5 กุมภาพันธ์ 2566
2 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตร่วมกับชุมชนบ้านป่าข่าและเทศบาลตำบลป่าตาลได้จัดงานวันพื้นที่ชุ่มน้ำโลกลุ่มน้ำอิง 2023 (Ing River world Wetland Day 2023 ) “สืบชะตาป่าส้มแสง พื้นที่ชุ่มน้ำลุ่มน้ำอิง“ เพื่อร่วมผลักดันการขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำสู่ Ramsar site ณ ป่าชุ่มน้ำบ้านป่าข่า หมู่ 8 ต.ป่าตาล อ.ขุนตาล จ.เชียงราย ผู้เข้าร่วม 300 คนจากเครือข่ายชุมชนลุ่มน้ำ กก อิง โขง และหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ ในงานมีกิจกรรมเสวนาความสำคัญของป่าชุ่มน้ำ พิธีกรรมสืบชะตาป่า การแสดงของประชาชนในพื้นที่ ภาพวาดศิลปะป่าชุ่มน้ำจากทีมศิลปินขัวศิลปะเชียงราย และเมนูอาหารจากป่าชุ่มน้ำ โรงทานอาหารให้กับผู้มาร่วมงาน
ป่าชุ่มน้ำบ้านป่าข่าอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำอิงตอนล่าง พบป่าริมน้ำอิงอยู่ตลอดลำน้ำ เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำประเภทหนึ่ง เป็นป่าที่น้ำสามารถท่วมถึง มีพืชเด่นที่สามารถอยู่ในน้ำท่วมหลากได้เป็นเวลานาน เช่น ต้นชุมแสง มะเคาะ ข่อย พืชเถาวัลย์ และพืชเฉพาะถิ่น ต้นไม้และพรรณพืชในพื้นที่มีการปรับตัวต่อสภาพน้ำท่วมและทนต่อน้ำขังได้ยาวนาน ป่าชุ่มน้ำเป็นแหล่งขยายพันธุ์ปลาที่สำคัญในช่วงน้ำหลาก ปลาจากแม่น้ำโขง และในแม่น้ำอิงจะขึ้นมาวางไข่และอาศัยเป็นแหล่งอนุบาลปลาขนาดเล็ก ช่วงน้ำลดป่าชุ่มน้ำเต็มไปด้วยระบบนิเวศย่อย กระจายอยู่ในพื้นที่ป่าและมีพืชหลายชนิดทั้งที่เป็นพืชสมุนไพรและพืชผักกินได้
นายสอน เทพสมบัติ ผู้ใหญ่บ้านป่าข่า ต.ป่าตาล อ.ขุนตาล จ.เชียงรายได้กล่าวถึงการจัดงานในครั้งนี้ว่า
“การจัดงานในครั้งนี้ชุมชนเรามีความพร้อมที่จะรักษาป่าที่เหลือเพียงน้อยนิด เพื่อยังประโยชน์กับมวลชนทุกคนที่ได้เข้ามาในป่าแห่งนี้ จึงได้จัดงานสืบชะตาป่าชมแสง ที่ได้รับแรงสนับสนุนจากคนในชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงานที่มาช่วยชุมชน ป่าส้มแสงแห่งนี้มีอายุไม่ต่ำกว่า 200 ปี เพราะหมู่บ้านป่าข่าตั้งมาได้ 101 ปี คือก่อตั้งมาในปี 2455 ป่าผืนนี้ก็มีแบบนี้อยู่แล้ว และได้อนุรักษ์มาตั้งแต่ก่อตั้งหมู่บ้าน ตอนนี้เหลือเพียง 140 กว่าไร่ ทางชุมชนจึงอยากทำการอนุรักษ์ไว้ให้ลูกหลานของตนเองสืบต่อไปในวันข้างหน้าตอนนี้ป่าเราเป็นพื้นที่ นสล. และขึ้นทะเบียนเป็นป่าชุมชน 22 ไร่”
ป่าชุ่มน้ำบ้านป่าข่าหรือป่าส้มแสงหมู่ที่ 8 ตำบลป่าตาล อำเภอขุนตาล จังหวัดเชียงราย เป็นส่วนหนึ่งผืนป่าในลุ่มน้ำอิง โดยมีเนื้อที่ประมาณ 85 ไร่เป็นป่าชุ่มน้ำที่อัตลักษณ์พิเศษหายากที่อาจจะมีที่เดียวในประเทศไทย จากการวิจัยสำรวจเบื้องต้น พบว่าเป็นป่าชุ่มน้ำที่มีสังคมพืช ป่าชุมแสง ที่มีขนาดใหญ่ มีอายุมากกว่า 300 ปี ซึ่งผืนป่าดังกล่าวชุมชนได้อนุรักษ์และปกป้องพื้นที่ป่ามาตั้งแต่อดีตไว้เป็นพื้นที่เลี้ยงสัตว์และแหล่งอาหาร ปัจจุบันป่าผืนนี้ยังมีคุณค่า ความสำคัญต่อวิถีชีวิตของชุมชนเนื่องจากเป็นแหล่งพืชอาหาร ไม้ใช้สอย สมุนไพรและแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำในช่วงน้ำท่วมหลาก ซึ่งจะมีสภาพเป็นพื้นที่ป่าโคกและป่าชุ่มน้ำ (seasonal wetland) ทำให้พื้นที่มีความเป็นเอกลักษณ์ทางนิเวศวิทยาที่ผสมผสานทั้งนิเวศวิทยาป่าไม้และแม่น้ำ ป่าชุ่มน้ำลุ่มน้ำอิงบ้านป่าบง เป็นหนึ่งในพื้นที่ป่าชุมน้ำในจำนวน 26 ผืน ที่ยังคงเหลืออยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำอิง มีการดูแลจัดการโดยชุมชน ให้คงอยู่มาอย่างยาวนานเกิดเป็นความผูกพันธ์หวงแหนในทรัพยากรป่าไม้ ที่เป็นเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของคนในชุมชน
ด้านนายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา นายกสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ได้พูดถึงป่าชุ่มน้ำว่า
“ป่าชุ่มน้ำ หรือที่ชาวบ้านเรียกป่าฮิมอิงหรือบางที่เรียกป่าข่อย ป่าชมแสง เป็นอัตลักษณ์หนึ่งเดียวในประเทศไทยที่มีป่าลักษณะนี้ ตั้งแต่อำเภอเทิงถึงเชียงของ ป่ามีอายุไม่ต่ำกว่า 100ปี วันนี้เป็นอีกวันหนึ่งที่เราต้องการเล่าเรื่องป่าชุ่มน้ำให้ผู้ที่สนใจได้เข้าใจมากขึ้น การอนุรักษ์ป่าชุ่มน้ำมีสองแบบที่ผ่านมาคือหลักจารีตคือพิธีกรรมต่างๆ ของชุมชนและอีกอันที่สำคัญคือกฎหมาย ด้วยเราเป็นสมาชิกอนุสัญญาพื้นที่ชุ่มน้ำที่สำคัญในระดับชุมชน ชาติ นานาชาติ ตอนนี้ป่าเราได้ประเมินจากทางนักวิชาการว่ามีความสำคัญในระดับนานาชาติและอยู่ในระหว่างการขอขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำ วันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก ตรงกับวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เนื่องจาก ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2514 นานาชาติได้ร่วมยกร่างและลงนามในการรับรอง อนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศโดยเฉพาะเป็นแหล่งที่อยู่ของนกน้ำ ขึ้น ณ เมือง Ramsar ประเทศอิหร่าน อนุสัญญาเป็นรู้จักในนามอนุสัญญาแรมซาร์ อนุสัญญาแรมซาร์ มีผลบังคับใช้เมื่อปี พ.ศ. 2518 ตามเงื่อนไขว่าอนุสัญญาฯ จะมีผลบังคับใช้เมื่อประเทศต่างๆ เข้าร่วมเป็นภาคี ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาแรมซาร์เป็นลำดับที่ 110”
กิจกรรมวันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก“สืบชะตาป่าส้มแสงบ้านป่าข่า เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อแสดงออกถึงการเคารพธรรมชาติที่เป็นดังเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงผู้คนมากว่า 300ปี เพื่อให้ผู้คนได้เข้าใจถึงพลังแห่งการอนุรักษ์ผืนป่าของชุมชนความสัมพันธ์ของคนกับป่า และยังเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับชุมชนในการปกป้องผืนป่าพร้อมยังเป็นการนำเสนอบทเรียนประสบการณ์ ของชุมชนในการจัดการป่าอย่างยั่งยืน และเป็นกิจกรรมรณรงค์สร้างความเข้าใจในการ ร่วมผลักดันการขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำสู่ Ramsar site
นายสายัณห์ ข้ามหนึ่ง ผู้อำนวยการสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตได้พูดถึงการขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำว่า
“ในปีพ.ศ.2563 ได้พานักวิชาการพื้นที่ชุ่มน้ำได้ลงมาพื้นบ้านป่าข่าและได้มีมติร่วมกันว่าพื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่อัตลักษณ์พิเศษ พบเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย เป็น seasonal wetland พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีน้ำท่วมบางฤดูกาล ที่เรานั่งอยู่มื่อสองเดือนก่อนน้ำท่วมสูงถึง 6 เมตร ทางนักวิชาการเลยมีความเห็นต้องมีการผลักดันให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำลุ่มน้ำอิงให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำสำคัญระหว่างประเทศ ประเทศไทยมีการประกาศพื้นที่ชุ่มน้ำ 16 แห่ง พื้นที่ล่าสุดคือปีที่แล้วที่ลุ่มน้ำสงคราม พื้นที่ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่อุทยาน วนอุทยาน แต่ในแม่น้ำอิงไม่ได้ขึ้นกับพื้นที่ใด ที่ผ่านมาได้ดำเนินการโดยสำนักทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงราย แต่ปีนี้ได้มีการเปลี่ยนบทบาทเป็นของทางกรมทรัพยากรน้ำเป็นเลขานุการพื้นที่ชุ่มน้ำ ตอนนี้เราอยู่ในขั้นตอนของการกรอกเอกสารสำคัญประกอบการขึ้นทะเบียนมีคำถามอยู่ 35 ข้อ ทางสมาคมได้จัดทำเรียบร้อยแล้วและได้ยื่นให้กับทางผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เพื่อส่งต่อให้กับคณะกรรมการพื้นที่ชุ่มน้ำ ใช้ระยะเวลาในการทำงานมาแล้ว 6 ปี ในป่าแห่งนี้เราตั้งกล้องเจอแมวดาว กับนาก ก็เป็นตัวชี้วัดหนึ่งในการขอขึ้นทะเบียน และชุมชนก็มีกฎกติกาในการดูแลอยู่แล้วข้อดีของการขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำคือไม่ได้เป็นกฎหมายหรือลิดลอนสิทธิประโยชน์ของใครไดๆ ทั้งสิ้น หาปลา หาผักใช้ประโยชน์ ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ใช้ประโยชน์ได้ตามปกติ ไม่มีข้อห้ามใดๆ เลยการใช้กฎก็ใช้กฎชุมชน เพราะอนุสัญญาแรมซ่าไซด์ให้การรับรองกฎของชุมชน หากเราได้ขึ้นทะเบียนก็จะเป็นการยอมรับในรับดับสากล จะได้รับการสนับสนุนจากทางแรมซ่าในการดูแลและรักษาต่อไป เป็นกฎหมายที่คุ้มครองกฎชมชนอีกที ก็เป็นความหวังร่วมกันว่าเราจะได้ขึ้นทะเบียนเป็นแห่งที่ 17 ของประเทศไทยในเร็วๆนี้”
ด้านนายสุทธิ มะลิทอง ผู้อำนวยการฝ่ายงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ สถาบันถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม ม.ราชภัฏเชียงราย ได้พูดถึงความสำคัญของป่าชุ่มน้ำบ้านป่าข่าจากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า
“เมื่อ5-6ปีก่อนได้เข้ามาสำรวจพื้นที่ป่าในลุ่มน้ำอิง ป่าชุ่มน้ำมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก เกณฑ์ 9 ข้อของแรมซ่าไซด์เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพเป็นอย่างมาก และยังเป็นเครื่องมือการันตีความหลากหลายความมั่นคงทางอาหารของชุมชน ป่าข่ามีระบบนิเวศน์ที่เป็นอัตลักษณ์ เป็น seasonal wetland ที่เปลี่ยนไปตามธรรมชาติ ไม่เหมือนใครมีความพิเศษ และยังเป็นแหล่งอาศัยของนกน้ำเลย รวมถึงสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำไม่น้อยกว่า 60 ชนิด หนึ่งในนั้นก็มีนาก ทั้งจากการร่องรอยและทั้งจากการตั้งกล้อง เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดของป่าชุ่มน้ำเรา ที่จะยกระดับในการขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำได้”
ส่วนทางตัวแทนเทศบาลตำบลป่าตาลโดย นางเกวลิน ปันยานะ ปลัดเทศบาลตำบลป่าตาล อ.ขุนตาล จ.เชียงรายได้พูดถึงความร่วมมือกับชุมชนในการผลักดันพัฒนาป่าชุ่มน้ำบ้านป่าข่าให้เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของตำบลป่าตาลว่า
“ป่าส้มแสงแห่งนี้ได้ขึ้นทำเป็นพื้นที่นสล. ทำเป็นป่าชุมชน มีพื้นที่อยู่ 49 ไร่ สภาพป่าเมื่อได้เข้ามาดูพื้นที่ได้เล็งเห็นความเหมาะสมสำหรับการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว มันอันซีน ป่าด้านล่างโล่งแต่ใบด้านบนประสานกันบังเป็นร่มเงาเย็นสบายเมื่อเข้ามาในป่า จึงได้นำเรื่องมาปรึกษากับผู้ใหญ่บ้านเปิดเวทีคุยกับชุมชนปรากฎว่าชุมชนเห็นด้วยกับการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว ในการที่จะทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวจึงได้ประสานกับทางจังหวัดในการขอใช้พื้นที่ซึ่งเป็นนสล. ทางเทศบาลก็ได้มาทำแผน ทำข้อมูลความเป็นมาของป่า เริ่มจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้ทำถนนรอบหนองงบประมาณ 6 ล้านกว่าบาท และป่าชุ่มน้ำจะเข้ามาได้เฉพาะฤดูแล้งในฤดูฝนเข้ามาไม่ได้เราจึงทำสะพานยกสูงสามเมตร เส้นทางเดินป่าระยะทาง378 เมตร ตอนนี้กำลังทำถนนให้นักท่องเที่ยวเข้ามาสะดวกขึ้นเลยทำโครงการเชื่อมกับถนนสี่เลนระยะทาง 1,200 เมตร ทำสะพานเชื่อมไปทางบ้านห้วยห้อมและจะเข้ามาดำเนินการในปีนี้ และได้ร่วมกับทางมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงในการสำรวจและออกแบบเส้นทางการท่องเที่ยวเชื่อมกันในพื้นที่ตำบลป่าตาล”
พื้นที่ชุ่มน้ำในลุ่มน้ำอิงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการปกป้องคุ้มครอง ปัจจุบันสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตสภาประชาชนลุ่มน้ำอิง เครือข่ายชาวบ้าน กก อิง โขง และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ร่วมกันผลักดัน การขึ้นทะเบียน เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (แรมซาร์ ไซต์)เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์ฟื้นฟูและใช้ประโยชน์ที่ยั่งยืน จึงได้จัดกิจกรรมเรื่องพื้นที่ชุ่มน้ำในลุ่มน้ำอิง โดยมีเป้าหมายในการสร้างความเข้าใจ และตระหนักถึงความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำร่วมกันของชาวบ้าน หน่วยงานภาครัฐ และองค์กรภาคีต่างๆ เพื่อการผลักดันขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำลุ่มน้ำอิงต่อไป จึงได้กำหนดจัดงานในวันพื้นที่ชุ่มน้ำ วันที่ 2กุมภาพันธ์ 2566ณ ป่าชุ่มน้ำบ้านป่าข่า (ป่าส้มแสง) อำเภอขุนตาล จังหวัดเชียงราย
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...