โหมโรงล้านนา ว่าด้วยเรื่อง “ล้านนา (Lan Na)” บนพื้นที่ สื่อสารออนไลน์เพื่อการก้าวต่อไป ของเว็บไซต์ Lanner

เรื่อง: นวลคำ ขะยอมแดง สุภาพชนคนเมือง

“ล้านนา” (Lan Na) เป็นชื่อเรียกหน่วยทางการเมืองในยุครัฐจารีตที่อาจมองได้ว่าเป็นหน่วยทางการเมืองวัฒนธรรมซึ่งถูกสืบส่งต่อมาจนถึงยุคปัจจุบันด้วยก็ได้ ตลอดจนเป็นดินแดนของกลุ่มก้อนความสัมพันธ์ที่ผู้คนอาศัยและมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันและกันในอาณาบริเวณแถบลุ่มแม่น้ำโขงทางตะวันออกมาจนถึงแถบลุ่มแม่น้ำคง (สาละวิน) ทางตะวันตก ตลอดจนแถบตอนใต้ของประเทศจีนหรือสิบสองปันนาทางด้านเหนือเรื่อยลงมา ทางด้านทิศใต้แถบหัวเมืองสุโขทัยที่เป็นอาณาบริเวณของภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบนของประเทศไทยในปัจจุบัน ล้านนาในความหมายของดินแดนจึงมีฐานะเป็นพื้นที่หรืออาณาบริเวณอันบ่งชี้ถึงลักษณะขอบเขตด้านภูมิศาสตร์กายภาพและขอบเขตด้านสังคมวัฒนธรรมซึ่งมีพื้นที่บางส่วนเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยและมีพื้นที่บางส่วนอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน (ทั้งในประเทศเมียนมา สปป.ลาวและจีนตอนใต้)

ทั้งนี้ ข้อถกเถียงในการนิยามต่อ “ความเป็นล้านนาในเชิงพื้นที่” ปรากฏอย่างมากมาย ทว่าการสร้างความรับรู้และความเข้าใจที่มีต่อคำและความคิดที่เกี่ยวกับล้านนา/ความเป็นล้านนา รวมถึงลักษณะของงานวิชาการต่างๆ ซึ่งค้นคว้าความรู้ที่เกี่ยวกับล้านนา/ความเป็นล้านนาหรือเรียกได้ว่า “ล้านนาศึกษา” นั้น ทำให้ผู้เขียนสามารถพิจารณาการจัดวางความรู้ที่มีต่อประเด็นดังกล่าวด้วยมุมมองและความเข้าใจ ได้แก่

1) ล้านนา/ความเป็นล้านนาในฐานะอาณาบริเวณศึกษา โดยมุมมองที่ว่านี้ก็ไม่ได้จำกัดเฉพาะประเด็นพื้นที่หรืออาณาบริเวณในเชิงภูมิศาสตร์กายภาพ หากแต่เป็นการทำความเข้าใจถึงข้อมูลเชิงพื้นที่และบริบทแวดล้อมของอาณาบริเวณที่เรียกกันว่าล้านนาซึ่งมีผู้คนอยู่อาศัยและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนทั้งในและนอกพื้นที่ของล้านนา พร้อมทั้งต้องเห็นถึงความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนที่ก่อตัวเพื่อสร้างความสัมพันธ์ขึ้นมาใหม่ การจัดความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนที่ดำเนินไปอย่างมีพลวัตภายใต้บริบททางสังคมวัฒนธรรม เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมในล้านนาจึงเป็นพลังทางความคิดที่อยู่เบื้องหลังของความสัมพันธ์อันมีผลทำให้ “ล้านนาในฐานะอาณาบริเวณศึกษา” นั้น   มีความสำคัญต่อกลุ่มผู้คน ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ตลอดจนมองเห็นถึงกระบวนการต่อสู้เพื่อการสร้างกลไกเชิงสถาบันใหม่ๆในพื้นที่ทางสังคมล้านนาที่เป็นมาอย่างซับซ้อนและมีความเป็นพลวัต

2) ล้านนา/ความเป็นล้านนาในฐานะจินตกรรมอัตลักษณ์และชุมชนทางจินตกรรม โดยมุมมองที่ว่านี้ก็ไม่ได้จำกัดเฉพาะความเป็นชุมชนหรืออัตลักษณ์ที่ถูกกักขังอยู่เพียงพื้นที่ทางกายภาพ หากแต่เป็นการทำความเข้าใจถึงความคิดและจินตนาการที่มีต่อความเป็นชุมชนของผู้คนที่ถูกเรียงร้อยให้เชื่อมโยงกันผ่านอัตลักษณ์ร่วมและความทรงจำร่วมในแบบต่าง ๆ เช่น ชุมชนคนล้านนาพลัดถิ่นทั้งในและต่างประเทศ ชุมชนคนล้านนาในโลกออนไลน์ ตลอดจนชุมชนนักปฏิบัติการด้านความเชื่อและพิธีกรรม การเล่นดนตรีหรืองานช่าง เป็นต้น ล้านนาในฐานะจินตกรรมของผู้คนที่มีต่อชุมชนและอัตลักษณ์ได้ถูกสร้างขึ้นผ่านการผูกโยงตัวตนของผู้คนปัจจุบันเข้ากับรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ สังคมและวัฒนธรรมอันมีความเชื่อว่ารุ่งเรืองนั้นดำรงอยู่ในอดีต การทำความเข้าใจต่ออัตลักษณ์ชุมชนล้านนาจึงมีความหมายและแง่มุมที่กว้างกว่าสิ่งที่ได้รับการสืบทอดหรือส่งต่อกันมาโดยมีเอกลักษณ์ตายตัว หากแต่เป็นผลผลิตของประดิษฐกรรมทางอุดมการณ์และปฏิบัติการทางการเมืองวัฒนธรรม ดังนั้น จินตกรรม อัตลักษณ์ของผู้คนจึงสัมพันธ์กับความทรงจำทางวัฒนธรรม ความเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมที่ขับเคี่ยวอยู่คู่กับภูมิปัญญาและวัฒนธรรมชุมชน ตลอดจนความเป็นการเมืองวัฒนธรรม (Cultural Politics) ซึ่งสร้างปฏิบัติการต่างๆให้เกิดขึ้นในพื้นที่ทางสังคมและชุมชนทางการเมือง

ขณะที่ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้กล่าวทิ้งท้ายเพื่อสรุปงานเวทีวิชาการ Lanna Symposium: Lanna Decolonized “ล้านนาทะลุกรอบอาณานิคม” เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2567 ซึ่งมอง “ล้านนา/ความเป็นล้านนา” ไว้อย่างน่าสนใจว่าเป็น อดีตของสหพันธรัฐเล็ก ๆ ในระบบส่วยที่สืบส่งทอดมาถึงระบบตลาด (ยุคแรกเริ่มทุนนิยมและระบบโลกตอนปลายศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20) ที่แต่ละเมืองมีอิสระจากกัน ทว่าเชื่อมผสานกันผ่านเครือข่ายการค้าและส่งผลต่อการดำรงอยู่ของเมืองโดยมีเจ้าเมืองเป็นพ่อค้ารายใหญ่เหล่านี้มีผลทำให้ขอบเขตของรัฐและดินแดนของล้านนาในยุคจารีตมีการหดและขยายตัวอย่างสัมพันธ์กันภายใต้เงื่อนไขของส่วย สินค้าและตลาด ตลอดจนมีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ ศาสนาและภาษาอยู่ในโครงข่ายของความสัมพันธ์ที่อยู่ในรัฐระบบส่วยและตลาดแทบทั้งสิ้น

มุมมองทางการศึกษาต่อประเด็นล้านนา/ความเป็นล้านนาที่กล่าวไปข้างต้นนี้ ล้วนสัมพันธ์กับกระบวนการสร้างวาทกรรมความรู้และข้อถกเถียงทางวิชาการในประเด็น “ล้านนาศึกษา” ที่ผ่านมาทั้งในพื้นที่แวดวงวิชาการสาธารณะและแวดวงวิชาการในสถาบันการศึกษาอย่างมหาวิทยาลัย วิทยาลัยครูหรือโรงเรียน อันถือได้ว่า “พื้นที่ความรู้” (Knowledge Space) ซึ่งเชื่อมโยงผู้ผลิตความรู้และเครือข่ายการเรียนรู้ (อานันท์ กาญจนพันธุ์, 2563)  ตลอดจนผู้สนใจด้านล้านนาคดีในพื้นที่ทางสังคมวัฒนธรรมล้านนาให้เข้ามาร้อยรัดเชื่อมต่อกัน ความรู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับประเด็นล้านนา/ความเป็นล้านนาในทุกๆแขนง เช่น ประวัติศาสตร์ สังคมวัฒนธรรม คติชน ศิลปกรรม ฯลฯ จึงมีลักษณะร่วมที่ประกอบขึ้นมาจากผู้คน ทักษะ  ทุน ความรู้ท้องถิ่น ตลอดจนมีภูมิปัญญาที่เปรียบเสมือนเครื่องมือซึ่งยึดโยงกับกลยุทธ์และปฏิบัติการทางสังคม

แม้ปัจจุบัน “ล้านนา” ถูกผนวกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยามอันเป็นเวลามากกว่า 120 ปีแห่งการสูญเสียสถานะและความหมายเชิงการเมืองการปกครองไปพร้อม ๆ กับสถานะความเป็นนครรัฐ (จารีต) ที่เปลี่ยนผ่านไปสู่การก่อรูปรัฐสมัยใหม่ในช่วงศตวรรษที่ 19 ด้วยวิเทโศบายทางการเมืองที่มีการพยายามปรับปรนเพื่อลดทอนอำนาจที่มีอยู่แต่เดิมของผู้ปกครองดินแดนล้านนา ตลอดจน การพยายามแสดงอำนาจเหนือพื้นที่ทางการเมืองของล้านนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป กระบวนการทางการเมืองในการผนวกรวมล้านนาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยามนี้จึงทำให้ “ล้านนา” มีสถานภาพคงเหลือเพียงความหมายในทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมช่วงหลังปี 2475 เท่านั้น ทั้งนี้ กระบวนการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงรอยต่อของระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบการเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตยในยุคต้น (ก่อนทศวรรษ 2490s) เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นพร้อมกับปฏิบัติการในพื้นที่ความรู้ที่สัมพันธ์กับถิ่นที่ (Place) เช่น การถ่ายทอดความรู้ด้านการทำมาหากินจากครอบครัว ความรู้ด้านโลกทัศน์และคติความเชื่อจากวัดและความรู้ด้านการสันทนาการเพื่อความบันเทิงจากสื่อชุมชนหรือสื่อพื้นบ้าน ได้มีการเปลี่ยนผ่านไปสู่ปฏิบัติการในพื้นความรู้ที่สัมพันธ์กับสถาบันทางสังคมสมัยใหม่ เช่น สถาบันการศึกษา หอกระจายข่าวหรือที่อ่านหนังสือพิมพ์ประจำหมู่บ้านมากขึ้น (ชูเกียรติ ลีสุวรรณ์, 2535)

ขณะเดียวกัน การเปลี่ยนผ่านของโครงสร้างทางการเมืองวัฒนธรรมที่สัมพันธ์กับการผลิตความรู้และระบบการเรียนรู้ในสังคมล้านนาในภาพรวมทั่วไปก็ยังเกิดขึ้นพร้อมการเปลี่ยนผ่านความรับรู้ของชนชั้นนำสยามหรือไทยที่มีต่อสถานภาพทางการเมืองของ “ล้านนา” จากเดิมที่มีฐานะเป็นประเทศราชต่างชาติต่างภาษาซึ่งได้กลายมาเป็นมณฑลและจังหวัด ขณะที่ความรับรู้ที่มีต่อสถานภาพทางสังคมวัฒนธรรมของล้านนานั้นก็ยังคง “เป็นลาว” โดยได้ถูกนำเสนอและผลิตซ้ำผ่านตัวบททางวรรณกรรม บทละคร หรือนวนิยายจนกระทั่งหลังปฏิวัติสยาม 2475 (เตือนใจ ไชยศิลป์, 2536) ซึ่งพบว่ามีการนำเสนอภาพลักษณ์ ความรับรู้และภาพจำที่มีต่อ “ล้านนา/ความเป็นล้านนา” ในห้วงเวลาถัดมา นับเป็นสิ่งสะท้อนว่าความตระหนักรู้ของผู้คนทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคอื่นๆที่มีต่อดินแดนล้านนานั้นก็คือพื้นที่บริเวณภาคเหนือของประเทศไทยซึ่งมีภูมิกายา (Geo-body) รูปขวานโบราณ (แถมยังทาสีทองให้อีก) ความรับรู้ที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ได้ก่อให้เกิดปฏิบัติการทางวัฒนธรรมอื่นๆขึ้นตามมาทั้งการสร้างจินตกรรมอัตลักษณ์เพื่อนิยาม “ความเป็นเหนือ”[1] ให้เกิดขึ้นผ่านสายตาและจุดหมุดหมายทางภูมิศาสตร์ของคนจากส่วนกลาง ตลอดจน การขยายความรับรู้และความรู้ที่มีต่อล้านนา/ความเป็นล้านนาซึ่งสามารถยกตัวอย่างได้จากผ่านคำอุปลักษณ์ (Metaphor) เช่น กลิ่นเอื้อง เสียงซึง สาวชาวเหนือ ป่าเหนือเมื่อหน้าหนาว เป็นต้น[2]  กระบวนการทางสังคมซึ่งเกิดขึ้นมานับตั้งแต่มีการก่อรูปรัฐ (State Formation) ต่อเนื่องยาวนานมาล้วนมีส่วนต่อการผลิตและเผยแพร่ความรู้ที่มีต่อภาคเหนือซึ่งเน้นเมืองเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางผ่านภาพลักษณ์บ้านเมืองที่มีธรรมชาติอันโดดเด่น มีวัฒนธรรมที่แปลกตาสะท้อนในเพลง ภาพยนตร์และวรรณกรรมที่ถูกผลิตซ้ำ (สุนทร คำยอด, 2558: 228)

ขณะเดียวกันก็มีการก่อตัวขึ้นมาของอุดมการณ์ท้องถิ่นนิยมซึ่งมีนัยยะของการต่อต้านเชิงอุดมการณ์ที่เรียกกันว่า Counter Ideology จากเหล่าบรรดานักคิด นักเขียนหรือปัญญาชนท้องถิ่นในพื้นที่ล้านนาหรือภาคเหนือที่ช่วงชิงและขับเคี่ยวการนิยามความหมายเพื่ออธิบายตัวตน “ความเป็นคนเมือง”[3] ของพวกเขาขึ้นมาที่กล่าวได้ว่าเป็นปฏิบัติการโต้ตอบทางวัฒนธรรมที่มีต่อมุมมองการรับรู้และความรู้ของผู้คนในพื้นที่อื่นซึ่งพยายามจะอธิบายพื้นที่ภาคเหนือหรือล้านนาด้วยสายตาและมุมมองแบบกรุงเทพเป็นศูนย์กลางผ่านงานวรรณกรรม  เรื่องสั้นหรือนวนิยายอย่าง ส.ธรรมยศ อ.ไชยวรศิลป์ และมาลา คำจันทร์ หรือผ่านบทเพลงอย่างจรัล มโนเพชร โดยงานวรรณกรรมและบทเพลงเหล่านี้ ยังเป็นส่วนสำคัญต่อการประกอบสร้างจินตกรรมอัตลักษณ์ ความเป็นล้านนาที่เน้นสื่อสารกับคนนอกวัฒนธรรมผ่านการใช้ภาษา ฉากหรือภูมิทัศน์ทางสังคมวัฒนธรรม ภูมิปัญญา บุคคลในประวัติศาสตร์ พระพุทธศาสนา ตลอดจนมีลักษณะทั้งที่เชื่อมโยงกับส่วนกลางหรือขัดแย้งกับส่วนกลาง

นอกจากนี้ ยังมีผู้คนที่เป็นทั้งนักคิดหรือปราชญ์ท้องถิ่นซึ่งพวกเขาเหล่านี้โดยมากก็เป็นชนชั้นนำที่มีโอกาสผ่านการเล่าเรียนศึกษาจากมหาวิทยาลัยจากทั้งในและต่างประเทศได้กลับมาทำงานเป็นนักธุรกิจหรือ นักหนังสือพิมพ์ซึ่งมีบทบาทเป็นผู้ผลิตความรู้ที่มีความสัมพันธ์กับถิ่นที่หลายคนเช่น ไกรศรี นิมมานเหมินทร์ หรือ บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ เป็นต้น ซึ่งปฏิบัติการของผู้คนเหล่านี้จึงอาจนับได้ว่าเป็นส่วนสำคัญอันก่อให้เกิดการสร้างความรู้ผ่านการใช้วัฒนธรรมในการขับเคี่ยวเพื่อต่อรองและนิยามความหมายให้กับล้านนา/ความเป็นล้านนาแทบทั้งสิ้น ด้านสมโชติ อ๋องสกุล (2552) ได้ประมวลพัฒนาการของความรู้ท้องถิ่นเพื่อการพัฒนาที่เน้นมิติการวิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเพื่อชุมชนว่า การอธิบายความรู้ท้องถิ่นจากสายตาและมุมมองของส่วนกลางได้จัดวางท้องถิ่นให้อยู่ภายใต้กรอบความเป็นชาติหรือเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทยที่มีการแบ่งยุคสมัยตามศูนย์กลางของอำนาจและลำดับกษัตริย์ราชวงศ์ ดังนั้น การผลิตและเผยแพร่ความรู้ท้องถิ่นดังกล่าวจึงอยู่ในรูปของแบบเรียนและหนังสือที่ภาคราชการอย่างกรมศิลปากร กรมวิชาการหรือกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ดำเนินงานความรู้ท้องถิ่นลักษณะนี้ได้มีอิทธิพลต่อผู้เรียนในสังคมไทยมาจนถึงปัจจุบัน ขณะที่การผลิตและเผยแพร่ความรู้ท้องถิ่นโดยคนท้องถิ่นทั้งพระสงฆ์และฆราวาสได้เริ่มปรากฏในพื้นที่ทางการมากขึ้นเมื่อระบบโรงเรียนแผ่ทั่วถึงทุกภูมิภาคราวทศวรรษ 2470 และลดน้อยถอยลงไปเมื่อนโยบายรัฐนิยมมีปฏิบัติการอย่างเข้มข้นราวทศวรรษ 2480 ขณะที่การขยายตัวของวิทยาลัยการศึกษา วิทยาลัยครูหรือมหาวิทยาลัยที่กระจายออกสู่พื้นที่ในแต่ละภูมิภาคราวทศวรรษ 2490s-2500s ได้สร้างศูนย์กลางการผลิตและกระจายความรู้ท้องถิ่นขึ้นมาผ่านกระบวนวิชาเรียน การจัดเสวนาวิชาการต่าง ๆ และการเกิดขึ้นของศูนย์หรือหน่วยงานวิจัยในระดับท้องถิ่นกลับคืนมาให้มีชีวิตชีวาอย่างมากมายโดยเฉพาะช่วงทศวรรษ 2510 เป็นต้นมา

จะเห็นได้ว่าความรู้ท้องถิ่นล้านนายังเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหวทางปัญญาของประชาชนในพื้นที่ทางสังคมล้านนาในราวช่วงทศวรรษ 2510 ถึง ทศวรรษ 2520 ผ่านการผลิตและกระจายความรู้แบบท้องถิ่น   ในแนววิพากษ์ซึ่งมีเพิ่มมากขึ้นเพื่อสืบค้นถึงบุคคลซึ่งเคยกระทำการผิดพลาดในประวัติศาสตร์ เพื่อรื้อถอนชุดความรู้และความจริงที่รัฐสถาปนาขึ้น ตลอดจนเพื่อสร้างความรู้ใหม่เพื่อตอบโต้กับความรู้/ความจริงกระแสหลักในชุดเดิม กระบวนการที่กล่าวมานี้ ก็ยังรวมถึงการสร้างชุมชนการเรียนรู้ที่มีการผลิตและกระจายงานวิทยานิพนธ์ งานวิจัยและศึกษาของนักวิชาการท้องถิ่นจากหลากหลายสาขาวิชา มาจนกระทั่งปลายทศวรรษ 2520 ถึง 2530 ที่การผลิตและกระจายความรู้ท้องถิ่นถูกอธิบายผ่านกรอบคิดความเป็นชุมชนที่เน้นความเป็นท้องถิ่นในมิติทางวัฒนธรรม แน่นอนว่าช่วงเวลาดังกล่าวในแวดวงวิชาการล้านนาคดีเองก็ได้มีการจัดทำฐานข้อมูลสำคัญ อย่างพจนานุกรมและสารานุกรมวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีศาสตราจารย์ ดร.อุดม รุ่งเรืองศรี นักวิชาการแห่งคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และพันธมิตรทางวิชาการน้อยใหญ่แห่ง “สำนักเรือนเดิม[4]” เป็นกลุ่มก้อนสำคัญในการสร้างความรู้ด้านล้านนาคดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติด้านภาษาและวรรณกรรมล้านนา ตลอดจนมีประดิษฐกรรมทางวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่นในหลายลักษณะผ่านคำขวัญประจำจังหวัด อนุสาวรีย์วีรชนท้องถิ่น ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมชุมชน ขณะพื้นที่ทางการในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานเริ่มปรากฏวิชาท้องถิ่นศึกษา หรือท้องถิ่นของเราในหลักสูตรสังคมศึกษามากขึ้นซึ่งสิ่งที่กล่าวมานี้เป็นรากฐานในการผลิตและกระจายความรู้ท้องถิ่นในทศวรรษหลังปี 2540 ที่มีแหล่งทุนวิจัยเพื่อท้องถิ่นได้เข้ามาเป็นผู้มีบทบาทหลักในการให้ทุนสนับสนุนการผลิตและกระจายความรู้ท้องถิ่นมากขึ้น

พัฒนาการของการผลิตและกระจายความรู้ท้องถิ่นที่กล่าวมานี้ มีความสัมพันธ์ต่อการกำหนดอัตลักษณ์ “ความเป็นล้านนา” ภายใต้อุดมการณ์ท้องถิ่นนิยมที่เลี่ยงไม่พ้นไปจากอุดมการณ์ที่กำหนดโดยส่วนกลางและการรวมศูนย์กลางอยู่ที่เมืองใหญ่อย่างเชียงใหม่ สอดคล้องกับงานของภิญญพันธ์ พจนลาวัลย์ (2563) ที่ชี้ให้เห็นว่าความสัมพันธ์แบบรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลางอย่างต่อเนื่องเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเป็น “ล้านนา” ขึ้นมาโดยเฉพาะในมิติของประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมที่มีความคึกคักมากขึ้นพร้อมๆกับกระแสการเติบโตทางเศรษฐกิจและการกระจายอำนาจซึ่งงานของภิญญพันธ์เป็นงานวิชาการที่สำคัญในฐานะหมุดหมายที่ย้อนทวนการนิพนธ์ขึ้นมาของความรู้ด้านประวัติศาสตร์ล้านนาในฐานะดินแดนที่ถูกรัฐบาลกรุงเทพฯ เปลี่ยนแปลงสถานภาพเป็น “มณฑลพายัพ” ราวทศวรรษ 2440 ในฐานะส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการเมืองการปกครองและการก่อรูปรัฐสมัยใหม่ซึ่งผู้เขียนมองว่าโครงการอาณานิคม (ส่วนจะเป็นหรือไม่เป็น จะเป็นแบบภายใน เป็นแบบกึ่งกลางหรือเป็นแบบอำพราง ผู้เขียนยังไม่อภิปราย ณ ที่นี้) ซึ่งแน่นอนว่าสยามได้เปลี่ยนแปลงพื้นที่เมือง ชนบทและป่าเขา รวมทั้งเปลี่ยนความสัมพันธ์แบบเดิมซึ่งเจ้าประเทศราชล้านนาอยู่ในฐานะองค์อธิปัตย์ มาสู่การครอบครองและปกครองโดยรัฐบาลกลางจากสยามที่ได้ผนวกดินแดนเพื่อแสวงหาประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจ การควบคุมแรงงานแบบใหม่ผ่านกลไกที่ “รัฐไทยสมัยใหม่” ใช้ในการสอดส่องและตรวจตรา รวมไปถึงการสร้างความรู้ด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดีและภาษาเหนือดินแดนล้านนา โดยการรวมศูนย์อำนาจเช่นนี้ส่งผลต่อสถานภาพของความรู้ที่มีต่อความเป็นภาคเหนือ – ล้านนาในรูปแบบต่าง ๆ ที่ภิญญพันธ์ย้ำว่าเป็น “ล้านนาที่เพิ่งสร้าง” ที่ยังคงมีการขับเคี่ยวเพื่อช่วงชิงความหมายกันอย่างไม่รู้จบ ด้วยเหตุนี้ ประเด็นล้านนา/ความเป็นล้านนา ยังเคลื่อนมาสู่ความหมายที่ไม่ใช่เพียงอัตลักษณ์ของดินแดนที่สงบสุขและผู้คนที่ว่านอนสอนง่าย หรือจินตกรรมอัตลักษ์ของผู้คนในชุมชนจินตนาการแบบเดิมอีกแล้ว หากแต่กลับกลายเป็นพื้นที่ที่มีความเป็นการเมืองที่มีผู้คนที่ตื่นตัวและตั้งคำถามกับอำนาจรัฐมากขึ้น

เรื่องเล่า/การเล่าเรื่องต่อความเป็นล้านนาที่มีความหมายต่อสามัญชนและผู้คนธรรมดาทั่วไปนั้น ความสะท้อนเรื่องราวข่าวสารและปฏิบัติที่มีความเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันภายใต้แรงความปรารถนาที่มุ่งสร้างพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ของสามัญชนและผู้คนธรรมดาทั่วไปให้เกิดขึ้น อย่างน้อย ความรับรู้ที่มีต่อล้านนาทั้งในฐานะอดีตและปัจจุบันคงจะทำหน้าที่เป็นมโนทัศน์ต้นทางที่คอยสรรค์สร้าง “ความทรงจำร่วมทางอารมณ์” (Collective Emotional Memory) เริ่มมีลักษณะของการแยกกระจายเป็น “ชุมชนทางอารมณ์” (Emotional Communities) ที่กระจายทั่วไป การรับรู้ การรู้และความรู้ที่มีต่อ “ล้านนา” ทั้งในฐานะความเป็นดินแดนประเทศราช  ความเป็นลาว (ที่ถูกยัดเยียดให้เป็น)   ความเป็นดินแดนรัฐตอนในภาคพื้นทวีป เรื่อยมาจนถึงความเป็นชายขอบ ความเป็นท้องถิ่น ตลอดจน ความเป็นต่างจังหวัด ความเป็นภูธร ความเป็นบ้านนอก ฯลฯ มโนทัศน์ซึ่งสะท้อนถึงการถูกกดทับและการไร้เสียง ที่มักเรียกกันในหมู่นักหลังอาณานิคมนิยม (postcolonialism) ว่า “Subaltern” ควรที่จะถูกพิจารณาแนวคิดใหม่ (Reconceptualization) เพื่อถอดรื้อถอนและตั้งคำถามต่อทุกๆภาวะการณ์ของการตกเป็นรองด้วยการเปลี่ยนฐานความรู้สึกร่วมกันของการพลิกจาก “ผู้ถูกกระทำ” มาสู่ “ผู้กระทำ”  ที่ผลต่อการเคลื่อนไหวของผู้คนกลุ่มต่างๆที่มีความรู้สึกสำนึกในถิ่นที่ (Sence of Place) ต่อความเป็นล้านนาในฐานะผืนดินถิ่นแดนที่ใครหลายๆต่างก็ได้เข้ามาอยู่อาศัย

การบอกเล่าความเป็นมาของอดีตและความเป็นไปในอนาคตที่ควรจะเป็นของผู้คนบนแผ่นดินล้านนาจึงจำเป็นจะต้องมีพื้นที่สำหรับการสื่อสารระหว่างกันทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมทั้งมีพื้นที่ที่มีความปลอดภัยในการพูดคุยเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ด้วยเหตุที่ว่ามานี้จึงเป็นสิ่งบ่งชี้ให้เห็นว่าสังคมประชาธิปไตยแท้จริงเท่านั้นจะเป็นสังคมที่เอื้ออำนวยและให้สวัสดิภาพที่มากพอที่จะสามารถพูดคุย คิดและเขียนเพื่อบอกเล่าและเล่าเรื่องราวในสังคมล้านนาที่เชื่อมโยงต่อติดกับสังคมโลกได้

ฉะนั้น เรื่องเล่า/การเล่าเรื่องต่อความเป็นล้านนาที่มีความหมายต่อสามัญชนและผู้คนธรรมดาทั่วไปนั้นสามารถถ่ายทอดผ่านภาษา (Verbal) ซึ่งแน่นอนว่าภาษาไม่ใช่เป็นเพียงเครื่องมือในการพูดถึงโลกหรือตัวแทนโลก วัตถุ ความคิด ความเชื่อ  หากแต่ภาษานั้นได้ “สร้างโลก” ความคิดและสร้างเอกลักษณ์ต่างๆ ขึ้นมา ภาษาจึงเป็นตัวกระทำทางการเมืองที่สำคัญของทุก ๆ ชุมชน (Community) ที่แต่ละชุมชนก็มีความผูกพันร่วมกัน (Common) และสื่อสารถึงลักษณะร่วมกันนี้ผ่านภาษา (Communication)[5]  ผู้เขียนจึงมีความคิดว่าภาษาซึ่งใช้ในการถ่ายทอดเรื่องเล่า/การเล่าเรื่องต่อความเป็นล้านนา ได้ทำหน้าที่สร้างความผูกพันร่วมกัน (Common) ของผู้คนให้อยู่ในรูปแบบของชุมชน(Community) และผู้คนในฐานะสมาชิกของชุมชนก็มีการสื่อสาร (Communication) ถึงลักษณะร่วมกันนี้ผ่านภาษาทั้งในการถ่ายทอด บอกเล่าเรื่องราวหรือทำการศึกษาประวัติศาสตร์พื้นที่/ชุมชน/ท้องถิ่นของ “ล้านนา” เพื่อแก้ความหมักหมมอันเป็นปมปัญหาและแสวงหาความเข้าใจที่มีต่อ “ตาข่ายความทรงจำ” เดิมที่ครอบงำระบบวิธีคิดของผู้คนในสังคมล้านนาและสังคมอื่นใดทั่วไปอยู่

สำนักข่าวเล็ก ๆ ที่ขับเคลื่อนโดยกลุ่มคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ภาคเหนืออย่าง Lanner กว่าสองปีที่ผ่านมาได้สร้างพื้นที่เพื่อการแสดงความคิดเห็นได้อย่างมีเสรีภาพผ่านข้อเขียนต่าง ๆ ที่มีการแลกเปลี่ยนและถกเถียงเพื่อพยายามค้นหาข้อเสนอใหม่ ๆ ให้นำไปสู่การเสริมพลังในการเคลื่อนไหวของประชาชน เป็นปากเป็นเสียงให้กับประชาชนและผู้คนในสังคมล้านนาคือผู้สามารถกำหนดอนาคตตนเองได้มากยิ่งขึ้น ตลอดจนคาดหวังว่าการพูดคุย การคิดและการเขียนจะเป็นเครื่องมือที่มีพลังในการถากถางเส้นทางในการมีส่วนร่วมเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ซึ่งที่ผ่านมา สำนักข่าว Lanner ก็ได้มีการนำเสนอเนื้อหาและประเด็นสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจการเมืองและสังคมวัฒนธรรมเพื่อรื้อตาข่ายความทรงจำเดิมลงไปในระดับหนึ่งแม้จะเกิดขึ้นในระยะหน่ออ่อนที่ไม่มีแรงพลังที่มากนัก แต่มีแรงปรารถนาสร้างให้มีและเกิดขึ้นมากกว่านี้ โดยที่มุ่งจุดมุ่งเน้นแสวงหาแนวทางในการทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ จากมุมมองของประชาชนพลเมืองมากขึ้นและอาศัยกรอบการมองสายสัมพันธ์ของข้อมูลที่มีลักษณะพลวัต เพราะสิ่งนี้คือ การคิดเพื่อแสวงหา “อดีตใหม่” ให้เกิดขึ้นบนพื้นที่ทางสังคมล้านนาที่มีมาอย่างต่อเนื่องกว่าสองปีที่ผ่านมาท่ามกลางปรากฏการณ์ของสังคมไทยในภาพรวมที่ผู้คนต่างพยายามที่จะมีการแสวงหาอดีตอันใหม่ การก่อรูปการรับรู้อดีตอันใหม่ ตลอดจน การตอบโต้การแสวงหาอดีตใหม่เกิดขึ้นมาทั้งในและนอกสถาบันการศึกษา

ข้อเขียนที่ได้นำเสนอมายังยืดยาวข้างต้นนี้ เป็นการไล่เรียงให้เห็นถึงสถานภาพความรู้ในประเด็นล้านนา/ความเป็นล้านนา เรื่อยมาจนถึงปฏิบัติการซึ่งคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ภาคเหนือหรือสังคมล้านนาพยายามสร้างปฏิบัติการทางสังคมผ่านสื่อออนไลน์ขึ้นมาในรูปแบบของเว็บไซต์ที่เชื่อในพลังของการพูดคุย การคิดและการเขียนว่าจะเป็นเครื่องไม้เครื่องมือสำคัญที่สร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อนำมาซึ่งสังคมประชาธิปไตยและชีวิตที่ดีกว่านี้ได้ซึ่งแน่นอนว่า การอยู่แน่นิ่งและเฉยเมยโดยเปล่าดายรอให้สังคมนี้เป็นสังคมประชาธิปไตยให้ถึงพร้อมเสียก่อนการพูดคุย การคิดและการเขียนจึงจะเริ่มต้นได้นั้นคงมิอาจเกิดมรรคเกิดผลทางใดทางหนึ่งมิได้แน่ หากแต่การเริ่มลงมือที่จะสร้างสรรค์พื้นที่เพื่อการพูดคุย คิดและเขียนต่างหากจะก่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ทางการเมืองเพื่อสร้างสังคมประชาธิปไตยเพื่อสร้างชีวิตใหม่ให้ดีกว่า

คำว่า “โหมโรงล้านนา” จึงเป็นอุปลักษณ์ที่เน้นย้ำถึงจังหวะก้าวขยับไปพร้อม ๆ กับการลั่นกลองรบทางความคิดเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการโต้ตอบทางอุดมการณ์ผ่านสื่อออนไลน์เพื่อเปล่างเสียง (Voice) ของคนล้านนาที่มีฐานะเป็นพลเมืองท้องถิ่นทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ ซึ่งสามารถที่จะร่วมเล่าเรื่องราวเพื่อสื่อสารประเด็นร่วมสมัยในสังคมท้องถิ่น “บ้านเฮา” ผ่านงานเขียนภายใต้ชื่อว่า “ก๊อนเก๊าเล่าล้านนา” ทั้งนี้คำว่า “ก๊อน” เป็นศัพท์เก่าในภาษาล้านนาที่มีความหมายในเชิงของการสืบค้น สืบเสาะและสกัดนำเอามาส่วนคำว่า “เก๊า” ก็น่าจะมีความหมายว่าเป็นต้นทาง เป็นรากเหง้า  หรือเป็นจุดกำเนิด  ด้วยเหตุนี้ งานเขียนในชุด “ก๊อนเก๊าเล่าล้านนา” ของสำนักข่าว Lanner จึงมุ่งนำเสนอทั้งข่าวสาร บทความวิชาการและกึ่งวิชาการ เรื่องเล่า หาชุดข้อมูลที่ได้จากการสืบค้น สืบเสาะ สังเคราะห์ เพื่อสกัดเอาประเด็นที่เป็นต้นทาง เป็นรากเหง้าหรือจุดกำเนิด มาเล่าขยายให้สอดคล้องกับประเด็นร่วมสมัยในสังคมล้านนาผ่านการนำเสนอ  4 แนวทางดังนี้

แนวทางที่ 1  นำเสนอประเด็นทางประวัติศาสตร์ สังคมวัฒนธรรม และงานวิชาการด้านล้านนาคดีที่มีความน่าสนใจโดยผ่านการสกัด สังเคราะห์และเรียบเรียงเนื้อหาเพื่อนำมาเล่าในสไตล์ของเว็ปไซต์ Lanner

แนวทางที่ 2  นำเสนอประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอัตชีวประวัติบุคคลสำคัญ บุคคลธรรมดาสามัญ และเรื่องเล่าที่เกี่ยวข้องกับบุคคลในสังคมล้านนา

แนวทางที่ 3  นำเสนอประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การเมือง สถานการณ์ร่วมสมัยและความเป็นไปในสังคมล้านนา

แนวทางที่ 4  นำเสนอผ่านการเขียนประเภทร้อยแก้ว ร้อยกรองหรือกวีนิพนธ์ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสังคม]ล้านนาร่วมสมัย 

…..เพื่อสร้างพื้นที่แห่งการสื่อสาร เพื่อสร้างสังคมประชาธิปไตยและเพื่อชีวิตใหม่ที่ดีกว่า….. 


[1] ปฏิบัติการทางวัฒนธรรมเกิดจากการรับรู้ (Perception) ของคนกรุงเทพที่มีต่อภาคเหนือและผู้คนในภาคเหนือจึงเป็นที่มาของสร้างความรู้ (Knowledge) ที่มีต่อผู้คนที่มีภูมิลำเนาตั้งอยู่ตามทิศทางโดยยึดกรุงเทพเป็นศูนย์กลาง โดยผลผลิตและประดิษฐกรรมทางวัฒนธรรมดังกล่าวเกิดขึ้นผ่านคำอย่างเช่น คนเหนือ สาวชาวเหนือ ดอกเอื้องเมืองเหนือ มนต์เมืองเหนือ อาหารเหนือ แม้กระทั่งบทเพลงอย่าง “หมู่เฮาชาวเหนือ” หรือ “แอ่วเหนือ” เป็นต้น

[2] การรับรู้ที่มีต่อพื้นที่ล้านนาหรือภาคเหนือผ่าน “คำ” หรือ “ความคิด” ดังกล่าวได้สะท้อนถึงการตีตราประทับและมายาคติบางประการที่แฝงฝังอยู่ภายใต้กรอบการรับรู้ที่มีต่อ “ความเป็นเหนือ” ในฐานะพื้นที่ท้องถิ่น/ภูธรอันเป็นด้านตรงข้ามของเมืองหลวง/นครบาล ซึ่งเราสามารถใช้แนวคิดทางสังคมศาสตร์มาอธิบายเพื่อคลี่คลายให้เห็นการจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างกรุงเทพ (ส่วนกลาง) กับภาคเหนือ (ส่วนท้องถิ่น) ได้เช่น แนวคิดสตรีนิยมแนวหลังอาณานิคมที่อุปมาอุปไมยว่าล้านนาคือ ภาพแทนของความเป็นหญิง แต่ขณะที่สยามคือ ภาพแทนของความเป็นชาย

[3] อ่านงานวิชาการที่กล่าวถึงประเด็นเหล่านี้ได้จากงานของชยันต์ วรรธนะภูติ. (2549). คนเมือง: ตัวตน การผลิตซ้ำสร้างใหม่และพื้นที่ทางสังคม

ของคนเมือง.ในอานันท์ กาญจนพันธุ์(บรรณาธิการ),อยู่ชายขอบ มองลอดความรู้.กรุงเทพฯ: มติชน. งานของธเนศวร์ เจริญเมือง.(2552). คนเมือง: ประวัติศาสตร์ล้านนาสมัยใหม่, พ.ศ. 2317-2552. กรุงเทพ: สถาบันวิจัยสังคม, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยหรืองานของวสันต์ ปัญญาแก้ว (2555).

ตัวตนคนเมือง: 100 ปี ชาตกาลนายไกรศรี นิมานเหมินท์. ศูนย์วิจัยและบริการวิชาการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

[4] “สำนักเรือนเดิม” เป็นชื่อลำลองในการเรียกขานกลุ่มก้อนคนทำงานทางวิชาการด้านล้านนาคดีกลุ่มหนึ่งที่ใช้อาคารเรือนไม้ชั้นเดียวหลังเล็ก ๆ เป็นอาคารหลังแรกของมหาวิทยาลัยซึ่งถูกสร้างขึ้นสำหรับเตรียมงานจัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มาตั้งแต่ ปี 2504 โดยในปี 2521 ศาสตราจารย์ ดร.อุดม รุ่งเรืองศรี อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทยในขณะนั้นได้เสนอให้คณะมนุษยศาสตร์ซ่อมแซมอาคารเรือนเดิมเพื่อใช้เป็นที่ตั้งหน่วยส่งเสริมศิลปศึกษาและวัฒนธรรมล้านนาและเป็นสถานที่ในการจัดตั้งโครงการบัณฑิตศึกษา สาขาภาษาและวรรณกรรมล้านนา เมื่อปี 2529 โดยบูรพาจารย์ด้านภาษาและวรรณกรรมล้านนา ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.อุดม รุ่งเรืองศรี รองศาสตราจารย์ ดร.พิชิต อัคนิจ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ลิขิต ลิขิตานนท์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์บำเพ็ญ ระวิน และ ศาสตราจารย์ ดร.ฮารัลด์ ฮุนดิอุส ได้ใช้อาคารเรือนเดิมเป็นที่ทำงานและจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตรภาษาและวรรณกรรมล้านนานับแต่นั้นเป็นต้นมา เรือนเดิมจึงได้เป็นจุดกำเนิดของการสร้างนักวิชาการด้านล้านนาคดีและสร้างองค์ความรู้ที่มีคุณูปการต่อแวดวงการศึกษาวรรณกรรมล้านนา อาทิ พจนานุกรมล้านนาไทยฉบับแม่ฟ้าหลวง, สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ เป็นต้น

[5]  ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร.(2551). ภาษากับการเมือง ความเป็นการเมือง.กรุงเทพมหานคร:โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, หน้า 13

ข่าวที่เกี่ยวข้อง