ครม.สัญจรเชียงใหม่ รับปากอะไรคนเหนือบ้าง

เมื่อวันที่ 29-30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ หรือ ครม.สัญจร ครั้งที่ 1/2567 ภายใต้ธีม “From Flood to Flourish (ฟื้นคืนสู่ความเฟื่องฟู)” โดยการเดินทางมาประชุม ครม.สัญจรในครั้งนี้เป็นการพิจารณาหารือปัญหาที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย โดยเฉพาะการฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากนำ้ท่วม แก้ไขปัญหาฝุ่นควันPM2.5 รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมสำหรับรองรับนักท่องเที่ยวในปลายปีและต้นปี 2568

เยียวยาพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบนำ้ท่วม

ภาพ : ไทยคู่ฟ้า

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ได้เห็นชอบในหลักการโครงการเร่งด่วนที่นำมาแก้ไขปัญหาต่างๆ ในจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย วงเงินรวมกันจำนวนทั้งหมด 19,282 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโครงการที่แก้ปัญหาอุทกภัย ทั้งในระยะเร่งด่วนและระยะยาว เช่น จังหวัดเชียงใหม่ได้ของบประมาณในการแก้ไขปัญหาถนนที่พังหลังได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยน้ำท่วม ส่วนโครงการที่แก้ไขปัญหาในระยะยาวได้ขออนุมัติจัดทำโครงการด้านการพัฒนาและปรับปรุงซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากอุทกภัย ในจำนวนวงเงินประมาณ 5,200 ล้านบาท

ครม.สัญจรในครั้งนี้ ได้อนุมัติร่างกฎกระทรวง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งจะเป็นมาตรการภาษีช่วยค่าซ่อมบ้านและมาตรการภาษีช่วยค่าซ่อมรถ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยให้บุคคลธรรมดาสามารถหักลดหย่อนภาษีเงินได้ (ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญและคณะบุคคล) สำหรับค่าซ่อมแซม หรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ในการซ่อมแซมอาคาร หรือทรัพย์สินที่ประกอบติดตั้งกับตัวอาคาร หรือในที่ดินอันเป็นที่ตั้งของอาคาร หรือในการซ่อมแซมห้องชุดในอาคารชุด หรือทรัพย์สินที่ประกอบติดตั้งกับห้องชุดในอาคารชุด ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกิน 100,000 บาท และค่าซ่อมแซมรถตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท ซึ่งคาดว่าจังหวัดที่มีการประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย (กรณีอุทกภัย) ประมาณ 40 กว่าจังหวัด จะมีผู้ใช้สิทธิตามมาตรการภาษีช่วยค่าซ่อมบ้าน 4 ล้านราย และผู้ใช้สิทธิตามมาตรการภาษีช่วยค่าซ่อมรถ 4 ล้านราย

ภาคเหนือพร้อมสำหรับรองรับนักท่องเที่ยวปลายปี-ต้นปี 68

นางสาว​​แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะมีการจัดงาน Winter festival ซึ่งจะจัดทุกจังหวัดรวมกัน โดยเฉพาะการส่งเสริมให้จังหวัดเชียงใหม่ และเชียงรายที่ได้รับผลกระทบจากนำ้ท่วมสามารถให้นักท่องเที่ยวกลับมาท่องเที่ยวได้ เพราะวิกฤตน้ำท่วมได้จบลงไปแล้วและเมืองได้ฟื้นฟูพร้อมสำหรับการท่องเที่ยว

“วันนี้จะมาตอกย้ำว่าภาคเหนือจะร่วมมือกับงานดังกล่าว และยังมีอีกหลายรายการที่จะรองรับนักท่องเที่ยวให้เป็นจุดสนใจทั้งคนไทย และต่างชาติมาทำกิจกรรมในปลายปีและต้นปี 2568” นายกรัฐมนตรีกล่าว

การแก้ไฟป่า หมอกควัน และ PM2.5

ภาพ : รัฐบาลไทย

โครงการที่ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ยื่นเสนอต่อที่ประชุม ซึ่งเกี่ยวกับมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ล่าสุดได้ผ่านการอนุมัติจากที่ประชุมเรียบร้อยแล้ว และจะมีการหารือถึงแนวทางปฏิบัติและการจัดสรรงบประมาณลงมาให้การช่วยเหลือในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดในเขตพื้นที่ภาคเหนือต่อไป ซึ่งมติการประชุม คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบมาตรการในช่วงที่เกิดวิกฤต PM2.5 ห้ามให้รถบรรทุกขนาดใหญ่เข้าในเขตเมือง และตรวจจับรถที่ปล่อยควันดำอย่างเข้มงวด รวมถึงควบคุมพื้นที่ก่อสร้าง อีกทั้งยังมีการจัดตั้งศูนย์บัญชาการเฝ้าระวังหมอกควันเพื่อตรวจจับหมอกควันข้ามพรหมแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน

นายกรัฐมนตรี ยังยำ้ว่า หลังจบครม.สัญจร รัฐมนตรีจะลงพื้นที่ไปพูดคุยกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อเตรียมรับมือและหาทางใช้นวัตกรรมในการทำให้ปัญหาหมอกควันลดน้อยลงและดูแลเรื่องสุขภาพของประชาชนเป็นหลัก โดยปีนี้มีแนวทางการแก้ไขปัญหาในหลายแนวทาง ซึ่งคาดว่าน่าจะช่วยบรรเทาฝุ่นPM 2.5 ได้เป็นอย่างมาก

ในวันเดียวกันนั้น เว็บไซต์รัฐบาลไทย รายงานว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะรัฐมนตรีได้เข้าร่วมประชุมและมอบนโยบายเรื่อง แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ ณ ห้องประชุมสโมสรยอดทัพ กองพลทหารราบที่ 7 ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ โดยได้แบ่งเป็นการแก้ไขฝุ่นควันที่เกิดจากปัจจัยภายในประเทศ และการแก้ไขฝุ่นควันที่เกิดจากปัจจัยภายนอกประเทศ

ภาพ : ไทยคู่ฟ้า

การการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันที่เกิดจากปัจจัยภายในประเทศ นายกรัฐมนตรีได้สั่ง  ให้กระทรวงมหาดไทย ใช้กลไกการทำงานของจังหวัดบูรณาการร่วมกับส่วนราชการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกันออกแบบการทำงาน โดยไม่ยึดติดขอบเขตอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน และขอให้นำชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นควันได้อย่างครอบคลุมและครบถ้วนทุกมิติ สำหรับการแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตร ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และขอให้กรมวิชาการเกษตร ให้ความรู้แก่เกษตรกรเกี่ยวกับทางเลือกอื่นของการเก็บเกี่ยวโดยไม่เผา พิจารณาการทำเกษตรแบบยั่งยืนในอนาคต อาทิ ข้าว ข้าวโพด หรือพืชอื่น ต้องเริ่มควบคู่กันไป ตั้งแต่การกำหนดพื้นที่ การทำเกษตรปลอดการเผา สร้างระบบการตรวจสอบเพื่อให้มั่นใจ รวมถึงการปลูกข้าวแบบ low carbon เพื่อมุ่งไปสู่สังคมอย่างยั่งยืน (sustainability) พร้อมให้กรมอุทยานฯ และกรมป่าไม้ ดูแลรับผิดชอบในส่วนของการเผาไหม้ในพื้นที่อุทยาน ตลอดจนเฝ้าระวังไม่ให้มีการเผาป่า ถางป่า เพื่อนำพื้นที่ป่าไปใช้ในการทำเกษตรอย่างผิดกฎหมาย

ส่วนปัจจัยภายนอกประเทศ นายกรัฐมนตรีสั่งการเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยเจอกับหมอกควันที่ข้ามแดน จากประเทศเพื่อนบ้าน ให้กระทรวงการต่างประเทศ รับหน้าที่เป็นผู้เจรจากับประเทศเพื่อนบ้านและการเร่งรัดในมาตรการ Clear sky strategy และให้กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการคลัง เร่งจัดทำมาตรการในการควบคุมการรับซื้อ แลถะนำเข้าข้าวโพดจากต่างประเทศที่มีการเผาไร่ข้าวโพด รวมถึงให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมพัฒนาระบบตรวจจับฝุ่นควัน และระบบแจ้งเตือนประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้เตรียมการป้องกันตัวอย่างทันท่วงที รวมถึงให้กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับสุขภาพของประชาชนและนักท่องเที่ยวในพื้นที่เสี่ยงด้วย

“รัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 หากจังหวัดเชียงใหม่หรือเชียงรายต้องการอุปกรณ์เพิ่มเติม ขอให้ทำการประสานเข้ามา รัฐบาลพร้อมที่จะสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อลดปัญหาฝุ่นควันให้ลดลง” นายกรัฐมนตรี ย้ำ

ยื่นหนังสือคัดค้านการออก พ.ร.ฎ.ป่าอนุรักษ์

‘สมัชชาชุมชนคนอยู่กับป่า’ (สชป.) ได้รวมตัวกัน ณ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อแสดงพลังและยืนยันเจตนารมณ์คัดค้านการออกพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ ตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ตามมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 พร้อมทั้งยื่นหนังสือแก่ ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี ผู้แทนนายกฯ เพื่อเรียกร้องให้เร่งพิจารณาแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชนกว่า 462,444 ครัวเรือน หรือคิดเป็นกว่า 1,849,792 คนที่อาศัยและทำกินในพื้นที่อนุรักษ์มาอย่างยาวนาน

โดย สชป. เรียกร้องให้นายกฯ และครม. ประชุมหาข้อยุติในการแก้ไขปัญหาใน 4 ประเด็น ดังนี้

1. ขอให้ยุติการนำ พ.ร.ฎ. ทั้ง 2 ฉบับ ไปประกาศใช้กับพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั่วประเทศ จนกว่าจะมีการปรับแก้กฎหมาย

2. ขอให้รัฐบาลจัดตั้งกลไกในรูปแบบที่เป็นคณะกรรมการหรือคณะทำงานจัดเวทีเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจาก พ.ร.บ.อุทยานฯ 2562 และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2562 เป็นรายอุทยานฯ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า​ทุก ๆ พื้นที่ี เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่สามารถนำไปปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ. ทั้ง 2 ฉบับ ภายในระยะเวลา 60 วัน

3. ขอให้รัฐบาลและครม.จะต้องเร่งเสนอให้มีการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ. ทั้ง 2 ฉบับ โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ทั้งนี้ให้นำเสนอร่างสู่การพิจารณาของครม.ภายใน 90 วัน ก่อนเสนอเข้าสภา

4. ในระหว่างที่มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ รัฐบาลจะต้องชะลอยับยั้งการเตรียมประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ จำนวน 23 แห่ง จนกว่าจะมีการแก้ไขกฎหมายทั้ง 2 ฉบับแล้วเสร็จ  เว้นแต่ในกรณีที่พื้นที่เตรียมการฯ นั้นดำเนินการกันขอบเขตชุมชน พื้นที่ทำกิน และพื้นที่ป่าชุมชนแล้วเสร็จ และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย

หลังจากเสร็จสิ้นการเจรจา รองนายกฯ และผู้แทนรัฐบาลได้ชี้แจงผลการเจรจาต่อผู้ชุมนุม โดยมีมติ รับหลักการเบื้องต้น และ เห็นชอบให้มีแนวทางการแก้ไขปัญหา พร้อมจัดทำ บันทึกการหารือ เพื่อรับรองอย่างเป็นทางการ และเตรียมนำเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา จากนั้นรองนายกฯ และคณะผู้แทนรัฐบาลได้เดินทางต่อไปประชุมครม. และมีกำหนดให้ทีมรองเลขาธิการรัฐมนตรีมาแถลงรายละเอียดเพิ่มเติมในช่วงเวลา 12.00 น.

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง