2 มีนาคม 2568 กลุ่มศิลปินและภาคประชาชนร่วมกันจัดกิจกรรม ‘เชียงใหม่หายใจไม่ออก’ เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถึงปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่น PM 2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและชีวิตของประชาชนในภาคเหนือ ณ ลานประตูท่าแพ จ.เชียงใหม่ โดยประกอบไปด้วยวงเสวนา การแสดงศิลปะ และนิทรรศการ ที่มุ่งสร้างความตระหนักรู้และเรียกร้องให้ภาครัฐเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง





ภายในงานมีวงเสวนาหัวข้อ ‘เชียงใหม่หายใจไม่ออก’ โดย เม็งคบุตร ยูรโฮ จากขบวนคนจนเมืองเพื่อสิทธิที่อยู่อาศัย มองว่า ปัญหาฝุ่น PM2.5 เป็นปัญหาที่สร้างผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของผู้ที่อาศัยในภาคเหนือ ซึ่งประชาชนบางกลุ่ม เช่น กลุ่มเปราะบาง กลับไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกันเหล่านั้นได้ มากไปกว่านั้นปัญหาที่ตามมาคือการที่ผู้คนไม่มีสิทธิ์ได้มีสุขภาพที่ดี จึงอยากให้ภาครัฐเห็นความสำคัญและสนับสนุนการมีสุขภาพที่ดีและปลอดภัยจากฝุ่นพิษของประชาชน
ด้าน วัชลาวลี คำบุญเรือง ทนายความจากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวถึงความล่าช้าในการดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 และความล่าช้าของแผนฝุ่นชาติฉบับที่ 2 ของรัฐ พร้อมเสนอให้ภาครัฐออกกฎหมายที่ชัดเจนและใช้ได้จริง เพื่อปกป้องสิทธิของประชาชนในการได้มีอากาศที่ปลอดภัย
ชำนาญ สมฤทธิ์ หัวหน้าศูนย์ควบคุมไฟป่าเชียงใหม่ ได้เล่าถึงปัญหาและความยากลำบากในการจัดการไฟป่าซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาฝุ่นควัน โดยเล่าว่าไฟป่ายังเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ในทุกปี แม้ว่าเจ้าหน้าที่จะเตรียมพร้อมสำหรับการรับมือแต่ก็ไม่สามารถจัดการต้นตอของปัญหาได้ทั้งหมด ความพร้อมของอุปกรณ์ในการจัดการไฟนั้นยังไม่มากพอ ดังนั้นจึงอยากผลักดันให้ภาครัฐช่วยให้การสนับสนุนโดยปรับให้ระบบการขอใช้อุปกรณ์ดับไฟ เช่น เฮลิคอปเตอร์ มีวิธีการที่กระชับและง่ายขึ้น เพื่อให้เกิดการดำเนินงานอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ ตัวแทนชุมชนอย่าง รัตนา ชูเกษ ประธานชุมชนควรค่าม้าสามัคคีพัฒนา และเสาวคนธ์ ศรีบุญเรือง ตัวแทนพี่น้องจากชุมชนช้างม่อย ต่างก็ได้กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ปัญหามลพิษเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ทั้งภาครัฐและประชาชนทุกคนควรตระหนักถึงความสำคัญให้มากขึ้น
ภายในงานยังมี การสาธิตการจัดการไฟป่าโดยเจ้าหน้าที่ศูนย์ควบคุมไฟป่าเชียงใหม่ และการแสดง ‘Public Performance Arts: ศิลปะการแสดงในพื้นที่สาธารณะสะท้อนปัญหาและผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5’ โดยนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ มช. ที่อธิบายถึงชีวิตของผู้คนที่ต้องตกอยู่ในภาวะการหายใจไม่ออก เป็นภัยพิบัติที่มองไม่เห็น เสมือนการถูกปิดปาก ปิดจมูก ไม่ให้หายใจ ซึ่งสะท้อนถึงการถูกบังคับและเพิกเฉยต่อปัญหา
นอกจากนั้น ยังมีการจัดแสดงผลงานศิลปะและกิจกรรมอื่นๆ โดยกลุ่มศิลปินอิสระจากทั่วมุมเมืองเชียงใหม่ อาทิ การแสดงดนตรีที่ขับร้องบทเพลงซึ่งสะท้อนถึงปัญหาฝุ่นควัน, กิจกรรม Public Paint: การสร้างสรรค์งานศิลปะบนผืนผ้าขนาดยาว 8 เมตร เพื่อสื่อสารถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และการจัดแสดงผลงานศิลปะในนิทรรศการเชียงใหม่หายใจไม่ออก ที่เป็นการสะท้อนถึงผลกระทบจากฝุ่นพิษภาคเหนือ โดยจุดมุ่งหมายของการจัดกิจกรรมและการแสดงเหล่านี้ คือการสร้างความตระหนักรู้ให้ทั้งคนในและนอกพื้นที่ได้รับทราบถึงผลกระทบต่อร่างกายจากวิกฤตการณ์ฝุ่นควัน รวมถึงเรียกร้องให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว



สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในภาคเหนือยังคงเป็นปัญหาซ้ำซากที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน โดยในปีงบประมาณ 2567 ประเทศไทยมีผู้ป่วยจากโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศกว่า 12 ล้านคน และในภาคเหนือมีผู้ป่วยสูงถึง 2.3 ล้านคน หรือ 19.5% ของทั้งประเทศ โดยเฉพาะเชียงใหม่ที่มีจำนวนผู้ป่วยมากที่สุด การแสดงออกของศิลปินและประชาชนในครั้งนี้ จึงเป็นอีกหนึ่งเสียงสะท้อนที่ต้องการให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหาทางออกที่เป็นรูปธรรม ก่อนที่ปัญหาฝุ่นพิษจะกลายเป็นวิกฤตที่รุนแรงยิ่งขึ้น




ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...