เมื่อวันที่ 1 พฤษจิกายนที่ผ่านมา สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ นำโดย นายเทอดศักดิ์ เย็นจุระ ผู้อำนวยการกลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน พร้อมด้วย ผู้แทนเทศบาลนครเชียงใหม่ ผู้แทนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผู้แทนคณะวิจิตรศิลป์ ผู้แทนคลังข้อมูลจารึกล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนักวิชาการท้องถิ่น ค้นพบ “จารึกประตูท่าแพ” หรือ “จารึกเสาอินทขีลประตูท่าแพ” เมืองเชียงใหม่ โดยที่ผ่านมามีกลุ่มนักวิชาการบางส่วนให้ข้อมูลว่า จารึกดังกล่าวถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่ ก่อนจะพบว่า จารึกประตูท่าแพ แท้จริงแล้วซ่อนอยู่ภายในโครงสร้างประตูท่าแพในปัจจุบัน
สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ เปิดเผยเพิ่มเติมถึงจารึกประตูท่าแพที่หายไป โดยจารึกดังกล่าว เป็นจารึกที่ถูกฝังอยู่ร่วมกับประตูเมืองมาตั้งแต่อดีต ต่อมาในช่วงปีพ.ศ.2529 – 2530 มีการเคลื่อนย้ายจารึกดังกล่าวในช่วงระยะเวลาที่มีการปรับปรุงประตูท่าแพให้เป็นจุดแลนด์มาร์คของเมืองเชียงใหม่ ก่อนจะหายสาบสูญไปเป็นระยะเวลาเกือบ 40 ปี
จากการศึกษาของ ศ.ประเสริฐ ณ นคร พบว่า จารึกประตูท่าแพ เป็นจารึกอักษรธรรมล้านนา ตารางบรรจุตัวเลข และวงดวงชะตา ข้อความอักษรเมื่อถูกกลับให้ถูกทิศทางแล้ว ถอดความตามส่วนดังนี้ ข้างบนมีข้อความว่า “อินทขีล มังค (ล) โสตถิ” ข้างซ้ายมีข้อความว่า “อินทขีล สิทธิเชยย” ข้างขวามีข้อความว่า “อิน….” และข้างล่างมีข้อความว่า “อินทขีล โสตถิ มังคล” โดยคำสำคัญที่ปรากฏในจารึกหลักดังกล่าวว่า “อินทขีล” เป็นภาษาบาลี แปลว่า เสาเขื่อน เสาหลักเมือง หรือธรณีประตู จึงสรุปนัยสำคัญได้ว่า จารึกหลักนี้ มีความสำคัญในฐานะเสาประตูเมือง
จารึกประตูท่าแพ เป็นศิลาจารึกรูปหลักสี่เหลี่ยม ทำด้วยหินทรายสีเทา อักษรธรรมล้านนา ภาษาบาลี ไม่ปรากฏศักราช กองหอสมุดกำหนดเลขทะเบียนและชื่อศิลาจารึกว่า “ชม. 36” เทคนิคการจารึกถูกค้นพบโดย อ.เรณู วิชาศิลป์ ในปีพ.ศ.2529 ว่าเป็นจารึกตัวหนังสือกลับด้าน จึงสามารถอ่านจารึกประตูท่าแพได้หลังจากผ่านมาหลายสิบปี
ในส่วนของประตูท่าแพนั้น มีชื่อจริงๆ ว่า “ประตูเชียงเรือก” เพราะอยู่ใกล้หมู่บ้านเชียงเรือก สร้างขึ้นครั้งแรกในรัชสมัยพญามังราย เมื่อแรกตั้งเมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ.1839 ส่วนประตูท่าแพของจริงนั้น เดิมเคยตั้งอยู่บริเวณสี่แยกวัดแสนฝาง ซึ่งเป็นประตูของแนวกำแพงเมืองชั้นนอก ต่อมาเมื่อมีการรื้อแนวกำแพงชั้นนอกออกจึงเหลือแต่ประตูเชียงเรือกที่เป็นประตูชั้นใน ชาวบ้านจึงเรียกประตูเชียงเรือกนี้ว่าประตูท่าแพแทน
ในสมัยโบราณ คำว่า “เชียง” หมายถึง “เวียง” หรือ “เมือง” ส่วนคำว่า “เรือก” นั้นมีความหมายอีกอย่างหนึ่งว่า เรือ หรือ เฮือ ซึ่งหมายถึง พาหนะที่ใช้เดินทางไปมาทางแม่น้ำ คู ครอง ฝายเหมือง เป็นต้น ดังนี้ คำว่า “เชียงเรือก” หากพูดเป็นภาษาชาวบ้าน ก็อาจแปลออกมาได้เป็นเชียงเรือ หรือเวียงเรือ ซึ่งก็หมายถืงเมืองของเรือ ที่ขายของทางเรือ หรือสถานที่มีเรือมากก็ว่าได้ เหตุนี้ในสมัยต่อมาจึงถูกเรียกว่าท่าแพ ซึ่งก็มีความหมายเดิม คือที่จอดแพหรือเรือ มีความหมายเดียวกันคือ เมืองของเรือ ที่ขายของทางเรือ หรือสถานที่มีเรือมาก
โดยประตูท่าแพที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนั้น เทศบาลนครเชียงใหม่และกรมศิลปากรได้ร่วมกันสร้างขึ้นมาใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2528 โดยอาศัยหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ประกอบกับภาพถ่ายประตูเมืองเชียงใหม่ประตูหนึ่ง ซึ่งถูกถ่ายไว้เมื่อปีพ.ศ.2422
แม้การค้นพบทางประวัติศาสตร์ดังกล่าวจะเป็นที่น่าปิติยินดี แต่ก็เป็นที่น่าเคลือบแคลงว่าเหตุใดจารึกที่อยู่คู่เมืองเชียงใหม่มาอย่างยาวนานตั้งแต่อดีตกาลจะหายสาบสูญไปเพียงเพราะการขนย้ายเพื่อปรับปรุงทัศนียภาพจุดท่องเที่ยว ไม่แน่ว่าถ้ามีการจดบันทึกอย่างละเอียดถี่ถ้วน เราอาจไม่ต้องใช้เวลาถึง 4 ทศวรรตในการค้นพบที่สำคัญเช่นนี้ก็ได้
อ้างอิง
- ศิลาจารึกประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ (หลักที่ 1). https://culturio.sac.or.th/content/1206
- ประตูท่าแพ. https://www.atchiangmai.co/ประตูท่าแพ
- สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่. https://www.facebook.com/finearts7chiangmai
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...