‘มันไตมาก’ งานดนตรีคลื่นลูกใหม่ “ไทใหญ่เฟส”  ที่อยากส่งเพลงไตให้แมส

แววเสียงดนตรีบรรเลงคลอเคล้า ขับขานบทเพลงไทใหญ่ ฉันก้าวฝีเท้าทั้งสองข้างเข้าคอนเสิร์ต “ไทใหญ่เฟส” งานแสดงดนตรีของศิลปินของชาวไต จัดขึ้นเพื่อชาวไต แม้เนื้อร้องที่เป็นภาษาไทยใหญ่ แต่ภาพตรงหน้ากลับคุ้นเคยเหมือนงานดนตรีทั่วไปไม่ได้พิเศษไปกว่ากัน “ใช่” ไม่ว่าการซื้อบัตรเข้างาน การตรวจอายุตามบัตรประชาชน การติดสายรัดข้อมือ อาหาร เครื่องดื่ม และการออกบูธของผู้สนับสนุน เหมือนเช่นเดียวกับงานเฟสติวัลที่จัดขึ้นส่วนใหญ่นั่นแหละ การแต่งตัวของคนไทใหญ่ ก็เป็นตามแฟชั่นนิยม แน่นอน ที่ใดมีเสียงดนตรี ที่นั่นย่อมมีความสนุกสนาน

ความผูกพันธ์ฉันท์มิตรนั้นยาวนานมากกว่าความเป็นรัฐชาติจะมาขวางกั้นความสัมพันธ์ ด้วยวัฒนธรรมที่คล้ายกัน ทั้งภาษา อาหารการกิน รวมไปถึงประเพณีอื่น ๆ ทำให้ผู้จากทั้งสองฝากฝั่งกลมเกลียวกัน ถึงแม้ในช่วง 50 ปีให้หลังนี้ คนไทใหญ่ได้อพยพเป็นจำนวนมากจากสถานการณ์ความรุนแรงจากสงคราม ได้ผลักคนใหญ่หลบลี้จากบ้านเกิดเข้ามาเป็นแรงงานที่ถือว่าเป็นฟั่นเฟืองสำคัญในอุตสาหกรรมในจังหวัดเชียงใหม่

ครั้งนี้เป็นครั้งแรก ของงานแสดงคอนเสิร์ตออนทัวร์ศิลปินไทใหญ่ “ไทใหญ่ เฟสติวัล ออนทัวร์” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 19-20 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ณ ลานม่วนใจ๋ เซ็นทรัล เชียงใหม่ แอร์พอร์ต หรือที่คนในพื้นที่เรียกว่า ‘โรบินสัน’ ซึ่งงานไทใหญ่เฟสได้รับกระแสตอบรับที่ดีพอสมควร ถึงแม้จะจำนวนคนดูน้อยกว่าเป้าไปบ้าง แต่ถือว่าเป็นอินโทรเริ่มต้นของวงการเพลงไทใหญ่ในพื้นที่เชียงใหม่ งานนี้ยกทัพศิลปินมามอบความสนุกให้กับแฟนเพลงมากมายไม่ว่าจะเป็นนางหมวยใส, จายอ่องเมือง, จายสายเหลิน, นางน้องนวล, จายหาญแลง, นางแสงอ่อน, จายจ๋อมเหลิน, หลาวหนุ่มหอม, จายล้อมวุน รวมถึง The Sai ศิลปินหนุ่มขวัญใจวัยรุ่นที่กำลังเป็นกระแส ซึ่งมียอดติดตามมากถึงสามแสนคนด้วยกัน

“อยากมีงานเฟสเป็นของตัวเองสักครั้งหนึ่ง”

เสียงสนทนาของกลุ่มนักดนตรีชาวไทใหญ่และโปรดิวเซอร์ ที่คุยกันเล่น ๆ ว่าพวกเขาอยากมีงานดนตรีเฟสติวัล ที่เป็นของกลุ่มชาติพันธุ์ของตนเองสักครั้งในชีวิตนี้ ทางด้านผู้จัดงานบริษัทชาวไทยอย่าง ต้น ออแกไนเซอร์ (Ton Organizer) ได้เปิดเผยถึงจุดเริ่มต้นที่มาของการจัดคอนเสิร์ตของงาน “ไทยใหญ่ เฟสติวัล ออนทัวร์” ที่ผ่านมาว่า กลุ่มน้อง ๆ นักดนตรีชาวไทใหญ่อยากจัดงานดนตรีนี้ขึ้นมา เพื่อแสดงถึงศักยภาพ ความสามารถ ให้ผู้คนได้รับรู้ว่าศิลปินไทใหญ่ก็มีดีไม่แพ้ใคร โดยกลุ่มเป้าหมายของการจัดงานคือ ชาวไทใหญ่ที่อายุ 20 ปีขึ้นไป ซึ่งงานนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งกับชาวไทใหญ่รวมถึงศิลปินชาวไทยใหญ่ เพราะเป็นงานแรกที่จัดขึ้นในรูปแบบคอนเสิร์ตทั่วไป สุดท้ายตัวเขาคาดหวังว่าในงานถัด ๆ ไป จะได้การตอบรับที่ดียิ่งขึ้น และในอนาคตมีแผนที่จะออนทัวร์ไปยังพื้นที่อื่น ๆ ที่มีประชากรชาวไทใหญ่จำนวนมาก เช่น อำเภอฝาง เชียงใหม่, ลำพูน, หาดใหญ่ สงขลาและกรุงเทพ ฯ  เป็นต้น เพื่อส่งมอบความสุขความสนุกสนานจากเสียงดนตรีบรรเลงของชาวไต

ด้านจายสายเหลิน หนึ่งในศิลปินชาวไทใหญ่ ที่แสดงในงานไทใหญ่เฟสกล่าวว่า เขามีความรู้สึกดีอย่างยิ่งในการแสดงบนเวที เพราะการเป็นศิลปินคือความฝันของเขาตั้งแต่ครั้งเยาว์วัย โดยงานนี้ทำให้คนได้รู้จักเพลงไทใหญ่เพิ่มขึ้น และเป็นพื้นที่ในการรวมตัวกันของชาวไต ในตอนแรกของการจัดงานนั้นก็มีดราม่ามากมายเข้ามา อย่างไรก็ตามสำหรับเขา นี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของวงการเพลงไทใหญ่ เพราะปกติชาวไทใหญ่ก็จะมีแค่งานบุญเท่านั้น สุดท้ายนี้ไม่ว่าจะฟังเพลงไทยหรือเพลงไทใหญ่ ชอบหรือไม่ชอบ แต่โปรดให้กำลังใจกัน แม้วงการเพลงไทใหญ่เราจะพึ่งมาเริ่มต้นครั้งแรก แต่การจัดงานครั้งนี้นั้น มีความสำคัญศิลปินชาวไทใหญ่เพื่อให้ก้าวต่อไปข้างหน้า

“ไม่เคยคิดว่าศิลปินชาวไทใหญ่จะได้มาขึ้นคอนเสิร์ตระดับประเทศแบบนี้”

ต้น คำมล และเล็ก คำสิงห์ ชาวไทใหญ่ผู้เข้าร่วมงานกล่าวว่า นี่ถือเป็นงานแรกของศิลปินชาวไทใหญ่ที่จัดขึ้นในรูปแบบนี้ เพราะโดยปกติทั่วไปจะจัดตามวัดกู่เต้า วัดกู่ม่าน และวัดในอำเภอฝาง ในวันปีใหม่ของชาวไทใหญ่ช่วงเดือนธันวาคม เป็นประจำทุกปี ในการจัดงานครั้งนี้รู้สึกว่าเป็นงานที่ใหญ่ ตื่นเต้น คนเข้าร่วมงานส่วนใหญ่ก็จะเป็นแรงงานข้ามชาติ ก็เหมือนว่าเราได้มารวมกลุ่ม เจอเพื่อนฝูงพี่น้องชาติพันธุ์ไทใหญ่ของเรา

ประชากรชาวไทใหญ่มีจำนวนมากในประเทศไทย มิใช่เพียงแรงงานข้ามชาติเท่านั้น แต่รวมไปถึงผู้ที่ได้รับสัญชาติไทยอีกด้วย ศิรดา เขมานิฏฐาไท อาจารย์ประจำสำนักวิชาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ในฐานะผู้เข้าร่วมงาน ไทใหญ่เฟสนั้น พบว่าภายในงานมีการจัดการที่มีความเป็นมืออาชีพ เหมือนคอนเสิร์ตที่เราเห็นตามอีเว้นท์ไทยทั่วไป ศิรดาได้มีโอกาสพูดคุยกับทีมผู้จัดคนไทย จึงเห็นว่าทีมงานผ่านการคิดมาเป็นอย่างดี  ถึงรูปแบบการจัดคอนเสิร์ตที่เป็นสากล พร้อมกับดึงศิลปินนักร้องชาวไทใหญ่รวมตัวกันหลาย ๆ ยุค เป็นสัญญาณของวงการเพลงที่เชื่อมกันระหว่างธุรกิจบันเทิงไทยกับวัฒนธรรมแตกต่าง ที่มีกลิ่นอายเพลงของชาติพันธุ์ จุดที่น่าสนใจคือในฐานะผู้ประกอบการหรือทุนใหญ่ ได้เล็งเห็นถึงกลุ่มเป้าหมาย โดยมองชาวไทใหญ่ในฐานะผู้บริโภค 

ศูนย์มานุษวิทยาสิรินธร เปิดเผยข้อมูลว่า ในประเทศไทยนั้นยังไม่มีการทำแบบสำรวจที่ครอบคลุมชัดเจนเกี่ยวกับจำนวนประชากรชาวไทใหญ่ในประเทศไทย มีเพียงการศึกษาชาวไทใหญ่เป็นกรณีตามแต่ละพื้นที่ ในภาพรวมที่มีชาวไทใหญ่อาศัยอยู่หนาแน่นในประเทศไทยในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ และมีชาวไทใหญ่ที่เป็นกลุ่มแรงงานข้ามชาติอยู่ตามเมืองเศรษฐกิจสำคัญของไทยในพื้นที่ กรุงเทพมหานครและพื้นที่เขตอุตสาหกรรมอื่น ๆ ปัจจุบันคนไทใหญ่ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมีความแตกต่างทั้งช่วงระยะเวลาของการอพยพ เหตุผลที่อพยพ อายุ การศึกษา สถานภาพทางทะเบียนราษฎร์ และบริบทพื้นที่ที่ชาวไทใหญ่ตั้งถิ่นฐานที่เอื้อต่อปรับตัวและการรักษาอัตลักษณ์วัฒนธรรมความเป็นไทใหญ่แตกต่างกัน

งานไทใหญ่เฟส เกิดจากมุมมองของผู้ประกอบการไทย ถึงการมองคนไทใหญ่ในฐานะผู้บริโภค ศิรดา เขมานิฏฐาไทย้ำชัดว่า เหตุผลที่เขาเองอยากจัดงานให้ “พี่น้องไทใหญ่” ให้เป็นงานเหมือนงานคอนเสิร์ตไทยอื่นๆ และเขายังจะจัดออนทัวร์ ที่ ฝาง ระยอง กรุงเทพ ฯ และอาจจะหาดใหญ่ เป็นการสะท้อนการทำวิจัยตลาดที่เจาะลึกอย่างมาก ทั้งที่ตัวเขาคือผู้ประกอบการคนไทยจากกรุงเทพฯ ส่วนพาร์ทเนอร์ของงานอีกอันคือเซ็นทรัลแอร์พอร์ต ทีมงานเองก็ทำการบ้านเรื่องนักร้องได้ดี มีการสอบถามจากพนักงานชาวไตและหาข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ

ศิรดา เขมานิฏฐาไท กล่าวว่า ในส่วนของร้านค้าภายในงาน มีเพียงร้านเสื้อผ้ากลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งเดียวที่เป็นของชาวไทใหญ่ ร้านอาหาร เครื่องดื่มก็จะเป็นผู้ประกอบการชาวไทยทั้งหมด จากการสอบถามและสังเกตข้อมูลเบื้องต้น เราจะเห็นว่ามีบูธของผู้สนับสนุน หรือสปอนเซอร์หลักเป็นเบียร์ช้าง รวมถึงมีการจัดบูธสองคู่แข่งเครือข่ายมือถืออย่างทรู (True) และเอไอเอส (AIS) ซึ่งซิมการ์ด โฆษณาเป็นภาษาไทใหญ่ทั้งหมด มีเพียงแค่ป้ายเดียวที่เป็นภาษาพม่า ทำให้เห็นว่ากลุ่มทุนใหญ่ต้องมีข้อมูลประชากรชาติพันธุ์ชาวไทใหญ่ เพราะโดยทั่วไปชาวเมียนมามาอาศัยอยู่ในไทยเป็นจำนวนไม่น้อยอยู่แล้ว แต่งานนี้เจาะจงกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นไทใหญ่ ซึ่งเป็นมุมมองที่น่าสนใจในมุมมองของผู้ประกอบการชาวไทยมองเห็นโอกาสในทางเศรษฐกิจ 

งานไทใหญ่เฟสจึงเป็นจุดเริ่มต้นก้าวต่อไปขอวงการเพลงไทใหญ่ ที่ไม่ใช่เพียงแค่การสร้างสรรค์ผลงานเพื่อรักษาอัตลักษณ์วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ชาวใหญ่ได้กลายมาเป็นกลุ่มเป้าหมายทางเศรษฐกิจ จากกลุ่มทุนใหญ่และผู้ประกอบการชาวไทย ทั้งนี้ปัจจุบันได้มีศิลปินรุ่นใหม่มาร่วมขับขานบทเพลงในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น ถึงแม้งานไทยใหญ่เฟสที่ผ่านมา ไม่ได้เกิดปรากฏการณ์เปลี่ยนแปลงวงการเพลงไปอย่างสิ้นเชิง แต่เป็นอีกหนึ่งมุมมองที่เปิดพื้นที่ดนตรี ผู้คน เพื่อให้ชาวไตมาร่วมตัวกัน 

ดนตรีท้วงทำนองไทใหญ่ที่ขับร้องบนเวทีเป็นเสียกเรียกให้ผู้เข้าร่วมงานทั้งคนวัยหนุ่มสาวไปจนคนมีอายุ ที่นั่งกินกันอยู่บนโต๊ะที่ห่างเวทีออกไปเกือบ 50 เมตร เดินเข้ามารำวงกันด้วยความสนุกสนานที่เคล้าไปกับบรรยากาศความเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น ธงสี เหลือง แดง ขาว ไทใหญ่ ถูกโบกสะบัดซ้ายขวาไปกับเพลง การตะโกนสุดเสียงไปกับท่อนซุปเปอร์ฮิตคุ้นหู การโยกตัวเบา ๆ ในเพลงช้า ๆ หวานซึ้ง หรือการกระโดดไปกับเพลงร็อคที่อาจจะหาฟังไม่ได้บ่อย ๆ ในบรรยากาศที่เคลิบเคลิ้ม ถึงแม้จะไม่ทราบความหมายของเพลง หรือแม้แต่คำพูดพิธีกรที่เรียกเสียงเชียร์จากแฟนเพลง วงรุ่นเก่าผลัดเปลี่ยนมาขึ้นบนเวที มีบางเพลงที่รู้สึกคุ้นหูจนเผลอร้องตามทำนองได้ ถึงกับคิดในใจกับตัวเองว่าเราไปได้ยินเพลงนี้มาจากไหน เวลาสนุกก็ได้ล่วงเลยมาจนถึงวงวัยรุ่นหนุ่มอย่าง The Sai เปิดตัว หนุ่มสาวพากันวิ่งกรู่ จนมีคนฟังยืนอยู่หน้าเวทีหนาแน่น พร้อมทั้งโยกย้ายไปกับเพลง นั่นจึงอาจจะเป็นคลื่นลูกใหม่ที่ผลักดันของวงการเพลงไทใหญ่ให้มีชีวิต เหมือนชีวิตของคนไทใหญ่ที่เป็นฟั่นเฟืองในการขับเคลื่อนจังหวัดเชียงใหม่ให้หมุนต่อไป

กองบรรณาธิการ Lanner เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีความฝันบ้า ๆ ว่าอยากเป็นชาวประมง สอดส่องชีวิตผู้คนด้วยเลนส์ 576 ล้านพิกเซล และกลั่นกรองออกมาเป็นงานเขียน พบเจอได้ตามกิจกรรมทางการเมือง ที่ ลานท่าแพ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง