เมื่อกะเทยไปเกณฑ์ทหาร

เรื่อง: นนทพัทธ์ พรหมกาญจน์/ Louder

รายงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนานักสื่อสารทางสังคม ภายใต้โครงการ Journalism that Builds Bridges เผยแพร่ครั้งแรกทางเว็บไซต์ thelouder.co เมื่อวันที่ 5 มี.ค.2566

เมื่อคุณเกิดมามีอวัยวะเพศชายหรือเป็นชายไทยโดยกำเนิดคุณจะถูกกำหนดไว้ในกฎหมายสูงสุดหรือรัฐธรรมนูญว่า “ชายไทยทุกกคนต้องได้เข้ารับการเกณฑ์ทหาร” ซึ่งในทางปฏิบัติพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 กำหนดหน้าที่นี้ให้เฉพาะชายที่มีสัญชาติเป็นไทยตามกฎหมาย “มีหน้าที่ต้องเข้ารับราชการทหารด้วยตนเองทุกคน”  โดยกำหนดให้ชายไทยเริ่มเป็นทหารกองเกินนับแต่อายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ ทหารกองเกินอาจถูกเรียกไปรับการตรวจเลือกเพื่อเข้ากองประจำการได้เมื่ออายุครบ 21 ปีบริบูรณ์ ทหารกองเกินเมื่อเข้ารับราชการทหารกองประจำการครบกำหนด

ด้วยกฎหมายที่มีอายุ 69 ปี ยังบังคับให้คนที่เกิดมามีอวัยวะเพศชาย (ไทย) ต้อง ‘รับราชการทหาร’ และถูกกำหนดให้เป็นหน้าที่ในหมวด 4 หน้าที่ของปวงชนชาวไทย ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 50 ระบุว่า บุคคลมีหน้าที่ (2) ป้องกันประเทศ พิทักษ์รักษาเกียรติภูมิ ผลประโยชน์ของชาติ และสาธารณสมบัติของแผ่นดิน รวมทั้งให้ความร่วมมือในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และ (5) รับราชการทหารตามที่กฎหมายบัญญัติ

เมื่อกะเทยจะต้องการเกณฑ์ทหาร

ต่อให้มีร่างกายเป็นเพศชายและจิตใจเป็นหญิงก็ยังคงต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารความยากลำบากให้กับกลุ่มคนข้ามเพศโดยเฉพาะ TRANSWOMEN หรือผู้หญิงข้ามเพศที่ผ่าตัดแปลงเพศแล้วและกะเทยหรือสาวประเภทสอง ในการหาวิธีต่างๆ เพื่อที่จะได้รับการยกเว้นสำหรับการเกณฑ์ทหาร เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเป็นทหาร เช่น บางคนต้องเรียน รด.3 ปี เพื่อจะได้รับยกเว้นการเกณฑ์ทหาร

อีกวิธีหนึ่ง คือการขอใบรับรองแพทย์เพื่อที่จะได้รับการยกเว้นการเกณฑ์ทหาร วิธีที่จะทำให้พวกเธอมั่นใจมากที่สุดว่าจะได้รับการยกเว้นการเกณฑ์ทหาร 

การขอใบรับรองแพทย์เป็นวิธีที่มีความยุ่งยากพอสมควรสำหรับพวกเธอ เพราะมีหลายขั้นตอนรวมไปถึงการมีค่าใช้จ่ายในการขอใบรับรองแพทย์อีกด้วย โดย ‘ปอย นัตตี้ และเนย’ (ทั้งสามคนขอใช้นามสมมติเพื่อเปิดเผยข้อเท็จจริง) ได้เล่าประสบการณ์การเกณฑ์ทหารหรือขั้นตอนและประสบการณ์การไปเกณฑ์ทหารของพวกเธอให้ทุกคนเข้าใจถึงความยุ่งยากนี้มากยิ่งขึ้น

ออกโรงพยาบาลจิตเวช เข้าโรงพยาบาลทหาร

ทั้งปอย นัดตี้และเนย เริ่มจากการหาโรงพยาบาลจิตเวชและพวกเธอต้องจองคิวผ่านไลน์ เพื่อที่จะได้คิวเข้ารับการทดสอบและมั่นใจว่าจะสามารถเข้ารับการทดสอบจากจิตแพทย์ได้ เพราะหลายๆ คนเคย walk in เข้าไปก็ไม่สามารถทดสอบได้เนื่องจากคิวของจิตแพทย์ไม่ว่างยาวนาน

‘ปอย’ ‘นัตตี้’ และ ‘เนย’ เริ่มจองคิวช่วงปลายเดือนตุลาคม 2564 ได้คิวเข้าพบจิตแพทย์ วันที่ 10 มกราคม 2565 และในวันที่นัดหมายเธอต้องไปก่อนเวลานัด เพื่อทำประวัติคนไข้และนั่งรอคิวกว่า 2 ชั่วโมงก่อนที่จะได้เข้าพบจิตแพทย์

จิตแพทย์คนที่ 1 สอบถามปอยเกี่ยวกับการแต่งตัว การไว้ผม ระยะเวลาการใช้ฮอร์โมน การใช้ชีวิตรวมไปถึงอนาคตที่อยากเป็นหรืออยากทำ ด้านนัตตี้ได้ตรวจสุขภาพร่างกายและวัดสายตา ส่วนเนยได้ตอบคำถามเกี่ยวกับสภาพจิตใจ จากนั้นพวกเธอก็ได้เข้าพบจิตแพทย์คนที่ 2

จิตแพทย์คนที่ 2 ไม่อนุญาตให้พวกเธอนำโทรศัพท์มือถือเข้าไปในห้องทดสอบ โดยการทดสอบคือ ให้วาดภาพบ้านในความคิดของพวกเธอ 1  ภาพ การให้ทายภาพ 15 ภาพ และอธิบายภาพวาดของตนเองและอธิบายการทายภาพของพวกเธอว่าทำไมถึงวาดแบบนี้ทำไม่ถึงทายภาพภาพนี้ว่าเป็นแบบนี้โดยทั้ง 3 คนได้ทดสอบแบบเดียวกัน แต่ความต่างคือ จะมีการทำแบบทดสอบ ปอยได้ทำแบบทอดสอบ 624 ข้อ ส่วนนัตตี้และเนยได้ทำ 350 ข้อ 

“เป็นแบบทดสอบแบบปรนัย” โดยข้อสอบของพวกเธอทั้ง 3 คนเป็นข้อสอบประมาณเดียวกันคือเป็นข้อสอบที่เกี่ยวกับภาวะซึมเศร้า โดยการตอบว่า ใช่ หรือ ไม่  โดยค่าใช้จ่ายของพวกเธอในวันนั้นเป็นเงินจำนวน 350 บาท จากนั้นก็รอจะได้ใบนัดอีก 14 วันให้กลับมาพบจิตแพทย์อีกครั้ง

หลังจาก 14 วันพวกเธอก็กลับมาพบจิตแพทย์ที่โรงพยาบาลจิตเวชอีกครั้ง โดยรอบนี้ก็ใช้เวลารอคิวนานเหมือนกัน

ปอยได้เข้าพบและพูดคุยกับจิตแพทย์เกี่ยวกับการขอใบรับรองแพทย์ โดยแพทย์สอบถามเธอว่าว่าใช้สำหรับอะไร ปอยก็บอกว่า “ใช้สำหรับการเกณฑ์ทหารค่ะ” จากนั้นจิตแพทย์ก็ออกใบรับรองแพทย์ของโดยระบุการวินิจฉัยว่า “เพศสภาพ ไม่ตรงกับเพศกำเนิด” และนัตตี้ก็ได้รับการวินิจฉัยเช่นเดียวกับปอย

ส่วนเนยนั้น จิตแพทย์ออกใบรับรองแพทย์โดยระบุการวินิจฉัยว่า “ลักเพศ-ลักเพศ”

ทั้งสามคนได้รับคำแนะนำจากแพทย์เกี่ยวกับโรคซึมเศร้าและโรคจิตเวช โดยค่าใช้จ่ายของพวกเธอในวันนั้นเป็นเงินจำนวนเงินคนละ 150 บาท

ล่าสุด ค่าใช้จ่ายในการทดสอบทางจิตเวช เพิ่มเป็น 2,950 บาท (แบ่งออกเป็นค่าทดสอบทางจิตวิทยา 2,900 บาท และค่าบริการทางการแพทย์ 50 บาท)

หลังจากได้ใบรับรองแพทย์จากโรงพยาบาลจิตเวชพวกเธอก็ต้องหาโรงพยาบาลทหารเพื่อที่จะให้แพทย์โรงพยาบาลทหารเซ็นรับรองอีกครั้ง สิ่งที่พวกเธอต้องเตรียมคือ รูปถ่าย 1 นิ้วจำนวน 2 รูป บัตรประจำตัวประชาชน ทะเบียนบ้านพร้อมทั้งใบรับรองแพทย์จากโรงพยาบาลจิตเวชและใบสำคัญสด.9 และหมายเรียกทหาร สด.35 

ปอยไปโรงพยาบาลทหารพร้อมกับเพื่อนสาวอีกคน หลังจากกรอกประวัติผู้ป่วยแล้วก็รอคิวพบแพทย์ แพทย์คนแรกพูดกับปอยและเพื่อนเกี่ยวกับเงื่อนไขการได้รับการยกเว้นการเกณฑ์ทหารว่าจะต้อง ‘ผ่าตัดแปลงเพศ’ มาแล้วเท่านั้น ดังนั้น เขาจึงไม่สามารถเซ็นให้เธอได้ เพราะทั้งปอยและเพื่อนยังไม่ได้ผ่าตัดแปลงเพศ

เมื่อทั้งสองเดินออกมาจากห้องตรวจก็มีพยาบาลคนหนึ่งบอกให้พวกเธอรอพบแพทย์อีกคนหนึ่ง ซึ่งแพทย์คนนี้เซ็นรับรองแพทย์ให้โดยระบุในคำวินิจฉัยว่า ‘เพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิดจริง’ ให้กับพวกเธอ 

“หมอเซ็นให้โดยที่เราไม่ได้เข้าไปพบหรือพูดคุยกับแพทย์คนนั้นเลย”

ส่วนนัตตี้และเนยแค่ถูกหมอสอบถามและพูดคุยว่า “เอาไปใช้สำหรับการเกณฑ์ทหารใช่ไหม?” เท่านั้น ก่อนที่หมอจะเซ็นใบรับรองให้ พวกเธอมีค่าใช้จ่ายสำหรับใบรับรองแพทย์คนละ 50 บาท

วันเกณฑ์ทหาร 

ปอยเล่าว่า เธอถูกจับจ้องและถูกมองจากคนที่เข้ารับการเกณฑ์คนอื่นๆ ซึ่งปอยก็ถูกแพทย์ที่ตรวจความผิดปกติของร่างกายเรียกเข้าไปพบและขอดูใบรับรองแพทย์จากนั้นก็นั่งรอ

“มีข้าราชการที่อยู่ในนั้นมาขอถ่ายรูปด้วย จากนั้นเขาก็ให้เราไปนั่งรอตรงแถวคนจำพวกที่ 2 เพื่อรอการออกใบรับรองผลการเกณฑ์ทหารที่สุดท้ายก็เขียนว่า “เพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด ควรเป็นคนจำพวกที่ 2” 

ส่วนกรณีนัตตี้ที่มีใบรับรองแพทย์ครบ แต่ก็ยังได้เข้าห้องตรวจร่างกาย ซึ่งในห้องตรวจนั้นมีทหารชาย 2 คนและแพทย์ที่เป็นผู้ชายอีก 1 คน นัตตี้ถูกสั่งให้ถอดเสื้อ และให้หันซ้ายหันขวา ด้านหน้าและด้านหลังตามที่แพทย์ชายคนนั้นสั่ง 

นัตตี้เล่าด้วยว่า จากการพูดคุยก็พบว่า ต่อให้แปลงเพศแล้วก็ยังต้องเปิดร่างกายให้ทหารและแพทย์ชายดู ดีที่เธอบอกว่ายังไม่ได้แปลงเพศ ถ้าบอกว่าแปลงเพศแล้วต้องเปิดให้ทหารและแพทย์ชายคนนั้นดูเลย 

ส่วนเนยเล่าว่า บรรยากาศการเกณฑ์ทหารสำหรับเธอนั้นไม่โอเคเลย เพราะทุกคนต่างจ้องมองเธออย่างเห็นได้ชัด

ประสบการณ์กะเทยเกณฑ์ทหาร

ปอยเล่าว่า สิ่งที่ดีมีแค่การที่ไม่ต้องรอคิวยาวเหมือนกับกลุ่มผู้ชายที่ต้องจับใบดำใบแดงหรือขอผ่อนผันซึ่งเราก็แค่ยื่นใบรับรองแพทย์แล้วก็รอแค่นั้น ส่วน ‘นัตตี้’ รู้สึกว่าได้รับการให้เกียรติพอสมควร จากการที่มีที่ให้นั่งไม่ต้องไปนั่งรวมกับคนอื่น

ส่วนเนยชอบความเป็นระเบียบ การจัดคิวค่อนข้างง่ายไม่เสียเวลาและมีแพทย์สำหรับกลุ่มสาวประเภทสองเพื่อรับรองและง่ายยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน พวกเธอก็มีประสบการณ์ที่ไม่ดีจากการเกณฑ์ทหาร ปอยเล่าว่า นอกจากความยุ่งยากตั้งแต่การขอใบรับรองแพทย์แล้วยังพบว่า “เมื่อมาเกณฑ์ทหารเราต้องเผชิญกับการพูดจาล้อเลียน การถูกจ้องมองทั้งจากประชาชนที่มาลุ้นการเกณฑ์ทหารรวมไปถึงทหารที่อยู่ที่นั้นด้วยที่จับจ้องเราเพียงเพราะเราเป็นกะเทย”

เช่นเดียวกับนัตตี้ที่รู้สึกถึงการถูกคุกคามทางเพศจากทหารและแพทย์ที่คัดกรอง

ส่วนเนยเล่าว่า ยังคงมีการหมิ่นแคลน การเหยียดเพศ การแซวและเธอถูกบังคับให้พูด “ครับ” ในวันเกณฑ์ทหาร

ความจำเป็นของการเกณฑ์ทหาร

เมื่อถามถึงความจำเป็นการเกณฑ์ทหารในประเทศไทย ปอยตอบทันทีว่า ไม่ควรมี ควรเป็นระบบสมัครใจมากกว่า “เพราะเรารับรู้ได้จากข่าวในปัจจุบันว่ามีการซ้อมทหารทำให้ได้รับอันตราย บางกรณีถึงขั้นเสียชีวิตซึ่งเป็นการเกณฑ์คนเข้าไปเพื่ออะไร เพื่อผลประโยชน์ของใคร ไม่ว่าจะเป็นเพศไหน ทุกคนควรที่จะมีสิทธิ์เลือกว่าจะเป็นทหารหรือไม่เป็นได้เอง”

เช่นเดียวกับนัดตี้ที่อยากให้ประเทศไทยใช้ระบบสมัครใจมากกว่าการเกณฑ์ อย่างเช่นกลุ่มคนที่มีจิตใจเป็นผู้หญิงก็ไม่ควรให้ไปเกณฑ์ทหาร “อยากให้ออกกฎหมายเกี่ยวกับการไม่ต้องเกณฑ์ทหารแต่ควรมาด้วยความสมัครใจ”

เนยกล่าวว่า ไม่จำเป็นเลย ทุกคนควรมีสิทธิที่จะได้เลือกใช้ชีวิต ไม่ใช่การบังคับจับฉลากเอาคนไปเป็นทหาร แต่ควรจะเป็นการรับสมัครด้วยความเต็มใจมากกว่า

ยกเลิกเกณฑ์ทหาร ลดงบประมาณทหาร

ปอยมองการเป็นทหารเกณฑ์ทำให้เสียเวลาชีวิตสำหรับคนที่ไม่อยากเป็นทหาร หากยกเลิกการเกณฑ์ทหารไปก็คงจะเป็นผลดีกับประชาชนที่จะได้ไปใช้ชีวิตในแบบที่ตัวเองต้องการ รวมถึงก็จะได้ลดงบประมาณสำหรับทหารที่ไม่มีความจำเป็น และสามารถเอาประมาณส่วนนั้นไปใช้สำหรับพัฒนาด้านอื่นๆ ที่สำคัญกว่า เช่น ด้านการศึกษา

“บางคนกำลังจะมีงานที่ดีๆ ทำ แต่ก็ต้องออกมาเพราะติดทหาร” นัตตี้ยกตัวอย่างคนรู้จักที่เรียนครูและกำลังจะจบออกมาได้เป็นครู แต่ต้องไปเกณฑ์ทหาร นั่นคือ ถ้าเขาสอบติด “การเป็นทหารเกณฑ์ คือ ตัดอนาคตหรือดับความฝันในอาชีพที่เขาอยากจะเป็น ไม่ว่า 6 เดือน 1 ปี หรือ 2 ปี มันก็คือโอกาสของชีวิตที่หล่นหายไป”

เนยกล่าว่า ถ้าเธอต้องเป็นทหารเกณฑ์ ก็คงเสียอะไรหลายๆ อย่างในชีวิตไป “เสียโอกาสในการใช้ชีวิต เสียงาน เสียเงิน เสียพลังงานและเสียเวลาเปล่าๆ ไปตั้ง 1 – 2 ปี มันไม่คุ้มเลยกับสิ่งที่เราเสียไปเพื่อที่จะต้องไปเป็นทหาร เพราะมันไม่ใช่อาชีพที่เราอยากจะเป็นเลย”


หมายเหตุ
ผลงานชิ้นนี้อยู่ในโครงการ Journalism that Builds Bridges (JBB) สนับสนุนโดย สถานทูตเนเธอร์แลนด์ สถานทูตฟินแลนด์ สถานทูตนิวซีแลนด์ UNDP และ UNESCO

ข่าวที่เกี่ยวข้อง