5 มกราคม 2567 ศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่นัดอ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุดในคดีฟ้องฝุ่น PM2.5 ภาคเหนือ โดยมีคำสั่งไม่รับฟ้อง ผู้ถูกฟ้องที่ 3 คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์และผู้ถูกฟ้องที่ 4 คณะกรรมการกำกับตลาดทุน ตามที่ยื่นอุทธรณ์ไปในวันที่ 18 พฤษภาคม 2566 ณ ศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่เวลา 10.00 น.
โดยกรกนก วัฒนภูมิ ทนายความในคดีดังกล่าว อธิบายว่า ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติ หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ ไม่ได้มีการแก้ที่ให้อำนาจผู้ถูกฟ้องที่ 3 และที่ 4 แก้ตัว 56-1 One Report ในการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน ถึงแม้คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ จะอยู่ในแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน National Action Plan on Business and Human. Rights: NAP ว่าเป็นกรอบให้หน่วยงานปฏิบัติแต่ก็ยังเป็นเพียงแค่แผน ยังไม่ได้เป็นกฏหมาย เพราะฉะนั้นก็ยังไม่มีผลให้มีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องที่ 3 และ ผู้ถูกฟ้องที่ 4 และถือว่า ถึงที่สุดสำหรับผู้ถูกฟ้องที่ 3 และ ผู้ถูกฟ้องที่ 4 ส่วนผู้ถูกฟ้องที่ 1 นายกรัฐมนตรี และผู้ถูกฟ้องที่ 2 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ก็มีการไต่สวนและยืนยันว่าจะพิจารณาอย่างเร่งด่วนต่อไป
ทางด้าน ชนกนันทน์ นันตะวัน ผู้ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือ หนึ่งในตัวแทนผู้ฟ้องคดี เล่าว่า ปัญหาฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศของภาคเหนือเป็นปัญหาที่ท้าทาย เพราะกระบวนการยุติธรรมในไทยยังไม่ครอบคลุมที่จะแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและฝุ่นควัน ฝุ่นควันในภาคเหนือของไทยส่วนใหญ่มาจากพื้นที่เกษตรและพื้นที่ป่าที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่เกษตรและอุตสาหกรรมโดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งในฤดูแล้งจะมีการเผาทำให้เกิดฝุ่นควันข้ามพรมแดน ชูให้เห็นว่ามันเกี่ยวข้องโดยตรงกับคณะกรรมการที่มีหน้าที่ควบคุมดูแลการประกอบธุรกิจ
“เป็นเรื่องในอนาคตของเราที่ต้องช่วยกันผลักดันให้ประเทศไทยมีกฎหมายที่ช่วยแก้ไขเรื่องมลพิษทางอากาศ”
ซึ่งกรกนก ได้อธิบายเพิ่มเติมเหตุผลว่าในการฟ้องต่อ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ไว้ว่า เนื่องจากปัญหาฝุ่นในประเทศไทยไม่สามารถแก้ได้เพียงแค่กฎหมายตัวเดียวด้านสิ่งแวดล้อมเพียงเท่านั้น ซึ่งเกี่ยวข้องกับด้านธุรกิจในเรื่องของโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ข้ามพรมแดนเข้ามา คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ มีบทบาทในการเปิดเผยข้อมูลผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม ผลกระทบทางสังคม ดำเนินการโดยมีธรรมาภิบาล ซึ่งทาง คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ก็รับหลักการ Environmental, social, and governance (ESG) เข้าไปใน 56-1 One Report ที่ให้บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทำรายงานประจำปี
“ในเวทีระดับโลกประเทศไทยมักพูดว่าไทยเป็นแชมป์เปี้ยนใน Business & Human Rights (BHR) และยังพูดว่าเป็นประเทศแรกในเอเชียที่เผยแพร่แผน NAP ทำให้เห็นว่าไทยมุ่งหวังการดำเนินธุรกิจในไทยจะเคารพสิทธิมนุษยชน ซึ่งก็เป็นข้อท้าทายสำหรับภาคธุรกิจ ที่มีการลงทุนในต่างประเทศ หรือ Extraterritorial Obligations (ETOs) รวมไปถึงภาครัฐที่ต้องควบคุมดูแลไม่ให้ธุรกิจดำเนินการละเมิดสิทธิมนุษยชน”
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...