ก๊อนเก๊าเล่าล้านนา: ว่าด้วยสถานการณ์ “น้ำท่วมแม่สาย” จุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์ของร่องน้ำและลำน้ำแม่สายในฐานะเส้นเขตแดน

เรื่อง: นวลคำ ขะยอมแดง สุภาพชนคนเมือง

ปริมาณสะสมของน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของประเทศที่มีมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกรกฎาคมผสานกับอิทธิพลของพายุยางิในทะเลจีนใต้ที่แผ่เข้ามากคลุมในพื้นที่ดังกล่าวส่งผลให้พื้นที่ตามภูเขามีการสะสมปริมาณน้ำเรื่อยมา จนกระทั่งช่วงหลังต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมาล่าสุดนี้ได้มีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องเหนือพื้นที่ต้นน้ำของแม่น้ำแม่สายในเขตประเทศเมียนมาซึ่งพื้นที่ป่าต้นน้ำของแม่น้ำสายดังกล่าวนั้นเกิดจากบริเวณสันเขาอีกด้านหนึ่งของดอยนางนอนและดอยตุงซึ่งอยู่ในเขตประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งภูเขาอีกฟากฝั่งหนึ่งของแม่น้ำในเขตประเทศเพื่อนบ้านเช่นกันซึ่งพื้นที่ป่าในบริเวณดังกล่าวนี้ได้ถูกแผ้วถางทำลายกลายเป็นทั้งพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่สำหรับอยู่อาศัยที่ก่อตัวขึ้นมาเป็นชุมชนขนาดย่อมเมื่อไม่นานมานี้ ตลอดจนกลายเป็นพื้นที่ปศุสัตว์และเกษตรอุตสาหกรรมสำคัญของนายทุนอย่างไร่ข้าวโพด สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นนี้ชี้ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์จากที่ดิน (Land Used) ในประเทศเพื่อนบ้านที่มีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมายไพศาลในรอบหนึ่งถึงสองทศวรรษที่ผ่านมา แน่นอนว่าคำอธิบายที่มีต่อความเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่ที่กล่าวมานี้อาจปฏิเสธไม่ได้ที่จะกล่าวโทษถึงการแผ่ขยายอิทธิพลของทุนข้ามชาติและบรรษัทข้ามชาติจากทั้งประเทศจีนและประเทศไทยที่ส่งผลให้พื้นที่ป่าต้นน้ำสายได้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านพื้นที่จากป่าต้นน้ำมาสู่ไร่ข้าวโพดและสวนยางพารา  รวมทั้ง การสัมปทานขุดเปิดพื้นที่หน้าดินเพื่อให้มีการทำอุตสาหกรรมเหมืองแร่

เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์จากที่ดินเหนือพื้นที่ผืนป่าต้นน้ำในเขตประเทศเพื่อนบ้านอันเป็นอาณาบริเวณที่อยู่นอกเหนือการกำกับควบคุมด้านกฎหมายป่าไม้และสิ่งแวดล้อมจากรัฐบาลไทย นี่จึงเป็นสาเหตุต้นทางที่สำคัญอันส่งผลให้ปริมาณน้ำที่สะสมในดินตามพื้นที่ที่ควรจะเป็นป่าต้นน้ำที่มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นไร่ข้าวโพดและสวนยางพาราได้ทะลักล้นจากล้ำห้วยสาขาต่าง ๆ ของลำน้ำแม่สายในช่วงฤดูฝนซึ่งมีผลทำให้ดินตามภูเขาค่อย ๆ สะสมน้ำมาเรื่อย เมียน ๆ จนส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำสูงขึ้นและไหลล้นตลิ่งเข้าท่วมหลายพื้นที่ตัวเมืองแม่สายอันเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของจังหวัดเชียงรายโดย  มีรายงานว่าน้ำที่ไหลลงมาตามลำน้ำสายมีทั้งเศษไม้ ขอนไม้ สิ่งปฏิกูล ไหลลงมาด้วยทำให้บ้านเรือนร้านค้า ตลาดสด พื้นที่เกษตรที่ติดลำน้ำสาย ได้รับความเสียหายอย่างหนัก เพราะเมื่อน้ำลดลงปรากฏตะกอนโคลนและดินเป็นจำนวนมากตกค้างอยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ บ้านเรือนของประชาชน ใกล้กับแม่น้ำสายโดยเฉพาะพื้นที่ที่อยู่บริเวณเชิงเขา ที่บางจุดมีดินโคลนทับถมสูงกว่า 2 เมตรปัจจุบันแม้น้ำท่วมผ่านไปแล้วแต่ชาวบ้านบางพื้นที่ยังเข้าบ้านไม่ได้เพราะปัญหาตะกอนดินโคลนทับทมจำนวนมากที่น้ำท่วมได้ทิ้งไว้

ข้อเขียนนี้มุ่งนำเสนอ  “ประวัติศาสตร์ของร่องน้ำและลำน้ำแม่สายในฐานะเส้นเขตแดน” ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงเรื่อยมาจากอดีตซึ่งมีสาเหตุสำคัญอันเนื่องจาก “เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่” ในหลายช่วงเวลาศตวรรษที่ผ่านมา แน่นอนว่าอุทกภัยในครั้งล่าสุดนี้น่าจะเป็นครั้งที่มีความรุนแรงมากที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ยุคใกล้ของลำน้ำแม่สายในฐานะเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับเมียนมา

ลำน้ำแม่สายถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่มีความสำคัญต่อพื้นที่เมืองแม่สายและอาณาบริเวณใกล้เคียง โดยมีต้นกำเนิดจากเขตประเทศเมียนมา โดยเกิดจากการรวมตัวของลำห้วยที่ไหลจากทิวเขาใหญ่น้อยทางด้านทิศตะวันตกของจังหวัดท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน (บริเวณด้านหลังดอยตุง) โดยไหลย้อนขึ้นมาทางทิศเหนือและเลี้ยววกมาทางด้านทิศตะวันออก (บริเวณหัวฝายหรือบ้านถ้ำผาจม) เป็นพรมแดนทางธรรมชาติที่ใช้ร่องน้ำลึกของแม่น้ำดังกล่าวเป็นแนวพรมแดนระหว่างเขตแดนไทย ด้านอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย กับเขตแดนเมียนมาด้านจังหวัดท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา  และจะไหลไปบรรจบกับแม่น้ำรวกที่บ้านป่าแดง ตำบลเกาะช้าง อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย แม่น้ำสายมีความยาวประมาณ 15 กิโลเมตร ซึ่งถูกใช้ประโยชน์ในด้านการเกษตรกรรมเป็นหลักโดยราษฎรไทยได้จัดทำฝายกั้นน้ำในแม่น้ำสายเพื่อทดน้ำเข้าไปทำการเพาะปลูกตลอดปี ทั้งยังถูกใช้ให้เป็นแหล่งน้ำในการผลิตน้ำประปาในพื้นที่โดยไม่มีประโยชน์ในการคมนาคมแต่อย่างใด

สายน้ำรอยต่อระหว่างแม่น้ำสายกับแม่น้ำรวกซึ่งมีขนาดของลำน้ำที่กว้างใหญ่และปริมาณน้ำที่มากกว่าจึงเป็นสายน้ำที่เป็นแอ่งทับถมของตะกอนซึ่งส่วนใหญ่เป็นดินทรายและกรวดที่ยังไม่แข็งตัว โดยมีอายุประมาณ 1-2 ล้านปี หลังจากนั้นจึงมีการยกตัวสูงขึ้นของพื้นที่ ลักษณะเช่นนี้จึงทำให้น้ำจากบริเวณภูเขาหรือที่สูงไหลลงกัดเซาะเป็นที่ราบลุ่มน้ำในเวลาต่อมา ทำให้ลำน้ำแม่สายมีทิศทางการไหลขนานไปถึงแนวรอยเลื่อนด้านใต้ซึ่งอยู่บริเวณตอนเหนือของลุ่มน้ำกก จากสภาพเช่นนี้จึงทำให้แม่น้ำทั้งสองสายมีลักษณะของการไหลที่คดโค้ง เพื่อที่จะปรับตัวให้เข้าสู่ภาวะที่สมดุล กระบวนการไหลของแม่น้ำแม่สายช่วงบริเวณดังที่กล่าวมาข้างต้นจะไหลผ่านที่ราบดินตะกอนที่มีดินร่วนซุย จึงง่ายต่อการกัดเซาะของน้ำ ไหลผ่านที่ราบดินตะกอน จึงเป็นเหตุให้แม่น้ำสายเปลี่ยนทางเดินตามธรรมชาติอยู่ตลอดเวลา โดยเป็นการเปลี่ยนแปลงทีละเล็กทีละน้อยซึ่งส่งผลทำให้เกิดปัญหาเขตแดนเกี่ยวกับการอ้างสิทธิในการถือครองที่ดินบริเวณพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำสายและแม่น้ำรวกระหว่างประเทศไทยกับประเทศเมียนมาเรื่อยมาเสมอนับตั้งแต่มีการปักปันเส้นเขตแดนของรัฐไทยสมัยใหม่กับพม่าในฐานะรัฐอาณานิคมของอังกฤษพม่าอยู่เสมอ

หากพิจารณาในเชิงภูมิศาสตร์ต่อที่ตั้งของเมืองแม่สายและลักษณะภูมิประเทศที่เอื้อให้เกิดการไหลของแม่น้ำที่หลากลงมาจากต้นน้ำของแม่น้ำสายจึงมีส่วนทำให้เกิดความเชี่ยวและแรงของแม่น้ำสายดังกล่าวนี้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติหากมีน้ำในปริมาณที่มหาศาลในช่วงฤดูน้ำหลาก ทว่าหากพิจารณาความยาวของลำน้ำแม่สายจากแผนที่ทางอากาศในหลาย ๆ ฉบับ อาจพอที่จะประมาณการณ์ได้ว่าลำน้ำแม่สายมีการทอดตัวในเขตภูเขาที่เป็นพื้นรับน้ำลงสู่แม่น้ำซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเขตประเทศเมียนมาประมาณร้อยละ 80 และอีกร้อยละ 20 เท่านั้นที่ทอดยาวอยู่ในพื้นราบลุ่มในเขตแม่สาย-ท่าขี้เหล็กซึ่งลักษณพภูมิประเทศดังกล่าวก็มักจะนำความอุดมสมบูรณ์มาสู่พื้นที่ด้วยแร่ธาตุต่าง ๆ ที่ปะปนมากับตะกอนในแม่น้ำซึ่งหลักฐานปรากฏชัดเจนด้วยภาพถ่ายจากดาวเทียมรายละเอียดสูง บันทึกภาพเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2567 ใกล้ชายแดนประเทศเมียนมาในพื้นที่อำเภอแม่สายได้พบดินถล่มหลายจุดปรากฏเป็นสีน้ำตาลแดงตัดกับสีเขียวของป่าไม้หรือแปลงเกษตรบริเวณอีกด้านหนึ่งของสันเขาดอยนางนอนที่อยู่ในฝั่งประเทศเพื่อนบ้านซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงหนึ่งในสาเหตุของตะกอนดินโคลนจำนวนมากที่ไหลทับถมในพื้นที่ด้านล่างของแม่น้ำสาย ขณะเดียวกันขุดดินถล่มอีกหลาย ๆ จุดในสันเขาดอยนางนอนในฝั่งประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตบ้านผาหมี บ้านห้วยน้ำรินและบ้านถ้ำผาจมในเขตพื้นที่ตำบลเวียงพางคำก็เป็นปัจจัยสำคัญให้เกิดการพัดพาของน้ำป่าและดินตะกอนในปริมาณมหาศาลเข้ามาสบทบกับน้ำจากลำน้ำแม่สายที่ได้เอ่อล้นจนท่วมพื้นที่เมืองและอาณาบริเวณโดยรอบ ซึ่งแต่ละจุดที่มีการเกิดเหตุของดินถล่มนั้นปรากฏร่องรอยมีความกว้างประมาณ 20 – 30 เมตร หรือเทียบเท่ากับถนนขนาด 4 เลน และมีความยาวหลายสิบเมตรถึงหลายร้อยเมตร แตกต่างกันไปตามลักษณะพื้นที่ ซึ่งทำให้หลายหมู่บ้านทั้งในฝั่งประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านกลายเป็นพื้นที่เกิดพิบัติทางธรรมชาติอันก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนกำลังนับวันรอให้พื้นที่ของเมืองแม่สายและอาณาบริเวณโดยรอบได้กลับคืนและฟื้นตัวขึ้นมาได้โดยเร็ว

เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจต่อประวัติศาสตร์ของร่องน้ำและลำน้ำแม่สายสายในฐานะเส้นเขตแดน” ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงเรื่อยมาจากอดีตซึ่งมีสาเหตุสำคัญอันเนื่องจาก “เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่” ในหลายช่วงเวลาศตวรรษที่ผ่านมาข้อเขียนจะชี้ให้เห็นประเด็นลักษณะทางภูมิศาสตร์บริเวณแม่น้ำสาย การก่อตัวขึ้นมาของชายแดนทางกายภาพตรงบริเวณแม่น้ำสายที่เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายระลอกอันมีผลทำให้เกิดปัญหาในการปักปันเขตแดนระหว่างประเทศทั้งสองซึ่งเริ่มต้นในราวกลางศตวรรษที่ 19 ภายหลังจากกองทัพอังกฤษได้ทำการยึดครองดินแดนพม่าทั้งหมดโดยผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ “บริติชอินเดีย” แล้ว  การกำเนิดขึ้นของเส้นเขตแดน (Boundary Line) จึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น พร้อม ๆ กับการแผ่ขยายอำนาจและอิทธิพลทางการเข้ามาของจักรวรรดิอังกฤษ ซึ่งมีเป้าหมายในการล่าอาณานิคมและการแสวงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การค้า ตลอดจนการแสวงหาแหล่งวัตถุดิบและทรัพยากร เช่น แร่ธาตุ ป่าไม้สัก เป็นต้น เพื่อป้อนไปสู่ระบบโรงงานที่ทำการผลิตในช่วงหลังยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นภายหลังการเข้ายึดครองดินแดนอาณานิคมพม่าของจักรวรรดิอังกฤษนั้นได้เริ่มมีการกำหนดอาณาเขตดินแดนขึ้นมาเป็นลายลักษณ์อักษรที่แน่ชัด พร้อมกับอาศัยกลไกและยุทธวิธีทางการเมืองหลากหลายรูปแบบเพื่อการยึดครองให้ได้มามากกว่าดินแดนที่มีอยู่เป็นจริง ล้วนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในยุคสมัยดังกล่าวและเห็นได้ว่าการเจรจาเรื่องเขตแดนอังกฤษซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจที่มีอิทธิพลมากในยุคสมัยนั้นได้ใช้อำนาจและวิเทโศบายในทางการเมืองบีบบังคับรัฐสยามให้ยอมรับในข้อตกลงต่าง ๆ ที่อังกฤษเห็นชอบ รวมทั้งได้มีการตกลงเพื่อปักปันเขตแดนร่วมกับรัฐบาลสยามเพื่อความสะดวกในการปกครองพม่าซึ่งเป็นอาณานิคม อีกทั้งเจ้าอาณานิคมอังกฤษเอง ก็มักจะมีข้อตกลงที่มักจะเอาเปรียบรัฐบาลสยามในหลายข้อด้วยกัน                         

กระบวนการต่อรองระหว่างรัฐบาลอาณานิคมอังกฤษและรัฐบาลสยามในฐานะเจ้าอาณานิคมภายในดำเนินไปโดยที่สุดแล้วรัฐบาลสยามเองไม่สามารถขัดขืนอังกฤษได้  โดยในปีพ.ศ.2408 ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ของไทย  รัฐบาลอาณานิคมอังกฤษจึงได้ส่งข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำอินเดียมาติดต่อกับรัฐบาลไทยเพื่อขอดำเนินการปักปันเขตแดน    ซึ่งการกำหนดแนวพรมแดนดังกล่าวในระยะเริ่มแรกนั้นไม่มีหนังสือสัญญาแต่อย่างใด หากแต่เป็นการกำหนดเขตแดนลงบนแผนที่ตามที่ได้สำรวจและปักปันร่วมกัน กล่าวคือเป็น แผนที่ปักปันเขตแดนชื่อ “Burma – Siam Boundary Demarcation Survey” โดยฝ่ายอังกฤษเป็นผู้เขียนและพิมพ์แผนที่ขึ้น  จากนั้นจึงได้ส่งไปให้ผู้แทนของทั้งรัฐบาลอาณานิคมอังกฤษและรัฐบาลสยามเป็นฝ่ายทำการตรวจสอบ  โดยเมื่อเห็นว่ามีความถูกต้องแล้ว ก็ได้มีการลงนามกันบนแผนที่และได้มีการจัดทำอนุสัญญาเพื่อรับรองการลงนามดังกล่าวขึ้นที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2411                  โดยในอนุสัญญาฉบับนี้กำหนดแนวพรมแดนจากจุดบรรจบกันระหว่างแม่น้ำเมยกับแม่น้ำสาละวินลงมาทางใต้สู่ทะเลอันดามันที่ปากแม่น้ำปากจั่น เมื่อรัฐบาลไทยตรวจสอบแผนที่เขตแดน ที่อังกฤษจัดทำขึ้นมาแล้วเห็นว่าถูกต้อง จึงได้ให้สัตยาบันที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ.2411 โดยถือได้ว่าเป็นอนุสัญญาเขตแดนระหว่างไทยกับพม่าซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษฉบับแรก

ต่อมารัฐบาลสยาม ก็ยังต้องส่งข้าหลวงและพนักงานทำแผนที่ไปทำการปักปันเขตแดนร่วมกับข้าหลวงเขตแดนฝ่ายอังกฤษ ในวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ.2436  โดยได้ทำการปักปันเขตแดนต่อจากแนวพรมแดนที่ทำไว้กับอังกฤษในปี พ.ศ.2411  ตามปฏิญญาร่วมกันระหว่างไทยกับพม่าของอังกฤษ ลงวันที่ 17 ตุลาคม  พ.ศ.2437 ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 ของไทย โดยในครั้งนั้นไม่ได้ทำสนธิสัญญาเขตแดนเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ใช้วิธีการสำรวจภูมิประเทศและปักปันเขตแดนร่วมกันลงบนแผนที่และให้ทั้งฝ่ายสองฝ่ายยึดถือ แทนสนธิสัญญาเดิมในฉบับก่อนหน้า สำหรับผู้ลงนามในสนธิสัญญาปักปันเขตแดนในครั้งที่สองนี้ฝ่ายรัฐบาลสยาม ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศของรัฐบาลไทย   ในขณะนั้นส่วนผู้ลงนามฝ่ายอังกฤษ คือ Sir James George Scott  อุปทูตและผู้ว่าราชการแทนกงสุลใหญ่อังกฤษประจำสยามและเพื่อให้เกิดผลสมบูรณ์ตามกฎหมายจึงมีการประทับตราประจำรัชกาลที่ 5 และตราข้าหลวงใหญ่แห่งอินเดียไว้บนแผนที่  โดยสนธิสัญญาปักปันเขตแดนดังกล่าวเป็นผลทำให้แม่น้ำสายและแม่น้ำรวกกลายเป็นเส้นกั้นเขตแดนระหว่างไทยกับพม่าตามกฎหมาย ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา  อย่างไรก็ตามเมื่อพม่าได้รับเอกราชก็ได้ใช้การเป็นผู้สืบสิทธิในสนธิสัญญาต่าง ๆ ที่อังกฤษทำไว้กับไทย รวมไปถึงสนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาคเกี่ยวกับเขตแดนด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ รายงานการสำรวจร่วมปักปันเขตแดนไทย-อังกฤษ เมื่อปี พ.ศ. 2436 ซึ่งฝ่ายสยามได้มีการใช้สัตว์ต่างเป็นพาหนะในการเดินทางและบรรทุกสัมภาระในการเดินทางรวมทั้งมีพวกเจ้าเมืองชายแดนที่มาช่วยชี้แนวเขต ตำบลสำคัญและบอกเส้นทางซึ่งตรงบริเวณพื้นที่ชุดสำรวจแนวเขตแดนเดินทางผ่านนั้นเป็นลักษณะของพื้นที่ภูเขาและปกคลุมด้วยป่าไม้ ส่วนบริเวณที่ราบลุ่มน้ำก็เป็นป่าละเมาะและป่าหวาย ไม้เครือเถาต่าง ๆ นอกจากนี้ตรงบริเวณยอดดอยต่าง ๆ ยังพบถิ่นที่อยู่ของพวกมูเซอ ซึ่งให้ความช่วยเหลืออย่างดีต่อการชี้แนะแนวตำบลสำคัญ ๆ (กจช. ร. 5 ต. 40/5) โดยได้มีการจัดเก็บรายละเอียดก็จะใช้การสำรวจด้วยโต๊ะราบและมีการแผ้วถางยอดดอยเพื่อทำที่หมายเขตแดนด้วยหลักไม้บ้าง หินบ้าง ตามแต่จะหาได้ในภูมิภาคของประเทศ (กจช. ร. 5 ต. 40/6) ดังนั้นความถูกต้องของการสำรวจจึงอยู่ในเกณฑ์ที่เชื่อถือได้ตามสภาพของเครื่องมือที่มีอยู่ในสมัยนั้น 

ขณะที่ฝ่ายอังกฤษก็ได้สลักเป็นรูปไม้กางเขนเป็นเครื่องหมายโดยคณะชุดสำรวจร่วมแต่ละชุดต่างก็เริ่มทำการปักหลักเขตแดนตามทิศทางที่ตนสำรวจให้มีชัดเจน ด้านรายงานการสำรวจดังกล่าวได้ระบุเรื่องราวการสำรวจเขตแดนในพื้นที่ตรงบริเวณแม่อยู่ในพื้นที่ส่วนระวางสุดท้ายของแผนที่ที่ได้มีการเริ่มต้นจากเขตติดต่อกับดอยตุงผ่านดอยต่อข้ามไปจนสุดแม่น้ำโขงที่สบรวก โดยการจัดทำแผนที่ฉบับดังกล่าวว่ากันว่า สยามประเทศถูกทางฝ่ายอังกฤษใช้อิทธิพลบีบบังคับให้กำหนดเขตแดนอยู่บ้างทั้งยังมีการบริหารและจัดการที่ยังไม่สมบูรณ์โดยพบภายหลังว่าหลักเขตแดนสูญหายและถูกเคลื่อนย้ายเป็นจำนวนมากสำหรับในส่วนของแผนที่ปักปันเขตแดนนั้นก็ประสบกับปัญหาการที่มีมาตราส่วนเล็กเกินไปจึงเป็นผลเสียในเรื่องของความชัดเจนของเขตแดน

ทั้งนี้ ลำน้ำแม่สายได้ไหลลงไปบรรจบกับแม่น้ำรวกที่บริเวณบ้านป่าแดง ตำบลเกาะช้าง อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย โดยแม่น้ำรวกนั้นถูกใช้เป็นแนวพรมแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศพม่า ตั้งแต่บริเวณสบสาย (จุดร่วมตรงแม่น้ำรวกที่บ้านป่าแดง ในเขตอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย) จนถึงสบรวก(จุดร่วมตรงแม่น้ำรวกไหลลงแม่น้ำโขง ที่บ้านสบรวก เขตอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ) ซึ่งเป็นจุดร่วมเขตแดน 3 ประเทศ คือ พม่า ไทย ลาว หรือ ที่ เรียกกันว่า “สามเหลี่ยมทองคำ” โดยใช้ร่องน้ำลึกของแม่น้ำเป็นแนวพรมแดน แม่น้ำรวกนั้นมีความยาวประมาณ 44

ในรอบศตวรรษที่ผ่านมาการไหลของแม่น้ำแม่สายช่วงบริเวณดังที่กล่าวมาข้างต้นจะไหลผ่านที่ราบดินตะกอนที่มีดินร่วนซุย จึงง่ายต่อการกัดเซาะของน้ำ ไหลผ่านที่ราบดินตะกอน จึงเป็นเหตุให้แม่น้ำสายเปลี่ยนทางเดินตามธรรมชาติอยู่ตลอดเวลา โดยเป็นการเปลี่ยนแปลงทีละเล็กทีละน้อย ถึงกระนั้นก็ตามได้เกิดมีการเปลี่ยนทางเดินน้ำอย่างฉับพลัน ครั้งใหญ่อยู่ 2 ครั้ง ได้แก่

ครั้งที่ 1 ในปี พ.ศ.2472 แม่น้ำสายได้เปลี่ยนทางเดินเข้ามาในเขตประเทศไทย โดยกระแสน้ำได้ไหลท่วมบ้านเรือนราษฎรพังไป 22 หลัง และกัดเซาะตลิ่งฝั่งพม่าจนเกิดเป็นเกาะ รัฐบาลทั้งสองฝ่ายจึงได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นชุดหนึ่งเพื่อแก้ปัญหา ฝ่ายไทยประกอบด้วยพระยาราชเดชดำรง เจ้าเมืองเชียงรายและพระศรีบัญชา รักษาการแทนอธิบดีกรมพิธีการ กระทรวงการต่างประเทศ ส่วนผู้แทนฝ่ายอังกฤษคือ นาย เอส เจ มิตเชลล์ ผู้ช่วยผู้กำกับรัฐเชียงตุง โดยได้ร่วมกันสำรวจพื้นที่และจัดทำแผนที่ขึ้น พร้อมกับมีการประชุมร่วมกันที่จังหวัดเชียงราย ในวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2474 และได้มีการแลกเปลี่ยนบันทึกข้อตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรและรัฐบาลแห่งอินเดียกับ รัฐบาลสยาม เป็นความตกลงว่าด้วยเขตแดนระหว่างพม่า(เชียงตุง) กับสยาม ซึ่งมีเนื้อหาสรุปได้ดังนี้

“…..แม่น้ำสายได้เปลี่ยนทางเดิน เนื่องจากเกิดอุทกภัยในปี พ.ศ.2472 กระแสน้ำได้ทำให้บ้านเรือนราษฎรพังทลายไปถึง 22 หลัง และเกิดร่องน้ำใหม่ขึ้นเข้ามาทางสยาม คณะกรรมการได้พิจารณาแล้วว่าการได้เสียพื้นที่บริเวณนี้มีเพียงส่วนน้อย ไม่น่าจะนำมาเป็นปัญหา แต่เนื่องจากขนาดของแม่น้ำใหญ่เกินไปจึงขอใช้ “ร่องน้ำลึก” ของแม่น้ำสายเป็นเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับพม่าของอังกฤษ แทนการใช้ “กลางลำน้ำ” และฝ่ายอังกฤษยังเน้นว่าในกรณีที่แม่น้ำสายเปลี่ยนทางเดินอีกในอนาคต รัฐบาลทั้งสองก็พร้อมที่จะถือเอา”ร่องน้ำลึก” ของแม่น้ำสายเป็นแนวเขตแดนเสมอไปโดยไม่คำนึงถึงการสูญเสียอาณาเขตใดๆซึ่งอาจเกิดขึ้นจากการนั้น…..”

จากบันทึกความตกลงฉบับนี้รัฐบาลทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนสัตยาบันกัน โดยฝ่ายไทยมีหนังสือลงนามโดย พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าเทวะวงศ์วโรทัย เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ ลงวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2474 และฝ่ายอังกฤษตอบรับโดย นาย เจ เอฟ จอห์นส์ อุปทูตอังกฤษ ประจำกรุงสยาม ลงวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ.2475 ซึ่งเป็นการยอมรับตามบันทึกที่ผู้แทนทั้ง 2 ฝ่าย ได้ตกลงกันได้เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2474 ที่จังหวัดเชียงราย

ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2482 แม่น้ำสายได้เปลี่ยนทางเดินอีกครั้ง ทั้งนี้รัฐบาลของทั้งสองฝ่าย จึงได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นไปตรวจสอบ ซึ่งผู้แทนฝ่ายไทยประกอบด้วยหลวงสิทธิสยามการ พระอนุรักษ์ภูเบศ พระพนมและพระยาประกิตกลศาสตร์ ส่วนฝ่ายอังกฤษประกอบด้วยนายพี.ซี. โฟการ์ตและนายวี.จี.โรแบร์ต โดยได้จัดการประชุมที่จังหวัดเชียงรายในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2482 และได้มีการแลกเปลี่ยนบันทึกความเข้าใจระหว่างกัน สรุปสาระสำคัญได้คือ ตามที่รัฐบาลทั้งสองได้แลกเปลี่ยนสัตยาบันกันเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ.2474 และ14 มีนาคม พ.ศ.2475 ได้ตกลงเป็นหลักการไว้แล้วว่า “ต่อไปภายหน้าถ้าแม่น้ำสายเปลี่ยนทางเดินอีกรัฐบาลทั้งสองฝ่ายพร้อมที่จะถือเอาร่องน้ำลึกของแม่น้ำสายเป็นแนวเขตแดนเสมอไป โดยไม่คำนึงถึงการได้เสียดินแดนใด ๆ อันจะพึงมีขึ้นโดยการเปลี่ยนแปลงเช่นว่านั้น”

ดังนั้น  การเปลี่ยนทางเดินน้ำใหม่ของแม่น้ำสายในครั้งนี้ก็ให้ยึดถือร่องน้ำลึกใหม่ของแม่น้ำสายเป็นแนวพรมแดนระหว่างไทยกับพม่าของอังกฤษ และให้เป็นที่เข้าใจกันว่าหลักการ”ร่องน้ำลึก”นี้จะคงใช้ต่อไปในกรณีที่แม่น้ำสายเปลี่ยนทางเดินอีกในอนาคตดังนั้นการเปลี่ยนแปลงทางเดินน้ำของแม่น้ำสายในครั้งใหม่นี้ ยังคงให้ยึดถือร่องน้ำลึกของแม่น้ำสายที่เปลี่ยนทางเดินใหม่เป็นแนวพรมแดนระหว่างไทยกับพม่าของอังกฤษ ซึ่งรัฐบาลของทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนสัตยาบันกันเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2483 สำหรับหนังสือฝ่ายไทยลงนามโดยพันเอกหลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และฝ่ายอังกฤษลงนามโดยนายเจ ครอสบี อัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย                                                  

ต่อมาเมื่อพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษแล้ว ได้เกิดมีปัญหาความขัดแย้งเรื่องเขตแดนบริเวณแม่น้ำสายกับไทยอีกครั้ง เนื่องมาจากในปี พ.ศ. 2500 อำเภอแม่สายได้สร้างฝายปิดกั้นแม่น้ำขึ้นเพื่อทดน้ำเข้าคลองส่งน้ำ ขึ้น 3 แห่งได้แก่ ฝายเหมืองแดง (บริเวณจุดแรกที่แม่น้ำแม่สายไหลผ่านเข้ามาเป็นเส้นแบ่งพรมแดน เรียกบริเวณนี้ว่า “หัวฝาย”  โดยสร้างเพื่อใช้ประโยชน์ทั้งในพื้นที่การเกษตรในพื้นที่ตำบลแม่สายและการอุปโภคบริโภคโดยตรง) ฝายเวียงหอม (อยู่บริเวณบ้านเหมืองแดง ใกล้สะพานข้ามแม่น้ำสายแห่งที่สองโดยทดน้ำเข้าคลองชลประทานและพื้นที่ทำการเกษตรสายเวียงหอม รวมทั้งตำบลแม่สายและตำบลเกาะช้าง) และฝายเหมืองงาม (อยู่บริเวณบ้านเวียงหอม ทดน้ำเข้าคลองชลประทานและพื้นที่ทำการเกษตรสายป่าซางงาม รวมทั้งพื้นที่ทำการเกษตรกรรมในตำบลเกาะช้าง) ใช้ประโยชน์ในด้านการเกษตรเป็นส่วนใหญ่สำหรับเหตุผลที่ต้องสร้างฝายขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวเนื่องจากมีชุมชนอาศัยอยู่มากขึ้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องนำน้ำมาใช้ทั้งด้านการอุปโภค บริโภค และเพื่อประโยชน์ต่อการเกษตรกรรม โดยฝายที่สร้างขึ้นนั้นมีลักษณะเป็นฝายไม้ไผ่ชั่วคราวเนื่องจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นอำเภอท่าขี้เหล็กของพม่าไม่ยอมให้สร้างแบบถาวร

ต่อมาในปี พ.ศ.2510 แม่น้ำแม่สายเริ่มเปลี่ยนทางเดินเข้าไปในเขตพม่าอีกครั้งตรงบริเวณเหนือฝายเหมืองงามไปจนถึงสบสาย (จุดร่วมตรงบริเวณที่แม่น้ำสายไหลลงแม่น้ำรวก) โดยแม่น้ำแม่สายเส้นเดิมมีแนวโน้มที่จะแห้งไป เป็นผลให้ไทยได้พื้นที่เพิ่มขึ้นมาประมาณ 1,200 ไร่  ซึ่งเดิมทีรัฐบาลไทยกับรัฐบาลพม่าของอังกฤษได้เคยมีการทำการแลกเปลี่ยนสัตยาบันกันในปี พ.ศ.2483 ในสาระสำคัญที่ว่า “หากลำน้ำแม่สายเกิดการเปลี่ยนทางเดินใหม่ ให้ใช้ร่องน้ำลึกนั้นให้เป็นแนวพรมแดนโดยไม่คำนึงถึงการสูญเสียดินแดนที่จะเกิดขึ้นกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด“ หากแต่ฝ่ายพม่ากลับไม่ยอมรับร่องน้ำลึกของแม่น้ำสายที่เปลี่ยนแปลงใหม่เป็นแนวพรมแดน โดยอ้างว่าการเปลี่ยนแปลงเขตแดนครั้งนี้ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ตามที่ทั้งสองฝ่ายได้ให้สัตยาบันกันไว้ในปี พ.ศ.2483 แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการกระทำของราษฎรไทยที่ได้สร้างฝายกั้นน้ำในบริเวณแม่น้ำสายเส้นใหม่ เพื่อที่จะทำการเบนน้ำให้กลับไปทางแม่น้ำสายเส้นเดิม แต่ราษฎรไทยได้รวมกลุ่มกันสร้างคันดินป้องกันไม่ให้น้ำไหลมาบริเวณแม่น้ำสายเส้นเดิม เนื่องจากได้ทำการเพาะปลูกพืชผลในพื้นที่ดังกล่าวอยู่ จึงเกรงว่าน้ำจะไหลบ่ามาท่วมพื้นที่เพาะปลูกที่ทำไว้ ทางทหารพม่ากลุ่มหนึ่งจึงตอบโต้การกระทำของราษฎรไทยด้วยการยิง

ปืนข่มขู่และเข้ามาทำการรื้อถอนคันดินที่ราษฎรไทยได้ทำการสร้างขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม แม่น้ำสายก็ไม่ได้ไหลเบนเข้าทางแม่น้ำสายเส้นเดิมแต่กลับกัดเซาะไปทางแม่น้ำสายเส้นใหม่อีก เมื่อเกิดปัญหาเช่นนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายจึงได้นำเสนอรายงานต่อกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงมหาดไทยก็ได้เสนอเรื่องนี้ไปยังคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-พม่า เพื่อให้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบพื้นที่ดังกล่าว และได้พบว่าแม่น้ำสายเส้นเดิมได้ตื้นเขินจนหมดสภาพการเป็นแม่น้ำแล้ว เมื่อเกิดปัญหาเขตแดนดังกล่าวขึ้นรัฐบาลของทั้งสองฝ่ายจึงเห็นพ้องร่วมกันที่จะจัด

ให้มีการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป ไทย-พม่า เพื่อร่วมกันหาหนทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยได้จัดให้มีการประชุมที่ประเทศไทย เมื่อวันที่ 7-14 พฤษภาคม พ.ศ. 2511 ซึ่งผลการประชุมสรุปได้ว่า ทั้งสองฝ่ายยังหาข้อสรุปในการแก้ปัญหาเขตแดนบริเวณแม่น้ำสายร่วมกันไม่ได้ประกอบกับการที่พม่าประสบกับปัญหาภายในประเทศในช่วงเวลานั้น จึงทำให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวต้องหยุดชะงักไป

ต่อมาในปี พ.ศ. 2524 ทางฝ่ายพม่าได้มีการผลักดันรื้อฟื้นให้มีการแก้ไขปัญหาเขตแดนบริเวณแม่น้ำสายขึ้นอีกครั้ง ทั้งนี้ได้มีการพิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้นบริเวณแม่น้ำรวกร่วมด้วยเนื่องจากแม่น้ำทั้งสองสายนี้มีลักษณะของการไหลที่เชื่อมต่อกัน อีกทั้งยังทำหน้าที่เป็นแนวเขตแดนกั้นระหว่างไทย-พม่า ด้านจังหวัดเชียงราย โดยทางฝ่ายพม่าได้เสนอให้ฝ่ายไทยจัดตั้งคณะกรรมการร่วมไทย- พม่า เกี่ยวกับเขตแดนบริเวณแม่น้ำสายและแม่น้ำรวกในการพิจารณาปัญหาเขตแดนไทย-พม่า ขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการแก้ปัญหาความขัดแย้งในการปักปันเขตแดนบริเวณ

นี้ให้แล้วเสร็จ ซึ่งทางฝ่ายไทยกับพม่าก็ได้มีการประชุมคณะกรรมการร่วมไทย-พม่าขึ้นทั้งหมด 3 ครั้งด้วยกัน จนในที่สุดทั้งสองฝ่ายก็สามารถทำการเจรจายุติปัญหาในการปักปันเขตแดนบริเวณแม่น้ำสาย-แม่น้ำรวกได้ในปี พ.ศ. 2530 ซึ่งถือได้ว่าเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสอง สำหรับรายละเอียดของกลไกในการแก้ไขปัญหาและการปักปันเขตแดนบริเวณแม่น้ำสายและแม่น้ำรวก การแลกเปลี่ยนสัตยาบันสาร และการสร้างหลักอ้างอิงเขตแดนเพื่อทดแทนหลักอ้างอิงเขตแดนเดิมที่สูญหายนั้น

แม้ว่าปัญหาเรื่องการปักปันซึ่งเขตแดนระหว่างไทยกับเมียนมาที่มีลำน้ำแม่สายเป็นเส้นพรมแดนทางธรรมชาติจะคลี่คลายลงใน 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมาแต่การทำความเข้าใจต่อประวัติศาสตร์ความเปลี่ยนแปลงเส้นทางเดินของแม่น้ำย่อมเป็นส่วนหนึ่งของการทำความเข้าใจเงื่อนไขทางธรรมชาติในอดีตที่มีผลต่อการเกิดขึ้นของภัยพิบัติในปัจจุบัน สำหรับเมืองแม่สายแล้ว พื้นที่ของชุมชนไม้ลุงขน เกาะทรายและผามควาย รวมถึงหลาย ๆ หมู่บ้าน นับได้ว่าเป็นเส้นทางเดิมสายเก่าของลำน้ำแม่สาย ผู้เสียเคยได้เห็นแผนที่เก่า ฉบับเมื่อประมาณปี 2470 จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ (ดร.สุชน มัลลิกะมาลย์ คณะสถาปัตย์ ม.เกษตรศาสตร์เมตตาแบ่งปันมาให้ผู้เขียน ) ซึ่งปรากฏเรียกชื่อหมู่บ้านหรือชุมชนที่ตั้งอยู่ในบริเวณหมู่บ้านซึ่งเป็นพื้นที่น้ำท่วมสีแดงของเมืองแม่สายในปัจจุบันว่า “บ้านน้ำสาย” ด้วยซ้ำ

นอกจากนี้ยังมีลักษณะของพื้นที่ชุ่มน้ำหรือหนองน้ำอันเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของเส้นทางเดิมของแม่น้ำและทำให้พื้นที่ดังกล่าวคือสภาพมาเป็นบึงหรือหนองน้ำในพื้นที่หลายแห่งอย่างเช่น หนองบัว ในพื้นที่รอยต่อระหว่างชุมชนสันผักฮี้ หมู่ที่ 3 ตำบลแม่สาย และชุนชนปิยะพรหมู่ที่ 13 ตำบลแม่สาย รวมไปถึงหนองกัด ซึ่งเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่ชุมชนสันผักฮี้ รวมไปถึงชื่อ “หนองอึ่ง” (สอบถามจากคนเฒ่าคนแก่ซึ่งทำให้ผู้เขียนทราบมาว่าอยู่บริเวณชุมชนบ้านเหมืองแดง ซอยแปด อันเป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติน้ำท่วมขนานใหญ่ในปัจจุบัน) เช่นเดียวกันกับข้อเสนอของนักวิชาการท้องถิ่นศึกษาจังหวัดเชียงรายอีกท่านหนึ่งอย่างคุณอภิชิต ศิริชัยที่ได้ให้ข้อเสนอสำคัญที่ว่าการจะที่เราจะเข้าใจภัยพิบัติพื้นที่เมืองเชียงรายครั้งนี้ ต้องเข้าใจประวัติที่ตั้งชุมชนลุ่มน้ำกก ซึ่งเมืองเชียงรายที่ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มน้ำกก ถูกพัฒนาเมืองเชียงรายราวร้อยปีมานี้ มีการรื้อกำแพงเมือง ถมคูเมือง ดึงน้ำกกมาล้างเมืองชุมชนฮ่องลี่ จริง ๆ แล้วเป็นแควน้ำอ้อม ก่อนหน้านี้บ้านป่างิ้ว ไม่เคยท่วม เพราะฮ่องลี่ถูกปิดไว้ แต่น้ำไหลทะลักกลับเข้ามา เมื่อดูแผนทางอากาศราว 70 ปีก่อน เห็นชัดว่าแม่น้ำกกไหลอ้อมไปที่ถ้ำตุ๊ปู่ น้ำลัด ต่อมาสร้างเป็นหมู่บ้านจัดสรรขนาดใหญ่ เป็นทางเดินน้ำกกเดิมเกาะลอย คือคนไปขุดเป็นคลองเมื่อราวปี 2490 น้ำกก กักเซาะพื้นที่เทศบาลเมืองเชียงราย มีการปักหลัก ลงไปถึงกกโท้ง เป็นต้น

ทั้งนี้ผู้เขียนมีความเห็นสอดคล้องกับคุณอภิชิตที่ได้นำเสนอประเด็นขั้นต้นเป็นอย่างยิ่งเพราะชื่อหมู่บ้านทุกหมู่บ้านล้วนบ่งบอกที่มาในการตั้งหมู่บ้าน อย่างเช่น หมู่บ้านที่ชื่อ สัน… จะไม่ท่วม ส่วนหมู่บ้านที่ชื่อ ร้อง…. ฮ่อง… จะท่วมทั้งหมด ศูนย์ราชการเชียงรายก็สร้างบนหนองกลับกลายเป็นพื้นที่รับน้ำตามธรรมชาติ ทว่าความเปลี่ยนแปลงจากการใช้ประโยชน์ที่ดินของผู้คนในปัจจุบันได้ทำให้การตั้งชุมชนหรือการมีอยู่ของชื่อหมู่บ้านเหล่านี้ไม่ได้มีความหมายแต่อย่างใด ประเด็นดังกล่าวนี้ทำให้ผู้เขียนได้ยินเสียงโจทก์จันจากผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนที่ผู้เขียนเองให้ความเคารพซึ่งมีอายุจะครบ 100 ปีในปีหน้านี้กล่าวให้ได้ยินมาว่า ….เกิดมาอายุจะครบ 100 ปีแล้ว เพิ่งจะเคยเห็นว่า “สันผักฮี้” (และอีกหลายๆ “บ้านสัน” ในพื้นที่เมืองแม่สาย) ต้องเผชิญกับภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งใหญ่ถึง 2 ครั้ง 2 คราตั้งแต่ปี 2565  มาจนถึงปีนี้ปี 2567

เอกสารที่ใช้เรียบเรียงในการเขียน

  • วิทยานิพนธ์สาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเรื่อง ความขัดแย้งระหว่างไทย-พม่า : ศึกษาการแก้ไขปัญหาเขตแดนบริเวณแม่น้ำสาย แม่น้ำรวกและแม่น้ำเมย ของ กิตยา เกษเจริญ (2545)
  • วิทยานิพนธ์ วิทยาลัยการทัพบก สถาบันวิชาการทหารบกชั้นสูง เรื่อง  การกำหนดแนวพรมแดนคงที่ระหว่างไทย-พม่า บริเวณแม่น้ำสายและแม่น้ำรวกของ  สุภี วิมะลิน(2530)
  • เอกสารวิจัยส่วนบุคคล วิทยาลัยการทัพบก สถาบันวิชาการทหารบกชั้นสูง เรื่อง สหภาพพม่ากับความมั่นคงแห่งชาติของไทย ของสุรจิตร สิทธิประณีต (2537)
  • บันทึกประชุมผู้แทนส่วนราชการในการพิจารณาปัญหาแม่น้ำรวกเปลี่ยนทางเดินประชุมครั้งที่1และครั้งที่2  เอกสารส่วนบุคคลของ พยนต์ ทิมเจริญ
  • บันทึกการแลกเปลี่ยนหนังสือระหว่างรัฐบาลของพระบาทสมเด็จในสหราชอาณาจักรและรัฐบาลแห่งอินเดียกับรัฐบาลแห่งสยามซึ่งประกอบเป็นความตกลงว่าด้วยเขตแดนระหว่างพม่า (เชียงตุง) กับสยาม

ชนชั้นกลางระดับล่างที่ค่อนมาทางปีกซีกซ้ายในทางเศรษฐกิจการเมือง ร่ำเรียนมาทางด้านการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ชื่นชอบประเด็นทางสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และการเมืองร่วมสมัย เป็นคนให้ความสนใจประเด็นล้านนาคดีทั้งในมิติประวัติศาสตร์ สังคมวัฒนธรรมและวรรณกรรมล้านนา (อยู่บ้างเล็กน้อย) แม้ตัวเองไม่ใช่คนดีย์แต่ยังคงมีการครุ่นคิดและสงสัยว่า ตัวเองนั้นเป็นนักกิจกรรม (Activist) และเป็นผู้นิยมมาร์กซ (Marxist) อยู่หรือเปล่า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง