จากมนุษย์ข้าวโพด ถึง ปลาหมอคางดำ ปัญหาสิ่งแวดล้อมจากมนุษย์ที่ซ้อนอยู่ทุกซอกมุมของชีวิต

จักรพันธ์ ศรีวิชัย และ Alexander Fedyushkin ได้จัดนิทรรศการ Human Corn: Why Do We Get Sick Exhibition ตั้งแต่วันที่ 1-11 สิงหาคม 2567 ที่ Some Space Gallery ภายในงานมีการจัดแสดงผลงานภาพถ่ายมนุษย์ข้าวโพด และผลงานศิลปะที่เชื่อมโยงปัญหาการปลูกข้าวโพดกับการป่วยไข้ของประชาชน มีการแสดง Performance Art “ข้าวโพดมนุษย์: ใยเราจึงเจ็บป่วย” ที่ชี้ให้เห็นถึงปัญหาฝุ่นควันข้ามแดนจากไร่ข้าวโพด และตอกย้ำให้เห็นว่าปัญหา PM2.5 ไม่ได้มีเป็นเฉพาะกิจ หรือแค่ฤดูฝุ่นเพียงเท่านั้น

กิจกรรมในครั้งนี้เป็นการต่อยอดงานจากการแสดง Performance Art มนุษย์ข้าวโพด ที่ตั้งคำถามถึงหมอกควันข้ามแดน ที่เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของปัญหา PM2.5 จักรพันธ์ เล่าว่า ปัญหาฝุ่นควันนั้นเกิดจากการที่ทุนใหญ่ได้เข้าไปลงทุนในพื้นที่ของประเทศเมียนมา และทุนใหญ่นี่เองที่ควบคุมชีวิตของคนไทยในด้านการบริโภคตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ นอกจากปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 ปัญหาสารเคมีที่ใช้ในพื้นที่เกษตรข้าวโพดนั้นมีปบปริมาณที่สูงมาก และส่วนใหญ่พื้นที่ที่ใช้ในการปลูกข้าวโพดอยู่ที่ป่าต้นน้ำ ส่งผลให้ประชาชนไม่สามารถรู้ได้เลยว่าสารพิษอะไรบ้างเข้าไปสู่ร่างกาย

การแสดงในครั้งนี้เป็นโฟกัสในการป่วยไข้ที่เกิดขึ้นของประชาชน โดยนำปากกาเคมีสีส้มมาเขียนเป็นลายจุดทั่วร่างกายจนเกิดเป็นลายข้าวโพด การใช้สีเมจิกเป็นการสื่อสารเพื่อตอกย้ำถึงปัญหาเรื่องสารเคมีและความเจ็บป่วยที่เกิดจากทุนใหญ่ให้เห็นภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้น

จักรพันธ์ ได้ฝากทิ้งท้ายไว้ว่า ปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในปัจจุบัน นั้นเป็นปัญหาเดียวกันกับปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 ที่เกิดจากข้าวโพด ที่เป็นเหมือนโรคร้ายที่ถึงแม้จะดูแลตัวเองได้ดีแค่ไหนก็ไม่สามารถหลีกหนีสิ่งนี้ได้ อยู่ในทุกซอกมุมของชีวิต เป็นเหมือนโรคติดต่อทางสิ่งแวดล้อม

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง