คนพิษณุโลกโวยขยะล้นเมือง เหตุปิดบ่อขยะบ้านปากโทก

เรื่อง: สุมาพร สารพินิจ

จากประเด็นร้อนสั่งปิดบ่อขยะฯ บ้านปากโทก ตามประกาศปิดปรับปรุงชั่วคราว 7 วัน ตั้งแต่วันอังคารที่ 27 สิงหาคม 2567 ส่งผลให้บ่อฝังกลบขยะฯ บริษัท ไทมีดี เพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด ถูกปิดปรับปรุงชั่วคราว ตามเสียงสะท้อนถึงความเดือดร้อนของชาวบ้านในพื้นที่ร่วม 100 คน

ย้อนไปเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 ณ ลานอเนกประสงค์ หมู่ 5 ตำบลปากโทก อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ได้มีเวทีเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อโครงการกำจัดขยะมูลฝอยด้วยวิธีการฝังกลบแบบถูกหลักสุขาภิบาล เพื่อประกอบการขอใบอนุญาตกำจัดขยะฯ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องหลักเกณฑ์ในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2561 โดยมีนายอำเภอเมืองจังหวัดพิษณุโลกร่วมเป็นประธานพบว่าระหว่างการรับฟังความคิดเห็นได้มีกลุ่มชาวบ้านจากหมู่ 2 หมู่ 6 หมู่ 7 ตำบลปากโทก ประมาณ 200 คน รวมกลุ่มกันชูป้ายคัดค้านไม่เอาบ่อขยะ เหตุเพราะเคยมีการนำขยะจากหลายอำเภอมาทิ้งในเขตตำบลหัวรอ 

ปัจจุบันบ่อขยะล้นเกินกว่าจะรับขยะมาทิ้งเพิ่มได้อีก ชาวบ้านต้องทนต่อกลิ่นเหม็นรบกวนตลอดทั้งวัน ทั้งน้ำเสียที่ถูกปล่อยจากบ่อขยะปนเปื้อนอยู่ในน้ำบาดาลที่ชาวบ้านใช้อุปโภค บริโภค สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านมาแล้วตั้ง 6 ปี เกิดความกังวลต่อการขยายบ่อขยะฯเพิ่ม เพราะไม่มั่นใจว่าทางบริษัทจะสามารถรักษามาตรฐานได้” เสียงของนางเอ (นามสมมุติ) ชาวบ้านในพื้นที่กล่าว

ภายหลังการคัดค้านของประชาชน ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2567 อัครโชค สุวรรณทอง จัดทำรายงานผลการประชุมคัดค้านการดำเนินกิจการบ่อฝังกลบขยะฯ ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ระบุว่า หลังจากได้รับฟังเสียงเรียกร้องคัดค้านของประชาชนในตำบลปากโทก จึงได้จัดประชุมและมีมติร่วมกันคือ องค์การบริหารส่วนตำบลปากโทกจะดำเนินการปิดประกาศ ปิดปรับปรุงชั่วคราว 7 วัน ตังแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2567 เป็นต้นไป รวมถึงห้ามการดำเนินกิจการต่อเนื่อง และให้ขนขยะออกจากพื้นที่ พร้อมเรียนเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกและคณะทำงานฯ ลงพื้นที่เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป

(รายงานผลการประชุมคัดค้านการดำเนินกิจการบ่อฝังกลบขยะของบริษัท ไทมีดีเพื่อสิ่งแวดล้อมจำกัด ภาพ: คมชัดลึก https://www.komchadluek.net/news/general-news/584021

ด้าน พญา ธาราวุฒิ กรรมการผู้จัดการบริษัท ไทมีดี จำกัด ชี้แจ้งว่า บริษัท ไทมีดี จำกัด รับกำจัดขยะตามองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพิษณุโลกจำนวน 35 แห่ง ยกเว้น อำเภอนครไทย และ อำเภอชาติตระการ ส่งผลให้บ่อขยะเต็มเร็วเกินกว่าที่คาดไว้ จึงต้องการขยายบ่อขยะเพื่อเพิ่มโรงงาน RDF สำหรับการคัดแยกขยะและส่งเสริมการสร้างรายได้ให้ชาวบ้านในชุมชนปากโทก พร้อมยืนยันว่าบริษัทของตนทำถูกต้องตามหลักสุขาภิบาลอย่างแน่นอน

ในเวลาต่อมา หลังจากการประชุมวันที่ 26 สิงหาคม 2567 ทำให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งได้ประกาศงดเก็บขยะชั่วคราว ทั้ง 32 พื้นที่ ได้แก่

1.เทศบาลเมืองอรัญญิก

2.เทศบาลตำบลบ้านคลอง

3.เทศบาลตำบลท่าทอง

4.เทศบาลตำบลหัวรอ

5.เทศบาลตำบลพลายชุมพล

6.เทศบาลตำบลบ้านใหม่

7.เทศบาลตำบลบางกระทุ่ม

8.เทศบาลตำบลห้วยแก้ว

9.เทศบาลตำบลเนินกุ่ม

10.เทศบาลตำบลบางระกำ

11.เทศบาลตำบลบางระกำเมืองใหม่

12.เทศบาลตำบลวังทอง

13.เทศบาลตำบลพรหมพิราม

14.เทศบาลตำบลลวงฆ้อง

15.เทศบาลตำบลวัดโบสถ์

16.เทศบาลตำบลเนินมะปราง

17.องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกร่าง

18.องค์การบริหารส่วนตำบลสมอแข

19.องค์การบริหารส่วนตำบลท่าโพธิ์

20.องค์การบริหารส่วนตำบลบึงพระ

21.องค์การบริหารส่วนตำบลดอนทอง

22.องค์การบริหารส่วนตำบลวัดจันทร์

23.องค์การบริหารส่วนตำบลไผ่ขอดอน

24.องค์การบริหารส่วนตำบลวัดพริก

25.องค์การบริหารส่วนตำบลปากโทก

26.องค์การบริหารส่วนตำบลแก่งโสภา

27.องค์การบริหารส่วนตำบลวงพิกุล

28.องค์การบริหารส่วนตำบลวังทอง

29.องค์การบริหารส่วนตำบลหนองแขม

30.องค์การบริหารส่วนตำบลพรหมพิราม

31.องค์การบริหารส่วนตำบลท่าตาล

32.องค์การบริหารส่วนตำบลหนงกุลา

ทั้งนี้ได้มีการยกเว้นเทศบาลนครพิษณุโลก เนื่องจากการจัดเก็บขยะเป็นหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่ง เทศบาลนครพิษณุโลกจึงไม่ประกาศงดเว้นการเก็บขยะและปฏิบัติการจัดเก็บขยะตามเดิม ตามที่ ณัฐทรัชต์ ชามพูนท ได้โพสต์เฟสบุ้คเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ว่า “เทศบาลนครพิษณุโลกยืนยันให้บริการจัดเก็บขยะตามปกติ” และข้อความ “ทำเต็มที่ พร้อมรับมือ” พร้อมรูปภาพลงพื้นที่กับ เปรมฤดี ชามพูนท นายกเทศบาลนครพิษณุโลก เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2567

โดยเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2567 ภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก พร้อมด้วยคณะกรรมการจัดการสิ่งปฏิกูล และมูลฝอยจังหวัดพิษณุโลก ได้เข้าร่วมฟังความเดือดร้อนของประชาชน และเน้นย้ำถึงการดำเนินการตามโครงการ “พิษณุโลก เมืองใช้ประโยชน์จากขยะ”

โครงการ “พิษณุโลก เมืองใช้ประโยชน์จากขยะ (Phitsanulok,the City of Recycling)” เป็นแผนการจัดการขยะของจังหวัดพิษณุโลกปี 2567 โดยขับเคลื่อนครอบคลุม 6 กลุ่มเป้าหมาย  ได้แก่ 1.ครัวเรือน 2.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 3.สถาบันการศึกษา 4.ศาสนสถาน  5.ส่วนราชการ และ 6.ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่  รวมไปถึงตลาดสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  เพื่อให้การดำเนินการบริหารจัดการขยะของจังหวัดพิษณุโลก เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ยังได้เรียนนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง กำนันทุกตำบลและผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้าน เพื่อดำเนินแนวทางการจัดการขยะ 4 มาตรการ ได้แก่

1.มาตรการคัดแยกขยะของครัวเรือน

2.มาตรการการใช้ประโยชน์จากขยะของครัวเรือน

3.มาตรการกำจัดขยะให้ถูกวิธี

4.มาตรการสร้างการมีส่วนร่วมของครัวเรือนกับโครงการ “พิษณุโลก เมืองใช้ประโยชน์จากขยะ (Phitsanulok, the City of Recycling)” โดยทางจังหวัดได้สั่งการให้ทุกหมู่บ้านดำเนินการจัดตั้งธนาคารขยะ เพื่อให้เกิดการจัดการขยะต้นทางจากครัวเรือน

ในวันเดียวกัน เวลา 14.00 น. ที่ศาลาการเปรียญวัดบ่อทองคำ ตำบลหัวรอ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก พร้อมด้วย ทรงพล วิชัยขัทคะ รองผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 32 แห่ง มหาวิทยาลัยนเรศวร หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และชาวบ้านในพื้นที่หมู่ 2 หมู่ 7 ตำบลปากโทก และหมู่ 11 ตำบลหัวรอ รวมกว่า 200 คน ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อปัญหาการจัดการขยะ

จนเกิดเป็นข้อสรุปมาตรการแก้ไข 5 ข้อ ดังนี้ 

1.ให้นำหลักการพิษณุโลกเมืองใช้ประโยชน์จากขยะ มาใช้อย่างเข้มข้น 

2.ให้ อปท. ที่มีบ่อขยะเก่าปรับปรุงบ่อขยะ ให้เป็นไปตามสุขาภิบาล และให้รายงานผลการปรับปรุงให้คณะกรรมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยจังหวัดพิษณุโลก ทราบภายใน 7 วัน 

3.ให้เทศบาลนครพิษณุโลก ขอความเห็นชอบในการนำขยะไปดำเนินการกำจัดขยะ ดังนี้ ใช้สถานที่ (ขนถ่าย) ที่ตำบลท่าทอง อำเภอเมืองเมืองพิษณุโลก ใช้แหล่งกำจัดขยะ ที่ตำบลบึงกอก อำเภอบางระกำ 

4.เห็นชอบให้ อปท. ทั้ง 33 แห่ง ที่ไม่สามารถทำการกำจัดขยะที่ตำบลปากโทกได้ ให้ขนขยะข้ามเขต เพื่อนำไปกำจัดที่สถานที่กำจัดขยะ ที่จังหวัดนครสวรรค์ 

5.ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้ง 33 แห่ง จัดทำแผนการบริหารจัดการขยะในพื้นที่ต่อคณะกรรมการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยจังหวัดพิษณุโลก ภายใน 7 วัน และเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชน

6.ให้ อปท. ทุกแห่ง กวดขันการทิ้งขยะในที่สาธารณะ หากพบให้ดำเนินการฯ อย่างเข้มงวด เพื่อให้เกิดความสะอาดและเป็นระเบียบในพื้นที่

รัฐต้องจัดการ ‘ขยะล้นเมือง’ ปัญหาที่ประชาชนรับมือไม่ทัน

ขณะเดียวกัน หลายอำเภอและตำบลต่างก็ได้รับผลกระทบจากการหาวิธีกำจัดขยะมูลฝอย ในพื้นที่ตำบลท่าโพธิ์ อ.เมืองพิษณุโลก ซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยนเรศวร มีจำนวนประชากรประมาณ 30,000 คน กำลังประสบปัญหาด้านพื้นที่ทิ้งขยะ ไม่ว่าจะเป็นบริเวณรอบมหาวิทยาลัย ถนนเลียบคลองชลประทาน และชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัย ต่างได้รับความเดือดร้อนจากกลิ่นเหม็นเน่า เนื่องจากจุดทิ้งขยะมีขยะเต็มล้นแทบทุกที่ ทำให้ขาดแคลนพื้นที่ทิ้งขยะตามหลักสุขอนามัย บ้างก็ถูกทิ้งตามข้างทางถนน บ้างก็ถูกกองเรียงไว้อย่างกระจัดกระจาย

(กองขยะหน้าหอพักนอกมหาวิทยาลัยนเรศวร ภาพ: สุมาพร สารพินิจ)

ภายหลังปัญหาขยะล้นจนสร้างกลิ่นเหม็นรอบมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้มีมาตรการในการขอความช่วยเหลือในการจัดการขยะ โดยได้ประกาศขอความร่วมมือเพื่อลดการใช้ขยะพลาสติก โฟม หรือกระดาษที่เป็นภาชนะบรรจุอาหาร และเริ่มการจัดสรรจุดทิ้งขยะและถังสำหรับคัดแยกขยะอย่างชัดเจน 

(ร้านอาหารในมหาวิทยาลัยเริ่มติดป้ายชักชวนให้นิสิตลดการใช้ภาชนะพลาสติกหรือโฟม ผ่านการลดราคา 2 บาท ภาพ: สุมาพร สารพินิจ)
(จุดทิ้งและคัดแยกขยะอาคารเรียนรวมปราบไตรจักร มหาวิทยาลัยนเรศวร ภาพ: นิสารัตน์ แสงเลื่อม)

ด้าน ดร.ศุภสิทธิ์ ต๊ะนา อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยาวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ให้ความเห็นต่อปัญหาการจัดการขยะขยะ ในพื้นที่ตำบลท่าโพธิ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ไว้ว่า สถานการณ์รอบมหาลัยนเรศวร หากเทียบกับจำนวนประชากรแทบจะเทียบเท่าประชากร 1 อำเภอ ส่งผลให้คนที่อาศัยโดยรอบมหาลัยจึงมีความหลากหลาย มีการค้าขาย มีร้านค้า ร้านสะดวกซื้อค่อนข้างเยอะ การทิ้งขยะไม่ว่าใครก็ตามทั้งรอบมหาลัยและพื้นที่อื่น รวมไปถึงที่ผ่านมาไม่ได้ตั้งรับมือกับประเด็นปัญหาการจัดการขยะมากพอ เนื่องจากเป็นประเด็นที่เร่งด่วนตามคำสั่งศาล เมื่อถูกสั่งปิดบ่อขยะ เลยไม่มีมาตรการที่จะรองรับเมื่อขยะเพิ่มมากขึ้น 

ศุภสิทธิ์ ได้ตั้งคำถามว่า ต่อไปในอนาคตท้องถิ่นในพื้นที่จะสามารถบริหารจัดการได้มากน้อยอย่างไร เพราะบ่อขยะหลายบ่อในจังหวัดพิษณุโลกที่ถูกปิดไปก็ไม่สามารถจะเปิดใช้บริการได้ สถานการณ์ขยะรอบมหาวิทยาลัยนเรศวรแทบที่จะรับมือได้น้อยเพราะมีจำนวนประชากรที่เยอะหากเทียบกับชุมชนอื่น แต่มหาลัยเป็นพื้นที่เปิด ส่งผลให้จำนวนปริมาณขยะมีจำนวนมาก เกรงว่าจะเกิดปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมและขยะเน่าเสียตามมา 

“การจัดการขยะควรที่จะให้ท้องถิ่นและพี่น้องประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ร่วมมือกัน โดยเริ่มจากการช่วยกันจัดหาพัสดุอุปกรณ์ก่อน เพราะสถานการณ์ค่อนข้างไว ต้องจัดการในครอบครัว ร้านค้า หรือพื้นที่ของตัวเองก่อน” ศุภสิทธิ์ กล่าว

องค์การบริหารส่วนตำบลท่าโพธิ์เริ่มทยอยจัดเก็บขยะในเวลาประมาณ 4 ทุ่ม ของวันที่ 2 กันยายน 2567 โดยมีผู้ใช้เฟสบุ้คโพสต์ข้อความระบุว่า “มาแว้วๆๆๆๆรถที่ชาวพิษณุโลกรอคอยมาหลายวัน”

ล่าสุด วันที่ 3 กันยายน 2567 ชาวบ้านตำบลบึงกอก อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก จำนวนกว่า 300 คน พร้อมด้วยกำนันตำบลบึงกอก สุนทร หิรัญทับทิม รวมตัวกันยื่นหนังสือคัดค้านถึงวันชัย ไกรเกตุ นายก อบต.บึงกอก หากมีการนำขยะจากเทศบาลนครพิษณุโลก และพื้นที่อื่น ๆ มาทิ้งที่บ่อขยะฯ เก่า ซึ่งเคยเปิดรับกำจัดขยะเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ชาวบ้านพร้อมทำประชาพิจารณ์คัดค้านการปรับปรุงและเปิดใช้บ่อขยะเพื่อแก้ปัญหาขยะในปัจจุบัน ทั้งนี้ การจัดการขยะมูลฝอยในจังหวัดพิษณุโลกยังคงยึดตามมติที่ประชุม คณะกรรมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยจังหวัดพิษณุโลก เรื่องเน้นย้ำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเร่งดำเนินการตาม 6 มาตรการ ดังที่กล่าวข้างต้น เพื่อรับมือปัญหาการจัดการขยะต่อไป

อ้างอิงข้อมูล

  • ล่มก่อนเริ่ม! คนปากโทก พิษณุโลก ฮือต้านเต็มเวที ค้านเอกชนขยายบ่อขยะ 200 ไร่ ครวญทนมา 6 ปียังแก้ไม่ตก สืบค้นจาก https://mgronline.com/local/detail/9670000031144 วันที่ 30 สิงหาคม 2567
  • เช็กรายชื่อ อปท. 33 แห่ง เมืองพิษณุโลก หยุดเก็บขยะชั่วคราว สืบค้นจาก https://www.komchadluek.net/news/general-news/584021 วันที่ 30 สิงหาคม 2567
  • อัครโชค สุวรรณทอง, รายงานผลการประชุมคัดค้านการดำเนินกิจการบ่อฝั่งกลบขยะของบริษัท ไทมีดีเพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด, (พิษณุโลก: สำนักงานส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นอำเภอเมืองพิษณุโลก,วันที่ 24 สิงหาคม 2567).
  • ณัฐทรัชต์ ชามพูนท, เทศบาลนครพิษณุโลกยืนยัน ให้บริการจัดเก็บขยะตามปกติ, สืบค้นจาก  https://www.facebook.com/share/p/xARXov9knT6NV5qh/, (เข้าถึงเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2567).
  • ณัฐทรัชต์ ชามพูนท, ทำเต็มที่ พร้อมรับมือ, สืบค้นจาก  https://www.facebook.com/share/p/guxTd3aQQqvdUgsU/, (เข้าถึงเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2567).
  • อัครโชค สุวรรณทอง, การจัดตั้งธนาคารขยะของหมู่บ้าน “ตามแผนการดำเนินงาน พิษณุโลก เมืองใช้ประโยชน์จากขยะ”, (พิษณุโลก: สำนักงานส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นอำเภอเมืองพิษณุโลก,วันที่ 28 สิงหาคม 2567).
  • สื่อประชาสัมพันธ์จังหวัดพิษณุโลก, ผวจ.พิษณุโลก นำ 32 อปท. และ มน. เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนในพื้นที่บ่อขยะ เพื่อหาแนวทางยุติปัญหาสถานที่กำจัดขยะมูลฝอย เสนอใช้หลักการ “พิษณุโลก เมืองใช้ประโยชน์จากขยะ” แก้ปัญหาในระยะยาว, สืบค้นจาก https://www.facebook.com/share/p/2pCSPxo7dBZ5Dwag/, เข้าถึงเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2567. 
  • Padipat Suntiphada – ปดิพัทธ์ สันติภาดา, สืบค้นจาก  https://www.facebook.com/share/p/W1TXo2mY3GL8G82x/?mibextid=WC7FNe, (เข้าถึงเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2567).

ข่าวที่เกี่ยวข้อง