เรื่อง: จตุพร สุสวดโม้
“ต้องการจะทำความสะอาดบ้านเมือง”
เหตุผลของชายวัย 20 ปีที่ก่อเหตุฆาตกรรมคนไร้บ้าน แม้จะไม่ได้รู้จักกับผู้ตายมาก่อน จากข่าวการฆาตกรรมคนไร้บ้าน เหตุเกิดบริเวณ หน้าหอพักแห่งหนึ่ง ถนนเวียงแก้ว ต.ศรีภูมิ อ.เมืองเชียงใหม่ ที่เกิดเหตุพบศพนายสมาน อายุ 60 ปี สภาพถูกแทงที่ลำคอ 1 แผลเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา
ชีวิตผู้คนที่ตัดสินใจหันหลังให้กับทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต หลายคนมาอาศัยอยู่ใต้ต้นไม้ ตามริมถนน บริเวณรอบกำแพงเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย ที่เรียกคนกลุ่มนี้ว่า “คนไร้บ้าน” หรือ Homeless ชีวิตของพวกเขาเป็นภาระสังคมนั้นจริงหรือไม่? หรือเป็นกลุ่มเปราะบางที่สุ่มเสี่ยงถูกละเมิดสิทธิ?
“แม้จะมีคนแวะเวียนมาพูดคุยบ้างเกี่ยวกับข่าวคนไร้บ้านถูกแทงลำคอเสียชีวิต ส่วนตัวไม่ได้สนใจอันตรายอะไรหรอกเพราะชินแล้ว ถ้าไม่อยู่ที่นี่ก็ไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน” เหตุผลของชายผมยาวหนวดเครารุงรังที่อาศัยอยู่บริเวณข่วงประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ แม้จะรู้ดีว่าอยู่บนความไม่ปลอดภัยแต่ชีวิตที่ไร้ที่อยู่อาศัยจึงเลือกที่เสี่ยง
พื้นที่โล่งมีเพียงมุมเล็กๆ ให้หลบซ่อน บริเวณริมถนนในคูเมืองเชียงใหม่ที่เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว ทว่าเมื่อแสงสีในเมืองท่องเที่ยวยุติลง เสียงของพาหนะของผู้คนยังสันจรไปมาก็ดังชัดขึ้น
ยามค่ำคืนหากเราสังเกตหรือให้ความสนใจสักนิด จะเห็นได้ว่ามีผู้คนเร่ร่อนพักอาศัยตามสถานที่ต่างๆ ตามผังเมือง 4 เหลี่ยมที่รายล้อมไปด้วยวัดชื่อดัง ริมถนน ริมฟุตบาท ซุกกำแพงที่เป็นพื้นที่หลับนอนจนถึงยามเช้าในบางวันที่แดดออก หรือในบางวันที่ฝนตก…..
ในบริเวณฟุตบาทนั้นมี “นายเลิศชัย (นามสมมติ) ชายที่มาจากพื้นที่ห่างไกลวัย 34 ปี จังหวัดแม่ฮ่องสอน กำลังเก็บสัมภาระใส่ในถุงสีรุ้งเพื่อเตรียมจะออกไปขอข้าวกินเพราะวันนี้ไม่มีคนเอาข้าวมาบริจาค เขาเป็นคนที่ไร้บ้านอาศัยอยู่บริเวณนี้มามากกว่า 3 ปี
“อยู่ที่นี่มา 3 ปีแล้ว ส่วนตัวไม่ได้ทำงาน อาศัยคนเอาข้าวมาบริจาค หากไม่มีใครบริจาคเลยบางวันก็ต้องอด หรือบางวันก็จำเป็นต้องเดินไปขอข้าวกินตามร้านอาหารให้พอประทังชีวิต” เป็นเหตุผลของคนไร้บ้านที่พยายามอธิบายสภาพความเป็นอยู่
“ไม่ใช่ว่าเราอยากมาขอคนอื่นกินหรอกนะ ก่อนหน้านี้เคยมีเปิดร้านอาหารเป็นของตัวเอง พอหลังรัฐประหารเศรษฐกิจก็ซบเซา มาหมดตัวช่วงไวรัสโควิด-19 ลูกค้าที่เคยมีก็ทยอยหายไป” หนึ่งเหตุผลของชายพื้นที่สูงหยิบยกมาอธิบาย
หลังจากร้านอาหารต้องปิดตัวลงและเป็นหนี้สินเป็นสินจึงเลือกหันหลังให้กับทุกสิ่งทุกอย่างกลายมาเป็นคนไร้บ้าน เมื่อ 3 ปีที่แล้วก็ผลัดเปลี่ยนที่นอนไปตามริมถนนรอบเมืองเชียงใหม่ แต่ช่วงหลังมาลงหลักปักฐานที่ข่วงประตูท่าแพเพราะความคุ้นชิน
เขาแจกแจงว่า แม้จะมีเวลาส่วนตัวในยามที่นักท่องเที่ยงทยอยกลับที่พัก ใช่ว่าจะเงียบสงบอย่างที่เรานอนในห้องส่วนตัว บางวันก็ได้ยินเสียงรถของผู้คนสัญจรไปมา และมีผู้คนเดินผ่านบ้างบางครั้งบางคราวและไม่รู้เลยว่าชีวิตตนจะมีอันตรายมาถึงเมื่อไหร่
บ้านถูกยึด แม่ปลิดชีวิต พิษเศรษฐกิจ ฝันร้ายที่ไม่อยากมีชีวิตอยู่
เขาเล่าย้อนชีวิตวัยรุ่นที่กำลังสร้างตัวเอง แต่ถูกพรากคนสำคัญคนเดียวที่ยังหลงเหลืออยู่ในชีวิตไป ในวัย 28 ปี เหตุการณ์คราวนั้นทำให้ไม่มีบ้านหรือที่ซุกหัวนอน
“ก่อนหน้านี้เปิดร้านอาหาร พอจะมีกินมีใช้อยู่บ้างแต่ไม่ถึงกับร่ำรวยอะไร เพราะอยู่ในช่วงหลังรัฐประหารทำให้นักท่องเที่ยวนั้นลดลง” เขาอธิบายชีวิตของตนเองที่พยายามประคับประคองให้อยู่รอด
“ชีวิตที่เหมือนจะไปรอด แต่แม่กลับป่วยเป็นมะเร็ง จึงตัดสินใจเอาที่ดินผืนเดียวที่เหลืออยู่ไปจำนองเพื่อรักษาแม่ ส่วนดอกเบี้ยก็สูงจนจ่ายไม่ไหวจนบ้านต้องถูกยึด แม่เลือกฆ่าตัวตายเพราะไม่อยากเป็นภาระ” ชายหนุ่มเล่าย้อนชีวิตวัยรุ่นที่กำลังพยุงไปให้รอดแต่กลับพังทลายลง
3 ปี หลังจากแม่ตาย ก็เคราะห์ซ้ำกรรมซัด เพราะสถานการณ์ไวรัสโควิด 19 แพร่ระบาดร้านอาหารที่เป็นช่องเดียวในการทำมาหากินกลับไร้เงาลูกค้า
“ช่วงโควิดแพร่ระบาดใหม่ๆ คนเขาก็กลัวกันว่าจะติดโรคก็ไม่ค่อยมีใครออกจากบ้าน พอรัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ลูกค้าประจำ นักท่องเที่ยวก็หายหมด เราก็ต้องกู้เงินนอกระบบมาจ่ายค่าเช่าร้าน” อดีตเจ้าของร้านอาหารที่ผันตัวมาเป็นคนไร้บ้านหยิบยกเหตุผลมาอธิบาย
ชีวิตของเขาคาดหวังให้สถานการณ์ต่างๆ ค่อยๆ ดีขึ้น แต่ทุกสิ่งทุกอย่างกลับดิ่งลงเหว เงินเยียวยาที่รอวันแล้ววันเล่าจากรัฐบาลก็ไร้วี่แวว สุดท้ายไปต่อไม่ไหวต้องกำเงินก้อนสุดท้ายที่พอมีอยู่เลือกตัดสินใจเดินทางมาเรื่อยๆ แต่ไม่รู้จะไปไหน สุดท้ายหมดตัวจน ต้องผันตัวมาใช้ชีวิตกินนอนตามถนนอย่างนี้…..
สถิติคนไร้บ้าน 2566 เชียงใหม่อยู่ในลำดับ 3 สัดส่วน 4.72 %
เว็บไซต์ penguin homeless เปิดผลการแจงนับคนไร้บ้านทั้งประเทศไทย เมื่อคืนวันที่ 23 พฤษภาคม 2566 จากความร่วมมือของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย มูลนิธิกระจกเงา และมูลนิธิอิสรชน
พบข้อมูลที่น่าสนใจ เช่น พบคนไร้บ้านทั้งในพื้นที่สาธารณะ และศูนย์พักคนไร้บ้านแบบเปิดของภาคประชาสังคม จำนวน 2,499 คน ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่อยู่ในลำดับ 3 ของประเทศ มีจำนวนคนไร้บ้าน 118 คน คิดเป็นสัดส่วน 4.72 %
คนไร้บ้านส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัยกลางคนมากกว่าช่วงวัยอื่นๆ โดยพบช่วงวัยกลางคนมากถึงร้อยละ 56.8 ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่เกินครึ่งของจำนวนคนไร้บ้านที่พบทั้งหมด
ทำไมต้องเป็นเมืองเชียงใหม่ที่คนไร้บ้านมาใช้ชีวิต ?
รายงานสำรวจคนไร้บ้านจังหวัดเชียงใหม่พบว่า คนไร้บ้านจังหวัดเชียงใหม่จำนวน 21 คน มีพื้นเพเป็นคนในเขตภาคเหนือและภาคกลางตอนบนเพราะเมืองเชียงใหม่เป็นแหล่งท่องเที่ยว และเป็นพื้นที่ที่เติบโตทางเศรษฐกิจสูง จึงเป็นจุดหมายปลายทางทั้งผู้ที่แสวงหางานและผู้ต้องใช้ชีวิตนอกบ้าน อีกทั้งจังหวัดเชียงใหม่เอื้อต่อการดำรงชีวิตในพื้นที่สาธารณะ อาหารการกิน แหล่งรายได้ มีครบครันและหลากหลาย อาจจะสรุปได้ว่าเมืองเชียงใหม่เป็นเป้าหมายของการออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านในพื้นที่สาธารณะ
อย่างไรก็ตามในการเข้าสู่สภาวะไร้บ้านของคนไร้บ้านแต่ละคนมีสาเหตุและเงื่อนไขแตกต่างกันไป คนไร้บ้านบางคนเคยอาศัยอยู่กับครอบครัวหรือญาติพี่น้องก่อนออกมาใช้ชีวิตนอกบ้าน บ้างรู้สึกว่าตัวเองไร้ความสามารถทางด้านอาชีพการเงิน หรือเป็นภาระของครอบครัวต้องการชีวิตอิสระจึงออกมาใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ….
อ้างอิง
- https://www.thaich8.com/news_detail/129038
- https://penguinhomeless.com/one-night-count_homeless_thailand/
- https://so01.tci-thaijo.org/index.php/CMUJLSS/article/view/141155/138993
โดยผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนานักสื่อสารทางสังคม (Journer) ภายใต้โครงการ Journalism that Builds Bridges (JBB) สะพานเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง 5 สำนักข่าว คือ Prachatai, The Isaan Record, Lanner, Wartani และ Louder เพื่อร่วมผลิตเนื้อหาข้ามพื้นที่ และสื่อสารประเด็นข้ามพรมแดน สนับสนุนโดยสถานทูตของเนเธอร์แลนด์ ฟินแลนด์ และนิวซีแลนด์ รวมถึงยูเนสโกและโครงการร่วมที่นำโดย United Nations Development Programme (UNDP) ดูโครงการเพิ่มเติมได้ที่ https://journalismbridges.com