จะได้ไหมขนส่งของคนต่างจังหวัด [2] : รถเมล์เชียงใหม่ ‘RTC’ ความหวังใหม่ของคนเมือง เมื่อรัฐไม่พร้อม เอกชนขอทำแทน

ซีรี่ย์ ‘จะได้ไหมขนส่งของคนต่างจังหวัด’ รายงานพิเศษ 3 ตอน โดย วิชชากร นวลฝั้น นักศึกษาฝึกงานสำนักข่าว Lanner ที่จะพาไปสำรวจตรวจขนส่งของคนต่างจังหวัดโดยเริ่มจากประวัติศาสตร์ขนส่งของจังหวัดเชียงใหม่ ไปจนถึงความหวังของขนส่งเอกชน จากเชียงใหม่ไปยังปลายทางความฝันที่จะมีขนส่งสาธารณะที่ดีในต่างจังหวัดที่ไม่ใช่กรุงเทพฯ

อ่าน จะได้ไหมขนส่งของคนต่างจังหวัด [1] : ประวัติศาสตร์ขนส่งเชียงใหม่ แล้วการเดินทางแบบไหนถึงจะถูกใจคนเมือง

ในช่วงที่ผ่านมาไม่ว่านักท่องเที่ยวหรือคนที่สัญจรไปมาในเขตเมืองเชียงใหม่ อาจพบเห็นรถเมล์คันใหญ่บนท้องถนนหรือตามจุดรับ-ส่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสนามบินเชียงใหม่ สถานีขนส่งอาเขต หรือแม้กระทั้งสถานีรถไฟ ซึ่งรถเมล์ดังกล่าวได้ติดป้ายชื่อว่า “Chiang Mai City Bus” หรือนี่อาจเป็นความหวังใหม่ของการยกระดับขนส่งสาธารณะในจังหวัดเชียงใหม่

รายงานในตอนนี้จะนำพาเจาะประเด็นการให้บริการรถเมล์เชียงใหม่ หรือ RTC Chiang Mai City Bus ที่เข้ามาพัฒนาขนส่งสาธารณะเชียงใหม่ในปัจจุบัน รวมถึงสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นกับขนส่งสาธารณะเชียงใหม่ผ่านผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

ย้อนรอยรถเมล์เชียงใหม่ RTC

เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2561 บริษัทรีเจียนนอลทรานซิสท์ โคเปอร์เรชั่น จำกัด ได้เปิดตัวรถขนส่งมวลชนสาธารณะสมาร์ทบัสประจำทาง หรือ RTC Chiang Mai City Bus เพื่อยกระดับระบบขนส่งมวลชนของจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีรถเมล์ให้บริการจำนวน 11 คัน วิ่งผ่านเส้นทางทั้งหมด 4 สาย ได้แก่

– สาย R1 สวนสัตว์เชียงใหม่-เซ็นทรัลเฟสติวัล

– สาย R2 ประตูท่าแพ-หนองหอย-ห้างพรอมเมนาดา

– สาย R3 (สายสีแดง) สนามบิน-นิมมานฯ-ประตูท่าแพ

– สาย R3 (สายสีเหลือง) สนามบิน-วัวลาย-ประตูท่าแพ

แต่หลังจากให้บริการมาได้ 2 ปี RTC กลับหยุดให้บริการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 หลังเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และภายหลังพบว่ารถเมล์เหล่านี้ถูกประกาศขายในราคาคันละ 2.5 ล้านบาท ซึ่ง RTC ก็ได้ออกมาประกาศว่าจะกลับมาให้บริการในเดือนพฤศจิกายน 2564 แต่สุดท้ายก็เงียบหายไป

รถเมล์เชียงใหม่ RTC ในปี 2561 ภาพ : ประชาไท

สำนักข่าวประชาไท รายงานผลจากการดำเนินกิจการรถเมล์ RTC ของบริษัท รีเจียนนอล ทรานซิสท์ คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด ในไตรมาส 2 ของปี 2561 โดยรายว่ามีผู้โดยสารใช้บริการในวันจันทร์-ศุกร์ เฉลี่ยที่ 950 คน/วัน และวันเสาร์-อาทิตย์ เฉลี่ยที่ 1,100 คน/วัน ปริมาณผู้โดยสารมีอัตราเพิ่มขึ้นตลอดเวลา โดยสาย R1 และ R3 มีผู้โดยสารเฉลี่ยไม่ต่างกันมาก สำหรับสาย R2 มีผู้โดยสารน้อยมากเฉลี่ยที่วันละ 60 คน จนเมื่อเดือน กรกฎาคม 2561 จำนวนผู้โดยสารมีปริมาณต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ร้อยละ 70 โดยเฉลี่ยอัตราการบรรทุกอยู่ที่ร้อยละ 25 ซึ่งผลดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าผู้ใช้บริการรถเมล์ RTC มีจำนวนที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จนหยุดให้บริการเมื่อปี 2563 

RTC คืนชีพอีกครั้ง

หลังจากที่หยุดให้บริการตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 ช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด รถเมล์ RTC ได้มีท่าทีในการให้บริการที่เปลี่ยนไป โดยได้เปลี่ยนขนาดรถที่ให้บริการจากรถบัสขนาดใหญ่กลายเป็นรถโดยสารปรับอากาศขนาดเล็ก 20 ที่นั่งและใช้ก๊าซ NGV เป็นเชื้อเพลิงแทนเพื่อลดต้นทุนในการให้บริการ และแล้วรถเมล์เชียงใหม่ RTC ได้ฟื้นคืนชีพอีกครั้ง ในวันที่ 29 ธันวาคม 2566 โดยเปิดให้บริการเส้นทางทั้งหมด 3 สาย ได้แก่ 24A 24B และ 24C รถจะเริ่มจากจุดจอดต้นทางที่สนามบินเชียงใหม่เหมือนกันทุกสาย โดยสายแดง 24A ให้บริการพื้นที่โซนตะวันออกของเนื้อเมือง เช่น โรงเรียนยุพราช ประตูท่าแพ ขนส่งช้างเผือก ตลาดวโรรส ไนท์บาซาร์ สายเหลือง 24B บริการโซนตะวันตกของเนื้อเมือง เช่น วัดพระสิงห์ สถานีขนส่งช้างเผือก วันนิมมาน โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และสายเขียว 24C สายหลักของโครงข่ายการเชื่อมต่อโหมดการเดินทางหลักเมืองเชียงใหม่ นับจากสนามบิน สถานีรถไฟ สถานีขนส่ง 2-3 อาเขต โดยค่าบริการในขณะนี้อยู่ที่ราคา 50 บาท สามารถขึ้นได้ทุกสาย และทุกรอบตลอดทั้งวัน หากซื้อตั๋วจากร้านค้าพันธมิตรสามารถซื้อได้ในราคา 40 บาท นักเรียน นักศึกษา ผู้สูงอายุ ราคา 20 บาท สำหรับผู้พิการและพระสามารถใช้บริการได้ฟรี

ภาพ : รถเมล์เชียงใหม่ RTC Chiang Mai City Bus

ฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทย และกรรมการผู้จัดการ บริษัท รีเจียนนอล ทรานซิท โคเปอร์เรชั่น จำกัด ผู้ให้บริการ RTC Chiang Mai Bus เปิดเผยกับ Lanner ว่า การดำเนินกิจการในช่วงที่ผ่านมา โดยรวมถือว่าดี แม้ว่าจะมีผู้โดยสารลดลงไปบ้างในช่วงสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 จากเดิมในเดือนมกราคมมีผู้โดยสารใช้บริการประมาณวันละ 120 คน พอเข้าสู่ช่วงสถานการณ์ฝุ่นเหลือผู้โดยสารเพียงประมาณวันละ 40 คน แต่ทาง RTC พยายามปรับโมเดลธุรกิจของตัวเองให้สามารถดำเนินการต่อไปได้ และจะไม่หยุดให้บริการหากไม่วิกฤตจริง ๆ โดยจากการให้บริการจนเกือบครบ 6 เดือน ขณะนี้ RTC ขาดทุนไปแล้ว 1.8 ล้านบาท รถที่เคยเตรียมให้บริการทั้งหมด 5 คัน ตอนนี้ให้บริการจริงเพียง 3 คัน ค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงรวมกันวันละ 5,000 บาท แต่รายรับต่อวันได้เพียงประมาณวันละ 2,800 บาท อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม เช่น เงินเดือนพนักงาน ค่าเช่ารถ และค่าใช้จ่ายสำนักงาน ทำให้บริษัทต้องนำงบประมาณที่มีอยู่มาสนับสนุน แม้จะขาดทุนอย่างต่อเนื่องแต่ไม่ต้องการหยุดให้บริการ เพราะจะทำให้เชียงใหม่ไม่มีรถประจำทางให้บริการ

ฐาปนา บุณยประวิตร

“ที่เรายอมขาดทุนเพราะว่า RTC ไม่ต้องการหยุดบริการ เพราะถ้าเราหยุดเชียงใหม่จะไม่มีขนส่งประจำทางให้บริการเลย ซึ่งเราไม่อยากผลักภาระให้ผู้โดยสาร เราจึงพยายามดูแลตัวเองและทำให้ขาดทุนน้อยที่สุด ซึ่งตอนนี้ขาดทุนเดือนละประมาณ 3 แสนบาท แต่เราก็พยายามปรับโมเดลธุรกิจให้ดำเนินการต่อไปได้”

ปรับตัวไม่ให้หยุดบริการ

ฐาปนา อธิบายการปรับตัวของ RTC ในช่วงที่เกิดสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 โดยตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2567 เป็นต้นมา RTC ได้มีการปรับลดเส้นทางการให้บริการ ลดความถี่ของการจอดรอตามป้าย จอดเฉพาะป้ายที่มีผู้โดยสารขึ้นและเพิ่มบริการโทรนัดล่วงหน้าเพื่อนัดหมายจุดและเวลาขึ้นได้เลยเพื่อไม่พลาดการใช้บริการ อีกทั้งยังลดจำนวนรอบการให้บริการจากเดิมให้บริการวันละ 24 เที่ยว เหลือเพียงวันละ 18 เที่ยว

“เดิมทีส่วนใหญ่ผู้โดยสารที่ขึ้นจะมาจากจากสนามบิน แต่พอเราปรับกลยุทธ์เมื่อไม่นานมานี้เริ่มมีผู้โดยสารขึ้นจากในเมืองมากขึ้น ตอนนี้เราให้ผู้โดยสารที่รอที่ป้ายหรือตามเส้นทางที่รถเราผ่านสามารถโทรนัดกับเราได้เลย เพราะรถทุกคันของเรามีวิทยุสามารถประสานบอกกันได้ตลอดทันที เช่น ตอนนี้อยู่วัดพระสิงห์จะขึ้นรถเพื่อไปสนามบินประมาณ 14.00 น. จากนั้นนายท่าก็จะบอกเวลาที่รถเมล์น่าจะไปถึงเพื่อให้ผู้โดยสารตัดสินใจ หากตกลงนัดแนะเสร็จเรียบร้อยนายท่าก็จะประสานพนักงานขับรถเพื่อแวะรับผู้โดยสาร อาจจะมีช้าบ้างเร็วบ้างตามสภาพการจราจร หากรถใกล้ถึงนายท่าจะโทรบอกลูกค้าเพื่อเตรียมขึ้นรถตามจุดนัดหมาย ซึ่งวิธีนี้เป็นการแก้ปัญหาที่ปริมาณรถมีน้อย ความถี่น้อย แต่สามารถให้บริการได้อย่างทั่วถึง”

อุปสรรคการพัฒนาของ RTC

ทั้งนี้ฐาปนาได้เปิดใจกับ Lanner ถึงการได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ปัจจุบันมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือเพียง 2 หน่วยงาน คือ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และสำนักงานขนส่งเชียงใหม่ โดยท่าอากาศยานเชียงใหม่จัดจุดจอดเพื่อให้ RTC ทำหน้าที่เชื่อมต่อการเดินทางของผู้โดยสารระหว่างสนามบินไปยังสถานีขนส่ง ส่วนสำนักงานขนส่งเชียงใหม่ให้ RTC สัมปทานเส้นทางเดินรถและช่วยเหลือตามอำนาจหน้าที่อย่างเต็มที่ กลับกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้ RTC ทำจุดจอดไม่ได้ให้การตอบรับใด ๆ กลับมา แม้จะขออนุญาตไปแล้วหลายครั้ง มีเพียงเอกชนที่ให้ความร่วมมือในการทำจุดจอดเป็นอย่างดี

“หน่วยงานที่เข้ามาช่วยเราตอนนี้มี 2 หน่วยคือ 1.ท่าอากาศยานเชียงใหม่ โดยจัดจุดจอดให้เราเลย 2.สำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ โดยการให้เราสัมปทานเส้นทางเดินรถและช่วยเหลือตามอำนาจหน้าที่อย่างเต็มที่ ส่วนหน่วยงานอื่นนอกเหนือจากนี้ยังไม่ได้ให้ความช่วยเหลือกับเรา แม้ว่าจะส่งหนังสือไปหลายครั้งแล้วก็ตาม จนกระทั้งบัดนี้ RTC ยังไม่ได้รับอนุญาตให้วางป้ายในพื้นที่ เพราะฉะนั้นจุดที่เราจอดอยู่ตอนนี้เหมือนกับป้ายโลกเสมือน พูดง่าย ๆ คือรู้กันเองตามการประชาสัมพันธ์ว่ารถจะมาจอด แต่ก็มีบางสถานที่ที่เราทำเองได้ เช่น เซ็นทรัลเชียงใหม่แอร์พอร์ตที่อนุญาตให้เราทำป้ายจุดจอด และล่าสุดเราได้ไปปักป้ายที่โรงพยาบาลกรุงเทพ และอนุญาตให้ผู้โดยสารสามารถนั่งรอที่ล็อบบี้ของโรงพยาบาลได้ จะเห็นได้ว่ากับภาคเอกชน RTC ทำงานได้สะดวกมาก” ฐาปนา กล่าว

จุดจอดรถเมล์เชียงใหม่ภายในสนามบินเชียงใหม่

ฐาปนา อธิบายเพิ่มเติมว่า ขนส่งมวลชนไม่เพียงแค่ให้บริการแล้วจะมีคนใช้บริการ แต่ยังต้องมีโครงสร้างพื้นฐานของขนส่งมวลชน กล่าวคือต้องประกอบด้วยป้ายรอรถ ศาลาพักผู้โดยสาร ทางลาดสำหรับวิวแชร์ผู้พิการ หลอดไฟให้ความสว่างในเวลากลางคืน มีอุปกรณ์ยึดจับสำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการ ซึ่งโครงสร้างเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่เอกชนต้องทำ แต่เป็นเมืองที่ต้องลงทุนให้ ซึ่งที่ผ่านมา RTC ยอมลงทุนเองทั้งหมด แต่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกลับไม่อนุญาต อีกทั้งยังโดนขับไล่ในการรับ-ส่งผู้โดยสารจากผู้ให้บริการขนส่งประเภทอื่นตามสถานีขนส่งต่างๆ เพราะกลัว RTC มาแย่งลูกค้า ยิ่งไปกว่านั้นภายหลังยังมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาไล่ด้วย ฐาปนายังอธิบายเพิ่มเติมว่า รัฐต้องลงทุนการเดินทางที่เชื่อมต่อสถานีขนส่ง เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชน ซึ่งจากสถิติการใช้รถเมล์ RTC พบว่าผู้โดยสารที่ขึ้นจากสนามบินจะมีอย่างน้อย 5 คนที่ลงสถานีขนส่งช้างเผือก และมีอย่างน้อย 7-8 คนลงที่สถานีขนส่งอาเขต ดังนั้นขนส่งมวลชนจึงสามารถเป็นทางเลือกของการเชื่อมต่อการเดินทางไปยังสถานีขนส่งต่าง ๆ ในจังหวัดเชียงใหม่

ภาพป้ายรถเมล์ที่ถูกเทศบาลปล่อยทิ้งร้าง

การแข่งขันขนส่งสาธารณะที่ไม่เป็นธรรม

ฐาปนา กล่าวถึงขนส่งผ่านแอพพลิเคชั่นว่า รถประเภทนี้ไม่ได้อยู่ในข้อกำหนดของสำนักงานขนส่ง ในจังหวัดเชียงใหม่มีรถที่ให้บริการผ่านแอพพลิเคชั่นที่จดทะเบียนกับสำนักงานขนส่งเพียง 200 คัน แต่ให้บริการจริง ๆ ถึง 3,000 คัน ซึ่งรถเหล่านี้ทำให้เกิดความเลื่อมล้ำในการแข่งขันด้านขนส่ง เพราะรถเหล่านี้ไม่ต้องวิ่งตามเส้นทางประจำ ไม่มียูนิฟอร์มของบริษัท ไม่มีการตรวจมาตรฐานความปลอดภัย ไม่สอบใบขับขี่สาธารณะ ไม่จดทะเบียนรถยนต์รับจ้าง และไม่สามารถควบคุมปริมาณรถได้ ทำให้ฐาปนาตั้งคำถามกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องว่า “นี่คือการแข่งขันที่เป็นธรรมหรือไม่” อีกทั้งยังเรียกร้องให้รถที่บริการผ่านแอพพลิเคชั่นจดทะเบียนเป็นรถยนต์รับจ้างและต้องเปลี่ยนเป็นป้ายทะเบียนสีเหลือง เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกัน

“เราถูกภาวะความเลื่อมล้ำด้านคมนาคมขนส่ง โดยขนส่งของเราต้องวิ่งตามเส้นทาง ต้องจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งจดยากมาก ต้องสอบผ่านกิจการที่ดูแลเรื่องสุขภาพ อนามัยและความปลอดภัย พนักงานขับรถต้องแต่งชุดหรือยูนิฟอร์มของบริษัท พนักงานมีเวลาทำงานชัดเจน รถที่ใช้มีมาตรฐานทุกอย่าง แต่กลับกันมีรถอยู่ประเภทหนึ่งที่โหลดแอพพลิเคชั่นมา วิ่งมาจากต่างจังหวัด แต่สามารถรับผู้โดยสารในเชียงใหม่ได้ ซึ่งรถประเภทนี้ไม่ได้อยู่ในข้อกำหนดเลย ซ้ำร้ายในจังหวัดเชียงใหม่มีรถบริการผ่านแอพพลิเคชั่นที่จดทะเบียนกับขนส่งเชียงใหม่ไม่ถึง 200 คัน แต่วิ่งอยู่จริง ๆ ถึง 3,000 คัน นี่คือการแข่งขันที่เป็นธรรมมั้ย? ถ้าให้รถระบบพวกนี้มีมากโดยที่รัฐไม่ควบคุมเลยสิ่งที่เกิดขึ้นคือคนจะไม่ใช้ระบบขนส่งมวลชน พอคนไม่ใช้ระบบขนส่งมวลชน รัฐจะไม่สามารถกำหนดทิศทางได้ เพราะรถยนต์ส่วนบุคคลจะเต็มท้องถนนไปหมด ซึ่งนี่คือปัญหาของเชียงใหม่ เราถูกควบคุมถูกบังคับให้จ่ายค่าต่าง ๆ ตามระเบียบ แต่ปรากฏว่าอีกบริการหนึ่งกลับไม่ต้องแต่ชุดก็ได้ เขากำหนดรถให้มากกว่า 1,500 cc แต่คุณกลับเอารถ 1,200 cc ไปรับลูกค้า เขาบังคับให้เฉพาะคนไทยขับเท่านั้นแต่ตอนนี้กลับมีต่างชาติมาขับรับกันเองเต็มไปหมดเลย แล้วรถที่เขาจดทะเบียนอย่างถูกต้องกลับลำบากหมดเลย ซึ่งที่เราเรียกร้องเราไม่ได้มีปัญหาอะไรกัน แต่ขอให้รถที่ให้บริการจดทะเบียนให้เท่าเทียมกับเรา และรถขนส่งสาธารณะต้องเป็นป้ายทะเบียนสีเหลือง เพื่อให้สังคมเห็นว่ารถที่วิ่งอยู่บนถนนคันนี้เป็นรถขนส่งสาธารณะ และเป็นการควบคุมปริมาณไม่ให้รถบนท้องถนนมีมากเกินไป” ฐาปนา กล่าว

สุดท้าย ฐาปนา แสดงความคิดเห็นว่า หากเชียงใหม่จัดบริการให้นักเรียนใช้รถประจำทางในช่วงเช้ากับเย็นได้ จะช่วยลดปัญหาการจราจรตามบริเวณเส้นทางที่มีโรงเรียนตั้ง อีกทั้งยังเป็นการสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ในการใช้บริการขนส่งสาธารณะ ได้รู้จักการเสียสละ แบ่งปัน และยังได้สร้างวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันในสังคม ซึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือโครงการที่ RTC ได้ร่วมกับโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย ในการให้บริการรถเมล์ RTC กับเด็กนักเรียน โดยอำนวยความสะดวกและจัดจุดจอดภายในโรงเรียน ฐาปนา ยังเสนอว่ายินดี หากภาครัฐหรือเอกชนจะเข้ามาร่วมลงทุน เพราะจะทำให้ประชาชนได้ประโยชน์จากการให้บริการมากขึ้น

ภาพ : ​​รถเมล์เชียงใหม่ RTC Chiang Mai City Bus 

ปัญหาขนส่งสาธารณะในเชียงใหม่

ปฐวี กันแก้ว ผู้ช่วยดำเนินการประจำตัว สส. เขต 1 จังหวัดเชียงใหม่ อธิบายปัญหาของขนส่งสาธารณะจังหวัดเชียงใหม่ในปัจจุบันว่า เกิดจากเมืองโตกระจุกและโตตามถนนวงแหวนหรือถนนเส้นใหญ่ เมื่อเมืองโตขึ้นสิ่งที่แก้ปัญหารถติดแบบเชียงใหม่คือการขยายถนน สร้างไฮเวย์ หรือทำถนนเพิ่ม ซึ่งไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาให้ดีขึ้น อีกทั้งด้านกฎหมายของขนส่งสาธารณะ พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 กำหนดให้คณะกรรมการขนส่งประจำจังหวัดมีอำนาจจัดทำเส้นทาง แต่สำนักงานขนส่งจังหวัดทำได้เพียงแค่การเปิดสัมปทานเดินรถของภาคเอกชน ไม่สามารถควบคุมการจดทะเบียนของรถสาธารณะได้ สุดท้าย “ปล่อยให้แข่งขันกันเองและตายกันเอง”

ปฐวี กันแก้ว

ปฐวี กล่าวถึงปัญหาที่ RTC เผชิญอยู่ตอนนี้คือการขออนุญาตหน่วยงานต่าง ๆ ในการจัดทำจุดจอดหรือสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกในการใช้บริการ RTC ซึ่งต้องขออนุญาตหลายฝ่าย หลายขั้นตอน อีกทั้งปัญหาการขาดงบประมาณสนับสนุนจากรัฐ

“พอภาคเอกชนจะเข้ามามีบทบาทกับขนส่งสาธารณะ จะต้องพบเจอกับการประสานงานหน่วยงานรัฐในระดับต่าง ๆ ด่านแรก ขอสัมปทานกับขนส่งจังหวัด ด่านสอง จะติดตั้งป้าย จุดจอด ต้องเจอกับการประสานงานว่าถนน/ฟุตบาท ของหน่วยงานใด ด่านสาม เมื่อพบเจอหน่วยงานเจ้าของพื้นที่แล้ว ใครเป็นคนรับผิดชอบงบประมาณ เพราะหน่วยงานรัฐมักจะติดกับดักที่ว่า มักจะไม่ออกงบให้เอกชนทำ เนื่องจากสุ่มเสี่ยงที่จะถูกตีความในเชิงเอื้อผลประโยชน์” ปฐวี กล่าว

ปฐวี ได้แสดงกรอบงบประมาณการลงทุนของ อบจ.เชียงใหม่ พบว่ามีเพียง 17% จากทั้งหมด ซึ่งอยู่ในแผนงานอุตสาหกรรมและการโยธาตามกฎหมาย ทำให้เห็นว่าสุดท้ายแม้ อบจ. จะมีอำนาจเต็ม ๆ ในการทำ แต่ไม่มีเงินพอที่จะมาทำขนส่งสาธารณะ ส่วนเทศบาลนครเชียงใหม่ได้งบลงทุนเพียงแค่ 11% เมื่อเทศบาลนครเชียงใหม่จัดทำขนส่งสาธารณะจึงเจอกับสภาพการขาดทุนทุกปี

ภาพ : ปฐวี กันแก้ว
ภาพ : ปฐวี กันแก้ว

ปฐวี ยังได้ตั้งคำถามและเสนอแนวทางการแก้ปัญหาว่า ระบบขนส่งสาธารณะเชียงใหม่ควรเป็นการสงเคราะห์หรือเป็นสวัสดิการ? คำถามนี้คือสิ่งที่รัฐต้องตอบให้ได้ ซึ่งทางด้านนโยบายการแก้ไขปัญหานั้นมีอยู่สองทางคือ 1.การแข่งขันกันเองแบบเดิม แต่ภาครัฐจัดซื้อรถเมล์โดยสาร และขอเปิดสัมปทานแข่งขันกับผู้เล่นเดิมในตลาดขนส่งสาธารณะ 2.แสวงหาความร่วมมือกับผู้เล่นในปัจจุบัน โดยดึงรถสองแถวและรถเมล์เข้าสู่ระบบ และจัดการโดยภาครัฐ

อนาคตรถเมล์เชียงใหม่ RTC

ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา รถเมล์เชียงใหม่ RTC ได้ร่วมประชุมแนวทางแก้ไขปัญหาการเรียกรถผ่านแอพพลิเคชั่น และทำ MOU รถสาธารณะร่วมกับ 8 องค์กร ณ สำนักงานสหกรณ์นครลานนาเดินรถจำกัด โดยมีข้อเรียกร้องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 9 ข้อ ได้แก่

1. รถผ่านแอพพลิเคชั่นต้องเป็นรถที่จดทะเบียน จ.เชียงใหม่ เท่านั้น

2. รถที่นำมาวิ่งต้องจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.ขนส่งทางบก (ป้ายเหลือง)

3. ใบอนุญาตขับขี่ต้องเป็นรถสาธารณะ

4. ประกัน พ.ร.บ.ภาคสมัครใจ ไม่น้อยกว่าประเภทที่ 3

5. กำหนดอายุรถที่นำมาจดทะเบียน ไม่เกิน 2 ปี ไมล์ไม่เกิน 50,000 กิโลเมตร

6. กำหนด CC เครื่องยนต์ให้ชัดเจน

7. ติดสติ๊กเกอร์บริษัทแอพพลิเคชั่นให้ชัดเจน

8. กำหนดสีให้ชัดเจน

9. กำหนดจำนวนรถ เพื่อควบคุมและตรวจสอบการให้บริการ

อย่างไรก็ตาม ข้อเรียกร้องดังกล่าวอาจทำให้การแข่งขันของขนส่งธารณะเกิดความเท่าเทียมและเป็นธรรมมากขึ้น อย่างที่ ฐาปนา บุณยประวิตร ได้เสนอไว้ข้างต้น ภาครัฐเองก็เป็นส่วนสำคัญที่ต้องตอบคำถามให้ได้ว่าระบบขนส่งสาธารณะเชียงใหม่ควรปล่อยให้แข่งขันกันแบบนี้ หรือควรทำเป็นสวัสดิการให้กับประชาชนอย่างที่ ปฐวี กันแก้ว ได้ตั้งคำถาม เพื่อทำให้ความหวังของภาคเอกชนในการพัฒนาขนส่งสาธารณะอย่าง “รถเมล์เชียงใหม่ RTC” กลายเป็นขนส่งที่เชื่อมต่อกับทุกคนทุกพื้นที่และเพื่อเป็นความหวังใหม่ของประชาชนในการได้ใช้ขนส่งสาธารณะที่ดีขึ้น

อ้างอิง

  • ประชาไท, (2561), รถเมล์ RTC เชียงใหม่ สรุปการเดินรถไตรมาส 2 ปี 2561 มีผู้โดยสารต่ำกว่าเป้า 70%, เข้าถึงจาก https://prachatai.com/journal/2018/07/77933
  • กรุงเทพธุรกิจ, (2561), ดีเดย์เดินรถ ‘สมาร์ทบัส’ วิ่งสนามบิน-นิมมาน-เมืองเก่า, เข้าถึงจาก https://www.bangkokbiznews.com/business/797910
  • ผู้จัดการออนไลน์, (2566), รถเมล์RTCกลับมาแล้ว!เปิดบริการเส้นทางเริ่มจากสนามบินเชียงใหม่ เก็บ30บาทตลอดสาย, เข้าถึงจาก https://mgronline.com/local/detail/9660000116948
  • มติชนออนไลน์, (2567), 8 รถรับจ้างเชียงใหม่ รับคนใช้น้อย ‘ทำตัวเอง’ เสนอรบ.ให้เรียกผ่านแอพพ์ได้ ถ้าไม่แก้จ่อเปลี่ยนเป็น ‘รถส้ม’, เข้าถึงจาก https://www.matichon.co.th/region/news_4575102

นักมานุษยวิทยามือสมัครเล่น ผู้ที่สนใจประเด็นทางสังคมรอบตัว และพยายามตามหาคำตอบเพื่ออธิบายปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น อีกทั้งยังพัฒนาการสื่อสารประเด็นทางสังคมในหลากหลายรูปแบบ เพื่อต้องการให้สังคมเกิดการรับรู้เพิ่มขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง