เครือข่ายเลือกตั้งผู้ว่าฯเชียงใหม่ แถลงวิกฤตฝุ่น PM2.5 แนะรัฐแก้ปัญหา ตามพื้นที่-เร่งออก พ.ร.บ.อากาศสะอาด

9 เมษายน 2565 เวลา 13.00 น. ภาคีเครือข่ายเลือกตั้งผู้ว่าเชียงใหม่และภาคีเครือข่ายประชาชน ได้จัดเวทีหาทางออกและแภลงการณ์ “วิกฤตฝุ่นควันเชียงใหม่” ณ ห้องประชุมอาคารศิริพานิช เชียงใหม่ ภายในงานเริ่มด้วยการร่วมกันพูดคุยถึงต้นตอของปัญหา รวมถึงแลกเปลี่ยนสาเหตุตามข้อเท็จจริงที่ทำให้ยังไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ปัญหานี้ได้ รวมไปถึงคาดการสถานการณ์และทิศทางที่รัฐควรดำเนินงานต่อไปในอนาคต

ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานคณะกรรมการอำนวยการสภาลมหายใจเชียงใหม่ อธิบายการดำเนินงานที่ผ่านมาของรัฐว่า 1.รัฐมีการทำงานเป็นช่วง แก้ไขแค่ตอนเกิดสถานการณ์ ไม่มีการเตรียมการล่วงหน้า 2.การทำงานของรัฐมีการทำงานแบบ Top Down หรือบนลงล่าง รอการสั่งการจากส่วนกลาง 3.มาตรการห้ามเผา หรือใครเผาถูกจับ เป็นมาตรการที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้หากยังมีการเผาที่ไม่สามารถควบคุมได้ 4.การใช้กฎหมายสาธารณะภัย เป็นการบังคับใช้เฉพาะช่วงที่เกิดวิกฤตเท่านั้น ทำให้ยังเกิดปัญหาซ้ำซาก อีกทั้งการไม่เข้าใจบริบททางพื้นที่ของรัฐเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านแล้วไม่ทำให้ปัญหานี้หมดไป 

“ข้อเรียกร้องของผมคือ ทำอย่างไรที่จะเร่งรัดออกกฎหมาย พ.ร.บ.อากาศสะอาด มาเป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาภายในปี 2568 เพราะการแก้ปัญหาแบบเดิม กฎหมายแบบเดิมไม่สามารถนำมาใช้แก้ไขได้ บริบทของแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน การแก้ปัญหาแต่ละพื้นที่ก็จะไม่เหมือนกัน จึงต้องมีการกระจายอำนาจเพื่อแก้ไขปัญหา และคนในพื้นที่ต้องลุกขึ้นมาต่อสู้กับปัญหา ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการสรุปและออกความคิดเห็นต่อปัญหา” ชัชวาลย์ กล่าว

แต่กลับกัน ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สส. บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล คาดการณ์ว่า พ.ร.บ.อากาศสะอาด ที่ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ คาดหวังว่าจะได้ใช้ภายในปี 2568 นั้น เป็นไปได้น้อยมาก เนื่องจากมีการร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด 7 ฉบับ และแต่ละฉบับต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาหลายขั้นตอน แต่ละขั้นตอนต้องใช้เวลาอย่างน้อยไม่ตำ่กว่า 30 วัน 

“ในส่วนของ พ.ร.บ.อากาศสะอาด ผมมองว่า ในปี 68 อาจจะไม่ทัน การคลอดกฎหมายที่รวดเร็วอาจจะทำให้กฎหมายนั้นมีประสิทธิภาพไม่ดีเท่าที่ควร” ภัทรพงษ์ กล่าว

ในส่วนของ ธเนศวร์ เจริญเมือง ศาสตราจารย์เกียรติคุณ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เสนอให้มีการเผยแพร่ความรู้ให้กับประชาชน เพื่อให้ทุกคนตื่นตัวและรับรู้ถึงขอบเขตรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงาน

“เราถูกสั่งสอนให้อยู่กับระบบราชการ แต่ไม่รู้ว่าระบบการจัดการดูแลไฟป่ามีกี่หน่วยที่รับผิดชอบ หน่วยงานไหนบ้างที่ได้งานแต่ไม่ได้งบ เพราะฉะนั้นเป็นภารกิจที่ต้องให้ความรู้ประชาชน ผลักดันให้ประชาชนออกมารับรู้มากกว่านี้”  ธเนศวร์ กล่าว

ธเนศวร์ กล่าวปิดว่าท้ายว่าต้องติดตามสถานการณ์ฝุ่นอย่างใกล้ชิด หลังจากที่ทางผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย เขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน อัคคีภัย ไฟป่า ในพื้นที่ อ.เชียงดาว, อ.แม่แตง, อ.ไชยปราการ, อ.ฝาง และ อ.พร้าว เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีไฟไหม้ป่าเกิดขึ้นจำนวนมาก ติดต่อกันหลายวัน แต่ยังไร้วี่แววการประกาศทั้งจังหวัด หรือแม้แต่การประกาศจากจังหวัดข้างเคียง 

พื้นที่สื่อสาร สังคมประชาธิปไตย ชีวิตใหม่ที่ดีกว่า

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

slot deposit pulsa slot mahjong