หอมกลิ่นเอื้อง ยินเสียงซึง จึงคิดถึงคนช่างฝัน

แด่…จรัลล้านนา 23 ปีที่ลาจากไป

เรื่อง: นวลคำ ขะยอมแดง สุภาพชนคนเมือง

“….กลิ่นเอื้องเสียงซึงบรรเลงเคล้าคลอคร่าวซอเพลงหวาน

อย่าหลงสราญ ลืมบ้านก่อนเก่า

 ข้นแค้นยากจน ก็สุขใจล้น คนเมืองหมู่เฮา

อย่าให้ใครมาหยามเราอีกเลย…..”

ผู้เขียนชื่นชอบทั้งคำและความข้างต้นอันดึงมาจากตอนหนึ่งในเนื้อเพลงที่มีชื่อว่า “กลิ่นเอื้องเสียงซึง” อีกหนึ่งผลงานเพลงที่เป็นฝีไม้ลายปากกาของ “จรัล มโนเพ็ชร” ที่ถ่ายทอดฝากไว้ในแผ่นดินล้านนา ที่ทุกถ้อยคำและลำนำประโยคของเพลงดังกล่าวเสมือนว่าเขากำลังจะบอกอะไรไว้ให้กับพวกเราในฐานะ “ลูกหลานคนเมือง” จากผลงานที่เขาฝากไว้ในแผ่นดินถิ่นล้านนาที่แม้ว่าภาษาและการเล่าเรื่องราวเนื้อหาในบทเพลงจะใช้ภาษาไทยภาคกลางเองก็ตาม ทั้งความหอมของกลิ่นดอกเอื้องและความไพเราะเพราะพริ้งของเสียงซึงนี้ ยังคงสถานะเป็นภาพแทนทางวัฒนธรรมในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยที่ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่อย่าง จรัล มโนเพ็ชร บริบทแวดล้อมและต้นทุนวัฒนธรรมเหล่านี้เป็นวัตถุดิบชั้นดีในการสร้างสรรค์ผลงานผ่านปรากฏการณ์ดนตรีล้านนาร่วมสมัยในรูปแบบของ “เพลงโฟล์คซองคำเมือง” ที่แม้ว่าตัวเขานั้นเป็นส่วนหนึ่งของยุคสมัยและเป็นตัวละครหลักในกระแสธารประวัติศาสตร์ดนตรีล้านนาร่วมสมัย ผู้คนในสังคมล้านนาก็ยังตรึงตราในภาพจำที่มีต่อศิลปินถิ่นเหนือผู้ยิ่งใหญ่อย่าง จรัล มโนเพ็ชร ว่าเป็นผู้ที่มีบทบาทและความสำคัญต่อการสร้างสรรค์งานดนตรีแนวที่ว่านี้จนประสบผลสำเร็จในวงกว้างเป็นคนแรก ๆ จรัลจึงถือว่าเป็นนักรบทางวัฒนธรรมในแนวหน้าที่ในสังคมล้านนายุคแรกเริ่มที่ลงแรงเบิกพื้นที่เพื่อนำพาอัตลักษณ์ความเป็นถิ่นบ้านล้านนาผ่านสำเนียงการพูด ภาษาในคำร้องและท่วงทำนองของดนตรีให้กลายเป็นที่จดจำสำหรับผู้คนในภูมิภาคอื่น ๆ ตลอดจนมีชีวิตการทำงานผ่านการโลดแล่นอยู่ในวงการบันเทิงผ่านทั้งหน้าจอเงินและจอแก้ว รวมทั้งเป็นเจ้าแรก ๆ ในล้านนาสำหรับการสร้างสรรค์ผลงานด้านออแกไนซ์เพื่อการจัดการด้านศิลปวัฒนธรรม

ชีวิตของจรัลเติบโตขึ้นมาในท่ามกลางสายธารการเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัยที่มีผลทำให้งานเพลงของเขาได้สร้างการผสมผสานและการหยิบยืมวัฒนธรรมดนตรีตะวันตกเข้ามาเป็นองค์ประกอบในการสร้างสรรค์ผลงาน ทั้งด้านการใช้เครื่องดนตรีที่บรรเลงท่วงทำนองแบบตะวันตกมาผสมผสานกับเนื้อร้องภาษาคำเมืองจนได้มาซึ่งผลงานที่สะท้อนถึงภาพลักษณ์ “ความเป็นล้านนา” และยังคงปรากฏอยู่ต่อสายตาและการรับรู้ของผู้คนทั่วไปในปัจจุบัน แม้ร่างกายและชีวิตของเขาได้ออกเดินทางไกล แต่จิตวิญญาณและการกระทำของเขายังคงปรากฏอยู่คู่ล้านนามานานมากกว่า 23 ปีแล้ว

“จรัล มโนเพ็ชร ” : ชีวิตและผลงานในสายธารประวัติศาสตร์

การพูดถึงเพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับประวัติ ชีวิตและผลงานของจรัล มโนเพ็ชร นั้นมีอยู่อย่างหลากหลายและแพร่ขยายเป็นที่รับรู้ในวงกว้างในฐานะที่เขาคือศิลปินล้านนาผู้ยิ่งใหญ่ที่มีรูปแบบของการนำเสนอผลงานด้านศิลปะการแสดงได้หลายหลากรูปแบบทั้งการร้องเพลง การเล่นดนตรี การแต่งเพลงและการแสดง ผู้เขียนอยากเริ่มต้นให้ข้อมูลก่อนว่าชีวิตของจรัลถือกำเนิดในครอบครัวชนชั้นกลางที่ทำอาชีพเป็นข้าราชการแขวงการทางจังหวัดเชียงใหม่ (ฝ่ายบิดา) ที่ผสมผสานความเป็นผู้รากมากดีเก่าอันสืบเชื้อเครือสายสกุลเจ้า ณ เชียงใหม่ (ฝ่ายมารดา) ซึ่งมีถิ่นฐานอาศัยอยู่แถววัดฟ่อนสร้อย ย่านกาดหรือตลาดประตูเชียงใหม่ภายในเขตสี่เหลี่ยมกำแพงล้อมรอบคูเมือง ครอบครัวมโนเพ็ชรเป็นครอบครัวใหญ่ที่ใช้ชีวิตด้วยวิถีที่เรียบง่ายและสมถะ ตามแบบวิถีชาวบ้านย่านเวียงเชียงใหม่แบบทั่วไป 

สำหรับพ่อน้อยสิงห์แก้ว มโนเพ็ชร บิดาของจรัลนั้น ก็ได้ใช้ชีวิตสืบต่อมา โดยท่านถือว่าเป็นผู้ที่มีความสามารถด้านงานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านในหลากหลายแขนงทั้งในด้านงานวาด งานปั้นและงานแกะสลักไม้ ซึ่งผู้คนในแวดวงศิลปวัฒนธรรมล้านนายุคหลังทศวรรษ 2540s ต่างก็รู้จักพ่อน้อยสิงห์แก้วเป็นอย่างดีในฐานะที่พ่อน้อยนั้นได้รัลเกียรติให้เป็นครูภูมิปัญญาด้านตุงและโคมของโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนาร่วมกับแม่ครูบัวไหล คณะปัญญาซึ่งเป็นอีกหนึ่งผู้ริเริ่มทำธุรกิจโคมล้านนาในย่านบ้านเมืองสารต อำเภอเมืองเชียงใหม่ จนกระทั้งพ่อน้อยสิงห์แก้วหรือพ่อครูสิงห์แก้ว มโนเพ็ชรมีลูกศิษย์ลูกหาทั่วจังหวัดเชียงใหม่ โดยได้รับการยกย่องเป็นครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ 3 ด้านศิลปกรรม ศิลปะพื้นบ้านประเภทโคม-ตุง โดยความสามารถด้านศิลปกรรมของพ่อน้อยสิงห์แก้วที่กล่าวมานี้ย่อมมีส่วนที่จะถูกถ่ายทอดไปยังจรัลในช่วงวัยเด็กอย่างเข้มข้นในฐานะที่จรัลเองนั้นเป็นผู้ช่วยหรือลูกมือในการตัดช่อตัดตุงของพ่อน้อยสิงห์แก้วซึ่งได้ใช้ความสามารถหรือภูมิปัญญาแขนงดังกล่าวหารายได้พิเศษมาเลี้ยงดูครอบครัวเรื่อยมา

ภาพจากเว็บไซต์ thenormalhero.co

ความสนใจด้านดนตรีของจรัลกลับเริ่มต้นจาก “ดนตรีฝรั่ง” กล่าวคือ จรัลรู้จักและสัมผัสกับเครื่องดนตรีอย่างเปียโนเมื่อครั้งตอนเขาเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 การไปร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่โบสถ์ในวันอาทิตย์กับมารดาของเขาซึ่งนับถือศาสนาคริสต์ สิ่งดังกล่าวนี้มีผลทำให้จรัลได้มีโอกาสสัมผัส/เรียนรู้/ซึมซับท่วงทำนองเพลงสวด ซึ่งต่อมาได้กลายมาเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้จรัลสามารถแต่งเพลง ๆ หนึ่งขึ้นมา นั่นคือเพลงอุ๊ยคำ ซึ่งถือได้ว่าเป็นบทเพลงอันดับต้น ๆ ที่ได้รับความนิยมจากผู้ฟังอย่างสูงสุด โดยต่อมาจรัลก็ได้เริ่มรู้จักและเล่นดนตรีพื้นบ้านล้านนาอย่างซึงเมื่อเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3-4 เล่นกีตาร์เมื่อเรียนชั้นประถมปีที่ 5-7 และตีขิมได้เมื่อเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ลำดับพัฒนาการการเล่นและฝึกหัดดนตรีของเขาเริ่มขยับขยายประเภทและชนิดมากขึ้นเรื่อย ๆ นั่นก็เพราะความรักและความสนใจที่มีต่อดนตรีจึงทำให้เขาฝึกเล่นดนตรีได้ตั้งแต่ตอนที่เขายังเป็นเด็กภายใต้การหนุนเสริมและสนับสนุนจากครอบครัว จนกระทั่งจรัลกลายเป็นเด็กที่มีความสามารถด้านดนตรีจนเป็นที่โดดเด่นขึ้นมาในโรงเรียนระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้นโดยที่จรัลได้รับโอกาสให้แสดงความสามารถทางด้านดนตรีอย่างเต็มที่และฝึกฝนดนตรีอย่างจริงจังก็เมื่อเขาอายุประมาณ 14 ปี ในช่วงเข้าเรียนที่วิทยาลัยเทคนิคพายัพชั้นปีที่ 2 (จรัลเรียนก่อนเกณฑ์ 2 ปี) ซึ่งเป็นช่วงที่เขาสนใจดนตรีคันทรีจากตะวันตก เช่น ปีเตอร์ พอล แอนด์ แมรี่, ไซมอน แอนด์ การ์ฟังเกล, เลียวนาร์ด โคเฮน, บ๊อบ ดีแลน และโจน บาเอซ เป็นต้น

เมื่อจรัลเรียนในชั้นปีที่ 3 จรัลจึงเริ่มร้องเพลงเป็นอาชีพและได้ค่าจ้างจากการไปเล่นดนตรีตามงานต่าง ๆ ซึ่งโดยส่วนใหญ่เขาจะเลือกเล่นเพลงคันทรีจากตะวันตกเป็นหลัก เนื่องจากจรัลมีพื้นฐานทางด้านดนตรี โดยการฝึกเล่นกีตาร์มาตั้งแต่เด็ก ประกอบกับการที่เขาได้ฟังเพลงทางสถานีวิทยุในจังหวัดเชียงใหม่และจากมิชชันนารีที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาในภาคเหนือ อีกทั้ง สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนมีผลต่อความรู้ความสามารถทางด้านดนตรีของจรัล ไม่ว่าจะเป็นการแต่งเพลง การเล่นดนตรี รวมทั้งการขับร้องระหว่างที่เรียนอยู่ที่วิทยาลัยเทคนิคภาคพายัพ จรัลจึงได้ช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัวด้วยการทำงานเพื่อหารายได้พิเศษ โดยเริ่มด้วยการรับจ้างร้องเพลงเล่นกีตาร์ที่ร้านอาหารและสถานบันเทิงประเภทคลับบาร์ในเมืองเชียงใหม่ แนวดนตรีที่จรัลชอบเป็นพิเศษคือ ดนตรีโฟล์ค คันทรี และบลูส์ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นแรงบันดาลใจและมีอิทธิพลอย่างยิ่งในการแต่งเพลงของเขา ซึ่งในบริบทของช่วงเวลาดังกล่าวนั้นเป็นช่วงการต่อต้านการทำสงครามของสหรัฐอเมริกาในเวียดนามของเหล่าบรรดาปัญญาชนในสถาบันการศึกษาทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกา การต่อต้านการแผ่ขยายอิทธิพลจักรวรรดินิยม ตลอดจนการตั้งฐานทัพของสหรัฐอเมริกาในประเทศไทยซึ่งทั้งวิถีชีวิตของพลเมืองกองทัพ GI และกระแสธารการต่อต้านในมิติการเมืองวัฒนธรรมที่มีขึ้นนี้ ล้วนถั่งโถมโหมกระแสกลายเป็นพายุหมุนทางวัฒนธรรมดนตรีแบบอเมริกันหรือวัฒนธรรมแบบประชานิยมที่เดินทางเข้ามาสู่ประเทศไทยจนได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก แน่นอนว่าลักษณะเพลงโฟล์คซองคำเมืองของจรัล มโนเพ็ชรในระยะแรก ๆ เองก็มีกลิ่นอายแบบอเมริกันแบบ “หึ่งๆ” อยู่ด้วยไม่น้อย

เมื่อจรัลสำเร็จการศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สาขาบัญชี จากวิทยาลัยเทคนิคภาคพายัพ เมื่อปี พ.ศ.2516 แล้ว เป็นบริบทเดียวกันกับช่วงเวลาแห่งการผลิบานของประชาธิปไตยในใจชน มีผู้คนที่เป็นนักวิชาการหรือคนเดือนตุลาฯ หลาย ๆ ได้พยายามบอกเล่าประวัติศาสตร์และความทรงจำของช่วงเวลาที่ว่างนี้ พร้อมทั้งหาที่ทางให้จรัลมีตัวตนอยู่ในช่วงเวลาดังกล่าว ผู้เขียนเองก็ได้ฉุกคิดขึ้นมาในใจหลายกรรมหลายวาระแล้วว่าตกลงแกเข้าเขตงานในป่าหรือว่าอยู่เขตงานในเมืองวะ?” คำถามแบบตรงไปตรงมาของผู้เขียนแบบนี้ก็ยังไม่มีโอกาสได้ถามไถ่อย่างตรงไปตรงมากับคนที่เคยรู้จักกับ “จรัล” ในมิติที่ว่ามานี้ได้ดีพอมากนัก แต่คิดว่าคงมิใช่สาระสำคัญของข้อเขียนนี้แต่อย่างใด (อ้างไว้ในฐานะ “เกร็ด” ของประวัติศาสตร์และความทรงจำในวงเล่าจากพวกสหายเก่าเฉย ๆ ) เพราะต่อให้เป็นคนที่เข้าป่าหรือเข้าร่วม ก็หาได้คงสถานการณ์เป็นนักรบทางวัฒนธรรมของประชาชนเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันเสนอไป

เมื่อจบการศึกษาจากวิทยาลัยเทคนิคภาคพายัพแล้ว จรัลได้เข้าทำงานที่แขวงการทางอำเภอพะเยา จังหวัดเชียงรายแล้วต่อมาจึงย้ายไปทำงานที่บริษัทไทยฟาร์มมิ่งและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรซึ่งจรัลเองก็ยังคงทำงานประจำควบคู่ไปกับการร้องเพลงที่ร้านอาหาร โรงแรมและคลับบาร์ในจังหวัดเชียงใหม่ โดยต่อมาจรัชก็ได้รับจากการสนับสนุนของมานิด อัชวงศ์ ผู้ซึ่งชักชวนให้จรัลทำงานเพลงอย่างเป็นจริงเป็นจังและออกเทปเป็นครั้งแรกในชื่อชุด “โฟล์คซองคำเมืองชุดอมตะ 1” ในปี พ.ศ.2520 แนวเพลงของจรัลที่ผลิตออกสู่ท้องตลาดจึงเป็นการเลือกหยิบและคัดสรรบทเพลงท้องถิ่นที่มีอยู่ก่อนแล้วมาใช้และยังมีการเขียนเนื้อร้องคำเมืองขึ้นมาอีกหลายเพลงโดยใช้แนวทางทำนองดนตรีจากเพลงฝรั่งที่จรัลฟังและเล่นมาก่อนหน้าซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูงจนเป็นที่รู้จักของคนทั่วทั้งประเทศทั้งบทเพลงอุ๊ยคำ สาวมอเตอร์ไซค์ น้อยไจยา และเพลงพี่สาวครับ จรัลใช้กีตาร์และแมนโดลินมาใช้ทดแทนเสียงของซึง นอกจากนั้นยังใช้ขลุ่ยฝรั่งมาแทนเสียงขลุ่ยไทย อีกทั้งยังใช้เครื่องดนตรีสมัยใหม่อีกหลายชิ้นมาบรรเลงบทเพลงเก่าแก่ของล้านนาในแบบฉบับโฟล์คซองคำเมืองของเขา

แม้ว่าวงดนตรีของจรัล มโนเพ็ชรจึงนับว่าเป็นส่วนหนึ่งของยุคสมัยอาจมิใช่หัวหอกหรือแนวรบทางวัฒนธรรมแนวหน้าในฐานะผู้เริ่มเริ่มร้อง “โฟล์คซองคำเมือง” แต่อย่างใด ทว่าอิทธิพลสำคัญที่มีต่อการสร้างสรรค์ผลงานเพลงของเขาและการจัดวางตำแหน่งการเล่นดนตรีของสมาชิกในวงที่มีเขาเป็นนักร้องนำและเล่นกีตาร์ตัวหลัก โดยมีน้องชายของเขา (เกษม ครรชิตและกิจจา) ทำหน้าที่เล่นแบ็คอัพให้ รวมทั้งมีนักร้องฝ่ายหญิงที่ร้องคู่ร่วมเป็นสมาชิกวงนั้น ก็ล้วนได้รับอิทธิพลทางดนตรีวงทรีโอแนวโฟล์คร็อกสัญชาติอมเริกันที่มีชื่อเสียงที่สุดวงหนึ่งในช่วงทศวรรษ1960s – 1970s อย่างPeter Paul & Mary โดยว่ากันว่าเพลง “อุ๊ยคำ” ของจรัลก็มีส่วนดัดแปลงมาจากเพลง “Man Come into Egypt”  รวมทั้งท่อนอินโทรของหลาย ๆ เพลงที่ผู้เขียนพอจะรู้มาบ้างอย่างท่อนอินโทรเพลงสาวเชียงใหม่ เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของข้อมูลที่ว่านี้เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าจรัล มโนเพ็ชรนั้นเป็นส่วนหนึ่งของยุคสมัยที่แนบแน่นอยู่กับสายธารประวัติศาสตร์ดนตรีโลก โดยในยุคสมัยเดียวกันกับเขานั้นลักษณะของวงดนตรีแนวโฟล์คซองวงในเชียงใหม่และในเชียงรายซึ่งเป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงก็มีรูปลักษณ์และการจัดวางตำแหน่งการเล่นดนตรี รวมถึงการมีสมาชิกเป็นนักร้องในวงเช่นเดียวกันกับวงดนตรีโฟล์คซองของ สมบูรณ์ บุญโรจน์ และเพื่อน (เจ้าของงานเพลงดัง ต๋ำรายา) วงแม่คำและวงคิงแอนด์ฮา ซึ่งเป็นวงดนตรีโฟล์คซองในพื้นที่จังหวัดเชียงราย

ผลงานของจรัล มโนเพ็ชรมีความโดดเด่นในส่วนที่เขาสามารถนำเสนอเนื้อหาของบทเพลงได้อย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว นั่นคือ การสอดใส่แง่มุมชีวิตทางสังคมที่ขับเน้นให้เห็นถึงความเป็นล้านนาและการใช้ภาษาคำเมืองเพื่อบอกเล่าประสบการณ์ทางวัฒนธรรมและชีวิตทางสังคมที่ตัวเขาเองได้เคยพบพาน ขณะเดียวกันผลงานเพลงของเขาก็ได้มีการเรียบเรียงเนื้อหาและฉากการนำเสนอเนื้อหานั้นๆได้อย่างน่าติดตามโดยมีการเผยแพร่ออกมาในรูปของบทเพลงที่เรียบง่ายไพเราะน่าฟัง นอกจากนี้จรัลก็ยังเป็นคนกล้าที่จะคิดให้แตกต่างและกล้าที่จะสร้างสรรค์งานดนตรีซึ่งแตกต่างจากงานเก่า ๆ ทำให้บทเพลงเก่าแก่ของล้านนาที่จรัลนำกลับมา “ทำเพลงใหม่”  (ส่วนจะทำภายใต้ความรู้ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนด้วยหรือไม่นั้นว่ากันอีกเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้เขียนขอไม่อภิปรายที่นี้)  ให้กลับมาได้รับความสนใจจากวัยรุ่นในยุคสมัยนั้น โดยที่จรัลก็ได้รับการยกย่องและเป็นที่ยอมรับทั้งจากบุคคลทั่วไปหรือแม้แต่ในบรรดาศิลปินด้วยกันเองว่า เขาเป็นนักแต่งเพลงที่มีฝีมือยอดเยี่ยมโดยเฉพาะเพลงแนวบัลลาดที่บอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิตของผู้คนและท้องถิ่นล้านนาอันเป็นบ้านเกิดของเขา

จุดเด่นของโฟล์คซองคำเมืองแบบจรัลอยู่ที่การนำเครื่องดนตรีตะวันตกคือ การใช้เครื่องดนตรีประเภทกีตาร์มาดัดแปลงท่วงทำนองเพลงแบบตะวันตกและแต่งคำร้องภาษา “คำเมือง” ร้อยเรียงลงไป ภายในเนื้อหาของบทเพลงจึงมีการนำเสนอสิ่งที่นักวิชาการหรือผู้สนใจศึกษาผลงานของจรัลเรียกสิ่งเหล่านี้ว่าเป็น “อัตลักษณ์ทางสังคมของล้านนา” ทว่าผู้เขียนกลับเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้คือชุดประสบการณ์และความทรงจำทางสังคมแห่งยุคสมัยที่หล่อหลอมกล่อมเกลาตัวตนและความเป็นคนอย่าง “จรัล” ขึ้นมาผ่านภาษาท้องถิ่นในห้วงเวลาของวิกฤติการณ์ทางวัฒนธรรมที่ผู้คนในถิ่นฐานล้านนาลาจากบ้านเพื่อไปหางานทำในถิ่นที่ไกลห่างและการเข้ามาใหม่ของวัฒนธรรมต่างถิ่นในพื้นที่ทางสังคมเชียงใหม่ มอเตอร์ไซต์ยามาฮ่า ฮอนด้าหรือซูซูกิในช่วงการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์จากประเทศญี่ปุ่นที่เข้ามาใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตก็กำลังคืบคลานเข้ามาแทนที่วัฒนธรรมการปั่นรถถีบของป้อจายล้านนาที่น่าจะมีมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองนั้นก็คงเป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนผ่านการบอกเล่าเรื่องราวในผลงานเพลงของจรัลได้เป็นอย่างดี รวมทั้งเพลงพื้นบ้านอย่างเพลงซอในทำนองที่เรียบง่ายไม่ซับซ้อน (ไม่ใช่ช่างซอหรือศิลปินซอมือมาอาชีพ ก็สามารถจดจำและนำไปร้อง ตลอดจนอาศัยแนวทำนองไปสร้างสรรค์เป็นผลงานที่บรรเลงผ่านกีตาร์ได้)รวมไปถึงอาหารการกิน การแต่งกาย ตลอดจนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนที่อาศัยอยู่ในดินแดนล้านนาซึ่งเรียกรวมๆว่า “คนเมือง”

ต่อมาในปี พ.ศ. 2530 จรัลได้จัดคอนเสิร์ตครั้งสำคัญ คือ “ม่านไหมไยหมอก” เป็นการตอกย้ำกระแสท้องถิ่นนิยมได้เป็นอย่างดี นอกจากจรัลจะนำเสนอผลงานเพลงของเขาซึ่งกลายเป็นภาพตัวแทนของความเป็นล้านนาในขณะนั้นแล้ว เขายังนำเสนอดนตรีล้านนาและการแสดงล้านนา ที่ผูกโยงกับประวัติศาสตร์ล้านนาได้อย่างน่าสนใจนั่นเป็นการเพิ่มพูนชื่อเสียงและการประสบความสำเร็จขั้นต้นในการเป็นศิลปินของจรัล ได้ทำให้เขาย้ายจากเชียงใหม่เพื่อไปใช้ชีวิตและทำงานอยู่กรุงเทพฯ ราวช่วงทศวรรษ 2530 ทั้งทำธุรกิจร้านอาหารและผลงานเพลง ตลอดจนเขายังรับงานแสดงภาพยนตร์และละคร ตลอดจนการแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์หรือละครเหล่านั้นอีกด้วย ผลงานที่ขยับขยายมากไปกว่าการเป็นนักร้องเพลงโฟล์คซองคำเมืองของเขาได้สร้างและเปิดโอกาสให้ตัวเขาเองได้รับรางวัลทั้งจากด้านการแสดงและจากการแต่งเพลงประกอบละครและภาพยนตร์อีกหลายรางวัล และมีบทบาทในการขับเคลื่อนงานศิลปะเพื่อสังคมท้องถิ่นในอีกหลากหลายแขนง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานด้าน “ละครชุมชน” ซึ่งผลงานทางดนตรีที่สำคัญของจรัล มโนเพ็ชรในด้านดนตรีล้านนาคือ ในปี พ.ศ. 2539 ธนาคารกรุงเทพได้จัดโครงการประพันธ์เพลงเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ในชื่อ “จตุรภาคกาญจนาภิเษกสมโภช” โดยมีครูดนตรีจากภูมิภาคต่าง ๆ ประพันธ์เพลงขึ้นใหม่เพื่อเฉลิมพระเกียรติ ในส่วนของจรัล ได้ประพันธ์เพลง “ฮ่มฟ้าปารมี” ขึ้นนับว่าเป็นงานที่ทันสมัยมากในขณะนั้น ต่อมาจึงมีการประดิษฐ์ท่าฟ้อนขึ้นประกอบกับเพลง โดยเพลงนี้เป็นอีกเพลงหนึ่งที่เป็นที่นิยมบรรเลงในดนตรีล้านนาอย่างมาก ช่วงปี 2539 จรัลเริ่มมีแนวความคิดที่จะกลับมาใช้ชีวิตที่เมืองเหนืออย่างจริงจังโดยการสร้าง “บ้านดวงดอกไม้” ขึ้นที่บ้านทุ่งหลวง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน นอกจากนั้นเขายังเริ่มเขียนบท เล่าเรื่อง ขับร้องและแต่งเพลงประกอบในงาน 700 ปีนพบุรีศรีนครพิงค์ซึ่งจัดที่วัดสวนดอก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ นอกจากนี้หลังจากที่ได้รวบรวมเครื่องดนตรีล้านนาไว้จำนวนมากหลังจากงานเชียงใหม่ 700 ปี โดยจรัลได้ซื้อที่ดิน 1 ไร่ที่อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน เพื่อใช้เป็นที่ก่อสร้างหอศิลป์ฯ เชิดชูผลงานและเก็บรักษาอุปกรณ์ต่างๆ ของศิลปินล้านนา โดยให้ชื่อว่า “หอศิลปสล่าเลาเลือง” และในปีเดียวกันนี้ก็ได้สร้างบ้านหม้อคำตวงซึ่งมีห้องสตูดิโอส่วนตัวที่กรุงเทพฯ จากนั้นในวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ.2541 ได้เปิดร้าน “สายหมอกกับดอกไม้” ที่เชียงใหม่ ต่อจากนั้นในปี พ.ศ.2543 ซึ่งกลายเป็นช่วงท้ายของชีวิต จรัลได้กลับมาอยู่ทางเหนืออย่างถาวรเพื่อทำงานศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่นอย่างเป็นจริงเป็นจัง จนกระทั่งกลางปี 2544 เป็นช่วงที่เขากำลังตั้งใจที่จะทำงานเพลงเนื่องในโอกาสที่โฟล์คซองคำเมืองของเขายืนยาวมาถึงปีที่ 25 โดยเขาตั้งใจใช้ชื่อว่า “25 ปี โฟล์คซองคำเมือง จรัล มโนเพ็ชร” ซึ่งมีกำหมดการจัดแสดงงาน ณ หอประชุมใหญ่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ในวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2544 แต่ในระหว่างของการเตรียมงานนี้เอง เมื่อย่ำรุ่งของวันที่ 3 กันยายน พ.ศ.2544 จรัลได้เสียชีวิตลงแบบปัจจุบันทันด่วนอันเนื่องมาจากภาวะหัวใจล้มเหลวอย่างฉับพลัน ที่บ้านดวงดอกไม้จังหวัดลำพูน 

เขียน “จรัล” ใหม่ในฐานะศิลปินธรรมดาผู้ยิ่งใหญ่ในดวงใจสามัญชน

“…..สามกันยาเหล่าสาลิกาทั่วถิ่น
ต่างโบกโบยบินฮ่วมฮ้องเพลงสืบสาน
นับร้อยนับสิบดังกึกก้องกังวาน
แด่เธอผู้ช่างฝันแด่จรัลล้านนา…..”

         นกถิ่น โดย ประเสริฐ ศรีกิจรัตน์ วงไม้เมือง

แม้จรัล มโนเพ็ชรจะจากลาโลกนี้ไปกว่าสองทศวรรษโดยที่เขาถูกจดจำและจารึกไว้ในฐานะของศิลปินโฟล์คซองคำเมืองผู้ยิ่งใหญ่แห่งแผ่นล้านนา ขณะเดียวกันความตายของเขาซึ่งเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลได้ถูกทำให้กลายไปเป็นเรื่องของสังคมสาธารณะโดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่กลุ่มแฟนเพลงและมิตรสหายที่ร่วมกับ “ผลิตซ้ำ” ตัวตนของคนอย่างจรัล ว่าเป็นตัวแทนคนท้องถิ่นหรือนักรบทางวัฒนธรรมที่เคลื่อนไหวทางสังคมผู้รักและห่วงแหนอารยธรรมในถิ่นฐานบ้านเกิดของตนซึ่งตายก่อนเวลาอันควร ชีวิตและเรื่องราวของเขาจึงได้กลายมาเป็นกระบวนการสำคัญที่ได้เปิด “พื้นที่” ทางสังคมและวัฒนธรรมต่าง ๆ สำหรับผู้คนแสวงหาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมล้านนาได้เข้ามาเกาะเกี่ยวและยึดกุมตัวเขาไว้ในรูปแบบของสินค้า งานเพลงหรือตัวแทนเชิงสัญลักษณ์ของความเป็นล้านนาที่สื่อองค์กร รวมทั้งกลุ่มคนกลุ่มต่างๆ เข้ามาช่วงชิงสร้างการนิยามความหมายให้กับจรัล มโนเพ็ชร ผ่านกิจกรรมรำลึกต่าง ๆ โดยกิจกรรมเหล่านี้มีส่วนอย่างสำคัญที่ได้ผลิตซ้ำ/สร้าง “เรื่องเล่า” ต่าง ๆ ตลอดจนการเคลื่อนไหวเพื่อจัดสร้างอนุสาวรีย์จรัล มโนเพ็ชรโดยกลุ่มนักวิชาการท้องถิ่นร่วมกับประชาชนคนเมืองเชียงใหม่ไว้ที่สวนสาธารณะสวนบวกหาดซึ่งก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงความพยายามจดจำและสืบต่อเรื่องราวของจรัล (ตำนานจรัล) ไว้บนประวัติศาสตร์สังคมล้านนาในฐานะนักรบ/นักเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรม ที่อาศัยงานเพลง “โฟล์คซองคำเมือง” ควบคู่กับภาพลักษณ์ “ศิลปินคนเมือง” ในการปรากฏแก่สายตาผู้ชมผู้ฟังเพื่อบอกเล่าเรื่องราวเพื่อฉายภาพสังคมล้านนาออกสู่การรับรู้ของผู้คนในสังคม เขาได้มีการแสดงออกถึงความภาคภูมิใจในความเป็นคนเมืองของตนเองผ่านการแต่งกาย การสื่อสารกับผู้ชมการแสดงคอนเสิร์ตด้วยภาษาถิ่นภาคเหนือ (คำเมือง) ผลงานการแสดงซึ่งจรัลมักจะได้รับบทเด่นเป็นคนเมือง (เช่นในเรื่องด้วยเกล้า) และในด้านการอนุรักษ์ศิลปะวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นที่จรัลได้กระทำมาอย่างต่อเนื่อง สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ภาพลักษณ์ “ศิลปินคนเมือง” ของจรัล มโนเพ็ชรเด่นชัดและกลายมาเป็นภาพแทนคนเมืองล้านนา “โฟล์คซองคำเมือง”และเรื่องราวของจรัลได้กลายมาเป็นตำนานที่อยู่ในความทรงจำของผู้คนในสังคมในฐานะภาพตัวแทนของ “คนเมือง”  ขณะเดียวกันลักษณะที่น่าสนใจในบทเพลงของจรัลถูกมองว่าเป็นชัยชนะ (ที่แม้จะดูว่าไม่สมบูรณ์เสียทีเดียว) ของวัฒนธรรมท้องถิ่นล้านนาได้ถูกกักกันจนพ่ายแพ้ต่อกระแสแห่งวัฒนธรรมแห่งชาติจากส่วนกลาง ดังนั้นการร้องเพลงด้วยภาษาคำเมืองของจรัล (รวมถึงศิลปินล้านนาที่มีชื่อหลายๆคนในปัจจุบันด้วยมั้ง) คงสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามที่จะแสดงความเป็นอิสระและความเสมอภาคทางวัฒนธรรม ภาษาและความคิดของท้องถิ่น (ทรงศักดิ์ ปรางค์วัฒนากุล, 2531: 33) ขณะเดียวกันบทเพลงจรัล มโนเพ็ชรอันมีเนื้อหาบอกเล่าเรื่องราวของเมืองเหนือล้านนาและขับร้องเป็นภาษา “คำเมือง” โดยนักร้องซึ่งเป็น “คนเมือง” แล้ว เขายังมีความพยายาม “สำแดง” ถึงความพยายามใช้อักษรที่เลียนแบบ “ตั๋วเมือง” มาแสดงบนปกเทปอย่างจงใจ ไม่ว่าสิ่งนี้จะเป็นความตั้งใจในการเป็นต้นธารของการผลิต “ฟร้อนท์ล้านนา” (Lanna Front) หรือไม่ ผู้เขียนมิอาจทราบได้ สิ่งนี้จึงเป็นการประกอบสร้างกันอย่างลงตัวของ “อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม” ลงไปใน “สินค้า” จากล้านนาอย่างไม่อาจปฏิเสธได้

เรื่องราวที่ปรากฏผ่านผลงานและงานเพลงของจรัล มโนเพ็ชรยังคงเป็นสิ่งที่ยังคงดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องผ่านการประกอบสร้างและการผลิตซ้ำด้วยชุดความรู้จากสถาบัน เครือข่ายและกลุ่มศิลปินที่มาจากหลากหลายกลุ่ม โดยผลผลิตที่ว่านี้คือ “เรื่องเล่า” ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและงานของจรัลผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งเกิดขึ้นมาในฐานะกระบวนการทางสังคมซึ่งทำหน้าที่ประกอบสร้างความทรงจำเพื่อให้เกิดการ “จารึกและจดจำ”จรัล มโนเพ็ชรให้อยู่ในความทรงจำทางสังคมของผู้คนที่อาศัยอยู่ในดินแดนล้านนาซึ่งเรียกตัวเองว่า “คนเมือง”

ข้อเขียนนี้ทำหน้าที่เล่าเรื่องราวผ่านการอ่านชีวิตของจรัลอย่างที่จรัลเป็นเพื่อนำเสนอวิธีการเขียนชีวิตของจรัลใหม่เพื่อให้ความทรงจำและการนิพนธ์เรื่องราวของเขาเป็นเยี่ยงอย่างอนุสาวรีย์ที่ตั้งไว้ใน “สวนบวกหาด” อนุสาวรีย์ที่ผู้คนน้อยใหญ่ที่เป็นทั้งลูกศิษย์ลูกหา เป็นทั้งเพื่อนพ้องน้องพี่ เป็นทั้งมิตรแก้วสหายคำ เป็นทั้งแฟนเพลง ตลอดจนผู้ที่ให้ความเคารพนับถือสามารถที่จะไปนั่งเคียงข้างถ่ายรูปร่วมกับ “จรัล มโนเพ็ชร” ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ในใจของพวกเขาได้ มากไปกว่านั้นอนุสาวรีย์ที่จัดวางจำลองของเขาไว้กลางสวนบวกหาดยังสะท้อนและเตือนใจให้เราเห็นว่า จรัลเป็นไอดอลสำหรับเราและศิลปินล้านนาได้ในทุกขณะ พวกเรามีความเป็นไปได้ที่จะสร้างสรรค์ผลงานและเป็นศิลปินได้เฉกเช่นเดียวกันกับจรัลหรือยิ่งใหญ่ไปมากกว่านั้น

แด่….จรัลล้านนา

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง