DREAMLAND ในสภาวะครึ่งหลับครึ่งตื่น ความจริงอาจย้อนมาโดยไร้ซึ่งร่องรอย

ภาพ: วิรัญชนา พงษ์บ้านไร่ ,เตชินท์ รุ่งวัฒนโสภณ

นับเป็นความอหังการที่น่าจับตามองสำหรับ Wherever Project โปรเจกต์ที่เป็นเหมือนกับการคืนสู่เหย้าของเหล่าสมาชิกชมรมการแสดง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ห่างหายไปเกือบ 3 ปีเต็ม มาในคราวนี้ก็ใส่เต็มแบบไม่ยั้ง ชนิดที่ว่าเราอาจจะได้เห็นซีนละครเชียงใหม่กลับมามีสีสันจัดจ้านหลังพิษโควิด-19

ภาพ: วิรัญชนา พงษ์บ้านไร่

โดย Wherever Project ที่อิงจากที่ไหนก็ได้ ทำละครที่ไหนก็ได้ แม้ว่าจะแยกย้ายกันไปทำงานละครแต่มันทำบางอย่างไม่ได้ มันต้องทำด้วยกันถึงจะทำได้ จนออกมาเป็นละครสองเรื่อง DREAMLAND ร่องรอย กำกับโดย ยอร์ช-สหัสวรรษ ทาติ๊บ และ มานุช Ma la la กำกับโดย น้ำ-สุวรรณา อ่อนน้อม

ภาพ: วิรัญชนา พงษ์บ้านไร่

DREAMLAND ร่องรอย เล่าถึงเด็กหนุ่มที่ดำดิ่งอยู่ในความฝันอันแสนเรียบง่ายและงดงาม แต่แล้ววันหนึ่งเขาได้ค้นพบว่าตนต้องตื่นขึ้นจากความฝันอันแสนหวานเพื่อเผชิญหน้ากับความเป็นจริง โดยมีทางสองแพร่งให้เลือกระหว่างความฝันกับความจริง ด้วยรูปแบบ Butoh Dance, Contemporary Dance และ Pantomime ที่เรียกได้ว่าเป็นการปล่อยของแบบไม่ยั้ง ของทั้งตัวผู้กำกับและนักแสดงอย่าง ยอร์ช-สหัสวรรษ รวมไปถึง แสงสีเสียงที่กระตุ้นทุกผัสสะนับเป็นการทดลองที่ระห่ำจากทั้ง Sound Experimental สุดล้ำจาก เจ๋ง-สิรศิลป์ ปังประเสริฐกุล และไวโอลินที่ให้ความรู้สึกที่ปลุกเร่าโดย Anna Maria Olsson ร่วมกับ Visual Art พาฝันจาก เท็น-ยศสุนทร รัตตประดิษฐ์ ทำให้การเดินทางสู่สภาวะครึ่งหลับครึ่งตื่นของเด็กหนุ่มได้ออกเดินทางไปยังโลกความฝันและความเป็นจริงได้อย่างเหนือจริงยิ่งขึ้น

ภาพ: เตชินท์ รุ่งวัฒนโสภณ

ด้วยเส้นเรื่องที่กลั่นออกมาจากสภาวะของผู้กำกับโดยตรง ที่ต้องเผชิญกับโลกแห่งความเป็นจริง จึงไม่แปลกที่จะไปกระทบจิตใจและสำนึกของผู้ชมได้โดยตรง แม้อาจจะไม่สามารถจำแนกแยกย้อยได้ทั้งหมด แต่ก็สร้างความอึกอัดกระอักกระอ่วนที่เข้าไปทำงานกับจิตใจ อาจเพราะสภาพสังคมไม่อนุญาตให้ความฝันได้เติบโตหรือไม่อนุญาตให้ฝัน รวมไปถึงการเติบโตที่มีความกดดันเป็นแรงผลักให้ต้องมีชีวิตตามแบบที่ความคาดหวังของสังคมกำหนดกรอบเอาไว้ การต้องเลือกความฝันและความจริง เราอาจต้องเลือกตัดบางสิ่งเพื่อคงและรักษาบางสิ่งไว้ หรือต้องสู้แม้ว่าอาจจะพลาดหรืออาจจะเจ็บปวดกับมันแค่ไหนก็ตาม

ภาพ: เตชินท์ รุ่งวัฒนโสภณ

ด้วยสารพัดเทคนิคที่สาดใส่อยู่ใน DREAMLAND แสงสีเสียงที่สอดผสาน การเล่าเรื่องราวความฝันและความจริง ที่หลายครั้งเรากับพบว่าเราเองก็เป็นตัวเอกที่กำลังดำเนินเรื่องในแดนครึ่งหลับครึ่งตื่นตลอด 1 ชั่วโมงกว่าๆ แม้ไฟในโรงละครเปิดสว่างขึ้น ความตื่นเต้นปนสิ้นหวังที่เดือดพล่าน ยังคงสลักอยู่ในใจ

ในแดนครึ่งหลับครึ่งตื่นเรากำลังสู้กับอะไรกันแน่?

ข่าวที่เกี่ยวข้อง