สำรวจประเทศไหนในโลกที่เป็นสภาเดี่ยว ไม่มีสว.

เรื่อง : กองบรรณาธิการ Lanner

สมาชิกวุฒิสภา หรือ “สว.” ในระบบรัฐสภาของประเทศไทย มีหน้าที่ถ่วงดุลอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร ผ่านการร่วมประชุมหารือในประเด็นวาระต่างๆ อีกทั้งยังมีอำนาจและความพิเศษพิกลอีกมากมายตามที่กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ และระบบของรัฐสภาไทยถือเป็นระบบรัฐสภาในรูปแบบของสภาคู่ (Bicameral parliament) ที่ให้อำนาจ สว. เต็มที่ จนหลายๆ ครั้ง เราก็มักจะตั้งคำถามกันว่า เลือกพรรคที่ใช่ คนที่ชอบไปเป็นผู้แทนราษฎรแล้ว แต่ทำไมถึงยังติดขัดจนประเทศเดินต่อไม่ได้อีก

แม้ในต่างประเทศทั่วโลกเองก็อาจจะยังคงบริหารการปกครองในแบบสภาคู่กันอยู่บ้าง แต่หลายๆ ประเทศเองก็ “ยกเลิก” กันไปแล้ว และกว่า 70 ประเทศทั่วโลก ก็หันมาใช้ระบบสภาเดี่ยว (Unicameral parliament) ด้วยเหตุผลและวิธีคิดที่ต่างกันไป Lanner จะขอหยิบยกบางประเทศที่ได้ยกเลิกระบบรัฐสภาแบบนี้ไปและหันมาใช้ระบบสภาเดี่ยวกันบ้าง

สภาเดี่ยว-สภาคู่ ต่างกันยังไง อะไรดีกว่ากัน?

ระบบสภาเดี่ยวและระบบสภาคู่นั้นมีความแตกต่างกันในหลายจุด ไม่ว่าจะเป็นหลักการปฏิบัติงาน ที่มาของสมาชิกสภา หรือหน้าที่ของสมาชิกสภา ก่อนที่จะเริ่มสอดส่องประวัติศาสตร์รัฐสภาของประเทศต่างๆ เราขอพาทุกคนมาสำรวจความแตกต่างรวมไปถึงจุดแข็งของรัฐสภาทั้งสองรูปแบบ

จุดแข็งอย่างหนึ่งของระบบสภาเดี่ยว คือการสร้างกระบวนการทางกฎหมายที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ร่างกฎหมายจะต้องดำเนินการก่อน และอภิปรายโดยผู้มีอำนาจตัดสินใจชุดเดียว ในขณะที่ระบบสภาคู่ สภาทั้งสองจะต้องอภิปรายและอนุมัติร่างกฎหมายเพื่อให้ร่างกฎหมายมีโอกาสออกเป็นกฎหมาย ประสิทธิภาพทางกฎหมายนี้มีค่าเป็นพิเศษในสังคมที่เป็นเนื้อเดียวกันมากขึ้น ซึ่งการมีพื้นที่สำหรับเสียงและมุมมองที่แตกต่างกันนั้นไม่ได้ถูกมองว่ามีความสำคัญเป็นพิเศษ ในสังคมเหล่านี้ถือว่าพรรคการเมืองเพียงพอที่จะปกป้องผลประโยชน์ที่หลากหลาย ยิ่งไปกว่านั้น การที่จะมีสภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบในร่างกฎหมาย อาจส่งผลให้เกิดความกังวลขึ้นในสังคม การที่นายกรัฐมนตรีมีเสียงข้างมากในรัฐสภาเป็นผู้ตัดสินใจในร่างกฎหมาย จะทำให้ความกังวลที่เกิดจาก “วีโต้พอยท์” (Veto point) ที่เกิดขึ้นจากการที่สองสภามีความเห็นต่างกันไม่เกิดขึ้น

ในส่วนของสภาคู่ การทำงานโดยผู้แทนทั้งสองสภาสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการ และความคิดเห็นของฝ่ายต่างๆ ในรัฐ โดยส่วนใหญ่แล้วจะแบ่งเป็นสภาล่างที่มีความผูกโยงกับประชาชน ทั้งที่มา และหน้าที่ที่จะเป็นผู้แทนราษฎร และสภาบนที่เสมือนเป็นผู้แทนของรัฐหรือชนชั้นต่างๆ ในรัฐ ในระบบสภาคู่ สภาทั้งสองจะสร้างระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลภายในฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อให้กฎหมายใดๆ ที่สามารถผ่านการเห็นชอบได้ในกระบวนการของฝ่ายนิติบัญญัติมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จมากขึ้น

สำรวจโลกประชาธิปไตย ที่ไหนบ้างที่ยกเลิกสภาคู่ สู่สภาเดี่ยว

ข้อมูลจาก Conlab และ Ranker ชี้ให้เห็นว่าจากประเทศทั่วโลกทั้งหมด 176 ประเทศ มีจำนวน 75 ประเทศที่เป็นประชาธิปไตย จากในจำนวนนั้น 38 ประเทศใช้ระบบรัฐสภาในการบริหาร แบ่งเป็นสหพันธรัฐ 7 ประเทศ และรัฐเดี่ยวอีก 31 ประเทศ ในจำนวนนี้มีอยู่ 20 ประเทศที่ใช้ระบบรัฐสภาเดี่ยว และมีเพียง 7 ประเทศ ที่ใช้ระบบสภาคู่ที่มีสว. มาจากทั้งที่การเลือกตั้งโดยตรงและการเลือกตั้งโดยอ้อม และมีเพียง 4 ประเทศที่มีสว. มาจากการแต่งตั้ง



ตารางแสดงรูปแบบระบบสภาของประเทศที่เป็นประชาธิปไตยแบบรัฐสภา

ประเทศรัฐสภาเดี่ยวประเทศรัฐสภาคู่
สว. มาจากการเลือกตั้ง
ประเทศรัฐสภาคู่
สว. มาจากการแต่งตั้ง
นอร์เวย์ไอร์แลนด์สหราชอาณาจักร
ไอซ์แลนด์เนเธอร์แลนด์โตเบโก
สวีเดนสเปนเลโซโท
นิวซีแลนด์ญี่ปุ่นจาเมกา
เดนมาร์กเช็ก
ฟินแลนด์สโลวีเนีย
ลักเซมเบิร์กอิตาลี
มอริเชียส
มอลตา
เอสโตเนีย
อิสราเอล
ลัตเวีย
กรีซ
สโลวาเกีย
บัลแกเรีย
ฮังการี
โครเอเชีย
เซอร์เบีย
สิงคโปร์
ปาปัวนิวกินี

Lanner ขอยกตัวอย่าง 3 จาก 20 ประเทศที่ใช้ระบบรัฐสภาเดี่ยวในการปกครองและปราศจากสว.ในรัฐสภา เพื่อให้เห็นถึงที่มาที่ไป และกระบวนการที่กว่าจะทำให้ประเทศสักประเทศหนึ่งเปลี่ยนเป็นสภาเดี่ยวนั้นเป็นอย่างไรบ้าง

ประเทศนิวซีแลนด์



ในอดีต ประเทศนิวซีแลนด์เคยใช้ระบบรัฐสภาคู่ โดยแบ่งเป็นสภาผู้แทนราษฎร หรือ สส. (สภาล่าง) และ สภานิติบัญญัติ (สภาบน) โดยหน้าที่ของสภาบน คือการเป็นผู้กำกับดูแลและวิพากษ์วิจารณ์นโยบายต่างๆ ของรัฐบาล และกลั่นกรองมติของสภาล่าง อย่างไรก็ตาม ถ้ามีสมาชิกสภาบนคนใดไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาล รัฐบาลก็สามารถแต่งตั้งสมาชิกคนใหม่เข้าสู่สภาบนได้ ทำให้สภาบนไม่มีความจำเป็น และดูไม่เป็นเอกเทศต่อรัฐบาล

ในปี 1947 ซิดนีย์ ฮอลแลนด์ (Sidney Holland) หัวหน้าพรรคประชาชาติได้เสนอร่างกฎหมายยกเลิกสภาบน ด้วยเหตุผลที่สภาบนไม่มีความจำเป็นใดๆ แต่ก็ถูกปัดตกไปในสภาล่าง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการที่นิวซีแลนด์ในตอนนั้นยังไม่มีเอกราชจากสหราชอาณาจักรมากพอที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญของตัวเองได้

อย่างไรก็ตาม พรรคประชาชาติ ชนะการเลือกตั้งในปี 1950 และเป็นช่วงเวลาที่นิวซีแลนด์ได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักรแล้ว ทำให้ ซิดนีย์ สามารถแต่งตั้งสมาชิกสภาบนจำนวน 29 จาก 53 คน ซึ่งมีความเห็นชอบกับนโยบายการยกเลิกสภาบนของ ซิดนีย์ เป็นผลให้นโยบายดังกล่าวถูกบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 1951 เป็นการสิ้นสุดระบบสภาคู่ในประเทศนิวซีแลนด์

ประเทศเดนมาร์ก



รัฐธรรมนูญเมื่อปี 1849 ตั้งอยู่บนหลักการของการกระจายอำนาจ โดยให้อำนาจนิติบัญญัติอยู่ในมือของกษัตริย์และรัฐสภาร่วมกัน และอำนาจตุลาการกับศาลที่เป็นอิสระ โดยแบ่งเป็นวุฒิสภา หรือลันด์สติงเกต (Landstinget) และสภาผู้แทนราษฎร หรือฟอลเกตติง (Folketing) โดยในตอนนั้น มีเพียงประชาชนที่มีอายุ 30 ปี ยกเว้นคนรับใช้ ผู้ที่ได้รับการสงเคราะห์การกุศล ผู้ต้องโทษทางอาญาและบุคคลล้มละลาย ซึ่งเป็นเพียง 13-14% ของประชากรเดนมาร์กเท่านั้นที่สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้ และถึงแม้ว่าจะสามารถเลือกสว.ได้ แต่เกณฑ์ของผู้ที่มีสิทธิเลือกสว.ก็เข้มงวดยิ่งขึ้นไปอีก ทำให้มีประชากรเพียงบางส่วนเท่านั้นที่สามารถใช้สิทธิเลือกสว.ได้ มิหนำซ้ำในช่วง 12 ปีแรกของการเปิดสภา กษัตริย์ก็มีอำนาจในการแต่งตั้งสว.ด้วย

ในปี 1939 รัฐสภาเดนมาร์กได้ผ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนเพียงพอในการลงประชามติ ดังนั้นรัฐธรรมนูญฉบับปี 2458/20 จึงยังคงมีผลบังคับใช้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ลากยาวมาจนถึงปี 1953 ซึ่งเป็นช่วงที่สงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านพ้นไปแล้ว

การสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่งผลให้เกิดการปฏิรูปรัฐธรรมนูญขึ้น ซึ่งมีบทบัญญัติชัดเจน ที่สภาผู้แทนราษฎรสามารถประกาศความไม่มั่นใจในรัฐบาลได้ ซึ่งจะต้องมีการลาออกหรือจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ผนวกกับการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญในปี 1953 ซึ่งมีผู้เห็นด้วยร้อยละ 78.8 ทำให้บทบาทของลันด์สติงเกตสิ้นสุดลง

ประเทศสวีเดน



ระบบการปกครองแบบรัฐสภาคู่ถูกนำมาใช้ในสวีเดนตั้งแต่ปี 1866 โดยแบ่งเป็นสภาลำดับที่หนึ่ง (Första kammaren) และสภาลำดับที่สอง (Andra kammaren) ซึ่งทั้งสองสภานี้มีส่วนร่วมในการออกความเห็น ลงมติในการตัดสินใจต่างๆ ในประเทศ โดยสภาลำดับที่หนึ่ง มาจากการเลือกตั้งโดยสภาคณะผู้เลือกตั้งที่เป็นกลุ่มตัวแทนจากสภาเทศบาลและสภาส่วนภูมิภาคของเมืองใหญ่ๆ เท่านั้น ต่างจากสภาลำดับที่สองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

ในตอนนั้นแนวคิดประชาธิปไตยเต็มใบยังไม่ถูกยอมรับกลุ่มคนที่มีอำนาจ ดังนั้นจึงมีการตั้งเกณฑ์ของผู้ที่มีสิทธิในการเลือกตั้ง รวมไปถึงผู้สมัครตำแหน่งสมาชิกสภาลำดับที่หนึ่งขึ้น เพื่อเป็นการควบคุมประชาธิปไตยที่กำลังเติบโต โดยเกณฑ์ดังกล่าวจะมีความเกี่ยวข้องกับอายุ เพศ รวมถึงรายได้ 

อย่างไรก็ตามในช่วงปี 1950 ได้เกิดแรงผลักดันต่อการต่อต้านระบบสภาคู่นี้ขึ้น โดยถูกมองว่าเป็นระบบที่ซับซ้อนและล้าหลัง ร่วมกับการขยายสิทธิในการเลือกตั้งของประชาชนและการปฏิรูประบบการปกครองที่มีความต้องการให้สมาชิกสภาทั้งหมดมาจากการเลือกตั้งโดยตรง ระบบสภาคู่ในสวีเดนจึงสิ้นสุดบทบาทลงในปี 1970 กลายเป็นระบบสภาเดี่ยว (Riksdag) ที่มีจำนวนสภาชิกเริ่มต้นที่ 350 คน ก่อนจะลดลงเหลือ 349 คนในปี 1977

ไทยอยู่ตรงไหน ในเวทีประชาธิปไตยโลก ?

จะเห็นได้ว่าตารางแสดงรูปแบบระบบสภาของประเทศที่เป็นประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ที่รวบรวมการใช้งานรัฐสภารูปแบบต่างๆ ของแต่ละประเทศที่เป็นประชาธิปไตยในหัวข้อก่อนหน้า ไม่มีประเทศไทยบ้านเราอยู่ให้เห็น แล้วในความเป็นไปของโลกประชาธิปไตย ประเทศไทยอยู่ตรงไหน ?

อ้างอิงจากการประเมินดัชนีประชาธิปไตย โดย The Economist Intelligence Unit (EIU) ซึ่งเป็นบทวิเคราะห์ระดับความเป็นประชาธิปไตยในประเทศต่างๆ แบ่งออกเป็น 5 หัวข้อ ได้แก่

1. กระบวนการเลือกตั้งและพหุนิยม (electoral process and pluralism)
2. การทำงานของรัฐบาล (the functioning of government)
3. การมีส่วนร่วมทางการเมือง (political participation)
4. วัฒนธรรมทางการเมือง (political culture)
5. เสรีภาพพลเมือง (civil liberties)

ซึ่งการจัดอันดับดัชนีประชาธิปไตยประจำปี 2565 ที่ถูกเผยแพร่ไปเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา EIU ได้จัดอันดับให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 55 มีคะแนนความเป็นประชาธิปไตยโดยเฉลี่ยนอยู่ที่ 6.67 คะแนน เพิ่มขึ้น 0.62 คะแนนจากปี 2564 ที่มีคะแนน 6.04 คะแนน เป็นประเทศที่คะแนนเพิ่มขึ้นมากที่สุดในปี 2565 และอันดับดีขึ้นถึง 17 อันดับ

ถึงอย่างนั้น คะแนนความเป็นประชาธิปไตยโดยเฉลี่ยจำนวน 6.67 คะแนนนั้น ก็ทำให้ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศประชาธิปไตยที่ยังมีข้อบกพร่อง หรือ Flawed Democracy (6.01-8.00 คะแนน) ยังมิได้อยู่กลุ่มประเทศประชาธิปไตยสมบูรณ์ หรือ Full Democracy (8.01-10.0 คะแนน) แต่อย่างใด

ไทยเคยเป็นสภาเดี่ยว?

เรื่องที่ประเทศไทยเคยมีรูปแบบของการเป็นสภาเดี่ยวมาก่อนนั้น หลายคนเองก็ไม่น่าจะจำได้ เพราะเป็นช่วงเวลาแค่ไม่กี่ปีเท่านั้น ตามรัฐธรรมนูญฉบับ ปี 2475 หรือที่รู้กันว่านี่คือรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศ ได้บัญญัติให้รัฐสภาของไทยเป็นระบบสภาเดี่ยว โดยเหตุผลที่บัญญัติให้เป็นสภาเดี่ยวนั้น ศาสตราจารย์ไพโรจน์ ชัยนาม ที่เป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ให้เหตุผลว่า “รัฐธรรมนูญควรจะบัญญัติให้มีสองสภา คือ สภาผู้แทนเป็นสภาล่าง กับสภาบนอีกหนึ่งสภา หรือควรจะมีสภาเดียว”



อีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่เป็นสภาเดี่ยวก็คือการดำเนินการที่รวดเร็วฉับไว โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ในช่วงเวลานั้นมีอยู่ 2 ประเภท คือ

1.สมาชิกที่มาจากการเลือกตั้ง โดยให้ประชาชนเลือกผู้แทนตำบล(ในตอนนั้น) จากนั้นให้ผู้แทนตำบลไปเลือกตั้ง สส. อีกที
2.สมาชิกที่มาจากการที่นายกรัฐมนตรีถวายรายชื่อให้พระมหากษัตริย์โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เพื่อทำหน้าที่เป็น ‘พี่เลี้ยง’ กำหนดทิศทางของสภาผู้แทนฯ ตามประสงค์ของคณะราษฎร

แม้จะดูคล้ายเหมือนว่าจะเป็นเป็นเหมือนสภาคู่ก็ตาม แต่การมาถึงของรัฐธรรมนูญ 2489 ได้กำหนดให้มี 2 สภา คือ สภาผู้แทนราษฎร และ ‘พฤฒสภา’ ซึ่งต่อมาก็คือสมาชิกวุฒิสภานั่นเอง ก่อนที่จะถูกยกเลิกหลังการรัฐประหาร  ‘คณะทหารแห่งชาติ’ นำโดย พลโทผิน ชุณหะวัณ และประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2490 ซึ่งในรายละเอียดยังใช้ระบบ 2 สภา แต่ใช้คำว่า ‘วุฒิสภา’ แทนคำว่าพฤฒสภา ซึ่งถือว่าเป็นกำเนิดแรกของ ‘วุฒิสภา’ อย่างเป็นทางการ จนมาถึงปัจจุบัน

จากบทความ ‘พฤฒสภา’ สภาคู่อายุสั้นหลัง 2475 กำเนิด ‘วุฒิสภา’ มรดกรัฐประหาร และคำถามที่ว่า สว. มีไว้ทำไม? โดย รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์ อธิบายว่า หลังการรัฐประหาร 2490 ที่ทำให้เกิดวุฒิสภาชุดแรก และผลพวงรัฐประหารครั้งต่อๆ มาก็ยังมีการแต่งตั้ง สว. ตามรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นใหม่ จนกลายเป็นวงจรปกติ เช่นเดียวกับ สว. ที่มาจากการรัฐประหาร คสช. 2557

โดยมีแค่ในช่วงของการปฏิรูปการเมือง 2540 จะมีการเลือกตั้ง ส.ว. ทั้งหมด 270 คน และในช่วงของการรัฐประหาร 2549 จะมีการแต่งตั้ง 74 คน และเลือกตั้ง 76 คน ในปี 2550 และล่าสุดกับการรัฐประหาร 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่แต่งตั้ง สว. ตามบทเฉพาะกาลในช่วง 5 ปีแรก 250 คน จากปกติ 200 คน

จะเห็นได้ว่าในห้วงเวลาหนึ่งประเทศไทยก็เคยมีแนวคิดเรื่องสภาเดี่ยวอยู่จริงๆ ก่อนที่ทุกอย่างจะถูกล้มกระดาน รื้อใหม่จนเราต่างก็ลืมกันไปแล้วว่าเคยมีแต่..ไม่มี

ทั้งนี้ในช่วงที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 272 กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่มาจากการแต่งตั้งมีอำนาจร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งชัดเจนว่าแม้ประชาชนจะเลือกพรรคที่ชอบคนที่ใช่ยังไงก็ติดขัดอยู่ดี

ประเทศไทยไปทางไหน? สายลมแห่งความเปลี่ยนแปลง ต้องรออีก 10 เดือน จริงหรือหลอก?

กัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อพรรคเป็นธรรม โพสต์ข้อความในเฟสบุ๊ค ตั้งคำถาม รอ 10 เดือน หรือเจ็บอีกหลายปี โดยเปิดเผยถึงผลการหารือร่วมกันของพรรคเพื่อไทย และ 8 พรรคร่วมรัฐบาล หลังพรรคเพื่อไทยได้รับไม้ต่อจากพรรคก้าวไกล เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งมี 3 ทางเลือกคือ

1. หาเสียง สว.เพิ่ม เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย
2. หาเสียง สส.เพิ่ม เลือกนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย
และ 3.อื่นๆ

ทุกสมการที่ว่ามา คือพรรคก้าวไกลต้องลดเพดานนโยบายที่ให้ไว้กับ voters ของตน หรือสมการ “อื่นๆ” อาจหมายรวมถึงก้าวไกลต้องไปเป็นฝ่ายค้านก็เป็นได้ หากพิจารณาให้ดีแล้ว ทุกสมการทั้ง 3 หลักการและอุดมการณ์ทางระบอบประชาธิปไตยต้องถูกประนีประนอม (compromised) ทั้งสิ้น

กัณวีร์ ระบุว่า “ทำไมพรรคฝั่งประชาธิปไตยต้องเล่นตามเกมฝั่งอำนาจนิยมตลอดเวลา น่าคิดนะครับ ดึงเวลาทุกอย่าง กว่าจะรับรอง สส.เลือกนายกฯ ที่ต้องมีเสียง สว.และข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 41”

หากพรรคร่วมสามารถมองเห็นว่าเวลาไม่ใช่สิ่งสำคัญ แต่สิ่งสำคัญคือพี่น้องประชาชนและระบอบประชาธิปไตย 

ดังนั้น การรออีก 10 เดือน ให้สว.ระเหิดไปกับกฎหมายที่รองรับ แล้วเอาแค่เสียงสส.เลือกนายกรัฐมนตรี มันอาจจะเจ็บบ้างที่ต้องให้รัฐบาลรักษาการอยู่ต่ออีก 10 เดือน แต่เมื่อคำนวณผลลัพธ์แล้วจะเห็นว่าเราจะไม่จบเจ็บอีกหลายสิบปี

“แต่หากให้อำนาจนิยมได้กุมอำนาจอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีการยุบสภาในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า แต่ความต่อเนื่องของอำนาจนิยมยิ่งจะทำให้ประเทศนี้ต้องตกต่ำ จนยากจะกู้คืนกลับมาได้ แค่ข้อเสนอสมการอีกอัน ทำการใหญ่ใจต้องนิ่งครับ”

ทั้งนี้กรณีของการรออีก 10 เดือน อาจจะมีข้อถกเถียงใหญ่ในสังคมตอนนี้ แต่ท้ายที่สุดเราควรจะต้องกลับมาทบทวนหลักการที่สำคัญของแนวคิดประชาธิปไตย คือความเท่าเทียมกันของเสียงเสียงหนึ่งในสังคม แต่จากเหตุการณ์ทางการเมืองล่าสุด ที่เสียงของประชาชนกว่า 14 ล้านเสียงไม่สามารถมีอำนาจเทียบเท่าสว.จำนวนเพียง 250 คน (หรืออาจจะน้อยกว่านั้นเพราะหยุดงานไปหลายคน) ก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่าหลักการดังกล่าวอาจเป็นได้เพียงเรื่องเล่าเพ้อฝันที่ไม่มีทางเป็นจริงในระบบรัฐสภาบ้านเรา แบบนี้จะเรียกว่าถึงคราวโล๊ะหรือไม่?

ทั้งนี้ พริษฐ์ วัชรสินธุ เคยกล่าวในงานเสวนา “ประเทศไทยแบบไหนที่เราอยากอยู่ร่วมกัน” เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 ณ โรงแรมบุรีศรีภู อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยเสนอไอเดียและเหตุผลประกอบว่า ประเทศไทยอาจจะใช้สภาเดี่ยว ไม่ต้องมีสว. เลยก็ได้ โดยมองว่าปัญหาของระบบรัฐสภาในประเทศไทย คืออำนาจของสว.ที่ไม่มีความสมดุล ไม่มีความสัมพันธ์กับที่มาในการเข้ารับตำแหน่ง โดย พริษฐ์ อธิบายไว้ว่าในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย สว.ที่มีอำนาจสูงขนาดนี้ย่อมต้องมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน หรือสว.ที่มาจากการแต่งตั้งก็ต้องไม่มีอำนาจในระดับที่จะสามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ 

นอกจากนี้ พริษฐ์ ยังเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาอำนาจสว.ไว้ 3 ข้อ ได้แก่

1.จัดให้มีการเลือกตั้งสว. เพื่อให้สว.สามารถมีอำนาจอย่างในปัจจุบันได้ แทนที่จะยึดโยงอยู่กับฝ่ายบริหาร
2.ลดอำนาจสว. เพื่อให้สามารถมาจากการแต่งตั้งของคนกลุ่มน้อยในประเทศได้
3.ตั้งคำถามถึงความจำเป็นในการมีอยู่ของสว.


ภาพ : ILaw

โดยแนวทางดังกล่าว อ้างอิงจากรูปแบบที่มาและการปฎิบัติงานของสว.จากระบบรัฐสภาในรัฐประชาธิปไตยที่ใช้ระบบการปกครองแบบสภาเดี่ยว นอกจากนั้น พริษฐ์ ยังได้เสนอข้อดีของการหันมาใช้ระบบสภาเดี่ยวในประเทศได้ ข้อแรกคือการลดงบประมาณสำหรับค่าใช้จ่ายต่างๆ ของสว. ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน ค่าเดินทาง หรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่รวมเป็นเงินกว่า 1,200 ล้านบาทต่อปี และข้อสองคือการลดระยะเวลาในการออกกฎหมายต่างๆ ที่จะช่วยเพิ่มความคล่องตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก

แม้ระบบปกครองแบบสภาเดี่ยวและสภาคู่จะมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน และระบบสภาเดี่ยวจะช่วยเพิ่มความยึดโยงระหว่างรัฐสภาและประชาชนมากขึ้น แต่ระบบรัฐสภาทั้งสองแบบก็ต่างมีข้อดีและความเหมาะสมในบริบทสังคมที่แตกต่างกันออกไป สิ่งหนึ่งที่อาจเป็นต้นตอของความไม่สมดุลทางอำนาจของสว. และระบบสภาคู่ อาจเกิดมาจากรัฐธรรมนูญที่ถูกร่างขึ้นโดยผู้มีอำนาจ เพื่อผลประโยชน์ของคนกลุ่มน้อย หรืออย่างในบริบทของประเทศไทยเองที่อำนาจของสว.มีต้นตอมาจากรัฐธรรมนูญของรัฐบาลจากการรัฐประหาร เพื่อเป็นหลักประกันการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลทหาร จึงอาจกล่าวได้ว่าระบบรัฐสภาคู่เป็นเพียงจุดยอดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าระบบรัฐสภาเดี่ยวก็เป็นเครื่องมือของประชาชน เพื่อการไขว่ขว้าประชาธิปไตยที่พวกเราสมควรจะได้รับเช่นกัน


อ้างอิง

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง