กำหนดเขตอนุรักษ์เต่าปูลู นักวิชาการ-ชาวบ้าน ลงพื้นที่ศึกษาเต่าปูลู ลุ่มน้ำอิงตอนปลาย ห่างชุมชน 800 เมตร

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ทางสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ร่วมกับทางอาจารย์ฉัตรพรรษ พงษ์เจริญ อาจารย์ภาควิชาวิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ลงพื้นที่ศึกษาแหล่งที่อยู่อาศัยเต่าปูลู หลังจากได้รับแจ้งจากผู้นำชุมชนบ้านงามเมือง หมู่ 11 ตำบลยางฮอม อำเภอขุนตาล จังหวัดเชียงราย ว่ามีคนในชุมชนพบเจอตัวเต่าปูลูในลำห้วยแดงเมือง บริเวณน้ำตกถ้ำบึ่ง ห่างจากชุมชนไปประมาณ 800 เมตร

ชาวบ้านเจอตัวเต่าปูลูในลำห้วยแดนเมือง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาดอยยาว มีลักษณะเป็นน้ำตก โขดหิน เป็นการพบตัวของเต่าปูลูในรอบ 10 ปีของชุมชนบ้านงามเมือง

นายท่องเที่ยว กองฟู ผู้ใหญ่บ้านงามเมือง หมู่ 11 ตำบลยางฮอม อำเภอขุนตาล จ.เชียงราย เล่าว่า “เต่าปูลูเจอโดยบังเอิญ พอดีลูกบ้านผมได้ขึ้นไปหาหอย ส่องหอยเหล็กจานตอนกลางคืน และที่ตรงน้ำตกถ้ำบึ่ง ส่องเจออยู่บนก้อนหินกำลังจะไต่ลงน้ำ พอลูกบ้านเจอก็โทรศัพท์มาหาผม ผมดีใจมากที่เจอเต่าปูลูที่ไม่เจอนานในรอบ 10 ปีแล้ว นี่คือตัวแรก ภัยคกคามเต่าปูลูส่วนมากจะเป็นคนนอกพื้นที่เข้ามาล่า คนในหมู่บ้านเรามีการห้ามและเชื่อฟังกัน คนต่างบ้านไม่รู้บ้านไหนบ้าง เมื่อ2-3เดือนก่อนชุดชรบ.หมู่บ้านก็ได้ขึ้นมาไล่ จับได้มา5-6 คน ตอนนั้นเรายังไม่ได้ติดป้ายประกาศตัวนี้ก็ได้อะลุ่มอะหล่วย ปล่อยเขาไปเสีย อีกครั้งก็แอบมาหาใกล้กับจุดที่เราเจอเต่าพอดีแต่จับไม่ได้ ลำห้วยนี้เราใช้ร่วมกันระหว่างบ้านแดนเมืองกับบ้านงามเมือง ที่จริงทั้ง2ชุมชนได้อนุรักษ์มานานมากแล้วเป็นป่าชุมชน ผมก็พึ่งมาสานต่อมาเป็นพ่อหลวงบ้านได้2ปีที่ผ่านมาเอง ป่าเรามีเต่าผึ้งด้วย แต่เต่าปูลูเจอในรอบ 10 ปี”

เต่าปูลูหรือเต่าปากนกแก้ว(Big-headed Turtle) เป็นสัตว์กินเนื้อ กินปลา กุ้ง หอย สัตว์น้ำอื่นๆ รวมถึงผลไม้ป่าเป็นอาหาร กินเหยื่อโดยการฉกงับ เต่าปูลูมีเล็บแหลมคมมีความสามารถปีนป่ายขอนไม้ หรือโขดหินได้เก่ง หากินในเวลาตอนเย็นหรือกลางคืน ส่วนกลางวันจะหลบซ่อนตามซอกหิน ในฤดูหนาวจะจำศีลซ่อนตัวอยู่ตามหลืบหินหรือโพรงน้ำในลำห้วย เต่าปูลูเมื่อยังเล็ก กระดองจะมีลายสีเหลืองและสีน้ำตาล ส่วนตัวเต็มวัยสีเปลี่ยนไปเป็นสีน้ำตาลเขียวมะกอก ผสมพันธุ์ในน้ำ วางไข่คราวละ 3–5 ฟอง ไข่เปลือกแข็งสีขาว รูปทรงกระบอกหัวท้ายรี ยาวประมาณ 4 เซนติเมตร วางไข่ตามพงหญ้าริมฝั่งล้ำห้วยในช่วงฤดูแล้งประมาณเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน ไข่ฟักตัวออกลูกประมาณเดือนสิงหาคม

เต่าปูลูมีหัวขนาดใหญ่ ไม่สามารถหัวหดเข้ากระดองได้ เคลื่อนไหวได้รวดเร็ว สามารถปีนต้นไม้และก้อนหินได้ ขาและเท้ามีขนาดใหญ่และแข็งแรงหดเข้ากระดองไม่ได้ ขาหน้าและขาหลังของเต่าปูลูมีเกล็ดหุ้มทั้งหมด ตั้งแต่โคนขามีเกล็ดขนาดใหญ่ ฝ่าเท้ามีเกล็ดขนาดเล็กลงมา นิ้วมีเกล็ดหุ้ม มีเล็บแหลมคม ขาหน้ามี 5 นิ้ว ขาหลังมี 4 นิ้ว มีเยื่อพังผืดเล็กน้อยยึดระหว่างนิ้วเกือบถึงโคนเล็บ หางมีขนาดใหญ่ บริเวณโคนหางและโคนขาหลังมีเดือยหนังแหลมยื่นออกมาจำนวนมาก

ทางสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตได้ทำการศึกษาแนวทางการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยเต่าปูลูโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนลุ่มนิอิงตอนปลาย ช่วงปีพ.ศ. 2564-2565 ในพื้นที่ 6 ชุมชนในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำอิงตอนปลาย พบปัญหาภัยคุกคามคือการลักลอบจับเพื่อส่งออกไปยังประเทศเพื่อบ้าน และทางชุมชนได้มีแนวทางการอนุรักษ์เต่าปูลูโดยใช้มติประชาคมหมู่บ้าน ประกาศเขตพื้นที่ห้ามล่าเต่าปูลู ในชุมชนนำร่อง 3 ชุมชนได้แก่ ชุมชนบ้านร้องหัวฝาย หมู่ 12 บ้านพัฒนารุ่งเรือง หมู่ 18 ตำบลห้วยซ้อ อำเภอเชียงของและชุมชนบ้านงามเมือง หมูที่ 11 ตำบลยางฮอม อำเภอขุนตาล จังหวัดเชียงราย

ด้านนายเกรียงไกร แจ้งสว่าง เจ้าหน้าที่ภาคสนาม สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตกล่าวว่า “การเจอตัวเต่าปูลูที่บ้านงามเมือง เป็นการเจอตัวเต่าปูลูเป็นตัวที่ 2 ในช่วงเวลา 3ปี ตัวแรกเราเจอที่ลำห้วยป่าแดง ตำบลยางฮอม อำเภอขุนตาล จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 ใช้เวลา 14 เดือนกว่าจะเจอตัวเต่าปูลูอีกครั้ง ที่ผ่านมาทางสมาคมได้ร่วมกับชุมชนหาแนวทางการอนุรักษ์โดยการสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนแก้ปัญหาภัยคุกคามเรื่องการล่าเพื่อส่งออก รวมถึงการศึกษาองค์ความรู้ท้องถิ่นรวมถึงการศึกษาร่วมกับนักวิชาการ ทั้งการศึกษาระบบนิเวศน์แหล่งที่อยู่อาศัย การติดตามเต่าจากการเก็บตัวอย่างน้ำหาสารพันธุ์กรรมจากธรรมชาติ eDNA  จากการตรวจหา eDNA ก็มีการตรวจพบการมีอยู่ของเต่าปูลู แต่การเจอตัวเต่าในครั้งนี้เป็นการยืนยันว่าในป่าต้นน้ำลุ่มน้ำอิงตอนปลายยังมีเต่าปูลูอยู่”

 ดร.ฉัตรพรรษ พงษ์เจริญ อาจารย์ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า “ผมได้รับการติดต่อจากสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตเข้ามาศึกษาชีววิทยา habitat ของมันอยู่อย่างไร พื้นที่อาศัยเป็นแบบไหน วันนี้ก็โชคดีที่ชาวบ้านแจ้งมาว่าเจอเต่า ก็มาเก็บข้อมูลว่าพื้นที่ที่เจอเต่ามันเป็นอย่างไร เต่าปูลูมีความพิเศษคือมันเป็นเต่าน้ำ สะเทินน้ำสะเทินบก มีลักษณะพิเศษที่ต่างจากเต่าน้ำที่ทุกคนรู้จักคือกระดองค่อนข้างจะแบน  ไม่เหมือนเต่าอื่นกระดองมันจะโค้งๆ ความแบนของมันเพื่อให้มันสามารถซ่อนตัวอยู่ใต้ซอกหินตามน้ำตกตามลำห้วย ลักษณะพิเศษอีกอย่างคือหัวใหญ่มากไม่สามารถหดหัวเข้ากระดอกได้ ปกติเราจะคุ้นชิ้นกับเต่าหดหัว หดขาเข้ากระดอง แต่เต่าปูลูทำไม่ได้สักอย่าง หัวใหญ่ขาใหญ่ หางยาว ดูน่ารัก หางที่ยาวมันช่วยในการปีนน้ำตกโดยเอาหางช่วยค้ำไว้ปีนน้ำตก เต่าปูลูกินสัตว์อื่นเป็นอาหารทั้งการล่าเองและกินซากตามลำห้วย เป็นดัชนีชี้วัด เป็นผู้รักษาสภาพลำน้ำไม่ให้เน่าเสียเพราะมันกินซากสัตว์ที่มันตายในน้ำ มีความสำคัญต่อระบบนิเวศอย่างหนึ่ง แต่ตอนนี้สถานการณ์เต่าปูลูน่าเป็นห่วงสถานที่อยู่ของมันถูกทำลายไปเยอะลำห้วยต่างๆ มีมลพิษ การกั้นลำห้วยลำน้ำนิ่งๆ เต่าปูลูมันชอบน้ำไหล เป็นแอ่ง เป็นวังที่น้ำไหล การไปเปลี่ยนสภาพลำห้วยทำให้พื้นที่อาศัยมันเปลี่ยนไป อีกอย่างคือการล่า เป็นปัญหาสำคัญมาก การล่าที่เอาเต่าออกไปจากพื้นที่ จริงๆแล้วประชากรในธรรมชาติก็มีไม่เยอะ การเอาตัวเต็มวัยที่สามารถแพร่พันธุ์ได้ออกจากพื้นที่ ล่าออกไปสุดท้ายก็ไม่เหลือตัวที่จะสืบพันธุ์ต่อ สถานภาพของมันในปัจจุบันก็เลยกลายเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองของประเทศไทย ห้ามล่า ห้ามจับ ห้ามซื้อ ห้ามขาย ส่วนสถานภาพระดับโลก เป็นEN-endangered เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ทำให้เต่าปูลูมีความสำคัญในระดับประเทศและระดับโลกด้วย โดยส่วนตัวผมว่ามันน่ารักดี เลยชอบที่จะศึกษามัน”

บ้านงามเมือง หมู่ 11 ตำบลยางฮอม อำเภอขุนตาล จังหวัดเชียงราย ได้ทำการประชาคมหมู่บ้าน กำหนดลำห้วยแดนเมืองทั้งสายเป็นเขตอนุรักษ์เต่าปูลู มีคณะกรรมการหมู่บ้านและชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านเป็นคณะทำงานในการสอดส่องดูแลตามลำห้วย หากมีการจับเต่าปูลูในลำห้วยจะมีการปรับ 20,000 บาท และส่งดำเนินคดีตามกฎหมาย เป็นหมู่บ้านนำร่องประกาศเขตอนุรักษ์เต่าปูลู 1 ใน 3 ชุมชนลุ่มน้ำอิงตอนปลาย และทางสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตมีแนวทางการสร้างความร่วมมือขยายแนวทางการสร้างเขตอนุรักษ์เต่าปูลูไปยังชุมชนอื่นๆให้ครอบคลุมชุมชนในเขตป่าต้นน้ำที่สนใจในระยะต่อไป

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง