หวั่นกระทบวิถีชีวิต ‘ชาติพันธุ์ลำปาง’ ค้านปลูกป่าทับที่-ยื่นข้อเรียร้อง จนท.ป่าไม้ปัดรับปาก-ยืนยันลงพื้นที่ดูแปลงปลูกต่อ

มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ ได้เผยแพร่รายงานของชุมชนปกาเกอะญอ บ้านขวัญคีรีนอก ที่กำลังประสบปัญหาจากผลกระทบของโครงการปลูกป่าฟื้นฟูหน่วยต้นน้ำ โดยเจ้าหน้าที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่โป่ง เชื่อว่าเป็นการปลูกป่าทับที่ และกระทบกับวิถีชีวิต


ภาพ : มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ

4 มิ.ย. 2566 ชุมชนปกาเกอะญอ บ้านขวัญคีรีนอก หมู่ที่ 11 ต.บ้านร้อง อ.งาว จ.ลำปาง สมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) รายงานว่า ชุมชนได้รับผลกระทบจากโครงการปลูกป่าฟื้นฟูหน่วยต้นน้ำ ดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่โป่ง ระบุว่าก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2566 ได้มีผู้รับเหมาเข้าไปแผ้วถางพื้นที่ในป่าชุมชนของบ้านขวัญคีรีนอกและปลูกป่า โดยไม่แจ้งหรือทำประชาคมชาวบ้าน ก่อนเจ้าหน้าที่ป่าสงวนฯ จะเข้าชี้แจงต่อชาวบ้านเมื่อเช้าวันนี้ ชี้ว่าโครงการดังกล่าวผ่านประชาคมระดับตำบลแล้วก่อนเข้าดำเนินการ

มะลิวัลย์ นุแฮ ชาวปกาเกอะญอบ้านขวัญคีรีนอก เล่าว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ป่าสงวนฯ ได้เข้ามาชี้แจงกับชุมชน สรุปความได้ว่าโครงการปลูกป่าดังกล่าวผ่านการประชาคมของตำบลแล้ว ซึ่งตนเห็นว่าที่ผ่านมาชาวบ้านขวัญคีรีนอกได้ปฏิเสธการเข้าร่วมโครงการปลูกป่ามาโดยตลอด และไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมเวทีประชาคมดังกล่าวแต่อย่างใด โดยการเข้ามาแผ้วถางพื้นที่ปลูกป่าครั้งนี้ทับกับพื้นที่ป่าชุมชน เป็นเขตติดต่อกับพื้นที่ทำกินของชาวบ้านรายหนึ่ง จะสร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตในอนาคต

“เขาเข้าไปไปปักหลักและปลูกต้นกล้าตั้งแต่วันที่ 30 พ.ค. โดยไม่แจ้งอะไรเลย ชาวบ้านเจ้าของพื้นที่ไปเจอพอดี ชาวบ้านเราก็ขอว่าให้ขยับออกจากแนวเขตได้ไหม ซึ่งคนที่มาคือผู้รับเหมา เขาบอกว่าเขาไม่มีอำนาจหน้าที่ ให้ไปคุยกับกรมไม้ วันนี้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ก็มาลงพื้นที่ชี้แจงชาวบ้าน เราก็เสนอว่าให้ขยับโครงการออกไปนอกแนวเขตของชุมชนเลย แต่ดูท่าทีของเจ้าหน้าที่แล้วเขายังไม่ยอม เขาบอกว่าเขาขอกันพื้นที่ตรงนั้นเพื่อเป็นของกรมป่าไม้ ส่วนพื้นที่นอกจากนั้นเป็นของอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท เขาขอกันเพราะจะขอเสนองบประมาณในปีต่อไป” มะลิวัลย์กล่าว


ภาพ : มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ

นอกจากนี้ชาวบ้านชุมชนขวัญคีรีนอกยังย้ำถึงผลกระทบของโครงการนี้ ชี้ว่าพื้นที่ปลูกป่าในโครงการดังกล่าวอยู่ใกล้พื้นที่ทำกินของคนในชุมชนมากเกินไป อาจส่งผลต่อวิถีชีวิตและสิทธิของคนในชุมชนได้

“เราไม่รู้เลยว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ถ้าต้นไม้ตาย เขาจะโทษชาวบ้านหรือเปล่าว่าชาวบ้านไม่ได้ดูแลหรือทำให้ต้นไม้ตาย แล้วถ้าปีต่อๆ ไปถ้าเขาขยายแนวเขตอีก หรือชาวบ้านไม่สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่นั้นได้อีกจะสร้างผลกระทบ ส่วนใหญ่ในพื้นที่ตรงนั้นชาวบ้านจะใช้ประโยชน์จากไม้บ้าง เช่น สร้างบ้าน ทำกระท่อม สร้างคอกหมูในหมู่บ้าน และนำไม้มาทำฝายเก็บน้ำตามวิถีของชาวบ้านอยู่แล้ว การมาปลูกป่าในพื้นที่ตรงนั้นซึ่งเป็นป่าชุมชนจึงเป็นเรื่องไม่สมควร” ชาวบ้านขวัญคีรีย้ำ


ภาพ : มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ

มะลิวัลย์ นุแฮ ชี้ว่านี่เป็นการใช้อำนาจดำเนินการของหน่วยงานราชการ ในช่วงสุญญากาศทางการเมือง

​“เขาใช้โอกาสช่วงนี้ที่สถานการณ์การเมืองไม่นิ่ง เพื่อจะเอาพื้นที่ไปเป็นของเขาก่อนที่จะมีรัฐบาลใหม่ น่าจะรอให้มีการตั้งรัฐบาลให้เรียบร้อยและเห็นทิศทางทางนโยบายก่อน ซึ่งเราคาดว่าถ้าได้รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย ทิศทางนโยบายอาจจะเปลี่ยนก็ได้ เขาก็เลยรีบฉวยโอกาสในเวลานี้เพื่อประโยชน์ของหน่วยงานตัวเอง ให้พื้นที่นั้นเป็นของเขาเลย พอรัฐบาลใหม่มาก็ไม่ทันแล้ว เป็นของเขาเรียบร้อย” มะลิวัลย์กล่าว

ทางด้านสมชาติ รักษ์สองพลู สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) จ.ลำปาง มองว่าเหตุการณ์นี้สะท้อนการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ ในช่วงสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่มีเสถียรภาพ ซึ่งเจ้าตัวเห็นผลกระทบเหล่านี้มาตลอดในช่วงสถานการณ์ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง 

​“ในช่วงการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล เราไม่น่าจะเห็นเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น ควรต้องรอความชัดเจนจากรัฐบาลใหม่ก่อน ที่ต้องทำตอนนี้คือต้องยุติเรื่องการปลูกป่าทับที่ทำกินของชาวบ้านทันที เพราะเป็นการไปคุกคามชาวบ้านในพื้นที่ที่เราเห็นหลายพื้นที่แล้ว เป็นการไปเจาะ รุกรานพื้นที่ที่เคยต่อต้านแนวทางของหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะสมาชิกของสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ซึ่งต้องยุติการดำเนินการเหล่านี้โดยทันทีก่อนจะเกิดความขัดแย้งมากกว่านี้” สมชาติกล่าว



เพื่อตอบโต้งการดำเนินโครงการดังกล่าวที่อาจกระทบกับชีวิตของคนในชุมชน ชาวบ้านขวัญคีรีนอกได้ยื่นหนังสือถึงหัวหน้าหน่วยฟื้นฟูสภาพป่าสสงวนแห่งชาติ ป่าแม่โป่ง ที่ 6 จ.ลำปาง ผ่านเจ้าหน้าที่ป่าสงวนฯ โดยมีข้อเรียกร้องหลักได้แก่

1. ขอให้มีการยุติและรื้อถอน การดำเนินการปักเสาฟื้นฟูป่าและการปลูกป่าทับที่ทำกินของชุมชน บ้านขวัญคิรีนอก ต.บ้านร้อง อ.งาว จ.ลำปาง ออกจากพื้นที่ชุมชน โดยเร่งด่วน

2. ขอให้มีการระงับและชะลอการดำเนินโครงการภายใต้นโยบายคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ตามแนวทางมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 26 พ.ย. 2561 ซึ่งชุมชนยืนยันแนวทางการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติในรูปแบบ “โฉนดชุมชน”

3. ขอให้เร่งรัดดำเนินการศึกษาและออกระเบียบการจัดการที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน สอดรับในมาตรา 10 (4) ตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 1 ก.พ. 2565 ว่าด้วยแนวทางการแก้ไขปัญหาของพีมูฟ โดยต้องคำนึงถึงความสอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชนในหลากหลายพื้นที่ และสามารถแก้ไขปัญหา ข้อจำกัด อุปสรรคจากกฎหมายและนโยบายด้านการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ

4. ขอให้ใช้แนวทาง มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 ส.ค. 2553 เรื่อง แนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ยึดถือเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาหลักให้กับชุมชน

ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ป่าไม้ผู้รับหนังสือไม่ได้รับปากหรือกล่าวเกี่ยวกับข้อเสนอของชาวบ้านแต่อย่างใด และยังยืนยันจะลงพื้นที่ดูแปลงปลูกป่าดังกล่าวต่อไป

พื้นที่สื่อสาร สังคมประชาธิปไตย ชีวิตใหม่ที่ดีกว่า

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง