ในช่วงปลายฤดูหนาวเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อนของทุกปีทุกคนจะเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์ค่าฝุ่น PM2.5 ที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปีแต่ปัญหานี้อยู่คู่กับชาวภาคเหนือและชาวเชียงใหม่เป็นเวลาหลายปี โดยที่รัฐยังไม่ประกาศแนวทางแก้ไขที่เป็นรูปธรรม สิ่งที่เห็นจนชินตามีเพียง รถฉีดน้ำที่ออกตระเวนฉีดน้ำตามพื้นที่ที่มีเครื่องวัดค่าฝุ่นเพื่อให้ค่าฝุ่นลดลงบ้าง ไม่ประกาศให้ประชาชนทำงานอยู่บ้านประกาศแค่คนในหน่วยงานเท่านั้น
สถานการณ์ฝุ่นควันในจังหวัดเชียงใหม่ในปัจจุบัน แม้ว่าจะถูกรายงานโดยศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เมื่อวันที่ 4 มกราคม ที่ผ่านมาว่าอยู่ในเกณฑ์ “ดี” ซึ่งมีค่าฝุ่น PM2.5 ไม่เกิน 37.5 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร แต่ก็มีจุดความร้อนสะสมเกิดใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 ถึงปัจจุบันทั้งหมดจำนวน 5 จุดทั่วจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีการสั่งให้เจ้าหน้าที่ลงสำรวจพื้นที่และมอบความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน รวมถึงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
กลุ่มนิสิตนักศึกษาเองก็เป็นกลุ่มที่ต้องเผชิญกับปัญหานี้โดยตรง และต่างต้องหาทางป้องกันตนเองด้วยซื้อหน้ากากกันฝุ่น PM2.5 เครื่องฟองอากาศ และพยายามออกไปสัมผัสกับฝุ่นควันในที่โล่งให้น้อยที่สุด
โดยในส่วนนี้ ทางด้านตัวมหาวิทยาลัย อย่างเช่นมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เองก็มีมาตรการช่วยเหลือออกมาสำหรับช่วยแบ่งเบาปัญหาที่นักศึกษาต้องเผชิญตั้งแต่เมื่อช่วงกลางปี 2563 ไม่ว่าจะเป็นการมอบหน้ากากอนามัยและอาหารฟรีแก่นักศึกษา, การจัดการเรียนการสอนออนไลน์พร้อม SIM สำหรับการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต หรือการเปิดกองทุนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และเงินช่วยเหลือค่ารักษาพยายาลบางส่วน แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังมีปัญหาบางส่วนที่คนบางกลุ่มยังต้องเผชิญและไม่ถูกครอบคลุมให้อยู่ในมาตรการรับมือปัญหาฝุ่นควันของทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
https://www.soc.cmu.ac.th/shownotice/146
นักศึกษากลุ่มหนึ่งที่ต้องเผชิญกับฝุ่นละอองขนาดเล็กอย่างเลี่ยงไม่ได้ นั่นคือกลุ่มนักศึกษาพิการ เพราะ นักศึกษาพิการบางคนไม่สามารถเดินทางด้วยตนเองได้ แต่ต้องเดินทางโดยใช้บริการขนส่งมวลชนสาธารณะของมหาวิทยาลัยที่มีอยู่เพียง 1 คัน โดยสามารถรองรับนักศึกษาได้เต็มรอบรอบละไม่เกิน 8 คน นักศึกษาพิการทั้งหมดในมหาลัยมีประมาณ 50 คน
ซึ่งถ้านักศึกษาทั้งหมดต้องการใช้รถม่วง (รถขนส่งมวลชนประจำมหาวิทยาลัย) พร้อมๆกัน นักศึกษาพิการอาจต้องรอนานถึง 1 ชั่วโมง กว่าจะถึงที่หมายซึ่งระยะทางจริงใช้เวลาเดินทางไม่ถึง 10 นาที ยิ่งไปกว่านั้นการอยู่บริเวณที่กลางแจ้งนาน ทำให้นักศึกษาพิการต้องหายใจนำฝุ่น PM2.5 เข้าสู่ร่างกายอย่างหลีกไม่ได้ การแก้ปัญหาที่ทำได้อีกวิธีคือการไปถึงอาคารเรียนให้เร็วขึ้นนักศึกษาพิการจะปลอดภัยจากฝุ่น PM2.5 เพราะในห้องเรียนมีเครื่องฟอกอากาศ แต่การทำเช่นนั้นต้องขับรถเร็วขึ้น หากดูภาพประกอบจะเห็นว่า บนรถม่วงที่ได้รับการออกแบบมาสำหรับนักศึกษาพิการ ไม่มีอุปกรณ์ป้องกันอุบัติเหตุสำหรับผู้ใช้รถเข็น เข่น ที่ล็อดล้อ เข็มขัดนิรภัย การขับรถด้วยความเร็วจะเพิ่มโอกาสให้ผู้โดยสารที่ใช้วิลแชร์ได้รับบาดเจ็บมากขึ้น
ซึ่งจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าทางมหาวิทยาลัยจะมีมาตรการเพื่อช่วยเหลือนักศึกษาทุพลภาพ แต่ส่วนมากก็เป็นเพียงสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานที่ต้องมีอยู่แล้วในทุกๆ มหาวิทยาลัยแม้ว่าจะไม่มีปัญหาฝุ่นความเกิดขึ้นก็ตาม รวมไปถึงการมีภาคส่วนเฉพาะทางที่คอยช่วยเหลือและสนับสนุนคุณภาพชีวิตของนักศึกษาทุพลภาพผ่านกิจกรรมของกองงานบริการสนับสนุนนักศึกษาพิการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (DSS – CMU) เพราะถึงแม้ว่าปัญหาส่วนใหญ่จะเกี่ยวโยงกับการเดินทางของนักศึกษาทุพลภาพ แต่นั่นก็หมายรวมไปถึงปัญหาการเข้าถึงพื้นที่ปลอดฝุ่นที่อยู่ในมาตรการช่วยเหลือนักศึกษาของทางมหาวิทยาลัย หรือมาตรการช่วยเหลืออื่นๆ ไปด้วย การเผชิญกับปัญหาฝุ่นควันของนักศึกษาทุพลภาพจึงกลายเป็นปัญหาละเอียดอ่อนที่ต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างครอบคลุม อย่างเช่นการสนับสนุนการขนส่งบุคลากรภายในมหาวิทยาลัย ที่ถึงแม้อาจจะไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับปัญหาฝุ่นควันโดยตรง แต่ก็มีส่วนทำให้การเผชิญหน้ากับปัญหาฝุ่นควันของกลุ่มนักศึกษาทุพลภาพมีความยากลำบากมากขึ้นหลายเท่าตัว
อ้างอิง
- https://www.soc.cmu.ac.th/shownotice/146
- งานบริการสนับสนุนนักศึกษาพิการ มช.- DSS CMU
- https://mgronline.com/local/detail/9670000001081