เมื่อเข้าสู่เดือนมิถุนายนก็เป็นที่รู้กันดีว่าช่วงเวลาของการเฉลิมฉลองตัวตนของผู้มีอัตลักษณ์ LGBTQIA+ หรือผู้มีความหลากหลายทางเพศได้มาถึงอย่างเป็นทางการแล้ว งาน Pride Parade ที่มีรูปแบบหลักคือการเดินขบวนตามท้องถนนเพื่อป่าวประกาศถึงความภาคภูมิใจของชาว LGBTQ+ สีรุ้งเพื่อให้สังคมตระหนักรู้และยอมรับตัวตนของผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยต้นเหตุของขบวนไพรด์นั้นมาจากเหตุจลาจลระหว่างนักกิจกรรมชายรักชายและตำรวจที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ Stonewall riots ที่ยืดเยื้อตลอดเดือนมิถุนายน ในปี 1969
อย่างไรก็ตาม เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปการเคลื่อนไหวต่อสู้ทั้งในระดับนโยบายให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้คนเพศหลากหลาย การประกอบสร้างภาพจำใหม่ ๆ ของ LGBTQ+ ที่เป็นมิตรและสร้างสีสันบนสื่อสาธารณะ รวมทั้งงานส่งเสริมการตระหนักรู้และเพิ่มพื้นที่ปลอดภัยในการทำกิจกรรมของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ได้กลายเป็นงานหลักที่ขบวนการต่อสู้ทางการเมืองอัตลักษณ์ LGBTQ+ ร่วมกันผลักดันให้คุณภาพชีวิตของคนในชุมชนดีขึ้น
เราปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศไทยถือว่ามีความก้าวหน้าในเรื่องสิทธิ LGBTQ+ เป็นระดับต้น ๆ ของอาเซียนเนื่องจากประชากรเพศหลากหลายที่มีจำนวนมากซึ่งส่วนใหญ่ก็ล้วนแต่มีส่วนในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจทั้งในทางตรง เช่น ธุรกิจคาบาเร่, แดร็กโชว์, บาร์เกย์ ฯลฯ และทางอ้อมคือบุคคลเพศหลากหลายที่เป็นแรงงานอยู่ในแทบทุกสาขาอาชีพซึ่งเป็นผู้เสียภาษีตามกฎหมาย
เมื่อถึงช่วงเวลาเฉลิมฉลองไพรด์พาเหรด องค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับการส่งเสริม ปกป้อง ป้องกันสิทธิ LGBTQ+ ก็ได้เริ่มต้นประชาสัมพันธ์ถึงกิจกรรมหลากหลายอย่างในงานไพร์ดที่ได้ตระเตรียมมาตั้งแต่ช่วงต้นปี ซึ่งมีแนวโน้มที่งานไพร์ดจะยิ่งใหญ่มากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากความสำเร็จของงานไพร์ดพาเหรดจากปีก่อน ๆ ซึ่งจัดทั่วประเทศทำให้มีนักท่องเที่ยว LGBTQ+ ทั้งในและนอกประเทศวางแผนเดินทางมาประเทศไทยในช่วงเดือนมิถุนายนเพื่อมาร่วมงานไพร์ดพาเหรดโดยเฉพาะ
ข้อถกเถียงประเด็น Rainbow Washing ในงานไพร์ดพาเหรด
งานไพร์ดพาเหรดในปีนี้เติบโตยิ่งใหญ่มากขึ้นจากการที่ผู้จัดงานได้จัดตั้งองค์กรและทีมงานหลักเพื่อจัดการกิจกรรมไพรด์ครั้งนี้อย่างเป็นทางการ โดยมีการออกแบบกิจกรรมให้ครอบคลุมถึงทุก ๆ ประเด็นเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ เช่น เวทีเสวนา การแข่งขันเฟ้นหาทูตสัมพันธ์ (brand ambassdor) การแสดงแสงสีเสียง บู้ธขายของ ฯลฯ ซึ่งกินระยะเวลาเกือบสัปดาห์ อย่างไรก็ตาม เมื่อทีมผู้จัดงาน Bangkok Pride ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลการรับบริจาคเพื่อระดมทุนจากผู้สนับสนุนซึ่งเป็นบริษัทนายทุน หรือห้างร้านใหญ่ ๆ ที่อยากเข้ามามีส่วนร่วมผ่านการสนับสนุนเป็นตัวเงิน 800,000-1,500,000 โดยแลกกับการตั้งบู้ธขนาดใหญ่และสิทธิพิเศษรวมทั้วของที่ระลึกมากมายในงานไพร์ดพาเหรด ทำให้ทีมผู้จัดถูกสังคมออนไลน์วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก
ความคิดเห็นของ LGBTQ+ ฝ่าย Liberal VS ฝ่ายเอียงซ้าย
ประเด็นการใช้อำนาจของผู้มีอำนาจ
– กลุ่มสนับสนุนได้ชูประเด็นของการต้องรวมเอาผู้คนนอกขบวนการ LGBTQ+ โดยเฉพาะผู้มีอำนาจทางสังคมและเศรษฐกิจ เช่น ตัวแทนจากฝ่ายบริหารและบริษัทห้างร้านใหญ่ ๆ ที่มีความพร้อมในการสนับสนุนเงินทุนและการอำนวยความสะดวกในการจัดกิจกรรมไพร์ดพาเหรดให้มามีส่วนร่วมในการเดินขบวนด้วย ซึ่งจะเป็นการสื่อสารว่าขบวนการนี้สามารถโน้มน้าวให้กลุ่มทุนหรือผู้มีอำนาจมาสนับสนุนตัวตนของชาว LGBTQ+ ได้ โดยใช้วิวาทะว่า “ใช้แสงในทางที่ดี”
– ในขณะเดียวกัน กลุ่มผู้ไม่สนับสนุนให้รับเงินทุนใหญ่ก็เล็งเห็นปัญหาเดียวกัน คือขบวนของการเมืองอัตลักษณ์โดยเฉพาะ LGBTQ+ มีจุดอ่อนคือประเด็นปัญหาของคนเพศหลากหลายถูกหยิบยกขึ้นมาเรียกร้องโดยแยกตัวออกจากขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อความยุติธรรมในมิติอื่น ๆ จึงมีข้อเสนอว่าการรวบรวมผู้คนนอกขบวนการ LGBTQ+ ให้มามีส่วนร่วมควรจะเป็นกลุ่มการเมืองอื่น ๆ หรือไม่ เช่น กลุ่มคนชาติพันธ์ุ, กลุ่มแรงงาน, กลุ่มครอบครัวและเยาวชน ฯลฯ ซึ่งน่าจะตรงกับแนวคิด Inclusivity มากกว่าที่ต้องรวมเอาผู้คนที่มีอัตลักษณ์ทับซ้อนเข้าไว้ด้วยกันเพื่อสร้างพลังในการต่อต้านต่อรองกับแหล่งอำนาจบริหารและนายทุนที่กำลังกดข่มคนชายขอบอยู่หลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะอำนาจของฝ่ายศาสนา, กฎหมาย และนโยบายต่าง ๆ ที่ไม่เคยมีแนวโน้มจะเปลี่ยนแปลงลดอำนาจการควบคุมเสรีภาพทางเพศและเชิดชูความเสมอภาคของผู้คนเลย ยิ่งไปกว่านั้น กลุ่มนายทุนเงินหนาต่างล้วนเป็นฝ่ายที่ใช้แนวคิดสองกรอบเพศมาเลือกปฏบิบัติกับผู้มีความหลากหลายทางเพศในที่ทำงานและใช้ความรุนแรงกดขี่แรงงานที่มีอัตลักษณ์เป็นคนชายขอบ
ประเด็นของคุณค่าและจุดประสงค์ของงานไพรด์พาเหรด
– จากการสำรวจมุมมองของผู้รับเงินสนับสนุนทุนใหญ่ในงานแถลงข่าวเกี่ยวกับเป้าประสงค์ที่ต้องการให้เกิดขึ้นจากงานไพรด์พาเหรดพบว่า พวกเขาต้องการให้งานเฉลิมฉลองมีขนาดใหญ่ในระดับสากลเพื่อเป็นหน้าเป็นตาแก่ความก้าวหน้าในการยอมรับตัวตนของผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย ซึ่งเดือนมิถุนายนก็จะเป็นอีกหนึ่งช่วง High Season สำหรับนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลเข้ามาร่วมงานไพร์ด รวมทั้ง Soft Power ที่เป็นสื่อบันเทิงในประเทศไทยที่ดังเป็นพลุแตกในอาเซียน เช่น อุตสาหกรรมซีรีย์ Yayoi, T-Pop, Drag Show ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ถูกผลักดันโดยมีผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นเบื้องหลังทั้งสิ้น ดังนั้น หากประเทศรอบข้างในอาเซียนยังคงกดข่มเสรีภาพทางเพศของประชาชนอยู่ งานไพร์ดและอุตสาหกรรมเกี่ยวกับ LGBTQ+ จากไทยจะยังสามารถเติบโตและสร้างมูลค่าให้เศรษฐกิจของประเทศอย่างต่อเนื่อง
– อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ไม่สนับสนุนการรับทุนก็ยังยืนยันถึงประเด็นการต่อสู้เพื่อความเสมอภาคเท่าเทียมทางเพศที่ควรจะเป็นหัวใจหลักของการเดินขบวนประท้วงเรียกร้องให้สังคมยอมรับตัวตนและหยุดความเกลียดชัง การใช้ความรุนแรง การเลือกปฏิบัติต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศให้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง ซึ่งในหนึ่งปีมีเพียงหนึ่งครั้งเท่านั้นที่เหล่าองค์กรที่คอยช่วยเหลือ ปกป้องกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศจะได้ออกมาประกาศจุดยืน สนับสนุนข้อเรียกร้องของกันและกันต่อสาธารณะชน ซึ่งการเอากลุ่มทุนใหญ่ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ทำลายสิ่งแวดล้อมที่เน้นการสร้างกำไรจากผู้บริโภคมากกว่าจะออกนโยบายสนับสนุน LGBTQ+ อย่างเป็นรูปธรรม หรือออกมารับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิ์ที่กระทำต่อคนกลุ่มใหญ่ในสังคมซึ่งเป็นคนชายขอบ
ทางออกร่วมที่สังคมและขบวนการ LGBTQ+ ต้องตัดสินใจ
ในท้ายที่สุด แม้บริษัทห้างร้านที่เป็นโจทย์ทางสังคมเกี่ยวกับการควบรวมกิจการ, ขูดรีดแรงงาน, ควบคุมพฤติกรรมผู้บริโภค ฯลฯ จะเอาเงินมาวางเพื่อสนับสนุนงานเฉลิมฉลองตัวตนผู้มีความหลากหลายทางเพศปีละครั้งเพื่อทำการตลาดกับกลุ่ม LGBTQ+ แต่หากผู้คนในขบวนการ LGBTQ+ ตระหนักรู้ว่า ปัญหาของพวกเราจะไม่ถูกแก้ไขเพียงแค่ได้มาซึ่งกฎหมายสมรสเท่าเทียม, เปลี่ยนคำนำหน้านาม ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานเท่านั้น แต่เมื่อเราหันกลับไปมองสังคมที่ยังใช้แนวคิดสองกรอบเพศที่ถูกแช่แข็งอยู่ในวัฒนธรรมไทยและแสดงออกผ่านรูปแบบของกฎหมาย, ศาสนา นโยบาย ที่ถูกนำมาบังคับใช้โดยผู้มีอำนาจเพื่อกดขี่ผู้มีความหลากหลายทางเพศไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ครอบครัว โรงเรียน ที่ทำงาน และสังคม ที่ได้สร้างบาดแผลในใจให้กับคนเพศหลากหลายเสมอมา ดังนั้น ข้อเรียกร้องเพื่อผลักดันให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศเหล่านี้ควรจะถูกนำมาป่าวประกาศซ้ำทุกปีจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างมนงานไพร์ดพาเหรดหรือไม่ ? สุดท้ายที่ ผู้เขียนขอเสนอว่าหากกลุ่มผู้จัดงานไพร์ดต้องการต่อยอดการสร้างกำไรจากนักท่องเที่ยว หรือรับการสนับสนุนจากบริษัททุนใหญ่เพื่อจัดงานเฉลิมฉลองก็ควรจัดทำให้เป็น Festival ขายบัตรแบบงานคอนเสริ์ตระดมทุน จะได้ไม่เกิดข้อขัดแย้งจากผู้คนที่ต่อสู้เพื่อสิทธิ LGBTQ+ ที่ต้องการใช้แสงส่องนำพาสังคมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิดเพื่อเสรีภาพและความเท่าเทียมอย่างแท้จริง
นักวิชาการอิสระสายสตรีนิยม และผู้ร่วมก่อตั้ง Sapphic Pride(QUEER FEMINIST COMMUNITY) จบปริญญาโทจากศูนย์สตรีศึกษาและเพศภาวะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นนักศึกษาปริญญาเอกสาขา Asian Language and Culture ที่ University of Wisconsin-Madison ประเทศสหรัฐอเมริกา