มอง 4 โครงการพัฒนา ‘ลุ่มน้ำสะแกกรัง’ ยั่งยืนหรือการเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจย้อนกลับ?

เรื่อง: สุทธิกานต์ วงศ์ไชย

summary

  • ลุ่มน้ำสะแกกรัง เป็นศูนย์กลางของการคมนาคม ประมง และเกษตรกรรมในพื้นที่ แต่ยังคงประสบปัญหาการบริหารจัดการน้ำทุกปี เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานรัฐ และประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่
  • โครงการศึกษาประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์พื้นที่ลุ่มน้ำสะแกกรัง จัดทำขึ้นเพื่อพัฒนาลุ่มน้ำอย่างยั่งยืน แต่หลายโครงการในแผนพัฒนาอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศ สร้างความกังวลใจให้ประชาชนในพื้นที่ 
  • โครงการมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น แต่กระบวนการยังไม่ครอบคลุมทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ข้อมูลที่ให้มีจำกัด เวลาการแสดงความคิดเห็นน้อย และรูปแบบการประชาคมไม่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
  • กลุ่มคนรักษ์แม่น้ำสะแกกรัง รวบรวมความคิดเห็นของชาวบ้านเกี่ยวกับโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำสะแกกรัง โดยมีข้อกังวลหลัก คือ โครงการเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของแม่น้ำ วิถีชีวิตของคนในชุมชน
  • 21 มีนาคม 2568 กลุ่มคนรักษ์แม่น้ำสะแกกรัง ยื่นหนังสือคัดค้านโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำกั้นแม่น้ำสะแกกรัง พร้อมเสนอแนวทางในการบริหารจัดการน้ำที่ยั่งยืน โดยเน้นการแก้ไขปัญหาน้ำเสีย การฟื้นฟูแม่น้ำสะแกกรัง การขาดแคลนน้ำ และน้ำท่วม รวมถึงการเร่งดำเนินการโครงการบำบัดน้ำเสียให้เสร็จสมบูรณ์ 

‘ลุ่มน้ำสะแกกรัง’ ตั้งอยู่ตอนกลางของประเทศไทย ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 4,911.48 ตารางกิโลเมตร ใน 3 จังหวัด ได้แก่ อุทัยธานี นครสวรรค์ และกำแพงเพชร มีต้นกำเนิดมาจากห้วยแม่วงก์ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ซึ่งลำน้ำสายนี้จะไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์และอุทัยธานี เลียบผ่านภูเขาสะแกกรัง ก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา

แม่น้ำสะแกกรัง เป็นศูนย์กลางทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของไทยมาอย่างยาวนาน เป็นที่ตั้งของ ชุมชนสะแกกรัง หมู่บ้านริมน้ำขนาดเล็กที่สะท้อนวิถีชีวิตแบบเรือนแพ มีตลาดริมน้ำบ้านสะแกกรังเป็นแหล่งค้าขายสำคัญของคนในชุมชน นอกจากนี้ การมีพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย อย่าง หลวงพ่อมงคลศักดิ์สิทธิ์ บ่งบอกถึงการเคลื่อนย้ายศิลปกรรมจากภาคเหนือมายังกรุงเทพฯ ผ่านเส้นทางน้ำที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้แม่น้ำสายนี้เป็นเหมือนเส้นเลือดหลักของชุมชนลุ่มน้ำสะแกกรัง ที่มีบทบาทสำคัญทั้งด้านคมนาคม การค้าขาย และการดำรงชีวิตของชาวบ้าน ซึ่งพึ่งพาแหล่งน้ำในการประมง โดยนิยมเลี้ยงปลาแรด ปลายสวาย และปลาเทโพในกระชัง รวมถึงใช้พื้นที่ริมฝั่งปลูกพืช เช่น ผักบุ้ง ใบเตย และผักกาด ถือเป็นแม่น้ำที่เกื้อหนุนเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง

แม้พื้นที่ลุ่มน้ำนี้จะมีความสำคัญต่อระบบนิเวศ และการดำรงชีวิตของคนในพื้นที่ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่มีการพัฒนาเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากความเห็นต่างในการพัฒนาแหล่งเก็บน้ำระหว่างหน่วยงานราชการ ประชาชน และกลุ่มองค์กรอนุรักษ์ ทำให้ลุ่มน้ำสะแกกรังยังคงประสบปัญหาการบริหารจัดการน้ำมาอย่างต่อเนื่อง เป็นประจำทุกปี

โครงการพัฒนาลุ่มน้ำสะแกกรัง

รายงานการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ภายใต้โครงการศึกษาประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์พื้นที่ลุ่มน้ำสะแกกรัง ระบุแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำสะแกกรัง โดยมีเป้าหมายเพื่อจัดหาแหล่งน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคให้ครอบคลุมทุกครัวเรือน แก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการผลิต บรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำ และส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐ แผนยุทธศาสตร์นี้ ประกอบด้วยแนวทางบริหารจัดการ 8 ด้าน และ 20 แผนงานพัฒนา ซึ่งถูกจัดทำขึ้นเพื่อให้การพัฒนาลุ่มน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยในแผนพัฒนาเหล่านี้ มีหลายโครงการที่สร้างความกังวลใจให้กับประชาชนในพื้นที่ ประกอบด้วย

1) โครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม การพัฒนาแม่น้ำสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี เป็นหนึ่งแผนงานพัฒนาฯ ที่ดำเนินงานโดย กรมชลประทาน ซึ่งมีแผนก่อสร้างประตูระบายน้ำที่ ต.ท่าซุง อ.เมือง จ.อุทัยธานี  เพื่อเก็บกักและรักษาระดับน้ำของแม่น้ำสะแกกรังในฤดูแล้ง ตามเป้าหมายการสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต ขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินโครงการ 

2) โครงการขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำแม่น้ำสะแกกรัง งบประมาณปี 2567 ดำเนินการโดย สำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 2 (นครสวรรค์) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ ต.ท่าซุง ต.สะแกกรัง ต.น้ำซึม และต.อุทัยใหม่ อ.เมือง จ.อุทัยธานี โดยโครงการนี้แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ช่วง ประกอบด้วย ช่วงต้นแม่น้ำ ช่วงกลางแม่น้ำ และช่วงปากแม่น้ำ ครอบคลุมระยะทางรวม 11 กิโลเมตร จากความยาวทั้งหมดของแม่น้ำสะแกกรัง 22 กิโลเมตร ปัจจุบันกำลังดำเนินการโครงการช่วงที่ 1 ถึง 3 ไปพร้อมกัน

3) โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำเจ้าพระยา ดำเนินการโดย กรมโยธาธิการและผังเมือง มีพื้นที่โครงการตั้งอยู่ที่ บ้านวัดราษฎร์ศรัทธาทำ หมู่ที่ 6 ต.ท่าซุง อ.เมือง จ.อุทัยธานี ปัจจุบันมีการก่อสร้างไปแล้วบางส่วน

ภาพโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดย กรมโยธาธิการและผังเมือง บ้านวัดราษฎร์ศรัทธาทำ หมู่ที่ 6 ต.ท่าซุง อ.เมือง จ.อุทัยธานี

4) โครงการก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียจังหวัดอุทัยธานี ดำเนินการโดย เทศบาลเมืองอุทัยธานี ด้วยงบประมาณ 488.5 ล้านบาท เริ่มต้นเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2550 และกำหนดแล้วเสร็จในปี 2554 แต่ประสบปัญหาการบริหารสัญญา ต้องแก้ไขถึง 5 ครั้ง และสุดท้ายไม่สามารถก่อสร้างให้เสร็จได้ ส่งผลให้โครงการถูกทิ้งร้างและเทศบาลต้องยกเลิกสัญญากับผู้รับเหมา ซึ่งต่อมาถูกศาลสั่งล้มละลายในปี 2561 ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ตรวจสอบและมีมติยกคำร้องในปี 2563 เนื่องจากไม่เข้าข่ายความผิดทางกฎหมาย เทศบาลเมืองอุทัยธานียังคงพยายามเดินหน้าโครงการใหม่ในปี 2557 ด้วยงบประมาณ 247 ล้านบาท แต่ถูกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) คัดค้าน ส่งผลให้ต้องยกเลิกการประมูลในปี 2558

กระบวนการรับฟังที่ไม่ครอบคลุม

เมื่อลองมาดูกระบวนการทำงานของโครงการทั้งหมดที่กล่าวมา ก็พบว่ามีโครงการที่จัดทำกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอยู่เพียง 2 โครงการเท่านั้น คือ โครงการขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำในแม่น้ำสะแกกรัง และโครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) การพัฒนาแม่น้ำสะแกกรัง ซึ่งกระบวนการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว กลับไม่ได้รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนหรือผู้ที่อาจได้รับผลกระทบจากโครงการครอบคลุมได้อย่างทั่วถึง 

นอกจากนี้ยังพบว่า กระบวนการรับฟังความคิดเห็นมีข้อจำกัดในการให้ข้อมูลและการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการ เนื่องจากในกระบวนการแต่ละครั้ง ประชาชนมีระยะเวลาในการแสดงความคิดเห็นน้อยเกินไป ทำให้หลายคนไม่มีโอกาสแสดงความเห็นอย่างเต็มที่ อีกทั้งรูปแบบการประชาคมก็ไม่ได้ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง เน้นเพียงการดำเนินตามขั้นตอนทางกฎหมาย โดยไม่ได้คำนึงถึงข้อเท็จจริงของพื้นที่และผลกระทบในระยะยาว ข้อกังวลเหล่านี้ ทำให้ประชาชนมองว่ากระบวนการดำเนินโครงการต่างๆ ในพื้นที่ขาดความโปร่งใส และไม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในการตัดสินใจ

ข้อกังวลใจที่ไม่ถูกรับฟัง

กลุ่มคนรักษ์แม่น้ำสะแกกรัง ได้รวบรวมความคิดเห็นของชาวบ้านในพื้นที่โครงการดังกล่าว เพื่อชี้ให้เห็นถึงข้อกังวลใจต่อโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำสะแกกรัง โดยสรุปได้ ดังนี้

1) โครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม การพัฒนาแม่น้ำสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี อาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของแม่น้ำ ทำให้วงจรชีวิตของสัตว์น้ำท้องถิ่นรวมถึงการวางไข่ของปลาได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ยังอาจกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวประมงและผู้เลี้ยงปลากระชัง สร้างความกังวลใจให้กับประชาชนในพื้นที่ คนในชุมชนจึงต้องการให้ยุติโครงการดังกล่าว เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น

การดำเนินการของกลุ่มคนรักษ์แม่น้ำสะแกรังและชาวบ้านลุ่มแม่น้ำสะแกกรัง ต่อโครงการ

12 มีนาคม 2567 บริษัทที่ปรึกษาฯ ได้แก่ (1) บริษัท ธารา คอนซัลแตนท์ จำกัด (2) บริษัท ทรานส์ เอเชีย คอนซัลแตนท์ จำกัด (3) บริษัท อินฟราทรานส์ คอนซัลแตนท์ จำกัด  ได้มีการจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็น จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อโครงการฯ (เพิ่มเติม)  ณ วัดท่าซุง (วัดจันทาราม) ศาลา 12 ไร่ โดยมีกรมชลประทาน รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี  คณะกรรมการลุ่มน้ำสะแกกรัง เข้าร่วมในเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ด้วย 

15 มีนาคม 2567 กลุ่มคนรักษ์แม่น้ำสะแกกรัง และชาวบ้านผู้มีส่วนได้เสียกับโครงการฯ ยื่นหนังสือข้อกังวลต่อโครงการถึงกรมชลประทาน และยื่นหนังสือข้อห่วงกังวลต่อโครงการฯ ถึงเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แต่ก็ไม่ได้รับการชี้แจงหรือการตอบกลับ

11-12 กรกฎาคม 2567 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ลงพื้นที่ตรวจสอบและจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเกี่ยวกับผลกระทบของโครงการต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม และอาชีพ รวมถึงกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน จากนั้นได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและตรวจสอบประตูระบายน้ำ ก่อนจัดทำรายงานผลการตรวจสอบและข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลการรายงานอย่างเป็นทางการจาก กสม.
ปัญหาผักตบชวากีดขวางเส้นทางเดินเรือของชาวบ้าน บริเวณลำน้ำสะแกกรัง 

2) โครงการขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำแม่น้ำสะแกกรัง งบประมาณปี 2567 การขุดลอกดินขึ้นมากองไว้ริมตลิ่ง ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและอาชีพประมงกระชังของชาวบ้าน ทำให้การเลี้ยงปลายากลำบาก และกระทบต่อแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ ส่งผลให้จำนวนประชากรปลาลดลง นอกจากนี้ โครงการยังส่งผลต่อวิถีชีวิต เศรษฐกิจ วัฒนธรรม แหล่งท่องเที่ยว และความเชื่อมโยงของระบบนิเวศระหว่างแม่น้ำสะแกกรังและแม่น้ำเจ้าพระยา

การดำเนินการของกลุ่มคนรักษ์แม่น้ำสะแกรังและชาวบ้านลุ่มแม่น้ำสะแกกรัง ต่อโครงการ

5 กันยายน 2567 กลุ่มคนรักษ์แม่น้ำสะแกกรังยื่นหนังสือต่อศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดอุทัยธานี ขอให้พิจารณายุติโครงการขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำแม่น้ำสะแกกรังภายใต้งบประมาณปี 2567 เพื่อให้มีการตรวจสอบก่อนดำเนินการ 

4 พฤศจิกายน 2567 กลุ่มคนรักษ์แม่น้ำสะแกกรังยื่นหนังสือต่ออธิบดีกรมเจ้าท่า ขอให้ระงับโครงการขุดลอกแม่น้ำชั่วคราวและตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับกระบวนการประชาสัมพันธ์และเปิดรับฟังความคิดเห็น นอกจากนี้ ยังยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี ขอให้จัดเวทีวิชาการเรื่องการพัฒนาและบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ รวมถึงร้องเรียนต่อศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดเพื่อขอให้ยุติโครงการขุดลอกในพื้นที่หมู่ 5 ตำบลท่าซุง อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี

3) โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ชาวบ้านมองว่าไม่มีความจำเป็น เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่น้ำไหลทรายมูล มีลักษณะลาดเทลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา จึงไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำกัดเซาะริมตลิ่ง และยังมีความกังวลใจว่า การก่อสร้างเขื่อนในบริเวณนี้ อาจส่งผลกระทบต่อชาวบ้านในหลายด้าน ได้แก่

– พื้นที่เพาะปลูกเกิดน้ำท่วมขัง เพราะการฝังฝาท่อระบายน้ำที่สูงกว่าพื้นดินที่ใช้สัญจร ทำให้พื้นที่ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างสันเขื่อนซึ่งติดตั้งฝาท่อที่สูงกลายสภาพเป็นแอ่งน้ำ ไม่สามารถเพาะปลูกแบบเดิมได้

– ชาวบ้านที่ใช้เรือในการสัญจรไม่สะดวก โดยเฉพาะฤดูน้ำท่วม เพราะเรือติดเหล็กกั้นจากสันเขื่อน

– การถมดินและหินบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อสร้างคันดิน ทำให้น้ำตื้นเขิน ลำน้ำแคบลง ระบายน้ำไม่สะดวก

– แบบแปลนโครงการฯ ไม่ได้ปรากฏว่ามีการเปิดปิดทางเข้าออก ทำให้เมื่อเกิดน้ำท่วมจะสร้างความไม่สะดวกในการเข้าพื้นที่เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัย

การดำเนินการของกลุ่มคนรักษ์แม่น้ำสะแกรังและชาวบ้านลุ่มแม่น้ำสะแกกรัง ต่อโครงการ

24 กันยายน 2567 ชาวบ้านหมู่บ้านวัดราษฎร์ศรัทธาทำ หมู่ที่ 6 ต.ท่าซุง อ.เมือง จ.อุทัยธานี ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดอุทัยธานี เพื่อขอให้เร่งตรวจสอบโครงการดังกล่าว

11 พฤศจิกายน 2567 ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดอุทัยธานี มีหนังสือแจ้งให้องค์การบริหารส่วนตำบลท่าซุง ลงพื้นที่จัดประชาคมรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้าน
ภาพเขื่อนป้องกันตลิ่ง ริมแม่น้ำสะแกกรัง

4) โครงการก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียจังหวัดอุทัยธานี ที่ไม่สามารถก่อสร้างให้เสร็จตามแผนได้ ส่งผลให้โครงการยังคงถูกทิ้งร้างมาจนถึงปัจจุบัน สร้างความกังวลใจให้กับชาวบ้านในพื้นที่ เพราะหากโครงการไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ ก็อาจส่งทำให้ระบบนิเวศของแม่น้ำสะแกกรังแย่ไปกว่าเดิม 

ข้อเสนอจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

กลุ่มคนรักษ์แม่น้ำสะแกกรังยื่นหนังสือคัดค้าน และขอให้ยุติโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำกั้นแม่น้ำสะแกกรัง จ.อุทัยธานี

21 มีนาคม 2568 กลุ่มคนรักษ์แม่น้ำสะแกกรัง ได้เข้าร่วมประชุมกับ คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่ฃแวดลัอม (คชก.) พร้อมทั้งยื่นหนังสือคัดค้าน และขอให้ยุติโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำกั้นแม่น้ำสะแกกรัง ให้กับผู้แทน คชก. โดย สิทธิชัย ปิติสินชูชัย ผู้อำนวยการกองประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เป็นผู้รับหนังสือคัดค้านและขอให้ยุติโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำกั้นแม่น้ำสะแกกรัง และได้ยื่นข้อเสนอในการบริหารจัดการน้ำแล้ง น้ำท่วม น้ำเสีย ให้กับคณะคชก.ในการประชุมพิจารณารายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการดังกล่าว โดยมีข้อเสนอดังนี้

1) ปัญหาน้ำเสีย: ควรเร่งบังคับใช้พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 หมวด 6 ที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรน้ำสาธารณะ โดยให้หน่วยงานหลัก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำ ลำคลอง แหล่งน้ำธรรมชาติ และพื้นที่ชุ่มน้ำ มีส่วนร่วมในการจัดการ นอกจากนี้ ควรดำเนินการตามมติ ครม. ปี 2552 ว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ

ในส่วนของเทศบาลเมืองอุทัยธานี ควรเร่งรัดการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียของเมืองให้แล้วเสร็จ เนื่องจากโครงการนี้ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2550 แต่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ควรศึกษาระบบบำบัดน้ำเสียที่เหมาะสมกับพื้นที่ เช่น ระบบบึงประดิษฐ์ (Constructed Wetland) ซึ่งอาศัยกระบวนการทางธรรมชาติและเหมาะกับสภาพพื้นที่ที่มีบึงอยู่แล้ว ระบบนี้กำลังได้รับความนิยมเพราะสามารถปรับปรุงคุณภาพน้ำก่อนปล่อยสู่แหล่งน้ำธรรมชาติได้ดี นอกจากนี้ ยังสามารถใช้เป็นระบบบำบัดน้ำเสียในขั้นที่สองสำหรับชุมชนได้อีกด้วย เนื่องจากมีโครงสร้างไม่ซับซ้อนและไม่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และควรมีแผนส่งเสริมให้เกษตรกรที่ทำนาติดแหล่งน้ำลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร เพื่อป้องกันการปนเปื้อนลงสู่แม่น้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติ

ตะพาบ ที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนริมตลิ่ง

2) การฟื้นฟูแม่น้ำสะแกกรัง: ควรให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูแม่น้ำสะแกกรังให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพของท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาตามธรรมชาติที่มีคลอง หนองน้ำ และบึงหลายแห่ง เช่น คลองยาง บึงขุมทรัพย์ บึงพระชนก บึงพะเนียด หนองเดิมพัน และหนองใหญ่ ซึ่งเป็นแหล่งหลบภัยของปลาวัยอ่อนและพื้นที่วางไข่ของปลาในฤดูน้ำหลาก

เพื่อปกป้องพื้นที่ดังกล่าว ควรยกระดับให้เป็นพื้นที่คุ้มครองทางสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครอง เพื่อป้องกันและฟื้นฟูคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) นอกจากนี้ ควรควบคุมโครงการพัฒนาต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ เช่น โครงการขุดลอกแม่น้ำ โครงการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง และการบุกรุกหนองน้ำสาธารณะเพื่อออกเอกสารสิทธิ์

3) ปัญหาการขาดแคลนน้ำ: การขยายพื้นที่ชลประทานใหม่ 13,906 ไร่ ควรดำเนินการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำ ทั้งในพื้นที่ชลประทานเดิมและพื้นที่ชลประทานใหม่ ควรพัฒนาระบบกระจายน้ำต่อจากสถานีสูบน้ำไฟฟ้าเดิมที่บึงทับแต้หรือคลองยาง ซึ่งมีการเชื่อมต่อกับแม่น้ำสะแกกรังและแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้สามารถนำน้ำเข้าสู่พื้นที่ได้โดยไม่จำเป็นต้องสร้างสถานีสูบน้ำไฟฟ้าแห่งใหม่ที่บ้านภูมิธรรม

ควรศึกษาการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามแผนการปรับตัวแห่งชาติ (NAP) โดยเน้นแนวทางที่ใช้ระบบนิเวศเป็นพื้นฐาน (EbA) เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในพื้นที่ลุ่มน้ำสะแกกรัง ซึ่งมีความอ่อนไหวต่อสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลง

ควรเร่งจัดทำแผนแม่บทและแผนงบประมาณสำหรับการอนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งน้ำ รวมถึงปรับปรุงประตูระบายน้ำเสด็จประพาสต้น 3 บาน เพื่อให้น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาไหลเข้าได้สะดวก เนื่องจากปัจจุบันมีถนนกีดขวางทางน้ำ และการขุดลอกบึงขุมทรัพย์ส่งผลกระทบต่อถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำและนก ควรเพิ่มช่องทางระบายน้ำให้กว้างขึ้นเพื่อให้แม่น้ำสะแกกรังได้รับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างเพียงพอ

นอกจากนี้ ควรมีการบริหารจัดการน้ำร่วมกับเขื่อนเจ้าพระยา โดยควบคุมระดับน้ำเหนือเขื่อนให้อยู่ที่ +15.80 ถึง +16.00 เมตร (รทก.) รวมถึงพิจารณาการปล่อยน้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ เพื่อรักษาสมดุลของระบบนิเวศในแม่น้ำสะแกกรังและแม่น้ำเจ้าพระยา และช่วยผลักดันน้ำเค็มจากอ่าวไทย

4) ปัญหาน้ำท่วม: โครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำกั้นแม่น้ำสะแกกรังไม่สามารถป้องกันน้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และอาจกลายเป็นสิ่งกีดขวางทางน้ำ เนื่องจากในฤดูน้ำหลาก น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาสามารถไหลข้ามเกาะเทโพเข้าสู่แม่น้ำสะแกรังได้อยู่แล้ว อีกทั้งยังมีน้ำจากแม่วงก์ คลองโพ และห้วยทับเสลา ไหลมารวมกันที่แม่น้ำตากแดดก่อนเข้าท่วมพื้นที่ต่างๆ ตามแนวแม่น้ำสะแกรัง

ดังนั้น การแก้ปัญหาน้ำท่วมควรมุ่งเน้นไปที่การบริหารจัดการระดับน้ำร่วมกับเขื่อนเจ้าพระยาแทนการสร้างประตูระบายน้ำเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถควบคุมปริมาณน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพและป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ลุ่มน้ำสะแกรัง

ทั้งนี้ เครือข่ายคนรักษ์แม่น้ำสะแกกรัง ได้แสดงจุดยืนว่าไม่เห็นด้วย และขอให้ยุติโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำกั้นแม่น้ำสะแกกรัง อีกทั้งยังอยากให้มีการพิจารณาความคิดเห็น และข้อกังวลของประชาชนที่มีต่อโครงการดังกล่าว  เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และเป็นการฟังเสียงประชาชนอย่างแท้จริง

รายการอ้างอิง

  • สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. รายงานการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA). จาก https://sea.nesdc.go.th.pdf
  • Thai PBS. กลุ่มคนรักษ์แม่น้ำสะแกกรังยื่นหนังสือค้านโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำกั้นแม่น้ำสะแกกรัง. จาก https://www.locals.thaipbs.or.th 
  • Wikicommunity. ชุมชนลุ่มน้ำสะแกกรัง. จาก https://wikicommunity.sac.or.th
  • The Citizen. สายน้ำและความหวัง…ชาวแพริมฝั่งสะแกกรัง จ.อุทัยธานี. THECITIZEN.PLUS. จาก https://thecitizen.plus/node/94606

สุทธิกานต์ วงศ์ไชย

นักศึกษาวารสารศาสตร์ ทาสรักคาเฟอีนที่ชอบบันทึกความทรงจำผ่านชัตเตอร์ สนใจประเด็นสังคม สิ่งแวดล้อม และไลฟ์สไตล์ มีเป้าหมายชีวิตคือการเป็นหัวหน้าแก๊งแมวมอมทั่วราชอาณาจักร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

slot deposit pulsa slot mahjong