4 เมษายน 2568 สุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาองค์การฮิวแมนไรท์ วอทช์ ประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุม ดร.พอล แชมเบอร์ส นักวิชาการชาวต่างชาติชื่อดังด้านไทยศึกษา สังกัดมหาวิทยาลัยนเรศวร ตามหมายจับของศาลจังหวัดพิษณุโลก ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือข้อหาหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์
สุณัย ระบุว่า การจับกุมครั้งนี้เกิดจากการแจ้งความของกองทัพภาคที่ 3 ที่มีพื้นที่การทำงานในพื้นที่ภาคเหนือทั้งหมด และภาคกลางในบางส่วน สุณัย ตั้งคำถามถึงความเหมาะสมของการกระทำดังกล่าว ภายใต้รัฐบาลที่อ้างตัวว่าเป็นรัฐบาลพลเรือน และสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
ขณะเดียวกัน เชตวัน เตือประโคน สส.ปทุมธานี พรรคประชาชน ก็ได้ออกมาโพสต์ข้อความแสดงความกังวลต่อกรณีนี้ โดยชี้ว่า ดร.พอล แชมเบอร์ส เป็นหนึ่งในนักวิชาการต่างชาติที่ศึกษาเรื่องกองทัพไทยและการเมืองไทยอย่างเข้มข้น และการที่เขาถูกแจ้งความดำเนินคดีโดยกองทัพภาค 3 เป็นเรื่องที่สร้างข้อกังขาต่อเสรีภาพทางวิชาการในประเทศไทย
“สิทธิมนุษยชนไม่สนใจ เสรีภาพทางวิชาการถูกย่ำยีป่นปี้หมดแล้วครับ” เชตวันระบุ
ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า คดีนี้เริ่มต้นจากการร้องทุกข์กล่าวโทษของกองทัพภาคที่ 3 โดยมีการกล่าวหาว่า ดร.พอล เวสลีย์ แชมเบอร์ส กระทำความผิดในข้อหา “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” รวมถึงความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เช่น การนำข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์โดยประการที่อาจกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ และทำให้แพร่หลายข้อมูลที่ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกในสังคม
หมายจับที่ออกโดยศาลจังหวัดพิษณุโลก คือหมายเลข จ.245/68 ลงวันที่ 31 มีนาคม 2568 โดยในช่วงเช้าของวันที่ 4 เมษายน พ.ต.อ.วัชรพงษ์ สิทธิรุ่งโรจน์ ผกก.สภ.เมืองพิษณุโลก ได้มีหนังสือแจ้งไปยังคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ให้แจ้งบุคลากรในสังกัดรับทราบการดำเนินคดี
อย่างไรก็ตาม รายงานระบุว่า ดร.พอล ยังไม่เคยได้รับหมายเรียกใด ๆ มาก่อน กระทั่งได้รับแจ้งจากทางมหาวิทยาลัยในวันเกิดเหตุ โดยเจ้าตัวพร้อมทนายความได้ประสานงานเพื่อเข้าพบพนักงานสอบสวน สภ.เมืองพิษณุโลก ในวันที่ 8 เมษายน 2568 เวลา 09.00 น.
ดร.พอล แชมเบอร์ส (Paul Chambers) เป็นนักรัฐศาสตร์ ผู้มีชื่อเสียงในแวดวงวิชาการด้านการเมืองและกองทัพไทย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอาจารย์และที่ปรึกษาพิเศษด้านกิจการระหว่างประเทศ ประจำศูนย์ศึกษาอาเซียน คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยนอร์เทิร์น อิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2546 และมีผลงานวิจัยที่มุ่งเน้นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือนกับกองทัพ, การปฏิรูปภาคความมั่นคง และกระบวนการประชาธิปไตยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ดร.แชมเบอร์สได้รับการยอมรับจากผลงานเขียนและบทวิเคราะห์ที่เกี่ยวกับการเมืองไทย โดยเฉพาะบทบาทของกองทัพในระบบการเมือง หนึ่งในผลงานที่สำคัญคือหนังสือ Khaki Capital: The Political Economy of the Military in Southeast Asia ซึ่งวิเคราะห์บทบาททางเศรษฐกิจและการเมืองของกองทัพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...