ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ยกฟ้อง ‘รามิล’ คดี 112 กรณีแสดงสด หน้ามช.

4 กันยายน 2567 เวลา 9.00 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุายชน (TLHR) รายงานว่า ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 11 ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำพิพากษาตัดสินยืนตามศาลชั้นต้น ยกฟ้อง ‘รามิล’ หรือ ศิวัญชลี วิธญเสรีวัฒน์ อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสมาชิกกลุ่ม artn’t ที่ถูกฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากกรณีแสดง Performance art หรือ ศิลปะการแสดงสด ที่หน้าป้ายมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2564 โดย เห็นว่าพยานโจทก์ไม่น่าเชื่อถือ เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ส่งหลักฐานคลิปวิดีโอการแสดง ทั้งที่เป็นหลักฐานสำคัญ การแสดงของจำเลยแม้ไม่เหมาะสมบ้าง แต่ไม่ถึงขนาดเป็นความผิดมาตรา 112 และเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ

คดีนี้มี พ.ต.ท.อานนท์ เชิดชูตระกูลทอง ตำรวจฝ่ายสืบสวนของ สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ เป็นผู้กล่าวหา ข้อต่อสู้สำคัญของจำเลยได้แก่ กิจกรรมที่เกิดขึ้นเป็นการเรียกร้องสิทธิประกันตัวผู้ต้องหาคดีการเมือง อีกทั้งบริเวณที่เกิดเหตุหน้าป้ายมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นสถานที่ซึ่งมีการจัดกิจกรรมเรียกร้องทางการเมืองอยู่เป็นประจำ จำเลยไม่ได้มีเจตนากระทำการตามที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด รวมทั้งการดูศิลปะการแสดงสดต้องดูตลอดทั้งการแสดง ไม่ใช่การตัดเฉพาะภาพถ่ายเพียงภาพเดียวมากล่าวหาและพิจารณาเจตนาของจำเลย

เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2566 ศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำพิพากษายกฟ้องคดี โดยเห็นว่าไม่มีพยานโจทก์ปากใดที่ชี้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการอาฆาตมาดร้าย ส่วนการหมิ่นประมาทนั้นจะต้องมีการใส่ความด้วยการชี้ยืนยันข้อเท็จจริงบางประการ ส่วนการดูหมิ่นก็ต้องระบุตัวบุคคลให้รู้ได้แน่นอนว่าเป็นใคร 

พยานหลักฐานโจทก์จึงยังชี้ไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำอาฆาตมาดร้าย ดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาท อีกทั้งการแสดงของจำเลยไม่ได้เจาะจงตัวบุคคล ประกอบกับป้ายหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นสถานที่ชุมนุมอยู่เป็นประจำ การแสดงกิจกรรมดังกล่าวก็เรียกร้องเรื่องสิทธิการประกันตัว  

อีกทั้งไม่มีพยานโจทก์ที่เบิกความยืนยันว่าจำเลยจงใจกระทำต่อพระบรมฉายาลักษณ์และข้อความ “ทรงพระเจริญ” ส่วนการเข้าร่วมการชุมนุมของจำเลยที่ผ่านมา ก็ไม่ใช่เครื่องยืนยันการกระทำความผิดของจำเลย รวมทั้งพยานโจทก์ได้เบิกความถึงคลิปวิดีโอภาพเคลื่อนไหวซึ่งเป็นพยานหลักฐานในคดี แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีการนำส่งเข้ามาในการพิจารณาคดีนี้ จึงทำให้พยานหลักฐานโจทก์ยังมีข้อพิรุธสงสัย พิพากษายกฟ้องจำเลย

ต่อมา เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2566 นาตยา สาลักษณ์ พนักงานอัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักงานการสอบสวน ช่วยราชการสำนักงานคดีศาลสูงภาค 5 ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาคดีนี้ 

โดยสรุปโจทก์พยายามยืนยันว่าแม้กิจกรรมของจำเลยไม่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์อย่างชัดแจ้งก็ตาม แต่การแสดงดังกล่าวเจตนาเลือกบริเวณที่มีป้ายข้อความ “ทรงพระเจริญ” และมีพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 โดยมีการใช้น้ำสีแดงเทราดใส่ตัว และกระเด็นไปเลอะเทอะเปรอะเปื้อนพระบรมฉายาลักษณ์ 

อัยการยังย้ำว่าจำเลยมีการแสดงท่าทางต่าง ๆ ทั้งแสดงท่าคล้ายครุฑ และนอนหงายโดยใช้เท้าขวาซึ่งเป็นอวัยวะเบื้องต่ำชี้ไปที่พระบรมฉายาลักษณ์ การกระทำของจำเลยไม่แสดงออกถึงความสวยงาม ไม่เป็นที่ยอมรับในทางศิลปะ เป็นการแสดงที่ไม่ถวายพระเกียรติยศต่อพระมหากษัตริย์ เป็นการไม่บังควรและไม่เหมาะสมต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นที่รักและเคารพของประชาชนชาวไทย อันเป็นการแสดงออกทางกิริยาท่าทางจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น หมิ่นประมาท และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยพยานโจทก์เองก็เบิกความให้ความเห็นสรุปได้ว่าการกระทำของจำเลยไม่เหมาะสม และไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์

โจทก์ยังอ้างว่าป้ายข้อความ “คืนสิทธิประกันตัวให้ประชาชน” ก็ทำให้เข้าใจได้ว่าพระมหากษัตริย์เป็นผู้สนับสนุนผู้นำรัฐบาล ให้กระทำการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งจำเลยมีเจตนาให้ประชาชนเกิดความแตกแยกและเคลือบแคลงสงสัยในพระมหากษัตริย์ และระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แล้วออกมาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก เพื่อก่อความไม่สงบในบ้านเมือง อันเป็นการทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้  

อัยการอ้างว่าที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โดยวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยไม่ใช่การหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ เป็นการรับฟังพยานหลักฐานที่คลาดเคลื่อนไป จึงได้ขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 กลับคำพิพากษาในคดีนี้

ขณะเดียวกันทางฝ่ายจำเลย ก็ได้ยื่นคำร้องแก้อุทธรณ์ดังกล่าวของโจทก์ โดยประเด็นแรก ได้โต้แย้งโจทก์ว่าในทางกฎหมายอาญาแล้ว การหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรืออาฆาตมาดร้าย ย่อมไม่ได้กินความหมายรวมถึง การนิ่งเฉย การแสดงความไม่เคารพ การวิพากษ์วิจารณ์ หรือการประชดประชัน รวมถึงการกล่าวถึงหรือกระทำการใด ๆ ต่อสิ่งแทนตน สัญลักษณ์ รูปถ่าย การตีความมาตรา 112 ซึ่งเป็นกฎหมายอาญาที่กำหนดโทษไว้รุนแรง ต้องตีความโดยเคร่งครัด ไม่ก่อให้เกิดการขยายความจนขัดต่อหลักกฎหมายอาญา  

รวมทั้งพยายามโต้แย้งการตีความมาตรา 112 ไปเชื่อมโยงกับมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ว่าทั้งสองเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวพันหรือเชื่อมโยงกันแต่อย่างใด

ในส่วนการแสดงออกของจำเลยในวันเกิดเหตุ ยืนยันว่าจำเลยต้องการเรียกร้องให้คืนสิทธิการประกันตัวต่อผู้ต้องขังทางการเมือง และมีข้อเรียกร้องต่อมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปัญหาจากกรณีข้อพิพาทในคณะวิจิตรศิลป์ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพระบรมฉายาลักษณ์และสถาบันกษัตริย์ สถานที่แสดงออกที่หน้ามหาวิทยาลัย ก็เป็นสถานที่ที่ผู้ชุมนุมหรือแสดงออกทางการเมืองมักเลือกใช้อยู่เป็นประจำ และสามารถสื่อถึงมหาวิทยาลัยได้ชัดเจนที่สุด 

การแสดงของจำเลยยังมิได้วางแผนจะแสดงออกด้วยท่าทางใด แต่เป็นการเคลื่อนไหวร่างกายไปตามอารมณ์ความรู้สึก ดังที่พยานจำเลยเบิกความถึงการแสดงที่เรียกว่า “ศิลปะการแสดงสด” (Performance Art) ซึ่งเป็นศิลปะแขนงหนึ่ง ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวร่างกาย อาจจะเคลื่อนไหวตลอดเวลา หรือหยุดเป็นบางช่วงก็ได้ จำเป็นต้องดูการแสดงอย่างต่อเนื่อง ไม่สามารถดูจากบางช่วงบางตอน หรือเพียงจากภาพใดภาพหนึ่งเท่านั้น

พยานโจทก์ที่มาเบิกความนั้น ต่างก็ไม่ได้เห็นเหตุการณ์ที่จำเลยแสดง เพียงแต่ดูภาพถ่ายซึ่งเป็นภาพนิ่งตามที่ตำรวจให้ดู ไม่ได้ดูภาพเคลื่อนไหวของการแสดง ภาพนิ่งยังขึ้นอยู่กับมุมกล้องและความเห็นของผู้ถ่ายภาพ ซึ่งก่อให้เกิดให้ความหมายและตีความภาพที่ต่างกัน

จากหลักฐานและคำให้การพยาน ล้วนไม่มีพยานปากใดเห็นว่าพระบรมฉายาลักษณ์เปรอะเปื้อนด้วยเหตุใด หรือว่าจำเลยมีการกระทำใดที่เป็นการเจตนาทำให้พระบรมฉายาลักษณ์เปรอะเปื้อน มีเพียงการคาดคะเนของผู้กล่าวหา ที่เห็นว่าจำเลยตัวเปื้อนสีแดง และสีย่อมกระเด็นไปถูกพระบรมฉายาลักษณ์เท่านั้น โดยที่ก็ไม่ปรากฏว่าป้าย “ทรงพระเจริญ” หรือป้ายชื่อมหาวิทยาลัยเปรอะเปื้อนด้วยแต่อย่างใด

ทั้งการตีความว่าจำเลยแสดงท่าครุฑนั้น จำเลยก็มิได้แสดงแต่อย่างใด เป็นการตีความของโจทก์บางปากเอง พยานโจทก์หลายปากก็รับว่าไม่ทราบว่าภาพถ่ายการแสดงของจำเลยดังกล่าวสื่อถึงท่าใด และพยานโจทก์ผู้เชี่ยวชาญด้านนาฏศิลป์ไทยก็รับว่า ครุฑไม่ใช่บุคคล และไม่ได้หมายถึงพระมหากษัตริย์

ส่วนอุทธรณ์ที่อ้างว่าป้ายข้อความ “คืนสิทธิประกันตัวให้ประชาชน” ทำให้เข้าใจได้ว่าพระมหากษัตริย์เป็นผู้สนับสนุนผู้นำรัฐบาล ให้กระทำการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนนั้น ก็ไม่มีพยานโจทก์แม้แต่ปากเดียวเบิกความในลักษณะดังกล่าวตามที่โจทก์อุทธรณ์

ทั้งหลักฐานโจทก์ยังมีข้อพิรุธสงสัย โดยพนักงานสอบสวนมิได้นำส่งคลิปวิดีโอหรือการบันทึกภาพเคลื่อนไหวการแสดงของจำเลย ทั้งที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจให้การว่าได้บันทึกไว้ และได้มอบให้พนักงานสอบสวนแล้ว ผิดไปจากปกติวิสัยในการสอบสวนที่ต้องสอบสวนให้ได้ข้อเท็จจริงเพียงพอ และการไม่นำภาพเคลื่อนไหวมาเป็นหลักฐานในสำนวน หรือให้พยานโจทก์ดูและตีความเพื่อให้เกิดความชัดเจน ล้วนไม่มีเหตุผลเพียงพอ ชี้ถึงความพิรุธสงสัยในพยานหลักฐาน

โดยสรุปแล้ว จำเลยยืนยันว่าการแสดงสดของจำเลยนั้นมิได้เป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด พยานหลักฐานโจทก์ล้วนไม่มีน้ำหนักเพียงพอ จึงขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืนยกฟ้องคดีนี้ตามศาลชั้นต้น

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง