กมธ.พลังงานเปิดเวที ‘ถ่านหิน โอกาส เศรษฐกิจลำปางที่ยังไปไม่ถึง’ แนะพลิกวิกฤติให้กลายเป็นโอกาส นำร่องโครงการพลังงานหมุนเวียนสู่ลำปาง

ภาพ: สรวิชญ์ หงษ์พาเวียน

1 กันยายน 2567 คณะกรรมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร จัดสัมมนาว่าด้วย “ถ่านหิน โอกาส เศรษฐกิจลำปางที่ยังไปไม่ถึง” ณ อาคารหอประชุมจำป่าแดด ที่ว่าการอำเภอแม่เมาะ มีประชาชนอำเภอแม่เมาะกว่า 300 คน รวมทั้งหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เข้าร่วม

ชลธานี เชื้อน้อย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ลำปาง เขต 3 พรรคประชาชน ในฐานะกรรมาธิการและที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการพลังงาน กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา การผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหินของโรงไฟฟ้าแม่เมาะดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อำเภอแม่เมาะกลายเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของการผลิตไฟฟ้า ความนึกคิดของผู้คนต่างพื้นที่เมื่อได้ยินชื่อแม่เมาะคงนึกถึงพื้นที่เหมืองขนาดใหญ่

สิ่งที่น่ากังวลและจะเกิดขึ้นในอนาคตคือ การที่ถ่านหินหมดหรือการปิดเหมืองด้วยนโยบายของรัฐบาล เพื่อสอดรับกับทิศทางที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญต่อพลังงานสะอาดและยุติการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสกปรก” ชลธานี กล่าวเพิ่มเติม

ศุภโชติ ไชยสัจ

ด้าน ศุภโชติ ไชยสัจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการพลังงาน ให้ข้อมูลถึงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567 – 2580 ซึ่งดำเนินงานโดยสำนักงานนโยบายและแผน กระทรวงพลังงาน ว่า “แผนดังกล่าวยังคงกำหนดการใช้พลังงานถ่านหินไว้ประมาณ 7% เรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อประชาชนอำเภอแม่เมาะโดยตรง ปัจจุบันโรงไฟฟ้าแม่เมาะ มีพนักงงานและลูกจ้างมากถึง 9,000 คน หรือแม้กระทั่งผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัดลำปาง (GPP) จะสูญเสียมากถึง 12,505 ล้านบาทต่อปี (GPP จังหวัดลำปาง อยู่อันดับที่ 41 ของประเทศในปัจจุบัน) สิ่งสำคัญในเวลานี้ คือ แผนการรองรับที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างเป็นธรรม

ปัจจุบันมีหลายจังหวัดในประเทศ กำลังผลักดันวาระการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero emission) อย่างเป็นระบบ เช่น จังหวัดสระบุรีที่ดำเนินการเรื่องของพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม หรือ จังหวัดกระบี่ที่ดำเนินการเรื่องการสร้างเศรษฐกิจสีเขียวและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ” ศุภโชติ ให้ข้อมูลภาพรวมของการดำเนินงาน

ต่อมา โครงการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างเป็นธรรม องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ที่เข้ามามีส่วนร่วมผลักดันโครงการเปลี่ยนผ่านพลังงานในพื้นที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ได้นำเสนอข้อมูลการทำงานในช่วงเวลาที่ผ่านมา อันมุ่งเน้นให้องค์ความรู้แก่ประชาชน ต่อทิศทางการดำเนินงานด้านการเข้าถึงองค์ความรู้เกี่ยวกับพลังงานทดแทน

สุชาติ คล้ายแก้ว ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน GIZ กล่าวว่า “GIZ ผลักดันโครงการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อการปกป้องสิิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ มีการบูรณาการทำงานหลายฝ่าย โดยรัฐบาลของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอมรมนีเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ สำหรับประเด็นพื้นที่อำเภอแม่เมาะ มีวัตถุประสงค์เพื่อการยกระดับเศรษฐกิจของชุมชนให้เกิดความยั่งยืนเป็นธรรม และเป้าหมายการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบพลังงานคาร์บอนต่ำ

GIZ บูรณาการทำงานร่วมกันกับโครงการแม่เมาะ สมาร์ทซิตี้, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กระทรวงพลังงานและคณะกรรมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร และประชาชนในพื้นที่อำเภอแม่เมาะ เพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางการทำงาน ช่วงที่่ผ่านมามีการจัดอบรมพัฒนาศักยภาพการทำงานของประชาชนแม่เมาะ ในการทำงานรองรับกับการพัฒนาสู่การใช้พลังงานสะอาด” สุชาติ กล่าว

ปัญหาของแม่เมาะยังคงอยู่ เมื่อระยะเวลากำหนดการเปลี่ยนแปลง ทำอย่างไรที่ทุกคนจะไม่ตกขบวนการเปลี่ยนผ่าน ?

ต้องไม่หลงลืมว่าปัญหาหลายอย่างของอำเภอแม่เมาะยังคงอยู่ ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้แล้วเสร็จ เช่น กรณีการออกเอกสารสิทธิรองรับการอพยพ หรือการพัฒนาพื้นที่ผ่านการใช้งบประมาณของกองทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าแม่เมาะ” ชลธานี กล่าว

มะลิวรรณ นาควิโรจน์

มะลิวรรณ นาควิโรจน์ แกนนำเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ กล่าวว่า “ผ่านมาหลายสิบปีปัญหายังคงอยู่ ประชาชนอกมาต่อสู้ เปลี่ยนแปลงรัฐบาลทุกอย่างตกไป เป็นแบบนี้มาโดยตลอด กรณีการออกเอกสารสิทธิตอนนี้อยู่ระหว่างการหารือ ประชาชนยังคงรอคอยอย่างมีความหวัง”

กองทุนรอบโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ยังคงมีปัญหาเชิงระบบ มีการทุจริตและเอื้อประโยนช์ การตัดสินใจอยู่ที่ผู้มีอำนาจไม่กี่คน ไม่มีใครกล้าดำเนินการเปิดโปง เนื่องจากผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางเป็นประธาน ตอนนี้หลายโครงการได้รับผลกระทบ ขอรับงบประมาณไปหนึ่งก้อน แต่ถูกหารเฉลี่ยหลายทอด ตอนนี้หลายเรื่องกำลังอยู่ที่องค์กรอิสระ ตรวจสอบการทุจริต” ประชาชนอำเภอแม่เมาะรายหนึ่งที่ไม่ประสงค์ออกนามกล่าว

ช่วงที่ผ่านมาประชาชนอำเภอแม่เมาะได้ร่วมกันเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินงานเรื่องการออกเอกสารสิทธิ์สำหรับผู้ที่อพยพมาจากพื้นที่ดั้งเดิม ปัจจุบันหลายกรณีอยู่ระหว่างการดำเนินงานของหน่วยงานราชการระดับกรม ภายหลังจากการลงพื้นที่ของหลายหน่วยงาน อาทิ คณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร, คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นต้น บางกรณีมีมติคณะรัฐมนตรียืนยันหลักการต้องได้รับเอกสารสิทธิมาตั้งแต่ปี 2544

หรือในกรณีของกองทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ช่วงที่ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง มีการให้สัมภาษณ์ต่อความผิดปกติของงบประมาณของกองทุนว่า “กฎหมายระบุว่าการให้เงินชดเชยจะถูกกฎหมาย เมื่อให้แก่ผู้ที่อยู่รอบโรงไฟฟ้าในรัศมีไม่เกิน 5 กิโลเมตร แต่การร้องเรียนครั้งนี้ระบุว่ามีการให้แก่ผู้ที่อยู่เกิน 5 กิโลเมตร จึงสงสัยว่าจ่ายในรัศมีเกินได้อย่าไร” หรือการเบิกจ่ายงบประมาณของกองทุน ณรงค์ศักดิ์เคยให้ข้อมูลไว้ว่า “ถ้ามันผิดกฎหมายแล้วเราอนุมัติย้อนหลัง คนอนุมัติย้อนหลังก็ผิดกฎหมาย ถามว่าผิดกฎหมายคืออะไร ติดคุก” สำหรับกองทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าแม่เมาะ มีวัตถุประสงค์เพื่อนำงบประมาณสนับสนุนการสร้างประโยชน์แก่ประชาชนและชุมชนรอบโรงไฟฟ้า โดยงบประมาณของกองทุนมาจากเงินค่าไฟฟ้าที่ผู้รับใบอนุญาตผลิตไฟฟ้านำส่งเข้ากองทุนฯ

นอกจากการสัมมนา ภายในงานมีการแลกเปลี่ยนความมคิดเห็นจากประชาชน ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ อีกหลากหลายประเด็น มีข้อเสนอจากหลายภาคส่วน อาทิ ความพร้อมของอำเภอแม่เมาะที่มีสาธารณูปโภคพื้นฐานที่สามารถต่อยอดได้ทั้งในเรื่องของวิสาหกิจชุมชน หรือการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ตลอดจนการเป็นจุดศูนย์กลางของการพัฒนาการคมนาคมรองรับผลิตภัณฑ์ชีวมวลจากพื้นที่ต่าง ๆ มาใช้ในการผลิตพลังงานไฟฟ้าต่อเนื่อง

หากพิจารณาจากวาระของการเปลี่ยนผ่านพลังงาน มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาชน, ผู้นำระดับท้องถิ่น, หน่วยงานราชการ ตลอดจนภาคส่วนต่าง ๆ จำเป็นต้องบูรณาการทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง ต่อการแสวงหาทางออกให้แก่อำเภอแม่เมาะ จุดแข็งที่สุดในเวลานี้ คือ ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถเดินหน้าสร้างการเปลี่ยนแปลง ขาดเพียงแค่การเชื่อมร้อยทุกองคาพยพให้มาขับเคลื่อนร่วมกัน ปัจจุบันไม่เพียงแค่อำเภอแม่เมาะ แม้แต่จังหวัดลำปาง มีทุกอย่างครบครัน การคมนาคมไม่ว่าจะเป็นท้องถนน เส้นทางรถไฟ หรือท่าอากาศยาน หากมีการริเริ่มทำงานจากทุกภาคส่วนคงช่วยให้อำเภอแม่เมาะและจังหวัดลำปางไปต่อได้

สิ่งที่เราทุกคน ทุกหน่วยงาน ต้องดำเนินการเตรียมรับมือ คือ การรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อกำหนดแผนการรองรับที่จะเป็นประโยชน์ต่อการรองรับสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น พลิกวิกฤติให้กลายเป็นโอกาส นำร่องการนำโครงการพลังงานหมุนเวียนมาริเริ่มในพื้นที่” คุณชลธานี เชื้อน้อย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ลำปาง เขต 3 พรรคประชาชน กล่าวทิ้งท้าย

อ้างอิง

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง