#นิรโทษกรรมประชาชน: สถานการณ์คดีทางการเมืองในภาคเหนือ ยังดำเนินอยู่อีกกว่า 44 คดี



หลังจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ในปี 2563 เป็นต้นมา น่าจะนับได้ว่าเป็นช่วงระยะเวลาซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐมีการดำเนินคดีต่อนักศึกษา-ประชาชน ในพื้นที่ภูมิภาคมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา หากเทียบกับการชุมนุมของประชาชนในช่วงก่อนหน้านี้ คดีไม่ได้จำกัดวงอยู่ในพื้นที่ที่มีการชุมนุมใหญ่หรือชุมนุมจำนวนมากอย่างในกรุงเทพฯ แต่กระจัดกระจายไปในหลายจังหวัดทั่วประเทศ แม้แต่จังหวัดที่ไม่เคยมีการเคลื่อนไหวหรือคดีความมาก่อน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือที่มีจำนวนคดีความมากกว่าภูมิภาคอื่น ๆ เล็กน้อย

ระหว่างที่หลากหลายองค์กรการเปิดการลงชื่อเสนอร่างกฎหมาย “พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน” เพื่อให้มีการยุติการดำเนินคดีจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองของภาคประชาชน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ร่วมกับ Lanner ชวนทบทวนสถิติและสถานการณ์คดีในพื้นที่ทางภาคเหนือ

คดีในภาคเหนือมีไม่น้อยกว่า 91 คดี มากกว่าภาคอีสาน-ใต้ เยอะสุดที่เชียงใหม่

จากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน หลังการเริ่มชุมนุมของเยาวชนปลดแอก ตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 เป็นต้นมา ถึงเดือนมกราคม 2567 พบว่ามีคดีจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองในพื้นที่ภาคเหนือ ทั้งในจังหวัดทางภาคเหนือตอนบนและตอนล่าง รวมกันแล้วไม่น้อยกว่า 91 คดี มีผู้ถูกดำเนินคดีไม่น้อยกว่า 140 คน

หากไม่นับพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล นับได้ว่าภาคเหนือมีคดีมากกว่าภาคอีสานเล็กน้อย (ภาคอีสานมีจำนวนอย่างน้อย 90 คดี และภาคใต้มีจำนวนอย่างน้อย 46 คดี)

สำหรับจังหวัดที่มีคดีเกิดขึ้น มีอย่างน้อยใน 11 จังหวัด (จากทั้งหมด 17 จังหวัด) ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน พะเยา ตาก พิษณุโลก กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ และนครสวรรค์

จังหวัดที่มีคดีเกิดขึ้นมากที่สุด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ คืออย่างน้อย 39 คดี หรือประมาณกว่า 40% ของคดีทั้งหมดเท่าที่ทราบข้อมูล รองลงมาคือจังหวัดเชียงราย อย่างน้อย 14 คดี

หากพิจารณาแยกตามข้อกล่าวหา ก็พบว่าในภาคเหนือ มีคดีข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 หรือข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” มากที่สุด คือจำนวนไม่น้อยกว่า 35 คดี

รองลงมา เป็นคดีจากการชุมนุมและถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำนวน 24 คดี และคดีตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ไม่น้อยกว่า 7 คดี 

คดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นี้ มากกว่าครึ่งเป็นคดีที่เกิดขึ้นในช่วงของการจัดกิจกรรมคาร์ม็อบเพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วงกลางปี 2564 ซึ่งกิจกรรมกระจายไปในหลายจังหวัด ทำให้มีคดีเกิดขึ้นไม่น้อยกว่า 15 คดี ทั้งที่กิจกรรมลักษณะคาร์ม็อบก็เป็นการออกแบบให้ผู้เข้าร่วมได้เว้นระยะห่างทางสังคม และลดความใกล้ชิด เพื่อป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 ในขณะนั้น แต่ก็ยังถูกตำรวจกล่าวหาดำเนินคดีไปทั่ว

นอกจากนั้นยังมีคดีตามมาตรา 116 เป็นข้อหาหลักอีก 3 คดี, คดีดูหมิ่นศาลหรือดูหมิ่นเจ้าพนักงาน 4 คดี, คดีเกี่ยวกับการทำให้เสียทรัพย์ 2 คดี และคดี ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เพียงอย่างเดียวอีก 2 คดี

นอกเหนือจากนั้นเป็นคดีความผิดลหุโทษอื่น ๆ ที่มีโทษปรับ เช่น พ.ร.บ.จราจร, พ.ร.บ.ความสะอาดฯ, พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียง รวมกัน 14 คดี ซึ่งส่วนใหญ่สิ้นสุดไปหมดแล้ว ทั้งในรูปแบบที่ผู้ถูกกล่าวหายินยอมให้ตำรวจเปรียบเทียบ หรือมีบางคดีขาดอายุความ และอัยการไม่ได้สั่งฟ้อง เป็นต้น

คดียังไม่สิ้นสุดอีก 44 คดี และมีผู้เคยถูกคุมขังในภาคเหนือแล้ว 5 ราย 

หากพิจารณาในแง่ของความคืบหน้าของคดี จนถึงต้นปี 2567 พบว่าจากคดีทั้งหมด มีคดีที่ยังดำเนินอยู่ ยังไม่สิ้นสุดจำนวน 44 คดี คิดเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของทั้งหมด ในจำนวนนี้เป็นคดีที่อยู่ในชั้นศาลจำนวน 30 คดี และคดีที่อยู่ในชั้นสอบสวนอีก 14 คดี โดยในช่วงปีนี้อาจมีการฟ้องคดีตามมาอีก

ในส่วนคดีที่สิ้นสุดแล้ว 47 คดี พบว่าส่วนใหญ่เป็นการถูกเปรียบเทียบปรับ หรือลงโทษปรับในชั้นศาล จำนวนรวมกัน 22 คดี, อัยการสั่งไม่ฟ้องจำนวน 5 คดี, ศาลยกฟ้องจำนวน 4 คดี และมีคดีที่ศาลลงโทษจำคุก แต่ให้รอลงอาญาไว้ 9 คดี

ที่เหลือมีผลคดีในลักษณะอื่น ๆ เช่น ให้รอการกำหนดโทษ, จำหน่ายคดี, เข้ามาตรการพิเศษแทนการมีคำพิพากษาในคดีเยาวชน รวมกันทั้งหมด 7 คดี

ในช่วงเกือบสี่ปีที่ผ่านมา พบว่ามีคนเคยถูกคุมขังจากการแสดงออกทางการเมืองอย่างน้อย 5 ราย โดย 4 รายแรกเป็นการคุมขังช่วงระยะสั้น ขณะยังไม่ได้รับการประกันตัว ได้แก่ กรณีของอานนท์ นำภา และ ประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ แกนนำนักศึกษา มช. ที่ในช่วงเดือนตุลาคม 2563 ถูกจับกุมตัวมาจากการสลายการชุมนุมในกรุงเทพฯ และนำตัวมาดำเนินคดีจากการชุมนุมที่ประตูท่าแพ เหตุเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2563 โดยขณะนั้นมีข้อหาหลักตามมาตรา 116 อานนท์ถูกขังในคดีนี้อยู่ 12 วัน ขณะประสิทธิ์ถูกคุมขังอยู่ 7 วัน ก่อนได้ประกันตัว โดยจนถึงขณะนี้คดีนี้ก็ยังไม่สิ้นสุดลง ยังอยู่ในชั้นอัยการ

นอกจากนั้นยังมีกรณีของ “พรชัย” หนุ่มปกาเกอะญอที่ถูกจับกุมมาดำเนินคดีมาตรา 112 ที่จังหวัดเชียงใหม่ในช่วงต้นปี 2564 และถูกคุมขังระหว่างสอบสวนอยู่ 44 วัน และต่อมาในปี 2566 เขายังถูกคุมขังอีก 6 วัน หลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาจำคุก แต่ต่อมาก็ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ และมีกรณีของ “พรพิมล” ที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ที่จังหวัดเชียงใหม่เช่นกัน โดยถูกคุมขังระหว่างสอบสวนอยู่ 23 วัน ก่อนได้ประกันตัว

และล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม 2567 มีนักกิจกรรมที่ต้องเข้าเรือนจำอีกราย และค่อนข้างแตกต่างจากกรณีก่อนหน้านี้ ได้แก่ กรณีของ “บัสบาส” มงคล ถิระโคตร ที่ถูกคุมขังหลังศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำพิพากษาในคดีมาตรา 112 ของเขา จำคุก 50 ปี จากการโพสต์ข้อความที่ศาลเห็นว่าผิด 25 โพสต์ เป็นอัตราโทษสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งศาลฎีกายังไม่อนุญาตให้ประกันตัว ทำให้ขณะนี้บัสบาสยังคงถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำกลางเชียงราย และอาจไม่ได้ประกันตัวระหว่างฎีกาได้ง่ายนักเหมือนในกรณีอื่นข้างต้น

ในกลุ่มคดีที่ยังไม่สิ้นสุด ก็ยังน่ากังวลในหลายคดี เนื่องจากเริ่มมีคำพิพากษาในศาลชั้นต้นที่ให้ลงโทษจำคุกจำเลย แต่ยังได้รับการประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ หากศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาเริ่มมีคำวินิจฉัยในคดีเหล่านี้ และไม่มีการเปลี่ยนแปลงโทษ อาจนำไปสู่การมีผู้ถูกคุมขังเพิ่มเติมอีกในปีนี้

ภาคเหนือมีคดี ม.112 มากกว่าภูมิภาคอื่น กว่า 35 คดี เกือบครึ่งเป็นคนทั่วไปกล่าวหา

หากพิจารณาเฉพาะคดีมาตรา 112 พบว่าภาคเหนือมีคดีจำนวนค่อนข้างมากกว่าภูมิภาคอื่น ๆ ด้วย (ไม่นับพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ซึ่งมีคดีมากที่สุดอยู่แล้ว) โดยพบคดีที่มีข้อหามาตรานี้ จำนวนไม่น้อยกว่า 35 คดี

ในจำนวนนี้เป็นคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการแสดงออกในช่วงการชุมนุมจำนวน 10 คดี ทั้งในรูปแบบการปราศรัยหรือการถือป้ายต่าง ๆ  แต่จำนวนที่มีมากกว่าคือคดีเกี่ยวกับการโพสต์ข้อความหรือแสดงออกออนไลน์ พบไม่น้อยกว่า 19 คดี ส่วนที่เหลือเป็นคดีเกี่ยวกับการแขวนป้าย-แสดงงานศิลปะต่าง ๆ อีกจำนวนรวมกัน 6 คดี

ในจำนวนนี้ยังแยกเป็นคดีมาตรา 112 ที่มีประชาชนทั่วไปไปกล่าวหาไม่น้อยกว่า 17 คดี หรือประมาณครึ่งหนึ่งของทั้งหมด 

ปัญหาการเปิดโอกาสให้ใครก็ได้ไปกล่าวหานี้ ทำให้เกิดคดีในพื้นที่ต่าง ๆ จำนวนมาก เช่น คดีที่จังหวัดกำแพงเพชร ไม่น้อยกว่า 5 คดี โดยที่ผู้ถูกกล่าวหาส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ทำให้ต้องเดินทางไปต่อสู้คดีหลายครั้ง มีต้นทุนค่าใช้จ่ายจำนวนมาก

หรือคดีของ 3 นักศึกษา ที่นำโดย “ตี้ วรรณวลี” และเพื่อน กรณีถือป้ายในการชุมนุมในกรุงเทพฯ แต่กลับมีเครือข่ายรักสถาบันฯ ไปกล่าวหาที่จังหวัดเชียงใหม่ เพราะมีการโพสต์ภาพลงในออนไลน์ โดยผู้ถูกกล่าวหาทั้งก็ไม่ได้มีภูมิลำเนาหรือศึกษาอยู่ที่เชียงใหม่ คดีนี้ ศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้ยกฟ้องเพื่อนสองคนของตี้ แต่เห็นว่าตี้มีความผิดตามฟ้อง ทำให้คดียังอยู่ระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษา และทั้งหมดยังต้องมีภาระในการเดินทางไกลต่อสู้คดีต่อไป

หรือคดีของ “บอส ฉัตรมงคล” ที่ถูกแอดมินเพจเฟซบุ๊กศรีสุริโยไทไปกล่าวหาที่จังหวัดเชียงราย โดยที่เขามีภูมิลำเนาอยู่ปทุมธานี ทำให้ต้องเดินทางมาต่อสู้คดีต่อเนื่อง จนศาลจังหวัดเชียงรายพิพากษายกฟ้อง แต่คดีนี้อัยการยังอุทธรณ์ต่อมา

เหล่านี้ จึงเป็นลักษณะคดีที่ผู้ถูกดำเนินคดีไม่ได้อยู่พื้นที่ภาคเหนือ แต่ต้องเดินทางไกลมาต่อสู้คดีในพื้นที่ 

ผู้ถูกดำเนินคดี ม.112 อายุน้อยที่สุด ที่พิษณุโลก ขณะผู้ถูกดำเนินคดีสูงอายุที่สุดเสียชีวิตแล้ว

ในจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมด มีประชาชนที่ยังเป็นเด็กอายุไม่ถึง 15 ปี ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 อย่างน้อย 2 คน ที่จังหวัดพิษณุโลก โดยกรณีของ “เมย์” อดีตนักเรียนในจังหวัดพิษณุโลก นับเป็นเด็กที่อายุน้อยที่สุดที่ทราบว่าถูกดำเนินคดีข้อหานี้ในช่วงปัจจุบัน คือขณะเกิดเหตุอายุเพียง 14 ปี 1 เดือนเศษ คดีของเธอได้เข้ามาตรการพิเศษแทนการมีคำพิพากษากับศาลเยาวชนฯ ไปแล้ว

แม้ผู้ถูกดำเนินคดีส่วนใหญ่ที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมจะเป็นนักศึกษาหรือนักกิจกรรมคนรุ่นใหม่ แต่ก็มีผู้ถูกดำเนินคดีที่เป็นผู้สูงอายุอีกจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะในคดีที่มีผู้ถูกกล่าวหาจำนวนมากอย่างหว่านแห อย่างกรณีของการชุมนุม #เชียงใหม่จะไม่ทน ที่ประตูท่าแพ เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2563 ซึ่งมีประชาชนรายหนึ่งไปแจ้งความกล่าวหาผู้เข้าร่วมชุมนุมกว่า 38 คน ในข้อหาทั้งตามมาตรา 116 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ผู้ถูกกล่าวหามีทั้งนักศึกษา อาจารย์ นักกิจกรรม คนเสื้อแดง หรือมวลชนทั่วไปที่เข้าร่วมชุมนุมเฉย ๆ โดยไม่ได้ร่วมปราศรัยใด ๆ ก็ถูกกล่าวหาไปด้วย

คดีนี้มี “ป้าดาวเรือง” สิริเรือง แก้วสมทรัพย์ ประชาชนที่ร่วมการเคลื่อนไหวกับคนเสื้อแดงมาอย่างต่อเนื่อง ถูกกล่าวหาไปด้วยขณะเธอมีอายุ 74 ปี แม้เธอเพียงไปร่วมการชุมนุม แต่กลับถูกกล่าวหาในข้อหาในหมวดความมั่นคงของรัฐตามมาตรา 116 และหลังคดียังไม่สิ้นสุด 1 ปีผ่านไป เธอเสียชีวิตลงจากปัญหาด้านสุขภาพ เมื่อช่วงปลายปี 2565

ในคดีนี้ยังทราบว่ามีประชาชนที่ถูกกล่าวหาได้เสียชีวิตไปในช่วงที่ผ่านมาอีก 2 รายด้วย แต่คดีก็ยังอยู่ในชั้นสอบสวน และยังไม่สิ้นสุดลง

ผลกระทบคดี ไม่เพียงผู้ถูกกล่าวหา แต่ผู้ออกมาเคลื่อนไหว-สังคม-องค์กรของรัฐ ก็ได้รับผลจากคดีเหล่านี้

การถูกดำเนินคดี ทำให้นักศึกษาและประชาชนทั่วไปเผชิญกับปัญหาหลายประการ ทั้งความเสี่ยงต้องติดคุกติดตะราง หากถูกกล่าวหาในข้อหาที่หนักอย่างมาตรา 112  ขณะที่คดีที่โทษไม่รุนแรงเท่า ก็ต้องมีภาระในการเดินทาง การใช้วันเวลา และต้นทุนไปในการต่อสู้คดีที่มีระยะเวลาค่อนข้างนานในขั้นตอนต่าง ๆ บางคดี 4-5 ปี หรืออาจะนานกว่านั้น หากต่อสู้ในศาลสูงขึ้นไป ทำให้ส่งผลกระทบในหลายด้านต่อชีวิต ทั้งการงาน การเรียน หรือชีวิตครอบครัว

การใช้กฎหมายที่เป็นไปในลักษณะมุ่งปราบปราบการเคลื่อนไหวทางการเมือง นอกจากสร้างภาระและความเหนื่อยล้า หรือผลกระทบในด้านต่าง ๆ ต่อผู้ถูกดำเนินคดี ยังทำให้การชุมนุมหรือแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ ต้องระมัดระวัง หรือเป็นไปยากขึ้น 

การดำเนินคดีเหล่านี้จึงไม่เพียงส่งผลกระทบต่อผู้ถูกกล่าวหา แต่ยังส่งผลกระทบถึงการใช้เสรีภาพการแสดงออกของคนอื่น ๆ ที่ไม่ได้ถูกดำเนินคดีด้วย และยังส่งผลถึงระบบการใช้กฎหมายในประเทศไทย ที่ทำให้องค์กรต่าง ๆ ในกระบวนการยุติธรรมต้องใช้เวลาและต้นทุนของภาครัฐกับคดีเหล่านี้ไปจำนวนมาก ยังไม่ต้องกล่าวถึงการใช้กำลังตำรวจจำนวนมากในการติดตามกิจกรรมทางการเมือง คอยเพ็งเล็งบุคคลที่ออกมาเคลื่อนไหว การบุกไปบ้านของเป้าหมายต่าง ๆ แม้ไม่มีอำนาจตามกฎหมาย ที่ดำเนินเรื่อยมาในรอบสามสี่ปีนี้

การยุติการดำเนินคดีเหล่านี้ และ #นิรโทษกรรมประชาชน จึงจะเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมต่อไปในอนาคต

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเป็นการรวมตัวของกลุ่มทนายความ นักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมทางสังคม เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 ซึ่งเป็นเวลา 2 วันหลังการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เนื่องจากในช่วงดังกล่าว คสช. มีการเรียกบุคคลไปรายงานตัว จับกุม คุมขังบุคคลเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังมีการใช้ศาลทหารกับพลเรือน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง