ไกลศูนย์กลาง ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง เพลงลูกทุ่งคำเมืองช่วงนั้นบอกอะไรบ้าง?

จากบทความ เอาแรงเป็นทุน สู้งานเงินเดือนต่ำ ๆ แรงงานอีสานผ่านบทเพลงลูกทุ่มเมื่อทุกวิกฤตเป็นบทเพลง ในเว็บไซต์ The isaan record ที่ผมได้อ่านสร้างความตื่นตาตื่นใจที่ได้เห็นอารมณ์ของผู้คนอยู่ในบทเพลง บทความนี้เขียนถึงบริบทของการเกิดเพลงลูกทุ่งตั้งแต่ช่วงหลังวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อ พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา และวิกฤตต่าง ๆ ที่เกิดต่อมาหลังจากนั้น ทั้งการเคลื่อนย้ายแรงงานจากภาคอีสานเข้ามาในหัวเมืองใหญ่ การผลัดถิ่น รวมถึงภาพการต่อสู่ในเรื่องของการกดขี่ขูดรีดแรงงานในภาคอีสาน เพลงอีสานจึงล้อไปกับอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนในอีสานในช่วงเวลาต่าง ๆ ด้วย

แล้วภาคเหนือล่ะ? มีเสียงแบบนี้บ้างไหม เท่าที่นึกออกผมคิดว่าไม่ แต่ถ้าตอบแบบนี้มันกำปั้นทุบดินจนเกินไป ผมเลยตั้งคำถามว่า ทำไมเพลงลูกทุ่งคำเมืองถึงแทบไม่มีเสียงของการต่อสู้ และความเจ็บปวด อย่างอีสานเลย? อย่างไรก็ตาม ผมมิได้จะอธิบายเพลงคำเมืองนั้นป๊อบหรือไม่? เพราะผมคิดว่า เสียงเพลงกับผู้คนมันจะเชื่อมหากันอยู่แล้ว แต่จะเชื่อมหากันขนาดไหนนั้นแต่จะลองอธิบายดูผ่านจินตภาพของเพลงลูกทุ่งคำเมือง  แล้วถอยกลับไปดูวัฒนธรรม เพื่อตอบคำถามต่อบทความเอง

จินตภาพของเพลงลูกทุ่งคำเมืองอยู่ที่หมู่บ้าน (ชนบท) และอดีต

“บ้านบนดอยบ่มีแสงสี บ่มีทีวีบ่มีน้ำประปา” (เพลง บ้านบนดอย – จรัล มโนเพ็ชร) 

ช่วงทศวรรษ 2530 ธุรกิจการท่องเที่ยวกลายเป็นยุทธศาสตร์ของรัฐ[1] ชยันต์ วรรธนภูติ ได้อธิบายตัวตนของคนเมืองในทศวรรษนั้นว่าจังหวัดต่าง ๆ ในภาคเหนือก็พยายามแข่งขันในการสร้างภาพลักษณ์ของตนให้มีจุดที่น่าสนใจที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและต่างประเทศให้เข้ามาเที่ยวชมภาคเหนือเริ่มก่อตัวขึ้นในช่วงนี้งานประเพณีที่แสดงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมท้องถิ่นถูกคิดค้นและรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ให้อลังการ ไม่ว่าจะเป็นงานไม้ดอกไม้ประดับที่จังหวัดเชียงใหม่ งานไหว้สาแม่ฟ้าหลวงที่เชียงราย งานสลุงหลวงที่ลำปาง งานจุดเทียนเผาไฟที่สุโขทัย ฯลฯ ที่น่าสนใจก็คือการแต่งกายด้วยเสื้อผ้า “คนเมือง” ในงานเหล่านี้ รวมทั้งผ้าทอมือของกลุ่มต่าง ๆ (เช่น ของลาวและไทลื้อ) ถูกหยิบขึ้นมาเป็นตัวแทน (Re-presentation) ของผ้าล้านนา (ในขณะที่ผ้าไหมถูกปฏิเสธว่าไม่ใช่)  สิ่งเหล่านี้กลายเป็นรสนิยมใหม่ของชนชั้นกลางที่มักซื้อหาเก็บไว้ในราคาแพงและนำมาใช้ในโอกาสสำคัญ เพื่อสร้างและตอกย้ำตัวตนให้ผูกผันกับท้องถิ่น[2]

ภาพ: มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง Mae Fah Luang University

ในขณะเดียวกัน เพลงสตริงคำเมืองเป็นแนวเพลงที่ได้รับความนิยมขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษที่ 2520 ชนิดได้รับเอาอิทธิพลของตะวันตกเข้ามาผสมผสานกับเพลงท้องถิ่น และเกิดการปรับตัวมาตั้งแต่ช่วงระหว่าง พ.ศ.2528-2535 ซึ่งเป็นช่วงที่ยุคดนตรีแนวสตริงและแนวร็อกซึ่งได้รับอิทธิพลจากตะวันตกกำลังแพร่หลายและได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในสังคมไทย[4]

นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้เสนอจินตกรรมของชาติไว้ในหมู่บ้านของแบบเรียนประถมศึกษาไว้ว่า “… แท้จริงแล้วจินตภาพของหมู่บ้านแทนชาตินั้นทำหน้าที่มากกว่ากลวิธีเพื่อความเข้าใจของเด็ก หากเป็นรากฐานของการอธิบายความสัมพันธ์ตามอุดมคติของชาติไทยทีเดียว”[5]

นิธิได้รับความคิดมาจากเบน แอนเดอร์สัน[6] ในงานอันโด่งดังของเขาเรื่อง Imagined Communities: Reflections on the Origin and Spread of Nationalism ที่ชี้ให้เห็นว่าการสร้างชาติมีองค์ประกอบด้านการศึกษาอยู่ด้วย

น่าสังเกตุว่าจินตกรรมของความเป็นชาติได้ขยับตัวเองจากแบบเรียนมาสู่เพลงคำเมืองและมิใช่เพลงคำเมืองอย่างเดียว เพลงลูกทุ่งในภูมิภาคอื่น ๆ โดยเฉพาะภาคกลางก็มีลักษณะที่คล้าย ๆ กันด้วย เราจะเห็นว่าเพลงทุ่งคำเมืองในช่วงเวลานี้มีลักษณะเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง และไม่มีการเคลื่อนย้ายเหมือนดั่งภาคอีสาน

ดังจะเห็นได้จาก เพลงกุหลาบเวียงพิงค์ – อรวี สัจจานนท์ (2541) เพลงน้ำใจสาวเหนือ – สุนทรี เวชานนท์ (2541) เพลงล่องแม่ปิง – สุนทรี เวชานนท์ (2544) เพลงของกินคนเมืองภาค 2 – จรัล มโนเพ็ชร & สุนทรี เวชานนท์ (2544) และเพลงสาวเชียงใหม่ – จรัล มโนเพ็ชร & สุนทรี เวชานนท์ (2545) เพลงเหล่านี้มักกล่าวถึงความเป็นล้านนาในแง่ที่ครั้งหนึ่งเคยดีงามในอดีต และได้รับอิทธิพลจากภาคกลางสูง อาทิ เพลงพิษรักพิษณุโลก เพลงสาวงามเมืองพิจิตร เพลงพบรักปากน้ำโพ

เพลงที่ยกมานี้แม้จะมีความแตกต่างกันด้านเนื้อหาอยู่บ้าง แต่มีสิ่งหนึ่งที่ร่วมกันคือ เป็นเพลงต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองให้เข้ามาเยือน หรือทำให้ท้องถิ่นหรือที่ต่าง ๆ มีวัฒนธรรมประเพณีที่แสดงความเป็นอยู่ที่สอดแสรกในบทเพลง[7] (ทัศน์วศิน และพรพรรณ, 2560)  มีความเฉพาะตัวผ่านตัวละครในบทเพลง หรือฉากการบรรยายพื้นถิ่น 

ปรากฏการณ์จากเพลงลูกทุุ่งเหล่านี้ล้วนนึกถึง “หมู่บ้านไทย” ในบทความ หมู่บ้านไทยในโลกภาพยนตร์ : ชาติไทยแบบ ‘ไมโคร’ หลังวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง 2540 ของ อิทธิเดช พระเพ็ตร ที่ศึกษาภาพยนต์ช่วงหลังวิกฤตต้มยำกุ้งพยายามชี้ให้เห็นว่า ช่วงหลังวิกฤตต้มยำกุ้งปรากฏขึ้นอย่างเด่นชัดเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจและโลกาภิวัตน์ถาโถมสังคมไทยจนตั้งตัวไม่ติด โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนชนชั้นกลางในเมืองที่ล่มสลายในแง่เศรษฐกิจและจิตวิญญาณ และป้อมปราการด่านสุดท้ายที่คนในสังคมไทยจำต้องปกป้องรักษาจนไปถึงกลายเป็นฐานการต่อสู้ก็คือ หมู่บ้านหรือชุมชนไทย (อิทธิเดช, 2561) ดังเพลงล่องแม่ปิง “คนงามงามต้องงามคู่ความเด่นดี ต้องฮักศักดิ์ศรีของกุลสตรีแม่ย่าแม่หญิง เยือกเย็นสดใสเหมือนน้ำแม่ปิง มั่นคงจริงใจฮักใครฮักจริง สาวเอยสาวเวียงพิงค์ สาวเครือฟ้าเกยซมซาน อีกแม่สาวบัวบานนั่นคือนิทานสอนใจ”

อีกกระแสหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้คือการโหยหาอดีต (Nostalgia) พัฒนา  กิติอาษา[8] ได้อธิบายว่าการโหยหาอดีตเป็นวิธีการมองโลกหรือวิธีให้ความหมายแก่ประสบการณ์ของมนุษย์อย่างหนึ่ง เน้นความสำคัญของจินตนาการและอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนใน “ปัจจุบันขณะ” ที่มีต่ออดีตที่ผ่านพ้นไปแล้ว เหลือเพียงประสบการณ์และความทรงจำที่เราหวนระลึกถึง และโลกที่ว่านี้เราสามารถติดต่อสื่อสารกับมันได้เมื่ออาศัยช่องที่เรียกว่า “จินตนาการ”

เราสามารถสัมผัสหรือจับต้องมองเห็นโลกที่เราสูญเสียไปได้อีกครั้งหนึ่ง หากเราสามารถสร้างภาพตัวแทนโดยการผลิตซ้ำ หยิบฉวยซ้ำซากความทรงจำ ด้วยการย้อนกลับไปจำลองประสบการณ์ในอดีตที่ผ่านมาขึ้นมาใหม่[9]

การโหยหาในลักษณะดังกล่าวเป็น “การเรียกหาอดีตที่เลือนหายไปแล้วให้กลับคืนมา” กระแสการโหยหาอดีต และชาตินิยม ผนวกกับการกลับมาของเพลงลูกทุ่ง ส่งผลต่อการกลับมาของโฟล์คซองคำเมืองของจรัล มโนเพ็ชร และสุนทรีย์ เวชานนท์ ที่กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งหลังปี 2540[10] 

วัฒนธรรมเพลงลูกทุ่งคำเมืองของคนเหนือ

วัฒนธรรมการฟังเพลงลูกทุ่งที่เป็นที่นิยมในภาคเหนือนั้นแทบไม่ใช่เพลงคำเมืองเลย จากบทสัมภาษณ์ ดีเจลูกหมู ดีเจ ชื่อดัง  ในจังหวัดเชียงใหม่ ในบทความสวัสดีคุณผู้ฟังทุกท่าน เสียงที่ได้ยินอยู่ขณะนี้คือเสียงของ “ดีเจลูกหมู” นิพนธ์ สุวรรณรังษี กับรายการมาลัยลูกทุ่ง  ได้ทำให้เห็นสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับเพลงลูกทุ่งที่เป็นที่นิยมในอดีตอย่างหนึ่งก็คือ เพลงที่อยู่ในลิสต์เพลงการฟังของคนในภาคเหนือของสถานีวิทยุที่เป็นที่นิยมกันตั้งแต่ทศวรรษที่ 2530 อย่างรายการ “มาลัยลูกทุ่ง” ล้วนเป็นเพลงภาคกลางเสียทั้งหมด กลุ่มคนฟังก็มักจะเป็นกลุ่มชาวบ้าน แต่คนที่มีตำแหน่งหน้าที่การงานหน่วนงานราชการ ก็จะฟังเพลงอีกแบบที่ไม่ใช่ลูกทุ่ง 

แต่ถึงอย่างนั้น จากบทความของของ ธิติวุฒิ ถาลายคำ[11] เรื่อง ความเปลี่ยนแปลงด้านวิถีชีวิตและทัศนคติของคนภาคเหนือ ในเพลงคำเมืองในช่วง พ.ศ.2500-2550. ในบทความนี้ได้ชี้ให้เห็นแนวเพลงลูกทุ่งอย่างหนึ่งที่เป็นที่นิยมในภาคเหนือในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งคือ “บทเพลงตลกคำเมือง” เพลงแนวนี้เป็นการสอดแทรกบทพูดตลกเข้าไปในเนื้อหาของเพลง บทเพลงชนิดนี้ได้รับความนิยมอย่างมากหลังวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ศิลปินเพลงตลกคำเมืองที่เกิดขึ้นใหม่หลังปี 2540 อย่างเช่น วงการเวก วงการันตี วงบุญศรี วงรัตนัว วงวิฑูรย์ วงใจพรม วงทิพวรรณ วงจันทร์สวย แก้วเริงเมือง และวงเหินฟ้า หน้าเลื่อม 

ภาพ: Chart เพลงฮิต

กระแสความนิยมของเพลงตลกคำเมืองที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับการที่ผู้คนในสังคมภาคเหนืออยู่ในสภาวะวิตก จากความไม่แน่นอนของชีวิต เพลงตลกคำเมืองจึงเป็นดั่งอาการคลายเครียดทางอารมณ์ความรู้สึก โดยเฉพาะผู้ที่ถูกออกจากงานในเมืองใหญ่และต้องกลับเข้าสู่ภาคชนบท อย่างเพลงข้าวใหม่ปลามัน และเพลงบริการปวงชน[12]

ในแง่หนึ่งอาจจะเห็นว่าวัฒนธรรมการฟังเพลงลูกทุ่งในภาคเหนือนั้นมีสองแบบ แบบหนึ่งเป็นเพลงลูกทุ่งภาคกลาง ดูได้จากการติดชาจการฟัง เช่น พลงสมศรี 1992 ของยิ่งยง ยอดบัวงาม เพลงสั่งนาง มนต์สิทธิ์ คำสร้อย  เสียน้ำตาที่คาเฟ่ ศรเพชร ศรสุพรรณ และเพลงลอยแพ พรศักดิ์ ส่องแสง[13] และเพลงตลกคำเมืองที่กล่าวไปข้างบน น่าสนใจที่ว่าทำไมผู้คนถึงไม่ฟังเพลงลูกทุ่งถึงแทบไม่ติดชาร์ตการฟังเพลงของคนเหนือเลย

ย้อนคิดเพลงลูงทุ่งคำเมืองในช่วงต้มยำกุ้งตกลงแล้วมันจะบอกอะไร?

หากคุณนึกถึงบรรยากาศในภาคเหนือ ภาพที่ออกมาก็คงคล้าย ๆ กันคือภาพแห่งภูเขา ทัศนียภาพที่สวยงดงาม จากการผลิตซ้ำที่กล่าวไปข้างต้ย แต่ในความเป็นจริงภาพเหล่านี้มักบดบังความความเป็นจริงและออกห่างชีวิตของผู้คนมากไปทุกที เนื่องจากในภาพใหญ่ของสังคมไทยช่วงเวลานั้น วิกฤตเศรษฐกิจต้องหันไปพึ่งพา imf (กองทุนเงินระหว่างประเทศ) ทำให้ประเทศไทยเป็นลูกหนี้ก้อนโตและก่อให้เกิดความรู้สึกการเสียเอกราชในทางเศรษฐกิจ [14]

ในแง่หนึ่ง ผมกลับนึกไม่ออกว่าเพลงลูกทุ่งคำเมืองในช่วงเวลาวิกฤตนั้นมันฟังก์ชันกับผู้คนระดับล่างในภาคเหนืออย่างไร แต่มันฟังก์ชั่นในแง่หนึ่งที่ว่า ช่วงทศวรรษ 2540 หลังเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ได้หันไปสู่กระแสการโหยหาอดีต และได้นำไปสู่การสร้างจินตกรรมของหมู่บ้านชนบท เนื่องจากมันเป็นการปลอบประโลมผู้คนจากความผิดหวังให้หันไปมองโลกอีกแบบหนึ่งที่สวยงามได้

บทความนี้อาจจะไม่ตอบคำถามข้างบนสักเท่าไหร่ว่าทำไมไม่มีน้ำเสียงของการต่อสู้และความเจ็บปวดของผู้คน แต่มันชี้ให้เห็นมโนภาพอย่างหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นภายใต้เงื่อนไขของสภาวะวิกฤต ที่สร้างภาพจำต่อภาคเหนือทั้งในเรื่องจินตภาพหมู่บ้าน (ชนบท) และอดีต ที่แช่แข็งจนเป็นภาพที่สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันก็ได้


  • [1] อ้างถึงใน ชยันต์ วรรธนะภูติ, “คนเมือง” : ตัวตน การผลิตซ้ำสร้างใหม่และพื้นที่ทางสังคมของคนเมือง, ใน อานันท์ กาญจนพันธุ์บรรณาธิการ. อยู่ชายขอบมองลอดความรู้ รวมบทความเนื่องในวาระครบรอบ 60 ปี ฉลาดชาย รมิตานนท์, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2549).
  • [2] เรื่องเดียวกัน.
  • [3] ธิติวุฒิ ถาลายคำ. ความเปลี่ยนแปลงด้านวิถีชีวิตและทัศนคติของคนภาคเหนือ ในเพลงคำเมืองในช่วงพ.ศ.2500-2550. วารสารประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระดับปริญญาตรี. ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มิถุนายน 2566).
  • [4] เรื่องเดียวกัน.
  • [5] นิธิ เอียวศรีวงศ์. ชาติไทย เมืองไทย แบบเรียน และอนุสาวรีย์. กรุงเทพฯ: มติชน. 2539.
  • [6] เบน แอนเดอร์สัน, ชุมชนจินตกรรม: บทสะท้อนว่าด้วยกำเนิดและการแพร่ขยายของชาตินิยม, ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, บรรณาธิการแปล. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2552.
  • [7] ทัศน์วศิน ธูสรานนท์ และ พรพรรณ ประจักษ์เนตร. พัฒนาการในการสื่อสารของเพลงลูกทุ่งผ่านการเล่าเรื่องตามค่านิยมของสังคมไทย จากอดีตสู่ปัจจุบัน. วารสารนิเทศศาสตร์และนวัตกรรม นิด้า. ปีที่ 4 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม- ธันวาคม 2560).
  • [8] พัฒนา กิติอาสา. มานุษยวิทยากับการศึกษาปรากฏการณ์ โหยหาอดีตในสังคมไทย. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร องค์การมหาชน. 2546.
  • [9] เรื่องเดียวกัน, บทนำ.
  • [10] ธิติวุฒิ ถาลายคำ. ความเปลี่ยนแปลงด้านวิถีชีวิตและทัศนคติของคนภาคเหนือ ในเพลงคำเมืองในช่วงพ.ศ.2500-2550. วารสารประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระดับปริญญาตรี. ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มิถุนายน 2566).
  • [11] เรื่องเดียวกัน.
  • [12] เรื่องเดียวกัน.
  • [13] อ้างถึงใน ธันยชนก อินทะรังษี. สวัสดีคุณผู้ฟังทุกท่าน เสียงที่ได้ยินอยู่ขณะนี้คือเสียงของ “ดีเจลูกหมู” นิพนธ์ สุวรรณรังษีกับรายการมาลัยลูกทุ่ง. Lanner.
  • [14]อิทธิเดช พระเพ็ชร, จาก “โหยหา” ถึง “โมโห”: อ่านอาการสังคม ในภาพยนตร์ไทยหลังวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง (พ.ศ. 2540-2546), วารสารประวัติศาสตร์ธรรมศาสตร์, ปีที่ 5 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2561).

ชอบอ่านวรรณกรรม โดยเฉพาะวรรณกรรมที่บอกเล่าเรื่องราวของคนธรรมดา และงานวรรณกรรมวิจารณ์ ตื่นเต้นทุกครั้งที่อ่าน มาร์กซ์ ฟูโกต์ และแก๊ง post modern ทั้งหลาย ใช้สมุนไพรเป็นเครื่องช่วยเยียวยาจิตใจในโลกทุนนิยมอันโหดร้าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง