เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2566 เวลา 08.00-12.00 น. บริเวณขุนน้ำฮู ป่าชุมชนบ้านหัวทุ่ง หมู่ที่ 14 ตำบลเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการจัดงานประเพณีเลี้ยงหอดงเจ้าหลวงคำแดง นางอินเหลา (เก้าเป็ง) เลี้ยงผีขุนน้ำฮู เพื่อร่วมสืบสานจารีตท้องถิ่น อันเป็นการแสดงความเคารพต่อธรรมชาติและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิมล้านนา
โดยตลอดช่วงเวลา 08.00 – 11.00 น. ได้เริ่มพิธีทำบุญตักบาตร การแสดงฟ้อนบวงสรวง บูชาพระศรีรัตนตรัย รับศีล และฟังธรรมเทศนาชาดก เรื่องพญาปลาช่อน ที่บอกเล่าถึงตำนานอิงประวัติศาสตร์เกี่ยวกับต้นน้ำและป่าไม้
และในเวลา 11.00-12.00 น. มีพิธีแห่พระเจ้าฝนแสนห่า สรงน้ำพระเจ้าฝนแสนห่า จุดบอกไฟไปหาพญาแกน พิธีบวชป่าผูกผ้าจีวรต้นไม้
ไพโรจน์ โพธิพงศ์สกุล คนรุ่นใหม่ในชุมชนที่ร่วมสืบสานประเพณีนี้ขึ้นมา เล่าว่า “ประเพณีเลี้ยงหอดงเจ้าหลวงคำแดง นางอินเหลา (เก้าเป็ง) เลี้ยงผีขุนน้ำฮู จุดหมายสำคัญคือการขอน้ำและฝนธรรมชาติกับป่า โดยพิธีกรรมนี้จะแยกเป็นสองส่วน ในส่วนแรกนั้นคือพิธีสงฆ์ซึ่งสิ่งที่ทำให้เกิดเป็นพิธีสงฆ์นี้ได้คือจิตวิญญาณแห่งป่า ซึ่งพื้นที่แห่งนี้คือเจ้าหลวงคำแดงและนางอินเหลา และส่วนที่สองพิธีเลี้ยงผี นั่นก็คือการเลี้ยงผีขุนน้ำฮู”
“การเลี้ยงเป็นการเฉลิมฉลองร่วมกันระหว่างมนุษย์และผี เป็นการขอบคุณผ่านการให้อาหาร ผลไม้ สุรา ฯลฯ และเป็นการขอให้ผีคุ้มครองมนุษย์ รวมไปถึงการขอให้ฝนตกลงมาเพื่อมีน้ำเป็นต้นทุนการผลิตอาหาร ซึ่งจะเป็นวัตถุดิบในการร่วมเฉลิมฉลองในปีถัดไป”
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...