3 พฤศจิกายน 2566 เวลา 10.00 น. ตัวแทนชาวบ้านตำบลแม่เหียะและกลุ่มวิสาหกิจใน 4 ตำบล (แม่เหียะ, สุเทพ, หนองควาย และบ้านปง) เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนถึง ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่
โดยเนื้อหาในหนังสือที่ยื่นร้องเรียนแก่ ธรรมนัส พรหมเผ่า คือให้พิจารณาดำเนินการย้าย หน่วยงานกรมส่งเสริมการเกษตรย้ายออกจาก ที่ดินสาธารณะประโยชน์สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน (ทุ่งเลี้ยงสัตว์บ้านสันพระนอน) หมู่ 5 ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลปกครองเชียงใหม่ปี 2554
หลังชาวบ้านได้ยื่นฟ้องศาลปกครองกรณีที่กรมส่งเสริมการเกษตรนำงบประมาณแผ่นดินสร้างบ้านพักราชการและนำงบกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร กว่า 57 ล้านบาท สร้างอาคารเครื่องอบไอน้ำมะม่วงส่งออกให้เอกชนเช่าในที่สาธารณะโดยมิชอบ และไม่ได้ดำเนินการถอนสภาพขอใช้ให้ถูกต้องแล้วปล่อยทิ้งร้างทำให้ชาวบ้านเสียโอกาสการใช้ประโยชน์มาร่วม 30 กว่าปี
เดิมทีที่สาธารณะบ้านสันพระนอนถูกใช้เป็นที่สาธารณประโยชน์ร่วมกันตามวิถีชาวบ้าน เช่น เป็นสุสาน ใช้เลี้ยงสัตว์ ปั้นอิฐ เตาปูน แหล่งน้ำดื่ม ปลูกผัก ที่อยู่อาศัยคนยากจน จัดงานมหรสพ ตลอดจนใช้เป็นสถานที่ประชุมของชาวบ้าน จนชาวบ้านเรียกสถานที่แห่งนี้ว่า “โฮงประชุม”
จวบจนปี พ.ศ.2512 กรมส่งเสริมการเกษตรได้เข้ามาในพื้นที่และปลุกเร้าให้ชาวบ้านเชื่อว่าจะมีการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวเพื่อความเจริญมีการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน และด้วยเหตุนั้น ผู้นำหมู่บ้านในเวลานั้นในฐานะตัวแทนชาวบ้านจึงทำเรื่องมอบที่สาธารณประโยชน์นี้ให้เป็นที่ทำการกลุ่มชาวนาต้นปินพัฒนา และให้ทางราชการกรมส่งเสริมการเกษตรมาส่งเสริมสนับสนุน ต่อมานายอำเภอเมืองเชียงใหม่ ได้มีหนังสือ ลงวันที่ 12 ธันวาคม 2512 เรียนให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่รับทราบว่าอำเภอเมืองเชียงใหม่ได้พิจารณาอนุญาติให้กลุ่มชาวนาต้นปินพัฒนา หมู่ 5 ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมืองเชียงใหม่ ใช้ที่ดินอันเป็นที่สาธารณะผืนนี้ทั้งหมด ตามเจตนาของผู้มอบให้และตามความประสงค์ของอำเภอเมืองเชียงใหม่ต่อไป
ในความเป็นจริงผลที่เกิดกลับเป็นไปในทางตรงกันข้ามเนื่อง จากหลังจากที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้เข้ามาใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวมาแล้วนั้น ก็ไม่เคยทำตามข้อตกลง ตามที่เคยสัญญากับชาวบ้าน กลับทำให้ชาวบ้านที่เคยใช้ประโยชน์ต่างๆ ไม่สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินดังเดิมได้
โดยจุดประสงค์ของการให้กรมส่งเสริมการเกษตรเข้ามาใช้ตั้งแต่แรกนั้น เพื่อให้กรมส่งเสริมการเกษตรมาส่งเสริมประชาชนในการพัฒนาการเกษตรในด้านต่างๆ มิใช่เพื่อมาลิดรอนสิทธิของชาวบ้านที่มีมาแต่เดิม
กรมส่งเสริมการเกษตรได้ให้หน่วยงานต่างๆ นำงบประมาณแผ่นดินซึ่งเป็นภาษีประชาชน มาทำการก่อสร้างอาคารสิ่งก่อสร้างในที่ดินสาธารณะรวมทั้งสิ้น 28 รายการเฉพาะบ้านพักข้าราชการมีจำนวนทั้งสิ้น 16 หลัง ซึ่งส่วนใหญ่จะทิ้งร้างไว้ไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ โดยเฉพาะในปี 2532 กรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดตั้งศูนย์พัฒนาการผลิตและควบคุมศัตรูผักผลไม้เพื่อส่งออกได้นำงบประมาณจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรก่อสร้างอาคารในบริเวณพื้นที่พิพาทพร้อมติดตั้งอุปกรณ์โรงงานเครื่องอบไอน้ำมูลค่า 57,879,000 บาท สร้างเสร็จแล้วแล้วให้บริษัทเอกชนเช่าโดยไม่ได้ค่าเช่า ซึ่งต่อมาได้มีการยกเลิกสัญญาเช่า และอาคารดังกล่าวก็ถูกปล่อยทิ้งร้างมาจนถึงปัจจุบัน
ตั้งแต่ปี 2548 ชาวบ้านได้รวมกลุ่มเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตและรวบรวมอาหารสัตว์ส่งให้กับเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี อันเป็นไปตามแผนแม่บทชุมชนในการดำเนินโครงการก่อตั้งเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีตามนโยบายของรัฐบาลที่จะแก้ไขปัญหาความยากจนให้แก่ประชาชนในพื้นที่ และได้ขออนุญาตเข้าไปใช้อาคารบางส่วนที่กรมการเกษตรทิ้งร้างไว้โดยได้รับการอนุญาตให้ใช้อาคารเพียง๒หลังดำเนินการเป็นสำนักงานของวิสาหกิจชุมชน และเป็นที่เก็บรวบรวมผลผลิตเกษตรกรรมก่อนนำส่งขายให้กับเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีมาอย่างต่อเนื่องทุกวันผลการดำเนินงาน 16 ปีที่ผ่านมา กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสามารถรวบรวมและจำหน่ายผลผลิตอาหารสัตว์จำหน่ายให้เชียงใหม่ไนท์ซาฟารีได้รับอาหารสัตว์ที่มีคุณภาพเฉลี่ยวันละ 40 รายการ ประมาณ 6,500 กิโลกรัมต่อวันทุกวัน มีรายได้จำหน่ายอาหารสัตว์ให้โครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี เป็นเงิน 203,132,916.93 บาท กระจายรายได้ซื้อผลผลิตทางการเกษตรสร้างรายได้ให้เกษตรกร ผู้ผลิตอาหารสัตว์ 185,154.059.71บาท ปันผลให้สมาชิกและสวัสดิการ ช่วยเหลือกิจการสาธารณะประโยชน์ 7,708.981 บาท ทั้งนี้การใช้ประโยชน์ดังกล่าวก็ยังมิใช่การใช้พื้นที่อย่างเต็มประโยชน์สูงสุดเต็มพื้นที่
ต่อมาเกิดข้อพิพาทระหว่างชาวบ้านกับกรมส่งเสริมการเกษตร คณะกรรมาธิการการปกครองวุฒิสภาได้เคยมีมติที่ประชุม 21 มีนาคม 2549 เห็นชอบ ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 76, 79, 182, 189 มีความเห็นว่ากรมส่งเสริมการเกษตรควรที่จะยกที่ดินดังกล่าวให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯเพื่อใช้ประโยชน์จัดทำโครงการอาหารสัตว์จัดส่งให้สวนสัตว์ไนท์ซาฟารีอันเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่จะแก้ไขปัญหาความยากจนให้แก่ประชาชนในพื้นที่ แต่กรมส่งเสริมการเกษตรก็ไม่ดำเนินการยกให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์
ซึ่งชาวบ้านเห็นควรว่าพื้นที่สาธารณะแห่งนี้ควรได้รับการใช้ประโยชน์จากประชาชนในท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ และไม่ควรที่หน่วยราชการจะปล่อยให้ประชาชนเสียโอกาสที่จะได้ใช้ศักยภาพร่วมกันดูแลจัดการที่สาธารณประโยชน์เพื่อสร้างความกินดีอยู่ดีเพื่อชุมชนท้องถิ่น จึงนำมาสู่การยื่นฟัองคดีต่อศาลปกครอง เมื่อปี 2551 ซึ่งมีผลความคืบหน้า ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมามีดังนี้
1.เดือนตุลาคม 2554 ศาลปกครองเชียงใหม่ได้พิพากษาว่ากรมส่งเสริมการเกษตรเข้ามาใช้พื้นที่โดยมิชอบเพราะที่ดินยังคงเป็นที่สาธารณะสาธารณะประโยชน์ใช้ร่วมกัน ตามหนังสือสำคัญที่หลวง (ที่เลี้ยงสัตว์บ้านสันพระนอน) ที่ทางราชการออกเมื่อปี 2515 พิพากษา ให้ กรมส่งเสรมการเกษตร (ผู้ถูกฟ้องที่๒) ดำเนินการขอเปลื่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินพิพาทให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายที่ดินเเละระเบียบที่เกี่ยวข้องให้เสร็จภายในสามร้อยหกสิบห้าวัน เเละหากไม่ได้รับอนุญาตให้ถอนสภาพ ให้นายอำเภอเมืองเชียงใหม่ (ผู้ถูกฟ้องที่1) ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในการดูเเลรักษาที่ดินสาธารณประโยชน์ตามกฎหมายเเละระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไปภายในสายร้อยหกสิบห้าวันนับเเต่วันที่ได้รับเเจ้งการไม่อนุมัติ
2.หลังจากครบ 365 วันแล้วกรมส่งเสริมการเกษตรไม่ได้ดำเนินการให้แล้วเสร็จตามคำพิพากษา ชาวบ้าน/ผู้ฟ้องคดีได้ดำเนินยื่นคำร้องขอให้ศาลบังคับให้นายอำเภอปฎิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามคำพิพากษา รวมทั้งชาวบ้านโดย พ่อกำนันดี จันทคลักษณ์ (ในขณะที่ดำรงตำแหน่งกำนันตำบลแม่เหียะ) ได้ทูลเกล้าถวายฎีกาขอพระราชทานความเป็นธรรม ต่อมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559 สำนักบังคับคดีได้แจ้งคำสั่งศาลให้นายอำเภอเมืองเชียงใหม่ปฎิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามคำพิพากษา ต่อมาเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2559 นายอำเภอเมืองเชียงใหม่โดยนายศรัญยู มีทองคำ ได้มีหนังสือแจ้งให้กรมส่งเสริมการเกษตรย้ายออกจากที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกันภายใน120วัน แต่กรมส่งเสริมการเกษตรไม่ได้ปฎิบัติตามและพยายามใช้ช่องทางต่างๆเพื่อให้สามารถใช้ที่ดินสาธารณะประโยชน์ทุ่งเลี้ยงสัตว์บ้านสันพระนอนของประชาชนต่อไป
3.ต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้กรมส่งเสริมการเกษตรถอนสภาพและขอใช้ประโยชน์ตามกฎหมายตามมติที่ประชุมของคณะกรรมการพิจารณาเรื่องราวขออนุญาตตามมาตรา9และคณะกรรมการกำกับการใช้ที่ดินของรัฐจังหวัดเชียงใหม่เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2562 มีมติ”ไม่เห็นชอบให้กรมส่งเสริมการเกษตรใช้และถอนสภาพที่ดินสาธารณประโยชน์แปลงที่พิพาท ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรไม่เห็นด้วยในคำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้อุทธรณ์ไปถึงรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้พิจารณาแล้วเห็นว่าที่ดินดังกล่าวอยู่ในบริเวณที่กำหนดความเหมาะสม (Zoning)ให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันตลอดไป ประกอบกับสภาเทศบาลเมืองแม่เหียะและประชาชนที่เคยใช้ประโยชน์ไม่เห็นชอบให้กรมส่งเสริมการเกษตรใช้และถอนสภาพที่ดิน ดังนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจึงไม่เห็นด้วยกับคำอุทธรณ์และได้ยกอุทธรณ์ของกรมส่งเสริมการเกษตร เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2564
ต่อมากรมส่งเสริมการเกษตรได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง/ฟ้องคำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมิชอบ โดยศาลไม่ได้ให้คุ้มครองชั่วคราวตามที่กรมส่งเสริมการเกษตรขอให้ศาลคุ้มครอง
4.หลังจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยไม่เห็นด้วยกับคำอุทธรณ์และได้ยกอุทธรณ์ของกรมส่งเสริมการเกษตร นายอำเภอเมืองเชียงใหม่และนายกเทศมนตรีเมืองแม่เหียะได้ปฎิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามพิพากษาศาลปกครองแจ้งให้กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการย้ายและรื้อถอนอาคารสิ่งก่อสร้างออกจากที่สาธารณประโยชน์ตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแปลง “ที่เลี้ยงสัตว์บ้านสันพระนอนสาธารณประโยชน์” ภายใน 120 วัน ต่อมาเมื่อพ้นกำหนดแล้วกรมส่งเสริมการเกษตรยังไม่ได้มีการย้ายออกจากที่สาธารณประโยชน์ นายกเทศมนตรีเมืองแม่เหียะได้มีคำสั่งเทศบาลเมืองแม่เหียะ ที่1862/2565 ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2565 แจ้งให้กรมส่งเสริมการเกษตรปฎิบัติตามคำพิพากษาศาลปกครอง ภายใน 30 วัน หลังจากนั้นทางนายกแทศมนตรีเมืองแม่เหียะได้ดำเนินการร้องทุกกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนข้อหากรมส่งเสริมการเกษตรไม่ปฎิบัติตามคำสั่งของเทศบาลเมืองแม่เหียะ จนถึงบัดนี้กรมส่งเสริมการเกษตร ยังไม่ได้มีการย้ายออกจากที่สาธารณประโยชน์ให้เป็นไปตามคำพิพากษา
5.ล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา นายดี จันทคลักษณ์ ชาวบ้านผู้ฟ้องคดี ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองอีกครั้งเพื่อขอให้ศาลตั้งพนักงานบังคับดีให้กรมส่งเสริมการเกษตรย้ายออกพื้นที่ จากการติดตามความก้าวหน้าล่าสุดรับทราบว่าศาลได้มีไตร่สวนนายอำเภอเมืองเชียงใหม่แล้วเห็นว่ามาตราการที่นายอำเภอเมืองเชียงใหม่และเทศบาลเมืองแม่เหียะดำเนินการนั้นน่าจะไม่สมบูรณ์ครบถ้วนที่จะส่งผลให้กรมส่งเสริมการเกษตรออกจากพื้นที่จึงมีคำสั่งแจ้งให้นายอำเภอเมืองเชียงใหม่ดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษกรมส่งเสริมการเกษตรข้อหาในฐานความผิดที่มีโทษทางอาญาที่หนักกว่าการขัดคำสั่งเจ้าพนักงานฯในความผิดบุกรุกที่ดินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยเทียบกับวิญญูชน
6.ด้วยเจตนารมณ์ที่ต้องการจะพัฒนาสร้างความอยู่ดีกินดีให้กับชุมชนชาวบ้านได้พยายามทุกวิถีทางเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมเพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์เพื่อสาธารณะโดยยึดมั่นด้วยหลักนิติธรรมและสันติวิธี ชาวบ้านยังได้พยายามรวมตัวกันเรียกร้องขอความเป็นธรรมต่อภาครัฐเพื่อขอให้ภาครัฐสนับสนุนประชาชนในพื้นที่ได้ใช้ประโยชน์สาธารณะจากที่ดินผืนนี้อย่างเต็มที่ จนสามารถก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนขึ้นได้สำเร็จโดยที่การดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชนดังกล่าวไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากหน่วยงานราชการแต่อย่างใด แต่หาทุนโดยการระดมหุ้นสมาชิกแทน ปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนดังกล่าวดำเนินการรวบรวมและจำหน่ายผลผลิตอาหารสัตว์ให้โครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีและได้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่เพียงแต่ชุมชนแม่เหียะเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงเศรษฐกิจในภาพรวมของจังหวัดเชียงใหม่ด้วย รวมทั้งผู้นำชุมชน ราษฎรและเทศบาลเมืองแม่เหียะได้มีการจัดประชาคมจัดทำแผนการใช้ประโยชน์ในสาธารณประโยชน์ในดินแปลงดังกล่าวให้เป็น “ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพและเศรษฐกิจชุมชนเมืองแม่เหียะ”รวมทั้งได้เคยทูลเกล้าถวายฎีฏาเพื่อขอพระราชทานความเป็นธรรมและได้ยื่นเรื่องให้เทศบาลเมืองแม่เหียะดำเนินการเพื่อขอเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่สาธารณะสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันแปลงนี้จากการใช้ประโยชน์สาธารณะเป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์บ้านสันพระนอนเดิมเป็น“ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพและเศรษฐกิจชุมชนเมืองแม่เหียะ”ซึ่งเทศบาลเมืองแม่เหียะได้ยื่นเรื่องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่พิจารณาตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2564 ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้พิจารณาแล้วส่งคืนให้เทศบาลเมืองแม่เหียะปรับปรุงแก้ไขรายละเอียดแผนงานโครงการฯให้เป็นไปตามแนวทางแห่งกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที 16 เมษายน 2564 โดยให้รอผลการพิจารณาคำอุทธรณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยผู้มีอำนาจในการพิจารณาคำอุทธรณ์ของกรมส่งเสริมการเกษตรที่อุทธรณ์คำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ที่มีคำสั่งไม่อนุญาตให้กรมส่งเสริมการเกษตรขอใช้ประโยชน์ที่ดินของรัฐตามมาตรา ๙ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินและรอผลการดำเนินการของอำเภอเมืองเชียงใหม่ให้เป็นตามคำพิพากษาศาลปกครองปกครองเชียงใหม่
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการไม่ย้ายออกจากที่ดินสาธารณะสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันที่พิพาทของกรมส่งเสริมการเกษตรไม่เพียงแต่จะทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนเท่านั้น แต่ยังทำให้ชุมชนเสียโอกาสในการสร้างงานสร้างรายได้สร้างสุขภาวะในพื้นที่ไปอีกซึ่งในประการหลังนั้นไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบถึงชาวบ้านพียงลำพังแต่ยังส่งผลกระทบถึงการเสียโอกาสในการสร้างรายได้และการพัฒนาของจังหวัดเชียงใหม่ในภาพรวมด้วย
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...