้งมวล ความขัดแย้งที่ว่านี้จึงคล้ายคลึงไม่ต่างไปจากการช่วงชิงมรดกระหว่างเมียเก่าเมียใหม่ เมียใหญ่เมียรอง หรือแม้แต่แม่ผัวลูกสะใภ้ดังที่เราอาจเคยพบเห็นในฉากละครหรือภาพยนตร์ทั่วไป  ที่มักจะผูกเรื่องราวของ “ผู้ช่วงชิง” ไว้กับผู้คนที่มีภาพลักษณ์เป็นชนชั้นบนหรือคนที่มี “เศรษฐฐานะ” (Economic Status) ในระดับดีหรือพวกที่มีเงินล้นท่วมท้นทวีเท่านั้น หากแต่การเล่าเรื่อง  วิมานหนามเป็นการหักเหลี่ยมหักมุมมาสู่การแก่งแย่งแข่งขันระหว่าง “ผู้ช่วงชิง” ที่เป็น “คนไม่เคยจะมี” หรือคนที่มีเศรษฐฐานะที่ยากจนข้นแค้น  เป็นคนที่อยู่ในระดับล่างหรืออยู่อาศัย ณ ตำแหน่งแห่งที่ความเป็นชายขอบของสังคมทั้งในมิติทางเพศ ชาติพันธ์ เศรษฐกิจ อาจจะรวมไปถึงในเรื่องสัญชาติด้วยซ้ำไป นี่จึงเท่ากับว่าเป็นการกลับหัวกลับหางที่ชี้ให้เห็นถึงข้อเด่นของโครงเรื่องและตัวละครซึ่งสามารถจะหยิบใช้ความขาดพร่อง (Deficit) มาเป็นแรงขับเพื่อการ “ฉะ-ปะ-ดะ” ผ่านท่วงท่าของคำถามที่ว่า “ก็แล้วทำไมกูต้องยอมมึงด้วยละ?” แน่นอนว่าความรู้สึกนี้ เริ่มมีให้รับรู้เมื่อ “ทองคำ”(วรกมล ซาเตอร์) ได้พ่ายแพ้ในเชิงข้อกฎหมายโดยเขาเองก็ได้หันกลับมาขออยู่อาศัยในบ้านหลังเดิมที่แม่แสง (สีดา พัวพิมล) มารดาของ “เสก” (พงศกร เมตตาริกานนท์) ผู้เป็นคู่รักเกย์ของเขาที่ได้เข้ามาครอบครองตามสิทธิทางกฎหมาย ขณะที่ “โหม๋” (อิงฟ้า วราหะ) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งบุคคลทำหน้าที่ดูแลแม่แสงในฐานะอยู่ร่วมอาศัยภายใต้ชายคาของบ้านหลังเดียวกัน

ย้อนความอย่างย่นย่อ เรื่องเปิดด้วยการพูดถึงทองคำและเสก คู่รักเกย์ที่ปลูกบ้านไม้สังกะสีหลังเล็ก ๆ บนที่ดินเดิมของเสกในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ทั้งสองร่วมกันเปลี่ยนผืนดินแห่งนี้มาเป็นสวนทุเรียนโดยมีทองคำช่วยทำงาน ขายพริกแห้ง กล้วย เผาถ่านและพืชผลทางการเกษตรเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อส่งเงินเลี้ยงดูแม่แสงเป็นรายเดือนและยังมีการสะสมเงินใช้เงินก้อนเพื่อในการไถ่ถอนที่ดินที่ติดจำนอง คืนมาให้แก่เสกผู้เป็นคนรัก ความฝันของคนทั้งคู่ (หรือเปล่า? เราก็ไม่อาจทราบได้อย่างชัดเจน) จึงมุ่งหวังจะใช้ที่แห่งนี้เป็นเสมือนวิมานแห่งรัก โดยมีโฉนดที่ดินเสมือนเป็นทะเบียนสมรสของทั้งคู่ ทว่าเสกได้เสียชีวิตลงอย่างกะทันหัน (ตกต้นทุเรียนตาย)  จึงทำให้ชีวิตของทองคำคู่ของเขานี้มีความพลิกผันที่จำต้องเผชิญความทุกข์ระทมใจในช่วงเวลาที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมยังไม่ทันมาถึง   แน่นอนว่าบ้านและสวนทุเรียนที่แม้ว่าทองคำจะมีส่วนในการร่วมคิดร่วมร่างสร้างก่อในชื่อของเสกก็กลับกลายตกเป็นมรดกย้อนกลับไปยังผู้เป็นแม่ ซึ่งอยู่ในฐานะผู้ทรงสิทธิ์ได้รับมรดกตามกฎหมายซึ่งได้ โหม๋ ที่แม้คนทั่วไปรับรู้ว่าเธอถูกเก็บมาเลี้ยงในฐานะลูกเลี้ยงและจิ่งนะ (หฤษฎ์ บัวย้อย) น้องชายของโหม๋ก็ต่างเข้ามาเป็นเศษ เพื่อหวังจะได้ถือครองสิทธิ์ของบ้านและสวนทุเรียนเช่นกัน ความสัมพันธ์ในลักษณะขัดแย้งนี้จึงเป็นที่มาของการที่ทองคำต้องทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อทวงคืนบ้านและสวนทุเรียนที่เขาสร้างกลับคืนมาโดยที่โหม๋ก็พร้อมที่จะช่วยแม่แสงแย่งชิงในฐานะกรรมสิทธิ์ของครอบครัวด้วยเช่นกัน

มาถึงตรงนี้ทั้งคนที่ได้ดูวิมานหนามมาแล้ว ผู้เขียนหรือใครหลาย ๆ คนก็คงมีคำถามขึ้นมาบ้างว่าอะไรกันนักกันหนาที่ทำให้สองฝ่ายคู่ขัดแย้งนี้ต้องมาเชือดเฉือนด้วยการแหกแบแผลชีวิตแสนบัดซบ คำตอบของผู้เขียนคงไม่ใช่ความไม่รู้จักพอหรือความไม่รู้จักประมาณตนแต่อย่างใด ทว่าเกิดจากความขาดพร่อง ความไม่เคยได้ไม่เคยมีอย่างสุดโต่งเลยต่างหาก ที่แม้ว่าการดำเนินไปของเนื้อหาจะมีการหุ้มเปลือกห่อแกนเรื่องในทำนองแม่ผัวลูกสะใภ้ (สองคน-สองรูปแบบ) และมีเส้นเรื่องที่ไม่ได้ซับซ้อนมาก แต่กลับพบว่าระหว่างทางของเรื่องราว ตัวละครทุกตัวมีการขุดหน่อและเอาหนามในตัวออกมาปกป้องตัวเองและทำลายผู้อื่นผ่านการชิงดีชิงเด่น ชิงโง่ชิงฉลาด หาเหลี่ยมหามุมบนความได้เปรียบเสียเปรียบทางกฎหมายหรือสถานะสังคม ตลอดจนบทสนทนาที่จิกกัดเผ็ดแสบจนต้องร้องอื้อหือก่อนจะคลี่คลายทะลุหนามแหลมคมเข้าไปพบเนื้อในของความเป็นมนุษย์ที่ละคนถูกความบัดซบของสังคมสารพัดกดทับเอาไว้ ขณะเดียวกันความรักและความไว้ใจอันแสนที่จะหอมหวานในหลาย ๆ ครั้งสำหรับคนบางคนซึ่งมีรสนิยม สถานภาพและสถานการณ์ก็เปรียบเสมือนหนามแหลมคมของราชินีผลไม้อย่างทุเรียน

แม้ราวหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ปรากฏบทวิเคราะห์วิจารณ์ตามสื่ออยู่มากมาย หลายข้อเขียนมีการตีความให้เห็นว่าวิมานหนามมีสัญญะสอดแทรกตลอดเรื่องให้ผู้ชมสามารถตีความทั้งทางตรงและทางอ้อมได้ ทั้งในเรื่องที่ตั้งของสวนทุเรียนว่าทำไมต้องเป็นแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นจังหวัดที่ติดอันดับในเรื่องความยากจนของประเทศ และทำไมต้องไปถ่ายทำที่จังหวัดตราด ซึ่งเป็นจังหวัดที่ขึ้นชื่อหรือมีชื่อในเรื่องผลไม้ดีมีราคาแพงอย่างทุเรียน แน่นอนว่าจุดร่วมของทั้งสองจังหวัดที่ถูกลากยาวไปไกลถึงเหตุผลว่าด้วยความไม่เท่าเทียมทางโอกาสของผู้คนจากกรณีที่จังหวัดทั้งสองไม่มีโรงภาพยนตร์ ซึ่งการขัดแย้ง (Contrast) ทั้งในเชิงพื้นที่และในเชิงสภาพเศรษฐกิจของจังหวัดทั้งสองนี้ กลายเป็นที่มาของการประกอบสร้างของฉาก บรรยากาศและโทนของแสงสีที่จะมีส่วนช่วยให้เกิดการถ่ายทอดผลงานที่ดีและมีคุณภาพ สะท้อนกลิ่นไอของภาพยนตร์ประเภททริลเลอร์ (thriller) ปั่นประสาทที่ใช้มุมกล้องและการตัดต่อถ่ายทอดความเป็นต่างจังหวัดออกมาได้สละสวยอย่างสากลมาก

ภาพสำหรับการเล่ายังทำหน้าที่เล่าเรื่องความไม่สมบูรณ์แบบของโครงสร้างพื้นฐานในต่างจังหวัดมากหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการเดินทางจากดอยห่างไกลลงมาสู่หมู่บ้าน เช่นฉากที่โหม๋พาแม่แสงซ้อนรถมอเตอร์ไซด์ลงจากดอยเพื่อจะไปให้ทันการเซ็นต์ใบผ่าตัดให้เสก หรือความแน่นหนาของโรงพยาบาลต่างอำเภอในจังหวัดห่างไกลที่ต้องอาศัยคนไปรับและส่งแม่แสงในการทำกายภาพบำบัดอยู่เป็นประจำ ตลอดจนการเดินทางและระบบขนส่งสาธารณะที่ถูกจำกัดไว้เพียงไม่กี่รูปแบบอย่างเช่น รถสองแถว เป็นต้น                        สิ่งเหล่านี้ได้ถูกเล่าผ่านภาพของภาพยนตร์ซึ่งถือว่าเป็นการขับเน้นให้เห็นถึงเรื่องราวที่ถ่ายทอดออกมาว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ให้ความสำคัญต่อแง่มุมทางเศรษฐกิจการเมือง ผ่านสัญญะความแตกต่างระหว่างเทศะหรือพื้นที่ (Space) ต่าง ๆ อย่างเช่นบ้านสวนกระหล่ำของแม่แสงและโหม๋ที่เกือบจะไม่มีสภาพที่เรียกว่าบ้านได้ในสายตาผู้คนทั่วไปกับบ้านไม้มุงสังกะสีที่มีเครื่องอำนวยความสะดวกของทองคำและเสก บ้านกลางสวนหรือบ้านบนดอยกับพื้นที่ของเมืองที่มีซุปเปอร์มาร์เก็ต (อย่าง Big C mini ที่โหม๋พาแม่แสง เข้าไปซื้อแซนวิช) หรือแม้กระทั่งการแต่งตัวแนวฉูดฉาดทันสมัยที่แอบมีความแรดและร้ายของทองคำกับผู้คนในถิ่นที่ ตลอดจนชื่อของภาพยนตร์อย่างคำว่า “วิมาน” ที่มี “หนาม” (ทุเรียน)  เป็นต้น ทั้งนี้ ตัวละคร บทสนทนา การแต่งตัว สัญญะองค์ประกอบศิลป์ต่าง ๆ ได้ทำหน้าที่เป็น “ตัวบท” (Text) ให้เราสามารถจะตีความเพื่อถอดรหัสได้เกือบทุกอณู แน่นอนว่าตัวบทที่ว่ามาทั้งหมดนี้ได้ถูกจัดวางตำแหน่งแห่งที่ไว้ใน “บริบท” (Context) ในที่ห่างไกลความเจริญ ขาดความสมบูรณ์แบบของโครงสร้างพื้นฐานในต่างจังหวัดอย่างแม่ฮ่องสอน

เมื่อมีการใช้แม่ฮ่องสอนอถ่ายทอดฉากชีวิตและความเป็นไปของตัวละคร จุดแข็งอย่างหนึ่งที่ผู้เขียนไม่อาจละเลยที่จะไม่ชื่นชมนั่นคือ ภูมิประเทศและศิลปวัฒนธรรมที่เล่าผ่านภาพของสภาพบ้านเรือนที่อยู่อาศัยและเสื้อผ้าหน้าผมที่สะท้อนภาพตัวแทนของความเป็นจังหวัดแม่ฮ่องสอนสำหรับการถ่ายทอดเรื่องราวของเรื่องก็เป็นเครื่องไม้เครื่องมือสำหรับการเก็บรายละเอียดให้มีความสมจริงหรือใกล้เคียงความจริงทั้งในด้านในขณะที่อีกด้านหนึ่งประเด็นทางวัฒนธรรม ก็อาจถูกนำไปใช้เป็นกลยุทธ์เพื่อให้เรื่องราวและเนื้อหาในภาพยนตร์สามารถเกิดการดำเนินต่อไปได้อย่างไร้รอยต่อ ทั้งพิธีกรรมและความเชื่อของคนไทใหญ่ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนก็ได้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการคลี่คลายความสัมพันธ์ที่ขัดแย้งกันระหว่างตัวละครอย่างเช่น พิธีกั่นตอ ที่มีลักษณะคล้ายกับการขอขมา ทว่ามีความหมายมากกว่านั้นซึ่งเป็นการขอโทษ ขออภัยที่ล่วงล้ำกล้ำเกินและขอขมาจากผู้น้อยที่มีต่อผู้ใหญ่ เมื่อผู้น้อยได้ทำพิธีกั่นตอแก่ผู้ใหญ่เป็นที่เรียบร้อยแล้วก็จะได้มีการละลดปลดโทษและให้อภัยซึ่งกันและกันโดยไม่ถือโทษโกรธความ ผู้เขียนจึงมองว่าพิธีกรรมนี้เป็นกลยุทธ์แรกของทองคำที่ใช้กับแม่แสงเพื่อเป็นการเปิดบานประตูแห่งความไว้วางใจ (Trust) ในการที่เขาจะกลับเข้ามาอยู่อาศัยในบ้านหลังเดิม (เพิ่มเติมคือการทวงคืนสิ่งที่ควรเป็นของเขาตั้งแต่แรกกลับคืนมา) นอกจากนี้ พิธีกรรมและความเชื่อของคนไทใหญ่ที่มีชีวิตผูกพันอย่างมั่นคงกับพระพุทธศาสนา อย่างการได้เป็น “พ่อศีลแม่ศีล” หรือ “พ่อออกแม่ออก” หรือเป็นเจ้าภาพในการบรรพชาอุปสมบทนั้น ถือเป็นการสร้างกุศลที่ยิ่งใหญ่หาได้เปรียบ การที่ทองคำรับรู้ดีถึงประเพณีดังกล่าวนี้คงจะเป็นช่องทางที่เขาสามารถใช้สถานภาพทางเพศที่เป็นชายของเขาทำหน้าที่ดึงความไว้วางใจจากแม่แสงมาไว้ที่ตัวเขาได้ดีอย่างยิ่ง นี่จึงเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ “เพศชาย” อย่างทองคำถือไพ่หรือมีแต้มต่อในมือที่มากกว่าโหม๋ พื้นที่ทางศาสนาจึงเป็นข้ออ้างสำคัญของการทำให้เขาเลือกขยับสถานะจาก “ลูกเขย/ลูกสะใภ้” ของแสงมาสู่การเป็น “ลูกศีลลูกธรรม” ที่ขยับความสัมพันธ์ผ่านความเชื่อให้เข้ามาใกล้เพื่อเพิ่มความไว้วางใจในอีกระดับหนึ่งนี่เป็นสิ่งที่โหม๋ไม่สามารถทำให้แก่แม่แสง ได้โดยสิ้นเชิง

ในบทของภาพยนตร์ยังได้มีการใช้ชื่อของตัวละครที่ได้มีการตั้งชื่อได้อย่างสัมพันธ์กับวัฒนธรรมการตั้งชื่อของคนไทใหญ่ ผู้เขียนของอ้างอิงข้อมูลจากคุณชูชาติ ใจแก้ว นักวิชาการจากพิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขงมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาและวัฒนธรรมไทใหญ่ได้กรุณาเล่าที่มาที่ไปของชื่อตัวละครในเรื่องวิมานหนามซึ่งตัวละครหลายคนในเรื่องนี้เป็นชาวไทใหญ่อย่างแน่นอนทั้ง “โหม๋” (แท้ที่จริงแล้วควรเขียนอยู่ในรูปของโหม) ชื่อนี้มีที่มาจากภาษาไทใหญ่เขียนว่า မူဝ် แปลว่า “บัว” หรือดอกบัว ดังนั้นเธอจึงมีนามว่า “บัว” หรือเรียกไพเราะได้ว่าน้องบัว ขณะที่ตัวละครที่น้องชายอย่าง “จิ่งนะ” เขียนเป็นภาษาไทใหญ่ได้ว่า ၸိင်ႇၼ ซึ่งชื่อนี้เป็นที่นิยมสำหรับคนไทใหญ่ในพื้นที่ลุ่มน้ำคงหรือแม่น้ำสาละวินนิยมตั้งชื่อกัน ความหมายคือคนกล้าหาญหรือเพชร อาจจะเรียกพี่เพชรหรือพี่กล้า ก็ดูน่ารักไปอีกแบบหนึ่ง ขณะที่ “แสง” หรือแม่แสงหรือนางแสงนั้นเขียนเป็นได้ว่า သႅင် ซึ่งเป็นชื่อที่ชาวไทใหญ่มักใช้สำหรับตั้งเป็นชื่อเรียกโดยสามารถใช้ได้ทั้งชายและหญิง เช่น นางแสง (ผู้หญิง) จายแสง (ผู้ชาย) เป็นต้น ซึ่งคุณชูชาติสรุปทิ้งท้ายว่าทั้งโหม๋ จิ่งนะและแสง เป็นชื่อที่สะท้อนถึงความนิยมในการตั้งชื่อของชาวไทใหญ่ ในขณะที่คำว่า “เสก” ซึ่งเป็นตัวละครเปิดเรื่องนี้ไม่ได้มีปรากฏว่าเป็นชื่อคนในภาษาไทใหญ่ยุคก่อนเก่าแต่อย่างใด หากแต่ยุคปัจจุบันก็คงจะใช้ชื่อนี้เป็นชื่อร่วมสมัยโดยทั่วไป  แน่นอนว่าในเรื่องไม่ได้มีการบอกว่า “เสก” มีชื่อไทใหญ่หรือชื่อในภาษาชาติพันธ์ดั้งเดิมหรือไม่ แน่นอนว่าการเปลี่ยนชื่อให้มีความเป็นไทยและมีความร่วมสมัยนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้คนชาติพันธุ์อย่างหลากหลาย “เสก” ก็จึงอาจเป็นชื่อใหม่ที่เขาตั้งขึ้นเองโดยมีคนตั้งให้ในกรณีที่เขาผ่านระบบการศึกษาสมัยใหม่ซึ่งก็มักจะมีครูคอยตั้งชื่อที่สะท้อนความเป็นไทยและความร่วมสมัยให้กับคนชาติพันธุ์ หรือไม่ก็ในกรณีที่เขาเคยมีการอพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามาหางานทำในตัวเมือง ซึ่งประเด็นที่กล่าวมานี้เป็นประเด็นนอกตัวบทภาพยนตร์ แต่ผู้เขียนยังยืนยันว่าความคิดและจินตนาการเราสามารถใคร่ครวญถึงความเป็นมาและเป็นไปของตัวละครได้ในหลากหลายมิติ 

หากพิจารณากันดีพอเราก็จะเห็นได้ว่าจุดเริ่มต้นของวิมานหนามตามขอบเขตที่ภาพยนตร์ได้บอกเล่าและไล่เรียงเรื่องราวให้แก่เขานั้นไม่ได้เริ่มต้นจากสวนทุเรียนที่ทองคำและเสกได้สร้างร่วมกันมาแต่อย่างใดหากแต่เริ่มอย่างจริง ๆ จังเมื่อภาพยนตร์ให้ข้อมูลว่าที่ดินที่เป็นสวนทุเรียนปัจจุบันนี้พ่อของเสกได้เคยนำโฉนดที่ดินไปจำนองไว้แล้วพ่อของเขาก็ได้ตายจากไป เพราะเราไม่รู้ว่าเหตุการณ์ในชีวิตของเสกช่วงนั้นจะเป็นอย่างไร เขาอาจจะย้ายถิ่นฐานเพื่อไปทำงานในเมือง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองเชียงใหม่) เพื่อหารายได้กลับมาไถ่ถอนที่ดินซึ่งพอเขาได้นำเอาไปติดจำนอง หรือตัวของเขาเองอาจจะอยู่ในช่วงวัยเรียนในวิทยาลัยเกษตรกรรมสักที่สักแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ที่ต่อมาเมื่อพ่อเขาตายจากไปก็ต้องได้ออกมาหางานทำ ตัวของเหตุการณ์เหล่านี้อาจจะดูเป็นประเด็นที่มีความฟุ้งเฟ้อจากการคิดและการจินตนาการไปเองของผู้เขียน แต่หากถามคำถามในเชิงความเป็นไปได้ที่ว่าแล้ว “ทองคำ” ซึ่งมีถิ่นฐานเป็นคนเมืองที่อาศัยและเติบโตในจังหวัดเชียงใหม่กับ “เสก” ซึ่งมีถิ่นฐานเป็นคนชาติพันธุ์ที่อาศัยและเติบโตในจังหวัดแม่ฮ่องสอน แล้วคนจากสองถิ่นที่นี้ มีโอกาสจะพบเจอกันได้ที่ไหนหรือพบเจอกันได้อย่างไรพอถามคำถามนี้ ก็คงพอที่จะสามารถใช้เป็นข้อมูลในการปฏิบัติต่อเพื่อจินตนาการให้เห็นความเป็นไปได้ในเหตุผลการมาและการไปของตัวละครในเรื่อง

มีข้อมูลทั้งในรูปแบบงานวิจัยและวิทยานิพนธ์หลายเล่ม ตลอดจนแหล่งข้อมูลจากองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านสุขภาพทางเพศและพนักงานบริการในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาแต่ไม่มีการยืนยันถึงการดิ้นรนของชายหนุ่มชาติพันธุ์จากพื้นที่ชนบทห่างไกลในพื้นที่ภาคเหนือที่กลางได้ดิ้นรนขวนขวายเข้ามาแสวงหางานทำในเมืองใหญ่อย่างเชียงใหม่ อาจจะด้วยข้อจำกัดของวุฒิการศึกษา สัญชาติ และทุนในการประกอบอาชีพทำให้ชายหนุ่มเหล่านี้ที่มีต้นทุนในเรื่องรูปร่างหน้าตาสามารถเข้าสู่วงจรของการใช้เรือนร่างเป็นสินค้าเพื่อหาเลี้ยงชีพทั้งในรูปแบบการขายบริการทางเพศโดยตรง ในรูปแบบพนักงานบริการให้ความสุขที่เรียกว่าบาร์โฮส เด็กเอ็นทั้งประเภทเอ็นแบบธรรมดาหรือเอ็นแบบวีไอพี หรือการใช้ชีวิตปกติทั่วไปในพื้นที่เมืองโดยประกอบอาชีพเป็นลูกจ้างตามพื้นที่ขายสินค้าและการบริการทั่วไปโดยมีการรับจ๊อบอื่น ๆ เป็นอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มเติมรายได้ เราปฏิเสธไม่ได้ว่ามีคนเหล่านี้ที่ใช้พื้นที่เรื่องเพศและรสนิยมเป็นเครื่องมือในการแสวงหาโอกาสที่ดีให้กับชีวิตและความก้าวหน้า ตลอดจนความกินดีอยู่ดีของตัวเอง แม้ชายหนุ่มบางคนจะมีลูกมีเมียแล้วก็ตาม ในขณะที่คนทั้งบ้านก็จะมีทั้งในรูปแบบของรับรู้ว่าสามีของตนทำงานอะไรอยู่ที่เชียงใหม่ หรือบางคนก็รู้แต่พยายามที่จะมองข้ามหรือปิดตาข้างเดียว แล้วทำหน้าที่เป็นศรีภรรยาในการดูแลลูกและครอบครัวโดยรอการส่งงานกลับไปยังประเทศต้นทาง เรื่องเล่าเหล่านี้เป็นที่รู้กันดีในเหล่าบรรดาผู้นิยมนักเที่ยวกลางคืนรวมทั้งตัวผู้เขียนเองด้วยก็ขอยอมรับในที่นี้ ประสบการณ์และเรื่องเล่าที่ได้ยินมาในข้างต้นนี้อาจจะประมวลเพื่อตัดสินชีวิตของตัวละครอย่างเสกในวิมานหนาม ได้ไม่มากก็น้อย

การที่คนสองคนมีวงจรการใช้ชีวิตที่คล้ายคลึงกันแล้วมาประสบพบเจอกันจึงไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ผิดแปลกแต่อย่างใด ความเป็นไปได้อย่างหนึ่งซึ่งอยู่นอกเหนือตัวบทของวิมานหนามอันพอจะอนุมานได้ถึงที่มาที่ไปของตัวละครได้ก็อาจเป็นไปในรูปแบบที่ว่าทองคำพื้นเพเดิมเป็นเกย์และคนที่ชอบเที่ยวซึ่งอาจจะมาพบเจอกับเสก ซึ่งเป็นไบ จากกันมาค้นพบตัวตนของตนเองทีหลังเมื่อเข้ามาใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่เมือง พวกเขาทั้งสองอาจมีความเป็นไปได้ที่จะเริ่มสานความสัมพันธ์ผ่านการเป็นลูกค้าแล้วขยับมาสู่เพื่อน  จนกระทั่งเลื่อนมาเป็นคู่ชีวิตที่มีความเหมาะสมและลงตัวระหว่างกัน ความเหมาะสมอาจจะมองจากจุดยืนของทองคำ ซึ่งในหนังก็ระบุถึงความระส่ำระสายที่ครอบครัวหรือแม่ของเขาต้องไปทำงานอยู่ที่นครไทเป ประเทศไต้หวัน ที่ใช้ชีวิตในเมืองอย่างโดดเดี่ยวแล้ววันหนึ่งพอทองคำได้มาเจอเสก ทองคำจึงเลือกที่จะทิ้งทุกอย่างแล้วย้ายมาลงหลักปักฐานอยู่แม่ฮ่องสอนกับเสก เขาจึงเลือกที่จะใช้ชีวิตอย่างมีน้ำอดน้ำทนกว่า 5 ปีเพื่อที่จะร่วมลงทุนในการสร้างสวนทุเรียนขึ้นในที่ดินที่พ่อเสกได้นำเอาไปจำนองรวมทั้งไถ่ถอนที่ดินดังกล่าวให้เป็นชื่อของเสก แน่นอนว่านี่อาจเป็นการสร้างวิมานรักกลางสวนทุเรียนโดยมีโฉนดที่ดินทำหน้าที่แทนไปทะเบียนสมรส ซึ่งเราไม่อาจรู้ได้โดยแน่ชัดว่าเสก มีจุดยืนในเรื่องความรักอยู่ในจุดเดียวกันกับทองคำหรือไม่ เพราะแม้ว่าเสกเองจะนำดอกทุเรียนดอกแรกทำเป็นช่อเพื่อขอทองคำแต่งงาน แต่การกระทำอะไรในทำนองนี้เสกเองก็เคยนำใบกะหล่ำทำเป็นดอกเพื่อมอบให้โหม๋ในฐานะภรรยาของตนอีกคนหนึ่งเช่นเดียวกัน ทว่าเป็นภรรยาทำหน้าที่ในการเลี้ยงและดูแลแม่แสงแทนเขาในขณะที่เขาย้ายถิ่นฐานเข้าไปในเมืองเพื่อหางานทำจนกระทั่งได้มาพบกับทองคำแล้วตัดสินใจพาทองคำย้ายมาสร้างบ้านที่สวนทุเรียน พร้อมบอกกับทองคำหรือคนอื่น ๆ ว่าโหมคือน้องสาวบุญธรรมที่แม่เก็บมาเลี้ยง แม้ฉากการปะทะคารมตรงประตูห้องน้ำจะนำมาสู่ความใส่ใจของผู้ชมหลาย ๆ คน ขณะที่ทองคำกำลังตีตราบอกกับโหม๋ ในทำนองที่ว่าเธอก็มีสถานะเป็นแค่คนใช้ที่เขาเก็บมาเลี้ยง สายตาที่โหม๋มองกลับมาที่ทองคำไม่ใช่สายตาแห่งความน้อยเนื้อต่ำใจที่ถูกตราหน้าว่าเป็นคนใช้แต่อย่างใด ทว่าเป็นสายตาแห่งความโกรธแค้นที่ไม่สามารถพูดอะไรออกไปได้ว่า “กูไม่ใช่คนใช้ แต่กูก็มีสถานะเป็นเมียของพี่เสกอีกคนนึงเช่นเดียวกันกับมึงนี่แหละ” นั่นจึงเป็นความคับข้องใจและสะท้อนถึงสถานะขั้นต่ำต้อยอย่างถึงที่สุดของโหม๋ที่นอกจากสามีผู้ล่วงลับของตนจะไม่ยกย่องตัวเองแล้วยังอธิบายตนเองให้กับคนอื่นว่าเธอมีสถานะเป็นเพียงแค่คนรับใช้อีกต่างหาก

ประเด็นถัดมาก็คือ เอาเข้าจริงแล้ว จิ่งนะกับทองคำ เคยเจอเคยรู้จักหรือเคยสัมพันธ์อย่างหนึ่งอย่างใดมาก่อนหน้าหรือไม่ เหตุใดทองคำจึงดูจะหลบลี้หนีหน้าจิ่งนะ  มากกว่าการแสดงออกว่าเขาไม่ชอบหน้า แล้วทำไมเมื่อมีโอกาสได้นอนมุ้งเดียวกัน จิ่งนะถึงได้กล้าที่จะเอื้อมไปกอดทองคำ ข้อสังเกตที่ผู้เขียนมีต่อประเด็นนี้นอกจากจิ่งนะจะอยู่ในฐานะน้องเมียและรับรู้ทุก ๆ ความเป็นไปของเสกแล้ว ประเด็นที่น่าสนใจคือก่อนหน้านี้เขามีโอกาสไปไหนพร้อมกับเสก ด้วยหรือไม่ซึ่งอย่างน้อยเราสามารถที่จะคิดได้จินตนาการว่าเขาเคยย้ายถิ่นฐานเพื่อมาหางานทำพร้อม ๆ กับเสกที่เชียงใหม่ด้วยหรือเปล่า แน่นอนว่าเมื่อเสก กับจิ่งนะมีความจำเป็นต้องย้ายถิ่นฐานเข้ามาในเมืองก็มีความจำเป็นที่จะต้องมีโหม๋เข้ามาทำหน้าที่ดูแลแม่ผู้พิการในฐานะเมียเสียก่อน ด้วยเหตุนี้โหม๋จึงอยู่ในฐานะผู้ที่มาก่อน เผลอ ๆ อาจจะมาตั้งแต่อายุยังน้อย มาแต่ตัวเปล่าโดยที่ไม่ได้มีอะไร ก็เลยต้องพึ่งพาทุกสิ่งอย่างโดยเฉพาะในทางเศรษฐกิจจากเงินที่เสกส่งกลับมาให้แม่แสง และการตัดกะหล่ำเพื่อขายที่คงจะสร้างกำไรได้เพียงแค่โลละไม่กี่บาทเท่านั้นเอง 

ดร.ธรรศ ศรีรัตนบัลล์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ซึ่งเป็นนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญในด้านไทใหญ่ศึกษาโดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนได้กรุณาให้ข้อมูลแก่ผู้เขียนว่าเด็กไทใหญ่หรือเด็กชาติพันธุ์ในพื้นที่ห่างไกลในจังหวัดแม่ฮ่องสอนส่วนหนึ่งค่อนข้างขาดแคลนโอกาสในการเข้าระดับการศึกษาในระบบ คนเหล่านี้มากมีแนวโน้มที่จะแต่งงานเมื่อมีอายุน้อย และอยู่กันได้ยังไม่มั่นคงและยั่งยืนเท่าใดนัก ผู้หญิงใครส่วนงานถูกอบรมพร้อมเพาะให้เป็นกุลสตรีที่ดีที่ต้องอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน ตลอดจนการดูแลแม่สามี ซึ่งตัวละครอย่างโหม๋คงจะทำหน้าที่สวมบทบาทผู้หญิงในอุดมคติดังกล่าว ภายใต้ข้อจำกัดของชีวิตที่ไม่ได้มีต้นทุนอะไรเท่าใดนักทั้งในเรื่องของการศึกษา วิชาความรู้ เงินทอง แม้กระทั่งเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่ต้องรอรับต่อจากแม่แสงหรือเป็นเสื้อผ้าที่แม่แสงซื้อให้ แม้เธอเองเคยมีความฝันที่จะเข้าไปทำงานในกรุงเทพฯ แต่ชีวิตครอบครัวที่ต้องแต่งงานและดูแลครอบครัวของสามีตั้งแต่เล็กก็เป็นสิ่งที่พรากความฝันของเธอ

ขณะที่จิ่งนะ ผู้เป็นน้องชายถ้าเราอุปมาว่าเขามีที่ทั้งชีวิตซึ่งเป็นไปในแบบเดียวกันกับเสก ตัวของจิ่งนะอาจมีโอกาสในการเคยพบเจอหรือรู้จักทองคำมาก่อนหน้านี้ แน่นอนว่าเขาอยู่ในฐานะคนที่แอบชอบทองคำอยู่ลึก ๆ ในใจอย่างปฏิเสธไม่ได้ ทว่าทองคำเป็นของเสกผู้ซึ่งน่าจะถือได้ว่าประสบผลสำเร็จในการย้ายถิ่นฐานเข้าไปทำงานในเมืองที่อย่างน้อยก็ได้ “ได้แฟน/ผัว/เมีย”ที่พอมีฐานะอย่างทองคำ กลับมาลงทุนหรือสร้างต้นทุนชีวิตใหม่ให้แก่ตนเองและแผ่เผื่อไปถึงแม่ แต่นั่นก็ยังไม่ใช่ความสำเร็จโดยสมบูรณ์เพราะต้องใช้เวลากว่า 5 ปี กว่าทุเรียนจะโตเต็มที่และได้ขาย  ในขณะที่จิ่งนะน่าจะไม่ประสบผลสำเร็จก็เลยกลับมารับจ้างทั่วไปหรืออื่นใดในถิ่นฐานเดิมของเขา

ทุก ๆ เรื่องราวและการก้าวขยับของตัวละครโดยเฉพาะรายละเอียดของการเปลี่ยนมือผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งในส่วนของบ้านและสวนทุเรียนนั้นน่าจะอยู่ในทุก ๆ ความรับรู้ของแสงผู้เป็นแม่ รวมทั้งโหม๋และจิ่งนะมาโดยตลอด กระบวนการแย่งยึดที่จึงเกิดขึ้นตามมาทันทีอย่างเป็นระบบซึ่งมีทั้งการรับและส่งต่อระหว่างแม่ผัวและลูกสะใภ้ฝ่ายหญิง (ที่อาจขอความรู้ทางกฎหมายได้จากทางผู้ใหญ่บ้านหรือปลัดอำเภอที่ตอนหลังก็มาแต่งงานกับเจ้าหล่อนเอง) ซึ่งในท่ามกลางการขับเคี่ยวระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในบ้านและสวนทุเรียนนั้นคนที่น่าสงสารที่สุด น่าจะเป็นภรรยาทั้งคู่ของเสกทั้งภรรยาทั้งคู่ กล่าวคือ ทั้งภรรยาฝ่ายชาย (ทองคำ) และภรรยาฝ่ายหญิง (โหม๋) และเผลอๆ คนที่ร้ายที่สุดในเรื่องราวทั้งหมดทั้งสิ้นนี้ก็คือ แม่แสงกับเสก แต่ทว่าคนน่าสงสารมากที่สุดในเรื่องของ ทองคำกับโหม๋ และพูดอย่างไม่ถนอมน้ำใจนั่นก็คือ คนอย่างจิ่งนะคือตัวประกอบสำคัญของเรื่องที่โดดเด่นดูดีที่หน้าตา ทว่าผู้เขียนกลับมองว่าตัวละครนี้กลับไม่เป็นสลักสำคัญอะไรที่นอกเหนือไปจากคอยประกอบสร้างความฟินส์ให้กลุ่มแฟนคลับแนวซีรีส์วายที่สรุปของเขาเองนั้นถูกทำให้ตายฟรีๆ โดยไม่ได้มีความหมายใดๆเลยใดๆเลยมากไปกว่าการช่วยเป็นสิ่งหล่อเลี้ยงในเรื่องความรู้สึกให้กับทองคำหรือเป็นตัวแทนของเสกเท่านั้น 

ฉากหลังความเป็นการเมืองอัตลักษณ์ในประเด็นต่างๆหลายๆมิติที่นำเสนอผ่านเรื่องราวของหนามชีวิตนั้น เผลอๆก็ยังซุกซ่อนไปด้วยประเด็นความปากกัดตีนถีบ การย้ายถิ่นฐานเข้าเมืองเพื่อหางานทำ ตลอดจนความทับซ้อนเชิงอัตลักษณ์ (Intersectionality) ซึ่งมุมมองดังกล่าวนี้สามารถเป็นกรอบคิดให้เราพิจารณาปรากฏการณ์และประเด็นในภาพยนตร์เรื่องวิมานหนามนี้ตัดข้ามประเด็นเพศสภาพและเพศวิถี เชื่อมโยงมาสู่ประเด็นชาติพันธ์ตลอดจนประเด็นชนชั้นทางเศรษฐกิจอันเป็นประเด็นเชิงโครงสร้างและมูลฐานของความไม่เท่าเทียมกัน มากกว่าจะมองประเด็นสมรสเท่าเทียมในฐานะไม้ประดับของเรื่องราวที่ถ่ายทอดไว้ในภาพยนตร์ (แม้ GDH จะนำเสนอเรื่องราวในทำนองนี้ผ่านการโหมกระแสออกมาเยอะกว่าประเด็นอื่น ๆ ) แต่สิ่งที่ปรากฏเป็นประเด็นในภาพยนตร์ที่นักวิจารณ์หลายคนมองข้ามไปนั่นคือการเข้าไม่ถึงทรัพยากรของกลุ่มบุคคลชาติพันธุ์ชายขอบ ระบบปิตาธิปไตย ตลอดจนความไม่สมบูรณ์แบบของโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมที่สร้างความไม่ฟรีและไม่แฟร์ในเชิงระบบมาตั้งแต่แรกไม่ใช่ไม่ฟรีและไม่แฟร์แค่โอกาสในการเข้าถึงโรงภาพยนตร์เพื่อจะได้ดูหนังดี ๆ แต่ความจำเป็นแก่เขาถือโอกาสการมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

ชนชั้นกลางระดับล่างที่ค่อนมาทางปีกซีกซ้ายในทางเศรษฐกิจการเมือง ร่ำเรียนมาทางด้านการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ชื่นชอบประเด็นทางสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และการเมืองร่วมสมัย เป็นคนให้ความสนใจประเด็นล้านนาคดีทั้งในมิติประวัติศาสตร์ สังคมวัฒนธรรมและวรรณกรรมล้านนา (อยู่บ้างเล็กน้อย) แม้ตัวเองไม่ใช่คนดีย์แต่ยังคงมีการครุ่นคิดและสงสัยว่า ตัวเองนั้นเป็นนักกิจกรรม (Activist) และเป็นผู้นิยมมาร์กซ (Marxist) อยู่หรือเปล่า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง