เรื่องและภาพ: อนันตญา ชาญเลิศไพศาล
อาชีพนักติดตั้งผลงานศิลปะ หรือ “อาร์ต แฮนเลอร์” (Art Handler) เป็นอาชีพที่กำเนิดขึ้นมาพร้อมกับการขยายตัวของพิพิธภัณฑ์แกลเลอรี่ในยุคสมัยใหม่ ที่ต้องยกระดับมาตรฐานในการจัดนิทรรศการศิลปะมากขึ้น จึงทำให้อาชีพนี้กลายเป็นที่ต้องการอย่างแพร่หลาย
Art Handler มีวิธีคิดยังไง? แค่ใช้เครื่องมือช่าง ก็เป็นนักติดตั้งงานศิลปะได้แล้วไหม?
Lanner JOY ชวนพูดคุยกับ ‘ต้องจี้ – วิภูพงศ์ จิระประภูศักดิ์’ และ ‘กว้าง — กีรติ กุสาวดี’ นักติดตั้งงานศิลปะจากเชียงใหม่ที่ทำงานมาแล้วกว่า 8 ปี และก้าวใหม่ในการก่อตั้งบริษัท “New Found Art Handler” ที่รับออกแบบติดตั้งงานนิทรรศการและงานโปรดักชั่นแบบครบวงจร
แนะนำตัวเองว่ายังไงกับอาชีพนี้
กว้าง: พอบอกอาร์ตแฮนเลอร์ คนก็จะ ห้ะ อะไรนะ (หัวเราะ) บางทีก็ไม่รู้จะอธิบายยังไง บอกไปเค้าก็ไม่เข้าใจเหมือนเดิม ผมเป็นช่างก็ได้ ทุกวันนี้
ต้องจี้: มันไม่มีคําภาษาไทย เพราะถ้าภาษาไทยเราก็จะบอกว่า “คนติดตั้งงานศิลปะ”
บุคคลในภาพ (จากซ้ายไปขวา) ต้องจี้ – วิภูพงศ์ จิระประภูศักดิ์ และ กว้าง — กีรติ กุสาวดี
เข้ามาในวงการ Art Handler ได้ยังไง?
ต้องจี้: เรารู้จักกันตอนเรียนป.โท Media Arts and Design รุ่นท้าย ๆ ก่อนปิด
ซึ่งตอนนี้ก็ปิดไปแล้วล่ะ (หัวเราะ)
กว้าง: ตอนเรียนมันก็จะต้องทําโปรเจ็คกันอยู่แล้ว แล้วทีมติดตั้งกันก็มีอยู่ไม่กี่คน พอรู้ว่าใครจัดการงานติดตั้งอะไรได้ เขาก็จะรีเควสคนเข้าไปทํา
ต้องจี้: เริ่มจากไปช่วยรุ่นพี่ที่เป็นกลุ่มศิลปินชื่อ Mute Mute น่าจะช่วงปี 2551-2552 เข้าไปตั้งแต่กระบวนการผลิตชิ้นงานน่ะ แล้วเค้าก็ชวนไปช่วยติดตั้งที่ Bacc ก็เลยเริ่มจากตรงนั้น ทีนี้เราเริ่มรับงานเอง ไปเริ่มที่หอศิลป์ฯ ปี 2016 เป็นงานของพี่ตั๋ง – อุดมศักดิ์ กฤษณมิตร เค้ามาทํา Retrospective ซึ่งเราก็ได้งานจาก Gallery VER มา”
ต้องจี้: หลังจากนั้นไม่นาน พิพิธภัณฑ์ร่วมสมัยใหม่เอี่ยมฯ (MAIIAM Contemporary Art Museum) ก็เปิดพอดี แล้วเค้าก็หาคนช่วยติดตั้งงาน จนได้ไปเจอกับ supermormal เราก็เลยได้เข้าไปช่วยซัพพอร์ต เราพอจะรู้จักการใช้เครื่องมืออุปกรณ์ แต่ที่ตัดสินใจไปทําก็คือเราอยากไปเรียนรู้เพิ่มขึ้นเพราะงานบางประเภทเราก็ไม่รู้ว่าเค้าจะติดตั้งกันแบบไหน
การเป็น Art Handler ต้องทําอะไรบ้าง?
กว้าง: เอาสเก็ตช์มาคุยกันก่อน แล้วดูว่านิทรรศการมันจะเป็นยังไง มีงานอะไรบ้าง เราจะได้วางแผนถูก ไปดูหน้างานว่ามันทําได้จริงมั้ย โครงสร้างซัพพอร์ตได้ไหม เราต้องไปเพิ่มโครงสร้างอะไรรึเปล่า เพื่อให้งานมันแข็งแรง แล้วก็เตรียมเครื่องมือเพื่อไปเซ็ตอัพ
ยกตัวอย่างงานที่รู้สึกท้าทายแล้วอยากเล่าให้ฟัง
กว้าง: ของผมเป็นงานกลุ่มศิลปินหรือ Collective จาก ออสเตรีย/โครเอเชีย ที่ชื่อว่า ‘Numen/For Use’ จัดแสดงกับ BAB (Bangkok Art Biennale) ปี 2018 ที่ BACC ซึ่งไอเดียความคิดของศิลปิน ก็คือเอาเทปพลาสติกใสพันกันให้ออกมาเป็นเหมือนรังไหมแล้วให้คนเข้าไปอยู่ข้างในได้ เค้าไปทำทั่วโลกเลย
กว้าง: เค้าจะมีทีมของเค้ามา 2 คน ซึ่งเป็นเหมือนสถาปนิกออกแบบว่าจะต้อง วางผังยังไง จุดยืนตรงไหน ต้องโยงเทปแบบไหนเพื่อให้มันขึ้นฟอร์มเหมือนที่เค้าต้องการได้ ผมเข้าไปประสานงาน เพราะว่ามันไม่ค่อยมีคนพูดภาษาอังกฤษได้
กว้าง: ถ้ามันเป็นงานแขวนรูปทั่วไป มันธรรมดามากไง แต่ถ้าที่ชอบส่วนตัวก็คือ ชอบงานที่มันเป็นงานใหม่ ๆ ที่เราไม่รู้ในเชิงเทคนิค (Technical) อย่างบางงานเค้าก็จะมีคู่มือมาให้เราเลย
ต้องจี้: สำหรับผมงานที่ท้าทายคืองานไทยแลนด์เบียนนาเล่โคราช 2021 เป็นงานของกลุ่มศิลปินชื่อว่า ‘KaiKen’ มาจากลอนดอนและเบอร์ลิน
งานจะเป็นคล้าย ๆ เกมส์ ตื่นเต้นตรงที่ว่าเราต้องทําไฟแอลอีดี (LED) ให้มันอยู่ในบ่อน้ำได้ ก็ค่อนข้างวุ่นวาย ลุ้นเหมือนกัน เพราะมันพร้อมจะเออเร่อได้ตลอดเวลา
ต้องจี้: แต่ว่าคนที่ตื่นเต้นสุดน่าจะเป็นคนคีย์โปรแกรม เค้าจะต้องคุยกับทีมที่อยู่เมืองนอกแบบรีโมทคุยกัน แต่ในเชิงเทคนิค เราก็ตื่นเต้นเหมือนกัน ฮ่าๆ
เรื่องค่าแรงการทำงานเป็นยังไงบ้าง?
กว้าง: มันก็ต้องเอาให้พอ ถ้าเกิดว่า Budget ไม่ถึงเราก็ต้องลดสเปคลง คือมันค่อนข้างจะตายตัวอยู่แล้วสําหรับค่าแรงของเรา ก็ขึ้นอยู่กับลูกค้าจะสู้ราคาไหม
ถ้ายิ่งงานยากค่าแรงก็ต้องมากขึ้นใช่ไหม?
ต้องจี้: งานยากมันก็จะเป็นเรื่องของเวลา
กว้าง: เพราะงานยากมันก็ต้องใช้เวลาเพิ่มมากขึ้น ใช้แรงงานคนมากขึ้น เราต้องมาประเมินว่าใช้คนเท่าไหร่ในการทํางานแต่ละครั้ง
นิเวศศิลปะกับอาชีพ Art Handler ในเชียงใหม่
กว้าง: คือเชียงใหม่มันจะเป็นอารมณ์ที่เริ่มจากการไปช่วยกันมากกว่า แต่ไม่ว่าจะที่ไหนเขาก็ต้องการคนไปติดตั้งงานศิลปะ เพราะสำหรับศิลปิน บางคนเขาก็ไม่ได้ติดตั้งผลงานเอง
กว้าง: แต่ทุกวันนี้เราก็จะพยายามทําให้มันเป็นฟอร์มของการเสนอราคา ที่มันเป็นทางการขึ้น เพราะไม่งั้นมันไม่มีหลักฐาน หรือลายลักษณ์อักษรอะไรในการว่าจ้าง
ต้องจี้: เพราะตอนนี้เราจดบริษัทฯแล้วชื่อว่า New Found Art Handler
กว้าง: เป็นโปรดักชั่นเฮ้าส์ (Production House) รับงานหลายแบบ ถ้าจะรอแต่งานติดตั้งศิลปะเชียงใหม่ไม่ได้มีเยอะตลอด ก็ต้องเป็นหลายอย่างทั้งออกแบบ ผลิต ติดตั้ง ครบวงจร ถ้าอันไหนเราทำไม่ได้ก็แค่โอเค ทำไม่ได้ แต่ส่วนมากมันไม่มีคําว่าทําไม่ได้หรอก ถ้าบัทเจ็ทมันถึง (หัวเราะ) ทุกอย่างขับเคลื่อนด้วยเงิน
ต้องจี้: อยากจะมีเด็กฝึกงานบ้างสําหรับคนที่สนใจอยากทํางานด้านนี้ แล้วก็ไม่มีอะไรให้ทํา (หัวเราะ)
แล้วส่วนใหญ่งานก็จะตามมากับศิลปินที่อยู่เชียงใหม่ด้วยไหม ?
กว้าง: ก็มีนักศึกษาที่เค้ามาแสดงงานตัวจบ หรือมีนักศึกษาต่างชาติ อย่างตอนนี้ก็มีคนจีนที่เรียน ป.เอกวิจิตรศิลป์ เราก็รับ หรือไม่ก็เป็น Collector (นักสะสม) ต่างชาติให้เราไปติดงานที่บ้าน
แล้วนอกจากทักษะการติดตั้งหรือว่าการใช้เครื่องมือ สิ่งที่จําเป็นของการเป็น Art Handler คืออะไร ?
กว้าง: การวางแผน ว่าต้องเริ่มยังไง มีแผนงานว่าจะต้องผลิตอะไรขึ้นมาบ้างในการทำงานรอบนี้ จะแบ่งคนยังไง ให้งานมันเร็วขึ้น ส่วนมากตอนนี้เป็นงานจัดการมากกว่า ส่วนงานบู๊ก็ให้น้อง ๆ ทํา เพราะเดี๋ยวนี้สังขารเริ่มไม่ดี
ต้องจี้: ก็มีเรื่องภาษาบ้าง นิดหน่อย
กว้าง: ภาษาไทยนะ ที่คุยกันไม่ค่อยรู้เรื่องด้วย
ต้องจี้: ภาษาอังกฤษดิ…
ได้เรียนรู้อะไรมาบ้างจากเมื่อก่อนที่ไปช่วยซัพพอร์ตทีมอื่น ๆ ก่อนจะมาเปิดบริษัทของตัวเอง
ต้องจี้: เรื่องการจัดการนะ
กว้าง: ใช่ ส่วนมากจะเป็นเรื่องนั้น เรื่องสเกลงานที่ใหญ่เกินตัว มันอาจจะไม่เป็นผลดีต่อบริษัทแล้วก็ต่อลูกค้า ต้องรู้ว่าเราทำได้และทํามันได้ดี เราก็จะจัดการแค่นั้นพอ ถ้าเกิดว่าใหญ่เกินตัวอาจจะต้องไปหาคนซัพพอร์ตเพิ่ม หรือว่าต้องมีอีกทีมที่เข้ามา แล้วแบ่งงานไปเลยคนละส่วน บางทีการที่เรารับทุกอย่างหมด มันไม่เวิร์กสักอย่าง
ต้องจี้: “ก็ต้องมีแผนสํารองด้วย”
ใครก็สามารถเป็น Art Handler ได้ไหม?
กว้าง: จริงๆ มันก็ใกล้กับงานช่างมากนะ
ต้องจี้: ใกล้มาก แต่มีความละเอียดมากกว่า คือมันต้องเข้าใจพื้นที่ เข้าใจชิ้นงาน
ต้องเข้าใจงานศิลปะด้วยไหม ?
ต้องจี้: เข้าใจนิดนึง
กว้าง: คำว่าเข้าใจ คือมองภาพออกดีกว่า ว่าสิ่งที่เรากําลังจะทํามันควรจะออกมารูปแบบไหน คือไม่ต้องเข้าใจเนื้อหาหรือไปถึงคอนเซ็ปต์ขนาดนั้น
ต้องจี้: มองเห็นปลายทางมันว่า อ๋อ มันจะออกมาเป็นอย่างนี้
กว้าง: ต้องรู้ว่าอันไหนจําเป็น และไม่จําเป็นที่จะต้องมานั่งละเอียด อันไหนที่ต้องโชว์ มันก็ต้องออกมาโอเค แต่อันไหนที่มันอยู่ข้างหลังบางทีก็ช่างมัน เพราะว่าข้อจํากัดของมันคือเวลา
คิดว่าอะไรที่ยังทําให้ทําอาชีพนี้อยู่ ?
กว้าง: เงินครับ (หัวเราะ) อย่างเดียวเลย
ต้องจี้: หนึ่ง โอเคเรื่องค่ารงค่าแรง แล้วสองก็คือไลฟ์สไตล์ของเรามันไม่เหมาะที่จะไปทํางานประจํา เพราะฉะนั้นการเป็นฟรีแลนซ์ Art Handler แบบนี้มันก็ค่อนข้างจะตอบโจทย์กับการใช้ชีวิต
กว้าง: ถ้าถูก 30 ล้าน สัญญาเลยจะไม่เห็นพี่จับสว่าน
หลังจากที่ได้ทํางานกับน้อง ๆ เด็กรุ่นใหม่ในทีมเป็นยังไงบ้าง?
กว้าง: ตอนนี้ก็มีเด็กวิจิตรฯ มช. ที่เรากำลังพยายามสร้างทีมขึ้นมาอยู่ ก็ดีครับ ถือว่าทํางานได้ดีเลย ไม่มีปัญหาอะไร
ต้องจี้: คือดีที่ว่าพวกน้อง ๆ มากันเป็นทีมเลย เป็นเพื่อนกันหมด รู้จักกันหมด
กว้าง: มันก็เลยทํางานง่ายขึ้น พอทีมมันมีคนน่ะ เราก็ไม่ต้องมากังวลว่าคนจะพอหรือไม่พอ สามารถรับงานสเกลใหญ่ได้มากขึ้น แล้วเมื่อก่อนทํากันสองคน สามคน บางงานมันก็ไม่ไหว
แสดงว่าเริ่มมีคนที่สนใจอยากทําอาชีพนี้มากขึ้น
กว้าง: มันไม่ค่อยมีอาชีพนี้อยู่แล้วในเชียงใหม่ เพราะฉะนั้นมันก็จะเป็นปากต่อปาก ดึงเพื่อนของเพื่อน น้อง คนรู้จัก เข้ามาทํามากกว่า เราเองก็ไม่เคยเปิดรับสมัคร ก็จะเป็นการถามว่า ช่วงนี้มีงาน มีใครว่างบ้าง
ต้องจี้: คิดว่ามีคนนอกที่อยากทํา แต่พอเขาไม่รู้จักเราเค้าก็ไม่กล้ามาคุยกับเรา อย่างแก๊งค์เด็กวิจิตรฯ รู้จักกันเพราะเคยร่วมงานกับน้อง ๆ ตอนทำโปรเจค IBM 1401 มันใช้เวลาซักพักนึงเราก็เริ่มสนิทกัน ก็เห็นว่าแต่ละคนมันทํางานได้ ก็เลยชวนมาทําต่อ
ก่อนหน้านี้คิดจะเปิดบริษัทอยู่แล้วไหม?
กว้าง: ก็คิดว่าจะเปิดอยู่แล้วนะ เพราะเรื่องรับงานนั่นแหละ มันก็จะเป็นเรื่องของความไว้วางใจมากกว่า
ต้องจี้: เอาไว้รับงานบางประเภทที่มันจำเป็นจะต้องใช้ความน่าเชื่อถือ
โปรเจ็คไหนใหญ่ที่สุดที่เคยทํา แล้วได้บทเรียนอะไรบ้าง?
ต้องจี้: ไทยแลนด์เบียนนาเล่
กว้าง: บางกอกอาร์ตเบียนนาเล่ กับไทยแลนด์เบียนนาเล่ แต่ของปีนี้ที่เชียงรายน่าจะใหญ่สุด เราได้เห็นปัญหาว่างานที่สเกลใหญ่ ก็จะทำให้จัดการขึ้นยากกว่าเดิม
เห็นว่าตอนทำไทยแลนด์เบียนนาเล่ก็ได้ทำงานกับช่างหรือสล่าในพื้นที่ท้องถิ่นด้วย
ต้องจี้: ที่เจอมาเค้าก็น่ารัก เพราะเค้าก็เปิดกว้าง คือไม่ใช่ช่างที่ดื้ออ่ะ แต่บางวัสดุที่เขาเลือกมาใช้มันอาจจะไม่ตรงสเปคเรา เราก็ต้องไปกำกับเขาอีกที ไปบอกเค้าว่า “จุดนี้มันไม่ได้นะครับ” มันก็ไปท้าทายกับเค้ามาก
การทํางานที่ต่างจังหวัดกับที่กรุงเทพฯ มีความแตกต่างกันยังไงบ้าง ?
ต้องจี้: ต้องแยกดีกว่า ถ้าเชียงใหม่ไม่มีปัญหาเพราะว่าเราเป็นคนพื้นที่ อย่างกรุงเทพฯ เราไม่ค่อยรู้ มันเลยมีปัญหาเรื่องการซื้อของ ขนของ เหมือนที่เชียงรายก็มีปัญหา หาซื้อของยาก ไกล
กว้าง: ไซต์มันไกลด้วย อย่างเชียงแสนก็ไม่มีที่ให้ซื้อของสะดวกได้
ศิลปินจำเป็นต้องใช้ Art Handler ไหม หรือทําเองก็ได้เหมือนกัน
กว้าง: ถ้าศิลปินที่เขารู้ว่าจะจัดการงานยังไง แล้ววางแผนการเซ็ตอัพอยู่แล้ว ก็จะไม่มีปัญหาเลย เหมือนศิลปินต่างชาติที่เขามีคู่มือการติดตั้งมาให้ อันนี้แทบไม่ต้องใช้พวกเราเลย
กว้าง: ถ้าสมมุติว่าผมไปทํางานศิลปะ ผมก็ไม่ต้องใช้ Art Handler ถ้าเกิดว่าเราวางแผนแล้ว ไปดูสถานที่แล้ว รู้แล้วว่าจะทํางานกับพื้นที่ตรงนี้ แล้วจะเอา Art Handler มาทำไม ก็อาจจะไม่จำเป็น
แสดงว่าเป็นสกิลที่ทุกคนควรจะมีหรือเปล่า ?
ต้องจี้: บางคนเค้าก็ไม่เข้าใจ แต่ศิลปินบางคนเค้ารู้โพรเสสงานติดตั้ง เค้าก็ไม่จําเป็นต้องมี Art Handler เค้าก็ติดตั้งงานเองได้ แต่ศิลปินบางคน อาจจะไม่ได้รู้อะไรเกี่ยวกับติดตั้งเลยก็มี
กว้าง: หรือบางทีเค้าทํางานออกมาชิ้นนึง เค้ายังไม่รู้จะแสดงยังไง อยากให้มันลอยกลางอากาศ เราก็ต้องไปจัดการให้เค้า ไปอธิบายให้ฟังว่าต้องใช้อุปกรณ์อะไร ต้องมีสลิงนะ เหมือนไปเป็นเป็นที่ปรึกษาให้เค้าด้วย มีหลายคนที่เป็นอย่างนั้น
โอเค พอเข้าใจเรื่องการทำงานศิลปิน แล้วการทำงานกับคิวเรเตอร์ล่ะ?
กว้าง: คิวเรเตอร์เก่ง ๆ จะทําให้เราจัดการและคุยกับศิลปินให้จบได้ ถ้าแผนมันชัดเจนก็ง่ายกว่าการที่เราจะต้องมานั่งเดาทางว่างานจะออกมาเป็นยังไง
อยากให้อาชีพ Art Handler ในเชียงใหม่เป็นยังไงต่อไป
กว้าง: มันก็ต้องเป็นอย่างนี้แหละ เพียงแต่ว่างาน Art Handler เนี่ย ในเชียงใหม่เค้าก็จะคิดว่ามันแพง คนเชียงใหม่ไม่สู้ราคา บางทีศิลปินเค้าก็จะบอก “เฮ้ย แพง” แต่ก็นั่นแหละ เราก็ไม่รับ เราเข้าใจว่าจ้างช่างทั่วไปมันก็ถูกกว่า”
ต้องจี้: เราก็ไม่ได้โกรธหรอกที่เขาบอกว่าแพง
กว้าง: อีกเรื่องก็คือ การที่คุณจะให้เราเข้ามาเซ็ตอัพ หนึ่งก็คือคุณก็ต้องเข้าใจงานของคุณก่อน ว่าคุณอยากจะโชว์ยังไง บางทีเราก็ไม่สามารถจะตัดสินใจแทนคุณได้ เพราะฉะนั้นคุณก็ต้องมีภาพชัดในหัวว่านิทรรศการคุณจะออกมาเป็นยังไงก่อน คือถ้าเข้าไปแล้วแบลงค์ๆ มันก็ไม่ได้เริ่มงาน
ต้องจี้: จริงๆ ก็อยากให้แวดวงมันโตขึ้นมาอีกสักหน่อย อาชีพนี้มันจะได้อยู่ได้อยากให้คนที่จ้างเรา เข้าใจว่าบางทีเราเรียกราคาไปอาจจะสูงนิดนึง แต่งานที่เราทําให้มันคุ้มค่า แล้วเราก็ทําออกมาดีที่สุด
ถึงแม้ว่าจะมัวแต่จับสว่านจนไม่ค่อยได้ลงรูปผลงาน แต่ก็อยากฝากทุกคนไปติดตามกันได้ที่ Instagram New Found Art Handler (@newfoundarthandler) ที่จะกลับมาอัพเดตอีกครั้งในเร็ว ๆ นี้ ต้องจี้และกว้างกล่าวทิ้งท้าย
อนันตญา ชาญเลิศไพศาล
(ไอซ์) เกิดและโตที่เชียงใหม่ ก่อตั้งกลุ่ม SYNC SPACE ผลักดันพื้นที่สร้างสรรค์สาธารณะโดยชุมชนและคนรุ่นใหม่